fbpx

‘การลักพาตัวเจ้าสาว’ และชาวม้งใน Children of the Mist (2021) : ยุกติ มุกดาวิจิตร

ดี้ เป็นเด็กหญิงชาวม้งวัย 12 ปีที่อาศัยอยู่ในหุบเขาทางตอนเหนือของเวียดนาม กับการเติบโตไปสู่วัยสาวในแวดล้อมของการ ‘ลักพาตัวเจ้าสาว’ ที่ดูจะเป็นเรื่องแสนสามัญของคนในชุมชน ซึ่งผู้หญิงส่วนใหญ่แต่งงานและสร้างครอบครัวตั้งแต่อายุยังน้อย หลายคนออกจากระบบการศึกษาเพื่อทำงานเต็มตัว และดี้เริ่มเผชิญกับทางแพร่งของชีวิตเมื่อเธอเข้าไปอยู่ในความสัมพันธ์หอมหวานกับเด็กชายคนหนึ่ง ที่กลายเป็นข้อผูกมัดให้เธอต้องเป็น ‘เจ้าสาว’ ตั้งแต่วัยเยาว์ แม้ถึงที่สุดแล้วนั่นอาจไม่ใช่ปลายทางที่เธอปรารถนาก็ตามที

Children of the Mist (2021) หนังสารคดีสัญชาติเวียดนามของ ฮาเหล่เดี๋ยม คนทำหนังหญิงที่เพิ่งขยับมาทำหนังยาวเรื่องแรก ตัวหนังคว้ารางวัลสารคดียอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังสารคดีอัมสเตอร์ดัมและเทศกาลหนังนานาชาติฮ่องกง เธอติดตามชีวิตของดี้อยู่สามปี นับตั้งแต่ช่วงเวลาของการเป็นเด็กหญิงไปสู่การเติบโตเป็นวัยสาว อันนำมาสู่ความขมขื่นของชีวิตเมื่อเธอต้องปะทะเข้ากับวัฒนธรรมการแต่งงาน หรือการสร้างครอบครัวตั้งแต่อายุยังน้อยของคนม้ง ท่ามกลางสายตาไม่เห็นด้วยของรัฐที่ปรารถนาให้เธออยู่ในระบบมากกว่า

โดยภายหลังการฉายภาพยนตร์ในวันอาทิตย์ที่ 3 กันยายนที่ผ่านมาของ Doc Club & Pub. มีการจัดกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนเรื่องวัฒนธรรมม้งและประเด็นชาติพันธุ์กับ รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และชวนสนทนาโดย ผศ.ดร.ภาสกร อินทุมาร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจบริบทและเงื่อนไขทางสังคมบางประการที่ปรากฏขึ้นในตัวสารคดี

ยุกติกล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่เห็นได้จากหนังทั้งเรื่องคือ ในการทำสารคดีเรื่องนี้ เดียมในฐานะผู้กำกับไม่ได้ไร้ตัวตนโดยสิ้นเชิง ทว่าตัวตนของเธอปรากฏผ่านวิธีจับจ้องซับเจ็กต์ วิธีเลือกมุมกล้อง รวมทั้งสถานะการเป็นคนเวียดนามและเป็นผู้หญิงของเธอด้วย

“ผมคิดว่าหนังมีน้ำเสียงของผู้หญิงมากๆ รวมทั้งเป็นมุมมองของคนเวียดนามที่มองเข้าไปด้วย ซึ่งผมว่ามุมมองที่มาจากสายตาของผู้กำกับเป็นหลัก” ยุกติกล่าว และว่า สำหรับคนเวียดนามและคนไทยนั้น เรื่องราวของคนม้งไม่ถือว่าเป็นเรื่องห่างไกลจากการรับรู้นัก กระนั้น เราต่างก็รู้เรื่องชาวม้งน้อยมาก โดยเราแทบไม่รู้เลยว่าพวกเขากินอยู่กันอย่างไร มีวัฒนธรรมแบบไหน

“คนม้งในเวียดนามมักถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่อยู่กินกันก่อนแต่งงาน เพราะจะพบว่ามีเทศกาลที่เปิดจังหวะให้คนได้ไปพลอดรักหรือจู๋จี๋กัน ซึ่งคุณก็จะพบประเด็นนี้จากในหนังด้วย” ยุกติกล่าว

