fbpx

เกิดอะไรขึ้นกับตัวเลข GDP ไตรมาส 3?

เป็นอีกหนึ่งไตรมาสที่ตัวเลข GDP ของไทยออกมาแล้วมีประเด็นที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์เกาหัวกันแกรกๆ

GDP ไตรมาสสามออกมาโตแค่ 1.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสปีก่อน และโต 0.8% เทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งต่ำกว่าที่หลายคนคาดไว้ ทั้งๆ ที่เมืองก็เปิดแล้ว นักท่องเที่ยวก็เริ่มกลับมาแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าสุดๆ จนบางคนเรียกวิกฤตแล้ว

และถ้าดูไส้ในปกติ ก็คงบอกว่าเพราะการส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐยังหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่การบริโภคภายในประเทศยังโตดีมากๆ โตถึง 8.1% เทียบกับปีก่อน! และถ้านับเอาจากฝั่งอุปสงค์หรือฝั่งการใช้จ่าย (ใครเรียนเศรษฐศาสตร์มา คงจำสมการ Y=C+I+G+X-M ได้) เศรษฐกิจโตถึง 11.7%! ส่วนหนึ่งเพราะการนำเข้าก็หดตัวไปด้วย

ตัวเลขเช่นนี้สร้างความสับสนว่า สรุปแล้ว เราจะบอกว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดีกันแน่ ซึ่งจะนำไปสู่คำถามสำคัญด้วยว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจจำเป็นหรือไม่? หากดูข้อมูลฝั่งการผลิตหรือ ‘supply’ ก็ต้องบอกว่าเศรษฐกิจ แย่กว่าที่คาด และแย่กว่าที่ควรจะเป็น แต่ถ้าดูฝั่งอุปสงค์ หรือ ‘demand’ ต้องบอกว่าดีมากๆ โดยเฉพาะการใช้จ่ายในประเทศ หากตัวเลขการใช้จ่ายเป็นเช่นนี้คำถามคือ แล้วจะกระตุ้นทำไม

คำอธิบายสำคัญคือตัวเลข ‘ส่วนเปลี่ยนสินค้าคงคลัง’ (changes in inventories) และ ‘ส่วนเบี่ยงเบนทางสถิติ’ (statistical discrepancies)

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า GDP เป็นแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการผลิต (production concept) คือวัดมูลค่าของสินค้าและบริการที่ “ผลิต” ขึ้นในระยะเวลาหนึ่ง ไม่ใช่มูลค่าของยอดขายหรือการใช้จ่าย ดังนั้น ‘ส่วนเปลี่ยนสินค้าคงคลัง’ จึงเป็นตัวที่อธิบายส่วนต่างของตัวเลขฝั่งการใช้จ่ายและฝั่งการผลิต เช่น ถ้าปีนี้ร้านค้าขายสินค้าได้มาก แต่ยังไม่ได้ผลิตของเพิ่ม เราอาจจะเห็นยอดขายขึ้นดีขึ้น แต่การผลิตไม่เพิ่มเลย แต่สต็อกของในร้านลดลงไป

สำหรับตัวเลข GDP ไตรมาสสาม ส่วนที่น่าตกใจคือ ‘ส่วนเปลี่ยนสินค้าคงคลัง’ ส่งผลถึง -7% ของ GDP growth แปลว่า GDP ที่โต 1.5% นับรวมเอาส่วนเปลี่ยนแปลงสินค้าคงคลังไปถึง -7% แล้ว ถ้ามองในแง่ดีคือสต็อกของลดลง การผลิตก็น่าจะเพิ่มขึ้นในระยะถัดๆไป แต่มองในแง่ร้ายคือเศรษฐกิจทำท่าจะฟื้นแล้ว ทำไมยังไม่ผลิตกันอีก!

‘ส่วนเบี่ยงเบนทางสถิติต’ (statistical discrepancies) เป็นอีกหนึ่งตัวเลขที่น่าสนใจ ถ้าคิดแบบเดียวกันจะเห็นว่า ส่วนเบี่ยงเบนทางสถิติมีส่วนถึง 4% ซึ่งใหญ่กว่า GDP growth เสียอีก ตัวเลขเช่นนี้ทำให้งงเอาง่ายๆ ว่าที่เรานั่งวิเคราะห์กันอยู่นั้นคืออะไรกันแน่ หรือต่อไปนี้เราต้องประมาณ residuals กันด้วย

