fbpx

ว่าด้วยความร้ายในโลกวิชาการ

มีมุกตลกมุกหนึ่งที่พวกภาคโบราณคดีชอบเล่นในวันต้อนรับนักศึกษาใหม่: My friend got a degree in egyptology, but can’t get a job, So he’s paying more money to get a Phd, so he can work teaching other people egyptology.  In his case college is literally a pyramid scheme.[1] มุกดังกล่าวเปรียบโลกวิชาการว่าอาจคล้ายกับการหาดาวน์ไลน์ไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะผลักความไม่มั่นคงไปให้นักวิชาการหน้าใหม่รุ่นต่อไป ในขณะที่ยอดพีระมิดเกิดทันระบบสัญญาจ้างตลอดชีพและบำนาญ  

แน่นอนว่ามุกนี้อาจไม่ตรงกับความจริง 100% เนื่องจากคนเรียนปริญญาเอกส่วนมากมีทุนการศึกษา (และในระบบการศึกษาบางที่ถือเป็นนักวิจัยของสถาบันนั้นๆ มีเงินเดือนและสวัสดิการ) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเรียนสายมนุษย์ศาสตร์-สังคมศาสตร์ในปัจจุบันก็มีอัตราการแข่งขันสูงลิบลิ่วโดยเฉพาะในยุคโควิด ผู้เขียนรู้จักเพื่อนหลายคนที่ต้องสมัครตำแหน่ง post-doc อยู่เป็นปีกว่าจะได้รับเลือก ยิ่งไปกว่านั้น เงินเดือนประจำตำแหน่งอาจารย์เอาเข้าจริงหลายแห่งก็ไม่สามารถเทียบกันได้กับ first-jobber สายธุรกิจ แล้วทำไมหลายคนจึงยังหาทำ?

เพื่อนสมัยเรียนปริญญาโทของผู้เขียนส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า เพราะอาชีพในมหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในอาชีพที่การแสวงหากำไรไม่ใช่เป้าหมายหลัก หากแต่เป็นการแสวงหาและผลิตความรู้ให้กับสังคม (แน่นอนว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางท่านอาจไม่เห็นด้วย) market logic เป็นสิ่งที่มีพลังในการอธิบาย แต่ผู้เขียนไม่คิดว่าเป็นคำอธิบายที่ใช้ได้หรือควรใช้กับการศึกษา (แน่นอนว่าประเด็นนี้เถียงกันได้อีกยาวจึงขอละไว้ก่อน) พูดแบบง่ายๆ คือ สำหรับบางคน อาชีพในแวดวงวิชาการสนุกกว่าบางอาชีพเพราะจินตนาการทางวิชาชีพอาจถูกจำกัดด้วยเหตุผลด้านกำไรขาดทุนไม่มากเท่ากับวิชาชีพอื่น นอกจากนี้ อาชีพดังกล่าวยังได้รับความพึงพอใจจากการทำงานในด้านอื่นๆ นอกเหนือไปจากเงินเดือน เช่น บทบาทในฐานะอาจารย์ การค้นพบและผลิตความรู้ใหม่

ด้วยความที่แวดวงวิชาการมีเป้าหมายหลักอย่างหนึ่งคือการแสวงหาและผลิตความรู้ การถกเถียงและวิจารณ์กันและกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีประสบการณ์ทั้งดีและ ‘น่าสนใจ’ เกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัติในวงการวิชาการหลายครั้ง แต่หนึ่งในครั้งที่ค่อนข้างตราตรึงใจเป็นประสบการณ์ผ่านเพื่อนอีกคน ชื่อออเนอร์

