fbpx
กาเบรียล รุสซิเย

พฤษภา 68 และความรักต้องห้ามของกาเบรียล รุสซิเย (Gabrielle Russier) – (1)

(1)

‘Qui sont morts pour être aimés’ –
ผู้ตายเพื่อได้เป็นที่รัก


“…Understand if you will,

Me, my remorse was

The reasonable victim

With the gaze of a lost child,

The one who resembles deaths,

Who died to be loved…”[1]

– Paul Éluard, ‘Understand if you will’

เมื่อถูกนักข่าวถามว่าเขาคิดอย่างไรกับการฆ่าตัวตายของกาเบรียล รุสซิเย (Gabrielle Russier) ครูสาววัย 32 ปีที่สานสัมพันธ์ลึกซึ้งกับลูกศิษย์วัย 16 จนตกเป็นผู้ต้องหาในคดีพรากผู้เยาว์ (détournement de mineur) – เรื่องราวที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงของสังคมฝรั่งเศสในขณะนั้น – ประธานาธิบดีจอร์จส์ ปงปิดู (Georges Pompidou) เอ่ยบทกวี ‘Comprenne qui voudra’ (Understand if you will) ของปอล เอลุอาร์ด์ (Paul Éluard) ออกมาแทนคำตอบ

บทกวี ‘Comprenne qui voudra’ ของเอลุอาร์ด์ เขียนขึ้นเพื่ออุทิศให้กับผู้หญิงฝรั่งเศสที่ถูกจับกล้อนผมและแห่ประจานหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 – พวกเธอถูกกล่าวหาว่า ‘สมรู้ร่วมคิด’ กับศัตรูของชาติอย่างนาซีเพียงเพราะทำงานเป็นโสเภณีหรือมีคนรักเป็นทหารเยอรมัน สำหรับเอลุอาร์ด์แล้ว หญิงสาวเหล่านี้ก็เป็นเพียงเหยื่อของสังคมฝรั่งเศสที่พยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความเป็นจริงที่ว่าคนฝรั่งเศสจำนวนไม่น้อยหรือแม้กระทั่งพวกชนชั้นนำก็เคยมีส่วนสนับสนุนและสมรู้ร่วมคิดกับพวกนาซี[2]

ย่อมไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจนักที่อดีตครูสอนวิชาวรรณคดีอย่างปงปิดู[3] จะเลือกใช้บทกวีแสดงความรู้สึกภายในใจออกมา แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือเหตุผลเบื้องหลังการเลือกบทกวีชิ้นนี้ บางทีสำหรับปงปิดูแล้ว กาเบรียล รุสซิเยก็อาจจะเป็นเหยื่ออีกรายหนึ่งของสังคมที่กำลังปฏิเสธความจริงอยู่ – แต่ ‘ความจริง’ นั้น คืออะไรกัน?


L’amour interdit ; Ici-Paris (8-14 juillet 1969)


(2)

‘พฤษภา 68’ และสายลมแห่งการปฏิวัติ


การฆ่าตัวตายของกาเบรียล รุสซิเยในเดือนกันยายน ค.ศ.1969 เกิดขึ้นเพียง 1 ปีให้หลังเหตุการณ์ ‘พฤษภา 68’  หรือ Mai 68 อันเป็นห้วงเวลาแห่งความตื่นตัวทางสังคมและการเมืองครั้งใหญ่ของคนหนุ่มสาวฝรั่งเศส ฤดูใบไม้ผลิปีนั้นคือห้วงเวลาที่คนหนุ่มสาวพยายามปลดเปลื้องตนเองจากคุณค่าแบบอนุรักษนิยมและอำนาจนิยมที่ครอบงำสังคมฝรั่งเศสมาเป็นเวลายาวนาน เป็นห้วงเวลาที่พวกเขาปฏิเสธระเบียบแบบแผนของสังคมเก่า ไม่ว่าจะเป็นต่อทั้งสถาบันทางสังคมและการเมืองของฝ่ายอนุรักษนิยมที่มีตัวแทนเป็นรัฐบาลของประธานาธิบดีชาร์ลส์ เดอ โกล (Charles de Gaulle) หรือของฝ่ายซ้ายที่มีพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส (French Communist Party) เป็นหัวหอกก็ตามที

ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ.1968 การชุมนุมของนักศึกษาในวิทยาเขตชานเมืองที่น็องแตร์ (Nanterre) ได้ขยายตัวลุกลามจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองขนาดย่อมที่ใจกลางกรุงปารีส ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ในมหาวิทยาลัยที่เต็มไปด้วยกฎเกณฑ์อนุรักษนิยมแต่ไม่อาจตอบสนองต่อความต้องการทั้งทางวิชาการและทางสังคมได้กลายเป็นข้อเรียกร้องให้มีการปฏิวัติสังคมอย่างถึงรากถึงโคน[4]

นอกจากกฎของหอพักที่ห้ามไม่ให้นักศึกษาชายพบปะกับนักศึกษาหญิงได้อย่างเสรีแล้ว เมื่อแรกเปิดวิทยาเขตก็ไม่มีแม้กระทั่งหอสมุดหรือสระว่ายน้ำ ไม่เพียงเท่านั้น รถเข้าเมืองปารีสก็มีตารางเวลาที่ไม่แน่นอนและหมดตั้งแต่ 3 ทุ่ม – สำหรับนักศึกษาแล้ว มหาวิทยาลัยของพวกเขาแทบไม่ต่างอะไรกับทะเลทราย[5] – คำถามต่อสภาพความเป็นอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยได้เริ่มนำไปสู่คำถามที่ใหญ่กว่า – นั่นคือคำถามต่อสังคมและกฎเกณฑ์ที่หล่อเลี้ยงให้สภาพเช่นนั้นสามารถดำรงอยู่ได้

การออกคำสั่งปิดมหาวิทยาลัยที่น็องแตร์และการสลายการชุมนุมด้วยตำรวจสลายฝูงชนบีบให้นักศึกษาต้องย้ายมาชุมนุมที่ย่านการศึกษาใจกลางกรุงปารีส การใช้ความรุนแรงของตำรวจที่ใจกลางเมืองหลวงยิ่งบีบให้ประชาชนที่พบเห็นทนไม่ได้และเข้าร่วมการชุมนุมของนักศึกษา นักเรียนมัธยมเข้ายึดโรงเรียนและเปลี่ยนห้องเรียนของพวกเขาให้กลายเป็นเวทีถกเถียงถึงปัญหาสังคมและการปฏิวัติ นักศึกษาของสถาบันต่างๆ พากันเข้ายึดมหาวิทยาลัยและเปลี่ยนอาคารเรียนให้กลายเป็นเขตปกครองอิสระ พวกเขาเปลี่ยนท้องถนนให้กลายเป็นสมรภูมิ ย่านการศึกษาใจกลางกรุงปารีสเต็มไปด้วยปราการสิ่งกีดขวางที่ทำมาจากรถยนต์หรือเฟอร์นิเจอร์อย่างโต๊ะและเก้าอี้ที่สามารถหาได้จากแถวนั้น สหภาพแรงงานทั่วประเทศตัดสินใจเข้าร่วมสนับสนุนการต่อสู้ของนักศึกษาและประชาชนด้วยการนัดผละงานทั่วประเทศจนทำให้ทั้งฝรั่งเศสต้องกลายเป็นอัมพาต ประธานาธิบดีเดอ โกลต้องรีบขึ้นเครื่องบินอย่างรีบร้อนเพื่อ ‘หลบไปตั้งหลัก’ ที่ฐานทัพฝรั่งเศสในเยอรมัน เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลบางคนเริ่มเผาเอกสารราชการด้วยความหวาดกลัวว่า ‘การปฏิวัติ’ อาจกุมชัยชนะในไม่ช้า[6] – สำหรับหลายๆ คนในห้วงเวลานั้น สังคมฝรั่งเศสที่พวกเขาเคยรู้จักกำลังจะพังทลายลงต่อหน้าต่อตา[7]

