fbpx

ส่องอนาคตโลกคริปโต มองโอกาสและความท้าทายเศรษฐกิจการเงินไทย ตีโจทย์ใหม่แนวทางกำกับดูแล

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระแสการเติบโตของสกุลเงินดิจิทัล (cryptocurrency) ได้รับความสนใจไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย สะท้อนได้จากมูลค่าเงินคริปโตหลายสกุลที่พุ่งขึ้นจนทำสถิติในเวลาไล่เลี่ยกัน อีกทั้งยังเห็นสกุลเงินหลากหลายสกุลที่ถือกำเนิดขึ้น และได้รับความนิยมเพียงชั่วเวลาไม่นาน

อย่างไรก็ตาม การเติบโตอย่างฉุดไม่อยู่ของ cryptocurrency ก็นำมาซึ่งความกังวลไม่น้อย โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า เงินประเภทดังกล่าวไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบการกำกับดูแลใดๆ เหมือนอย่างเงินดั้งเดิม จึงอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อตลาดการเงินการลงทุนที่คาดไม่ถึงและอาจไม่สามารถควบคุมได้ การออกแบบมาตรการการกำกับดูแลเงินคริปโตจึงกลายเป็นประเด็นถกเถียงใหญ่ในแวดวงเศรษฐกิจหลายประเทศทั่วโลก ตลอดช่วงไม่กี่ปีมานี้

สถานการณ์ cryptocurrency ในประเทศไทยจะเดินไปทิศทางใด เราจะต้องเจอโอกาสและความท้าทายอะไรบ้าง และมาตรการกำกับดูแลที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร 101 สนทนากับ เอกลาภ ยิ้มวิไล ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (Zipmex), สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด, ณัฐ เหลืองนฤมิตชัย นักวิชาการอิสระ และอธิป กีรติพิชญ์ นักลงทุนและเจ้าของเพจ นิ้วโป้ง Fundamental VI ในประเด็นเหล่านั้น

หมายเหตุ: สรุปเนื้อหาจากรายการ 101 Policy Forum #16 อนาคตคริปโตฯ อนาคตเศรษฐกิจการเงินไทย เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565

เจาะเทรนด์ตลาดคริปโต วิเคราะห์โอกาส เผชิญหน้าความท้าทาย

เอกลาภ: cryptocurrency ยังเป็นเรื่องใหม่อยู่ โดยรูปแบบสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain) เป็นพื้นฐานเพิ่งเกิดขึ้นในปี 2008-2009 อย่างไรก็ดี วิวัฒนาการของ cryptocurrency โดยเฉพาะสกุลเงินบิตคอยน์ (Bitcoin) ก็เป็นไปอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่คนคิดว่าเป็นแค่การทดลอง หรือกระทั่งคิดว่าเป็นการเอามาใช้ทำธุรกรรมผิดกฎหมายเท่านั้น ทุกวันนี้ได้กลายมาเป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ขนาดที่บริษัทใหญ่ๆ อย่าง Tesla และ MicroStrategy ก็ยังเข้ามาลงทุน เพราะฉะนั้นผมว่าต่อไปนี้ เงินคริปโตอย่าง Bitcoin จะยิ่งแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะนิยามว่ามันเป็นสินทรัพย์ที่เก็บรักษามูลค่าได้ (store of value) เพราะยังมีมูลค่าผันผวนอยู่มาก

ปีที่แล้ว Bitcoin และสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นเติบโตสูงมาก ส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing – QE) ที่ทำให้สินทรัพย์ทุกประเภททั่วโลกมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วพอมีบางเหรียญที่ราคาขึ้นเยอะ คนก็รู้สึกไม่อยากตกขบวน แล้วคิดไปว่าเงินคริปโตจะมีราคาขึ้นตลอด หลายคนก็ตัดสินใจซื้อขายโดยใช้อารมณ์ จึงขอแนะนำให้นักลงทุนพยายามศึกษาแต่ละสินทรัพย์ให้ชัดเจน แล้วนอกจากนี้ก็ยังพบปัญหาอื่นอีกมาก เช่น ระบบถูกแฮก แล้วโดนขโมยเงิน ตรงนี้ก็ต้องแก้ปัญหากันต่อไป

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เรายังได้เห็นพัฒนาการของเงินดิจิทัลที่ใช้ blockchain ในอีกหลากหลายสกุล เช่น โทเคน (Token), อีเธอเรียม (Ethereum) ผมว่าสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้จะมีอนาคตที่ชัดเจนมากขึ้น เพราะได้เข้ามาอยู่ในบทสนทนาของนักการเมืองหรือผู้กำหนดนโยบายแล้ว แม้นโยบายแต่ละประเทศที่มีต่อ cryptocurrency จะไม่เหมือนกัน แต่รัฐบาลประเทศต่างๆ ก็ยอมรับกันแล้วว่ามันจะมีบทบาทที่สำคัญต่อสังคมในอนาคต ทั้งยังมีความคิดที่จะพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลแห่งชาติ (Central Bank Digital Currency – CBDC) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำหน้าที่สื่อกลางการแลกเปลี่ยน (medium of exchange) มากกว่า cryptocurrency ทั่วไป