ออเนอร์เป็นคนที่ถ้าคุณไม่แน่ใจว่าการเป็นฝ่ายซ้ายคืออะไร ผู้เขียนอาจยกมาเป็นเคสตัวอย่างประกอบการอธิบาย เขาเป็นลูกครึ่งเคิร์ด-ไซปรัส แต่ไปเรียนมัธยมปลายและปริญญาตรีที่แคนาดาตั้งแต่เด็ก ทำให้ภาษาอังกฤษของเขาดีกว่าคนอังกฤษส่วนใหญ่ที่ผู้เขียนรู้จัก ทั้งพ่อและแม่ของออเนอร์เป็นอาจารย์แพทย์ด้านศัลยกรรมที่มหาวิทยาลัยอิสตันบูล แต่ก่อนหน้านั้นทั้งคู่เป็นสมาชิกกลุ่มปลดปล่อยตนเองของชาวเคิร์ด ซึ่งเป็นกลุ่มฝ่ายซ้ายจัดหนึ่งในหลายกลุ่มของตุรกี ออเนอร์เป็นคนพูดน้อย เสียงเบา เขาอธิบายว่าเพราะทั้งพ่อและแม่เป็นศัลยแพทย์ซึ่งหลายครั้งต้องอยู่ในห้องผ่าตัดเป็นเวลาหลายชั่วโมงติดต่อกัน ทำให้เมื่อกลับบ้านมา ทั้งคู่ต้องการการพักผ่อนที่มีคุณภาพ ทั้งออเนอร์และน้องชายจึงถูกเลี้ยงดูมาแบบให้ใช้เสียงน้อยที่สุด

แม้ว่าทั้งพ่อและแม่ของออเนอร์จะไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองอีกต่อไปหลังจากทั้งคู่มีลูก ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองในตุรกีที่เออร์โดกัน ประธานาธิบดีฝ่ายขวาขึ้นมามีอำนาจ แต่ออเนอร์ก็เติบโตขึ้นมาในบ้านที่มีหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ การเมือง และปรัชญาเต็มไปหมด ออเนอร์เป็นนักอ่านตัวยงและตัดสินใจเรียนต่อด้านทฤษฎีสังคมวิทยา

ผู้เขียนค่อยๆ เรียนรู้ว่า ภายใต้ใบหน้าอันเรียบเฉยของออเนอร์นั้นแฝงไว้ด้วยอารมณ์ขันแบบตลกร้ายหลังจากที่ได้มีโอกาสไปกินข้าวกับเพื่อนๆ ในคลาสหลายครั้ง หลังจากเรียนจบปริญญาโท เขาเป็นหนึ่งในเพื่อนที่เรียนต่อปริญญาเอกทันที และได้มีโอกาสทั้งสอนและตีพิมพ์ในระหว่างเรียนปริญญาเอก นอกเหนือไปจากงานดังกล่าว ออเนอร์ยังเข้าร่วมสหภาพลูกจ้างที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ซึ่งขณะนั้นมีการประท้วงต่อต้านการลดค่าชั่วโมงสอนของนักศึกษาปริญญาเอกเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของมหาวิทยาลัย และการยุบรวมกันของคณะทางด้านสังคมศาสตร์เพื่อลดค่าใช้จ่าย ฯลฯ

อันที่จริงผู้เขียนไม่ได้ปัญหาอะไรกับการคำนึงถึงโอกาสในการจ้างงานกับการปรับปรุงหลักสูตรเลยแม้แต่น้อย ความยุ่งยากส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นดูเหมือนมาจากวิสัยทัศน์ (or the lack thereof) ของผู้ที่เข้าใจว่าตนเองเข้าใจตลาดแรงงานดีกว่าใคร แล้วทึกทักไปเองว่าทางออกที่ดีที่สุดคือการยุบภาควิชาหรือปิดห้องสมุดต่างหาก (จะว่าไปก็อาจไม่ได้ต่างอะไรกับปัญหาระดับชาติของบ้านเรามากนัก)

