fbpx

From Online to Real Life : แด่ความรักอันเกิดจาก ‘พรหมลิขิต’ ในนามของ ‘อัลกอริทึม’ – วิลาสินี พนานครทรัพย์

ว่ากันว่า ดวงคนจะได้มีความรัก แค่อยู่เฉยๆ ความรักก็พร้อมวิ่งจู่โจมเข้าเต็มเปา เหมือนที่ใครบางคนเปรียบเปรยไว้ว่า ‘ถ้าคนเขาจะรัก อยู่เฉยๆ เดี๋ยวเขาก็ทักมาหาเอง’ ทว่าความเป็นจริงไม่ใช่ทุกคนจะดวงดีได้สมหวังในรักเช่นนั้น และหากหลายครั้งความรักไม่ยอมวิ่งมาหาเรา บางครั้งบางทีคงต้องเป็นเราที่เคลื่อนตัวเข้าไปหามันเอง

แล้วจะเป็นเช่นไรหากในวันนี้ความรักที่คุณใฝ่หาอาจอยู่ใกล้เพียงฝ่ามือ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ในยุคโลกาภิวัตน์ที่ทำให้คุณไม่ต้องหันซ้ายหันขวามองหาความสัมพันธ์ที่ใช่ เพราะเพียงแค่ ‘ปัดซ้าย-ปัดขวา’ อัลกอริทึมและโปรแกรมที่หลากหลายก็พร้อมนำพาใครบางคนมาให้คุณได้ทำความรู้จักและพัฒนาความสัมพันธ์

แม้ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเป็นนิรนามบนโลกออนไลน์และความง่ายดายของการหาคู่ของคนในยุคสมัยนี้ อาจมาพร้อมอันตรายมากมายแอบแฝงอยู่ในแอปพลิเคชันหาคู่เหล่านั้น แต่หากเปรียบความรักเป็นเหมือนแอปเปิลหอมหวานอาบยาพิษ แม้รู้ทั้งรู้ว่าไม่อาจมีใครช่วยบริหารความเสี่ยงนี้ให้ได้ หลายคนก็ยังยินยอมพร้อมใจจะเสี่ยงเข้าไปลิ้มรสชาติของมันอยู่ดี

ในปัจจุบันที่การใช้แอปพลิเคชันหาคู่ออนไลน์มีวิวัฒนาการจนกลายเป็น ‘ไลฟ์สไตล์’ ของคนรุ่นใหม่ 101 ขอพาทุกท่านทำความเข้าใจวัฒนธรรม ‘ปัดขวาหาคู่’ ไปกับ ผศ.ดร.วิลาสินี พนานครทรัพย์ อาจารย์สาขาสังคมวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ Love and intimacy in online cross-cultural relationships: the power of imagination (Palgrave, 2016) และ Migration for love?: Love and intimacy in marriage migration processes (Emotion, Space, and Society, 2019)

แม้วันนี้ใครหลายคนจะยังมองว่าความรักบนโลกออนไลน์นั้นเต็มไปด้วยความฉาบฉวยและไร้ความจริงจัง ทว่า ผศ.ดร.วิลาสินี ได้ฝากถ้อยคำอันแสนจริงใจไว้กับเราว่า ถ้าคุณเชื่อว่าความรักคือการพบเจอกันโดยบังเอิญ หรือที่เรียกว่า พรหมลิขิต คุณจะมองเห็นว่าแม้แต่ความสัมพันธ์ที่เริ่มต้นจากโลกออนไลน์ก็มีความบังเอิญ ความไม่ตั้งใจ และความเป็นพรหมลิขิตอยู่ในนั้นด้วยเช่นกัน

ก็ความรักน่ะ… มันเลือกที่เกิดได้เสียที่ไหนกัน

ผศ.ดร.วิลาสินี พนานครทรัพย์

ถ้าเปรียบเทียบกับหลายปีที่แล้ว จากงานวิจัยของอาจารย์ที่ศึกษาเรื่องแพลตฟอร์มหาคู่ออนไลน์ของคนไทย พบว่ามีลักษณะการใช้งานเหมือนหรือแตกต่างไปจากการใช้งานของคนรุ่นใหม่ในตอนนี้อย่างไรบ้าง

ต้องบอกก่อนว่างานวิจัยชิ้นนี้เริ่มต้นจากการที่เราสนใจศึกษาประเด็นเรื่องการพัฒนาความสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรมในพื้นที่ออนไลน์ เพราะ ณ ตอนนั้นเรื่องนี้ยังใหม่ในสังคมไทย ความสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรมในที่นี้หมายถึงคู่ที่อยู่ห่างไกลกันจริงๆ และเริ่มต้นความสัมพันธ์แบบทางไกลมาตั้งแต่ต้น คือตัวผู้หญิงอยู่ไทยและตัวผู้ชายอยู่อีกประเทศหนึ่ง ณ จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ในแพลตฟอร์มออนไลน์หาคู่แบบทั่วไป หรือ local online dating 

บวกกับเครื่องมือหาคู่แบบออนไลน์ในสังคมไทยตอนนั้นยังเป็นเรื่องใหม่มาก แต่ก่อนตัวช่วยในการหาคู่ข้ามชาติจะเป็นลักษณะของการหาคู่ผ่านเอเจนซี เป็นเว็บไซต์บนโลกออนไลน์แต่จัดทำและดำเนินการโดยเอเจนซี ใช้วิธีใส่ข้อมูลและโปรไฟล์ของผู้หญิงไทยเข้าไปในเว็บไซต์แล้วนำเสนอภาพผู้หญิงเหล่านั้นออกมา การหาคู่ผ่านเอเจนซีแบบนี้จึงนับว่ายังมีตัวกลางในการสร้างความสัมพันธ์อยู่ จึงนำมาสู่ประเด็นสำคัญของงานวิจัยที่ว่า ถ้าผู้หญิงสามารถเข้าไปหาคู่ในโลกออนไลน์ได้ด้วยตัวเอง พวกเธอจะจัดการความสัมพันธ์และนำเสนอตัวตนในโลกออนไลน์นั้นอย่างไร

ถ้าย้อนไปเมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว แพลตฟอร์มหาคู่ออนไลน์ ณ ตอนนั้นส่วนใหญ่จะเป็นเว็บไซต์หาคู่ระหว่างผู้หญิงไทยกับชาวต่างชาติโดยเฉพาะ เช่น www.thailovelink.com หรือพวกเว็บไซต์หาคู่ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ‘Thai’ ซึ่งบ่งบอกว่าเป็นเว็บไซต์ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับคนบางกลุ่ม และผู้หญิงที่เราสัมภาษณ์ในงานวิจัยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงไทยชนชั้นกลางที่ค่อนข้างมีฐานะไปจนถึงชนชั้นกลางระดับล่าง แต่มีจุดร่วมเดียวกันคือสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ในระดับหนึ่ง และมีประสบการณ์ใช้แพลตฟอร์มหาคู่ออนไลน์ที่ไม่ผ่านเอเจนซีหรือตัวกลาง แต่เป็นเว็บไซต์ในโลกออนไลน์ที่ผู้ใช้งานจะต้องเข้าไปจัดการทุกอย่างด้วยตัวเอง 