“ภาพที่คนเวียดนามมีต่อคนม้งจึงมักมีเรื่องความสัมพันธ์ลักษณะนี้มาด้วย รวมทั้งเราจะพบประเด็นเรื่องการฉุดผู้หญิงหรือเด็กผู้หญิง ซึ่งแง่หนึ่งก็ดูเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมเช่นกัน และหนังก็ไม่ได้มีความพยายามกลบความสลักสำคัญของเรื่องนี้แต่อย่างใด ตัวผู้กำกับซึ่งเป็นผู้หญิงที่ไม่ได้มีอายุมาก จึงมีความเป็นเพื่อนกับซับเจ็กต์ในหนังสูง และนี่เองที่ตัวตนของผู้กำกับได้มีส่วนในการกำหนดเรื่องราวที่ปรากฏในสารคดีด้วย” ยุกติกล่าวต่อ

ประเด็นการ ‘ลักพาตัว’ หรือการ ‘ฉุด’ ซึ่งถือเป็นประเด็นใหญ่ของตัวสารคดีนั้น ยุกติเน้นย้ำถึงรูปแบบที่มาของวัฒนธรรมบางอย่าง ซึ่งปรับเปลี่ยนไปตามสายตาของแต่ละยุคสมัยว่า อย่าคิดว่าวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป “การฉุดอาจเป็นช่วงเวลาหนึ่งของวัฒนธรรมม้ง ผมตกใจมากที่เห็นฉากฉุดกระชากลากถูดี้ แต่ก็จะพบว่ามันมีกระบวนการคลี่คลายเรื่องราวเหล่านี้อยู่ เช่น คุณจะเห็นว่ามีพวกผู้หญิงที่เป็นผู้อาวุโสของบ้านมาคุยกับหลานสาวว่าจะเอาอย่างไร หรือตัวพ่อแม่ก็พูดตลอดว่าความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นและการจะตัดสินใจแต่งงานหรือไม่แต่งงานนั้นเป็นเรื่องของตัวเด็ก หรือไปบอกพ่อแม่ของฝ่ายชายว่าอย่าไปตัดสินใจอะไรแทนตัวเด็กด้วยซ้ำ ขณะที่ผู้กำกับเองไม่เข้าใจ เราจะพบว่าเธอไปถามแม่ของดี้ว่าจะไม่ทำอะไรกับสถานการณ์สักอย่างเหรอ” ยุกติกล่าว

ในประเทศไทยเอง เรื่องราวการฉุดหรือการหนีตามกันก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ในหลายสังคม และโดยมากแล้วก็ใช้อธิบายความสัมพันธ์ของคู่ที่มีฐานะต่างกันซึ่งลงเอยด้วยการ ‘หนีตามกัน’ เพื่อที่ในเวลาต่อมาจะกลับมาต่อรองกับพ่อแม่หรือผู้ปกครองภายหลัง และจะพบว่าประเด็นนี้ก็มีเงื่อนไขทางความสัมพันธ์อยู่ ทว่า ยุกติเสนอว่ามีประเด็นเรื่องการเลือกใช้คำอยู่เช่นกัน โดยพบว่าใน ‘การหนีตาม’ นั้น ภาระจะตกอยู่กับฝ่ายหญิงเป็นหลัก ขณะที่ ‘การฉุด’ น้ำหนักของภาระทางศีลธรรมจะอยู่ที่ฝ่ายชาย โดยใน Children of the Mist (2021) ใช้คำว่าฉุดเป็นหลักเพื่อเน้นว่าผู้ชายเป็นฝ่ายกระทำ และเท่ากับว่าฝ่ายชายเป็นผู้รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

“ในสารคดี ลูกชายเอาลูกสาวบ้านอื่นไปนอนที่บ้าน แม่ของฝ่ายชายจึงเอาไก่ที่บ้านมาขอขมาครอบครัวฝ่ายหญิง มาทำกับข้าวให้กิน ถือเป็นกระบวนการที่สังคมจัดการกับการเปลี่ยนผ่านทางสถานะ” ยุกติชี้ประเด็น “ทว่า การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวนี้ไม่ราบรื่นเพราะที่สุดแล้ว ผู้หญิงไม่ยอม ไม่อยากแต่งงาน อาจจะเพราะรู้สึกว่าชีวิตยังไม่ลงตัว หรือเพราะอยากเรียนต่อก็เป็นไปได้ โดยทั้งหมดนี้ ครอบครัวก็คอยเฝ้าดูอยู่เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำเกินเลยที่ผิดกฎ โดยกฎที่ว่านี้ก็เกิดการต่อรองอยู่ตลอดเวลา”

