fbpx
'กลุ่มลูกเหรียง' เมล็ดพันธุ์งอกงามท่ามกลางไฟใต้

‘กลุ่มลูกเหรียง’ เมล็ดพันธุ์งอกงามท่ามกลางไฟใต้

วันดี สันติวุฒิเมธี เรื่อง

กลุ่มลูกเหรียง ภาพ

อาจกล่าวได้ว่าไฟความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดำเนินมายาวนานหลายสิบปี ได้สร้างบาดแผลฝังลึกอยู่ในหัวใจของผู้คนในพื้นที่จนยากจะลืมเลือน โดยเฉพาะหัวใจของเด็กกำพร้ามากกว่าหกพันคน ที่ต้องพลัดพรากจากบุพการีไปอย่างไม่มีวันหวนคืนความอบอุ่นได้อีกต่อไป

เด็กส่วนใหญ่เหลือเพียงแม่ที่ต้องหาเลี้ยงลูกๆ อีกหลายชีวิตเพียงลำพัง เมื่อภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง รายได้ไม่พอเลี้ยงลูกทุกคน พี่คนโตจึงมักต้องเสียสละออกจากโรงเรียนกลางคันเพื่อช่วยแม่เลี้ยงน้องและทำงานหาเงินจุนเจือครอบครัว เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เด็กหลายคนมีโอกาสก้าวสู่เส้นทางที่พลาดพลั้งได้ง่ายขึ้นเพราะขาดผู้นำครอบครัวชี้ทางเดินที่ถูก และขาดโอกาสทางการศึกษาที่จะนำทางไปสู่ความฝันที่สวยงาม

จากสถานการณ์ดังกล่าว วรรณกนก เปาะอีแตดาโอะ หรือ ‘ชมพู่’ หญิงสาวผู้เผชิญกับความสูญเสียสมาชิกในครอบครัวไปถึงสี่คน จึงเริ่มหาทางช่วยเยียวยาหัวใจของเด็กกำพร้าเหล่านี้ ด้วยการก่อตั้ง ‘สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้’ หรือ ‘กลุ่มลูกเหรียง’ ที่จังหวัดยะลาเมื่อสิบหกปีก่อน มีเป้าหมายเพื่อจัดหาทุนการศึกษาให้กับเด็กกำพร้าในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจัดกิจกรรมเพื่อเยียวยาเยาวชนให้ก้าวข้ามความเจ็บปวด สู่ชีวิตใหม่ที่มีความหวังมากขึ้น

ปัจจุบันกลุ่มลูกเหรียงเริ่มเป็นที่รู้จักในสังคมภายนอกมากยิ่งขึ้น เด็กๆ หลายคนสามารถก้าวข้ามความสูญเสียครั้งใหญ่จาก ‘เด็กกำพร้า’ สู่ ‘ผู้นำเยาวชน’ ที่น่าภาคภูมิใจ หลายคนเรียนจบมีงานทำที่ดีในสังคม และยังส่งเงินทุนการศึกษากลับมาช่วยสานต่อความฝันให้เยาวชนลูกเหรียงรุ่นต่อไปด้วยความเต็มใจ

บนเส้นทางแห่งการเติบโตของเมล็ดพันธุ์ลูกเหรียงท่ามกลางไฟใต้ที่ยังไม่สงบ พวกเขาก้าวข้ามความเจ็บปวดสูญเสียสู่ความเข้มแข็งได้อย่างไร เรากำลังจะพาคุณไปค้นหาคำตอบด้วยกัน

สร้างครอบครัวลูกเหรียง

สร้างครอบครัวลูกเหรียง

ชมพู่ หรือ ‘คุณแม่’ ของเด็กๆ บ้านลูกเหรียง กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการก่อร่างสร้างครอบครัวลูกเหรียงเมื่อสิบหกปีที่แล้วให้ฟังว่า

“ตอนแรกแค่คิดว่าอยากช่วยคนที่ชีวิตเขายากลำบากกว่าเรา รู้สึกว่าตัวเองมีศักยภาพที่ช่วยเด็กคนอื่นได้ จึงลองจัดกิจกรรมพาเยาวชนผู้สูญเสียมาเจอกันเพื่อแลกเปลี่ยน แบ่งเบาความทุกข์ ไม่ให้เขารู้สึกโดดเดี่ยว และจับมือกันก้าวข้ามความสูญเสียไปด้วยกัน”

หลังจากการเริ่มต้นครั้งแรกผ่านไปอย่างน่าประทับใจ ชมพู่จึงเริ่มมองเห็นหนทางเยียวยาความรู้สึกเยาวชนผู้สูญเสีย ให้มีความหวังในชีวิตมากขึ้น เธอเริ่มนำทรัพย์สินส่วนตัวทั้งมอเตอร์ไซค์ คอมพิวเตอร์ ไปจำนำเพื่อหาเงินมาทำกิจกรรมกับเด็กๆ ขนข้าวสารอาหารแห้งมาจากบ้านตนเอง แล้วสร้างครอบครัวลูกเหรียงขึ้นในบ้านเช่าหลังเล็ก