ทุกวันนี้ Zipmex พบว่ามีคนไม่ถึง 1% ที่จะนำเหรียญคริปโตไปใช้จ่าย แต่มักใช้ในแง่การลงทุนมากกว่า อย่างไรก็ตามก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ในอนาคต แต่ท้ายที่สุด ผมคิดว่าการใช้จ่าย cryptocurrency ในประเทศไทยไม่น่าจะเกิดขึ้นเร็ว และไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อสังคมขนาดนั้น เนื่องจากประเทศไทยยังมีระบบการเงินที่ดีกว่าอีกหลายประเทศที่ยังคงมีปัญหากับการทำธุรกรรมข้ามธนาคาร

ความนิยมในสินทรัพย์ดิจิทัลของคนไทยจัดว่าสูงมาก โดยบริษัท Chainanalysis ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูล blockchain อันดับต้นๆ ของโลกให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยยอมรับและนิยม cryptocurrency สูงเป็นอันดับที่ 12 ของโลก นอกจากนี้ ในปัจจบุัน ประเทศไทยน่าจะมีการเปิดบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแล้วเหยียบล้านบัญชี แต่ส่วนมากเป็นการลงทุนใน 2 รูปแบบ ได้แก่ การลงทุนเพื่อหวังตัวกำไรจากการขายหลักทรัพย์ (capital gain) และการลงทุนในโลก DeFi (decentralized finance – ระบบการเงินแบบไม่ต้องผ่านตัวกลาง) เพื่อหวังผลตอบแทนจากการฝากเงินในรูปโบนัสและดอกเบี้ย

การเติบโตของ cryptocurrency ในไทยเกิดจากโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ที่ดีขึ้นในช่วงปี 2017-2018 ทำให้กองทุนสบายใจ ทำให้ตลาดมีสภาพคล่องและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันในปี 2018 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็เริ่มออกกฎเข้ามากำกับดูแล เพราะประเทศไทยมีกฎหมายพระราชกำหนดสินทรัพย์ดิจิทัล ทำให้เริ่มมีแนวทางที่ชัดเจน โดยมีกรอบภาษีและโครงสร้างใบอนุญาตหลายประเภท ทั้งโบรกเกอร์, กองทุน, ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ฯลฯ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีที่จะเอื้อต่อตลาดนี้ในอนาคต เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศทั่วโลกที่ก็เริ่มมีกฎหมาย มีแนวทางการกำกับดูแลออกมาเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลให้ตลาด cryptocurrency เป็นรูปธรรมและมีความชอบธรรมมากขึ้นอย่างแท้จริง ทำให้ในอนาคตตลาดนี้จะมีความเสี่ยงและความผันผวนลดลงเรื่อยๆ แต่ถึงอย่างไร ผมคิดว่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไม่มีวันที่จะมาแทนตลาดหลักทรัพย์แน่นอน เพราะตลาดหลักทรัพย์ยังคงเป็นปัจจัยบวกสำหรับเศรษฐกิจ ขณะที่เงินดิจิทัลยังผลักดันการลงทุนด้านอุปโภคบริโภค (consumption investment) ไม่ได้มากขนาดนั้น แต่ในอนาคตอาจเกิดขึ้นก็ได้

สฤณี: ตอนนี้ไม่ใช่จุดที่เราจะมาเก็งกันแล้วว่า cryptocurrency จะอยู่หรือจะไป เพราะจากที่เพิ่งดูข้อมูลมาในวันนี้ (11 มี.ค. 2022) พบว่ามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market cap) ล่าสุดอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีเหรียญคริปโตทั้งหมดในโลกประมาณ 18,000 กว่าตัว และยังพบว่ามีตลาดที่เอื้อให้นักลงทุนมาซื้อ-ขายอยู่มากถึงกว่า 480 ตลาด รวมทั้งมีตัวเลขนักลงทุนทั่วโลกประมาณ 300 ล้านคนทั่วโลกที่ใช้หรือเทรด cryptocurrency ขณะที่บางเจ้าคาดการณ์ว่าภายในสิ้นปีนี้ ตัวเลขนักลงทุนอาจจะขึ้นไปถึง 1,000 ล้านคน ซึ่งถือว่าสูงมาก จนมาถึงจุดที่รัฐบาลทุกประเทศต้องมาสนใจ

