fbpx
Happy New You : 5 หนังสือ 3 หนัง เปลี่ยนคุณเป็นคนใหม่

Happy New You : 5 หนังสือ 3 หนัง เปลี่ยนคุณเป็นคนใหม่

ทุกครั้งที่ขึ้นศักราชใหม่ นอกจากการทบทวนตัวเองในขวบปีที่ผ่านมา ใครหลายคนใช้ช่วงเวลานี้เป็นหมุดหมายในการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ตั้งปณิธานว่าจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม

แต่ขึ้นชื่อว่าชีวิต ย่อมไม่มีอะไรแน่นอน แม้จะวางแผนรัดกุมแค่ไหน กำหนดกรอบเวลาอย่างเข้มงวดเพียงใด ก็อาจมีปัจจัยไม่คาดฝันที่แทรกเข้ามา ทำให้ปณิธาณล้มเหลวไม่เป็นท่า

ตรงกันข้าม การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลายต่อหลายครั้ง มักเกิดขึ้นโดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า และบางคำตอบของชีวิตอาจปรากฏขึ้นมาโดยไม่คาดคิด เพียงแค่ได้อ่านหนังสือบางเล่ม หรือดูหนังบางเรื่อง

 

หลังจบเสวนาในงาน 101 Minutes @Starbucks ครั้งที่ 8 หัวข้อ ‘Happy New You’ เราชวนวิทยากร 3 คน ประกอบด้วย วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ, จักรพันธุ์ ขวัญมงคล และ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง มาร่วมแชร์ประสบการณ์จากการอ่านหนังสือและชมภาพยนตร์ ที่ส่งผลให้มุมมองต่อชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไป

ต่อไปนี้คือหนังสือ 5 เล่ม และภาพยนตร์ 3 เรื่อง ที่อาจช่วยให้คุณค้นพบแง่มุมใหม่ๆ ในชีวิต และลุกขึ้นมาคิดใหม่ ทำใหม่ – โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันสิ้นปี

1. ชีวิตไม่ไร้ความหมาย (Man’s search for meaning)

 

 

วิกเตอร์ อี. ฟรังเคิล เขียน

นพมาส แววหงส์ แปล

แพรวสำนักพิมพ์

 

บันทึกจากชีวิตจริงของจิตแพทย์ชาวยิว ซึ่งถูกจับไปเป็นเชลยในค่ายกักกันช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และสามารถพาชีวิตตัวเองให้รอดออกมาได้ ประสบการณ์อันโหดร้ายในคุกทำให้เขาค้นพบความหมายบางอย่างของการมีชีวิตอยู่ และเขานำมาบอกเล่าไว้ในหนังสือเล่มนี้ นี่คือหนังสื่อที่ได้รับการยกย่องว่า ‘เปลี่ยนชีวิต’ ผู้คนได้มากที่สุดเล่มหนึ่ง

“ผมเข้าใจว่าเรื่องราวบางส่วนในหนังสือเล่มนี้ เป็นต้นเรื่องที่ถูกนำไปสร้างเป็นหนังเรื่อง ‘Life is beautiful’ เพราะหลายฉากที่อยู่ในหนังสือ มันปรากฏอยู่ในหนังด้วย เช่น ฉากที่ตัวเอกบิดก๊อกน้ำในคุก แล้วไม่มีทางรู้เลยว่าจะเป็นน้ำหรือก๊าซพิษที่ไหลออกมา…

“เป็นหนังสือที่อ่านแล้วทำให้ตระหนักได้อย่างหนึ่งว่า ไม่ว่าสภาพแวดล้อมภายนอกจะหนักหนาสาหัสแค่ไหน สุดท้ายแล้วก็อยู่ที่ภาวะภายในของเรา ว่าเราให้ความหมายหรือคุณค่าของชีวิตกับอะไร และเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ในแต่ละวันของเรา คืออะไร” – วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ

 

2. Journey : An Illustrated History of Travel

 

 

Dorling Kindersley Publishing staff / Simon Reeve เขียน

จัดพิมพ์โดย Dorling Kindersley

 

หนังสือ Encyclopedia ว่าด้วยการเดินทางของมนุษยชาติ นับตั้งแต่มีการบันทึกประวัติศาสตร์มา ตั้งแต่ยุคโบราณที่มนุษย์ใช้ ‘การเดิน’ เพื่อสำรวจโลก เรื่อยมาถึงการคิดค้นยานพาหนะต่างๆ เช่นเดียวกับการค้นพบผืนแผ่นดินและทรัพยากรใหม่ๆ มาจนถึงยุคปัจจุบันที่มนุษย์กำลังมุ่งสู่อวกาศ

