fbpx
อาณานิคมเดนมาร์ก

เดนมาร์กและกรณียกเว้นของความทรงจำอาณานิคม

ในประวัติศาสตร์นิพนธ์ของยุคอาณานิคมยุโรปหลายร้อยปีนั้น หากเราจะว่ากันโดยรวบยอดตั้งแต่ปี 1492 จนกระทั่งกระบวนการปลดปล่อยอาณานิคมในโลกที่สามที่ซ้อนทับกับช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เดนมาร์กเป็นอำนาจขนาดกลางท่ามกลางมหาอำนาจอื่นของยุโรป แต่ในขณะเดียวกันหากว่ากันเพียงเฉพาะภูมิภาคสแกนดิเนเวียแล้ว เดนมาร์กถือเป็นอำนาจอาณานิคมชัดเจนมากที่สุด เมื่อพิจารณาเฉพาะเรื่องจำนวนบริเวณที่ครอบครองได้ในประวัติศาสตร์


เดนมาร์กกับความเป็นกรณียกเว้น


กระนั้น สำหรับวงการประวัติศาสตร์ว่าด้วยการครอบครองอาณานิคมในประเทศเดนมาร์กเอง ก็ยังจะยึดถืออยู่กับความมีลักษณะเฉพาะของตนเอง มองตนเองว่ามีความต่างออกไป ทั้งยังเป็นกรณียกเว้นเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเจ้าอาณานิคมยุโรปอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเสนอว่า เดนมาร์กไม่ได้ทำการรบ (สมรภูมิใหญ่) กับอาณานิคมที่ตนเองครอบครอง หรือเดนมาร์กได้ขายอาณานิคมที่อยู่ในเขตร้อนชื้นของตนไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทรันคีบาร์ ศรีรัมปูร์ และหมู่เกาะนิโคบาร์ (ในอินเดีย) ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 และขายหมู่เกาะเวสต์อินดีส์เดนมาร์ก (ปัจจุบันคือหมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐฯ) ไปตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ดังนั้นนักประวัติศาสตร์จึงอ้างว่า เดนมาร์กไม่ได้เข้าไปยุ่งกับสงครามปลดปลดปล่อยตนเองในทวีปอเมริกา

หรือมีการอ้างว่า อาณานิคมของเดนมาร์กในทะเลแอตแลนติกเหนือ อาทิ ไอซ์แลนด์ก็ได้รับอิสรภาพ ‘อย่างสันติ’ ในปี 1944 รวมไปถึงกระทั่งหมู่เกาะแฟร์โรและกรีนแลนด์ ก็ได้อำนาจในการปกครองตนเองในปี 2005 และ 2009 ตามลำดับ ดังนั้นประวัติศาสตร์นิพนธ์ของเดนมาร์กก่อนหน้านี้ ก็จัดประเภทว่าเดนมาร์กเป็นกรณียกเว้น เป็นเจ้าอาณานิคมที่มีความกรุณา (!) ต่างจากมหาอำนาจในยุโรปอื่นๆ 

อาณานิคมเดนมาร์กในหมู่เกาะเวสต์ อินดีส์เดนมาร์ก (ที่มาภาพ: wikipedia.org)


ประวัติศาสตร์ประเทศผู้สันติหลังสงคราม

           
แต่นักประวัติศาสตร์ในยุคต้นศตวรรษที่ 21 ในสแกนดิเนเวียเองเริ่มเผยให้เห็นว่า อันที่จริงแล้ว ประวัติศาสตร์การเป็น ‘กรณียกเว้น’ ของศูนย์กลางอำนาจในสแกนดิเนเวีย (คือเดนมาร์กและสวีเดน) เป็นผลผลิตของสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากประเทศสแกนดิเนเวียมีบทบาทเป็นผู้เคลื่อนไหวผลักดันกระบวนการสันติภาพต่างๆ ทั้งผ่านองค์กรระดับโลกและระดับภูมิภาค ประเทศเหล่านี้จึงเป็น ‘ตัวกลาง’ ผู้ซึ่งทำหน้าที่ประสานให้เกิดสันติภาพ และเป็นผู้สังเกตการณ์มากกว่าจะเป็นคู่ขัดแย้งของกรณีพิพาทในระดับโลกไปโดยปริยาย ในประวัติศาสตร์เช่นนี้ การเป็นเจ้าอาณานิคมผู้ใช้ความรุนแรงจึงไม่มีที่ทางที่จะปรากฏตัว และนั่นทำให้ประเทศเหล่านี้ยังไม่หันเข้าเผชิญกับประวัติศาสตร์ความเป็นอาณานิคมของตนอย่างตรงๆ แต่ยังใช้วิธีอ้างความบริสุทธิ์ หรือไม่ก็หันหลัง เพิกเฉยไปเสียอย่างนั้น

