กรณิศ ตันอังสนากุล เรื่อง
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ
เมื่อเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนที่ผ่านมา (2561) ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ Young Southeast Asian Leaders Initiative (YSEALI) และได้มีโอกาสไปทำงานร่วมกับ Elemental Excelerator (องค์กรไม่แสวงหากำไรเพิ่มสมรรถนะธุรกิจ startup เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน การขนส่ง การเกษตรและอาหาร และการจัดการน้ำ) ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่โฮโนลูลู เมืองหลวงของรัฐฮาวาย จุดหมายปลายทางที่ใครหลายๆ คนรวมถึงผู้เขียนด้วยใฝ่ฝันจะได้ไปเยือนสักครั้ง
นอกจากได้รับรู้ด้วยตัวเองว่าฮาวายช่างเป็นเมืองที่อากาศดีน่าอยู่ รายล้อมด้วยธรรมชาติที่สวยงาม และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มีสีสัน หนึ่งในเรื่องแรกๆ ที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับฮาวายก็คือปัญหาด้านพลังงานของเกาะสวรรค์แห่งนี้ หากมาเยือนในฐานะนักท่องเที่ยว คงจะไม่มีโอกาสรับรู้แง่มุมที่ไม่สวยงามของเกาะแห่งนี้เป็นแน่
หมู่เกาะสวรรค์แห่งนี้ตั้งอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก แผ่นดินใหญ่ที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างออกไปถึง 4,000 กิโลเมตร จึงนับว่าเป็นแหล่งอาศัยของมนุษย์ที่โดดเดี่ยวที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเลยทีเดียว เกาะพึ่งพาการนำเข้าสูงถึง 80% ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องอุปโภค บริโภค ซึ่งรวมถึงพลังงานด้วย ก่อนปี 2523 เกือบทั้งหมดของพลังงานที่ใช้ที่ฮาวายมาจากน้ำมันนำเข้า เพราะยังไม่มีทางเลือกอื่นที่คุ้มค่าเพียงพอ ซึ่งหากจะกล่าวว่าฮาวายขับเคลื่อนได้ด้วยน้ำมันนำเข้าก็ไม่ผิดนัก บนแผ่นดินใหญ่ น้ำมันเป็นแหล่งพลังงานหลักของการขนส่ง แต่ที่ฮาวายนั้นไม่เพียงแค่การขนส่ง แต่น้ำมันเป็นแหล่งพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้า ขณะที่แหล่งพลังงานอื่น เช่น การนำเข้าถ่านหินเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2533
ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ทศวรรษ ฮาวายพึ่งพาพลังงานนำเข้าสูงถึง 90-95% ขณะที่เทียบกับสถิติเฉลี่ยของสหรัฐอเมริกาที่นำเข้าพลังงานเพียง 8% ในปี 2560 น้ำมันเป็นสินค้าที่มีการซื้อขายในตลาดเปิด มีการเคลื่อนไหวในแต่ละวัน เมื่อฮาวายพึ่งพาน้ำมันในการผลิตไฟฟ้า ราคาไฟฟ้าจึงอิงอยู่กับราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างแยกจากกันไม่ได้ ซึ่งภาระค่าน้ำมันที่จ่ายโดยผู้ผลิตพลังงานของรัฐได้ถูกส่งผ่านสู่ครัวเรือนและธุรกิจในที่สุด
น้ำมันเป็นตัวเลือกในการผลิตไฟฟ้าที่แพงที่สุด ทำให้รัฐฮาวายมีราคาไฟฟ้าแพงที่สุดในประเทศ ช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ผู้อยู่อาศัยที่นี่จ่ายค่าไฟฟ้าต่อกิโลวัตต์สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 260% อันเป็นผลมาจากการพึ่งพาน้ำมันอย่างเข้มข้น และด้วยการพึ่งพาตลาดน้ำมันนี้เองทำให้ราคาไฟฟ้าของฮาวายผันผวนกว่ารัฐอื่นๆ ยากต่อการคาดเดาและไม่เป็นผลดีต่อวางแผนลงทุนของครัวเรือนและภาคธุรกิจเลย
ไม่เพียงแต่น้ำมันเท่านั้น แต่สินค้าเกือบทุกชนิดต้องขนส่งมาจากแผ่นดินใหญ่หรือนำเข้าจากต่างประเทศเช่นกัน ทำให้ราคาสินค้าเกือบทุกอย่างสูงกว่ารัฐอื่นในสหรัฐอเมริกา หนำซ้ำราคาของที่พักอาศัยก็สูงเป็นอันดับสามของประเทศ อันเป็นผลมาจากความต้องการที่อยู่ของนักท่องเที่ยวและประชากรที่มาอาศัยเฉพาะฤดูกาล จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ฮาวายเป็นรัฐที่ค่าครองชีพสูงที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ นอกจากนี้การต้องนำเข้าพลังงานเกือบทั้งหมดยังทำให้ขาดดุลและเสียโอกาสในการนำงบประมาณมาสร้างประโยชน์ให้แก่เศรษฐกิจท้องถิ่น
Hawaii Clean Hawaii Initiative เริ่มขึ้นในปี 2551 ภายใต้ความร่วมมือของภาครัฐ ผู้ให้บริการพลังงาน ภาคธุรกิจ และองค์กรไม่แสวงหากำไร ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าควรหยุดพึ่งพาพลังงานจากน้ำมันอีกต่อไป และหันมาพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือตลอดทั้งปีนั่นก็คือ สายลม แสงแดด และคลื่น
ตอนที่เริ่มโครงการ ฮาวายมีพลังงานหมุนเวียนใช้แค่ 6% ของพลังงานทั้งหมดบนเกาะ ปัจจุบันผ่านมาราว 10 ปีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 25% นอกจากนี้ฮาวายยังมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคามากที่สุดในประเทศ และมีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าต่อหัวประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศอีกด้วย การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (energy efficiency) สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 2.5 ล้านตัน เทียบเท่าการขับรถยนต์ของคน 160,000 คนเป็นเวลา 1 ปี
ฮาวายกำลังเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างรวดเร็ว และกำลังเข้าสู่ยุคประกาศอิสรภาพทางพลังงานก็ว่าได้ ตอนนี้ฮาวายเป็นรัฐเดียวที่ตั้งเป้าหมายบรรลุพลังงานหมุนเวียน 100% ให้ได้ในปี 2588 หรืออีก 26 ปีข้างหน้า ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็ปรากฏพัฒนาการที่น่าสนใจและมีแนวโน้มว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าที่วางไว้ได้จริงๆ
แต่แค่นั้นยังดีไม่พอสำหรับฮาวาย Elemental Excelerator ร่วมกับ Rhodium Group and Smart Growth America ทำการศึกษาความเป็นได้ได้ที่ฮาวายจะบรรลุเป้าหมายด้วยเวลาที่สั้นกว่าเดิม ตั้งเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนให้เร็วขึ้นกว่าเดิม
นอกจากตั้งเป้าว่าจะเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2588 แล้ว ผู้ว่าการยังประกาศว่าการขนส่งทางบกก็จะต้องเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดทั้งหมดด้วยเช่นกัน ฮาวายนับเป็นรัฐแห่งเดียวในสหรัฐอเมริกาที่มีเป้าหมายทะเยอทะยานเช่นนี้ และยังมีความพยายามเร่งให้บรรลุเป้าหมายโดยเร็วที่สุด
ในปัจจุบัน ฮาวายสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดคิดเป็น 25% เพิ่มขึ้นจาก 9% ในปี 2010 อันเป็นผลมาจากมาตรการจูงใจที่เข้มข้นให้คนหันมาลงทุนติดแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านตัวเอง โดยมีเงินอุดหนุนจากรัฐ 30% และสามารถนำไปหักภาษีได้อีก 30% ระหว่างปี 2553 ถึง 2560 ฮาวายสามารถเพิ่มกำลังผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้ถึง 600 เมกกะวัตต์ และกลายเป็นรัฐที่มีแผงโซลาร์เซลล์ต่อสัดส่วนประชากรสูงที่สุดในประเทศ
รายงานการวิเคราะห์การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของฮาวาย (Hawaii’s clean energy transition)[1] เสนอว่าฮาวายควรเพิ่มสัดส่วนพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมให้เร็วขึ้นอีกด้วย เพราะยิ่งการเปลี่ยนผ่านเร็วเท่าไหร่ จะยิ่งประหยัดเงินได้มากขึ้นเท่านั้น ถ้าฮาวายตั้งเป้าหมายสัดส่วนพลังงานสะอาดที่ 80% ภายในปี 2030 สูงขึ้นจากเดิมถึงสองเท่า จะดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ฮาวายได้ 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ และสร้างการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1,522 ตำแหน่ง รายงานเสนอว่าฮาวายควรปรับปรุงกฎระเบียบและระบบการจัดการ โดยเฉพาะแรงจูงใจทางการเงินต่อภาคไฟฟ้าเพื่อเพิ่มผลประโยชน์จากการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด และจำเป็นต้องมีความโปร่งใสและการเข้าถึงข้อมูล
รายงานฉบับนี้ยังได้มุ่งเสนอแนวทางที่จะเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับภาคการขนส่ง การเพิ่มพาหนะไฟฟ้า ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ยากยิ่งสำหรับฮาวายเพราะยังขาดโครงสร้างพื้นฐาน
ด้วยเหตุนี้ภาครัฐจึงจำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และขณะเดียวกันต้องไม่เพิ่มแรงจูงใจให้ชาวเมืองซื้อรถ EVs เพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันพลังงานไฟฟ้ายังมาจากการเผาน้ำมันอยู่ การลดก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งจำเป็นต้องมีปัจจัยอื่นประกอบด้วย ได้แก่ การวางระเบียบผังเมืองที่ดี การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ แรงจูงใจที่จะสนับสนุนระบบการแชร์พาหนะไม่ว่าจะเป็นรถหรือจักรยาน
ฮาวายเป็นตัวอย่างของรัฐบาลท้องถิ่นที่มุ่งมั่นเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยไม่ปล่อยให้นโยบายจากรัฐบาลกลางยุคนายโดนัล ทรัมป์มาทำให้เสียสมาธิ ถ้าท้องถิ่นเข้มแข็งและมีวิสัยทัศน์ การเปลี่ยนแปลงก็เป็นไปได้แน่นอน
เอกสารประกอบการเขียน
https://rhg.com/research/transcending-oil-hawaiis-path-to-a-clean-energy-economy/
https://www.transcendingoil.com/
https://www.greenbiz.com/article/it-wont-be-easy-hawaii-should-speed-its-transition-clean-energy
[1] การวิเคราะห์การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของฮาวาย (Hawaii’s clean energy transition) ใช้เครื่องมือสร้างแบบจำลองทางเศรษฐกิจจากชุดข้อมูลรัฐและรัฐบาลกลาง ศึกษาวรรณกรรมปริทัศน์ที่มีอยู่และการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้เชี่ยวชาญในฮาวาย