fbpx

ถ้าไม่รักกัน ขอแค่อย่าหลอก(เอาเงิน)ฉัน : พิศวาสอาชญากรรม ภัยร้ายลวงหัวใจในยุคดิจิทัล

กาลครั้งหนึ่ง ในประเทศที่เต็มไปด้วยคนเหงา..

“ถ้าจะให้เล่าคือมีผู้หญิงคนหนึ่ง ทำงานในหน่วยงานราชการ อายุอยู่ในช่วงปลายทางของอาชีพ หน้าที่การงานเติบโตไปแทบจะสุดทางแล้ว ใกล้เกษียณแล้ว มีตำแหน่งใหญ่ สถานะทางเศรษฐกิจมั่นคงดี ครอบครัวตัวเองก็ยิ่งใหญ่ พูดง่ายๆ ว่าเป็นคนที่มีทุกอย่างครบถ้วนในชีวิต

“ขาดอยู่แค่เรื่องเดียว คือเรื่องคู่ชีวิต เรื่องความรักที่จะมาเติมเต็มหัวใจ

“วันหนึ่งมีอีเมลส่งมาหาผู้หญิงคนนี้ แนะนำตัวว่าเป็นวิศวกร ทำงานอยู่บนแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล เหงามากจึงอยากหาเพื่อนคุยทางจดหมาย ซึ่งมันตรงกับชีวิตผู้หญิงพอดี ในอดีตตอนเขาเป็นสาวๆ ก็มีวัฒนธรรมเพื่อนทางจดหมายเหมือนกัน พวกเขาเลยคุยอีเมลกันมาเรื่อยๆ อารมณ์เหมือนหนังเรื่อง You’ve Got Mail ของเม็ก ไรอัน กับทอม แฮงส์

“พอมาถึงระดับที่มีความผูกพัน กลายเป็นคนรักกัน ถึงไม่เคยเจอหน้า แต่ฝั่งผู้หญิงก็โอเคกับการมีความสัมพันธ์โรแมนติกแบบนี้นะ เพราะเขารู้สึกว่าตัวเองมีข้อบกพร่องเหมือนกัน พอมีอายุแล้ว ก็ไม่อยากให้อีกฝ่ายมาเห็นรูปลักษณ์ทางกายของตัวเอง เลยอยู่คุยกันไปแบบนั้น

ต่อมา ฝ่ายวิศวกรก็บอกว่าเขาเห็นโอกาสการลงทุนในธุรกิจหนึ่ง เลยวางแผนจะนำเงินเก็บทั้งชีวิตที่ทำงานบนแท่นขุดเจาะมาลงทุน แล้วย้ายมาอยู่ในประเทศไทย จะได้อยู่ใกล้ชิดกันมากขึ้น ผู้หญิงคนนี้เห็นดีด้วย อยากให้อีกฝ่ายมาใช้บั้นปลายชีวิตที่ประเทศไทย ในจังหวัดที่ชาวต่างชาติชอบมาอยู่กัน เพราะตัวเองก็ใกล้เกษียณ จะได้มีอะไรทำเหมือนกัน พวกเขาเลยวางแผนสร้างบ้าน ทำธุรกิจร่วมกัน มีการติดต่อโอนเงินให้ไปเรื่อยๆ

“จนมาถึงจุดหนึ่งที่ได้เงินเยอะแล้ว จู่ๆ วิศวกรที่วาดฝันร่วมกันก็หายตัวไป

“ผู้หญิงคนนี้เศร้ามาก เศร้าจนญาติเริ่มเห็นความผิดปกติ เลยพยายามเข้ามาสอบถาม ตอนแรกถามถึงเรื่องการเงิน ถามไปถามมาจึงรู้ว่าเงินเก็บของผู้หญิงหมดแล้ว แต่ความโศกเศร้าไม่ใช่เพราะเรื่องเงินเก็บ เป็นเพราะไม่เข้าใจว่าทำไมคนที่คุยอยู่หายไป เขาไม่รู้ว่าจะปรึกษาใคร พอปรึกษาญาติกับเพื่อน ทุกคนก็บอกว่าโดนหลอกแล้ว ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังไม่เข้าใจนะ รู้สึกว่าคนพวกนี้อิจฉาเขา ไม่คิดว่าเขาจะมีความรักดีๆ ในบั้นปลายชีวิตใช่ไหมล่ะ ก็เหมือนเพื่อนเราที่มีแฟนเลวๆ พอเราไปด่าแฟนมัน มันก็ไม่เชื่อเรานั่นแหละ

“สุดท้าย ทุกคนเลยแนะนำว่าถ้าไม่เชื่อว่าเขาหลอก ก็บอกให้ตำรวจไปตามหาคนหายดู จะได้รู้ว่ามีตัวตนจริงไหม ตำรวจที่เข้ามาเกี่ยวข้องก็พอจะรู้สูตร บอกว่าคุณน่าจะโดนหลอกแล้วล่ะ ถึงจะพยายามช่วยหาให้ว่าเป็นใคร แต่ก็ไม่ได้เจอตัวคนที่อ้างว่าเป็นวิศวกร และไม่ได้เงินกลับมา”

และแล้วเรื่องนี้ก็สอนให้รู้ว่า ในศตวรรษที่ 21 มีคนที่จับจ้องขโมยหัวใจพร้อมเงินในบัญชีของคุณอยู่ในโลกดิจิทัลเสมอ

เราเรียกพวกเขาว่าอาชญากร — ผู้ก่อ ‘พิศวาสอาชญากรรม’ (Romance Scam)


Romance scam : หลอกเอาเงิน ลวงทั้งใจ


เรื่องราวความรักไม่สมหวังของ ‘ผู้หญิงคนหนึ่ง’ ข้างต้นนั้นเป็นเรื่องเล่าจาก รศ.ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ศึกษาวิจัยเรื่องพิศวาสอาชญากรรม ในฐานะคดีไซเบอร์ที่ถึงแม้จะมีปริมาณคดีร้องเรียนต่อปีไม่เยอะ แต่จำนวนความเสียหาย ทั้งในแง่ความเสียหายรายบุคคล และผลรวมความเสียหายต่อปี กลับสูงยิ่งกว่าการหลอกลวงประเภทอื่นๆ ในโลกอินเทอร์เน็ตรวมกันเสียอีก

โดยข้อมูลส่วนหนึ่งถูกยืนยันในรายงาน ‘ข้อจำกัดของกระบวนการยุติธรรมเพื่อป้องกันและปราบปรามพิศวาสอาชญากรรม (Romance Scam) และแนวทางสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน’ ของทศพลเอง ว่า สถิติของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) วันที่ 21 มิถุนายน 2561 – 31 พฤษภาคม 2562 มีผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์จำนวน 332 ราย แต่มูลค่าเสียหายมากถึง 193 ล้านบาทเลยทีเดียว

“พอทำการศึกษา เราพบว่าคนไม่ได้เสียแค่เงินเท่านั้น แต่ยังมีเคสที่เสียชีวิตด้วย” ทศพลเสริม

“เรื่องนี้ผมได้ยินมาอีกทีนะ คนที่ถูกหลอกน่ะมีสามีแล้ว แต่แอบมาคุยกับคนอื่น สร้างความสัมพันธ์กัน โอนเงินให้กัน เสียทรัพย์จนคู่ของเขาผิดสังเกต มาถามคาดคั้นเลยรู้ว่าเอาเงินไปให้ชู้ออนไลน์ ทะเลาะกันบ้านแตก หย่าร้าง คนคนนี้ก็เคว้งคว้าง ไม่มีเงินเหลือแล้ว คนรักใหม่ในโลกออนไลน์ที่คาดว่าจะพึ่งได้ กลับติดต่อไม่ได้ หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย

“พอตัวเองกลับไปหาสามี ลูก ไม่ได้ ชีวิตล่มสลายทั้งการเงินและความสัมพันธ์ หน้าที่การงานพังหมด สุดท้ายจึงตัดสินใจฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหา” 