ท่ามกลางบรรยากาศแห่งการปฏิวัติและการแสวงหาเสรีภาพนี้เองที่ความสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่างกาเบรียล รุสซิเย ครูสอนวิชาวรรณคดีของโรงเรียนนอร์ด์[8] (Lycée Nord) ในเมืองมักเซย์ (Marseille) และคริสติย็อง รอสซี (Christian Rossi) นักเรียนหนุ่มฝ่ายซ้ายได้ก่อตัวขึ้น บางทีความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็อาจไม่ต่างจากคนหนุ่มสาวอีกจำนวนมากในขณะนั้น เหมือนที่ดาเนียล คอห์น-บ็องดีท (Daniel Cohn-Bendit) แกนนำนักศึกษาในเหตุการณ์พฤษภา 68 เคยบรรยายไว้ว่า

“…ในห้วงเวลาแห่งความกระตือรือร้นรวมหมู่ที่ทุกสิ่งทุกอย่างดูจะเป็นไปได้นี้เอง ย่อมไม่มีอะไรจะเป็นธรรมชาติและเรียบง่ายไปกว่าความสัมพันธ์อันอบอุ่นระหว่างผู้ชุมนุมด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างคนหนุ่มสาว ทุกอย่างเรียบง่ายและไม่ซับซ้อน ปราการสิ่งกีดขวางที่ผู้ชุมนุมสร้างขึ้นไม่เพียงเป็นแค่สัญลักษณ์แห่งการป้องกันตัวเองอีกต่อไป: มันได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพของปัจเจกชนไปแล้ว…”[9]

หากจะมีสิ่งใดที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกาเบรียลและคริสติย็องแตกต่างออกไปจากคนหนุ่มสาวคู่อื่นๆ ก็คือการที่กาเบรียลเป็นครูมัธยมปลายของคริสติย็อง และทั้งคู่มีอายุห่างกันมากกว่า 10 ปี


(3)

‘ความรัก’ ต้องห้าม


กาเบรียลเริ่มทำงานเป็นครูมัธยมปลายในปี ค.ศ. 1967 ขณะที่มีอายุได้ 30 ปี เธอเป็นแม่ม่ายลูก 2 เป็นผู้หญิงร่างเล็ก ผมสีน้ำตาลสั้น และมีใบหน้าอ่อนเยาว์ที่มักทำให้คนสับสนว่าเธอเป็นนักเรียนมัธยมปลายคนหนึ่ง กาเบรียลมาจากครอบครัวชนชั้นกลาง พ่อของเธอเป็นนักกฎหมายในปารีส และตัวเธอเองก็เพิ่งสอบผ่าน ‘อะเกรกาซิญง’ (agrégation) ซึ่งเป็นการแข่งขันคัดเลือกครู-อาจารย์ของฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงมาได้ไม่นาน[10]

คริสติย็องเป็นนักเรียนมัธยมปลาย วัย 16 ปี เขามีผิวเข้มตามแบบคนเชื้อสายอิตาเลียนและไว้หนวดเคราที่ทำให้ดูโตมากกว่าอายุตามความเป็นจริง ทั้งพ่อและแม่ของคริสติย็องต่างก็เป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยเอ็ก-ซ็อง-โพรว็องซ์ (Aix-en-Provence) และเป็นอดีตอาจารย์ของกาเบรียลสมัยที่เธอยังเป็นนักศึกษาที่นั่น – ในขณะที่คริสติย็องเป็นผู้ที่นิยมแนวคิดของเหมา เจ๋อตง (Maoism)[11] พ่อแม่ของเขาทั้งคู่ต่างก็เป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส


คริสติย็อง รอสซี (Christian Rossi)