ประเด็นสำคัญหนึ่งของ cryptocurrency คือเรื่อง financial inclusion หรือการทำให้คนที่เข้าไม่ถึงการเงินในระบบ มีโอกาสได้เข้าถึงมากขึ้น ถ้าไปดูตัวเลข คนไทยเกิน 90% มีบัญชีธนาคาร แต่ไม่ใช่ทุกคนเป็นลูกหนี้ธนาคาร เพราะฉะนั้นยังมีการเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินอยู่ในหลายๆ จังหวัดของประเทศ โดยเฉพาะบริการสินเชื่อ อย่างในช่วงโควิดที่ผ่านมา เราได้เห็น SMEs จำนวนมากที่เดือดร้อนในเรื่องนี้ ส่วนตัวจึงเห็นว่า cryptocurrency และ blockchain มีศักยภาพค่อนข้างมากที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งในปัจจุบัน เราได้เห็นการทดลองการนำ cryptocurrency มาใช้ในลักษณะนี้หลายโครงการ เช่น กิจการเพื่อสังคมอย่าง Kiva ซึ่งเป็นตัวกลางในการรวบรวมเงินเล็กๆ น้อยๆ จากคนทั่วโลก เพื่อไปส่งต่อให้กับสถาบันการเงินขนาดเล็ก (microfinance) หรือสถาบันการเงินที่เน้นเสินเชื่อขนาดเล็ก (microcredit) ในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะทวีปแอฟริกา เพื่อให้สถาบันการเงินเหล่านั้นสามารถออกสินเชื่อให้กับผู้ที่ต้องการเงิน และล่าสุดก็ได้พยายามใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีบล็อกเชน smart contract ด้วยการออกแบบ Kiva Protocol ที่เขาเชื่อว่าจะยกระดับการเข้าถึงและช่วยลัดขั้นตอนการยืนยันตัวตน ทำให้คนที่มีอุปสรรค เช่น ไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ เพราะไม่มีบัตรประชาชนหรือไม่มีมีเอกสารที่ธนาคารต้องการ สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ในเวลารวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม การนำ cryptocurrency ไปใช้ส่งเสริม financial inclusion ก็มีความท้าทายไม่ต่างจากการนำไปใช้ในด้านอื่นๆ เพราะประเด็นสำคัญคือการใช้งานต้องสอดคล้องกับตัวตนของมันในโลกจริง เพราะถ้าข้อมูลตั้งต้นที่ป้อนเข้าสู่ blockchain ไม่ถูกต้อง ก็จะเป็นปัญหาได้ ในทางปฏิบัติจึงต้องมีบุคคล หน่วยงาน หรือตัวกลางบางอย่าง ที่มีความน่าเชื่อถือเข้ามาทำหน้าที่ป้อนข้อมูล

นอกจากประเด็น financial inclusion แล้ว blockchain ยังใช้ประโยชน์ได้ไกลกว่านั้น เพราะการที่ blockchain ทำงานโดยไม่ต้องอาศัยการอนุญาต (permission less) ใดๆ ทำให้มันมีประโยชน์ในการใช้งานเพื่อส่งเสริมความโปร่งใส เช่น การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ซึ่งก็จะช่วยแก้ปัญหาคอร์รัปชัน สมมติเรานำข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างไปอยู่บน blockchain และอนาคตอาจมีการเชื่อมโยงไปที่อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (Internet of Things) อย่างพอเอางบไปสร้างเสา ก็จะมีเซนเซอร์ปลายทางที่แจ้งอัตโนมัติได้ว่า เสานี้เกิดขึ้นจริงตามแผนหรือยัง ถ้าเกิดขึ้นจริงแล้ว ระบบค่อยโอนเงินให้ นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ ของการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ประโยชน์

ณัฐ: สมัยก่อนคนเราไม่สามารถสร้างสกุลเงินขึ้นมาใหม่ได้ด้วยตัวเอง เพราะกฎหมายทุกประเทศห้าม แต่ในปี 2009 ซึ่งเป็นช่วงที่คนเริ่มสูญเสียศรัทธาในระบบการเงินของโลก ได้นำไปสู่ความคิดในการสร้างสิ่งใหม่ๆ ซึ่งเป็นอิสระจากกฎเกณฑ์ของประเทศต่างๆ เลยทำให้เงินอย่าง bitcoin เกิดขึ้นมา อย่างไรก็ดี โลกระบบการเงินดั้งเดิมยังมีวัฒนธรรม จริยธรรม การกำกับดูแลกิจการ (corporate governance) และกฎหมาย ที่ควบคุมอยู่ แต่โลกคริปโตโยนสิ่งเหล่านี้ทิ้งถังขยะหมด โดยทุกอย่างไปอยู่ใน smart contract แทน ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

ข้อดีคือสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ได้ สมมติถ้าคุณทำธุรกิจ โดยไม่มีทุน เดิมคุณอาจต้องเริ่มต้นไประดมทุนกับนักลงทุนเอกชน (private investor) จากนั้นก็นำเงินไปทำโครงการต่างๆ ใหได้ผลประกอบการที่ดี ให้มีกำไร ถึงจะไประดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ต่อได้ ซึ่งกระบวนการแบบนี้ใช้ระยะเวลายาวนานและเต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ แต่วันนี้ พอมีสินทรัพย์ดิจิทัล มันมีประโยชน์ทำให้การระดมทุนทำได้ง่ายขึ้น และเอาไปต่อยอดสร้างอะไรอย่างอื่นได้อีกเยอะ แต่อีกด้านก็ต้องถามว่า cryptocurrency สร้างผลิตภาพอะไรให้กับเศรษฐกิจ เพราะถ้าไม่ได้สร้างอะไรให้เกิดอะไรขึ้นกับประเทศ ในที่สุดมันจะตามมาด้วยเงินเฟ้อ และสุดท้ายถ้าทุกอย่างกระจายอำนาจ (decentralize) ในวันที่เกิดปัญหาขึ้น เช่นอาจเป็นตอนที่เศรษฐกิจขาดสภาพคล่อง ธุรกิจกู้ยืมเงินไม่ได้ ไม่มีใครควบคุมอะไรได้ ถ้าเป็นอย่างนั้น เราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะหลุดออกจากวงจรนั้นได้ นี่จึงเป็นปัจจัยที่สถาบันการเงิน และธนาคารกลางของประเทศต่างๆ หรือแม้กระทั่งธนาคารโลก ต้องคิด