ปัญหาที่ตามมาจากการถูกหลอกลวงบางครั้งก็ไม่ได้มาแค่ในรูปแบบความล้มเหลวด้านความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด หรือความเสียหายด้านทรัพย์สิน แต่ยังรวมถึงการมีคดีความติดตัว “เคยมีเคสประเภทที่ใช้เงินบริษัทมาหมุน เหยื่อเป็นคนทำงานด้านบัญชี การเงิน คงไปเล่าให้อาชญากรฟังจนอีกฝ่ายรู้ว่ามีเงินสดผ่านมือ เลยชวนมาลงทุน ไว้ได้ผลตอบแทนจะคืนให้ ครั้งแรกๆ ก็ให้ค่าตอบแทนจริง ให้ไปหมื่นหนึ่ง ได้กลับคืนมาสองหมื่น หลอกล่อต่อไปเรื่อยๆ จนเหยื่อเงินขาดแล้วหาคืนไม่ทัน ก็โดนฟ้องร้องคดียักยอกทรัพย์เพราะใช้เงินบริษัทไปหมุน

“เรื่องแบบนี้มีตั้งแต่ระดับบริษัทเล็กๆ ยันระดับบริษัทใหญ่ สูญเงินไปกว่าสองพันล้าน นอกจากเสียใจ เสียเงิน ยังติดคุกอีก ความสัมพันธ์เองก็พังแน่นอน”

ตัวอย่างที่ยกมาน่าจะทำให้หลายคนพอเห็นภาพของ ‘พิศวาสอาชญากรรม’ หรือ Romance Scam มากขึ้นว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร ทศพลให้นิยามว่าอาชญากรรมประเภทนี้ “เป็นการหลอกลวงทำให้คนมีความสัมพันธ์ทางใจ อารมณ์ความรู้สึกผูกโยงกับคนที่มาหลอก ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความสัมพันธ์แค่เรื่องโรแมนติก ความสัมพันธ์เชิงชู้สาวอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงเรื่องความสงสาร เห็นอกเห็นใจ ผูกพันกับอาชญากรจนเกิดความไว้วางใจ หลงเชื่อสิ่งที่เขาล่อลวงมา เช่น การลงทุน การสร้างอนาคตร่วมกัน การช่วยให้พ้นผิดติดสินบน กระทั่งชักชวนไปสู่การเปิดเผยข้อมูลลับๆ อย่างรสนิยมทางเพศ กิจกรรมทางเพศ ทั้งหมดทั้งมวลคือนำไปสู่แผนประทุษกรรม มุ่งหวังผลประโยชน์ทางทรัพย์สิน เช่น ได้เงิน โดยบอกให้โอนมา หรือรีดไถกรรโชกทรัพย์ก็ได้”

โดยส่วนมาก เรามักจะเห็นความสัมพันธ์เชิงชู้สาวระหว่างเหยื่อและอาชญากรมากกว่าความสัมพันธ์ประเภทอื่นสมชื่อ Romance Scam เพราะเป็นความสัมพันธ์ที่ทำให้คนเชื่อใจง่าย อาชญากรเห็นกลุ่มเป้าหมายชัดเจน “แต่จริงๆ มันสามารถสร้างความผูกพัน หลงใหลได้อีกหลายรูปแบบ” ทศพลอธิบาย

“เช่น ถ้าเป็นคนอายุต่างกันมากๆ บางทีเหยื่อก็รักเป็นลูกเป็นหลาน หรืออาชญากรอาจจะอ้างตัวว่าเป็นมูลนิธิของคนรักหมา รักแมว รักเด็ก ก็จะทำให้คนมีอารมณ์ร่วม อยากนำเงินไปช่วยเหลือ บางคนก็มาในรูปแบบอยากได้ทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาชีวิต หลากหลายมาก แต่หลักๆ คือทำให้เราเกิดภาวะ ‘ใจบาง’ ที่ทำให้ดุลยพินิจ วิจารณญาณในการตัดสินใจเรื่องทางการเงินต่ำลง โดยธรรมชาติของมนุษย์เรา เรื่องการเงินเป็นเรื่องที่เหนียว ตัดสินใจยากนะ แต่ถ้าเกิดความเชื่อใจ วิจารณญาณจะหายไปเลย”

อันที่จริง การใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ในโลกปัจจุบันของเราล้วนมีความเสี่ยงจากบรรดามิจฉาชีพไซเบอร์มากมายอยู่แล้ว ทั้งหลอกให้ลงทุน หลอกให้คลิกลิงก์ หลอกซื้อของ หลอกเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ฯลฯ คำถามคือแล้วจะจำแนกพิศวาสอาชญากรรมออกจากการหลอกลวงในอินเทอร์เน็ตประเภทอื่นๆ อย่างไร

ทศพลให้คำตอบแก่เราว่าสิ่งที่แตกต่างสำหรับพิศวาสอาชญากรรมคืออาชญากรจ้อง ‘ขโมยใจ’ เราก่อนเป็นลำดับแรก แล้วค่อยเผยให้เห็นเจตนามุ่งหวังทรัพย์สินของเราผ่านการชักจูงแบบต่างๆ

“Romance Scam ต่างจากอาชญากรรมหลอกหลวงอื่นๆ คืออาชญากรจะอำพรางเป้าประสงค์เรื่องผลประโยชน์ทางการเงินหรือทรัพย์สิน ด้วยการมุ่งสร้างความสัมพันธ์ทางใจกันก่อน พอมีความสัมพันธ์ทางใจปุ๊บ เรื่องอื่นก็ได้หมดแล้ว นำไปสู่การหลอกลวงประเภทอื่นๆ ตามมา”

แต่แน่นอนว่า วิธีการ ‘ขโมยใจ’ ใครสักคนคงไม่ได้ทำกันง่ายๆ เราจึงขอให้ทศพลเล่าว่าจากการศึกษาของเขาพบกระบวนการและกลเม็ดเด็ดพรายอะไรบ้างจากมิจฉาชีพเหล่านี้

“เขาจะออกแบบตัวเองก่อนว่าจะใช้ภาพลักษณ์ไหนเจาะกลุ่มเป้าหมายใด เหมือนทำมาร์เก็ตติงเลยว่าอยากจะตีตลาดไหน สมมติจะตีตลาดเอเชีย ก็มาดูต่อว่าจะเลือกตลาดเพศไหน เป็นผู้หญิงชอบผู้ชาย ผู้ชายชอบผู้หญิง หรือกลุ่ม LGBTQ+ หญิงชอบหญิง ชายชอบชาย พอกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ ก็เริ่มเรียนรู้ว่าคนเหล่านี้มองหาอะไร แล้วทำตัวแบบนั้น

“เช่น ถ้าเป็นผู้หญิง อาจจะมองหาผู้ชายที่ดูภูมิฐาน อบอุ่น แต่ถ้าเป็นผู้หญิงที่สูงวัยแล้วร่ำรวยด้วย ก็อาจจะใช้พล็อตพิเศษ เพราะบางทีผู้หญิงอายุเยอะ มีหนุ่มหล่อไปจีบก็อาจจะไม่ไว้ใจ ไม่คิดว่าเป็นเรื่องจริง too good to be true เขาเลยจะสร้างภาพว่าตัวเองเพียบพร้อมแทบทั้งหมด แต่ยังมีข้อเสียอยู่บ้าง แล้วค่อยเข้าไปจีบ เพื่อให้เหยื่อรู้สึกว่าเขามีข้อเสีย เราก็มีข้อเสีย แต่เรายอมรับกันได้ ช่างเป็นคู่ที่เพอร์เฟกต์เหลือเกิน”

ถัดจากการเลือกตลาดของเป้าหมาย สร้างโปรไฟล์ด้วยรูปภาพปลอม ก็มาสู่การทำงานเชิงลึก คือศึกษาเหยื่อรายบุคคลที่ตนเองต้องการเข้าหา “เหยื่อมักจะเปิดเผยข้อมูลของตัวเองอยู่แล้ว เพราะแพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์กหรือแพลตฟอร์มหาคู่จำนวนมากเรียกร้องให้คนใส่ข้อมูลส่วนบุคคลที่อ่อนไหวและอันตรายลงไปในระบบ เช่น เกิดวันที่เท่าไหร่ พออาชญากรรู้แล้วก็มาแฮปปี้เบิร์ดเดย์ ทำเซอร์ไพรส์ เกิดเป็นความรู้สึกดีๆ บอกว่าชอบกินอะไร เขาก็หามาให้ ชอบดูหนังฟังเพลงแบบไหน เขาก็ทำการบ้านมาแล้วชวนคุยได้ คอยส่งเพลงให้