ความสุขจากการแบ่งปันความทุกข์ร่วมกัน ทำให้ครอบครัวลูกเหรียงเติบโตมากขึ้นจนเป็นครอบครัวใหญ่ จากหนึ่งเป็นสองสามสี่ จนถึงวันนี้เมล็ดพันธุ์ลูกเหรียงมีสมาชิกที่ได้รับทุนการศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ จากปีแรกๆ เพียง 80 คน เพิ่มขึ้นเป็น 174 คนในปีที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ทำงานรวม 11 คน

แม้ว่าจำนวนทุนการศึกษาในแต่ละปีจะมีจำนวนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับเด็กที่รอความช่วยเหลือมากกว่าหกพันคน แต่เงินทุนจำนวนนี้ก็ได้ทำให้ปีกความฝันของเด็กหลายคนที่เคยหักลงเพราะขาดผู้นำครอบครัว ได้กลับมาโบยบินได้อีกครั้ง

เอฟ (นามสมมติ) หนึ่งในเยาวชน 16 คนที่ได้รับทุนจากกลุ่มลูกเหรียงรุ่นแรกตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยปีหนึ่งจนจบปีสี่ ปัจจุบันอายุ 27 ปี ได้ทำงานด้านไอทีตามที่ฝันไว้ เล่าย้อนถึงชีวิตที่เกือบเดินผิดทางหลังจากสูญเสียพ่อไปอย่างกระทันหันให้ฟังว่า

“ผมสูญเสียพ่อตอนเรียนอยู่ชั้น ม.1 ผมเป็นลูกคนโต มีพี่น้องสี่คน ตอนนั้นน้องคนสุดท้องเพิ่งอายุได้ 14 วันเท่านั้น หลังพ่อเสีย แม่ต้องดูแลลูกๆ คนเดียว ชีวิตตกต่ำมาก คนในชุมชนก็ไม่อยากคบ เพราะเขามองว่าพ่อเป็นคนสร้างความเดือดร้อนให้ชุมชน ช่วงเป็นวัยรุ่นชีวิตผมก็เหลวแหลกเหมือนกัน เวลาเห็นบ้านคนอื่นที่มีทั้งพ่อและแม่ ลูกอยากได้อะไรก็ได้ แต่เรามีแม่คนเดียวแล้วมีน้องอีกสามคน อยากได้อะไรก็ต้องรอนานมาก ผมเลยเกเร หนีเรียน แต่หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมค่ายเยาวชนลูกเหรียงครั้งแรกตอนอยู่ ม.5 ทำให้รู้ว่าไม่ใช่เราคนเดียวที่เสียพ่อไป คนอื่นร้ายแรงกว่าเราอีก ผมเข้มแข็งมากขึ้น เก็บความสูญเสียไว้เป็นอดีต และมีความหวังในชีวิตมากขึ้น”

เมื่อทุนการศึกษามีน้อย แต่เด็กกำพร้ามีเยอะ การตัดสินใจให้ทุนจึงต้องมีเกณฑ์การพิจารณาหลายอย่าง เพื่อให้ความช่วยเหลือเข้าถึงเด็กที่จำเป็นต้องได้รับทุนมากที่สุด ชมพู่อธิบายถึงขั้นตอนการให้ทุนว่า

“เราต้องดูว่ามีผู้ให้ทุนปีนั้นกี่ทุน เด็กบางคนถึงไม่มีคนให้ทุน เราก็ต้องหาทุนจากทางอื่นมาช่วยให้ได้เพราะเขาไม่มีที่ไปจริงๆ เช่น บางคนอยู่กับปู่ย่าตายาย เสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถ้าเด็กอยู่ที่เราจะปลอดภัยกว่า เราก็รับมาดูแล แต่ตอนนี้พยายามจะไม่รับเพิ่มแล้ว เพราะเราไม่ใช่สถานสงเคราะห์ เด็กที่อยู่ที่นี่ต้องเป็นเด็กที่เราดูแลได้เท่านั้น”

ปัจจุบันบ้านลูกเหรียงมีเด็กๆ อยู่ในบ้านจำนวน 16 คน ตั้งแต่ ป.5 จนถึงปริญญาตรี ส่วนเด็กที่อยู่กับครอบครัวแต่ได้รับทุนจากลูกเหรียงรวมทั้งหมด 174 คน ชมพู่เล่าถึงขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือเด็กๆ หลังเกิดความสูญเสียว่า