อธิป: ผมรู้จัก cryptocurrency ครั้งแรกเมื่อปี 2016 ซึ่งช่วงนั้นกำลังเกิดกระแส FOMO (Fear of Missing out – กลัวตกขบวน) ในกลุ่มนักลงทุน เกี่ยวกับเรื่อง cryptocurrency ทำให้ราคา cryptocurrency เพิ่มขึ้นจากประมาณ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐไปอยู่ที่ประมาณ 19,700 เหรียญสหรัฐในช่วงสิ้นปี 2017 แต่พอเข้าสู่ปี 2018 กลับเป็นขาลงที่โหดร้าย ราคาลงเหลือ 6,000 เหรียญสหรัฐและซึมออกข้าง (sideway) จนกระทั่งปลายปีก็ลงไปเหลือ 3,000 เหรียญสหรัฐ ทำให้ล้างคนออกไปเป็นจำนวนมาก จากนั้นพอเข้าสู่ปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับวิกฤตโควิด-19 ตลาด cryptocurrency ก็เริ่มฟื้นในแบบที่เราต้องใช้คำว่า FOMO อีกครั้ง

ผมเริ่มเปิดใจให้กับ cryptocurrency ในปี 2021 แต่ด้วยความที่เป็นคนเจนเอ็กซ์ (Generation X) ที่เติบโตมากับยุคของหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ยากต่อการทำความเข้าใจสินทรัพย์เหล่านี้ ดังนั้นการเข้าลงทุนในทรัพย์สิน cryptocurrency ครั้งแรกในชีวิตของผมคือการซื้อกองทุน ETF ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นที่ลงทุนในเทคโนโลยี blockchain แต่ในหุ้นก็จะมีหุ้นที่ซื้อเหรียญโดยตรงเหมือนกัน เช่น MicroStrategy จึงเท่ากับผมเป็นนักลงทุนเหรียญคริปโตในทางอ้อม (indirect investor) โดยใช้วิธีซื้อแบบ DCA (Dollar Cost Average) คือลงทุนทีละน้อยๆ เพราะผมเชื่อว่ามีความผันผวนสูง

การลงทุนระยะที่ 2 ของผมคือการลงทุนในอีเธอเรียม จากนั้นระยะที่ 3 ซึ่งเริ่มต้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผมก็ลงทุนเหรียญคริปโตโดยตรงครั้งแรกในชีวิต ที่ผมหันมาสนใจลงทุนแบบนี้ก็เพราะสังเกตเห็นในช่วงโควิด-19 ว่าราคาทองคำขึ้นในเปอร์เซนต์ที่ไม่มากนักถ้าเทียบกับช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ ตอนนั้นผมไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร แต่ผมเชื่อว่าสาเหตุหนึ่งก็คือการที่นักลงทุนจำนวนหนึ่งแบ่งเงินไปลงทุนในสกุลหลักของสินทรัพย์ดิจิทัล ผมจึงใช้หลักการนี้ตัดสินใจกระจายเข้าไปซื้อเหรียญ Bitcoin นอกจากนี้อีกสาเหตุที่ผมหันมาลงทุนเหรียญคริปโตก็คือดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในปัจจุบันที่ต่ำมาก แล้วผมไปได้ยินจากรุ่นน้องว่า ในกระดานเทรดคริปโตมีโปรแกรมล็อกเหรียญ ซึ่งคล้ายๆ กับฟาร์มเหรียญ (yield farming) เพื่อให้ได้ดอกเบี้ยซึ่งอยู่ในช่วงตั้งแต่ 4-10% ผมอยากรู้ก็เลยลองลงทุน แต่ผมไม่สามารถลงทุนด้วยเงินจำนวนมากๆ ได้เหมือนกับการลงทุนหุ้น เพราะว่าต้องขอเวลาศึกษาอีกสักนิดหนึ่ง แต่เบื้องต้นผมคิดว่าจะลงทุนในสินทรัพย์นี้ไม่เกิน 5% ของพอร์ตทั้งหมด

ตีโจทย์แนวทางกำกับดูแล เมื่อกระแสคริปโตไม่อาจหยุดยั้งได้อีกต่อไป

เอกลาภ: ในช่วงที่ผ่านมา เราเห็นได้ว่ามีการกำกับดูแล cryptocurrency ในประเทศไทยเยอะขึ้น เนื่องจากปริมาณการซื้อขายเริ่มเยอะ ซึ่งผมเห็นด้วยในเรื่องการจัดเก็บภาษีเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ แต่ต้องเป็นภาษีที่มีความชัดเจนและยุติธรรม