“กระทั่งดูได้ว่าเราเหงาไหม มีเพื่อนหรือเปล่า เวลาโพสต์มีคนมากดไลก์ คอมเมนต์ไหม ถ้าโพสต์เต็มไปหมดแต่ไม่มีใครไลก์เลย แสดงว่าคนนี้เปลี่ยวแน่นอน พอเรียนรู้เป้าหมายก็จะเริ่มเข้ามาสร้างความสัมพันธ์ ซึ่งจุดนี้แล้วแต่ทริกของแต่ละคน มีตั้งแต่เริ่มทักก่อน หรือเข้าไปกดไลก์เรื่อยๆ รอให้เหยื่อทักมาเอง

“พอเริ่มสานสัมพันธ์ก็จะมีอยู่ประมาณ 3-4 พล็อต ที่อาชญากรเขาฮิตๆ กัน หนึ่ง เป็นวิศวกรอยู่ในที่ห่างไกล ไปขุดเจาะน้ำมันอยู่บนแท่น ไม่ค่อยได้เจอใครเลยต้องมาหาคู่ออนไลน์ หรือเป็นทหารในที่ห่างไกล เหงา ไม่มีใคร หรือเป็นพ่อม่ายแม่ม่ายกำลังมองหาคนรู้ใจ หรือเป็นนักธุรกิจที่ไม่อยู่กับที่ ต้องมาหาคู่ออนไลน์ ค่อยๆ สร้างความสัมพันธ์ เรียนรู้ว่าเหยื่อมองคนแบบไหนว่าดี น่าไว้วางใจ มีเสน่ห์ แล้วเริ่มโปรยเสน่ห์ด้วยการทำตัวเป็นคนดี 7 ประการ”

ทศพลเคยแจกแจงคุณลักษณะของคนดี 7 ประการสำหรับการมัดใจเหยื่อไว้บนเวทีเสวนา ‘พิศวาส อาชญากรรม : แนวทางป้องกันและปราบปราม’ ว่าประกอบไปด้วย การเป็นคนดีมีศีลธรรม, เป็นเนื้อคู่ที่ไว้ใจได้ของคุณ, มาจากครอบครัวที่ดี มีการศึกษาสูง, มีเสน่ห์ น่าหลงใหล, มองคุณเป็นคนสำคัญ, มองว่าคุณมีคุณค่า น่ายกย่อง และเป็นคนที่รู้จักสำนึกบุญคุณ 

“หรือถ้าอาชญากรเจอว่าคนไหนหน้าเงิน ติดนิสัยรวย เขาก็จะใช้พล็อตโชว์ความป๋า ความใจสปอร์ต  supportive ทั้งเศรษฐกิจและอารมณ์ความรู้สึก” ทศพลกล่าว ซึ่งไม่ว่าเราจะตกหลุมพรางด้วยความเป็น ‘คนดี’ หรือ ‘คนรวย’ สุดท้ายก็จะนำไปสู่แผนประทุษกรรมเหมือนกันทั้งสิ้น

“พอสร้างความสัมพันธ์เสร็จ เขาจะเริ่มสร้างสถานการณ์บางอย่างขึ้นมา แบบแรกคือถ้าเขารู้สึกว่าเหยื่อคนนี้ให้เงินยาก ก็จะพยายามทำให้ได้ความลับหรือข้อมูลก่อน มี sex call พิมพ์แชทลามก ให้ส่งภาพวาบหวิวเพื่อนำมารีดไถ กรรโชกทรัพย์ภายหลัง

“แบบที่สอง คือการหลอกลวงให้ได้ทรัพย์มาตรงๆ จะเร่งเร้า บอกว่าส่งของขวัญมาให้แต่ติดด่าน ตม. ต้องใช้เงินไปเคลียร์กับเจ้าหน้าที่ ช่วยโอนเงินให้เจ้าหน้าที่คนนั้นคนนี้ในประเทศคุณหน่อย หรือชวนมาลงทุนร่วมกัน เขาจะลงเงินให้ก่อน สักพักให้คุณลงเงิน แล้วเขาก็ย้ายไปลงทุนที่อื่นเพิ่ม ขอให้ช่วยส่งเงินมาเพิ่มด้วย

“แบบที่สาม ชวนมาสร้างอนาคตร่วมกัน จะสร้างบ้านเพื่อใช้ชีวิตร่วมกัน พอถึงวันจริง หาย อ้างว่าโดนลักพาตัวบ้าง โดนจับกุมคุมขัง ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม

“แบบท้ายสุด คือแบบทำงานกันเป็นทีม เมื่อฝั่งเหยื่อเกิดความไม่ไว้ใจหรือความกังวลเลยอยากเจอตัวเป็นๆ  เขาจะนัดพบกัน แต่ไม่ได้เจอตัวนะ ไปเจอเพื่อน เจ้าหน้าที่ หรือคนที่ทำงานร่วมกันแทน อย่างถ้าเป็นพล็อตนักธุรกิจใหญ่ก็จะมีเจ้าหน้าที่สถานทูต สถานกงสุลมาเจอ หรือถ้าเป็นคนลับๆ ชวนเราไปทำอะไรสีเทาๆ หน่อย ก็เจอเป็นเจ้าหน้าที่มาเคลียร์เรื่องทางการเงินให้ แล้วแต่ครับ แต่พวกนี้พอนัดเจอแล้วไม่ได้เจอก็อาจจะมีข้ออ้างทำให้เสียเงินเพิ่มเติม เช่น ฉันติดคุก อยากได้ขอความช่วยเหลือเพิ่ม”

หลังได้เงินตามที่ต้องการจากเหยื่อเรียบร้อย ส่วนใหญ่อาชญากรจะเลือกหนีหน้า ไม่ติดต่อกลับมาอีก แต่ถ้าพบว่าเหยื่อมีอาการ ‘เล้าหลือ’ งอนง้อ พยายามติดต่อตามหาตัว ยังมีความรู้สึกดีๆ ต่อกัน รวมถึงยังมีทรัพย์สินให้รีดไถได้เพิ่มเติม เหล่าสแกมเมอร์ก็อาจกลับมาพูดคุยกับเหยื่อโดยอ้างว่าเพิ่งไปติดคุกมา ต้องไปเสี่ยงภัย หรือหนีไปกบดานเพราะเหตุผลบางอย่าง “บ้างก็บอกว่าเพราะคุณเริ่มไม่เชื่อใจฉัน ฉันเลยเสียใจมาก เอาความรู้สึกผิดมาโยนให้เหยื่ออีก

“มีเคสที่บอกกันตรงๆ ด้วยว่าจริงๆ ฉันเป็นอาชญากร ฉันหลอกคุณมาทั้งหมด แต่ตอนนี้ฉันขอกลับใจแล้ว เพราะความดีของคุณทำให้จิตใจของอาชญากรคนหนึ่งเปลี่ยนไป อยากจะเริ่มต้นใหม่กับคนดีๆ อย่างคุณที่ให้โอกาสเรา เหยื่อก็จะรู้สึกว่า โห ความรักของเรามันยิ่งใหญ่มาก ทำให้โจรคนหนึ่งเปลี่ยนใจได้ เคสแบบนี้นี่ทุ่มให้หมดตัวเลย” ทศพลเล่า  

“ประเด็นคือถ้าอาชญากรคิดว่าเหยื่อยังมีทรัพย์ให้ดูดอยู่ ก็จะกลับมาหา ตอนที่ไปอาจจะเป็นเพราะความรู้สึกผิดนิดๆ หรือรู้สึกว่าได้เงินแล้ว กลัวโดนแจ้งความ โดนจับ หรือโดนบล็อก พอกลับมาเขาจะลองทดสอบดูก่อน ถ้าเห็นเหยื่อเล้าหลือเขาก็ดูดทรัพย์ต่อ”