“ก่อนพิจารณาให้ทุนเด็กคนไหน เราต้องไปประเมินดูสภาพครอบครัวก่อน บางบ้านเราดูว่าไม่รอดจริงๆ ก็ต้องช่วย เราก็ให้เอาชื่อเด็กมาเข้าคิวรอ แล้วค่อยหาคนให้ทุน บางคนแม่ติดหนี้เยอะมาก ข้าวสารยังไม่พอกิน บางคนถึงขนาดเอาผ้าถุงผืนใหม่ที่ยังไม่ได้ใช้ไปจำนำก็มี  ถ้าบ้านไหนมีลูกหลายคน เราจะเลือกให้ทุนกับเด็กที่มีความพร้อมในการเรียนมากที่สุด โดยให้แม่เด็กเป็นคนตัดสินใจว่าลูกคนไหนเหมาะสมที่สุด ถ้าเด็กคนไหนมาอยู่กับเรา แล้วไม่ชอบเรียน เราจะบอกเด็กว่าถ้าไม่อยากเรียน เราก็ดูแลไม่ได้เหมือนกัน”

นอกจากหาทุนสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดีที่รับเป็นพ่อแม่อุปการะแล้ว สมาชิกบ้านลูกเหรียงทุกคนยังต้องช่วยกันทำงานหารายได้ด้วยเช่นกัน เพราะเงินทุนที่ได้รับไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายทั้งหมด

“สิ่งที่เราตั้งเป้ามาสี่ห้าปีแล้ว คือ ลูกเหรียงเป็นบ้านที่สร้างผู้นำ เด็กต้องหาเงินเองเป็นด้วย ไม่ใช่รอแต่ทุน เราได้รับเสื้อผ้ามือสองเยอะมาก อันไหนขายได้ก็เอาไปขายมือสองในตลาด เด็กทุกคนจะมีเสื้อผ้ากองของตัวเอง ขายได้ก็เอามาหารกัน แบ่งเข้ากองกลาง 5 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้เด็กรู้ว่าเงินหายาก ชีวิตที่นี่ไม่ได้สุขสบายนัก”

นอกจากดูแลด้านการหาเงินทุนให้เด็กๆ ในบ้านลูกเหรียงแล้ว เมื่อ ‘ลูก’ มีปัญหาที่โรงเรียน ‘แม่ชมพู่’ ก็ต้องหาทางช่วยแก้ปัญหาเหมือนเป็นแม่คนที่สองด้วยเช่นกัน ทุกๆ วันเด็กๆ จะต้องเขียนบันทึกบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่พบเจอให้เธออ่าน เมื่อพบปัญหาไม่สบายใจเธอจะได้รีบเข้าไปช่วยแก้ไขทันเวลา

“เด็กบางคนเขียนว่า หนูตัวอ้วนดำ เวลามีงานเดินพาเหรด ครูจะชอบให้แต่งตัวเป็นนางพันธุรัตน์ตลอด เด็กบอกว่า หนูไม่ชอบ เพราะถูกเพื่อนล้อเป็นตัวตลกตลอด เราก็ต้องทำงานกับวิธีคิดของครู เราบอกกับเด็กว่า หนูมีสิทธิ์เลือกนะ ถ้าหนูไม่กล้าคุย เดี๋ยวแม่คุยเอง”

จากความรักและเอาใจใส่ของแม่ชมพู่ราวกับแม่บังเกิดเกล้า เด็กๆ ที่ได้รับทุนจนเรียนจบไปจากครอบครัวลูกเหรียง จึงยังแวะเวียนกลับมาหา ‘คุณแม่’ ของพวกเขาเสมอเมื่อมีโอกาส เอฟเป็นหนึ่งในเด็กทุนรุ่นแรกที่เรียนจบและย้ายไปทำงานกรุงเทพฯ ถ่ายทอดความผูกพันที่มีต่อครอบครัวลูกเหรียงว่า

“แม่ชมพู่เป็นทั้งพี่สาวและแม่ ผมรักเหมือนแม่คนหนึ่ง แม่ชมพู่จะดุเพราะรักเรา เช่น สอนให้รู้ว่าการปฏิบัติตัวต่อหน้าผู้ใหญ่ต้องทำแบบไหน กลางคืนอย่ากลับดึก ดุปุ๊บแล้วก็หาย แล้วก็จะพูดดี ไม่เคยลงไม้ลงมือกับเด็กๆ เลยสักครั้งเดียว”

ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าคนภายนอกจะมองว่ากลุ่มลูกเหรียงชอบสร้างภาพหรือสร้างกระแสให้ดาราพากันมาช่วยเหลือมากมาย แต่ในสายตาสมาชิกครอบครัวลูกเหรียงแล้ว พวกเขารู้ดีว่า พวกเขาผ่านความยากลำบากมาด้วยกันมากมายเพียงใด และหากไม่มีบ้านหลังนี้ ชีวิตของพวกเขาอาจไม่ได้เดินมาไกลจนถึงฝั่งฝันในวันนี้ก็เป็นได้