คริสติย็องก็คงไม่ต่างจากคนหนุ่มสาวฝรั่งเศสที่สมาทานลัทธิเหมาคนอื่นๆ พวกเขาไม่เพียงรังเกียจเดียดฉันท์ต่อฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างประธานาธิบดีชาร์ลส์ เดอ โกล แต่พรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสซึ่งเป็นสถาบันทางการเมืองของผู้มีอำนาจอีกขั้วหนึ่งก็เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการโค่นล้มทำลายลงไม่ต่างกัน – คำเรียกร้องของเหมาให้คนหนุ่มสาวเป็นขบถท้าทายต่อผู้มีอำนาจ ทำให้การมีพ่อแม่ที่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสแทบไม่ต่างอะไรกับการมีข้าราชการที่รับใช้ ‘ผู้มีอำนาจ’ คอยจับตาสอดส่องอยู่ที่บ้าน

ในทางตรงกันข้ามกับคริสติย็อง กาเบรียลไม่ใช่ผู้ประสีประสาทางการเมือง วรรณกรรมและการละครต่างหากคือชีวิตของเธอ กาเบรียลชอบชวนนักเรียนมาฟังแผ่นเสียงเพลงของแซร์จ กังสบูร์ก์ (Serge Gainsbourg) หรือวิจารณ์วรรณกรรมของซาร์ต (Jean-Paul Sartre) ที่บ้านของเธอ และเธอมักเป็นโต้โผชวนนักเรียนไปดูหนัง ฟังเพลง อ่านบทกวี และเล่นสกี ในความทรงจำของนักเรียนหลายคน เธอไม่ใช่แค่ครู แต่เป็นเพื่อนของพวกเขา เพื่อนที่เปิดโลกกว้าง เพื่อนที่พาไปรู้จักวรรณกรรมฝรั่งเศสและวรรณคดีวิจารณ์

กาเบรียลไม่ให้นักเรียนใช้สรรพนามกับเธอว่า ‘ท่าน’ (vous) ส่วนนักเรียนก็ตั้งชื่อเล่นให้เธออย่างเป็นกันเองว่า ‘Gatito’ (หรือ ‘เจ้าแมวน้อย’ ในภาษาสเปน) – กาเบรียลขับรถยี่ห้อซิโทรเอน (Citroën) สีแดงที่เธอตั้งชื่อให้ว่า ‘ไดอาน’ (Dyane) ที่กระจกหลังมีสติกเกอร์ ‘ร่วมรัก ไม่ร่วมรบ’ (MAKE LOVE NOT WAR)

แม้แนวทางการสอนของกาเบรียลจะเป็นที่ชื่นชอบของผู้ปกครองหลายคน แต่ก็มีไม่น้อยที่สงสัยว่าเธอกำลัง ‘จัดตั้ง’ เครือข่ายคอมมิวนิสต์อย่างลับๆ อยู่หรือเปล่า – ตรงกันข้าม กาเบรียลไม่ใช่คอมมิวนิสต์ และถ้าจะมีใคร ‘จัดตั้ง’ ใคร ก็คงจะเป็นคริสติย็องผู้นำพาให้เธอหันมาสนใจการเมืองมากกว่า

ในการ ‘เดต’ กันครั้งแรกของทั้งคู่ กาเบรียลเป็นฝ่ายชวนคริสติย็องไปดูหนังด้วยกัน แต่เขากลับยื่นข้อเสนอว่าเธอจะต้องไปประชุมงานกิจกรรมของพวกฝ่ายซ้ายกับเขาเสียก่อน และเมื่อสายลมแห่งการปฏิวัติของเดือนพฤษภาฯ ปี 68 ได้พัดมาถึงมักเซย์ กาเบรียลก็มักปรากฏตัวอยู่ในขบวนประท้วง เดินหน้าคล้องแขนกับคริสติย็องอยู่ไม่ห่าง หรือที่ในหอประชุมของโรงเรียนซึ่งกลายเป็นสถานที่จัดนิทรรศการการเมืองหมุนเวียนอันไม่รู้จบ หลายๆ คนก็ได้เห็นกาเบรียลจูบกับคริสติย็องโดยไม่คิดหลบซ่อนใคร