ความน่าสนใจอย่างหนึ่งที่เราพบ คือจริงๆ แล้วมีเรื่องมิติทางเพศอยู่ในการหาคู่ออนไลน์เยอะมาก เพราะ ณ ตอนนั้นเว็บไซต์ที่เราสนใจศึกษาส่วนใหญ่เป็นเว็บไซต์ที่แบ่งประเภทผู้ใช้งานด้วยประเทศหรือเชื้อชาติของผู้หญิง แต่เราไม่ค่อยพบว่ามีเว็บไซต์หาคู่ออนไลน์ที่แบ่งตามประเทศหรือเชื้อชาติของผู้ชาย หมายความว่าเว็บไซต์เหล่านี้จะบอกว่าถ้าคุณเข้ามาในเว็บไซต์ คุณจะได้พบคู่เดตออนไลน์ที่เป็นผู้หญิงจากไทย บางเว็บไซต์ก็เป็นผู้หญิงเวียดนาม ผู้หญิงจากฟิลิปปินส์ แล้วแต่คุณจะระบุ หรือบางเว็บไซต์ก็อาจบอกคุณว่าถ้าไม่แน่ใจว่าจะเลือกประเทศไหนดีก็เข้า Asian dating หาผู้หญิงจากประเทศในทวีปเอเชียโดยรวมได้ 

ด้วยเหตุนี้ ในท้ายที่สุดจึงทำให้คนมองเป็นภาพเหมารวม ว่าผู้หญิงจากประเทศด้อยพัฒนาหรือประเทศกำลังพัฒนาต้องการใช้เว็บไซต์ออนไลน์หาคู่ผู้ชายต่างชาติในประเทศพัฒนาแล้ว ภาพจำนี้เช่นนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากลักษณะของเว็บไซต์ที่จำแนกผู้ใช้งานด้วยตัวผู้หญิงในฐานะผู้ถูกเลือก และส่วนใหญ่ผู้ใช้บริการที่เสียเงินเพื่อเป็นสมาชิกพรีเมียมที่สามารถเริ่มต้นการสนทนาได้ก่อนมักเป็นฝ่ายชาย

ถ้าแพลตฟอร์มหาคู่ออนไลน์ในอดีตส่วนใหญ่เป็นเว็บไซต์สำหรับผู้หญิงไทยและผู้ชายต่างชาติ อย่างนั้นอะไรคือปัจจัยที่ผลักดันให้ผู้หญิงไทยบางส่วนตัดสินใจสร้างความสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรมกับชาวต่างชาติ

เรื่องที่เราศึกษาแบ่งออกเป็นสองแบบ คือความสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรมผ่านระบบออนไลน์ (international online dating) กับอีกแบบคือแพลตฟอร์มออนไลน์หาคู่แบบทั่วไป (local online dating) ถ้าเป็นส่วนของเว็บไซต์ที่ข้ามแดนและข้ามวัฒนธรรม เราพบว่าจุดเริ่มต้นไม่ได้เกิดจากการที่ผู้หญิงอยากเข้าไปเล่นเว็บไซต์หาคู่ออนไลน์แต่แรก แต่เกิดจากการที่ผู้หญิงอยากมีคู่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งถ้าถามว่าทำไมต้องอยากมีคู่ต่างชาติ ผู้หญิงแต่ละคนย่อมมีเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเนื่องด้วยมิติทางอัตลักษณ์ เช่น การศึกษา อายุ ชนชั้นทางสังคม ครอบครัว หรือปัจจัยอื่นใดก็ตาม เช่น บางคนเข้าไปเล่นเพราะรสนิยมความชอบส่วนตัว หรือต้องการหาคู่ต่างชาติเพราะอยากมีลูกเป็นลูกครึ่งก็มี

ส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้หญิงไทยที่เราศึกษา เป็นผู้หญิงไทยชนชั้นกลางที่ยังมองว่าการแต่งงานในวัฒนธรรมไทยมีเงื่อนไขของการหาคู่โดยเลือกคนที่มีสถานะอยู่ระดับสูงกว่า (hypergamy) อยู่เสมอ เช่น เวลาผู้หญิงแต่งงานจะถูกคาดหวังว่าเธอจะต้องยกระดับสถานภาพในสังคมของตัวเอง ในสมัยก่อนผู้หญิงจึงมักจะไม่ค่อยแต่งงานกับผู้ชายที่มีสถานะด้อยกว่า และเราพบว่าบางทีการที่ผู้หญิงแต่งงานช้า ไม่ได้แปลว่าเธอไม่อยากแต่งงานหรือไม่อยากมีคู่นะ แต่ผู้หญิงอาจจะรู้สึกว่าตัวเองยังไม่เจอคู่ที่เหมาะสมเลยยังไม่อยากแต่งงาน 

ในขณะที่พอเป็นการแต่งงานหรือสานความสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรม ผู้หญิงจะรู้สึกว่าคำถามที่ยึดโยงกับคอนเซ็ปต์ของ hypergamy ที่เธอเคยเจอจะน้อยลง เพราะความสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรมจะมีเรื่องลำดับชนชั้นระหว่างประเทศ (international hierarchy) เข้ามาแทน เช่น สมมติคุณแต่งงานกับผู้ชายไทย ก็จะมีคำถามจากคนรอบข้างว่า “ผู้ชายทำอาชีพอะไร” หรือ “ผู้ชายเรียนจบอะไรมา” แต่ถ้าบอกคนอื่นว่าฉันมีแฟนเป็นฝรั่ง คำถามจากคนอื่นจะกลายเป็น “ผู้ชายเป็นคนชาติอะไร” แทน เพราะมันมีความแตกต่างกันในเชิงเศรษฐกิจระหว่างประเทศมาเกี่ยวข้อง เมื่อยังมีชุดความคิดแบบนี้ในสังคม เงื่อนไขนี้จึงผลักให้ผู้หญิงส่วนหนึ่งที่อยู่ในภาวะหาคู่ยาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงชนชั้นกลางที่มีการศึกษาและมีรายได้ แต่มีข้อจำกัดในการหาคู่ในสังคมไทยหันไปสานความสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรมกับชาวต่างชาติกันมากขึ้น

แล้วทำไมพวกเธอถึงเลือกใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นพื้นที่ในการสร้างความสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรม

ส่วนหนึ่งคือเมื่อผู้หญิงประเมินตัวตนของเขาแล้วว่าตัวเองอยากมีแฟนเป็นชาวต่างชาติ เมื่อเขาอยากมีความสัมพันธ์รูปแบบนี้ ก็จะนำมาสู่อีกคำถามสำคัญว่าถ้าอยากได้แฟนต่างชาติ แล้วฉันจะไปหาจากไหน? ต้องยอมรับว่าถ้าคุณไม่ได้ทำงานอยู่ในพื้นที่ที่มีชาวต่างชาติให้คุณได้พบเจอและสานความสัมพันธ์ได้ ไม่มีคนที่จะแนะนำให้คุณรู้จักชาวต่างชาติได้ หรือไม่มีช่องทางให้คุณได้รู้จักคนเหล่านั้น ท้ายที่สุดผู้หญิงเหล่านี้จึงต้องเข้ามาอยู่ในโลกออนไลน์เพื่อค้นหาความสัมพันธ์ที่เขาต้องการและตรงกับความปรารถนาของเขา

ในแง่หนึ่ง การหาคู่ออนไลน์ทำให้เราระบุได้ว่าเราต้องการอะไร อยากคบกับคนแบบไหน หรืออยากได้ความสัมพันธ์รูปแบบใด เพราะเมื่อเข้าไปในเว็บไซต์คุณจะสามารถค้นหาผู้ชายอายุเท่าไรก็ได้ หรือชาติไหนก็ได้ตามที่ต้องการ จะเห็นได้เลยว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้คนประเมินความต้องการของตัวเอง แล้วใช้โปรแกรมในการค้นหาได้ด้วยตัวเอง แพลตฟอร์มหาคู่ออนไลน์จึงต่างออกไปจากการใช้เอเจนซีหรือการมีแม่สื่อแม่ชักในรูปแบบเก่าๆ เพราะคนที่เข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์ ส่วนหนึ่งเขาประเมินมาก่อนแล้วว่าตัวเองต้องการอะไร ไปจนถึงว่าเขาจะนำเสนอตัวตนของตัวเองบนโลกออนไลน์อย่างไรด้วย

