fbpx

Full time children อาชีพ ‘ลูกเต็มเวลา’ เมื่อหนุ่มสาวชาวจีนออกจากงานเพื่อกลับบ้านมารับจ้างเป็น ‘ลูก’

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้อ่านบทความของ Los Angeles Times ว่าด้วยชีวิตของหญิงสาววัย 23 ปีที่เพิ่งเรียนจบจากคณะการจัดการการท่องเที่ยว เธอถูกส่งให้ไปฝึกงานที่โรงแรมแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของจีน และต้องเผชิญกับสภาพ ‘งานหนัก-เงินน้อย’ ทั้งยังต้องอยู่ห่างไกลจากครอบครัวตัวเอง

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่สื่อจีนรายงานข่าวหญิงวัย 40 ที่แม่จ้างให้เธอออกจากงานซึ่งเครียดเขม็งตลอดเวลาให้มาอยู่บ้านเฉยๆ หรือเรียกโดยชัดว่าเป็นอาชีพ ‘ลูกสาวเต็มเวลา’ (full-time daughter) หญิงสาววัย 23 จึงถามแม่ตัวเองว่า เป็นไปได้ไหมที่เธอจะประกอบอาชีพเป็นลูกสาวเต็มเวลาดูบ้าง -และแน่นอนว่าแม่ของเธอตอบตกลง 

จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเธอนั้น ถึงที่สุดก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่เป็นภาพสะท้อนถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ง่อนแง่นของจีน เพราะหากเรานึกย้อนกลับไป ปลายปี 2021 สำนักข่าวทั้งไทยและต่างประเทศหลายแห่ง รายงานเกี่ยวกับกระแส lying flat หรือ tang ping ของกลุ่มคนหนุ่มสาวในจีนที่ตัดสินใจใช้ชีวิตการทำงานโดยปราศจากความกระตือรือร้น ไม่มีจุดมุ่งหมายในชีวิต และเป็นหนึ่งในเรื่องใหญ่ระดับที่ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนออกมาวิพากษ์วิจารณ์กระแสพฤติกรรมนี้ว่า ช่างเป็นความประพฤติที่สวนทางกับคุณค่าของจีนที่เชื่อมั่นเรื่องการทุ่มเททำงานอย่างหนักเหลือเกิน

ล่วงมาจนถึงปลายปี 2023 ไม่เพียงแต่กระแส lying flat ยังอยู่ แต่ยังมีกระแสใหม่ๆ งอกตามมาด้วย หนึ่งในนั้นคือการประกอบอาชีพเป็น ‘ลูกสาวเต็มเวลา’ ที่ในเวลาต่อมาค่อยๆ ขยายกลายเป็นอาชีพ ‘ลูกเต็มเวลา’ (Full time children) ที่ไม่ได้จำกัดแค่การเป็นลูกสาวเสมอไป โดยคนหนุ่มสาวเหล่านี้มักลาออกจากงานประจำเพื่อมาใช้ชีวิตที่บ้าน พ่อกับแม่จ่ายเงินเดือนให้ตามแต่ตกลง หน้าที่ของอาชีพการเป็นลูกเต็มเวลาคือการดูแลบ้านในเวลาราชการ หรือช่วยเหลืองานของพ่อแม่หากพวกเขามีธุรกิจส่วนตัว ที่น่าสนใจคือ ลูกๆ เหล่านี้ได้รายได้ใกล้เคียงกันกับพนักงานบริษัทบางแห่ง หรือคือตกอยู่ที่ 4,000-8,000 หยวน (คิดเป็นเงินไทยราวๆ 19,000-39,000 บาท)