“เรื่องที่มีคนโจมตีว่ากลุ่มลูกเหรียงสร้างภาพ ผมรู้สึกเฉยๆ เพราะเรารู้ว่าลูกเหรียงเป็นยังไง เรากินนอนอยู่ตรงนั้น บางคนอยากได้ทุนแต่ไม่ได้เพราะลูกของเขาติดยา ก็ไปพูดกับคนข้างนอก ด่าว่าเราเสียๆ หายๆ แต่จริงๆ แล้วคนที่ว่าเรา เขาก็ไม่เคยช่วยเหลือเรา ถ้าผมไม่ได้ทุนของลูกเหรียง ชีวิตของผมก็คงไม่มีวันนี้”

จาก ‘ทุนเรียนเก่ง’ สู่ ‘ทุนฝันไกล’

เด็กกำพร้า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

หากเราเชื่อว่าเด็กทุกคนมีความใฝ่ฝันอยากทำงานในอาชีพที่ตนเองรัก เด็กกำพร้าที่สูญเสียพ่อแม่ในเหตุการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คงไม่ต่างกัน พวกเขามีความฝัน แต่ความฝันนั้นต้องริบหรี่ลงหลังจากสูญเสียผู้นำครอบครัว

เด็กบางคนอาจเรียนหนังสือวิชาการไม่เก่ง แต่มีความถนัดในอาชีพอื่นๆ ที่ไม่ต้องใช้ความรู้วิชาการนำทาง เกณฑ์การให้ทุนเด็กเรียนเก่งจึงอาจสกัดกั้นความใฝ่ฝันของเด็กกลุ่มหนึ่งไม่ให้ไปไกลถึงฝั่งฝัน ทางกลุ่มลูกเหรียงจึงเปลี่ยนแนวทางใหม่ในการให้ทุนการศึกษา จาก ‘ทุนเรียนเก่ง’ สู่ ‘ทุนฝันไกล’ ทำให้บาดแผลในอดีตจางหายไปเร็วขึ้น เพราะมีความฝันใหม่อันเจิดจรัสมาทดแทน

“ในกระบวนการเยียวยา คนส่วนใหญ่มักนึกถึงกระบวนการแนวจิตวิญญาณที่ดูยากๆ แต่สำหรับเด็กๆ และชาวบ้านแล้ว เขาต้องการความสุขแบบธรรมดา เราพบว่าเด็กที่มีบาดแผลไม่ใช่ทุกคนที่เรียนหนังสือเก่ง เราจึงเปลี่ยนวิธีการให้ทุน หันมาคุยเรื่องความสุข ความฝัน เขาไม่ได้มีเป้าหมายอยู่ที่การเรียนปริญญาตรีอย่างเดียว บางคนอยากเย็บผ้า บางคนอยากเป็นช่าง ไม่มุ่งเน้นใบปริญญา เพราะถึงเรียนจบปริญญาก็อาจไม่มีงานทำ แต่การเรียนสายอาชีพจะช่วยครอบครัวได้มากกว่า เราพบว่าการให้ทุนรูปแบบนี้ทำให้เด็กเรียนในสิ่งที่รักได้ดีและมีความสุขมากขึ้น”

สิ่งที่ยืนยันความสุขของเด็กๆ ที่ได้รับทุนตามความฝัน คือ จดหมายเขียนหาผู้ให้ทุนที่มีเรื่องราวอยากบอกเล่ามากกว่าเดิม จากที่เคยเขียนเป็นรูปแบบตายตัวเพราะไม่รู้จะเล่าเรื่องอะไร ก็เขียนเล่าเรื่องราวความสุขของตนเองเวลาได้เรียนสายอาชีพที่ตนใฝ่ฝัน

“เมื่อก่อนเด็กจะเขียนจดหมายเหมือนกันทุกครั้งว่า “สวัสดีค่ะ สบายดีไหมคะ” แต่ตอนนี้เด็กเริ่มเขียนเล่าเรื่องตัวเองว่า ตอนนี้หนูไปเรียนทำขนม หนูมีความสุขยังไงบ้าง เพราะเรายอมรับความเป็นเขา ถ้าเราห่วงเขาจริง เราต้องให้เขาเป็นตัวเขา คนเราไม่ได้เรียนเก่งหรือเป็นเด็กอัจฉริยะเหมือนกันหมด เด็กทุกคนมีความฝันแตกต่างกัน”

ภัทร เด็กหนุ่มวัยอายุ 19 ปี เป็นหนึ่งในสมาชิกที่อาศัยอยู่ในบ้านลูกเหรียง และได้ทุนเรียนสายอาชีพทางด้าน ‘Food designer’ หรือนักออกแบบอาหาร เล่าถึงความสุขจากการได้เรียนสิ่งที่รักว่า