จากกลุ่มตัวอย่างที่อาจารย์ศึกษา มีการสร้างความสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรมระหว่างผู้หญิงไทยกับชาวต่างชาติในแถบเอเชียบ้างไหม

มีค่ะ เพราะเว็บไซต์หาคู่มีความหลากหลายมาก เพียงแต่เว็บไซต์ที่เราศึกษามีผู้ใช้งานเป็นผู้หญิงไทยเป็นหลัก แต่ฝั่งผู้ชายที่เข้ามาหาคู่เป็นหญิงไทยมาจากหลากหลายประเทศมาก และผู้ชายส่วนใหญ่ที่เข้ามาใช้เว็บไซต์เหล่านี้จะเป็นชาวตะวันตก ณ ตอนนั้นยังมีผู้ชายเอเชียมาใช้เว็บไซต์หาคู่ในลักษณะนี้ค่อนข้างน้อย ด้วยความที่แพลตฟอร์ม ณ ตอนนั้นมีผู้ชายตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ ความสัมพันธ์จึงออกมาในลักษณะแบบนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าการเกิดขึ้นของความสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรมต้องเป็นผู้ชายตะวันตกทุกเคส

และ ณ ปัจจุบันที่มีช่องทางออนไลน์เยอะขึ้นมาก ไม่ได้มีแค่เว็บไซต์หาคู่แบบเมื่อก่อนแล้ว ต่อให้จะไม่ใช่แพลตฟอร์มสำหรับหาคู่โดยเฉพาะ คุณก็สามารถค้นหาความสัมพันธ์ได้ อย่างเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมก็ใช้เป็นช่องทางในการหาคู่ได้อยู่เสมอ เช่น ถ้าคุณเปิดโปรไฟล์เป็นสาธารณะ อยู่ดีๆ คุณอาจจะได้รับข้อความจากคนที่ไม่เคยรู้จักก็ได้

ถ้าเป็นความสัมพันธ์ทางไกลที่เริ่มต้นในโลกออนไลน์ พวกเขารักษาความสัมพันธ์ไว้อย่างไรผ่านระยะทางและเวลาที่แตกต่างกันอย่างมาก และถึงที่สุดความสัมพันธ์ในออนไลน์จะเคลื่อนออกมายังโลกออฟไลน์ได้อย่างไร

ถึงแม้ความสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรมที่เราศึกษาเป็นความสัมพันธ์ทางไกลที่มีจุดเริ่มต้นจากออนไลน์ โดยที่ผู้หญิงเข้าไปค้นหาคู่เป็นผู้ชายที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่ง และสานความสัมพันธ์กันโดยที่ไม่เคยเจอกันเลยในโลกกายภาพ แต่เรากลับพบว่าในกรณีนี้มีจุดต่างกันกับความสัมพันธ์ที่เป็น local online ที่คุณสามารถนัดเจอกันได้โดยง่ายตรงที่ว่าความสัมพันธ์ในลักษณะนี้จะพัฒนาความสัมพันธ์กันในโลกออนไลน์ด้วยระยะเวลายาวนานพอสมควรก่อนที่จะมาเจอกันในโลกออฟไลน์ เช่น มีบางคู่ที่ผู้ชายเคยมาเที่ยวที่ไทย แล้วรู้สึกชื่นชอบผู้หญิงไทย พอผู้ชายกลับประเทศไปแล้วก็รู้สึกว่าตัวเองอยากมีคู่เป็นผู้หญิงไทย จึงเข้ามาใช้เว็บไซต์หาคู่เพื่อค้นหาและสร้างความพันธ์กับผู้หญิงไทย ในลักษณะนี้กว่าที่ทั้งคู่จะพัฒนาความสัมพันธ์จนได้นัดเจอกันในโลกกายภาพอาจต้องใช้เวลาในโลกออนไลน์สักระยะหนึ่ง ที่น่าสนใจคือเราพบว่าในบางคู่กลับพัฒนาความสัมพันธ์กันได้ดีกว่าความสัมพันธ์ที่เริ่มจาก local online เสียด้วยซ้ำ 

ยกตัวอย่างเช่น สามเดือนที่พัฒนาความสัมพันธ์กันในโลกออนไลน์เขาคุยกันทุกวัน แลกเปลี่ยนความสนใจกันทุกวันจนสร้างความผูกพันได้ และทำให้รู้สึกว่าอีกฝ่ายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน พอได้มาเจอกันก็รู้สึกถึงความผูกพันมากกว่าความสัมพันธ์ที่นัดเจอกันทันทีโดยแทบไม่ได้คุยกันมาก่อน มีบางคู่ที่ไม่เคยเจอตัวจริงกันเลย แต่พอเริ่มคุยกันแล้วกลับรู้สึกว่าคนนี้คือคนที่ใช่ รู้สึกว่าสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ในระยะยาวได้จากการคุยกันแค่บนโลกออนไลน์ แต่จากหลายกรณีที่เราศึกษา คู่ที่เจอกันในออนไลน์แล้วไปกันต่อไม่ได้ในชีวิตจริงก็มีนะ ไม่ได้หมายความว่าทุกคนทุกคู่จะประสบความสำเร็จไปเสียหมด

และในแง่หนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกออนไลน์มีความเป็นนิรนามสูงมาก คือคุณสามารถบล็อกหรือลบใครออกไปจากโลกออนไลน์ของคุณเมื่อไรก็ได้ แต่ในขณะเดียวกันความนิรนามเหล่านี้ก็มีจุดเด่นตรงที่ทำให้คุณสามารถเล่าเรื่องของตัวเองที่ปกติคุณไม่สามารถหรือไม่กล้าเล่าให้คนอื่นฟังได้ เช่น บางเรื่องคุณกล้าเล่าให้คนที่เจอในโลกออนไลน์ฟัง เพราะคิดว่าก็เล่าๆ ไปเถอะ ถึงอย่างไรเรากับเขาก็คงไม่ได้เจอกันในชีวิตจริงหรอก ถ้าความสัมพันธ์เริ่มต้นด้วยฐานคิดแบบนี้ นานๆ เข้าก็อาจกลับกลายเป็นการสร้างความผูกพันขึ้นมา จึงทำให้มีบางคู่ที่คุยกันนานไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นความผูกพันและพัฒนาความสัมพันธ์กันไปในระยะยาว

ยังมีบางคู่ที่คุยผ่านออนไลน์กันไปประมาณ 2-3 เดือน แล้วเขารู้สึกว่านี่คือความสัมพันธ์ที่แท้จริง จากตอนแรกที่ไม่ได้วางแผนไว้ว่าจะสานสัมพันธ์จริงจังก็กลับบินไปหาคนที่เขาคุยด้วยในออนไลน์ มีการแนะนำให้ครอบครัวรู้จัก หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนสถานะความสัมพันธ์บนเฟซบุ๊ก คือต่อให้คุณจะไม่เคยเจอกันในโลกกายภาพเลย แต่คุณก็สามารถประกาศให้ทุกคนได้รู้ว่าคุณกำลัง in a relationship with ใครอยู่ ถือเป็นการพิสูจน์ความสัมพันธ์กันบนโลกออนไลน์ให้คนรอบตัวรู้ หรือแม้แต่การสานความสัมพันธ์แบบออนไลน์แต่มีการเปิดกล้องแล้วใช้ชีวิตประจำวันร่วมกัน เช่น ถ้าคุณมีเครื่องมือสื่อสารสองชิ้น คุณก็สามารถดูหนังพร้อมกับคู่เดตออนไลน์ของคุณได้ สามารถแชร์ชีวิตประจำวันให้กันและกันได้ นี่คือข้อพิสูจน์ว่าคนเราสามารถสร้างความสัมพันธ์ในโลกออนไลน์ที่มีความรู้สึกและความผูกพันต่อกันได้จริงๆ