สิ่งที่น่าตกใจคืออาชญากรประเภทนี้มักมีเบื้องหลังเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติขนาดใหญ่ ซึ่งใช้ช่องโหว่ด้านการดำเนินคดีระหว่างประเทศและข้อได้เปรียบตามธรรมชาติโลกออนไลน์มาหลอกลวงเหยื่อ โดยทศพลระบุว่าเราได้ข้อมูลส่วนนี้มาจากการศึกษาเส้นทางการโอนเงินเข้าบัญชีอาชญากรแล้วถูกส่งต่อข้ามประเทศ รวมถึงมีสแกมเมอร์จำนวนหนึ่งที่ ‘กลับใจ’ จริงๆ มาให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่รัฐและผู้สื่อข่าว

“เขาคัดเลือกคนเข้าทีมแล้วอยู่กันเป็นตึกเลย ใครทำงานได้ดีจะมีการยกระดับเหมือนพนักงานบริษัท พวกขั้นต้นอยู่ชั้นล่างสุด ใช้โทรศัพท์คนละห้าเครื่อง วันหนึ่งต้องติดต่อหลายคน ส่งข้อความออกไปเยอะๆ ด้วยแพทเทิร์นเดิมๆ พอขึ้นไปชั้นสองเป็นคนที่เริ่มเก่งหน่อย คุยเป็น มีพล็อตของตัวเอง วันหนึ่งไม่ต้องทำงานเยอะ แต่คุยยาวๆ เหมือนจีบจริงๆ เลือกเหยื่อตัวใหญ่ๆ ที่คัดมาแล้วว่าเหยื่อแบบนี้หลอกไม่ดีจะพลาด ตัวเล็กๆ ชั้นล่างเลยส่งเคสให้ตัวข้างบน”

ทีมอาชญากรดังกล่าวมักกบดานอยู่แถวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ดังที่ปรากฏในบทความวิจัยของ Ahmad Safwan Hamsi และคณะ เรื่อง ‘Cybercrime over Internet Love Scams in Malaysia: A Discussion on the Theoretical Perspectives, Connecting Factors and Keys to the Problem’ ว่ามีแก๊งสแกมเมอร์ใช้พื้นที่ในประเทศมาเลเซียก่ออาชญากรรมในโลกออนไลน์ และบางครั้งก็ใช้วีซ่านักศึกษาแฝงตัวอยู่ในมหาวิทยาลัย

“พวกองค์กรข้ามชาติจะส่งตัวแทนเข้ามาเปิดบัญชีในไทย พอเงินเข้ามาก็กด ATM แถวชายแดน หอบเงินออกไปที่แหล่งกบดาน รอดจากเขตอำนาจของรัฐไทย ซึ่งก็มีการพูดกันว่าบางทีเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ก็หลับตาข้างหนึ่ง เก็บส่วยกันไป”

ในสายตาของทศพล โมเดลการก่อพิศวาสอาชญากรรมเป็นขบวนการเช่นนี้ แลดูคล้ายคลึงกับโมเดลธุรกิจขายตรง ในแง่ที่สมาชิกแต่ละคนต้องทำเงินหรือหาเหยื่อรายใหม่ให้ได้ถึงยอดที่กำหนดไว้ ไม่งั้นอาจถูกไล่ออกหรือองค์กรจะไม่สามารถอยู่ได้ ต่างกันเพียงแค่คนเหล่านี้ ‘อำมหิต’ กว่ามาก

“มันรู้ทั้งรู้ว่าไปหลอกคนอื่น แต่ไม่สน ขอเพียงทำยอดให้ถึงก็พอ คนที่เป็นตัวท็อปๆ เวลารีดทรัพย์คนหนึ่งนี่รีดหมดตัวเลยนะ เมื่อเทียบกับอาชญากรประเภทอื่น สแกมเมอร์กลุ่มนี้อาจจะหลอกใครไม่ได้เลยเป็นสัปดาห์ แต่ถ้ามาแจ็กพ็อตแตกได้หนึ่งคน โบ้ม! ได้เงินทีละยี่สิบล้าน สี่สิบล้าน มันก็อยู่ได้”


เหยื่อพิศวาสอาชญากร ภาพสะท้อนสังคมไทย


หากถอยออกมามองในภาพกว้าง เราอาจพบว่านอกจากพิศวาสอาชญากรรมจะมีการวางแผนและทำเป็นองค์กรที่มีโครงสร้างอย่างชัดเจนแล้ว มันยังเป็นอาชญากรรมไซเบอร์ที่เกิดขึ้นแทบทุกแห่งทั่วโลก โดยมีลักษณะของเหยื่อเป็นไปในแนวทางเดียวกันอีกด้วย

ในงานวิจัยเรื่อง ‘สื่อใหม่ ภัยเดิม เพิ่มเสี่ยง: พิศวาสอาชญากรรมกับการบริหารอาชญากรรมหลอกลวงของรัฐสมัยใหม่’ ของปัทชา ศึกษากิจ และคณะ ซึ่งมีทศพลเป็นส่วนหนึ่ง เผยแพร่เมื่อปี 2563 ว่าเหยื่อของพิศวาสอาชญากรรมมักเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย อายุเฉลี่ย 40-60 ปี สถานภาพโสด หย่าร้างหรือเป็นม่าย และเป็นคนใจอ่อน

“ถ้ามองในมิติของวัยจะเห็นชัดเจนว่าความรู้เท่าทันด้านดิจิทัลของแต่ละเจเนอเรชันไม่เท่ากัน เจน X นี่จะโดนหลอกกันเยอะ เขาไม่เท่าทันเมื่อเทียบกับเจนที่เกิดมาพร้อมเทคโนโลยีแน่นอน และเขามั่งคั่ง มีเงินเยอะด้วย ยิ่งเป็นคนแบบ work hard play harder นี่ยิ่งเสี่ยงเลย อย่างคนเจน Y เป็นต้นไปอาจจะโดนหลอกยากหน่อย ถ้าโดนก็จะโดนแบบเบี้ยหัวแตก ไม่ใช่การเสียเงินก้อนใหญ่เหมือนคนเจนเก่าๆ” ทศพลวิเคราะห์ และเพิ่มเติมว่าอันที่จริง ไม่ใช่แค่ปัญหาความไม่เท่าทันเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ธรรมชาติของแพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์กเอง ก็เป็นปัจจัยส่งเสริมให้ผู้ใช้งานตกเป็นเหยื่อได้เช่นกัน

“เราสามารถแบ่งแพลตฟอร์มได้สองแบบ คือ ‘Look at This’ กับ ‘Look at Me’ ถ้าแพลตฟอร์มแบบ ‘Look at Me’ จะเต็มไปด้วยการใส่ข้อมูลส่วนตัวที่อ่อนไหว และพฤติกรรมของตัวเองลงไป อย่างเฟซบุ๊ก ไอจี อาชญากรจะสามารถนำมาเป็นฐานข้อมูลเข้าหาเหยื่อได้ ต่างจากแพลตฟอร์มแบบ ‘Look at This’ เช่นทวิตเตอร์ที่คนเจนใหม่ชอบใช้ เป็นแพลตฟอร์มที่เรามีเรื่องสนใจร่วมกันเลยมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน โดยไม่บอกตัวตนของเราก็ได้ จะใช้อวตาร์อื่นๆ ก็ได้ ซึ่งอาชญากรก็ไม่รู้ว่าจะหลอกใครเพราะมีแต่อวตาร์เต็มไปหมด”