ผู้เขียนเคยคุยเรื่องคุณภาพชีวิตของนักศึกษาปริญญาเอกกับออเนอร์และเห็นตรงกันว่าการให้ค่าสอน ซึ่งบางสถาบันให้ตามชั่วโมงสอนโดยไม่ได้คำนึงถึงเวลาที่ต้องใช้การเตรียมสอนนั้นไม่ค่อยเป็นธรรม กล่าวคือ การสอนคลาสหนึ่งชั่วโมงนั้นส่วนใหญ่ผู้สอนต้องใช้เวลาประมาณสองถึงสามชั่วโมงในการเตรียมการสอน ซึ่งพอคิดออกมาแล้วบางทีอาจสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม นักวิชาการรุ่นก่อน (ซึ่งตอนนี้ได้สัญญาจ้างถาวรพร้อมการันตีเงินบำนาญในอนาคตแล้ว) ก็มักจะชี้ให้เห็นว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกฝนในฐานะวิชาการซึ่งคนรุ่นเขาก็ล้วนผ่านมาแล้วทั้งสิ้น “ตลกดีเนอะที่หลายคนเองก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจริยศาสตร์หรือกฎหมายแรงงานด้วย แต่ไม่เห็นลุกขึ้นมาพูดอะไรช่วยลูกศิษย์ตัวเองสักนิด” ออเนอร์ตั้งข้อสังเกต

ออเนอร์ทำงานหัวหมุนทั้งงานสอน งานแปลที่เขาช่วยขบวนการฝ่ายซ้ายในตุรกีทำ และแน่นอน งานตีพิมพ์ด้วย ครั้งหนึ่งผู้เขียนเจอเขาสภาพคล้ายศพนอนอยู่บนโซฟาในห้องสมุดโดยมีหนังสือเล่มหนาของนักวิชาการฝ่ายซ้ายชื่อดังอักษรย่อ J.D. (ผู้เขียนขอละชื่อจริงไว้) เขาอธิบายว่ากำลังเขียนบทวิจารณ์หนังสือให้กับวารสาร Radical Philosophy ซึ่งเป็นวารสารวิชาการชื่อดังวารสารหนึ่งทางด้านปรัชญาการเมือง เขาตามอ่านงานของนักวิชาการผู้นี้มาตั้งแต่ปริญญาตรี จึงอยากเขียนงานชิ้นนี้ออกมาให้ดีที่สุด

เขาขอให้เพื่อนคนอื่นช่วยอ่านบทวิจารณ์ที่เขาเขียนสองรอบก่อนจะส่งให้บรรณาธิการ พวกเราพาเขากินเบียร์เป็นการฉลองเย็นวันที่เขาตัดสินใจกดส่งตัวต้นฉบับ ด้วยความเป็นแฟนบอย ออเนอร์ส่งอีเมลแบบเขินๆ ไปหานักวิชาการผู้เขียนหนังสือท่านดังกล่าวว่าเขาเป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่กำลังจะตีพิมพ์บทวิจารณ์ (แปลเป็นไทยว่า ขอฝากไว้ในอ้อมอกอ้อมใจ) หากมีข้อติชมประการใดก็ขอให้บอกเขาได้เลย

หลังจากนั้นพวกเราก็ไปฉลองกันที่ผับ เนื่องจากกว่าจะได้ตีพิมพ์ก็กินเวลาเป็นเดือน ระหว่างดื่มเบียร์กันอยู่ออเนอร์ก็เช็กอีเมลไปด้วยเผื่อว่านักวิชาการท่านนั้นจะเขียนอีเมลกลับมา พวกเราคิดว่านักวิชาการท่านนั้นอาจจะยุ่งจึงไม่ได้เขียนอีเมลตอบกลับ ออเนอร์ไม่ได้ติดใจอะไร ระหว่างที่พวกเรานั่งคุยกันเรื่องอื่น ออเนอร์หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเช็กทวิตเตอร์เล่นๆ ทันใดนั้นหน้าของเขาก็เปลี่ยนสี ทุกคนถามว่าเกิดอะไรขึ้น ออเนอร์นิ่งไปพักหนึ่งก่อนจะหยิบโทรศัพท์มาให้พวกเราดู ปรากฏว่านักวิชาการท่านนั้นเพิ่งทวีตข้อความว่า “โอ้ ฉันช่างเป็นคนขี้ขลาด ฉันไม่กล้าแม้แต่จะเขียนบทความวิจารณ์หนังสือที่ฉันอ่านไม่แตกและไม่จบ”