เมื่อชัดแจ้งต่อพ่อแม่ของคริสติย็องว่านี่ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ระหว่างครูและลูกศิษย์อีกต่อไป พวกเขาสื่อสารอย่างชัดเจนกับกาเบรียลว่าให้ออกไปห่างๆ จากลูกของพวกเขา – “…อย่ามาเจอลูกของฉัน อย่ามายุ่งกับเขาอีก…” มาริโอ รอสซี พ่อของคริสติย็องกล่าวด้วยน้ำเสียงเย็นชากับกาเบรียลเมื่อทั้งสองเดินสวนกันในระหว่างการชุมนุมที่มหาวิทยาลัย

ดูเหมือนคำเตือนดังกล่าวจะหยุดทั้งคู่ได้แค่ชั่วคราวเท่านั้น สำหรับทั้งสองคนแล้ว ‘ความรัก’ ของพวกเขาไม่ต่างจากคำขวัญของเดือนพฤษภาที่เรียกร้องให้ ‘ปลดแอกอารมณ์และความรู้สึก’ และ ‘ต่อต้านผู้มีอำนาจ’ ในฤดูร้อนปีเดียวกันพวกเขาแอบไปเที่ยวอิตาลีด้วยกันโดยที่พ่อแม่ของคริสติย็องไม่รับรู้ และเมื่อคริสติย็องถูกส่งไปพักกับญาติใกล้กับเมืองบอนน์ (Bonn) ในเยอรมัน กาเบรียลก็ไปรับคริสติย็องมาอยู่ด้วยกันตลอดฤดูพักร้อน เธออ้างว่าเป็นลูกพี่ลูกน้องที่ถูกส่งให้มารับคริสติย็องก่อนกำหนด



ความลับไม่มีในโลก เมื่อพ่อแม่ของคริสติย็องทราบเข้า ความคิดของกาเบรียลที่เธอจะสามารถคบหากับคริสติย็องโดยได้รับการยอมรับจากพ่อแม่ของเขาผู้ซึ่งเป็นเพื่อนและอดีตอาจารย์ของเธอก็พังทลายลง – มาริโอ รอสซีแจ้งความกับตำรวจเพื่อให้คอยจับตาดูพฤติกรรมของกาเบรียลและย้ายคริสติย็องไปเรียนยังเมืองที่ไกลออกไปจากมักเซย์ถึง 600 กิโลเมตร แต่ระยะทางก็ไม่ใช่อุปสรรค ไม่กี่วันหลังจากนั้น ตำรวจควบคุมตัวทั้งคู่ได้ขณะที่พวกเขากลับโอบกอดกันอยู่ในรถ ‘ไดอาน’ สีแดงของกาเบรียลท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายลงมา

แม้มีเพียงแค่คำสั่งจากตำรวจให้กาเบรียลต้องกลับไปมักเซย์ในทันที คริสติย็องตัดสินใจหนีออกจากโรงเรียนไปโดยไม่ทิ้งร่องรอย – พ่อแม่ของเขาแจ้งความกับตำรวจว่าลูกชายถูกลักพาตัว และผู้ต้องสงสัยคือกาเบรียล รุสซิเย

“ฉันไม่รู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน” กาเบรียลตอบผู้พิพากษาแบร์นาร์ด ปาล็องก์ (Bernard Palanque) ในการขึ้นศาลครั้งแรกหลังจากตำรวจจับกุมเธอได้ที่สถานีรถไฟ พวกเขาสงสัยว่าเธอกำลังวางแผนอะไรบางอย่างเกี่ยวกับคริสติย็องผู้หายตัวไป ความพยายามเกลี้ยกล่อมของผู้พิพากษาทำให้กาเบรียลยอมบอกชื่อเพื่อนสนิทคนหนึ่งของคริสติย็อง ลุค ดูบัวส์ (Luke Dubois)