แม้จะเป็นธรรมดาที่คนเราอยากบอกเล่าเรื่องราวของตนเองให้ผู้อื่นรับรู้ผ่านโซเชียลแพลตฟอร์ม แต่ทศพลมองว่าสังคมไทยยังตระหนักถึงเรื่องการปกป้องข้อมูลส่วนตัวต่ำ เรามักชอบโชว์ความสำเร็จ เช็กอินสถานที่ต่างๆ ให้คนในโซเชียลรับรู้ โดยไม่ทันระวังว่าใครจะหยิบฉวยข้อมูลของเราไปใช้ประโยชน์หรือไม่ นอกจากนี้ อาจไม่ทันตระหนักว่าการเข้ามาอยู่ในโลกดิจิทัลแพลตฟอร์ม ทุกสิ่งที่กรอกลงในแอคเคาต์ตนเองล้วนเป็นการบันทึกทั้งสิ้น และโซเชียลแพลตฟอร์มมีโอกาสใช้อัลกอริทึม ‘แมทช์’ คนที่มีรสนิยมใกล้เคียงมาอยู่ด้วยกัน เกิดเป็นเหตุการณ์ ‘อัลกอริทึมลิขิต’ ให้พบพานกับอาชญากรที่ปลอมประวัติตัวเองเพื่อค้นหาคนแบบเราก็ได้

นอกเหนือไปจากการวิเคราะห์ด้านอายุและความรู้เท่าทันเทคโนโลยีข้างต้น เมื่อมองในมุมของเพศ การที่มีผู้หญิงตกเป็นเหยื่อพิศวาสอาชญากรรมมากกว่าชาย ทศพลกล่าวว่าเป็นเพราะสังคมมักตั้งคำถามว่าผู้หญิงอายุมากที่อยู่ตัวคนเดียวนั้น ‘มีปัญหาหรือเปล่าวะ?’

“เราพบว่าผู้หญิงอายุประมาณ 40-50 ปลายๆ ที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและเศรษฐกิจยังถูกตั้งคำถามอยู่เสมอว่าคุณมีคู่หรือมีความรักบ้างไหม สังคมคาดหวังกับผู้หญิงเยอะ พอเขาประสบความสำเร็จด้านการงานก็คาดหวังให้เขาทำได้ดีในเรื่องอื่นๆ ด้วย ต้องเป็นแม่ เป็นคนรัก เป็นกุลสตรีที่ดีด้วย แต่พออายุเริ่มมากขึ้น โอกาสในการหาคู่สำหรับผู้หญิงมันก็ไม่ง่าย สังคมไทยจะรู้สึกไม่ค่อยดีกับผู้หญิงสูงอายุที่ไปออกงาน ประกาศตัวว่าอยากหาคู่ ฉันอายุ 50 แล้วยังโสดอยู่ มาจีบฉันหน่อย

“เมื่อเทียบกับผู้ชายอายุ 40 ปลาย ประสบความสำเร็จทุกอย่างแล้วบอกอยากหาคู่นี่ ทุกคนจะเรียกแด๊ดดี้ เป็นที่ต้อนรับ และสังคมยินดีให้ผู้ชายเปิดเผยเรื่องการใช้เงินซื้อความสัมพันธ์มากกว่า ถ้าไม่ซื้อบริการทางเพศก็อาจเป็นการซื้อความผูกพันทางใจอื่นๆ ตั้งแต่ระดับซอฟต์ๆ อย่างใช้เงินเลี้ยงคนที่ทำงานหรือคนใกล้ชิด เป็นโอตะคุไอดอล ไปจนถึงติดเด็กเลาจน์

“สำหรับผู้หญิงนี่กลับกัน ทำให้ผู้หญิงต้องไปหาคู่แบบแอบๆ หรือรอให้มีคนทักเข้ามาคุยในช่องทางสองต่อสอง ซึ่งจุดนี้อันตรายเพราะคนในครอบครัว พี่น้อง เพื่อนสนิท จะไม่มีทางรู้เลยจนกว่ามันจะพังแล้วเขาไปปรึกษา  บางทีที่บอกว่าพังนี่ไม่ใช่เรื่องการโดนหลอกด้วย เงินน่ะหายไปเยอะ แต่เขามักจะปรึกษาว่าคนรักหายไป จะตามหาคนหายได้ยังไง หรือจะแก้ไขความสัมพันธ์นี้ยังไง ฉันทำอะไรผิดไป ตำรวจบอกเลยว่าหลายคนที่มาแจ้งความเพราะอยากตามหาคนหาย เพื่อที่จะรื้อฟื้นความรัก ไม่ใช่จะเอาเงินคืน นี่ทำให้เห็นชัดเลยว่าการหลอกลวงสร้างความผูกพันทางใจมันเวิร์กสำหรับอาชญากร”

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ คือเหยื่อหลายคนมองหาคู่รักชาวต่างชาติ ซึ่งอาจจะสะท้อนรสนิยม หรือกระทั่งความคาดหวังเรื่องการยกระดับชีวิตของคนไทยได้เป็นอย่างดี

“เห็นชัดเจนเลยว่าผู้หญิงวัย 45 อัป มีสเปคแบบคอเคซอยด์ เป็นคนขาว ฮอตฮิตนัมเบอร์วันแทบไม่หลุดตีม” ทศพลกล่าว “ซึ่งบางทีเราก็รู้สึกแปลกๆ เพราะเท่าที่เคยสัมภาษณ์มาหลายเคส อาชญากรที่ปลอมตัวเป็นหนุ่มคนขาวนี่พิมพ์ภาษาอังกฤษผิดเยอะมาก ถ้าเป็นคนที่มีทักษะภาษาอังกฤษหน่อยคือจะรู้เลยว่าคนขาวไม่พิมพ์ผิดแบบนี้ แต่คนไทยที่โดนหลอกมักจะไม่รู้เพราะตัวเองไม่ได้เก่งมาก และอยากหาเพื่อนคุยภาษาอังกฤษ หรืออยากหาแฟนชาวต่างชาติ

“สมมติถ้าเราทักษะดี จับผิดได้ อาชญากรก็จะมามุกบอกว่า ใช่ จริงๆ ฉันไม่ใช่คนในรูปหรอก ฉันเป็นคนผิวดำ แต่ใครๆ จะมาชอบคนผิวดำอย่างฉันล่ะ เพราะเป็นคนผิวดำเลยภาษาอังกฤษไม่ดี แต่ขอบคุณเธอนะที่ช่วยเตือนฉันว่าภาษาอังกฤษของฉันยังมีปัญหา เพราะงั้นเรามาคุยแบบเปิดหน้ากันเลย กลายเป็นมุกนั้นไปอีก”

ดูเหมือนการคบหาแฟนหนุ่มต่างชาติไม่ใช่แค่ความชอบส่วนตัวของสาวใหญ่กระเป๋าหนาเท่านั้น เพราะทศพลเล่าว่าเมื่อสัมภาษณ์เหยื่อรายเล็กที่เสียเงินไม่มาก ทั้งหมดก็หลงเชื่อเพราะหวังว่าจะได้แต่งงานกับผู้ชายผิวขาวเพื่อย้ายไปอยู่ต่างประเทศ หรือพาสามีจากต่างประเทศมาอยู่ในไทยเช่นกัน “คนเหล่านี้คิดว่าจะต้องโชว์ความ ‘ใจ-ใจ’ ให้ฝรั่งรู้สึกว่าเราไม่ได้ไปเกาะเขา เพราะงั้น คุณให้ฉัน ฉันก็ให้คุณ ฉันกล้าลงทุน โดนลองใจก็ยอมจ่าย กลายเป็นว่าโดนหลอกเลย

“ส่วนผู้ชายนี่ โอ๊ยยย” ทศพลหัวเราะ “หลากหลายเลย ทั้งเซ็กซี่เอย อะไรเอย ภาพลักษณ์แบบไหนก็ได้หมด แต่พล็อตที่ชอบกันมากคือเป็นทหารผิวขาวผู้หญิง ใส่ชุดลายพราง บอกว่าฉันเป็นทหาร ฉันไม่สามารถมีความสัมพันธ์กับทหารคนอื่นในกองทัพได้ ในประเทศฉันต้องรักษามาดไว้ แต่ฉันมองหาชาวต่างชาติที่จะไปใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสงบ ผู้ชายเอเชียได้ยินแบบนั้นก็รู้สึกฮึกเหิมขึ้นมา”

