fbpx

เพื่อนฝ่ายซ้ายนักดูเครื่องบิน: กับดักประสิทธิผลและภูมิรัฐศาสตร์ผ่านงานอดิเรก

งานอดิเรกเป็นคำฟังดูเป็นทางการและไกลตัว โดยเฉพาะเมื่อเราตระหนักถึงความจริงที่ว่าการเป็นเด็กกรุงเทพฯ (อันเป็นบ้านเกิดของผู้เขียน) นั้นยุ่งวุ่นวายเกินกว่าจะมีเวลาให้เรื่อง ‘ไร้สาระ’ ดังกล่าว สามถึงสี่ชั่วโมงหมดไปกับการเดินทางไป-กลับโรงเรียน และอีกอย่างน้อยสองชั่วโมงในโรงเรียนกวดวิชาหลังเลิกเรียนทำให้พวกเราเหนื่อยเกินกว่าจะทำกิจกรรมใดๆ เมื่อถึงบ้าน งานอดิเรกที่นอกจากจะใช้เวลาแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม จึงไม่ได้เป็นส่วนสำคัญในชีวิตของผู้เขียนเท่าไหร่นัก อย่างไรก็ตาม มุมมองต่องานอดิเรกของผู้เขียนเปลี่ยนไปอย่างมากเมื่อได้พบกับนีล ผู้ซึ่งตอนนี้เป็นอาจารย์ด้านทฤษฎีสังคม แต่ในยามว่างเป็นนักดูเครื่องบินตัวยง

ถ้าเรื่องนี้เป็นมังงะ นีลคือตัวละครหัวหน้าชั้นเรียนที่ทำกิจกรรมทุกอย่างและได้เกรดดีเยี่ยมทุกวิชา แถมยังเป็นที่รักของเพื่อนๆ เนื่องจากเขามีบุคลิกของคุณพ่อผู้คอยดูแลจัดการความเป็นระเบียบให้เพื่อนร่วมชั้น ซึ่งครึ่งหนึ่งไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมอังกฤษ นีลมีโทนเสียงและสไตล์การพูดแบบเดียวซึ่งเขาใช้กับเพื่อน แฟน อาจารย์ นักศึกษา ตลอดจนเต่าบกชื่อจอร์จอันเป็นสัตว์เลี้ยงประจำครอบครัว น้ำเสียงที่ว่านี้คือน้ำเสียงทางการแบบผู้ประกาศข่าวบีบีซี นอกจากนี้ นีลมักจัดลำดับเนื้อหาแบบ bullet point เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการอธิบายทฤษฎีมูลค่าส่วนเกิน หรือการเล่าประวัติป่าร้อยเอเคอร์ในนิทานหมีพูห์ (ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองบ้านเกิดของนีล)