โลกช่างกลม ครอบครัวดูบัวส์เป็นเพื่อนสนิทของผู้พิพากษาปาล็องก์ เมื่อเขาโทรหาครอบครัวดูบัวส์ด้วยตนเอง ปลายสายตอบว่าคริสติย็องอยู่ที่นีซ (Nice) และเขาเพิ่งโทรคุยกับลุค (Luke) – แต่นี่คือคำโกหก แม้ครอบครัวดูบัวส์จะเป็นคาธอลิกที่เคร่งครัด แต่ความรักของกาเบรียลและคริสติย็องเอาชนะใจของพวกเขา หลายครั้งหลายคราที่กาเบรียลมาพบปะกับคริสติย็องที่บ้านของพวกเขา และอันที่จริงแล้ว คริสติย็องก็กำลังหลบซ่อนอยู่ที่บ้านของพวกดูบัวส์

ระหว่างการคุยโทรศัพท์ ครอบครัวดูบัวส์ให้สัญญากับผู้พิพากษาปาล็องก์ว่าจะพาคริสติย็องไปพบในเช้าวันที่ 8 ธันวาคม – และพวกเขาก็ทำตามสัญญา

เมื่อคริสติย็องปลอดภัย ผู้พิพากษาปาล็องก์จึงตัดสินใจปล่อยตัวกาเบรียล ส่วนคริสติย็องถูกส่งไปอยู่ที่สถานพินิจเด็กและเยาวชนเป็นการชั่วคราว เขาใช้เวลาช่วงคริสต์มาสอยู่ที่นั่น การกลับบ้านไปอยู่กับพ่อแม่ไม่ใช่ตัวเลือกที่เขาสนใจอีกแล้ว

ในวันที่กาเบรียลได้รับการปล่อยตัว ลูกศิษย์ของเธอและครอบครัวดูบัวส์ล้วนมาต้อนรับ แต่เมื่อถึงคืนก่อนวันคริสต์มาสที่ทุกคนต่างอยู่กับครอบครัวของตนเอง กาเบรียลโดดเดี่ยวอีกครั้ง – “ฉันมองแสงไฟของเมืองอีกครั้ง แต่ทุกคนต่างอยู่ไกลออกไป คริสต์ ฉันอยากจะดูสวยเพื่อเธอและหัวเราะกับเธอ” เธอเขียนไว้ในสมุดบันทึก

ต้นเดือนมกราคมปี ค.ศ. 1969 ศาลเด็กและเยาวชนอนุญาตให้คริสติย็องกลับไปเรียนหนังสืออีกครั้ง แต่ดูเหมือนว่าสายตาของตำรวจจะไม่สามารถหักห้ามความปรารถนาของทั้งสองคนได้ กาเบรียลยังคงแอบพบกับคริสติย็องอยู่ พวกเขาไปเที่ยวคาเฟ่และดูหนังด้วยกันราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น – ตำรวจคอยจับตาดูอย่างเงียบๆ

ทันทีที่พ่อแม่ของคริสติย็องทราบเรื่อง พวกเขาตัดสินใจส่งตัวคริสติย็องไปโรงพยาบาลจิตเวช – พวกเขาเชื่อว่า ลูกชายควรได้รับ ‘การรักษา’ – คริสติย็องพยายามจะหนีออกจากโรงพยาบาล แต่ก็ไปไม่พ้น เขาถูกจับเข้า ‘กระบวนการบำบัด’ ด้วยการให้ยานอนหลับ ยาคลายเครียด และยารักษาโรคจิตเป็นเวลาต่อเนื่องกันถึง 3 สัปดาห์

ในระหว่างนี้ คริสติย็องยังสามารถแอบส่งจดหมายถึงกาเบรียล “…จดจำคำสัญญาของพวกเราเอาไว้: อย่าเป็นห่วงและห้ามแก่ด้วยล่ะ ฉันไม่รู้ว่าพวกเขาต้องการอะไร แต่ถ้าหากจะให้ฉันลืมล่ะก็ รอไปเถิด Ti amo per sempre (ฉันจะรักเธอตลอดไป)…”

