fbpx

อ่านปฏิวัติฝรั่งเศส อ่าน ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร?’ (3 – ตอนสุดท้าย)

ฐานันดรที่สามคืออะไร

บทความชิ้นนี้เป็นตอนสุดท้ายของบทความในชุด อ่านปฏิวัติฝรั่งเศส ‘อ่านฐานันดรที่สามคืออะไร’ โดยในตอนนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงการต่อสู้กันในเรื่องนิยามของ ‘รัฐธรรมนูญ’ และอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญระหว่างซิเยสและฝ่ายอนุรักษนิยมที่มีอิทธิพลในช่วงต้นของการปฏิวัติฝรั่งเศส โดยชัยชนะของความคิดทางรัฐธรรมนูญแบบซิเยสจะนำไปสู่การลากเส้นแบ่งทางประวัติศาสตร์ระหว่าง ‘ระบอบเก่า’ และ ‘ระบอบใหม่’ ของฝรั่งเศส


(4)
ล้มล้าง ‘รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม’ ของฝรั่งเศส


“…สังคมใดมิได้มีหลักประกันแห่งสิทธิทั้งปวงและมิได้มีการแบ่งแยกอำนาจโดยชัดเจน
สังคมนั้นย่อมปราศจากรัฐธรรมนูญ…”
– คำประกาศแห่งสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ. 1789[1]


‘รัฐธรรมนูญ’ (constitution) คือกฎเกณฑ์อันเป็นระเบียบแบบแผนพื้นฐานของชุมชนทางการเมืองหนึ่งๆ แต่รัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องมีการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร และก็ไม่จำเป็นด้วยว่าเมื่อมี ‘รัฐธรรมนูญ’ ที่เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ระเบียบแบบแผนที่ไม่ได้ถูกเขียนขึ้นนั้นจะไม่มีอิทธิพลในทางสังคมและการเมือง ในความเป็นจริงแล้วรัฐธรรมนูญ ‘ฉบับที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร’ อาจจะมีพลังอำนาจบังคับมากเสียยิ่งกว่าฉบับที่เป็นลายลักษณ์อักษรเสียอีก นิธิ เอียวศรีวงศ์เรียก ‘รัฐธรรมนูญ’ ในความหมายแบบนี้ไว้ว่า ‘รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม’[2]

รัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นระเบียบแบบแผนซึ่งแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตทางสังคมและการเมือง มีการปรับเปลี่ยนตนเองไปตามยุคสมัยราวกับเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบแบบแผนตามธรรมชาติ (an existing social and political order inherent in the very nature of things)[3] เป็นส่วนสำคัญของแนวคิดทางรัฐธรรมนูญของอังกฤษ แต่แนวคิดทางรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้ก็มักถูกพวกอนุรักษนิยมนำมาใช้เป็นเครื่องมืออธิบายความชอบธรรมในการรักษาระเบียบแบบแผนเดิม (status quo) และหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันที่ ‘ไม่เป็นธรรมชาติ’[4]

‘รัฐธรรมนูญ’ ในความหมายเช่นนี้ก็คือระเบียบแบบแผนที่ดำรงอยู่มาช้านาน มีความต่อเนื่องและเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์อย่างแนบแน่น อำนาจและบทบาทของสถาบันทางสังคมและการเมืองต่างๆ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็คือผลผลิตของการจัดวางตำแหน่งแห่งที่อย่างเป็นไปเองของสังคม หาได้มีใครคนใดคนหนึ่งสร้างหรือขีดเขียนขึ้นมาไม่ ดังนั้นถึงแม้จะมีปัญหาอะไรอยู่บ้าง แต่การดำรงอยู่ได้มาอย่างยาวนานย่อมหมายความว่ากลไกภายในของระเบียบแบบแผนเช่นนี้ยังมีคุณประโยชน์อยู่

แล้ว ‘รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม’ ของฝรั่งเศสคืออะไร? ก็คือโลกที่ทุกสิ่งทุกอย่างโคจรรอบพระมหากษัตริย์ในฐานะตัวแทนของพระเจ้าในแดนมนุษย์ โลกที่ประชาชนถูกแบ่งแย่งออกเป็นสามฐานันดรที่ไม่เท่าเทียมกัน และโลกที่พวกอภิชนเป็นปรสิตเกาะกินผลผลิตของสามัญชนอยู่เสมอมา ซิเยสไม่เห็นประโยชน์ของระเบียบแบบแผนทางสังคม-การเมืองเช่นนี้ และที่สำคัญคือเขามองว่าหาก ‘ชาติที่แท้จริง’ (ซึ่งหมายถึงฐานันดรที่สามหรือสามัญชน) ยังไม่ได้มีอำนาจสถาปนาระเบียบแบบแผนใหม่ของชาติขึ้นมา ฝรั่งเศสก็ย่อมต้องไม่เคยมี ‘รัฐธรรมนูญ’ ที่แท้จริงมาก่อนเลย สิ่งที่เคยดำรงอยู่ก่อนหน้านั้นจะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ ล้วนแต่เป็นกฎเกณฑ์ที่ไม่ชอบธรรมทั้งสิ้น

