fbpx

พฤษภา 68 และความรักต้องห้ามของกาเบรียล รุสซิเย (Gabrielle Russier) – (2)

(4)

การลงทัณฑ์


“…ฉันบอกเธอ ฉันเขียนถึงเธอ ฉันจะไม่ทิ้งเธอ… ต่อให้มีกรงขัง กำแพง หรือช่องว่างกั้นขวางระหว่างเรา
ต่อให้ความตายพรากเราออกจากกัน… ถ้าฉันต้องอยู่ที่นี่ ฉันจะเขียนเรื่องราว… เรื่องราวของเรา… เพื่อคุยกับเธอ…
เพื่อต่อสู้กับความเย้ายวนที่ทิ้งพลังของการมีชีวิตอยู่ทีละเล็กทีละน้อย พลังของการยิ้ม… ฉันยิ้มให้เธอ…”[1]

– จดหมายจากคุกที่กาเบรียล รุสซิเยเขียนฝากไปยังคริสติย็อง รอสซีผ่านนักเรียนคนหนึ่งของเธอ

เป็นเวลาเกือบสองเดือนที่กาเบรียล รุสซิเยถูกคุมขังอยู่ที่คุกโบเมตส์ (Baumettes) ความพยายามขอประกันตัวถูกปฏิเสธ การกักขังเธอไม่ใช่แค่การลงโทษ แต่เป็นเครื่องมือที่พ่อแม่ของคริสติย็องใช้ต่อรองให้ลูกชายที่กำลังซ่อนตัวอยู่ยอมเจรจาด้วย ตลอดเวลาที่เธอกาเบรียลอยู่ในคุก เธอทำได้เพียงแต่เขียน เขียน แล้วก็เขียน เมื่อข้อตกลงของครอบครัวรอสซีบรรลุผล กาเบรียลก็ได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1969 เพียงไม่กี่วันก่อนที่จอร์จส์ ปงปิดู (Georges Pompidou) จะได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีของฝรั่งเศส


คุกโบเมตส์ (Baumettes) ในเมืองมักเซย์ (Photo by STAFF / AFP)


ดูเหมือนว่าแม้แต่ข่าวการมีประธานาธิบดีคนใหม่ก็ยังไม่สามารถทำให้เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างครูสาวและลูกศิษย์เงียบไปได้ สื่อมวลชนและสายตาของผู้คนจำนวนไม่น้อยต่างรอคอยการมาถึงของวันที่ 10 กรกฎาคม – วันนัดไต่สวนและพิพากษาความผิดฐานพรากผู้เยาว์ของกาเบรียล รุสซิเย

ก่อนถึงวันพิพากษา เรมงด์ ฌอง (Raymond Jean) เพื่อนสนิทของกาเบรียล ผู้รู้จักกับทนายความจากฝั่งพ่อแม่ของคริสติย็องเป็นอย่างดี ได้พยายามทำให้ทั้งสองคนได้เจอกัน เป้าหมายของการพบปะคือโน้มน้าวให้ทนายความฝั่งตรงข้ามเห็นว่ากาเบรียลไม่ใช่อาชญากรที่ไหน อย่างมากที่สุดเธออาจเป็นคนที่ตัดสินใจผิดพลาด – ทนายความตอบตกลง เขาจะไม่ตามเอาเป็นเอาตายกับกาเบรียล

แม้ความเห็นจากทนายฝ่ายพ่อแม่ของคริสติย็องจะมีความสำคัญอย่างมากต่อผลของคดี แต่ท้ายที่สุด ศาลและอัยการต่างหากที่เป็นผู้มีสิทธิ์ตัดสินใจ

วันที่ 10 กรกฎาคม – กาเบรียลค่อยๆ เดินขึ้นบันไดอาคารศาลด้วยสภาพจิตใจไม่ค่อยดีนัก ก่อนหน้านี้ไม่นาน กาเบรียลเพิ่งทราบข่าวว่าการสมัครเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเอ็กซ์ (Aix) ของเธอล้มเหลว คณะกรรมการคัดเลือกลงคะแนนปฏิเสธ 11 ต่อ 9 เสียง และคงเชื่อได้ยากว่าทั้งพ่อและแม่ของคริสติย็องจะไม่มีส่วนในการ ‘โน้มน้าว’ ความเห็นของคณะกรรมการเหล่านั้น