“พออ่านไล่มาเรื่อยๆ ผมรู้สึกว่ายุคปัจจุบันมันไม่สนุกเลย ไม่ตื่นเต้นเท่ากับส่วนแรกๆ ที่มนุษย์ใช้การเดิน หรือเริ่มคิดค้นล้อขึ้นมา ทำให้เราเห็นว่ากว่าคนในยุคนั้นจะค้นพบ หรือคิดค้นแต่ละอย่างขึ้นมา มันไม่ง่าย แต่ขณะเดียวกันก็มีความหมายมากๆ กับคนยุคปัจจุบัน” – จักรพันธุ์ ขวัญมงคล

3. ปรัชญาชีวิต (The Prophet)

 

 

คาลิล ยิบราน เขียน

ระวี ภาวิไล แปล

สำนักพิมพ์ ผีเสื้อ

 

หนึ่งในงานกวีนิพนธ์ชิ้นเอกของโลก รังสรรค์โดยปราชญ์และศิลปินผู้ยิ่งใหญ่-คาลิล ยิบราน เป็นหนังสืออมตะที่คนหนุ่มสาวทุกยุคทุกสมัย และทุกเชื้อชาติ ต่างใช้เป็นคัมภีร์ตั้งต้นในการค้นหาความหมายของชีวิต

“เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมรักมาก ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน อ่านตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา เป็นกวีนิพนธ์ที่เปลี่ยนรสสัมผัสของเราที่เคยมีต่อโลก พูดเรื่องความรัก พูดเรื่องที่ว่าง พูดถึงนามธรรมต่างๆ ทำให้เราเกิดความละเมียดละไมทางความรู้สึก ถ้อยคำของยิบรานปล่อยให้เราสัมผัสและเรียนรู้ภาวะต่างๆ ในชีวิตไปทีละนิด ซึ่งพอกลับมาอ่านตอนที่อายุมากขึ้นแล้ว อารมณ์ความรู้สึกที่ได้ก็เปลี่ยนตามไปด้วย” – คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

4. เป็นอันตกลง (A Long Way Down)

 

 

นิค ฮอร์นบี เขียน

จักรพันธุ์ ขวัญมงคล แปล

 

นวนิยายชวนหัวว่าด้วยเรื่องราวของคน 4 คน ที่ต่างเผชิญกับมรสุมชีวิต และบังเอิญมาเจอกันบนยอดตึกสูงแห่งหนึ่งในวันส่งท้ายปี ด้วยเหตุผลเดียวกันคือ—อยากกระโดดตึกตาย จากโศกนาฏกรรมที่ควรจะเกิดขึ้นง่ายๆ กลับกลายเป็นช่วงเวลาแห่งการทบทวนชีวิต ผ่านเรื่องราวและความสัมพันธ์ระยะสั้นๆ จากคนแปลกหน้า

“เป็นเรื่องที่ทำให้คิดได้ว่า ทุกปัญหาหรือทุกความคาดหวังของชีวิต แม้ว่ามันจะมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย และเราอาจใช้เวลามากมายเพื่อแก้ไขหรือหาคำตอบให้กับมัน ท้ายที่สุดแล้วมักไปจบที่แนวคิดง่ายๆ เสมอ ก็คือเรียนรู้ ยอมรับ และก้าวไปต่อ แต่ประเด็นก็คือว่า กว่าจะพบคำตอบง่ายๆ แบบนี้ได้ มันต้องผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย—ถึงจะเข้าใจ” – จักรพันธุ์ ขวัญมงคล

 

5. ใจที่เธอกลัว (The Places that scare you)

 

 

เพม่า โชดอน เขียน

อัญชลี คุรุธัช แปล

สำนักพิมพ์ ปลากระโดด

 

เพม่า โชดรัน เป็นคุรุทางจิตวิญญาณคนสำคัญในโลกตะวันตก ‘ใจที่เธอกลัว’ คือหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของเธอ บอกเล่าถึงความกลัวในแง่มุมที่คนทั่วไปอาจไม่เคยตระหนัก ทำให้เรารู้เท่าทันและกล้าเผชิญกับความกลัวรูปแบบต่างๆ มากขึ้น หรืออย่างน้อยก็มองความกลัวเหล่านั้นด้วยสายตาที่เป็นมิตรขึ้น

“เราอ่านหนังสือของ เพม่า โชดรัน หลายเล่ม ถือเป็นคนที่อธิบายเรื่องความทุกข์ได้น่าสนใจที่สุดคนหนึ่ง และมีวิธีการสื่อสารที่มีความเป็นมิตรสูง สิ่งหนึ่งที่เพม่าเน้นย้ำอยู่เสมอก็คือ วิถีทางจิตวิญญาณมันไม่ได้ให้ความหวัง มิหนำซ้ำยังบอกกับเราว่าให้หาทางออกจากความหวัง ซักทวนเราตลอดเวลาว่าคุณลอกคราบตัวเองได้รึยัง ซึ่งต่างจากหนังสือธรรมะส่วนใหญ่ในปัจจุบัน” – คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

6. ภาพยนตร์ ‘The Secret life of Walter Mitty’ (2014)

 

 

กำกับโดย Ben Stiller

 