แม้จะมีจดหมายเช่นนั้นแต่การที่คริสติย็องถูกกักตัวในโรงพยาบาลจิตเวชก็บั่นทอนชีวิตของเธอเช่นกัน เธอกินไม่ได้ และนอนไม่หลับ

หลังจากรู้สึกดีขึ้นบ้าง กาเบรียลตัดสินใจสมัครตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เอ็ก-ซ็อง-โพรว็องซ์ การกลับไปสอนที่โรงเรียนตามเดิมอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก ที่นั่นเต็มไปด้วยข่าวลือเกี่ยวกับครูม่ายลูกสองที่มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับลูกศิษย์ที่อ่อนกว่าตนเองถึงครึ่งหนึ่ง

บรรยากาศที่มหาวิทยาลัยเอ็กซ์ต่างออกไป อาจารย์หลายคนที่นั่นเป็นฝ่ายที่ไม่เข้าใจพฤติกรรมพ่อแม่ของคริสติย็อง พวกเขานึกไม่ถึงว่าปัญญาชนฝ่ายซ้ายที่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ผู้สนับสนุนการลุกฮือของนักศึกษาในเดือนพฤษภาปี 68 จะเลือกทำลายความรักบริสุทธิ์ระหว่างคนสองคนด้วยการใช้กลไกทางกฎหมายของพวกกระฎุมพี

หลัง ‘การบำบัด’ อันยาวนาน คริสติย็องยอมแพ้ เขาถูกส่งไปอยู่กับญาติเพื่อเริ่มชีวิตมัธยมใหม่อีกครั้งที่มงต์เปลิเย่ (Montpellier) แต่ในวันที่ 19 เมษายน ปี ค.ศ. 1969 คริสติย็องก็แอบหนีกลับมามักเซย์อีกครั้ง – ตำรวจเชื่อว่ากาเบรียลมีส่วนในการวางแผนการหลบหนีของคริสติย็อง – ไม่กี่วันหลังจากนั้นเธอก็ถูกจับในข้อหาล่อลวงเยาวชนอีกครั้ง

ครั้งนี้กาเบรียลถูกส่งตัวไปห้องขังหมายเลข 13 ในคุกโบเมตส์ (Baumettes)

(ต่อตอน 2)


[1] «Comprenne qui voudra,
Moi mon remords ce fut
La victime raisonnable
Au regard d’enfant perdue,
Celle qui ressemble aux morts,
Qui sont morts pour être aimés.»

[2]ปอล เอลุอาร์ด์เขียนไว้ในหมายเหตุของบทกวีนี้ว่า “ในห้วงเวลานี้เอง เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องเอาตัวการที่แท้จริงมาลงโทษ เราปฏิบัติต่อหญิงสาวเหล่านี้อย่างเลวร้าย พวกเราแม้กระทั่งกล้อนผมของพวกเธอ” «En ce temps-là, pour ne pas châtier les coupables, on maltraitait des filles. On allait même jusqu’à les tondre.» – หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง การพูดถึงเหตุการณ์ในช่วงสงครามล้วนเต็มไปด้วยความละเอียดอ่อน เพราะคนฝรั่งเศสจำนวนไม่น้อยจากทุกระดับชั้นของสังคมได้เคยมีส่วนสนับสนุนนาซีหรือฝ่ายที่สมรู้ร่วมคิดกับนาซีอย่างรัฐบาลของระบอบวิชี (Vichy France)

[3] และปริญญาเอกด้านวรรณกรรมจากมหาวิทยาลัยเยล (Yale University)

[4] เหตุการณ์พฤษภา 68 คือการปะทุของความตื่นตัวทางสังคมและการเมืองของคนหนุ่มสาวฝรั่งเศสในทศวรรษ 60 ที่สะสมต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนานหลายปี อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ในปี ค.ศ. 1968 ก็คือการประท้วงของนักศึกษาในวิทยาเขตน็องแตร์ (Nanterre)

