ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ
ช่วงต้นปีหลังโบนัสออก หลายคนกำลังมองหางานใหม่ แน่นอนว่าเมื่อจะย้ายงาน ก็คงอยากให้เงินเดือนขึ้นเยอะๆ เงินเดือนเท่าไหร่เรียกว่ามาก แค่ไหนเรียกว่าน้อย คงขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง แต่เชื่อว่า ตัวเลข 1 แสนบาท/เดือน น่าจะเป็น milestone หนึ่งที่ ‘มนุษย์เงินเดือน’ หลายคนฝันถึง (ผมใช้คำว่า ‘มนุษย์เงินเดือน’ ในความหมายทั่วๆ ไปนะครับ หมายถึงกลุ่มคนที่มีสถานะเป็นลูกจ้าง โดยไม่รวม นายจ้าง เจ้าของธุรกิจ แม่บ้าน ผู้ช่วยงานที่บ้าน ฯลฯ)
แต่เคยสงสัยกันไหมว่า มนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ระดับแสนนี้มีมากน้อยเท่าไหร่กัน? และคนกลุ่มนี้เป็นใครกัน? หากสนทนาเรื่องนี้ในวงเพื่อนฝูง เราอาจพบว่าตัวเลขที่แต่ละคนคิดนั้น แตกต่างกันพอสมควร ซึ่งเท่าที่ผมทำการทดสอบเบื้องต้น ก็พบว่าตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 1 – 10% แล้วผู้อ่านล่ะครับ คิดว่าคนที่ได้เงินเดือนเกินแสนมีกี่เปอร์เซนต์กัน?
‘มนุษย์เงินเดือน’ ที่รายได้เกินแสนมีประมาณ 2% ของทั้งหมด
ในทางวิชาการ อาจประมาณได้ว่ามีลูกจ้างประมาณ 2.3% ที่รายได้เกิน 1 แสนบาทต่อเดือน โดยตัวเลขดังกล่าววิเคราะห์จากข้อมูลในงานวิจัยที่ใช้ข้อมูลผู้เสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดา[1] และนำมาเทียบกับจำนวนผู้ทำงานทั้งหมดที่เป็นลูกจ้าง ซึ่งมีประมาณ 18 ล้านคน ในปี 2017[2]
อย่างไรก็ดี ข้อมูลผู้เสียภาษีในงานศึกษาดังกล่าว ไม่ได้มีระบุลักษณะของผู้เสียภาษีมากนัก เราจึงใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะแรงงานประชากร (Labor Force Survey: LFS) เข้ามาช่วยในการให้ภาพเพิ่มเติม แม้การสำรวจของ LFS จะมีจะมีสัดส่วนผู้ที่ได้ค่าจ้างสูงน้อยกว่า[3] แต่ก็สามารถแสดงให้เห็นถึงลักษณะที่น่าสนใจของผู้ได้ค่าแรงสูงเพิ่มขึ้นในบางมิติ
ยิ่งการศึกษาสูง ยิ่งมีโอกาสได้เงินเดือนเป็นแสน
สตีฟ จ๊อบ กับ บิล เก็ต เรียนไม่จบปริญญาตรี แต่กลับเป็นมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของโลก! แต่นี่ไม่ใช่เรื่องราวทั่วไปของมนุษย์เงินเดือน
จากใน รูปที่ 1 จะเห็นได้ว่าผู้มีระดับการศึกษาสูงขึ้น ก็ดูจะมีระดับของค่าแรงที่สูงขึ้นไปด้วย โดยสัดส่วนผู้ได้เงินเดือนมากกว่า 1 แสนของผู้จบปริญญาโทขึ้นไป มีมากกว่าผู้จบปริญญาตรี ประมาณ 4 เท่า[4] นอกจากนี้ แม้ว่าในรายได้เฉลี่ยของแต่ละกลุ่มการศึกษาจะสูงขึ้นตามอายุ แต่คนที่เงินเดือนมากกว่าแสนบาท ก็ยังคงเป็นคนส่วนน้อยของทุกกลุ่มอายุ
หากใครที่รู้สึกว่าคนรอบตัวล้วนเงินเดือนเกินแสนทั้งนั้น อาจเป็นเพราะว่ากำลังอยู่ในสังคมที่เป็นคนส่วนน้อยมากของประชากรไทยทั้งหมด

95 % ของคนที่ได้เงินเดือนระดับแสน คือ คนที่ทำงานใช้ความคิดสร้างสรรค์
หากแบ่งประเภทงานตามลักษณะงานที่ทำ โดยแบ่งงานว่า 1) ใช้ความคิด หรือใช้แรงเป็นหลัก และ 2) ต้องปรับตัวตามสถานการณ์ หรือมีลักษณะซ้ำๆ จะได้งานทั้งหมด 4 ประเภท[5] คือ
- งานใช้ความคิด และมีการปรับตัวตามสถานการณ์ (ขอเรียกว่า งานใช้ความคิดสร้างสรรค์) หรือ Non-Routine Cognitive work (NR-C)
- งานใช้แรง ที่ต้องปรับตัวตามสถานการณ์ หรือ Non-Routine Manual work (NR-M)
- งานใช้ความคิด ที่มีลักษณะซ้ำๆ หรือ Routine Cognitive work (R-C)
- งานใช้แรง ที่มีลักษณะซ้ำๆ หรือ Routine Manual work (R-M)
สำหรับตัวอย่างอาชีพ และความยาก-ง่ายของเนื้องาน สามารถดูได้ใน รูปที่ 2