ในฐานะที่เป็นผู้ดำเนินธุรกิจแพลตฟอร์มการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผมมองว่าภาครัฐควรมีนโยบายที่ชัดเจน อย่างที่สหรัฐฯ ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพิ่งออกคำสั่งพิเศษเกี่ยวกับแนวทางควบคุมดูแลสกุลเงินดิจิทัล เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา นี่เป็นเรื่องที่ดีมาก แม้จะยังเป็นเรื่องนามธรรม ไม่ลงรายละเอียดมากนัก แต่ก็เป็นการกำหนดทิศทางนโยบายแล้วว่า สหรัฐฯ ไม่สามารถปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ได้อีกต่อไป

ผมขอเสนอทางผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลด้วยว่าควรจะมีสนามทดลอง (sandbox) เหมือนอย่างในหลายประเทศ ที่มักมีการทำ sandbox กันก่อนเมื่อต้องการจะออกกฎเกณฑ์ต่างๆ โดยมีการทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง พูดคุยกับผู้มีส่วนได้เสียทุกคน ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะออกกฎหมายมาบังคับใช้ได้ แต่เราไม่ค่อยเห็นรูปแบบนี้ในประเทศไทย อย่างมากอาจมีแค่ทำพอเป็นพิธี แต่ไม่ได้ตั้งใจหาทางออกร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ในอุตสาหกรรมจริงจัง

นอกจากนี้ ผมเสนอให้บริษัทที่อยากออกเหรียญมาระดมทุนต้องผ่านสายตาของสำนักงาน ก.ล.ต. แล้วควรมีเครื่องมือมาช่วยสอดส่องดูแล หากต้องการจะป้องกันปัญหาการฟอกเงิน ซึ่งอาจจะมีกฎเกณฑ์เข้ามาช่วยกำกับว่า เราจะยอมรับเงินคริปโตที่มาจากที่อยู่ (address) ที่ได้รับการรับรองแล้วเท่านั้น เพื่อให้มั่นใจว่าไม่เกี่ยวข้องกับการค้าอาวุธหรือก่อการร้าย แต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎเกณฑ์ลักษณะนี้ออกมา

ทุกวันนี้ การแข่งขันในตลาด cryptocurrency กำลังสูงขึ้นมาก ซึ่งการแข่งขันเป็นเรื่องที่ดี เพราะแต่ละบริษัทก็จะต้องพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ดีขึ้น ในที่สุดคนที่ได้ประโยชน์ก็คือลูกค้า แล้วผมว่าส่วนแบ่งทางการตลาด (market share) ยังสามารถเติบโตได้อีก ส่วนเรื่องการโฆษณา ผมคิดว่าไม่ควรมีโฆษณาแบบเชิญชักชวนชี้ชวนการลงทุน (predatory marketing) หรือการันตีผลตอบแทนต่างๆ ผมสารภาพตรงๆ ว่าพอมันไม่มีกฎหมายห้าม ผมก็ทำ แต่พอมีคนเตือนสติ เราก็ไม่ได้ออกโฆษณาแบบนั้นแล้ว เพราะมันเป็นสินทรัพย์ที่ผันผวน แล้วคนก็เริ่มเข้ามาลงทุนเยอะมาก เราต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

สำหรับการแข่งขันกับแพลตฟอร์มต่างประเทศ ​ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) ระดับโลกไม่ได้มีผู้กำกับดูแล ซึ่งถือเป็นดาบสองคม เพราะเมื่อไม่มีการกำกับดูแล เขาก็สามารถสร้างนวัตกรรมได้ทุกอย่าง แต่เวลานักลงทุนมีปัญหา ก็อาจจะติดต่อยาก เขาไม่ต้องสนใจเรื่องผู้กำกับดูแล ซึ่งไม่เหมือนกับแพลตฟอร์มในประเทศเรา อย่าง Zipmex เอง ส่วนตัวผมไม่ค่อยห่วงเรื่องการแข่งขันในประเทศ แต่ห่วงว่าการแข่งขันระหว่างแพลตฟอร์มนอกประเทศที่เขาสามารถมีนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาตลอด จะทำให้คนไทยย้ายไปซื้อขายที่ต่างประเทศ นี่คือสิ่งที่น่ากลัวมากกว่าเพราะจะมีผลกระทบในเชิงลบในระยะยาว