ผู้เขียนยังจำได้ว่าครั้งแรกที่พวกเพื่อนๆ ไปอาศัยบ้านของนีลและแฟนค้างคืน เมื่อตื่นมานีลทักทายแขกทุกคนด้วยความกระตือรือร้นระดับสิบตั้งแต่นาทีแรกที่ลืมตา ในขณะที่พวกเราเป็นซอมบี้จนกว่าจะได้กาแฟแก้วแรกของวัน นีลมีกาแฟสำเร็จรูปราคานักศึกษาไว้บริการทุกคน ส่วนตัวเขาเองนั้นไม่ดื่มทั้งชาและกาแฟ นีลอธิบายว่า “ร่างกายฉันเหมือนมันผลิตคาเฟอีนเองได้โดยธรรมชาติตั้งแต่เกิดน่ะ” ซึ่งก็ดูไม่ผิดจากความเป็นจริงเท่าไหร่นัก เขาเดินเร็ว กินเร็ว คิดเร็ว และเขียนเร็ว จนทำให้การไป ‘เที่ยว’ กับนีลหลายครั้งรู้สึกเหมือนการไปเข้าคอร์สเพิ่มศักยภาพอะไรสักอย่าง ครั้งหนึ่งนีลเป็นไกด์พาพวกเราเดินเลาะไปตามหน้าผา Seven Sisters ซึ่งเป็นผาหินชอล์กสีขาวชื่อดังทางใต้ของอังกฤษ นีลยกนาฬิกาข้อมือขึ้นมาดูทุกครั้งที่พวกเราหยุดพักที่ผับและขานว่า “อีกห้านาทีเราต้องออกเดินต่อแล้ว” หรือไม่ก็ “ไม่มีเวลาสำหรับของหวาน” เนื่องจากเขาวางแผนไว้แล้วว่าเราจะต้องเดินครบเส้นทางภายในหกโมงเย็นเพื่อจะไปขึ้นรถบัสรอบหกโมงสิบห้านาทีเพื่อไปทานมื้อค่ำที่จองไว้ให้ทัน การไป ‘พักผ่อน’ โดยมีนีลเป็นผู้นำ บางครั้งจึงเป็นกิจกรรมที่ค่อนข้างเหนื่อย พอจบวัน นีลก็ชมทุกคนว่า “ทำได้ดีมากพวกเรา เดินไปยี่สิบเอ็ดไมล์ในหนึ่งวัน แถมได้แวะผับที่สำคัญครบทุกผับเลย” ส่วนพวกเราก็ได้แต่ยิ้มแห้งๆ พลางคิดว่า “กูจะไม่ให้มึงเป็นไกด์อีกแล้วตลอดชีวิต”

นีลมีความรู้ด้านวัฒนธรรมป็อปหยุดอยู่แค่ทศวรรษที่ 1960 พวกเราจึงชวนแกมบังคับให้นีลไปร้องคาราโอเกะ ผลออกมาผิดคาด นีลค้นพบวิธีคลายเครียดที่ไม่ใช่การเดินทางไกลและการดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม เขาต้องการรักษาภาพลักษณ์มาดขรึมของตนเองและมักแอบกระซิบผู้เขียนให้ชวนเพื่อนคนอื่นๆ ไปร้องคาราโอเกะแทนตนเองอยู่บ่อยๆ เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามแผน นีลจะกล่าวอย่างตื่นเต้นว่า “โอเค วันนี้เรามาร้องเพลงนั้นที่เกี่ยวกับนิวยอร์กเพลงนั้นของมิสเตอร์ ‘เจ เส็ต’ กันเถอะ” ซึ่งเขาหมายถึงเพลง Empire State of Mind ของ Jay-Z นั่นเอง

แม้จะมีรสนิยมและสไตล์การใช้ชีวิตที่ดูแก่เกินวัย ในอีกด้านหนึ่ง นีลมีความ ‘เด็ก’ อย่างเหลือเชื่อในเรื่องการเรียน เมื่อคะแนนของงานชิ้นแรกออก นีลเป็นคนแรกที่กล้าถามเพื่อนใหม่ในชั้นคนอื่นๆ (ด้วยความสุภาพแต่น่าหมั่นไส้) ว่าแต่ละคนได้คะแนนเท่าไหร่ (เขาจะได้แน่ใจได้ว่าตัวเองมีคะแนนรวมสูงสุดในชั้นเรียนหรือไม่) เมื่อพวกเราสนิทกันมากขึ้น ทุกคนลงความเห็นว่านีลคลั่งความสมบูรณ์แบบและชัยชนะ (ในเกมที่แฟร์) ไม่ว่าจะเป็นเกรด การโต้เถียงกันในผับ คริกเก็ต จำนวนผลงานตีพิมพ์ หรือแม้แต่การหาตั๋วเครื่องบินที่ถูกที่สุด เขาเป็นคนแบบที่เมื่อตื่นนอนจะรู้ทันทีว่าวันนี้ต้องทำอะไรบ้าง เมื่อทำงานไปครบจำนวนชั่วโมงที่วางแผนก็จะออกไปเดินออกกำลังกาย กลับบ้านมาทำงานต่อ เมื่อนีลทำงานนั้นๆ เสร็จทุกคนจะต้องรับรู้ เพราะเขาจะประกาศอย่างภาคภูมิใจว่า “เสร็จไปอีกหนึ่งอย่าง!” ก่อนจะวอแวเพื่อนคนอื่นๆ ให้เลิกทำงานแล้วไปกินเบียร์ด้วยกันได้แล้ว (ซึ่งคนอื่นๆ รวมถึงผู้เขียนด้วยก็มักเพิ่งเขียนงานไปได้แต่สามประโยค แต่ไม่มีเคยมีใครปฏิเสธนีลลง และนี่อาจเป็นเหตุผลหลักที่นีลเป็นคนเดียวในกลุ่มที่เรียนจบปริญญาเอกภายในสามปี)