หนังสือ Love and Intimacy in Online Cross-Cultural Relationships : the Power of Imagination

ปัจจุบันการนำเสนอตัวเองบนโลกออนไลน์คือสิ่งที่ทุกคนออกแบบเองได้ อาจารย์มองว่าวิธีการแสดงตัวตนในโลกออนไลน์จะมีผลต่อการสานความสัมพันธ์กันไหม และจะทำให้เราแยกขาดจากตัวตนในโลกออฟไลน์ไปด้วยหรือเปล่า

ส่วนหนึ่งอาจจะใช่ แต่คงไม่แยกขาดกันโดยสิ้นเชิงขนาดนั้น เพราะความสัมพันธ์ที่เกิดในโลกออนไลน์เป็นแค่จุดเริ่มต้น แต่สุดท้ายถ้าคุณต้องการไปต่อกับความสัมพันธ์ในระยะยาว คุณก็ต้องกลับมาที่โลกออฟไลน์อยู่ดี เรื่องของความสัมพันธ์มีมิติหลากหลาย ยังมีเรื่องความใกล้ชิดทางกายภาพ (physical intimacy) ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญข้อหนึ่งของการสานความสัมพันธ์ เพราะฉะนั้น คนที่เข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์ ถ้าคุณต้องการความสัมพันธ์ที่แท้จริงหรือความสัมพันธ์ที่จะเคลื่อนออกมาสู่โลกออฟไลน์ การนำเสนอตัวเองบนโลกออนไลน์คงไม่สามารถแยกขาดกันได้อย่างตายตัวกับโลกความเป็นจริง

ลองนึกดูว่าถ้าเราสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์อย่างแยกขาดจากตัวตนในโลกออฟไลน์ของตัวเอง เมื่อถึงเวลาที่ความสัมพันธ์เคลื่อนมาสู่โลกออฟไลน์ก็คงจะกลายเป็นความรู้สึกกระอักกระอ่วนและอาจไปต่อไม่ได้ในที่สุด เพราะฉะนั้น แม้แต่ความสัมพันธ์บนโลกออนไลน์ก็ยังมีเงื่อนไขบางอย่างคอยควบคุมอยู่ 

อย่างแรก คือคุณต้องประเมินตัวเองมาก่อนแล้วว่าต้องการมีความสัมพันธ์ที่จริงจังหรือเปล่า สำหรับคนที่เล่นแอปพลิเคชันออนไลน์เพื่อค้นหาความสัมพันธ์ระยะยาว และต้องการพัฒนาออกมาสู่โลกออฟไลน์ การนำเสนอตัวตนในออนไลน์คงไม่แยกขาดจากความเป็นจริงมากนัก แต่แน่นอนว่าเอาเข้าจริงแล้วเมื่อเข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์ หลายคนก็คงจะคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายที่เขาสนใจด้วยว่าฝ่ายตรงข้ามต้องการอะไร จะชอบคนลักษณะแบบไหน ต้องมาคิดว่าคู่เดตต้องการอะไรจากเรา แต่ในท้ายที่สุด ถึงอย่างไรก็ต้องมีการประนีประนอมระหว่างตัวตนในอุดมคติ ตัวตนที่ต้องการนำเสนอ และตัวตนจริงของเรา  

ตัวอย่างจากกลุ่มผู้หญิงไทยที่เราศึกษา บางส่วนยังคงมีภาพจำเกี่ยวกับความสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรม ว่าถ้าเป็นฝรั่งมาหาคู่เป็นผู้หญิงไทย เขาน่าจะชอบผู้หญิงไทยที่มีความเป็นแม่บ้านแม่เรือนแบบภาพจำในสมัยก่อน เพราะฉะนั้นเวลาผู้หญิงเหล่านี้นำเสนอตัวตนบนโลกออนไลน์ก็จะหนีไม่พ้นไปจากภาพแบบนี้ คือต้องนำเสนอตัวเองว่าฉันเป็นผู้หญิงไทยที่ดูแลครอบครัวและมีความเป็นศรีเรือน เพราะยังมีความคิดว่าฝรั่งในแถบตะวันตกที่ต้องการคบกับผู้หญิงไทยมักชอบผู้หญิงที่มีภาพลักษณ์แบบนี้ เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นเมื่อพวกเธอกำลังคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายในฝั่งตรงข้าม แต่บางครั้งภาพที่แสดงในโลกออนไลน์ก็ไม่ได้ต่างไปจากสิ่งที่พวกเธอเป็นในชีวิตจริงมากนัก หมายความว่าผู้หญิงหลายคนก็สามารถดึงบางมิติของตัวเองออกมานำเสนอให้เด่นชัดบนโลกออนไลน์ได้ เพียงแต่อาจจะไม่ใช่ตัวตนในภาพรวมทั้งหมดของชีวิตจริง

อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ สมัยนี้เราสามารถบันทึกทุกอย่างที่อยู่บนโลกออนไลน์เป็น digital footprint ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าคุณนำเสนออะไรที่ต่างไปจากความเป็นจริงโดยสิ้นเชิงก็ล้วนถูกบันทึกออกมาได้หมด สมัยนี้หลายคนจึงระมัดระวังในการนำเสนอตัวตนบนออนไลน์กันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มที่ต้องการความสัมพันธ์ที่จริงจังและพัฒนาต่อได้ในระยะยาว เขาจะไม่แยกขาดตัวตนบนออนไลน์กับออฟไลน์ของตัวเองอย่างตายตัวโดยเด็ดขาด

ถ้าการหาคู่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นความสัมพันธ์ที่หลายครั้งเราต้องคำนึงถึงความต้องการของฝ่ายตรงข้าม เช่นนั้นแล้ว นี่จะเป็นความสัมพันธ์ที่แต่ละฝ่ายมีอำนาจไม่เท่ากันตั้งแต่แรกแล้วหรือเปล่า คือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจต้องพยายามทำให้ตัวเองเป็นที่สนใจของฝ่ายตรงข้ามให้มากที่สุด

สิ่งสำคัญคือเรามองว่าในปัจจุบันโลกออนไลน์กับออฟไลน์ไม่ได้แยกขาดจากกัน ดังนั้นในเมื่อความเป็นจริงในโลกออฟไลน์ยังคงมีความไม่เท่าเทียมในมิติต่างๆ ทั้งประเด็นเรื่องเพศ เชื้อชาติ ไปจนถึงชนชั้น ถ้าถามว่าความไม่เท่าเทียมเหล่านี้เคลื่อนเข้ามาอยู่ในโลกออนไลน์ด้วยไหม แน่นอนว่ามีบางส่วนเคลื่อนเข้ามา จากงานวิจัยที่เราศึกษา เราพบว่าแม้แต่การหาคู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ก็ยังมีมิติของความไม่เท่าเทียมทางเพศอยู่ อย่างเรื่องง่ายๆ แต่เป็นปัญหาโลกแตกว่าเมื่อจับคู่กันสำเร็จในแอปพลิเคชันแล้ว ใครจะเป็นคนเริ่มติดต่อก่อน ใครควรเป็นฝ่ายทักหรือเริ่มต้นบทสนทนาก่อน แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้ก็ยังมีมิติของความเป็นหญิง ความเป็นชาย และเรื่องมิติทางเพศในโลกออนไลน์อยู่ดี 