“นังแพศยา!” เสียงตะโกนอย่างเกรี้ยวกราดดังขึ้นจากฝูงชน เธอคาดหวังว่าศาลจะไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าร่วมการพิจารณาคดี แต่ดูเหมือนทิศทางจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม

การไต่สวนเป็นไปอย่างไม่หวือหวาแต่ก็เต็มไปด้วยโวหาร อัยการเริ่มคำแถลงด้วยการกล่าวชื่มชมว่ากาเบรียลเป็นครูที่พิเศษ ‘ครูที่นักเรียนจดจำ’ ซึ่งหาได้ยากยิ่ง แต่สำหรับเขา คนที่มีสถานะเป็นครูย่อมต้องรู้จักการควบคุมและระมัดระวังตัวมากกว่าคนทั่วไป ถ้าเธอไม่ใช่ครูแต่เป็นช่างทำผม ความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับเด็กหนุ่มก็อาจมีผลที่ต่างออกไป และไม่เพียงเท่านั้น เธอยังท้าทาย ‘อำนาจ’ ผู้ปกครองของคริสติย็องครั้งแล้วครั้งเล่าอีกด้วย – เหตุนี้เอง กาเบรียล รุสซิเยจึงสมควรได้รับโทษจำคุกเป็นเวลา 13 เดือน อัยการกล่าวสรุป

หลังคำแถลงของอัยการ ศาลนัดพิพากษาในวันรุ่งขึ้น และหลังจากที่ได้ไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งชี้ชวนให้เห็นว่าการกระทำของกาเบรียลนั้นส่งผลต่อพฤติกรรมด้านลบของคริสติย็องอย่างไร ศาลก็ตัดสินให้กาเบรียลต้องโทษจำคุก 12 เดือน แต่รอลงอาญา และเสียค่าปรับ 1,500 ฟรังก์ชดเชยให้แก่พ่อแม่ของคริสติย็อง

สำหรับกาเบรียล รุสซิเย นี่คือข่าวดีที่สุด – “ฉันชนะ” เธอกล่าวในจดหมายที่เขียนถึงลูก

ทำไมนี่จึงถือเป็นชัยชนะ? ตามธรรมเนียมของฝรั่งเศส หลังการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่ โทษจำคุกที่ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 12 เดือนจะได้รับการอภัยโทษโดยอัตโนมัติ และนั่นหมายความว่ากาเบรียล รุสซิเยก็จะเป็นหนึ่งในนั้น

การอภัยโทษหมายความว่าเธอยังสามารถเป็นครูได้ต่อไป ประวัติอาชญากรรมของเธอจะไม่มีมลทินมัวหมอง – การลงโทษจำคุก 12 เดือนโดยให้รอลงอาญาจึงเป็นความปราณีของผู้พิพากษาอย่างแท้จริง

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับคำพิพากษา เพียงราวครึ่งชั่วโมงหลังคำตัดสิน อัยการตัดสินใจอุทธรณ์

การอุทธรณ์ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยนักสำหรับคดีทั่วๆ ไป และข้อยกเว้นนี้หมายความในสายตาของกระทรวงมหาดไทยแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างกาเบรียลและคริสติย็องคือเรื่องอุกฉกรรจ์ – การกลับมาสอนในโรงเรียนอีกครั้งของกาเบรียล รุสซิเยเป็นภัยต่อสาธารณะ

การอุทธรณ์ของอัยการหมายความว่าจะต้องมีการไต่สวนอีกครั้งในเดือนกันยายน – ระหว่างนี้กาเบรียลตัดสินใจเดินทางกลับบ้านของเธอที่มักเซย์ในปลายเดือนสิงหาคม

…ฉันอยากเจอ ‘เมแตค’ (métèque[2] – ชื่อเล่นของคริสติย็องที่กาเบรียลตั้งให้) สำหรับฉัน นี่อาจจะเป็นโอกาสสุดท้าย…– กาเบรียลเขียนข้อความถึงนักเรียนคนหนึ่งของเธอในวันที่ 30 สิงหาคม