อย่างไรก็ตาม แรงผลักดันอันยิ่งใหญ่ที่สุดที่ทำให้เราตัดสินใจจะหาคนคุยสักคน คิดมุมไหนก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของ ‘ความเหงา’ ซึ่งทศพลเห็นด้วยว่าสังคมของเราเต็มไปด้วยคนเหงามากมาย และโดยปกติความเหงานั้นจะไม่เป็นปัญหาเลยถ้าคนเรารู้จักเลี้ยงมันอย่างถูกวิธี “แต่การที่สังคมมองว่าทำไมคุณเหงาเนี่ยแหละที่เป็นปัญหา ในเมื่อคุณประสบความสำเร็จทุกอย่างแล้ว เรื่องความสัมพันธ์กลับเป็นสิ่งสุดท้ายที่คุณบกพร่อง การมองแบบนี้ทำให้คนต้องออกไปแสวงหาจนตกเป็นเหยื่อ”

นอกจากนี้ ในสายตาของทศพลมองว่าความรู้สึกอีกแบบที่แรงกล้าไม่แพ้ความเหงาในโลกทุนนิยมคือความรู้สึกไร้คุณค่า “คนที่โดนหลอกส่วนหนึ่งตั้งคำถามว่าความหมายของชีวิตคืออะไร เราหาเงินมาเพื่ออะไรในเมื่อไม่รู้จะใช้กับใคร หรือใช้สร้างคุณค่ากับชีวิตคนอื่นไม่ได้ มันจึงไม่ได้มีแค่เคสถูกหลอกลวงด้วยเรื่องชู้สาวเท่านั้น แต่ยังมีเคสช่วยให้เด็กน่าสงสารคนหนึ่งมีอนาคตที่ดี ทำให้คนคนหนึ่งที่มีความมุ่งมั่นอยากทำธุรกิจ มีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิต เราได้ทำอะไรบางอย่างให้คนอื่นเพื่อเติมเต็มตัวเอง เงินของตัวเองที่หามามีความหมายอะไรบางอย่าง พูดง่ายๆ คือใช้เงินซื้อความหมายตอบสนองตัวเองนั่นล่ะ โดยหวังว่าลึกๆ แล้วถ้าเขาทำสำเร็จจะไปป่าวประกาศกับสังคมด้วยว่าฉันทำสิ่งนี้สำเร็จ ฉันมีส่วนช่วยสิ่งนี้

“ความรู้สึกแบบนี้สวนทางกับความเชื่อด้านพุทธศาสนาของสังคมไทยนะ ที่บอกว่าคุณเกิดมาตัวคนเดียว ตายก็ตัวคนเดียว ให้ปล่อยวางเสียเถอะ เป็นสิ่งสะท้อนว่าบางทีความเชื่อทางศาสนาอาจตอบสนองชีวิตมนุษย์ในโลกทุนนิยมไม่ได้ทั้งหมด มนุษย์รู้สึกเคว้งคว้าง ไม่มีคำตอบให้ตัวเองในหลายๆ มิติ ซึ่งอาชญากรก็มาเติมเต็มบางมิติให้ชุ่มชื่นหัวใจ ใจฟูขึ้นมา”


จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน กระบวนการยุติธรรมที่พัฒนาล่าช้ากว่าเทคโนโลยี


เมื่อพิศวาสอาชญากรรมนับเป็นการสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและจิตใจ คำถามคือกระบวนการยุติธรรมในบ้านเราตอนนี้สามารถเอาผิดอาชญากรไซเบอร์เหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน – โชคร้ายที่คำตอบของทศพลคือปัจจุบันแทบจะหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษไม่ได้เลย เนื่องด้วยปัญหาหลากหลายมิติ เริ่มจากทัศนคติที่เหยื่อมีต่ออาชญากร

“เหยื่อจำนวนหนึ่งคิดว่านี่ไม่ใช่อาชญากรรม แต่เป็นความเสี่ยงในแง่การลงทุนและในแง่ความรัก ความรักมันต้องเสี่ยงอยู่แล้ว เหมือนเพลง ‘เล่นของสูง’ ของบิ๊กแอส รู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอลอง หรือ ‘คุกกี้เสี่ยงทาย’ ที่พร้อมจะลุ้นไปกับการแสวงหาความรัก ของแบบนี้คนจะคิดอยู่แล้วว่ามีโอกาสเสียหรือคิดว่าตัวเองโง่เอง

“อีกแบบหนึ่งคือเหยื่อรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้เสียหาย แต่เขาอาจไม่ได้มองว่าฝ่ายตรงข้ามเป็นอาชญากรก็ได้ เพราะเราไปรักเขาเอง เขามาทำให้ชีวิตเรามีความสุขช่วงหนึ่ง ทำให้เราใจฟูช่วงหนึ่งได้ก็ดีแล้ว เงินที่เสียไปก็เหมือนใช้ซื้อประสบการณ์ ซื้อคนเข้ามาเปย์ความสุข เหมือนในเพลง ‘รู้ว่าเขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอก’ บางคนก็บอกว่าคนโง่ย่อมเป็นเหยื่อคนฉลาด”

แต่เมื่อข้ามขั้นความตระหนักรู้ และต้องการแจ้งความ ปัญหาขั้นถัดมาคือเจ้าพนักงานที่รับแจ้งบ้างกล่าวว่าเป็น ‘การให้โดยเสน่หา’ ซึ่งไม่อาจฟ้องร้องเรียกทรัพย์สินคืนได้ ไม่ใช่คดีฉ้อโกง จึงไม่รับแจ้งความให้เป็นคดีค้างใน KPI ก็มี

ต่อประเด็นนี้ ทศพลอธิบายว่าความเสียหายที่เกิดจากการล่อลวงในพิศวาสอาชญากรรมต่างจากนิยามการให้โดยเสน่หาตามหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะการให้โดยเสน่หาต้องมี ‘เสน่หา’ หรือความรู้สึกดีๆ เกิดขึ้นทั้งสองฝั่งในตอนแรกเริ่ม ต่างฝ่ายต่างรักใคร่ชอบพอกันและมีเจตนาที่โปร่งใส ขณะที่การกระทำของสแกมเมอร์แสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีเจตนาหลอกลวงให้เกิดความรัก เพื่อหวังผลประโยชน์ ดังนั้นถือเป็นความผิดในฐานฉ้อโกง และฟ้องร้องเอาทรัพย์สินคืนได้

ที่ผ่านมามีความพยายามอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจเรื่องความแตกต่างดังกล่าวแล้ว ทศพลจึงคาดว่าไม่น่าเกิดความสับสนทำนองนี้ขึ้นอีก แต่ความยากถัดมาของการดำเนินคดีต่อพิศวาสอาชญากร คือการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อฟ้องร้อง เพราะอาชญากรส่วนใหญ่มักใช้เล่ห์เหลี่ยมเจรจาให้เหยื่อลบหลักฐานแชท สลิปโอนเงินทิ้งเป็นระยะๆ นอกจากนี้ เหยื่อบางรายเข้าแจ้งความล่าช้า ทำให้เจ้าของแพลตฟอร์มอาจลบข้อมูลที่ต้องสำรองตามกฎหมายเป็นเวลา 90 วันทิ้งไปหมดแล้ว

“การรวบรวมพยานหลักฐานจึงไม่ง่าย แต่ถ้ารวบรวมได้ พนักงานสอบสวนส่งให้อัยการมาถึงขั้นจะฟ้อง คำถามคือตัวคนหลอกจริงๆ เป็นใคร ส่วนมากเป็นอวาตาร์ทั้งนั้น เพราะงั้นจะสืบหาก็ไม่ง่าย ยิ่งปิดบัญชีไปแล้ว แม้จะอยู่ในประเทศก็หาตัวยาก เพราะต้องขอความร่วมมือจากเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียล”