“ผมมีพี่น้องแปดคน ผมเป็นคนที่สี่ ตอนพ่อเสีย ผมอยู่ชั้นอนุบาลสอง ส่วนน้องคนเล็กอายุแค่ 4 เดือนเท่านั้น ผมตั้งความหวังชีวิตเอาไว้สูงมาก อยากเป็นดีไซเนอร์ แต่พอเข้า ม.ปลาย แม่ก็อยากให้เลิกเรียนเพราะต้องช่วยหาเงินส่งน้องเรียนแทน พี่คนที่สองก็ออกจากโรงเรียนไปทำงานช่วยแม่สองปี แล้วก็ค่อยกลับมาเรียนต่อ ผมดีใจมากที่ได้ทุนลูกเหรียง เหมือนเป็นอีกชีวิตหนึ่งเลย บุญคุณนี้เราไม่มีวันตอบแทนได้หมดแน่นอน เหมือนเราถูกฉุดขึ้นมาจากดิน

“เรามาอยู่ที่นี่ได้เป็นตัวแทนทำกิจกรรมหลายอย่าง ภูมิใจในตัวเองมากขึ้น พอเราเข้มแข็งมากขึ้น เวลาเจอปัญหาของน้องๆ ที่เข้ามาใหม่ ปัญหาของเราก็เบาลง เพราะเราต้องคอยเป็นกำลังใจให้น้องใหม่แทน ลูกเหรียงเปรียบเหมือนครอบครัว ถ้าตัวเองมีอาชีพมั่นคงพอ อยากส่งทุนการศึกษาให้เด็กรุ่นต่อไปเหมือนที่ตนเองเคยได้รับทุนมาบ้าง ผมจะต้องทำให้สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ให้ได้”

โครงการ เด็นทุนลูกเหรียง

โครงการ เด็นทุนลูกเหรียง

ปัจจุบันเงินทุนสำหรับค่าใช้จ่ายในการเรียนของเด็ก แบ่งออกเป็นระดับประถม ระดับมัธยม และระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งแต่ละระดับจะมีค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน เด็กจะได้รับทุนสำหรับค่าใช้จ่ายช่วงโรงเรียนเปิดเทอมเพียงแค่ 10 เดือนจาก 12 เดือน ดังนั้น ช่วงปิดเทอมเด็กๆ จะต้องทำงานหาเงินด้วยตนเอง ทางกลุ่มลูกเหรียงจึงต้องจัดกิจกรรมระดมทุนโดยให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบ

“เราแบ่งเงินทุนออกเป็นสามก้อน และนัดเจอเด็กทุกสามเดือน ให้เด็กเขียนรายการค่าใช้จ่ายมาส่ง เพราะเราอยากให้เด็กได้ทบทวนวิธีการใช้เงินของตนเอง เช่น ซื้อยางลบห้าบาท ก็ต้องลงบันทึกไว้ เราจะให้เด็กที่อาศัยอยู่ในบ้านลูกเหรียงหนึ่งคน ทำหน้าที่ตรวจค่าใช้จ่ายน้องๆ สิบคนว่าใช้จ่ายเรื่องอะไร ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเพราะเงินที่เด็กได้รับก็ไม่เยอะมาก แค่เป็นค่าขนมในแต่ละวันเท่านั้น

“เวลาเด็กเขียนมาว่าสิ่งที่หนูไม่ชอบที่สุดในเดือนนี้คืออะไร เด็กจะเขียนว่าหนูไม่ชอบให้มีการแสดง เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นพวกค่าชุดหรืออุปกรณ์ ถ้าเด็กต้องจ่าย 50 บาท ค่าขนมก็ของเขาวันนั้นก็หายไปแล้ว เราจะให้เด็กเขียนจดหมายถึงผู้ให้ทุนทุกสามเดือน เพื่อแสดงความโปร่งใสระหว่างเรากับผู้ให้ทุนเด็กด้วย”

หลังจากเด็กเรียนจบมีงานทำแล้ว กลุ่มลูกเหรียงได้ตั้งเกณฑ์การคืนทุนเพื่อส่งมอบโอกาสให้น้องๆ รุ่นต่อไป ด้วยการคืนทุนจาก 5 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนเป็นเวลาสามปี ปัจจุบันมีเด็กที่เรียนจบแล้ว 16 คน บางคนให้คืนมากกว่าที่ทางลูกเหรียงตั้งเกณฑ์ไว้ เพราะภูมิใจที่ได้ส่งคืนโอกาสให้คนรุ่นต่อไปเหมือนที่ตนเองเคยได้รับมา ชมพู่เล่าถึง ‘ลูกๆ’ ด้วยความปลื้มใจว่า