พวกเรานิ่งไปพักหนึ่ง นีลเป็นคนแรกที่ทำลายความเงียบ “อย่าคิดมากน่า เขาน่าจะพูดถึงคนอื่นน่ะออเนอร์” ออเนอร์บอกว่าดูจากไทม์ไลน์แล้ว นักวิชาการท่านนี้ทวีตหลังเขาส่งอีเมลไปประมาณ 20 นาที นอกจากนี้ยังไม่มีบทวิจารณ์หนังสือเล่มดังกล่าวที่ตีพิมพ์ในวารสารฉบับหลักๆ เลยนอกจากบทวิจารณ์ของเขา

“…อย่าคิดมากเลย บางครั้งนักวิชาการก็ใจร้ายใส่กันโดยไม่จำเป็น” เพื่อนอีกคนพยายามปลอบ แต่ไม่ค่อยเป็นผลเท่าไหร่ เพราะปกตินีลเองก็ไม่ใช่คนที่ใจดีนักเวลาเขียนบทวิจารณ์หนังสือ ปลอบของเขาจึงไม่ค่อยมีน้ำหนักเท่าไหร่ ส่วนผู้เขียนได้ทำหน้าแหยถามว่าเขาไม่เป็นอะไรใช่ไหม ออเนอร์ยิ้มเฝื่อนๆ พร้อมบอกว่า “ไม่เป็นไรหรอก แต่ฉันว่าพวกแกต้องเลี้ยงเบียร์ฉันคืนนี้แล้วแหละ”

เนื่องจากเป็นช่วงนั้นพวกเราทุกคนอยู่ปีท้ายๆ ของปริญญาเอกแล้วทุกคนจึงพยายามปั่นพับบลิเคชันกันหลายชิ้น ไม่กี่วันต่อมาหลังเหตุการณ์ทวีตสยองขวัญ นีลเองก็ได้รับอีเมลจากนักวิชาการอีกท่านที่เขาเพิ่งเขียนวิจารณ์หนังสือไป เขาทำหน้าสดชื่นพร้อมกับยื่นมือถือให้ออเนอร์ “ดูนี่สิ ทวีตนั้นดูเป็นมิตรไปเลยล่ะ ลองอ่านอีเมลที่ฉันเพิ่งได้ดู”

ออเนอร์ทำหน้าไม่เชื่อ นีลจึงถือวิสาสะอ่านออกเสียงอีเมลนั้นดังๆ เขากระแอมและจิบน้ำก่อนจะทำหน้าตาจริงจังแบบนักการเมืองฝ่ายค้านในการประชุมสภา “ฟังนี่นะออเนอร์…ไม่เพียงแต่คุณ (นีล) จะไม่เข้าใจดีเบตนี้ หนังสือเล่มนี้คงทำให้คุณรู้สึกไม่พอใจ เพราะคุณเป็นพวกไม่นับถือศาสนาและใจไม่กว้างพอจะเห็นศักยภาพทางการเมืองของข้อถกเถียงทางเทววิทยา” นีลพักหายใจและเช็คปฏิกริยาของทุกคนรวมไปถึงหน้าตาอันตื่นตระหนกของนักศึกษาปริญญาเอกผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่คนอื่นๆ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างพักกินกาแฟ หลายคนได้ยินอีเมลของนีลไปด้วยและกำลังทำหน้าเหมือนโดนคำสาปกรีดแทง “ไม่เพียงเท่านั้น คุณ (นีล) ยังยึดถือเอาความไม่พอใจส่วนตัวนี้เป็นเข็มทิศในการทำความเข้าใจหนังสือของผม แน่นอนว่ามันไม่เวิร์ก แต่คุณก็ยังดันทุรังรับเป็นผู้วิจารณ์ทั้งๆ ที่คุณไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ เช่นเดียวกับนักวิชาการที่ขาดความเป็นมืออาชีพคนอื่นๆ บทวิจารณ์ของคุณตั้งต้นจากสมมุติฐานอันไร้ความชอบธรรมว่า ‘ถ้าเป็นฉัน ฉันจะไม่เขียนบทความเรื่องนี้หรอก’ ”