ยิ่งเป็นอาชญากรข้ามชาติยิ่งมีกระบวนการมากขึ้นเป็นลำดับ โดยต้องขอความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศในการช่วยจับกุม ดำเนินคดีภายในประเทศที่อาชญากรตั้งรกรากอยู่ แล้วค่อยส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนหรือยึดทรัพย์ส่งกลับมา ทั้งนี้ ทศพลกล่าวว่าการขอความร่วมมือดังกล่าวต้องเป็นไปตามหลักกฎหมาย คือคดีที่ร้องขอไปต้องมีฐานความผิดร่วมกันทั้งสองประเทศ สำหรับความผิดฉ้อโกงของกรณีพิศวาสอาชญากรรมนั้นมีแทบทุกประเทศทั่วโลกแน่นอน เพียงแต่ที่ผ่านมา ประเทศไทยมักร้องขอความร่วมมือส่งตัวผู้กระทำผิดด้วยคดีการเมืองที่ไม่ถือเป็นความผิดในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ภาพลักษณ์ประเทศไทยค่อนข้างย่ำแย่ และนั่นอาจส่งผลต่อการขอความร่วมมือต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติเรื่องอื่นๆ ด้วย

ถึงที่สุดแล้ว ทศพลประเมินว่าปัจจุบันการลงโทษผู้กระทำผิดอาจเป็นไปได้ แต่การยึดทรัพย์กลับมาคืนทั้งหมดคงยาก อย่างไรก็ดี นอกจากกระบวนการ ‘ปราบปราม’ จะเต็มไปด้วยอุปสรรค ด้านการ ‘ป้องปราม’ เอง ไทยก็ยังทำได้ไม่ดีนัก

“กระบวนการยุติธรรมเชิงป้องปรามสามารถทำได้ด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 อนุ 1 ที่บอกว่าผู้ใดนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ปลอม บิดเบือน โดยมีเจตนาทุจริตหรือหลอกลวง น่าจะทำให้ประชาชนเสียหาย ผู้พบเห็นสามารถแจ้งเจ้าพนักงานให้รับดำเนินคดี และขอให้ลบบัญชีได้ คล้ายๆ กฎกระทรวง DE ฉบับใหม่ แทนที่รัฐไทยจะนำมาใช้กับเรื่องนี้ กลับเอาไปใช้เรื่องการเมือง”

ยิ่งไปกว่านั้น ทศพลเพิ่มเติมว่ายังมีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานจัดการคดีอย่างเต็มที่ ตัวอย่างเช่น การ phishing เพื่อดึงข้อมูลจากอาชญากรมาดำเนินการจับกุม จนอาจกล่าวได้ว่าอันที่จริง ประเทศไทยล้วนมีกฎหมายที่ใช้ดำเนินคดีกับเหล่าสแกมเมอร์พร้อมหมดแล้ว แต่ปัญหาสำคัญคือความรู้ในการบังคับใช้ และการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่ได้สัดส่วนกับการแพร่ระบาดของอาชญากรรม

“ตอนที่ผมทำงานวิจัยเรื่อง romance scam ปอท. (กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) ยังมีกันแค่ 50 คนกว่าคน เกินครึ่งไปทำคดีการเมือง มีแค่ส่วนน้อยที่มาทำคดีอื่นๆ อย่างฉ้อโกงออนไลน์ หลอกลงทุนคริปโต ตอนนี้เพิ่มกำลังพลเป็นกองบัญชาการเป็น 2,000 กว่าคนแล้ว เราก็ไม่รู้ว่าทำคดีอะไรบ้าง จะไปหนักทางด้านคดีการเมืองเสียเยอะหรือเปล่า” ทศพลเล่า

เขาเสริมว่าด้านหนึ่ง เจ้าหน้าที่ส่วนกลางเหล่านี้รับรู้ถึงปัญหาจำนวนอาชญากรรมไซเบอร์ที่มากขึ้น แต่ปัญหาคือคดีร้องเรียนกันเข้ามาเยอะเกินกว่าที่บุคลากรจะรับไหว สะท้อนให้เห็นถึงการรวมศูนย์อำนาจอย่างชัดเจน เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรอีกหลายแห่ง แม้จะเข้าใจเรื่องอาชญากรรมไซเบอร์ แต่กลับไม่มีความรู้เรื่องวิธีการรวบรวมพยานหลักฐาน เทคนิควิธีการติดตามตัว ประสานงานกับบริษัทเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

“ตำรวจหลายแสนนายที่มีอยู่ในประเทศตอนนี้ไม่ได้พร้อมทำคดีไซเบอร์ ยังถนัดแต่อาชญากรรมแบบดั้งเดิมอยู่”

เมื่อถามถึงแนวทางพัฒนากระบวนการยุติธรรม อย่างแรกที่ทศพลตอบจึงเป็นคำว่า “ความพร้อมครับ” พร้อมเสียงหัวเราะฝืดเฝื่อน “ตำรวจไทยยังไม่ได้ทำการ digital transformation รัฐไทยนี่ช้าตลอด เพราะเรามีโครงสร้างที่ไม่มีการไล่ออก ไม่มีการ reskill upskill ถ้าไม่ทำทั้งความรู้ทางกฎหมาย แผนประทุษกรรม แล้วก็เทคนิควิธีทางนิติวิทยาศาสตร์ดิจิทัล เราไล่ตามไม่ทันแน่นอน งานจะไปโหลดอยู่ที่หน่วยเดียวที่มีความรู้พวกนี้

“ภาครัฐต้องเพิ่มความชำนาญทางกฎหมายและความชำนาญทางเทคนิคให้เจ้าพนักงาน ไม่งั้นถ้ามีปัญหาก็แก้แบบเดิมๆ คือออกกฎหมายใหม่ ออกทำไม เรามีพร้อมแล้ว โทษก็แรงแล้ว ปัญหาคือจับมาจริงหรือเปล่า”

อีกหนึ่งเรื่องที่ทศพลเน้นย้ำว่ารัฐไทยต้องแก้ไข คือการจัดลำดับความสำคัญเกี่ยวกับการต่อต้านอาชญากรรมด้านไซเบอร์เสียใหม่ เพราะที่ผ่านมาเน้นหนักไปทางด้านการกำจัดผู้เห็นต่างทางการเมืองเสียมาก “ไปเน้นเรื่องความมั่นคงของรัฐบาล ของสถาบันฯ หลักของชาติ แต่ความมั่นคงของชีวิตปัจเจกชนนี่มาทีหลัง เราต้องดูแลกันเอง”

พ้นไปจากเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ทศพลเพิ่มเติมว่าช่องโหว่หนึ่งที่ส่งเสริมให้เกิดอาชญากรรมไซเบอร์ คือการที่เจ้าของแพลตฟอร์มไม่เคยตักเตือนผู้ใช้งานว่าห้ามเผยแพร่ข้อมูลประเภทไหน

“การทำธุรกิจในประเทศนี้ง่ายเกินไป สังคมไม่ค่อยเรียกร้องอะไร รัฐก็เรียกร้องให้เจ้าของแพลตฟอร์มจับตามองคนเห็นต่างทางการเมืองอย่างเดียว เราไม่ได้กดดันให้ธุรกิจแพลตฟอร์มต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการให้คำเตือน ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมของริชาร์ด เธเลอร์เคยบอกไว้นะครับ ว่าคนที่ต้องออกมาเตือนคนอื่นคือคนที่รู้เรื่องนั้นดีที่สุด เจ้าของแพลตฟอร์มต้องเตือนผู้ใช้ว่าไม่ควรให้ข้อมูลแบบใด

“มันเพิ่งมาเริ่มเปลี่ยนหลังประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่เขียนไว้ในมาตรา 26 ว่าคุณต้องไม่เก็บข้อมูลส่วนบุคคลที่อ่อนไหว ก่อนหน้านั้นไม่นานเฟซบุ๊กถึงได้เริ่มเตือนผู้ใช้ว่าคุณใส่ข้อมูลศาสนาอยู่นะ ใส่ข้อมูลการเมืองอยู่นะ คุณจะเผยแพร่ต่อหรือจะลบ สิ่งเหล่านี้ควรทำตั้งแต่วันแรกๆ ที่เข้าใช้ระบบแล้ว ทำไมเพิ่งมาถามตอนนี้ แพลตฟอร์มไม่ควรเรียกร้องให้ใส่ข้อมูลอะไรมากๆ แต่ควรเตือนว่าไม่ควรใส่ข้อมูลแบบไหนที่เสี่ยง”