จนกระทั่งเร็วๆ นี้ นักประวัติศาสตร์ในเดนมาร์กเองก็เริ่มร้องทักว่า ในยุคอาณานิคมของเดนมาร์กเอง มีการรบราและการลุกฮือก่อกบฏในอาณานิคมอยู่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการกบฏอย่างน้อยๆ ถึงสามครั้งในปี 1733 1848 และ 1878 ในหมู่เกาะเวสต์ อินดีส์เดนมาร์ก รวมทั้งสถานการณ์ข่มขู่ด้วยกำลังทางการทหารของกองทัพเดนมาร์กในอาณานิคมของตนเองบนทะเลแอตแลนติกเหนือ คือการใช้การทูตเรือปืนต่อไอซ์แลนด์ในปี 1851 และ 1913 และทั้งต่อหมู่เกาะแฟร์โรในปี 1946 และ 1955 อีกทั้งช่วงหลังสงครามโลก เดนมาร์กก็เป็นเช่นเดียวกับเจ้าอาณานิคมในยุโรปอื่นอย่างเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ อิตาลี หรือฝรั่งเศส ซึ่งต่างก็พยายามกลับไปมีอิทธิพลเหนืออาณานิคมที่ตนเองเคยครอบครอง

เดนมาร์กขายอาณานิคมของตน และออกไปในปี 1917 (ที่มาภาพ: wikipedia.org)
ป้อมอาณานิคมของเดนมาร์กในทรันคีบาร์ อินเดีย (ภาพโดย: wikipedia.org)


เริ่มสร้างความทรงจำ

           
เหตุการณ์เหล่านี้อยู่ในความทรงจำสาธารณะของเดนมาร์กไม่มากนัก แต่เรื่องที่แทบจะเป็นใจกลางของความทรงจำสาธารณะของเดนมาร์กนั้น แน่นอน ย่อมเป็นเหตุการณ์ที่กองทัพนาซีบุกยึดครองเดนมาร์กในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองต่างหาก ซึ่งได้รับความนิยมในศตวรรษที่ 21 เป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการสร้างความทรงจำร่วมว่าด้วยการยืนหยัดต่อต้านผู้รุกรานจากต่างชาติ และสามารถนำมาใช้สอดประสานเข้ากับการสร้างกระแสการต่อต้านผู้อพยพ ในทำนองว่าคลื่นผู้อพยพต่างชาติที่เข้ามาในเดนมาร์กนั้น ก็เป็นเช่นเดียวกับการรุกรานของกองทัพต่างชาติในช่วงสงครามนั่นเอง นับเป็นความพอเหมาะพอเจาะทีเดียว โดยเฉพาะกับพรรคการเมืองฝ่ายขวา

หากเมื่อมีความพยายามจะสร้างความทรงจำสาธารณะเกี่ยวกับเรื่องประวัติศาสตร์อาณานิคมของเดนมาร์ก ก็กลับกลายเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัวไป

ตัวอย่างของการจัดงานครบรอบ 100 ปีการปลดปล่อย (อันที่จริงคือขาย) หมู่เกาะเวสต์อินดีส์เดนมาร์ก ซึ่งปัจจุบันคือหมู่เกาะเวอร์จินให้กับสหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดกันในปี 2017 เป็นตัวอย่างที่ดีของความผิดฝาผิดตัวของการพยายามสร้างความทรงจำสาธารณะในโลกภาษาเดนมาร์กนี้