ด้วยบุคลิกแบบที่กล่าวมา พวกเราทุกคนไม่แปลกใจเมื่อนีลเล่าว่าก่อนจะเปลี่ยนมาเรียนสายปรัชญา-ทฤษฎีสังคม นีลเคยเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยวอร์ริคมาก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อเรียนไปได้หนึ่งปี เขาพบว่ามีค่าใช้จ่ายจำนวนมากนอกเหนือไปจากค่าเทอม วิชาชีพทางกฎหมายในอังกฤษคาดหวังให้คุณมีต้นทุนทางสังคมสูงแบบที่ครอบครัวของนีลไม่ได้มีให้ เขาพบว่าตัวเองเข้ากับเพื่อนร่วมชั้นซึ่งนีลเรียกว่าพวก public school brats ไม่ได้ (เพื่อนคนหนึ่งเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เด็กอีตันคนหนึ่งถูกเพื่อนล้อว่า ‘จน’ เนื่องจากที่บ้านต้องขายบ้านหนึ่งหลังในครอบครองเพื่อมาจ่ายค่าเทอม เรื่องเล่านี้ค่อนข้างทรงพลังเมื่อเรารู้ว่าอัตราการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยของประชากรวัยแรงงานในอังกฤษลดลงทุกๆ ปีและราคาเฉลี่ยบ้านในลอนดอนอยู่ที่ราวยี่สิบเอ็ดล้านบาท) นีลตัดสินใจลาออกไปเรียนมหาวิทยาลัยเปิดและเอาเงินกู้เพื่อการศึกษาที่เหลือจำนวนมากไปเที่ยวรอบโลกเพื่อดูเครื่องบินแทน เขาจบปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยมเหรียญทอง พร้อมทักษะในการบริหารจัดการเวลาอันน่าเหลือเชื่อ เนื่องจากการเรียนมหาวิทยาลัยเปิดฟูมฟักความรับผิดชอบส่วนบุคคลในระดับที่ผู้เขียนไม่คิดว่าการเรียนในระบบปริญญาตรีปกติให้ได้ และนี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่นีลประสบความสำเร็จในการเรียนในระบบอังกฤษ ซึ่งคาดหวังให้นักศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองเป็นหลัก

ประสบการณ์ที่โรงเรียนกฎหมายยังทำให้ความเป็นซ้ายทางการเมืองของนีลลงหลักปักฐานอย่างถาวร เนื่องจากเขาพบว่าบางอาชีพเช่นนักกฎหมายนั้น ในทางปฏิบัติ มีไว้เพื่อคนที่มีพื้นเพทางสังคมแบบหนึ่งเท่านั้น นีลเป็นสมาชิกพรรคแรงงานและเป็นผู้สนับสนุนเจเรมี คอร์บินตัวยง เขามองว่าการเคาะประตูตามบ้านเพื่อพูดคุยกับชาวไบรท์ตันที่ปกติเลือกพรรคกรีนนั้น เป็นกิจกรรมเดียวกันกับการอ่านและเขียนงานทางปรัชญา (ถ้าคุณกำลังนึกถึงประโยคที่ว่า “The philosophers have only interpreted the world in various ways, the point, however, is to change it.” ล่ะก็ นีลจะบอกว่าคุณมาถูกทางแล้ว แฮชแท็ก #praxis)