แม้ฟังดูแล้ว ประเทศไทยจะมีแนวโน้มจัดการอาชญากรรมไซเบอร์ที่ดีขึ้น แต่ก็นับว่าเป็นการพัฒนาไปอย่างเชื่องช้าเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ในตอนท้ายของการสนทนา เราจึงขอให้ทศพลจึงยกตัวอย่างการจัดการอาชญากรรมในโลกอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะพิศวาสอาชญากรรมไว้เป็นต้นแบบสำหรับไทยในสักวันหนึ่ง

“ถ้าเป็นเรื่องกฎหมาย หลายรัฐก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเขาไม่ได้ดูเบามัน รัฐกับแพลตฟอร์มร่วมงานกันอย่างฉับพลันทันใด บ้านเรานี่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 อนุ 1 ตำรวจหลายแห่งไม่ยอมรับแจ้งความเพราะยังไม่มีคนโดนหลอก แต่ในต่างประเทศนี่จัดการทันที เรารายงานให้แพลตฟอร์มลบได้ ถ้ายังไม่ยอมลบ ก็ไปแจ้งความให้รัฐรายงานอีกที บางประเทศจะมีกฎหมายคล้าย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล บอกว่าให้แพลตฟอร์มคอยดูแลไม่ให้ผู้ใช้งานเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่อ่อนไหว เป็นอันตรายต่อตนเอง”

แน่นอนว่านอกจากตัวบทกฎหมาย ในต่างประเทศยังให้ความสำคัญกับการเสริมศักยภาพด้านนิติวิทยาศาสตร์ดิจิทัลแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจมาก ที่เด่นชัดคือเจ้าหน้าที่สืบสวนของสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศแถบยุโรปจะโดดเด่นเรื่องการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติร่วมกัน

“เรื่องหนึ่งที่ผมไปยุโรปแล้วตกใจมาก คือเขาไม่ให้เปิดบัญชีธนาคารไปเรื่อย” ทศพลเล่า “ตอนแรกผมก็หงุดหงิดนะ แต่พอนึกดูแล้วก็ใช่ ทำไมเราต้องมีบัญชีธนาคารหลายๆ แห่ง ถ้าไม่ชอบเจ้าหนึ่งก็ปิดแล้วย้ายไปเปิดอีกเจ้าสิ ในไทยน่ะเปิดง่ายเกินไป” การเปิดบัญชีธนาคารง่ายนั้นกลายเป็นปัจจัยเอื้อให้อาชญากรข้ามชาติว่าจ้างหรือซื้อข้อมูลของใครที่ไหนก็ได้มาเปิดบัญชีรับเงินในประเทศ โดยที่บางครั้ง เจ้าของบัญชีนั้นไม่รับทราบหรือเกี่ยวข้องกับตัวอาชญากรเสียด้วยซ้ำ ทศพลจึงมองว่าควรมีการแก้ไขเพื่อลดปัญหาจุดนี้และสร้างความปลอดภัยยิ่งขึ้น

อีกเรื่องที่ทศพลคิดว่าน่าชื่นชมมากในต่างประเทศคือการมีภาคประชาสังคมช่วยเหลือกันอย่างเข้มแข็ง “มีการเกิดขึ้นของเพจ เว็บไซต์ที่ให้คำแนะนำ กลุ่มคนที่ให้คำปรึกษาแก่เหยื่อแบบเพื่อน ไม่สมน้ำหน้า แต่รับฟังอย่างเข้าใจซึ่งกันและกัน รู้ว่าต้องพูดยังไงให้เหยื่อไม่รู้สึกว่าโดนอิจฉาและไม่ว่าเขา ค่อยๆ ทำให้คนเข้าใจและตัดสินใจได้ตัวเองว่าตกเป็นเหยื่อ ต้องดำเนินคดี ให้ know how ว่าจะแจ้งความยังไง เก็บรวบรวมพยานหลักฐานยังไง

“สิ่งที่มีจริงในต่างประเทศ แต่ผมไม่แนะนำ คือการตั้งกลุ่ม attack กลับ บ้านเราอย่างมากก็แฉ แต่ของเขามีการชี้เป้าอาชญากร มีแฮกเกอร์ที่ถูกฝึกในมือ หลอกคุยอาชญากรเสร็จก็นัดมันมาเจอ อาชญากรบางคนประมาทมากก็โดนจับ หรือถ้าไม่มาเจอตัว ก็คุยแล้วให้แฮกเกอร์ส่ง phishing ไปดูดข้อมูลมันจนหมด เอาเงินมันออกมาด้วย สาวไปถึงองค์กรใหญ่ เพื่อแจ้งให้ตำรวจจับหรือไปดักตีหัวรุมกระทืบก็มี เขาฮาร์ดคอร์ถึงขั้นนั้น”

เราถามทศพลว่าเป็นเพราะคนเหล่านั้นไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมบ้านเขาหรือเปล่า จึงต้องลงมือสืบสวนและปะทะด้วยตัวเอง

“ก็อาจจะกลัวว่าเจ้าหน้าที่ดำเนินการได้ไม่ทันใจ ไม่ไว้ใจ เลยขอสู้เอง” ทศพลตอบด้วยรอยยิ้ม “แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นเพราะความแค้น และการล้างแค้นมันหอมหวานน่ะครับ”

เหตุผลเหล่านี้อาจเป็นที่เข้าใจได้ ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่รักแรงและเกลียดแรง



“สุดท้ายนี้ ขอให้อาจารย์แนะนำวิธีสร้างสัมพันธ์ หรือหาคู่รักบนโลกออนไลน์โดยที่ไม่ตกเป็นเหยื่อพิศวาสอาชญากรรมหน่อยค่ะ”

ในโลกออนไลน์ที่นับวันคำหวานของอาชญากรไม่เพียงแค่ช่วงชิงตัวเงิน แต่ยังฝากรอยแผลไว้ในใจ อาจทำให้ใครหลายคนเริ่มหวาดกลัวความรักความสัมพันธ์กับผู้อื่นผ่านโซเชียลมีเดีย เราจึงอดไม่ได้ที่จะถามคำถามนี้ปิดท้าย

ทศพลตอบง่ายๆ แต่รวดเร็วว่า ให้ ‘อยู่ดูกันไปนานๆ’

“คุยกันไปนานๆ ครับ การทดสอบใจคนที่ดีที่สุดคือการคุยโดยไม่มีผลประโยชน์ทางการเงิน อันนี้ผมมั่นใจ ใครที่สามารถจีบ ทำให้คนรักได้โดยไม่ต้องมีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องน่าจะเป็นความรักที่ยั่งยืน เพราะเงินมันหมดได้ แต่ใจไม่มีวันหมด

“ถ้าเราโดนคนอื่นหลอกเอาใจไป อย่างมากก็แค่ทำใจ ร้องไห้ไปเลย ถือเป็นประสบการณ์ดีๆ ให้เอาไปเขียนนิยาย แต่ถ้าโดนหลอกเงินด้วย ทำใจมันไม่พอ เราต้องเอาใจพังๆ ไปทำงานหาเงินอีก ทำให้เสียความสัมพันธ์อื่นๆ อีก อย่างในด้านหน้าที่การงานหรือครอบครัว”

พอจินตนาการว่าต้องทำงานหาเงินทั้งน้ำตานองหน้า เราก็รู้สึกเศร้าขึ้นมาทันใด

นี่ใช่ไหมที่คนเขาพูดกันว่าเวลาอกหัก ร้องไห้ในรถเบนซ์ดีกว่าบนรถเมล์



หมายเหตุ

สำหรับผู้ที่สนใจแนวทางการป้องกันตนเองจากพิศวาสอาชญากรรมเพิ่มเติม สามารถอ่านได้ที่

คู่มือป้องกันพิศวาสอาชญากรรม (ฉบับประชาชน)

คู่มือป้องกันพิศวาสอาชญากรรม (ฉบับผู้ดูแลระบบ และผู้บังคับใช้กฎหมาย)

จัดทำโดย ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ และคณะ


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสภาองค์กรของผู้บริโภค และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save