ออเนอร์ครวญครางว่าพอแล้ว แกเป็นซาดิสม์หรือไง นีลหัวเราะแบบไม่ยี่หระพร้อมกล่าวต่อ “ฉันแค่คิดว่ามันน่าสนใจดีน่ะ พวกคนอเมริกันเป็นแบบนี้กันหมดเหรอ ฟังตอนจบนะ ฉันว่าเด็ดมาก “ผมมั่นใจว่าคุณพยายามดีที่สุดแล้วที่จะเขียนบทวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ แต่แทนที่มันจะเป็นบทวิจารณ์หนังสือ มันกลับกลายเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ชั้นดีกว่า Dunning-Kruger Effect มีอยู่จริง ขอบคุณสำหรับเวลาและความพยายาม ด้วยความเคารพ ลงชื่อ ดร…”

ถ้าผู้เขียนเป็นนีลหรือแม้แต่ออเนอร์อาจจะถอดใจลาออกหางานในวงการอื่นทำแล้ว แต่ทั้งสองคนก็เรียนจนจบและหางานทำกันต่อไป นีลพูดอย่างภูมิใจว่าเขาไม่แคร์เพราะบทวิจารณ์หนังสือที่เขาเขียนผ่านกระบวนการ peer-review เรียบร้อยและได้ตีพิมพ์แล้ว งานของเขาจบแล้ว ผู้เขียนเองรู้สึกค่อนข้างหลอนกับประสบการณ์ทางอ้อมของเพื่อนทั้งสองคนจึงหยิบเรื่องนี้ไปถามที่ปรึกษา

เอียนผู้ซึ่งไม่ได้ตีพิมพ์ในแวดวงปรัชญาแต่เขียนผลงานด้านประวัติศาสตร์ทางการเมืองมากกว่าเลิกคิ้วพร้อมให้ความเห็นสั้นๆ ว่า “ผมว่าไม่จำเป็นนะนั่น” พอผู้เขียนถามว่าเอียนเคยได้ฟีดแบ็กประมาณนี้บ้างไหม เขาก็ทำท่านึกพร้อมบอกว่า ไม่มีนะ “งานทางประวัติศาสตร์ปกติเพื่อนร่วมงาน (colleague) สำคัญมาก คุณก็รู้ว่ากว่าจะได้ออกมาแต่ละเปเปอร์พวกเราต้องนั่งหลังแข็งในชั้นใต้ดินห้องสมุดกันกี่ชั่วโมงกว่าจะวิจัยหลักฐานครบ ถ้าไม่ได้ colleague อย่าว่าแต่เขียนหนังสือเลย ปริญญาเอกผมไม่น่าจะเรียนจบด้วยซ้ำ” ผู้เขียนนึกขึ้นมาได้ว่าหนังสือเล่มล่าสุดของที่ปรึกษามี acknowledgement ยาวประมาณสามหน้ากระดาษ

เอียนทำหน้าเหมือนลังเลและคิดจะพูดอะไรต่อ “ปกติผมไม่ค่อยชอบ ‘สั่งสอน’ อะไรเท่าไหร่หรอกนะ เพราะแม้แต่ตอนนี้คุณเองก็เป็นคนหลักที่รับผิดชอบต่อมาตรฐานทางวิชาการของธีสิส ดังนั้นผมขออนุญาตสอนหนึ่งเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับธีสิสคุณโดยตรงนะ คำวิจารณ์ทางวิชาการมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เขียนพัฒนางานชิ้นนั้นๆ มันเป็นคำวิจารณ์ที่เน้นการสร้างสรรค์ไม่ใช่การทำลาย (constructive, not destructive) เพื่อนร่วมงานและการรักษาบรรยากาศที่ดีของชุมชนทางวิชาการจำเป็นต่อการสร้างองค์ความรู้ และนั่นเป็นเหตุผลที่พวกเราเลือกมาเป็นนักวิชาการไม่ใช่หรือ คนพวกนั้นที่คุณเล่ามาอาจเห็นไม่ตรงกับผมนัก”


[1] ลองหาข้อมูลเร็วๆ พบว่าเป็นมุกของคอมเมเดี้ยนชื่อ Katie Hannigan

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save