จากข้อมูลข้างต้น พบว่าคนเงินเดือนระดับแสนขึ้นไป ล้วนแต่ทำงานประเภทใช้ความคิดสร้างสรรค์แทบทั้งสิ้น โดยคนที่ทำงานประเภทนี้ มีเงินเดือนเฉลี่ยที่สูงกว่างานประเภทอื่นค่อนข้างมากในทุกช่วงอายุ และคนที่เงินเดือนหลักแสนแทบทั้งหมด (96%) ทำงานประเภทดังกล่าว (รูปที่ 3) สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ค่าแรงของกลุ่มงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์จะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ชัดเจนมากกว่างานประเภทอื่น ซึ่งนัยหนึ่งอาจตีความได้ว่า ประสบการณ์ที่มากขึ้น ช่วยทำให้ productivity และคุณภาพของงานเพิ่มขึ้นชัดเจน

ไม่ว่าจะจบ ป.ตรี หรือ ป.โท-เอก งานประเภทใช้ความคิดสร้างสรรค์ ก็ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
สังเกตได้จากกราฟ Boxplot ในรูปที่ 4 เพื่อพิจารณาการเติบโตของค่าแรงในช่วงปี 2011-2017 งานใช้ความคิดสร้างสรรค์ก็มีค่าแรงที่เติบโตเร็วกว่า โดยโตที่ระดับ 3.8% ต่อปี ในขณะที่งานประเภทอื่นๆ ค่าแรงโตน้อยกว่า 1% เท่านั้น[6] นอกจากนี้ World Economic Forum (WEF)[7] มีความเห็นว่า ตลาดมีความต้องการทักษะที่ใช้ในงาน Non-Routine มากขึ้น ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ขณะที่งานที่มีแบบแผนแน่นอน (Routine) มีแนวโน้มจะทำให้เป็นอัตโนมัติได้ และจะเป็นที่ต้องการน้อยลง

ทักษะแห่งอนาคตของคนที่เงินเดือนระดับแสน
หากอยากให้เงินเดือนโตดี อาจต้องหันกลับมาพิจารณาสักนิดว่า งานที่เราทำอยู่ และจะทำในอนาคต เป็นงานประเภทใด? หากยังเป็นงานประเภทรูทีน โอกาสที่เงินเดือนจะโตดี และแตะถึงระดับแสนบาท ดูเป็นไปได้ยากสักหน่อย แต่ในทางกลับกัน แม้ว่าการทำงานประเภทใช้ความคิดสร้างสรรค์จะไม่ได้การันตีว่าเราจะมีเงินเดือนเป็นแสนในอนาคต แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดีกว่างานประเภทอื่น
ในเรื่องด้านการพัฒนาตัวเอง แม้ทักษะด้านเทคโนโลยีจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น เช่น ทักษะการ coding แต่ soft skills ก็สำคัญไม่แพ้กัน โดย CEO ของ LinkedIn เห็นว่าช่องว่างทางทักษะกลับไม่ใช่เรื่อง coding แต่เป็น soft skills มากกว่า[8] โดย soft skills ที่ LinkedIn เห็นว่าจะเป็นที่ต้องการอย่างมากในปี 2019 มีหลายอย่าง เช่น ความสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกัน ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability) เป็นต้น[9] ซึ่ง WEF ก็มีความเห็นว่าทักษะเหล่านั้น รวมถึง การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical thinking) จะเป็นที่ต้องการอย่างมากในอีก 5 ปีข้างหน้า
ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคนี้ งานที่เราทำและคิดว่าเป็นงานไม่รูทีนในวันนี้ อาจเป็นงานรูทีนในอนาคตอันใกล้ การเรียนรู้ทั้ง soft skills และ hard skills เพิ่มเติมอยู่เสมอ หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) นับเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่งขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เชิงอรรถ
[1] อ้างอิงจาก อธิภัทร (2560) และวิเคราะห์โดยผู้เขียน ซึ่งผู้เขียนตีความว่าตัวเลขผู้มีรายได้เกินแสนต่อเดือนในปี 2017 มีประมาณ 15% ของผู้เสียภาษีที่มีประมาณ 3.3 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้มีฐานะเป็นลูกจ้างประมาณ 85% ซึ่งตัวเลขอาจน้อยกว่านี้ เนื่องจากเราไม่สามารถแยกเจ้าของกิจการที่ให้เงินเดือนตัวเองออกจากลูกจ้างได้
[2] ในจำนวนนี้มีแรงงานที่ได้รับค่าแรงแบบรายเดือนประมาณ 11 ล้านคน (ข้อมูลจาก LFS)
[3] สัดส่วนลูกจ้างที่มีค่าแรงรายเดือน 1 แสนบาทขึ้นไปใน LFS อยู่ที่ 0.26%
[4] เงินเดือนในบทความนี้ คือเงินเดือนที่รวมเงินโบนัสหารเฉลี่ยต่อเดือน เข้ามารวมในเงินเดือนด้วย
[5] การแบ่งงานแบบนี้เป็นที่นิยมในงานศึกษาเกี่ยวกับ Job Polarization หรือตลาดแรงงานสองขั้ว ที่มุ่งดูความสัมพันธ์ระหว่างทักษะในงานกับค่าแรง ในยุคที่มีการนำหุ่นยนต์มาใช้แทนคนมากขึ้น สำหรับผู้สนใจสามารถดูเพิ่มเติมได้จากงานศึกษาของ Acemoglue and Author (2011) และ Jaimovich and Siu (2012) เป็นต้น
[6] รายละเอียดการเติบโตของค่าแรงในงานประเภทต่างๆ อ่านได้จากบทความ “แรงงานไทยในยุคที่ต้องแข่งขันกับเทคโนโลยี” ใน การเงินธนาคาร ธ.ค. 2018
[7] The Future of Job Report 2018
[8] The CEO of LinkedIn shares the No. 1 job skill American employees are lacking
[9] บทความ “The Soft Skills Companies Need Most in 2019” ของ linkedin