ต่อให้คุณจะบอกว่าโลกออนไลน์เป็นพื้นที่ให้คนสร้างความสัมพันธ์ที่เลือกได้ด้วยตัวเอง แต่เรากลับพบว่าผู้หญิงหลายคนยังคงมีคำถามกับตัวเองว่า “ฉันจะเริ่มติดต่อเขาก่อนดีไหม” ทั้งๆ ที่คุณก็ชอบโปรไฟล์ของฝั่งตรงข้ามที่คุณจับคู่กันได้ หรือแม้กระทั่งในแอปพลิเคชันทินเดอร์ (Tinder) ที่ถูกออกแบบมาว่าคุณต้อง ‘แมตช์ (match)’ กันก่อน เป็นนัยว่าต้องให้ทั้งสองฝ่ายพึงพอใจซึ่งกันและกันก่อนถึงจะคุยกันได้ แต่ความน่าสนใจคือหลังจากที่ทั้งคู่แมตช์กันแล้ว สุดท้ายหลายคนก็จะกลับมาที่คำถามว่า แล้วใครจะเริ่มต้นบทสนทนา? หรือควรจะเริ่มต้นบทสนทนาอย่างไร? เลยกลายเป็นว่าต่อให้จะแมตช์กันแล้ว แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็ปล่อยกันไป ไม่มีการสานความสัมพันธ์หรือแม้แต่พูดคุยกันสักประโยค เพราะไม่มีใครเริ่มต้นบทสนทนาก่อน 

ไปจนถึงความน่าสนใจว่าฝ่ายที่มักจะเริ่มบทสนทนาก่อนส่วนใหญ่เป็นใคร เราพบว่ายังคงเป็นฝ่ายผู้ชายอยู่ดี ในแง่นี้อาจมองได้ว่าผู้หญิงส่วนหนึ่งยังติดภาพจำว่าการริเริ่มความสัมพันธ์ควรจะเป็นหน้าที่ของผู้ชาย หรือกังวลถ้าผู้หญิงเป็นฝ่ายทักก่อนอาจดูไม่ดี สุดท้ายมิติทางเพศที่อยู่ในโลกออฟไลน์ก็เข้ามาอยู่ในโลกออนไลน์อย่างแยกไม่ขาดจากกัน หรือแม้กระทั่งเรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน เช่น หลังจากออกเดตในโลกออฟไลน์ครั้งแรก ฝ่ายหญิงรู้สึกพอใจ รู้สึกชอบพอฝ่ายชาย แต่หลังจากแยกกัน ถ้าจะให้ฉันส่งข้อความไปหาเขาก่อน ผู้หญิงก็ยังรู้สึกเป็นกังวลว่าผู้ชายจะคิดยังไง เขาจะชอบเราหรือเปล่านะ ถ้าเขาชอบเราเขาต้องทักมาหาเราก่อนสิ! อะไรแบบนี้ล้วนมีมิติทางเพศทับซ้อนอยู่ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์

และยิ่งถ้าเป็นความสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรมก็ยิ่งซับซ้อนเข้าไปอีกนะ แม้กระทั่งเวลาพูดคุยสนทนากัน บทสนทนาบางส่วนก็มีมิติเรื่องเพศอยู่ในนั้นโดยผูกกับจินตนาการข้ามวัฒนธรรมที่พวกเขามี เช่น ตอนคุยกันฝ่ายหญิงบอกว่า “เธอเหนื่อยเหรอ ถ้าฉันอยู่ที่นั่นฉันคงดี ฉันจะได้ดูแลเธอ ฉันจะได้ทำกับข้าวให้เธอกิน” นี่คือตัวอย่างของบทสนทนาที่ไม่ได้แยกขาดไปจากโลกออฟไลน์ แต่เชื่อมโยงกันด้วยจินตนาการของทั้งสองฝ่าย

งานที่เราศึกษายิ่งเน้นย้ำว่าสิ่งที่อยู่ในโลกออฟไลน์กับออนไลน์ไม่ได้ต่างกันเลย เช่น ผู้หญิงมีจินตนาการข้ามวัฒนธรรมว่าผู้ชายต่างชาติต้องมีลักษณะแบบนั้นแบบนี้ และตัวผู้ชายต่างชาติก็มีจินตนาการข้ามวัฒนธรรมว่าผู้หญิงไทยต้องเรียบร้อย อ่อนหวาน เป็นแม่ศรีเรือน เหล่านี้ล้วนเป็นตัวผลักให้พวกเขาเข้ามาอยู่ในโลกออนไลน์และค้นหาความสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุนี้ มิติทางเพศที่อยู่ในโลกความจริงจึงเข้ามาภายในโลกออนไลน์อย่างเลี่ยงไม่ได้ 

แล้วมีคู่ที่ได้ลงเอยด้วยการแต่งงานหรือย้ายไปอยู่ด้วยกันจากจุดเริ่มต้นของการสานความสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรมบนโลกออนไลน์บ้างไหม

มีเยอะมากเลยค่ะ จริงๆ แล้วกลุ่มตัวอย่างที่เราได้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่จะลงเอยด้วยการย้ายถิ่นไปอยู่ด้วยกัน และส่วนใหญ่ผู้หญิงจะย้ายไปอยู่ต่างประเทศกับผู้ชาย ท้ายที่สุดประเด็นนี้ก็หนีไม่พ้นมิติความไม่เท่าเทียมต่างๆ บนโลกออฟไลน์อยู่ดีนะ มีหลายคู่ที่ตอนแรกอยู่ในระหว่างการตัดสินใจว่าจะอยู่ร่วมกันที่ไหนดี แต่ก็พบว่าการที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายย้ายไปต่างประเทศสามารถทำได้ง่ายกว่าให้ผู้ชายย้ายมาอยู่ไทย ในเชิงของความกังวลของทั้งคู่ว่าถ้าผู้ชายย้ายมาอยู่ไทยแล้วผู้ชายจะทำงานอะไร และมองว่าการที่ผู้หญิงย้ายไปต่างประเทศอาจมีลู่ทางในการหางานทำได้มากกว่า

หรือแม้กระทั่งการเจอกันครั้งแรกในออฟไลน์ ส่วนใหญ่เขาจะนัดเจอกันที่ไทย ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากความสามารถหรือความพร้อมของผู้ชายที่จะบินมาไทยมากกว่าที่ผู้หญิงจะบินไปต่างประเทศ เพราะชาวต่างชาติบางประเทศมาไทยได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า ไปจนถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจด้วย ในขณะที่ถ้าผู้หญิงไทยจะไปหาคู่เดตที่ต่างประเทศต้องขอวีซ่าและต้องเตรียมเงินในการเดินทางไม่น้อย ยิ่งย้ำชัดว่าความสัมพันธ์บนโลกออนไลน์ไม่เคยและไม่สามารถแยกขาดจากโลกกายภาพ ยังคงมีมิติทางเพศและเศรษฐกิจอยู่เสมอ ไปจนถึงกฎหมายที่มีผลโดยตรงต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการตัดสินใจต่างๆ ในความสัมพันธ์

ย้อนกลับไปช่วงสิบกว่าปีที่แล้ว ตอนนั้นสังคมไทยมีมุมมองต่อการหาคู่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างไร

ตอนนั้นอาจไม่ถึงขั้นว่าสังคมยอมรับไม่ได้เลย แต่ก็ยังมองในเชิงลบค่อนข้างสูง ยิ่งเรื่องที่เราศึกษาเป็นประเด็นซ้อนกันอยู่สองชั้นด้วย คือเป็นการหาคู่ผ่านออนไลน์และเป็นความสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรมกับชาวต่างชาติ และยังเป็นความสัมพันธ์ทางไกลเข้าไปอีก เลยยิ่งทำให้คนมีภาพจำในแง่ลบมากพอสมควร แม้กระทั่งผู้หญิงไทยที่เราได้พูดคุยก็มักจะไม่บอกใครว่าเขาเข้าไปใช้เว็บไซต์หาคู่ออนไลน์ มีน้อยมากที่จะบอกคนใกล้ตัว หรืออย่างน้อยถ้าบอกก็จะบอกแค่คนที่สนิทจริงๆ หรือบางคนจะบอกว่าเขาไม่ได้ตั้งใจเข้าไปเล่นเว็บไซต์พวกนี้หรอก แค่วันนั้นเบื่อๆ ไม่รู้จะทำอะไรเลยลองเข้าไปเล่นดู 