สฤณี: ประเด็นที่ต้องมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันคือประเด็นการคุ้มครองนักลงทุน โดยจากแนวโน้มล่าสุดดูเหมือนว่า ก.ล.ต.จะให้การกำกับศูนย์ซื้อขาย (exchange) หรือการระดมทุนแบบดิจิทัลด้วยการเสนอขายโทเคนดิจิทัล ผ่านระบบบล็อกเชนต่อสาธารณชน (Initial Coin Offering – ICO)  ย้ายไปใช้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แทนที่จะใช้ พ.ร.บ.สินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเรื่องนี้คงต้องติดตามดูผลกันต่อไป แต่ส่วนตัวชอบแนวทางของ ก.ล.ต.สหรัฐฯ ที่เป็นกลางทางเทคโนโลยี แต่หากเป็นสัญญาที่เป็นลักษณะการลงทุน (investment contract) เขาก็จะใช้วิธีกำกับด้วยหลักการ Howey Test คือต้องมีการระดมทุน และนักลงทุนต้องจ่ายเงินออกไปเพื่อแลกกับความคาดหวังว่าจะเกิดกำไรขึ้นในอนาคตในกิจการทั่วไป (common enterprise) หากเข้าข่ายทั้งหมดนี้จึงถือว่าเป็นสัญญาการลงทุน ส่วนตัวคิดว่าสุดท้ายแล้วการกำกับอาจต้องยืดหยุ่นในลักษณะแบบนี้ คือต้องมีการกำหนดเช็กลิสต์คุณสมบัติต่างๆ ซึ่งหากเข้าข่ายเช็กลิสต์ทั้งหมด เราถึงจะมีการเข้าไปกำกับสิ่งนั้น เพราะที่ผ่านมาเรามักมีปัญหาเรื่องการนิยาม ซึ่งปัญหาใหญ่คือคำนิยามอาจเปลี่ยนรูปร่างไปได้ในอนาคต แล้วที่สำคัญ หลักการใหญ่ของเรื่องนี้คือการกำกับดูแล คือต้องทำให้นักลงทุนได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องก่อนการตัดสินใจ

อีกประเด็นหนึ่งที่เราต้องส่งเสริมก็คือการคุ้มครองผู้ลงทุน เราอาจต้องมาคิดกันว่าจะสร้างระบบนิเวศของตลาด cryptocurrency อย่างไร ที่ไม่ใช่บริษัทเดียวทำทุกอย่าง แต่มีระบบนิเวศที่หลากหลาย มีผู้เล่นเข้ามามากขึ้น

ประเด็นสุดท้ายคือเรื่องการออกเงินบาทดิจิทัลโดยธนาคารแห่งประเทศไทยให้ใช้ในปีนี้ ซึ่งน่าจะเป็นตัวเปิดประตูให้เกิดการขยายบริการทางการเงิน ให้คนได้เข้าถึงระบบมากขึ้น แล้วถ้าจะมีการต่อยอดจากบาทดิจิทัลไปสู่ DeFi ที่ไม่มีตัวกลางเลย แบงก์ชาติก็น่าจะต้องมีทิศทางนโยบายและการสนับสนุนที่ชัดเจน เช่น แบงก์ชาติเคยมีโครงการที่เรียกว่า ‘สนามทดลองการกำกับดูแล’ (regulatory sandbox) เพื่อปรับปรุงให้รองรับกับ DeFi ซึ่งออกเป็นแนวทางชัดเจนเลยว่า ถ้าคุณเป็นผู้ประกอบการที่ตั้งใจเข้ามาพัฒนาหาทางออกเรื่อง financial inclusion แบงก์ชาติจะมีมาตรการคุ้มครองใดเป็นพิเศษ หรือจะมีแนวทางการเข้าไปร่วมมืออย่างไรบ้าง ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจมาก

ณัฐ: ผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลมีอยู่หลายหน่วยงาน หน่วยงานแรกคือ ก.ล.ต. ซึ่งมีหน้าที่แก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องการเข้าถึงข้อมูล (information asymmetry) นี่ถือเป็นปัญหาสำคัญ อย่างที่ Gary Gensler ประธาน ก.ล.ต. สหรัฐอเมริกา (SEC) เคยพูดไว้ว่า ครั้งที่โลกเจอปัญหาเศรษฐกิจมากมายเมื่อปี 1929 ก็เป็นเพราะไม่มีการกำกับดูแล มีทั้งคนดีและคนไม่ดีเข้ามาระดมทุน ทั้งยังมีปัญหา information asymmetry ที่ทำให้นักลงทุนที่มีข้อมูลเยอะกว่าสามารถหาประโยชน์จากตรงนั้นได้ จึงเป็นจุดกำเนิดของการมี SEC เพื่อเข้ามากำกับดูแล ลดความเหลื่อมล้ำทางข้อมูล ผมว่าโลกคริปโตก็ควรเป็นเช่นนั้น คือต้องเปิดเผยข้อมูลให้ชัดเจน เพื่อที่จะปกป้องไม่ให้สาธารณชนประสบปัญหาการฉ้อโกงหรือการปั่นหุ้น