ในการจัดงานครบรอบของปีนั้น พระราชินีมาร์กาเร็ตที่ 2 ปฏิเสธไม่เข้าร่วม และความพยายามจะทำการจำลองเหตุการณ์การปลดปล่อยอาณานิคมก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า ทั้งยังไม่มีการเอ่ยถึงนายพลบุดโดอี (General Buddhoe) ผู้นำกบฏทาสที่มีส่วนร่วมในการควบคุมสถานการณ์ความตึงเครียดกับเจ้าอาณานิคมเดนมาร์กในการจำลองเหตุการณ์นั้นแต่อย่างใด กลับไปยกย่องแต่ผู้ว่าการ ฟอน โชลเทน (Governor von Scholten) ผู้ปกครองอาณานิคมเดนมาร์กโดยใช้การขูดรีดมากกว่า

นายพลบุดโดอี (General Buddhoe) บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์อาณานิคมเดนมาร์ก (ที่มาภาพ: wikipedia.org)

นอกจากนี้ยังมีการจัดจำหน่ายหนังสือชุดเดนมาร์กกับอาณานิคม (Danmark og kolonierne, 2017) ขนาดใหญ่ห้าเล่ม แต่เนื้อหากลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นการยกย่องเชิดชูคนขาวเสียมากกว่า

ดังนั้น โดยภาพรวมแล้วการจัดงานเพื่อสร้างความทรงจำต่ออดีตการเป็นอาณานิคมของตนเอง เดนมาร์กกระทำไปอย่างเหนียมๆ มากกว่าจะเป็นความพยายามกลับเข้าไปหาอดีตอันเลวร้าย แล้วพยายามเรียนรู้และทบทวน

ผลอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังจากมีการจัดงานด้วยท่าทีเช่นนี้ คือแทนที่จะเป็นการสร้างความตระหนักรู้ กลับไปก่อให้เกิดความรู้สึกโหยหาอดีต (nostalgia) แทนที่จะเห็นว่าเดนมาร์กกระทำการขูดรีดผ่านอาณานิคมในประวัติศาสตร์ สาธารณชนกลับไพล่ไปเห็นว่าเดนมาร์กเป็นชาติที่เคยยิ่งใหญ่มาก่อน ทั้งยังมีความต้องการเดินทางท่องเที่ยวไปยังดินแดนอันห่างไกลในแคริบเบียน แอฟริกา และอินเดีย เพื่อสัมผัสความทรงจำว่าประเทศของตนเคยยิ่งใหญ่แค่ไหน ไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง


การดำเนินต่อไปของการต่อสู้เรื่องความทรงจำ

           
แต่การต่อสู้เรื่องความทรงจำอาณานิคมของเดนมาร์กก็ดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น ในปี 2017 ที่มีการจัดงานครบรอบ 100 ปีการปลดปล่อยหมู่เกาะเวสต์อินดีส์เดนมาร์ก ก็มีภาคประชาชนทั่วไปจัดงานรำลึก นิทรรศการ สัมมนา การประท้วง ฯลฯ อย่างมากมายเช่นกัน ในเมื่อรัฐไม่ยอมหันหน้าเผชิญกับอดีต พวกเขาก็เคลื่อนไหวกระทำการกำหนดความทรงจำกันเอง

เหล่านี้คงเป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการจัดการกับความทรงจำอันเลวร้ายของประเทศขนาดกลางในยุโรปประเทศหนึ่ง ซึ่งความทรงจำสาธารณะก็จะถูกแย่งชิงต่อสู้กันต่อไป ไม่ได้มีอะไรเป็นข้อยกเว้นแม้แต่กระผีกริ้น


อ้างอิง

Lars Jensen, “Commemoration, Nation Narration, and Colonial Historiography

in Postcolonial Denmark” in Scandinavian Studies, Volume 91, Number 1-2, Spring/Summer 2019, pp.13-30

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save