[5] ผู้เขียนก็นึกถึงข้อความประท้วงของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลที่ต้องย้ายไปอยู่ ‘มหิดลศาลายา’ เป็นรุ่นแรก ข้อความนั้นมีเนื้อหาประมาณว่า ‘มหาวิทยาลัยกำลังจะย้ายพวกเราไปอยู่ในทะเลทราย’ – บางทีนักศึกษามหิดลศาลายาหรือธรรมศาสตร์รังสิตรุ่นแรกๆ อาจจะพอเข้าใจสภาพความเป็นอยู่ของนักศึกษาที่วิทยาเขตน็องแตร์ได้เป็นอย่างดี

[6] ดู Dogan, M. (1984). How Civil War was avoided in France. International Political Science Review, 5(3), 245–277.

[7] ถึงแม้การลุกฮือของคนหนุ่มสาวและผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศจะทำให้รัฐบาลต้องสั่นคลอน แต่ ‘การปฏิวัติ’ ที่คนหนุ่มสาวใฝ่ฝันกลับนำไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่สุดของประธานาธิบดีเดอ โกลเมื่อเขาตัดสินใจประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไป – ดูเหมือนคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งจะตัดสินใจเอา ‘ความสงบเรียบร้อย’ มากกว่า ‘การปฏิวัติ’ แต่ถึงกระนั้นมรดกของเหตุการณ์พฤษภา 68 ในการทำลายล้างความเป็นอนุรักษ์นิยม-อำนาจนิยมของสังคมฝรั่งเศสก็ยังส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน

[8] ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ‘โรงเรียนซังต์-เต็กซูเปรี’ (Lycée Saint-Exupéry)

[9] “…In such moments of collective enthusiasm, when everything seems possible, nothing could be more natural and simple than a warm relationships between all demonstrators and quite particularly between the boys and the girls. Everything was easy and uncomplicated. The barricades were no longer simply a means of self-defense: they became a symbol of individual liberty…” – ดู Cohn-Bendit, D. and Conh-Bendit, G. (1968). Obsolete Communism: The Left-Wing Alternative. หน้า 63.

[10] การสอบแข่งขันเพื่อคัดเลือกครู-อาจารย์ที่เรียกว่า agrégation จะทำให้ผู้สอบผ่านมีสิทธิ์สมัครเป็นครูสอนชั้นมัธยมในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาหรือเป็นอาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัย เป็นการสอบที่มีอัตราการแข่งขันสูงและผู้ที่สอบผ่านจะเรียกว่า ‘agrégé’ ได้รับการยกย่องและมีสถานะเหนือกว่าผู้ที่สอบได้ใบประกอบวิชาชีพครูธรรมดา

[11] หมายถึงการตีความลัทธิคอมมิวนิสต์ของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ตามแนวทางของเหมา เจ๋อตง (Mao Zedong) ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน – ลัทธิเหมา (Maoism) เป็นที่นิยมในหมู่คนหนุ่มสาวของฝรั่งเศสช่วงทศวรรษที่ 60 จากความรับรู้เกี่ยวกับการปฏิวัติวัฒนธรรม Cultural Revolution) ในสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เหมาเรียกร้องให้คนหนุ่มสาวลุกขึ้นท้าทายผู้มีอำนาจในพรรคคอมมิวนิสต์จีน – ในห้วงเวลานี้เองที่ชุดจงซานหรือชุดสากลนิยมแบบจีนสมัยใหม่ที่ชาวตะวันตกเรียกว่า ‘ชุดเหมา’ กลายเป็น ‘แฟชั่น’ ที่ได้รับความนิยมจากคนหนุ่มสาวไปทั่ว ภาพยนตร์เรื่อง ‘La Chinoise’ ของฌ็อง-ลุค กอดาร์ด์ (Jean-Luc Godard) ในปี ค.ศ.1967 ฉายภาพความนิยมลัทธิเหมาของคนหนุ่มสาวในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save