“เราต้องพิจารณาประวัติศาสตร์ของคนม้งด้วย คนม้งนั้นอยู่ในที่สูง และในหนังเราก็จะพบว่าคนในสารคดีก็อยู่ในหุบเขาเช่นกัน พวกเขาตั้งหลักแหล่งกันที่นั่นและทำไร่ทำนา ทั้งนี้ การทำนาของชาวม้งนั้นเป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นมาไม่น่าเกินร้อยปี นับเป็นการทำการเกษตรที่ค่อนข้างใหม่ และสิ่งสำคัญสำหรับการทำการเกษตรคือแรงงานคน” ยุกติกล่าว ก่อนขยายความว่า การทำการเกษตรบนที่สูงของชาวม้งนั้นเข้าใจว่าน่าจะเกิดขึ้นในช่วงที่มีการค้าฝิ่น และการปลูกฝิ่นนั้นใช้แรงงานคนค่อนข้างเยอะเนื่องจากเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อน ไม่สามารถเก็บอย่างรวดเร็วหรือทำได้คราวเดียวทีละมากๆ ได้

“เดิมที ชาวม้งอาศัยอยู่บนที่สูงในประเทศจีนทางตอนใต้ แต่เมื่อเกิดสงครามจึงอพยพมาที่ไทย ที่เวียดนาม เข้าใจว่าการปลูกฝิ่นของคนม้งน่าจะเริ่มเป็นล่ำเป็นสันขึ้นช่วงที่มีหลังสงครามค้าฝิ่น และเป็นกิจกรรมที่ต้องการแรงงานคนสูง คนม้งจึงสร้างครอบครัวใหญ่ได้” ยุกติกล่าว

“ขณะเดียวกัน เราก็จะพบว่าคนกะเหรี่ยงซึ่งใช้ชีวิตบนที่สูงเหมือนกันไม่ค่อยมีวัฒนธรรมนี้ เนื่องจากต้องย้ายถิ่นฐานบ่อยๆ ทำให้ไม่สามารถสร้างครอบครัวที่มีสมาชิกหลายคนได้ ส่วนคนม้งที่ต้องใช้แรงงานคนเพื่อเก็บฝิ่น อาจทำให้เกิดวัฒนธรรมการฉุดเพื่อสร้างครอบครัวได้” ยุกติกล่าว

ยุกติเล่าว่า ช่วงที่เขาใช้ชีวิตอยู่ที่เวียดนามนั้น ภาพที่เขาพบได้บ่อยๆ คือภาพที่ผู้หญิงชาวม้งลากผู้ชายที่กำลังเมากลับบ้าน หรือภาพผู้หญิงจับจ่ายซื้อของขณะที่ผู้ชายดื่มเหล้า และย้ำว่าบทบาทของผู้หญิงกับผู้ชายในสังคมม้งนั้นยังเป็นสิ่งที่เราต่างต้องศึกษากันอีกมาก เรื่องจากเราแทบไม่รู้จักคนม้งเลย “หรือในสังคมม้ง เราอาจพบว่าผู้หญิงเป็นฝ่ายแต่งออก หรือแต่งแล้วต้องไปอยู่บ้านฝ่ายชาย ขณะที่สังคมไทย ถ้าไม่ได้เป็นสังคมเมืองหรือราชสำนัก ผู้ชายก็ต้องเป็นฝ่ายแต่งเข้า ทั้งหมดนี้อาจมองได้ว่าเป็นเรื่องของการจัดการแรงงานหลังแต่งงาน การฉุดคือการเพิ่มแรงงานในบ้านเพื่อไปช่วยกันทำงาน” ยุกติกล่าว

“ขณะที่เราอยู่ในสังคมไทย เราอาจมีมุมมองต่อประเด็นที่เกิดขึ้นในหนังอีกแบบว่าเป็นหนังที่ตีแผ่การกดขี่ ขูดรีดผู้หญิง กระนั้น ก็อยากชวนมามองมุมอื่นเพื่อทำความเข้าใจหนังมากขึ้น” ยุกติกล่าว และยังชี้ให้เห็นว่า กระบวนการต่อรองเรื่องความสัมพันธ์นั้นซับซ้อนมาก หากพินิจดูในสารคดีแล้วจะพบว่า คนม้งมีอิสระในการตัดสินใจต่อประเด็นนี้พอสมควร อันจะเห็นได้จากการที่ซับเจ็กต์อย่างดี้หายไปจากกล้องและตัวเรื่องอยู่พักหนึ่ง โดยที่พ่อแม่ของเธอก็ปล่อยให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ลูกสาวต้องตัดสินใจเอง