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่อุทิศชีวิตการทำงานวิชาการให้การวิจารณ์ระบบทุนนิยมที่บังคับทุกคนให้ทำตัวมีประสิทธิผล (productive) ตลอดเวลา นีลมีไลฟ์สไตล์และงานอดิเรกที่ย้อนแย้งกับเนื้อหาทางวิชาการที่เขาผลิตอย่างน่าฉงน การดูเครื่องบินหรือ aircraft spotting เป็นงานอดิเรกที่เรียกร้อง productivity มากกว่างานประจำหลายประเภท คุณต้องเดินทางไปทั่วโลกเพื่อบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องบินประเภทต่างๆ ลักษณะพิเศษของเครื่องบิน เส้นทางการบินลงในสมุดบันทึกที่เรียกว่า plane-spotter’s log หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวลงบนฐานข้อมูลออนไลน์ เช่น planelogger.com (ซึ่งละเอียดลออ มีระเบียบ เข้าถึงง่าย และมีการอัพเดทข้อมูลตลอดเวลา ซึ่งทำให้ผู้เขียนอดเปรียบเทียบไม่ได้กับประสิทธิภาพการจัดการข้อมูลในไทย) กับนักดูเครื่องบินทั่วโลกซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวอังกฤษ เยอรมัน และญี่ปุ่น แน่นอนว่าคุณควรมีพาสปอร์ตที่สามารถเดินทางไปยังประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้ได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าหากคุณคิดจะเข้าวงการ จึงอาจไม่น่าแปลกใจที่งานอดิเรกชนิดนี้อาจไม่เป็นที่นิยมนักในภูมิภาคของเรานัก งานอดิเรกของนีลทำให้ความรู้เกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์ของเขาดีชนิดหาตัวจับยาก

นีลเคยเล่าให้ฟังว่าระดับความละเอียดของฐานข้อมูลออนไลน์ที่นักดูเครื่องบินทั่วโลกทำขึ้นนั้น เป็นส่วนสำคัญในการสืบสวนและเปิดโปงการซ้อมทรมานในฐานลับนอกประเทศ (เช่นในซีเรีย อิยิปต์ และปากีสถาน) หรือที่เรียกว่า extraordinary rendition โดย CIA เนื่องจากนักดูเครื่องบินทั่วโลกสังเกตเห็นรูปแบบการออกนอกเส้นทางของเครื่องบินทหารสู่ฐานทัพลับต่างๆ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 9/11 ที่บุชประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้าย

ฟังดูเป็นงานอดิเรกที่เท่ไม่หยอก แต่เท่าที่เจอเพื่อนนักดูเครื่องบินของนีลมา ทุกคนดูมีแนวโน้มจะโดนตำรวจเรียก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นชายผิวขาววัยกลางคนตอนปลาย พูดน้อย ดูมีพิรุธ เนื่องจากแก๊งนี้ชอบไปวนเวียนแถวสนามบิน/ฐานทัพอย่างมีวัตถุประสงค์ (มาดูเครื่องบิน) แถมเมื่อเปิดกระเป๋ามา คุณตำรวจจะพบกล้องส่องทางไกลหลายขนาด แล็ปท็อป และสมุดบันทึกประเภทและเส้นทางการบินอย่างละเอียดลออ ชีวิตของนักดูเครื่องบินเหล่านี้หลังการก่อการร้ายที่ตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์เมื่อมี 2001 จึงไม่ค่อยรื่นรมย์นัก