กระทั่งว่าเมื่อความสัมพันธ์พัฒนาไปถึงจุดหนึ่ง แล้วมีคนมาถามเขาว่าไปรู้จักกันได้อย่างไร บางคนก็เลี่ยงที่จะตอบว่ารู้จักกันผ่านออนไลน์ แต่จะเล่าประมาณว่า “พอดีเขามาเที่ยวไทยแล้วบังเอิญได้ไปเจอกัน” ทั้งที่ความจริงแล้วเขารู้จักกันผ่านเว็บไซต์หาคู่ออนไลน์ เพราะเมื่อสักสิบกว่าปีที่แล้วเรื่องแบบนี้ยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปเท่ากับปัจจุบัน คนที่ใช้งานเว็บไซต์เหล่านี้จึงต้องมีเทคนิคในการเล่าจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ของตัวเอง

แต่ในช่วงหลายปีมานี้จะเห็นได้ว่าจำนวนแอปพลิเคชันหาคู่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก อาจารย์มองว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้คนหันมาเล่นแอปพลิเคชันหาคู่กันมากขึ้นขนาดนี้

ด้วยความที่การหาคู่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มีสองแบบ แบบที่หนึ่งคือเข้าไปเล่นเพื่อความสนุกเพลิดเพลิน กับแบบที่สองคือเข้าไปเล่นเพื่อต้องการความสัมพันธ์ที่จริงจังในระยะยาว จึงทำให้มีความแตกต่างกันของคนที่เข้ามาเล่นแอปพลิเคชันเหล่านี้ ทีนี้สิ่งที่ตามมาคือในปัจจุบันแอปพลิเคชันก็มีให้คุณเลือกได้หลากหลายเพื่อให้ตรงกับความต้องการของคุณ ถ้าคุณต้องการความสัมพันธ์ที่จริงจังก็เลือกได้ว่าต้องการเล่นแพลตฟอร์มไหน ทุกวันนี้เลยมีภาพลักษณ์ของแต่ละแอปพลิเคชันที่แตกต่างกัน

เช่น ภาพลักษณ์ของแอปพลิเคชัน Tinder ที่ส่วนใหญ่คนจะมองว่าเป็นแอปหาคู่แบบขำๆ คือไม่ได้หมายความว่าคนเล่น Tinder จะเป็นคนที่ไม่ต้องการความสัมพันธ์ที่จริงจังทั้งหมดนะ เพียงแต่ Tinder จะถูกมองว่าเป็นแอปพลิเคชันสำหรับคนที่ต้องการความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างฉาบฉวย หรือถ้าคุณเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ เดี๋ยวนี้ก็มีแพลตฟอร์มของกลุ่มเพศหลากหลายโดยเฉพาะด้วย หรือกระทั่งว่าคุณมีไลฟ์สไตล์แบบไหน สนใจเรื่องราวแบบไหน ก็มีแพลตฟอร์มมากมายพร้อมรองรับความต้องการของคุณ 

ที่สำคัญคือแพลตฟอร์มหาคู่ออนไลน์ได้รับการยอมรับมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันมนุษย์ไปแล้ว แอปพลิเคชันหาคู่เหล่านี้จึงพยายามปรับตัวและพัฒนาให้เข้ากับยุคสมัย และสื่อสารออกไปว่ามันทำหน้าที่เป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น ตัวแอปพลิเคชันก็พยายามโฆษณาว่ามีฟังก์ชัน โปรแกรม และมีอัลกอริทึมที่จะจับคู่ให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานมากที่สุด ส่วนนี้จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้คนอยากเข้าไปสร้างความสัมพันธ์บนออนไลน์กันมากขึ้น 

และด้วยความที่การหาคู่ผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมี ‘คนกลาง’ หมายความว่าไม่ต้องรอให้มีใครมาแนะนำคนนั้นคนนี้ให้คุณ คุณสามารถเลือกความสัมพันธ์ที่ต้องการได้ด้วยตัวคุณเอง เมื่อไม่มีคนกลางในความสัมพันธ์ ความกระอักกระอ่วนใจที่จะค้นหาคู่ก็น้อยลง หลายคนจึงมองว่าต่อให้ความสัมพันธ์ที่ตัวเองเลือกมาจะได้ไปต่อหรือมีอะไรผิดพลาด เดี๋ยวฉันรับผิดชอบการตัดสินใจของฉันเอง สิ่งนี้คือลักษณะเฉพาะของแอปพลิเคชันในปัจจุบัน และความเป็นปัจเจกของคนที่สูงมากขึ้นนี่แหละที่ทำให้คนเล่นแอปพลิเคชันหาคู่กันมากขึ้น

แต่ความปัจเจกเช่นนี้ก็มีข้อที่ต้องระวังเหมือนกันนะ เมื่อมองในอีกมุมหนึ่ง ถ้ามีคนกลางในความสัมพันธ์ก็เหมือนมีคนมาช่วยเราดูโปรไฟล์หรือความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้ามในระดับหนึ่ง แต่การใช้แอปพลิเคชันหาคู่ที่ไม่มีคนกลาง คนที่ต้องตรวจสอบโปรไฟล์ของฝ่ายตรงข้ามและต้องตัดสินใจในทุกสเต็ปของความสัมพันธ์ก็คือตัวของเราเอง เราจึงต้องรู้จักการใช้งานแพลตฟอร์มเหล่านี้ให้ถี่ถ้วนด้วย เพราะความสัมพันธ์ไม่ได้มีแค่จุดเริ่มต้น แต่ยังมีขั้นตอนระหว่างการพัฒนาอีกมากมายกว่าจะไปถึงปลายทาง

อีกอย่างหนึ่งคือ ถ้ามีการพัฒนาความสัมพันธ์จนถึงจุดที่จะนัดออกเดตกับคนในโลกออนไลน์ที่คุณไม่เคยเจอกันมาก่อนเลย เป็นสเต็ปที่จะเคลื่อนจากความสัมพันธ์ในโลกออนไลน์มาสู่โลกออฟไลน์ เราก็ควรมีเทคนิคในการสร้างความปลอดภัยให้ตัวเอง เช่น ก่อนออกเดตกับคนที่เจอในแอปพลิเคชันหาคู่ บางคนจะแชร์โลเคชันไว้กับเพื่อนสนิท แชตบอกเพื่อนทุกครั้งว่าตอนนี้เขาอยู่ที่ไหน หรืออาจจะใช้วิธีบอกเพื่อนไว้ว่าถ้าอีกสามชั่วโมงเขาไม่ติดต่อมาให้เริ่มค้นหาตัวเขาได้เลย เป็นต้น 

แต่ทั้งหมดทั้งปวงนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อภาพจำในเชิงลบต่อการใช้แพลตฟอร์มหาคู่ออนไลน์ลดน้อยลงจนทำให้คนที่เล่นแอปพลิเคชันเหล่านี้ไม่กังวลที่แชร์เรื่องราวความสัมพันธ์ออนไลน์ของตัวเองให้คนอื่นฟังได้มากขึ้น ลองนึกดูว่าการที่เราจะบอกใครสักคนว่า “วันนี้ฉันจะไปออกเดตนะ ฉันเพิ่งรู้จักกับเขาในแอปฯ หาคู่ออนไลน์ ฉันอยากไปเจอเขา แต่จริงๆ ก็กังวลอยู่เหมือนกัน ขอแชร์โลเคชันที่จะไปไว้กับเธอนะ” ถ้าเป็นเมื่อสิบปีที่แล้วคงไม่ง่ายนักที่จะพูดออกไป แต่ปัจจุบันเรื่องนี้เป็นที่ยอมรับได้มากขึ้น 