“คำถามคือความเป็นเด็กของคนม้งคืออะไร การเติบโตของเด็กคืออะไร” ยุกติชวนตั้งคำถาม “เนื่องจากจะเห็นได้ว่า ภายหลังนั้นทางโรงเรียนก็เข้ามาแทรกแซงการตัดสินใจนี้ของตัวซับเจ็กต์ด้วย”

ในสารคดี เราจะพบว่าคุณครูเป็นคนเวียดนาม ไม่ใช่คนม้ง และพูดกันคนละภาษา (มีอยู่ฉากหนึ่งที่คุณครูถามครอบครัวของดี้ว่า “พูดภาษาเวียดนามได้ไหม” และอีกฝ่ายตอบว่า “พอได้”) นับตั้งแต่ต้นเรื่อง หนังบันทึกฟุตเตจที่คุณครูถามนักเรียนเรื่องการปลูกฝิ่นว่าบ้านใครปลูกฝิ่นอยู่บ้าง และนักเรียนชายคนหนึ่งไม่ยอมยกมือ

“ผมนึกถึงครูในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ถามเด็กนักเรียนในชั้นว่าบ้านใครมีอาวุธบ้าง และคิดว่ามันมีเซนส์เดียวกัน” ยุกติกล่าว “ในสารคดี ครูอาจไม่ได้ตั้งใจถามเช่นนั้นก็เป็นได้ แต่ก็มีโอกาสที่ครอบครัวม้งจะทำผิดกฎหมายด้วยการปลูกฝิ่นเหมือนกัน และนี่เองที่เราจะเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างคนเวียดนามและคนม้งมีความตึงเครียดระหว่างกันอยู่

“กระนั้น ก็ต้องบอกว่าสิทธิที่รัฐบาลเวียดนามให้แก่คนม้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนม้งในภาคเหนือซึ่งปรากฏในเรื่องนั้น ดีกว่าที่รัฐบาลไทยให้คนม้งในไทยเสียอีก โดยคนม้งได้รับสวัสดิการและความช่วยเหลือต่างๆ จากรัฐบาลเวียดนาม ระยะหลังจะเห็นว่า ถนนสายที่ขึ้นไปยังพื้นที่สูงในเวียดนามนั้นได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นมาก เพื่อที่อำนาจรัฐจะเข้าไปถึงได้”

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในนามของโรงเรียนกับคนม้งนั้นยังปรากฏอยู่ในฉากที่คุณครูคนหนึ่งไล่ถามเหตุผลที่เด็กขาดเรียน -ซึ่งส่วนใหญ่เด็กขาดเรียนเพราะไปช่วยพ่อแม่ทำไร่นาหรือเลี้ยงสัตว์- เป็นอีกแง่มุมที่ยุกติชวนขบคิดต่อว่า “อย่างไรก็ตาม ครูคือตัวแทนของรัฐ เราจะเห็นแง่มุมนี้ผ่านการที่แม่ของดี้สอนลูกว่าต้องเจรจากับฝ่ายชายอย่างไร โดยแม่เด็กสอนว่า ‘อย่าไปฟังพวกครู พวกนั้นอยากให้เราเรียนหนังสือ ไม่ได้มาสนใจอนาคตของพวกเราหรอก’ และเป็นคำที่ต้องจดไว้เลยเพราะถือเป็นการชกรัฐกลับไป เหมือนว่าคนม้งเขาก็อยู่ของเขาแบบนี้มานานแล้ว” ยุกติว่า “หรือฉากที่ครูถามเหตุผลว่าใครขาดเรียนแล้วตัดสินว่า เหตุผลใดบ้างที่รับได้ เหตุผลใดบ้างที่รับไม่ได้โดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง

ยุกติยังชี้ให้เห็นว่า การที่บุคลากรจากโรงเรียนเข้ามาเป็น ‘ทำหน้าที่’ เรื่องการแต่งงานของดี้่และเด็กชายด้วยการพยายามโน้มน้าวให้เธอไม่แต่งและเรียนหนังสือให้จบ ทั้งยังย้ำว่าตามกฎหมายแล้วหากดี้แต่งงานในวัยนี้จะเท่ากับว่าเธอทำผิดกฎหมายและจะไม่ได้เรียนต่อ “รัฐต้องการให้ประชาชนพูดภาษาเวียดนามให้ได้ ประชากรม้งในเวียดนามมีเยอะมากซึ่งรัฐเห็นว่าเป็นปัญหา ดังนั้น รัฐจึงต้องพยายามทำให้คนม้งเข้าเรียนในระบบการศึกษาให้ได้มากที่สุด” ยุกติกล่าวปิดท้าย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save