วันจันทร์ที่ 1 กันยายน เพื่อนบ้านของกาเบรียลรู้สึกได้ถึงกลิ่นแก๊สฟุ้งกระจายออกมาจากห้องของเธอ เมื่อเจ้าหน้าที่ดับเพลิงพังเข้าไป พวกเขาก็พบกับร่างไร้วิญญาณของกาเบรียล รุสซิเย เธอนอนอยู่บนเตียงในชุดเดรสสีฟ้า – การสืบสวนในภายหลังทำให้ทราบว่าเธอฆ่าตัวตายด้วยการรมแก๊สและทานยานอนหลับเกินขนาด


ข่าวการเสียชีวิตของกาเบรียล รุสซิเย


อีก 4 วันต่อมา ไม่ไกลจากหลุมศพของโมลิแยร์ (Molière) และลา ฟงเตน (La Fontaine)[3] ในพิธีศพของกาเบรียล รุสซิเยที่สุสานแปร์ ลาแชส (Pere Lachaise) กรุงปารีส สาธุคุณมิเชล วิโอต์ (Michel Viot) อ้างข้อความจากอิสยาห์บทที่ 29 (18 – 21)

“…ในวันนั้นคนหูหนวกจะได้ยินถ้อยคำของหนังสือ และตาของคนตาบอดจะเห็น (…) ผู้น่ากลัวจะสูญไป และผู้เยาะเย้ยจะถูกผลาญไป และคนทั้งปวงที่เฝ้ารอคอยที่จะกระทำการอันชั่วช้าจะถูกตัดขาด คือผู้ที่ใส่ความคนอื่นด้วยถ้อยคำของเขา…” จากนั้นเขาจึงกล่าวต่อ

“…กาเบรียล รุสซิเยมิได้รั้งรอ เธอไม่สามารถและไม่อาจรอคอย เมื่อความยุติธรรมกลายเป็นเครื่องมือแห่งทัณฑ์ทรมาน ไม่ว่ากรณีของกาเบรียล รุสซิเยจะเป็นการล่อลวงจริงหรือไม่ก็ตาม แต่ความยุติธรรมที่ปราศจากซึ่งมนุษยธรรมย่อมสามารถทำลายชีวิตผู้คน บางคนอาจเห็นแสงสว่างจากคำพิพากษาเหล่านี้ แต่มันก็ยังเป็นโทษประหารอยู่นั่นเอง ขอให้คนที่ลากเพื่อนบ้านของตนมาขึ้นศาลจงได้คิดเถิด อย่างน้อยก็ต่อตัวแทนของสำนักอัยการที่ตัดสินใจอุทธรณ์ เราสามารถตอบกับพวกเขาได้ เราที่มาอยู่ด้วยกันในที่นี้ ว่าพระผู้เป็นเจ้าได้ปฏิเสธคำอุทธรณ์ของพวกเขาเสียแล้ว พระผู้เป็นเจ้าไม่ต้องการให้กาเบรียล รุสซิเยอยู่ในกำมือของพวกเขา เหล่าผู้พิพากษามนุษย์! ในสายตาของพระผู้เป็นเจ้า พวกเจ้าแพ้คดีไปเรียบร้อยแล้ว!…”

หลังการเสียชีวิตของกาเบรียลได้ราว 2 ปี เมื่อคริสติย็องมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ เขาตัดสินใจตัดขาดจากครอบครัวของตนเอง หันหลังให้กับชีวิตกระฎุมพี และเลือกไปทำงานเป็นชาวนา – ในปีเดียวกันนั้น หนังสือพิมพ์ Le Nouvel Observateur ได้สัมภาษณ์คริสติย็อง

นักข่าว: “พวกเขา (พ่อแม่ของคริสติย็อง) รักคุณมากหรือเปล่า?”