หน่วยงานที่สองคือธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานที่ควบคุมดูแลเกี่ยวกับเรื่องสถาบันทางการเงิน ซึ่งมีความน่าสนใจหลายประการ ได้แก่ (1) การบริหารสถาบันการเงิน ซึ่งต้องดูว่าสินทรัพย์ดิจิทัลจะส่งผลกระทบอย่างไรกับความมั่นคงของสถาบันการเงิน เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีผลกระทบ มันจะเป็นไปในวงกว้าง (2) การใช้นโยบายต่างๆ ของธนาคารกลางในการควบคุมดูแลเศรษฐกิจ สมมติว่าคนเลิกถือเงินบาท หันไปซื้อ cryptocurrency กันหมด แบงก์ชาติจะบริหารจัดการอย่างไร ในเวลาที่เศรษฐกิจมีปัญหา จะสามารถอัดฉีดเงินหรือดูดซับสภาพคล่องได้ไหม นี่คือสิ่งที่แบงก์ชาติต้องคิดว่าหากเราก้าวข้ามจากนโยบายเศรษฐกิจรวมศูนย์ไปเป็นการกระจายศูนย์ เราจะทำอย่างไร ผมว่าเราต้องมีกระสุนในมือให้พร้อมเพื่อที่จะดำเนินนโยบายบางอย่าง

หน่วยงานที่สามคือกรมสรรพากร ซึ่งดูแลเรื่องการเก็บภาษี วันนี้คนซื้อ cryptocurrency ตั้งคำถามว่าทำไมต้องจ่ายภาษี ผมว่าจริงๆ แล้ว ใครก็ตามที่มีรายได้ก็ควรต้องมีหน้าที่เสียภาษี แต่ก็ต้องมาคิดกันว่าจะเก็บภาษีรูปแบบไหนถึงจะเหมาะสม อาจารย์ประสาร (ไตรรัตน์วรกุล) เคยให้ความเห็นที่น่าสนใจไว้ว่า การเก็บภาษีจากธุรกรรมทางการเงิน (financial transaction tax) โดยไม่ดูว่าได้กำไรหรือขาดทุน ก็เป็นเหมือนการเอาทรายใส่เครื่องยนต์ ทั้งที่จริงแล้ว ถ้าจะให้เครื่องยนต์ทำงานลื่นต่อไปได้ เราต้องสามารถทำธุรกรรมโดยไม่ต้องมาคิดมากถึงเรื่องต้นทุนที่เกิดขึ้นต่อธุรกรรม เราจึงต้องมาคำนึงว่าจะเก็บภาษีอย่างไรให้เศรษฐกิจชาติเคลื่อนไหวต่อไปได้

ในต่างประเทศ อย่างที่ประเทศสิงคโปร์ ช่วงก่อนปี 2020 ไม่มีการเก็บภาษีกำไรจากเงินลงทุน (capital gain tax) แต่ช่วงนั้นเขาตีความว่า cryptocurrency เป็นสินค้าและบริการแบบหนึ่ง จึงขอเก็บเป็นภาษีสินค้าและบริการ (Goods and Services Tax – GST) ในอัตราที่สูงมาก และต่อมาก็เริ่มมีปัญหา ตอนหลังจึงมีการตีความใหม่ว่า ถ้าซื้อขาย cryptocurrency โดยไม่ได้มีสินค้าและบริการมาเกี่ยวข้อง ก็จะไม่เก็บภาษี ขณะที่ประเทศอินเดียที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับ cryptocurrency เท่าใดนัก ก็เลือกเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายหลังการซื้อขาย cryptocurrency ในอัตราที่สูงมากๆ ประมาณ 30% และยังเก็บภาษี GST อีก ส่งผลกระทบต่อคนที่ทำธุรกรรมเกี่ยวกับ cryptocurrency อย่างมาก

เราเห็นได้ว่านโยบายต่างๆ ในทุกเรื่องจากทุกหน่วยงานที่กล่าวไปข้างต้น ส่งผลกระทบเยอะมากกับผู้เล่นในตลาดนี้ สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆ คือ แทนที่แต่ละหน่วยงานจะทำงานแยกออกจากกันโดยสมบูรณ์ ทุกหน่วยงานควรจะมานั่งคิดร่วมกันว่า ประเทศไทยควรสนับสนุน cryptocurrency หรือไม่ ต้องมีนโยบายเรื่องนี้ที่ชัดเจน และสื่อสารไปยังสาธารณชนได้