ในขณะเดียวกัน ความเป็นนิรนามบนโลกออนไลน์และการไม่มีตัวกลางคอยช่วยดูความสัมพันธ์ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด romance scam มากขึ้นด้วยหรือเปล่า

ใช่ค่ะ แต่ต้องบอกว่าหลายคนที่เราเคยคุยด้วย คนที่โดน romance scam หลอก ไม่ใช่ว่าจู่ๆ เขาจะสร้างความสัมพันธ์ขึ้นมาโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยเลยนะ หากพิจารณาถึงปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิด romance scam ก็จะย้อนกลับไปยังข้อพิสูจน์แรกสุดที่ว่า เราสามารถพัฒนาความสัมพันธ์บนโลกออนไลน์กับคนที่เราไม่เคยเจอตัวจริงกันมาก่อนได้ ในที่นี้ romance scam จึงใช้ความไว้วางใจ ความรู้สึกและห้วงอารมณ์ของคนเข้ามาเป็นตัวให้อีกฝ่ายยอมโอนเงินไปให้ ไม่ใช่ว่า romance scam จะเกิดขึ้นจากการคุยกันวันเดียวแล้วหลอกเอาเงินมาได้เลย แม้แต่ romance scam ก็ต้องใช้เวลาพัฒนาความสัมพันธ์กับเหยื่อในระยะหนึ่ง คุยกันทุกวันจนอีกฝ่ายรู้สึกผูกพันและไว้วางใจจนถึงขั้นยอมที่จะโอนเงินไปให้ด้วยความเชื่อใจ

ถึงแม้ทุกวันนี้การเล่นแอปพลิเคชันหาคู่จะเป็นที่ยอมรับได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ก็ยังมีคนมองว่าคนที่เล่นแอปพลิเคชันเหล่านี้คือคนที่โหยหาความรัก อาจารย์มองประเด็นนี้อย่างไร

นี่คือสิ่งที่เป็นภาพจำของการใช้แพลตฟอร์มหาคู่ออนไลน์ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว และแม้แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีภาพจำเชิงลบว่าคนที่เข้าไปหาคู่ในโลกออนไลน์คือคนที่หาใครไม่ได้ในชีวิตจริง เป็นคนที่ไม่มีใครเอา ไม่รู้จะสร้างความสัมพันธ์อย่างไร หรือแม้แต่ถูกมองว่าเป็นคนที่มีปมปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในชีวิตจริง สิ่งนี้เกิดขึ้นมาตลอดกับคนที่สร้างความสัมพันธ์ในโลกออนไลน์ ซึ่งคนที่คิดแบบนี้อยู่ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ไม่เคยเข้าไปมีประสบการณ์เล่นแอปพลิเคชันหาคู่มาก่อนเลย แต่ถ้าเทียบกับเมื่อสิบปีที่แล้ว เราคิดว่าภาพแบบนี้ลดน้อยลงมาก

เอาเข้าจริงถ้าเราลองมองคนใกล้ตัวของเรา ยิ่งถ้าเป็นวัยรุ่นหรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ เขาใช้แอปพลิเคชันหาคู่กันเป็นเรื่องปกติเลยนะ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเขาหาใครไม่ได้เลยในชีวิตประจำวัน เพียงแต่ในตอนนี้เทคโนโลยีกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเขาไปแล้ว และมันอยู่แค่ในมือคุณเท่านั้นเอง คุณคลิกแป๊บเดียวก็สามารถค้นหาคนที่ตรงกับความต้องการของคุณได้แล้ว ยิ่งพอการหาคู่ออนไลน์ไม่ต้องใช้คนอื่นมาเป็นตัวนำให้เรา หลายคนจึงรู้สึกสะดวกใจที่จะใช้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าภาพจำเชิงลบก็ยังมีอยู่บ้าง คงไม่อาจจะหมดหายไปได้เลยในทันที 

สำหรับอาจารย์ นิยามของความรักแบบออนไลน์กับออฟไลน์เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นแค่จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ ทำให้คุณได้พบเจอและรู้จักกัน แต่ถึงที่สุดการพัฒนาความสัมพันธ์ในระยะยาวก็ไม่ได้ต่างไปจากความสัมพันธ์ที่เริ่มจากออฟไลน์ ลองนึกในทางกลับกันว่าถ้าคุณเจอใครสักคนในโลกออฟไลน์ เจอกันในที่ทำงาน หรือไปเที่ยว ไปผับบาร์ เจอกันและรู้สึกปิ๊งกัน คุณต้องทำอย่างไรล่ะ คุณก็ต้องขอช่องทางติดต่อเขาอยู่ดีหรือเปล่า ถึงอย่างไรก็ต้องมีการแลกข้อมูลบางอย่างของกันและกัน และแน่นอนว่าสิ่งที่แลกก็ไม่พ้นไปจากเบอร์โทรศัพท์ ไลน์ไอดี ไอจี หรือเฟซบุ๊ก แล้วคุณก็ต้องไปพัฒนาความสัมพันธ์กันต่อในโลกออนไลน์อยู่ดี และถึงจุดหนึ่งก็ต้องออกมาเจอกันในออฟไลน์อีกที ต้องนัดเจอ พากันไปดูหนัง กินข้าว วิธีการทุกอย่างเหมือนกับคู่ที่เริ่มต้นพัฒนาความสัมพันธ์ในโลกออนไลน์ คือเข้าไปคุยกันในออนไลน์ ออกมาเจอกันในออฟไลน์ กลับไปกลับมากันอยู่แบบนี้เหมือนกันทุกความสัมพันธ์ สิ่งที่แตกต่างกันมีเพียงแค่จุดเริ่มต้น แต่การที่ทุกความสัมพันธ์จะไปต่อได้ล้วนต้องเคลื่อนมาอยู่ในโลกกายภาพทั้งสิ้น 

หรือแม้กระทั่งบางเคสที่เคยเจอกันในโลกกายภาพแล้ว พอตกลงคบกันกลับมีเหตุให้ต้องห่างกันอีก ทำให้คนเรามีวิธีการสร้างความเชื่อใจ ความไว้วางใจ และความผูกพันในความสัมพันธ์ผ่านโลกออนไลน์กันได้หลากหลายวิธีมาก เช่น ถ้าคุณใช้ไอโฟน คุณก็สามารถใช้แอปพลิเคชัน Find my friend กับคู่ของคุณเพื่อจะบอกว่ามีแต่เธอเท่านั้นนะที่รู้ว่าตอนนี้ฉันอยู่ที่ไหน หรือการตั้งสถานะความสัมพันธ์กันบนเฟซบุ๊กหรือไอจี เมื่อเพื่อนหรือคนในชีวิตมาเห็น มันก็คือการสร้างความมั่นใจต่อกันได้ในระดับหนึ่งว่าคนนี้น่าเชื่อถือและจริงจังในความสัมพันธ์กับเรา