ก่อนจะเข้าใจปัญหาต้องเข้าใจก่อนว่า การทำตัวเลข GDP ที่แท้จริง (real GDP) ของไทยใช้วิธี chain volume measure ซึ่งมีข้อจำกัดสำคัญในทางเทคนิคคือ การคำนวน contribution to growth อาจจะใช้ไม่ได้ดีนัก เพราะตัวเลขแต่ละกลุ่มไม่ถูกบวกเพิ่มแบบเป๊ะๆ โดยเฉพาะถ้าเราถอยห่างจากปีฐานมากขึ้นเรื่อยๆ และตัวเลขที่เราดูกันอยู่ซึ่งต้องถือว่าเป็นตัวเลขชี้วัดที่ดีที่สุดที่เรามี ใช้ปีฐานตั้งแต่ปี 2002 หรือเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว! ปัจจุบัน ตัว residual หรือผลต่างของการคิดจากสองฝั่งคือประมาณ 3.3% ซึ่งถือว่าใหญ่มาก เหมือนสร้างสะพานจากสองฝั่งแม่น้ำ แต่ไม่เจอกันกลางแม่น้ำ

การคำนวณ GDP เป็นตัวเลขจากการสำรวจทั้งสิ้น จึงอาจมีความคลาดเคลื่อนได้อยู่แล้ว แต่คำถามคือทำไมส่วนต่างมันใหญ่ขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะหลังโควิด

นอกเหนือจากประเด็นปีฐาน ผมมีความสงสัยว่าอาจจะเกิดจากอีกสามประเด็น ซึ่งต้องออกตัวว่ายังเป็นสมมติฐานอยู่

1. (เป็นไปได้หรือไม่ที่) โครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้การสำรวจข้อมูลแบบเดิม มีความคลาดเคลื่อนเพิ่มมากขึ้น เช่น เศรษฐกิจและการบริโภคที่ลดลงและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ธุรกิจภาคบริการที่หายไปและกลับมาใหม่ และธุรกรรมออนไลน์ที่มีมากขึ้นอาจทำให้การสุ่มสำรวจรูปแบบเดิม ไม่สะท้อนโครงสร้างเศรษฐกิจแบบใหม่

2. (เป็นไปได้หรือไม่ที่) อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็วมีผลต่อการคำนวณตัวเลขที่แท้จริง

3. (เป็นไปได้หรือไม่ที่) การบันทึกธุรกรรมบางประเภท โดยเฉพาะการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว และการนำเข้าสินค้า ไม่สอดคล้องกับความจริง เช่น อาจจะบันทึกการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่ำไป หรือบันทึกการนำเข้าบางประเภทน้อยไป (เช่น การนำเข้าชายแดน หรือธุรกรรม e-commerce ที่ไม่ต้องชำระภาษี หรือเรื่องการนำเข้าหมูเถื่อนที่คนพูดถึงกันเยอะๆก็อาจจะส่งผลแบบนี้ได้เช่นกัน)

ตัวเลขเศรษฐกิจกับปัญหาการใช้นโยบาย

ปัญหาสำคัญเวลาเราเจอตัวชี้วัดเศรษฐกิจที่ขัดกันแบบนี้ อาจจะนำไปสู่การประเมินภาพเศรษฐกิจที่ขัดแย้งกัน และข้อสรุปเชิงนโยบายที่น่าปวดหัว

แต่ถ้าเราดูตัวเลขอื่นๆประกอบไปด้วย เช่น ผลการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดลงต่อเนื่อง คุณภาพหนี้สินเชื่อรายย่อย และอัตราเพิ่มของสินเชื่อธนาคาร น่าจะเป็นการบ่งบอกว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมน่าจะอยู่ในภาวะชะลอตัว และมีโอกาสจะชะลอตัวต่อไปด้วย แม้ว่าเครื่องส่งอย่างการส่งออกและการท่องเที่ยวยังคงเป็นแรงส่งที่สำคัญ

แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าคือ นี่น่าจะเป็นอีกหนี่งชุดข้อมูลที่ยืนยันว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่กำลังติดหล่ม และเราอยู่แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆไม่ได้ เราต้องคุยกันเรื่องนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง ที่จะยกศักยภาพของเศรษฐกิจท่ามกลางความท้าทายทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายที่อาจจะยังไม่เห็นผลในระยะสั้น แต่มีความจำเป็นในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็น เรื่องนโยบายการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีทักษะ การปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง การปฏิรูปนโยบายการแข่งขันเพื่อลดการผูกขาดและส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ การลดข้อจำกัดของกฎระเบียบ การลดการคอร์รัปชั่น การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ฯลฯ

ไม่เช่นนั้นเราอาจจะกำลังเดินลงไปสู่เส้นทางที่เราไม่อยากจะไป

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save