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญคือผู้กำกับดูแลไม่มีทางที่จะรู้และเข้าใจเทคโนโลยีต่างๆ ได้ดีเท่าคนที่อยู่ในวงการ เพราะฉะนั้นเรื่องแรกคือจะทำอย่างไรให้เขามีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น เรื่องที่สองคือต้องยอมรับว่าสินทรัพย์ที่อยู่ในรูปแบบปัจจุบันกับ cryptocurrency เหมือนมาจากคนละดาวกัน วิธีกำหนดกฎเกณฑ์จึงต้องไม่เหมือนกัน เขาต้องเข้าใจก่อนว่าพื้นฐานของสินทรัพย์แต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร เช่น ถ้ามีวิธีคิดว่าคนที่ทำธุรกรรมผิดกฎหมาย ต้องถูกจับ เลยเขียนไว้ในกฎหมาย แต่ปรากฎว่าในบล็อกเชน เราหาที่อยู่จากบัญชีผู้กระทำผิดไม่ได้ หรือวันนี้กฎหมายบอกว่าถ้าคุณมีรายได้อยู่นอกประเทศ ไม่ได้นำรายได้นั้นเข้ามาในประเทศ ก็ไม่ถือว่ามีภาระที่จะต้องเสียภาษี แต่ปรากฏว่าเวลาซื้อขาย cryptocurrency ไม่มีใครตอบได้ว่าบัญชีนั้นอยู่ที่ประเทศไหน เมื่อเป็นแบบนี้จึงยากมาก และเรื่องสุดท้าย ผู้กำกับดูแลต้องตระหนักว่าพวกเขาสามารถออกกฎหมายบังคับควบคุมประชาชน ควบคุมเศรษฐกิจ และควบคุมธุรกิจที่เกิดขึ้นในประเทศได้เท่านั้น จะไปบังคับนอกประเทศไม่ได้ แล้วถ้าเขาออกกฎระเบียบที่เค้นหนักกว่าเดิมเพื่อตั้งใจว่าป้องกันการผิดกฎหมาย ก็จะกลายเป็นว่าคนที่ทำผิดจะออกไปทำธุรกรรมนอกประเทศกันหมด ทำให้ประเทศไทยต้องผลประโยชน์หรือโอกาสต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นให้กับต่างประเทศหมด

คำถามส่วนสุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแล คือถ้าวันหนึ่ง cryptocurrency เป็นสื่อกลางซื้อขายแลกเปลี่ยน แนวทางกำกับดูแลควรจะเป็นรูปแบบไหน เพราะหนึ่งในหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลที่สำคัญมากๆ คือต้องสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่ถูกกฎหมาย ที่ต่างประเทศมีการกำหนดว่า ตลาดที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลต้องไม่รับเหรียญหรือ address ที่ยุ่งเกี่ยวกับธุรกรรมผิดกฎหมาย แม้เราจะบอกว่าการซื้อขาย cryptocurrency ใช้ระบบกระจายศูนย์ (decentralized system) แต่จริงๆ แล้วธุรกรรมทางการเงิน 90% ก็ซื้อขายผ่านตลาดแบบรวมศูนย์อย่าง Binance หรือในประเทศไทยก็อย่าง Zipmex ตรงนี้เลยยังทำให้ผู้กำกับดูแลยังพอสามารถเข้าไปกำกับดูแลได้ แต่หากวันหนึ่ง cryptocurrency ไม่จำเป็นต้องถูกแลกกลับมาเป็นเงินสดอีกต่อไป เครื่องมือกำกับดูแลก็จะเริ่มหายไป นี่คือเรื่องน่าสนใจที่เราต้องมาคิดกัน

อธิป: การเข้ามาเล่นในตลาด cryptocurrency ในประเทศไทยจำเป็นต้องมีการให้ข้อมูลความรู้ ส่วนตัวผมไม่อยากให้ปิดโอกาสหรือพยายามจะกำกับดูแลมากในระดับที่จะทำให้การเติบโตเป็นไปได้ยาก เพราะเวที cryptocurrency ทำให้คนรุ่นใหม่เห็นโอกาสที่จะได้ยืนอยู่สนามการลงทุนเดียวกับคนเจนเอ็กซ์กับคนเบบีบูมเมอร์ (Baby Boomer) ที่ลงทุนเก่งที่สุดในโลกเดิม และต้องยอมรับว่าคนรุ่นใหม่เก่งกว่าด้วยซ้ำบนเวที cryptocurrency เพราะพวกเขาขยันศึกษาหาข้อมูล รวมทั้งมีความกล้าเสี่ยง ผมมองว่าตลาด cryptocurrency จะเป็นทางออกของคนรุ่นใหม่ที่อยากลงทุนหรือออมในระยะยาว

ประเด็นที่สอง ผมคิดว่าการโฆษณาแบบฮาร์ดคอร์ เช่น การโปรโมตว่าลงทุนแล้วรวยแน่ๆ หรือชีวิตคุณจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นมากๆ คำพูดลักษณะนี้อาจจะดึงดูดคนได้ แต่ว่ามันดูอันตรายสำหรับสินทรัพย์เพื่อการลงทุน ผมคิดว่าจะดีกว่าถ้าเป็นการโฆษณาเพื่อสร้างความรับรู้ในการมีอยู่ของตลาด หรือในเชิงภาพลักษณ์บริษัท

ประเด็นที่สาม คือเรื่องการดูแลนักลงทุน ตอนนี้มีหน่วยงานกำกับดูแล ICO ควบคุมดูแล คล้ายๆ กับหุ้น IPO ในโลกของหุ้น ผมคิดว่าความโปร่งใสของข้อมูล การเปิดข้อมูลให้กับนักลงทุน และการมีช่องทางในการติดตามข้อมูล จะช่วยให้นักลงทุนอุ่นใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมเชื่อว่านับจากนี้เป็นต้นไป แอปพลิเคชันของ cryptocurrency จะแตกแขนงออกไปอีก ซึ่งผู้กำกับดูแลจะต้องมีบทบาทในการควบคุมดูแลกลไกคำสัญญาต่างๆ เหล่านี้มากขึ้น

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save