ท่ามกลางค่านิยมของชาวจีนที่เชื่อเรื่องการทุ่มเททำงานอย่างหนักและจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่านั้น ดูเหมือนจะใช้ไม่ได้กับเศรษฐกิจจีนในยุคนี้อีกต่อไป หลายคนเติบโตมาด้วยความเชื่อว่าหากพวกเขาตั้งใจเรียนและตั้งใจทำงานอย่างหนักมากพอ วันหนึ่งเมื่อถึงเวลา พวกเขาจะมีเงินเดือนสมตำแหน่งและเรี่ยวแรงที่ทุ่มลงไป เพื่อจะพบว่า โลกแห่งความจริงโหดร้ายกว่านั้น ความเชื่อดังกล่าวเป็นเสมือนกับดักอำมหิตที่ล่อให้พวกเขากระโจนเข้าหาแล้วกลืนกินคนรุ่นใหม่หน้าตาเฉย สำนักข่าว BBC รายงานว่า คนหนุ่มสาวชาวจีนกว่า 1 ใน 5 ที่อายุตั้งแต่ 16 ถึง 24 ปีต่างไม่มีงานทำ อัตราการว่างงานของคนรุ่นใหม่ทะยานสูงขึ้นอย่างน่าจับตาในรอบปีที่ผ่านมา โดยจีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก โตขึ้นเพียง 0.8 เปอร์เซ็นต์ในรอบสามเดือนที่ผ่านมาซึ่งถือว่าต่ำเตี้ยเรี่ยดินอย่างยากจะจินตนาการ ยังไม่ต้องพูดถึงประเด็นที่ว่า ประเทศจีนเองก็มีปัญหาเรื่องการกำหนดเวลาทำงานในสูตร 996 หรือคือทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม หกวันต่อสัปดาห์ ซึ่งศาลจีนตัดสินว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายแล้ว 

และหากพิจารณาตามคุณค่าที่ประเทศจีนยึดถืออย่างการทุ่มเททำงานหนักและจะได้ผลตอบแทนอันคุ้มค่านั้น ระบบ 996 ก็พิสูจน์ให้คนรุ่นใหม่เห็นด้วยเลือดด้วยเนื้อของพวกเขาเองแล้วว่าไม่เป็นความจริง เมื่อมีรายงานข่าวว่าพนักงานออฟฟิศที่อายุยังน้อย เสียชีวิตปริศนาหลังโหมทำงานอย่างหนัก แจ็ค เฉิง อดีตพนักงานบริษัทเทนเซ็นต์​ (Tencent) บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของจีนให้สัมภาษณ์ BBC ว่า เขาต้องคอยดูแลและตอบกลับข้อความกว่า 7,000 ข้อความของบริษัทนอกเหนือเวลางานทุกวัน ถึงที่สุด เขาลาออกจากงานเมื่อสภาพร่างกายในวัย 32 ปีเริ่มออกอาการเรื้อรังและฟ้องสภาพบอบช้ำภายในบางอย่าง เช่น โรคผิวหนังที่ลุกลามอักเสบไปทั่วทั้งตัว และแม้เวลานี้ เฉิงจะได้งานใหม่แล้ว แต่เขาก็มองว่าคนรุ่นเดียวกันไม่ได้โชคดีแบบเขา เนื่องมาจากค่านิยม ‘วัย 35’ ของจีนที่หลายบริษัทรู้สึกว่าเป็นวัยที่เรียกร้องค่าตอบแทนสูง ดังนั้น การจ้างเด็กใหม่ที่ค่าตอบแทนยังไม่มากนักจึงดูเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่ากว่าสำหรับหลายๆ บริษัท แต่ขณะเดียวกัน ภายใต้สภาพเศรษฐกิจที่ดิ่งลงเหวอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ก็ยังผลให้ผู้ประกอบการหลายแห่งปิดหรือลดขนาดกิจการลง ที่ก็ส่งผลโดยตรงต่อคนหนุ่มสาว -ทั้งที่เรียนจบนานแล้วหรือเพิ่งจบ- ทำให้พวกเขาหางานทำลำบาก จนการประกอบอาชีพเป็น ‘ลูกเต็มเวลา’ ดูจะเป็นทางเลือกที่เห็นความเป็นไปได้มากที่สุดสำหรับหลายๆ คน

เถียน หญิงสาวที่ลาออกจากงานและย้ายกลับไปเป็น ‘ลูกเต็มเวลา’ กับครอบครัวเธอในเมืองจูไห่ ทำหน้าที่เขียนบล็อกท่องเที่ยวกับดูแลน้องสาววัย 15 เป็นหลัก พบว่า แม้แม่ของเธอจะสนับสนุนให้เธอกลับมาอยู่บ้านและได้เงินเดือน แต่ฝั่งพ่อก็ไม่ได้ยินดีนัก “พ่อรู้สึกว่าฉันควรทำให้ได้แบบเขา มีชีวิตแบบที่คนอื่นเขาเป็นกัน คือหางานดีๆ ทำให้ได้หลังเรียนจบ ไปทำงาน มีคนรัก แต่งงาน อะไรทำนองนั้น” เธอเล่า หากแต่ลำพังขั้นตอนแรกก็งานยากแล้วเพราะเมื่อเรียนจบมา เถียนพบว่าตลาดจีนคับแคบและแทบไม่เหลือพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ ยังไม่ต้องพูดถึงการจะหางานที่เงินดีๆ ด้วยซ้ำไป