ผู้เขียนเคยเถียงกับนีลอย่างจริงจังว่าการดูเครื่องบินเป็นงานอดิเรกที่ฟังดูน่าเบื่อมากๆ ทำไมคนเราถึงจะอยากเดินทางไปค่อนโลกเพื่อจะไปอยู่ที่สนามบินทั้งวันและมองเครื่องบิน ซึ่งจริงๆ แล้วสามารถหาดูรูปที่ไหนก็ได้ในอินเทอร์เน็ต นีลบอกว่านักดูนกก็เดินทางไปปาปัวนิวกินีเพื่อดูนกปักษาสวรรค์ที่จริงๆ แล้วหาวีดีโอความละเอียดสูงได้จากยูทูบง่ายๆ แค่ปลายนิ้วเคาะเหมือนกัน “แต่นกปักษาสวรรค์ตัวผู้รำแพนหางเต้นเกี้ยวพาราสีอย่างซับซ้อน แถมยังเป็นหนึ่งในนกที่ขนสวยและเสียงเพราะที่สุดในโลกเลยนะ” นีลแย้งว่า วิศวกรรมการบินก็มีความงามในตัวเอง “พวกแกลองคิดดู ต้องใช้ความก้าวหน้าทางวิทยาการ การคำนวณอย่างแม่นยำกี่หมื่นกี่แสนครั้ง กว่าเราจะสามารถทำให้การทะยานจากพื้นในโครงโลหะไปสู่ระดับความสูงกว่าสามหมื่นห้าพันฟีตกลายมาเป็นหนึ่งในรูปแบบการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุดในโลกได้ ถ้าเครื่องบินไม่งดงาม ก็ไม่รู้ว่าโลกนี้จะมีอะไรที่เรียกได้ว่างามอีกแล้ว” (เพื่อนอีกคนบอกว่า เคราของฉันไง) ในแง่หนึ่ง กิจกรรมยาม ‘ว่าง’ อันจริงจังและเข้มข้นของนีลจึงซับซ้อนและ (แลดู) ย้อนแย้งพอๆ กับปรัชญาวัตถุนิยมวิพากษ์วิธีเลยทีเดียว

เมื่อนีลได้มีโอกาสมาเที่ยวเมืองไทยพร้อมกับเพื่อนคนอื่นๆ เขาดูกังวลกับการที่ไม่รู้ว่ารถเมล์จะมาถึงเมื่อไหร่ และผู้เขียนก็ไม่ได้มีแผนตายตัวว่าแต่ละวันจะพาเพื่อนๆ ไปเที่ยวที่ไหน กี่โมง อย่างไรก็ตาม นีลดูจะปล่อยวางได้หลังจากเข้าวันที่สอง เขาหยุดถามทุกๆ ครึ่งชั่วโมงว่า วันนี้เราจะไปทำอะไรกันต่อและการขึ้นแท็กซี่จากจุดเอไปจุดบีจะใช้เวลาประมาณกี่นาที วันต่อมา นีลขอตัวแยกจากกลุ่มเพื่อไปดูพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศที่ดอนเมือง (ซึ่งผู้เขียนเองไม่เคยรู้ว่ามีอยู่) หลังจากที่ขอให้ผู้เขียนนัดไกด์ที่พูดภาษาอังกฤษได้ให้ทางโทรศัพท์แล้ว นีลก็นั่งแท็กซีออกไปจากบ้านคนเดียวด้วยหน้าตาชื่นบานตั้งแต่เช้าตรู่

เขากลับมาเล่าอย่างตื่นเต้นว่าประเทศไทยมีเครื่องบินวินเทจที่น่าสนใจหลายลำ ก่อนกลับ นีลเล่าว่าตนพยายามผูกมิตรกับไกด์ด้วยการเล่าว่า แก๊งดูเครื่องบินที่อังกฤษกำลังสนใจเส้นทางการบินของเครื่องบินพิเศษ (ไม่ใช่เครื่องบินพาณิชย์) หลายลำของไทยซี่งมีเส้นทางการบินแปลกๆ พร้อมโชว์สมุด plane log ให้ไกด์ดูเป็นหลักฐาน นีลเล่าว่า ไกด์ดูตกใจที่นีลรู้จักเครื่องบินของประเทศไทยอย่างดีเยี่ยม และรีบให้ของที่ระลึกก่อนจะบอกลา “เห็นไหม ฉันบอกแล้วว่าเครื่องบินน่ะงดงาม คุณไกด์ที่พิพิธภัณฑ์ประเทศเธอดีใจมากเลยนะที่ชาวต่างชาติให้ความสำคัญกับเครื่องบินไทยขนาดนี้”

ผู้เขียนได้แต่ยิ้มแล้วบอกนีลว่า อยากไปไหนให้บอก จะพาไป เพราะครั้งหน้าเขาอาจเข้าราชอาณาจักรฯ ไม่ได้แล้วก็เป็นได้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save