คริสติย็อง รอสซี: “ผมไม่รู้”

นักข่าว: “แล้วคุณล่ะ รักพวกเขาไหม”

คริสติย็อง รอสซี: “ไม่”

นักข่าว: “ทำไมล่ะ”

คริสติย็อง รอสซี: “เพราะว่าผมไม่ได้มีอะไรร่วมกันกับพวกเขามากขนาดนั้น… คุณไม่ได้เลือกพ่อแม่ของคุณ มันก็ดีอยู่หรอกที่คุณจะมีพ่อแม่ที่บอกกับคุณว่า พวกเขาเป็นฝ่ายซ้ายเหมือนกันกับคุณ แล้วบอกกับคุณว่า การยึดมหาวิทยาลัย การยึดโรงเรียนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่พอถึงเวลาที่ต้องเอาอุดมคติเหล่านั้นมาใช้กับชีวิตของพวกเขาบ้างแล้วล่ะก็… (พวกเขาก็จะบอกว่า) โอ้ นี่มันไม่ได้เรื่องแล้ว”


(5)

La victime raisonnable


สำหรับบางคน เรื่องของกาเบรียล รุสซิเย อาจเป็นแค่เรื่องอื้อฉาวระหว่างครูสาวและนักเรียนอีกเรื่องหนึ่ง สำหรับบางคนนี่อาจเป็นตัวอย่างของความล่มสลายทางศีลธรรมอันดีงาม สำหรับบางคนนี่อาจเป็นความมือถือสากปากถือศีลของฝ่ายซ้ายอย่างครอบครัวรอสซี และสำหรับบางคน กาเบรียล รุสซิเยอาจเป็นเหยื่อของสังคมที่กำลังพยายามจัดการกับมรดกของเหตุการณ์พฤษภา 68

บางทีนั่นอาจจะเป็นคำตอบสำหรับทุกคนก็เป็นได้

ถึงแม้สังคมฝรั่งเศสและการปฏิวัติจะดูเหมือนไม่ใช่สิ่งที่แปลกแยกออกจากกัน แต่สถานการณ์ปฏิวัติคือสภาวะที่ยกเว้น คือสภาวะที่ความเป็นปกติกลายเป็นความไม่ปกติ แน่นอนว่าสังคมอาจปล่อยให้มีการระบายได้เป็นครั้งคราว แต่ใครจะยอมให้สถานการณ์ปฏิวัติสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยืดเยื้อตลอดไปหรือ?

เหตุการณ์พฤษภา 68 เป็นห้วงเวลาที่ความเป็นปกติของสังคมฝรั่งเศสถูกท้าทาย ศีลธรรมอันดีงาม ความเคารพเชื่อฟังต่อผู้มีอำนาจไม่ว่าจะซ้ายหรือขวาถูกตั้งคำถาม ความสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่างครูสาวและลูกศิษย์อาจเป็นสิ่งที่พอยอมรับได้ในสภาวะอย่างนั้น แต่ย่อมไม่มีใครปล่อยให้มันกลายเป็นเรื่องปกติเมื่อสถานการณ์ปฏิวัติจบสิ้นลง

เราควรเข้าใจว่านี่ไม่ใช่แค่เรื่องของกฎหมาย ในสังคมฝรั่งเศสขณะนั้น ครูผู้ชายที่มีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวกับลูกศิษย์ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ และไม่เคยต้องได้รับโทษทัณฑ์ และอันที่จริงกาเบรียล รุสซิเยก็ไม่ได้ถูกพิพากษาให้มีความผิดเพราะเธอมีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวกับคริสติย็อง เธอถูกลงทัณฑ์ เพราะสิ่งที่เธอทำลงไปท้าทายต่อระเบียบแบบแผนที่ปกติของสังคม ต่อความเป็นครู ต่อบทบาทของผู้หญิง[4] และต่ออำนาจของผู้ปกครองเหนือผู้เยาว์[5]

กาเบรียล รุสซิเยและคริสติย็อง รอสซีถูกลงทัณฑ์เพราะพวกเขาไร้เดียงสาจนเกินไป อุดมคติของการปฏิวัติไม่มีที่ทางในสังคมที่กำลังกลับสู่สภาวะปกติ


ภาพวาด “Qui tue ? ou L’affaire Russier”, จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งเมืองปารีส ค.ศ. 1970


การตายของกาเบรียล รุสซิเยไม่ได้จบลงที่ความสะเทือนใจของผู้คนเท่านั้น นักเขียนและปัญญาชนฝรั่งเศสร่วมกันล่ารายชื่อเรียกร้องให้มีปฏิรูประบบยุติธรรมและการจำคุกระหว่างรอพิจารณาคดี ผู้กำกับอองเดร กาแย็ต (André Cayatte) แปลงเรื่องราวของกาเบรียลและคริสติย็องให้กลายเป็นภาพยนตร์ “Mourir d’aimer” นักร้องชาร์ลส์ อาซนาวูร์ (Charles Aznavour) ผู้ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ สะเทือนใจจนแต่งเพลงออกมา