กระนั้น เถียนก็เข้าใจพ่อของเธอ “เป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำใจยอมรับเรื่องนี้ได้ ฉันเรียนมานานมากๆ จบจากมหาวิทยาลัยและควรต้องหางานเต็มเวลาทำได้แล้ว เอาแค่ให้พอมีรายได้เล็กๆ น้อยๆ ก็ยังดี” เธอบอก

บาดแผลจากเศรษฐกิจยังส่งผลต่อชีวิตของคนหนุ่มสาวจีนมหาศาล กรณี lying flat ก็เป็นหนึ่งในการ ‘ตอบโต้’ ของภาวะนี้ รวมถึงยังพบว่า คนรุ่นใหม่หลายคนนิยมซื้อลอตเตอรี่เพื่อเดิมพันอนาคตกับเงินก้อนใหญ่ หรือหันไปสวดมนต์ไหว้พระเพื่อให้มีชีวิตการทำงานที่ดีขึ้น 

อาจเป็นเรื่องยากจินตนาการของคนจีนหลายคนโดยเฉพาะคนที่ก่อร่างสร้างตัวในยุค 80s อันเป็นยุคที่จีนกำลังกระโจนขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ของโลก สมัยเมื่อพวกเขายังวัยรุ่น คนกลุ่มนี้ (หรือคือกลุ่มคนแบบพ่อของเถียน) ถูกเรียกว่าเป็นคนรุ่นที่ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อ “กลืนกินคนรุ่นก่อนหน้า” การเห็นคนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบันทอดถอนใจต่อชะตาชีวิตตัวเองจึงถือเป็นเรื่องทำความเข้าใจได้ยากหรือไม่ได้เอาเลยสำหรับหลายๆ คน 

สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้เลยจากปรากฏการณ์นี้คือการระบาดใหญ่ในปี 2020 ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ตระหนักดีว่า ชีวิตของพวกเขาช่างเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน คาดเดาอะไรไม่ได้ และไม่น่ามีประโยชน์อันใดที่จะต้องพยายามจนเลือดตาแทบกระเด็นเพื่อไปให้ถึงความมั่นคงซึ่งไม่มีอยู่จริง และการผ่อนแรงลงในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นกระแส lying flat หรือประกอบอาชีพเป็นลูกเต็มเวลา ก็ถือเป็นภาพสะท้อนบรรยากาศของคนรุ่นใหม่ มิหนำซ้ำยังเป็นภาพแทนความเหลื่อมล้ำมหาศาลของจีนที่ทำให้หลายคนรู้สึกว่าไม่มีประโยชน์ที่จะต้องพยายามทำงานอย่างหนักต่อไป เมื่อไม่ว่าพยายามแค่ไหน ความสำเร็จยิ่งใหญ่หมดจดตามคุณค่าเก่าแก่ของจีนก็ไม่ได้บังเกิดขึ้นในชีวิตพวกเขาจริงๆ 

กระนั้น ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้ชีวิตโดยได้ค่าแรงจากพ่อแม่ -กับการทำงานภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้- ก็ไม่ได้เป็นตัวเลือกที่เหมาะสำหรับทุกคน และยิ่งไม่ใช่การแก้ปัญหาในระยะยาว เพราะหากพินิจพิเคราะห์แล้ว การออกจากงานประจำเพื่อมาอยู่บ้านเต็มตัวนั้นก็อาจทำให้หวนกลับสนามอีกครั้งได้ลำบาก และนี่ก็อาจเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่รัฐบาลจีนจำเป็นต้องจับตาดูและพินิจพิเคราะห์หาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในโมงยามที่บาดแผลทางเศรษฐกิจยังปรากฏชัดอยู่เช่นนี้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save