“บางคนให้เป็นก้อนเลย ได้โบนัสมาปุ๊บก็ส่งเงินมาให้เลย และให้มากกว่าที่เราร้องขออีก ตอนไปงานเด็กรับปริญญา น้ำตาไหลตลอดเวลาเพราะเรารักเหมือนลูกเราจริงๆ”

เอฟเป็นหนึ่งในเด็กทุนรุ่นแรกที่เรียนจบ และปัจจุบันยังคงส่งเงินเดือนกลับคืนให้กลุ่มลูกเหรียงด้วยความเต็มใจ

“ผมภูมิใจที่ได้จ่ายเงินคืนเพื่อเป็นทุนให้น้องๆ รุ่นต่อไป เพราะถ้าเราไม่ได้เงินทุนจากลูกเหรียง เราก็คงไม่มีโอกาสแบบวันนี้ แม่ชมพู่เป็นเหมือนแม่ น้องๆ ก็เหมือนพี่น้องกัน ตอนเช้าตื่นมาทำกับข้าวกินด้วยกัน ตอนเย็นก็ทำกับข้าวรอน้อง กลับมาก็เฮฮากัน เหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน”

ตลอดระยะเวลา 16 ที่สมาชิกครอบครัวลูกเหรียงดูแลกันด้วยความรักและความเข้าใจ ได้พิสูจน์ให้เราเห็นว่า พวกเขาพร้อมจะจับมือกันก้าวข้ามทะเลแห่งความทุกข์ไปด้วยกัน เมื่อรุ่นพี่โบยบินตามความฝันไปจนถึงขอบฟ้าไกลแล้ว พวกเขาก็ยังไม่ลืมย้อนกลับมาส่งมอบความฝันให้กับเยาวชนรุ่นต่อไปด้วยความเต็มใจ เพราะรู้ดีว่า ‘ทุนสานฝัน’ จะช่วยเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของเด็กกำพร้าที่เคยพบความสูญเสียครั้งใหญ่ ให้ก้าวเดินต่อไปอย่างเข้มแข็งและมีความหวังในชีวิตมากขึ้นอีกครั้ง

 

โครงการ เด็นทุนลูกเหรียง

พลิกมุมความเศร้าสู่ความสุข

ท่ามกลางความสมบูรณ์พร้อมของเด็กเมืองกรุง ความทุกข์เล็กๆ เท่าเม็ดสิวอาจถูกขยายใหญ่โตจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ง่าย แต่สำหรับเด็กๆ บ้านลูกเหรียงแล้ว คงไม่มีความทุกข์ไหนยิ่งใหญ่ไปกว่าการสูญเสียพ่อหรือแม่อันเป็นที่รักในวัยเยาว์ เมื่อพวกเขาสามารถก้าวข้ามลำธารแห่งน้ำตามาได้แล้ว ความทุกข์ใดๆ ที่ผ่านเข้ามาจึงกลายเป็นเรื่องเล็กยิ่งกว่าเม็ดทราย

ภารกิจสำคัญของกลุ่มลูกเหรียงตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา คือการสนับสนุน ‘ความเป็นผู้นำ’ ให้กับเยาวชนที่เคยเผชิญความสูญเสีย ได้ก้าวข้ามความทุกข์อย่างเข้มแข็ง และสามารถยืนบอกเล่าเรื่องราวของตนเองสู่โลกภายนอกด้วยความภาคภูมิใจ หนึ่งในกิจกรรมของกลุ่มลูกเหรียงคือการพาเด็กๆ เดินทางไปแลกเปลี่ยนกับเยาวชนในพื้นที่อื่นๆ เพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน

ชมพู่เล่าถึงการพาเด็กๆ ลูกเหรียงเดินทางจากภาคใต้มาร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนกับเด็กโรงเรียนอินเตอร์ฯ ในเมืองกรุงว่า มุมมองต่อความทุกข์ของเด็กทั้งสองกลุ่มแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

“เราให้เด็กๆ เขียนกราฟชีวิตตนเอง ถ้าเหตุการณ์ที่ทำให้เศร้ากราฟจะตกลง ส่วนเหตุการณ์ที่ทำให้มีความสุขกราฟจะขึ้น ปรากฏว่าเด็กของเรามีกราฟตกลงครั้งเดียวคือตอนพ่อแม่เสียชีวิต หลังจากนั้นก็ขึ้นตลอด ส่วนเด็กเมืองกรุงกราฟตกลงตลอดเวลา พอล้อมวงคุยกัน เราก็ให้เด็กเมืองกรุงเล่าก่อนว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้กราฟตกลง บางคนก็บอกว่า เครียดเรื่องเพื่อนไม่คุยด้วย เครียดเรื่องสิวขึ้น เครียดเรื่องเรียนไม่ดีจนคิดจะฆ่าตัวตายก็มี