การเดตออนไลน์ของบางคู่ บางทีฝ่ายตรงข้ามก็ส่งเค้กหรือของขวัญมาให้คุณในวันเกิด แล้วก็เปิดวิดีโอคอลคุยกัน แท็กสตอรี่ไอจีกันไปมา แชร์โมเมนต์น่ารักๆ ที่มีต่อกัน เหล่านี้คือการทำทุกอย่างที่เลียนแบบหรือคู่ขนานไปกับโลกกายภาพ เพียงแต่ให้ความสัมพันธ์เคลื่อนเข้ามาอยู่ในโลกออนไลน์ ถึงแม้ว่าจะไม่มี physical intimacy ต่อกัน แต่ก็สามารถสร้างความผูกพันได้ในระดับหนึ่ง แต่ท้ายที่สุดก็อย่างที่บอกไปก่อนหน้า ว่าทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น แต่ถึงอย่างไรความสัมพันธ์ที่จะไปต่อได้ก็ต้องเคลื่อนมาสู่โลกกายภาพไม่ช้าก็เร็วอยู่ดี

ท้ายที่สุด เรามองว่าไม่ว่าจะเป็นความรักที่เริ่มต้นจากออนไลน์หรือออฟไลน์ล้วนมีอุดมการณ์ของความรักอยู่ในนั้นเสมอ ไม่ว่าจะอุดมการณ์ความรักในเชิงของรักโรแมนติกหรือความรักรูปแบบใดก็แล้วแต่ เราจึงไม่ได้รู้สึกว่าความรักในออนไลน์กับออฟไลน์ต่างกัน แม้กระทั่งคนคนหนึ่งเข้าไปใช้แพลตฟอร์มหาคู่ออนไลน์เพื่อค้นหาความสัมพันธ์ แต่เมื่อความสัมพันธ์ออกมาสู่โลกกายภาพ สุดท้ายพวกเขาก็ไปต่อกันในรูปแบบเดียวกับความสัมพันธ์ที่เริ่มต้นจากออฟไลน์อยู่ดี

หรือแม้กระทั่งถ้าคุณไปถามคู่รักที่เริ่มต้นความสัมพันธ์จากออนไลน์ถึงจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ว่าวันนั้นพวกคุณเจอกันได้อย่างไร เราจะพบว่าคำอธิบายของบางคนก็ไม่ได้ต่างจากคอนเซ็ปต์ที่เป็นอุดมการณ์ของความรักโรแมนติกเลย เช่น ถ้าคุณเชื่อว่าความรักคือการพบเจอกันโดยบังเอิญ หรือที่เรียกว่า ‘พรหมลิขิต’ คุณจะมองเห็นว่าแม้แต่ความสัมพันธ์ที่เริ่มต้นจากโลกออนไลน์ของคุณก็มีความบังเอิญ ความไม่ตั้งใจ และความเป็นพรหมลิขิตอยู่ในนั้นด้วยเช่นกัน 

และเอาเข้าจริงคนที่เข้าไปหาคู่ในออนไลน์ก็ใช้อุดมการณ์นี้นิยามความรักความสัมพันธ์ของตัวเองเหมือนกันนะ เช่น เขาอาจจะบอกว่า “ฉันก็เจอคนนี้ในแอปฯ ออนไลน์นั่นแหละ แต่วันนั้นเบื่อๆ กำลังจะปิดแอปฯ อยู่แล้ว แต่โปรไฟล์เขาดันเด้งขึ้นมาพอดี มันบังเอิญมากเลยนะ” หรือ “วินาทีนั้นฉันกำลังจะปิดแอปฯ อยู่แล้ว กำลังล็อกเอาต์ออกอยู่แล้วเชียว แต่เขาดันทักมาหาพอดีเลยได้คุยกัน บังเอิญอะไรขนาดนี้” ในท้ายที่สุดทุกความสัมพันธ์ก็จะย้อนกลับไปยังคอนเซ็ปต์หรือคำอธิบายของอุดมการณ์ความรักแบบเดียวกัน คือเรื่องของเนื้อคู่ พรหมลิขิต หรือเรื่อง past life relationship อยู่ดีทั้งในออนไลน์และออฟไลน์

พอฟังแบบนี้ทำให้นึกถึงที่มีคนพูดเปรียบเปรยไว้ว่า ‘พรหมลิขิต’ ของคนยุคนี้มีอีกชื่อเรียกว่า ‘อัลกอรึทึม’

(หัวเราะ) ใช่เลย ด้วยความที่อุดมการณ์ของรักโรแมนติกอธิบายว่าความรักย่อมมาพร้อมกับคอนเซ็ปต์เรื่องเนื้อคู่หรือคู่แท้ของกันและกัน ไปจนถึงความบังเอิญและความไม่ตั้งใจ เราก็เคยตั้งคำถามเหมือนกันว่าการหาคู่แบบออนไลน์นี่ถือเป็นความตั้งใจที่จะค้นหาความรักไหม แต่เราก็พบว่าเมื่อความสัมพันธ์พัฒนาในจนถึงจุดหนึ่งแล้วไปต่อในระยะยาวได้ คนก็เชื่อมั่นว่าจุดเริ่มต้นในความสัมพันธ์ของเขาคือความบังเอิญ สุดท้ายเราจึงมองว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่ในความสัมพันธ์แบบใดก็ตาม คำอธิบายของความสัมพันธ์เหล่านั้นก็จะวกกลับมาอยู่ใต้กรอบของความรักแบบเดียวกันอยู่ดี

ในแง่หนึ่ง ถึงแม้รักออนไลน์จะเริ่มต้นด้วยความตั้งใจเข้าไปค้นหาความสัมพันธ์ แต่ยิ่งเป็นความสัมพันธ์แบบออนไลน์ที่ข้ามประเทศหรือข้ามวัฒนธรรม ยิ่งทำให้คนรู้สึกว่าคู่ที่เราเจอในออนไลน์นี่คือหนึ่งในล้านเลยนะ สุดท้ายถึงอย่างไรก็ต้องเป็นคนนี้ ไม่สำคัญว่าอะไรเป็นตัวผลักดันให้ฉันมาหาคู่ผ่านออนไลน์ แค่ว่าสุดท้ายมันทำให้ฉันได้เจอคนคนนี้ก็พอ

สุดท้ายก่อนจะจบบทสัมภาษณ์นี้ อยากให้อาจารย์ฝากข้อความถึงคนที่กำลังตามหาความรักความสัมพันธ์ที่ใช่ของตัวเองผ่านโลกออนไลน์หน่อย

ต่อให้จะยังมีคนมองภาพการหาคู่ผ่านออนไลน์ในแง่ลบอยู่ แต่ถ้าคุณอยากใช้ คุณก็ใช้ไปเถอะ เพียงแต่ถ้ารู้สึกว่าอยากใช้ก็เปิดใจกับมัน และมองแพลตฟอร์มเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เป็นแค่เรื่องธรรมดาทั่วไปในสมัยนี้ เพราะมันจะทำให้คุณกล้าที่จะเล่าเรื่องที่คุณพบเจอมาให้คนอื่นฟัง และเวลาที่คุณออกไปเดตกับคนที่เจอในออนไลน์ คุณก็จะสามารถบอกเพื่อนให้ช่วยดูแลความปลอดภัยของคุณได้ แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามที่คุณใช้แบบปิดๆ เปิดๆ ยังคงไม่กล้ายอมรับมัน คืออยากใช้แต่ไม่กล้าบอกใครว่าฉันใช้แอปพลิเคชันหาคู่ กลายเป็นว่าต้องแอบใช้ ก็ยิ่งทำให้บอกใครก็ไม่ได้ว่าวันนี้จะไปเดตกับใครหรือคุยกับใครอยู่ เราว่าแบบนี้อันตรายมากกว่าอีก 

ถ้าคุณไม่อยากใช้ก็ไม่ต้องใช้ แต่ถ้าอยากจะใช้ แค่ยอมรับว่ามันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของจุดเริ่มต้นในการสร้างความสัมพันธ์ในยุคปัจจุบัน เท่านั้นเอง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save