“…Mourir d’aimer

De plein gré s’enfoncer dans la nuit

Payer l’amour au prix de sa vie

Pécher contre le corps mais non contre l’esprit

Laissant le monde à ses problèmes

Les gens haineux face à eux-mêmes

Avec leurs petites idées

Mourir d’aimer…”

– Charles Aznavour, เพลง Mourir d’aimer

อย่างน้อยที่สุด ความตายของกาเบรียล รุสซิเยอาจมีส่วนเป็นบทเรียนไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมซ้ำสองในราวอีกสามสิบปีต่อมา – พ่อแม่ของเอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) เชิญบริจิต โอซิแยร์ (Brigitte Auzière) ครูสอนวิชาวรรณคดีลูกสามผู้มีอายุมากกว่ามาครงถึง 25 ปีมาพบ และขอให้เธอยุติความสัมพันธ์กับลูกชายของพวกเขา ครอบครัวมาครงไม่ได้แจ้งความ – ใครจะทราบได้ว่าวันหนึ่งเอ็มมานูเอล มาครงจะกลายมาเป็นประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดของฝรั่งเศส และบริจิต โอซิแยร์จะกลายมาเป็น ‘สตรีหมายเลข 1’[6]


หมายเหตุ

ผู้เขียนเรียบเรียงข้อมูลส่วนใหญ่มาจากบทความซีรีส์ « L’affaire Gabrielle Russier , l’amour hors la loi » นิตยสาร Le Monde และ The Case of Gabrielle Russier นิตยสาร The New Yorker


[1] « Je te l’ai dit, je te l’ai écrit, je ne te quitterai pas. Même si ces barreaux, ces murs, l’espace nous séparent. Même si la mort nous séparait. Si je reste ici, j’écrirai une histoire, notre histoire, pour te parler, pour lutter contre la tentation d’abandonner peu à peu l’énergie de vivre, de sourire. Je te souris. »

[2] อันที่จริงคำว่า métèque ในภาษาฝรั่งเศสมีความหมายในเชิงเหยียด ใช้เรียกคนอพยพจากเมดิเตอเรเนียน แต่กาเบรียลใช้เรียกแบบหยอกเย้ากับคริสติย็องผู้มีใบหน้าเข้มตามเชื้อสายอิตาเลียน

[3] นักเขียนนิทานสอนใจชื่อดังของฝรั่งเศส เช่น ราชสีห์กับหนู กระต่ายกับเต่า

[4] ผู้หญิงฝรั่งเศสสามารถเปิดบัญชีธนาคารด้วยตัวเองได้เป็นครั้งแรกเพียงไม่กี่ปีก่อนเกิดเหตุการณ์พฤษภา 68 ก่อนหน้านั้น พวกเธอต้องเปิดบัญชีธนาคารในนามของสามี และอยู่ภายใต้การจัดการของสามี

[5] หลังจากเสียชีวิตของกาเบรียล อัยการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์โดยย้ำคำแถลงในวันไต่สวนของเขาอีกครั้งว่า คำพิพากษาที่กาเบรียลได้รับนั้นสมควรแก่ความผิดแล้ว เธอเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีในการท้าทายอำนาจของผู้ปกครอง และถ้าหากกาเบรียลไม่ใช่ครู แต่เป็นช่างทำผมที่มีความสัมพันธ์กับเด็กฝึกงานแล้ว เรื่องนี้ก็คงจะแตกต่างออกไป « Gabrielle Russier donnait au contraire le mauvais exemple en bafouant l’autorité paternelle. Si encore elle avait fait amende honorable, ou s’il s’était agi d’une coiffeuse, ou si elle avait couché avec un jeune apprenti, c’eût été différent. » – อัยการฌอง เตสตูต์ (Jean Testut)

[6] ฝรั่งเศสไม่มีตำแหน่ง ‘สตรีหมายเลข 1’ อย่างเป็นทางการเหมือนในสหรัฐอเมริกา เอ็มมานูเอล มาครงเคยพยายามจะบรรจุตำแหน่งนี้ แต่ได้รับการต่อต้านอย่างกว้างขวาง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save