“พอมาถึงเด็กของเราเล่าบ้าง เหตุผลที่กราฟตกลงเพราะพ่อแม่ตายจากเหตุการณ์ความไม่สงบ หลังจากนั้นชีวิตที่เหลือกราฟเริ่่มขึ้นตลอด เพราะไปโรงเรียนสอบก็ได้คะแนนดี เจอเพื่อนมีความสุข กราฟชีวิตมีเป้าหมายชัดเจน เด็กจากเมืองกรุงได้ฟังก็อึ้งเลย เขาเริ่มมองเห็นว่าทำไมพวกเขาถึงมีชีวิตเศร้าง่ายจัง ขนาดเด็กลูกเหรียงเจอเรื่องหนักกว่ายังมีความสุขเลย เด็กที่ได้ฟังก็เปลี่ยนความคิดเรื่องความเศร้าของตนเองไปเลย

“ก่อนไปเจอเด็กอินเตอร์ เด็กๆ ลูกเหรียงกลัวคุยภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่หลังจากกลับมา เราคุยกับเด็กๆ ได้ข้อสรุปว่า การที่เรามีโจทย์ชีวิตที่ยากกว่าเด็กในเมืองทำให้เรามีภูมิคุ้มกันที่ดีกว่า เวลาเจอเรื่องเศร้าเล็กๆ น้อยๆ เราจะตั้งรับได้ดีกว่า เราพบว่าเด็กทุกคนมีความเปราะบางในแต่ละเรื่องแตกต่างกัน สำหรับเด็กลูกเหรียงถ้าก้าวข้ามความสูญเสียครั้งใหญ่ไปได้ เรื่องอื่นๆ ที่ผ่านเข้ามาก็จะกลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย พอกลับมา เด็กเราบอกว่า ชีวิตกรุงเทพฯ น่ากลัวกว่าที่ยะลาอีก รถก็เยอะ คนไม่ทักทายกัน”

มุสลิม ภาคใต้ สามจังหวัดชายแดนถาคใต้

ชมพู่สรุปสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ว่า ปัจจุบันความสูญเสียชีวิตเริ่มลดน้อยลง แต่ความรุนแรงระหว่างมนุษย์เพิ่มมากขึ้น เพราะคนใช้ความรุนแรงจนชิน โดยเฉพาะการใช้คำพูดที่ทำให้คนเกลียดกันง่ายมาก

“เราเห็นความรุนแรงในเด็กที่เราให้ทุนซ่อนอยู่หลายแบบ มนุษย์มีทั้งดีและร้าย เด็กเราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เด็กบางคนใสมาก เด็กบางคนใครแรงมาแรงกลับ เราจัดค่ายเยียวยาเด็กปีละสามครั้ง เด็กบางคนตอนแรกเราเห็นว่ารอดแล้ว เพราะยิ้มแย้มแจ่มใสกับทุกคน แต่ปรากฏว่าพอขึ้น ม.1 เด็กกินน้ำยาซักผ้าขาวไฮเตอร์ฆ่าตัวตาย เพราะเป็นโรคซึมเศร้า เขาเก็บกดด้วยการแสดงอารมณ์ร่าเริงออกมาปกปิด เด็กกลุ่มนี้ถ้ามีความรักจะอารมณ์รุนแรงมาก เพราะความรุนแรงที่เขาได้รับทำให้หัวใจเขาบอบบางมาก เขาขาดพ่อหรือแม่ที่คอยรองรับความรู้สึกของเขา ลึกๆ แล้วคนเราก็ยังต้องการใครสักที่พึ่งพิงได้”

ไม่เพียงหัวใจของเด็กที่บอบบาง หัวใจของเจ้าหน้าที่ก็อ่อนแอลงเรื่อยๆ หลังจากแบกรับความเจ็บปวดของเด็กๆ เอาไว้มากมาย จนหลายคนกลายเป็นโรคซึมเศร้าและส่งผลกระเพื่อมไปถึงครอบครัวเช่นกัน

“อย่าว่าแต่เด็กเลย เจ้าหน้าที่เองก็เจอเยอะ เวลาฟังเด็กเล่าแต่ความทุกข์ บางคนนอนไม่หลับเป็นเดือน ตอนหลังเราจึงเริ่มมีกระบวนการเยียวยาเจ้าหน้าที่ด้วย เพราะทุกคนก็มีเรื่องส่วนตัวต้องคิดเหมือนกัน พอมาฟังเรื่องเด็กอีกก็เลยทับถมจนเป็นโรคซึมเศร้า ตอนหลังเราจึงต้องเริ่มคุยกันทุกอาทิตย์ เพื่อให้พวกเราฝึกการฟังแล้ววาง อย่าเอากลับบ้าน”