หนังบอกเล่าเรื่องราวของ ‘มิตตี้’ ชายวัยกลางคนที่ใช้ชีวิตอยู่กับงานอันซ้ำซากในสำนักงานนิตยสารแห่งหนึ่ง และมักหลีกหนีความจำเจด้วยการฝันกลางวันแบบหลุดโลก แล้ววันหนึ่งจุดเปลี่ยนก็มาถึง เมื่อรูปถ่ายชิ้นสำคัญที่อยู่ในความดูแลของเขา เกิดหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นเหตุให้เขาต้องออกเดินทางเพื่อตามหารูปใบนี้ โดยหารู้ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาจากหน้าเป็นหลังมือ

“เป็นหนังที่ทั้งคลิเช่ ทั้งน้ำเน่า แต่ดันกระทบกับชีวิตเราในช่วงนั้นพอดี คือช่วงชีวิตที่อยากสร้างความเปลี่ยนแปลง อยากก้าวออกจากความคุ้นเคยเดิมๆ นิสัยเดิมๆ พอดูแล้วก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่าเราไม่อยากเป็นคนแบบเดิมแล้ว แล้วถ้าเราจะเขียนนิยายสักเรื่อง หรือทำงานศิลปะสักอย่าง เราก็อยากทำให้ได้แบบนี้ คือเปลี่ยนสภาวะก่อนอ่านหรือดูที่เป็นแบบหนึ่ง ไปสู่สภาวะอีกแบบหนึ่งหลังดูจบ หนังเรื่องนี้มันเปลี่ยนเราแบบนั้นได้” – วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ  

 

7. ภาพยนตร์ Taste of Cherry (1997)

 

 

กำกับโดย Abbas Kiarostami

 

เป็นภาพยนตร์อาหรับที่แสนเรียบง่ายแต่พูดถึงการค้นหาความหมายชีวิตได้อย่างลึกซึ้ง ว่าด้วยเรื่องของชายอมทุกข์คนหนึ่งที่ขับรถตระเวนไปทั่วเมือง เพื่อจ้างวานให้ใครสักคนช่วย ‘ฝัง’ เขา หลังจากที่เขาฆ่าตัวตายในคืนนี้ ทว่าภารกิจนี้กลับไม่ง่าย เพราะทุกคนต่างมองว่าเขาบ้า หรือไม่ก็หาว่าเขาเล่นตลก จนกระทั่งได้เจอชายแก่คนหนึ่งซึ่งตกปากรับคำ และมอบคำตอบของชีวิตบางอย่างให้เขา—โดยไม่ได้ตั้งใจ

“ระหว่างที่ทั้งสองคนขับรถกันไป ชายแก่ก็เล่าให้ตัวเอกฟังว่า ทุกๆ ปี เขาจะเฝ้ารอช่วงเวลาที่ต้นเชอร์รี่ออกผล แล้วเด็ดมากินสดๆ จากต้น เพราะนั่นคือช่วงที่ผลเชอร์รี่อร่อยที่สุด… เป็นหนังที่ดูจบแล้ว ทำให้มุมมองต่อชีวิตของผมเปลี่ยนไปเลย ทำให้เข้าใจว่าคำว่า ชีวิตก็แค่นี้เอง’ เป็นยังไง และทำให้ผมย้อนกลับมามองตัวเองว่า บางครั้งเราก็โหดร้ายทารุณกับตัวเองมากไปหรือเปล่า” – จักรพันธุ์ ขวัญมงคล

 

8. ภาพยนตร์ เรื่อง Samsara (2001)

 

กำกับโดย Pan Nalin

 

เรื่องราวของลามะผู้หนึ่งซึ่งอยู่ในวิถีของนักปฏิบัติอย่างเคร่งครัดมาตั้งแต่วัยเยาว์ ก่อนจะเผชิญทางแยกในชีวิตเมื่อพบกับอิสตรีผู้สง่างาม ถูกครอบงำด้วยตัณหาและกามอารมณ์ ค้นพบและคลี่คลาย ก่อนจะวกกลับมาเผชิญทางแยกและความท้าทายทางจิตวิญญาณอีกหลายต่อหลายครั้ง

“เป็นหนังที่ถ้าคุณดูตอนเด็กๆ จะรู้สึกแบบหนึ่ง แต่ถ้าดูตอนที่โตแล้ว มีครอบครัวแล้ว ก็จะรู้สึกอีกแบบหนึ่ง พอใช้ชีวิตครอบครัวมาอีกสักระยะ แล้วกลับมาดู ก็จะรู้สึกอีกแบบหนึ่ง เป็นหนังของคนที่พยายามแสวงหาคำตอบทางจิตวิญญาณ แสดงให้เห็นถึงการก้าวผ่านช่วงเวลาต่างๆ ในชีวิต ว่าเวลาที่คุณโฟกัสอยู่กับเส้นทางตรงหน้า เส้นทางที่คุณเดินอยู่นั้น มันไม่ได้มีแต่ถนน แต่มันมีกรวดทราย มีดอกไม้ข้างทาง ซึ่งล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางทั้งสิ้น” – คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save