เมื่อการพูดถึงความสูญเสียทำให้เด็กและเจ้าหน้าที่จมปลักอยู่กับความทุกข์ จนพัฒนาไปสู่โรคซึมเศร้า ชมพู่จึงเริ่มหาทางออกใหม่เพื่อให้ทุกคนก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมีความสุข

“สองสามปีมานี้เราเปลี่ยนแนวคิดในการเยียวยาเด็ก โดยเน้นการสร้างเด็กให้เป็นผู้นำ เราเรียนรู้ว่าการคุยเรื่องเดิมๆ ไม่ได้ทำให้คนก้าวข้ามความทุกข์ในอดีตไปได้ แต่พอเราเปลี่ยนเป็นคุยเรื่องเป้าหมายในอนาคต เราจะเห็นแววตาของเด็กเปล่งประกาย มีความฝัน มีความหวัง ไม่ใช่แค่เด็กนะ คนทำงานด้วย ตอนนี้ทุกปีใหม่เราจะให้เจ้าหน้าที่เขียนเป้าหมายที่อยากพัฒนาตนเอง งาน ครอบครัว แล้วพอถึงสิ้นปี เราจะมีทุนก้อนเล็กๆ ซึ่งเป็นทุนกองกลางลูกเหรียงให้เจ้าหน้าที่ไปทำตามความฝันของตนเอง เช่น คนนี้อยากเรียนเย็บผ้า เราให้หยุดไปเรียนเย็บผ้าเลย 15-20 วัน คนนี้อยากไปพัก ไปเที่ยวทะเล เราให้เงินไปเที่ยวเลย ช่วงสองปีมานี้เรามีโบนัสและให้วันหยุดห้าวัน ทุกคนดูมีความสุขมากขึ้นและมีกำลังใจการทำงานเพื่อเด็กๆ ต่อไป”

แม่ชมพู่ของเด็กๆ บ้านลูกเหรียงเล่าว่าเธอเองก็มีความฝันซ่อนอยู่ลึกๆ ที่ไม่เคยกล้าบอกใคร แต่เมื่อเธอกล้าบอกคนอื่นและลงมือทำตามความฝันนั้นแล้ว นอกจากเธอจะมีความสุขมากขึ้น ความสุขยังกระจายไปสู่เด็กๆ และแม่ๆ ของเยาวชนลูกเหรียงอย่างไม่คาดคิดมาก่อนด้วยเช่นกัน

“เราเพิ่งเริ่มทำตามความฝันของตนเองด้วยการไปเรียนแต่งหน้า และทำตัวเองให้ดูดีขึ้น เพราะเมื่อก่อนเราแคร์คำพูดคนอื่นมากไป พอเราแต่งหน้าจนดูดีขึ้น พ่อแม่และคนรอบข้างก็ชื่นชมและมีความสุขกับเราไปด้วย สิ่งที่ไม่คาดคิดคือ มีเด็กบางคนแอบเขียนจดหมายมาบอกว่า ‘หนูอยากสวยบ้าง’ และแม่ของเด็กบางคนก็อยากสวยด้วย เราเลยตัดสินใจขอรับบริจาคเครื่องสำอางมือสอง มีคนส่งมาให้เต็มเลย บรรยากาศระหว่างเรียนแต่งหน้าด้วยกัน ทุกคนหัวเราะมีความสุข หลังจากนั้นก็ถ่ายรูป เปลี่ยนโปรไฟล์ในไลน์หรือเฟสบุ๊ค เป็นวิธีการเยียวยาที่ดีมากและเป็นความสุขแบบง่ายๆ ที่เราสร้างได้จากการถือลิปสติกในมือเท่านั้น ดีใจที่ความสุขของเราทำให้คนอื่นมีความสุขด้วย”

ในวันนี้ กลุ่มลูกเหรียงย้ายมาอยู่บ้านหลังใหญ่กว่าเดิมเพราะมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าไฟใต้จะเริ่มสงบลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ภารกิจการสร้าง ‘ผู้นำเยาวชน’ ให้เข้มแข็งก้าวเดินไปทางที่ถูกต้อง ยังคงเป็นภารกิจสำคัญที่กลุ่มลูกเหรียงต้องการขยายผลต่อไป

เมล็ดพันธุ์ลูกเหรียงในวันนี้ จึงเปรียบเสมือนต้นไม้ที่แผ่กิ่งก้านสาขาออกไปสู่การสร้างผู้นำเยาวชนทั้งสามจังหวัดทั่วภาคใต้ เป็นร่มเงาให้ครอบครัวเด็กกำพร้าหลายครอบครัวได้พึ่งพิง และเป็นบ้านอันแสนอบอุ่นของเยาวชนลูกเหรียงเหมือนเช่น 16 ปีที่ผ่านมา

โครงการ เด็นทุนลูกเหรียง

โครงการ เด็นทุนลูกเหรียง

โครงการ เด็นทุนลูกเหรียง

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save