‘รัฐธรรมนูญ’ ตามความหมายของซิเยสในหนังสือ ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร’ คือระเบียบแบบแผนที่เกิดขึ้นจากการตกลงกันโดยสมาชิกของชุมชนทางการเมืองที่เรียกว่า ‘ชาติ’ เพื่อ ‘ปกครอง’ ตัวพวกเขาเอง ซิเยสยังทำให้แนวคิดนามธรรมอย่าง ‘ชาติ’ กลายมาเป็นสิ่งที่จับต้องได้ นั่นคือในรูปของผู้แทนที่มาจากการเลือกกันเองโดยสมาชิกของชุมชน

แม้หัวใจของ ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร’ จะอยู่ที่การสร้างนิยามใหม่ของชาติที่ประกอบขึ้นมาจากฐานันดรที่สามหรือสามัญชนและกำหนดภารกิจให้ ‘ชาติ’ ตามความหมายใหม่นี้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นมา แต่เป้าหมายของซิเยสไม่ใช่เพียงแค่การร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นมาเท่านั้น เขายังต้องการปฏิเสธ ‘รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม’ ของฝรั่งเศสไปในเวลาเดียวกันด้วย

ในช่วงต้นของการปฏิวัติฝรั่งเศสก็คือการขับเคี่ยวกันของแนวคิดทางรัฐธรรมนูญทั้งสองแบบ คือแบบแรกที่เชื่อว่าฝรั่งเศสมีรัฐธรรมนูญอยู่แล้วซึ่งก็คือประเพณีการปกครองตามระบอบกษัตริย์ และแบบที่สองที่เชื่อว่าฝรั่งเศสไม่เคยมีรัฐธรรมนูญมาก่อนเลย[5]

คำปฏิญาณแห่งสนามเทนนิสซึ่งสมาชิกสภาฐานันดรบางส่วนได้รวมตัวกันและประกาศว่าพวกเขาจะไม่แยกย้ายจนกว่าจะสามารถ ‘แก้ไขธรรมนูญของราชอาณาจักร ฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยของสังคม และธำรงรักษาไว้ซึ่งหลักการที่แท้จริงของระบอบกษัตริย์’ ได้สำเร็จ (à fixer la constitution du royaume, opérer la régénération de l’ordre public et maintenir les vrais principes de la monarchie) ก็ดูเหมือนจะเป็นผลผลิตของความประนีประนอมระหว่างสมาชิกสภาที่มีอุดมคติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญทั้งสองแบบ

มีข้อให้ควรพิจารณาว่า ก็ถ้าฝรั่งเศสไม่เคยมี ‘รัฐธรรมนูญ’ มาก่อน แล้วจะถูก ‘แก้ไข’ (à fixer) ได้อย่างไร?

หนึ่งในคนที่มีส่วนในการปฏิญาณที่สนามเทนนิสก็คือ ฌอง โฌเซฟ มูนิแยร์ (Jean Joseph Mounier) ผู้แทนฝ่ายอนุรักษนิยมและคู่ต่อสู้ทางความคิดของซิเยส และในภายหลังจะมีตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญในสภาร่างรัฐธรรมนูญ (Assemblée constituante)[6]

สำหรับมูนิแยร์แล้ว ‘ชาติ’ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มันดำรงอยู่มาช้านานภายใต้ระบอบกษัตริย์ สมาชิกสภาฐานันดรที่สามย่อมไม่ใช่ตัวแทนของชาติทั้งมวลดังที่ซิเยสอ้าง แต่เป็นเพียงผู้แทนของประชาชนคนส่วนใหญ่ในชาติเท่านั้นเอง แม้ระเบียบแบบแผนที่มีอยู่จะไม่สามารถเรียกว่าเป็น ‘รัฐธรรมนูญ’ ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ แต่มันก็มีร่องรอยของรากฐานบางอย่างที่ต้องการการเติมเต็มให้สมบูรณ์ขึ้น และนั่นคือหน้าที่ของ ‘สภาร่างรัฐธรรมนูญ’

“…ชาวฝรั่งเศสนั้นไม่ใช่บุคคลกลุ่มใหม่ที่เพิ่งออกจากป่ามารวมตัวกันเป็นสมาคม แต่คือสังคมอันกว้างใหญ่อันประกอบไปด้วยประชากร 24 ล้านคนที่ต้องการเชื่อมประสานพันธะที่ยึดเหนี่ยวทุกส่วนเข้าไว้ด้วยกันให้แข็งแรงยิ่งขึ้นและฟื้นฟูดินแดนอันเป็นสังคมที่หลักการแห่งระบอบกษัตริย์อันแท้จริงจะศักดิ์สิทธิ์อยู่เสมอ…”[7]

มูนิแยร์ยังเห็นด้วยว่าฝรั่งเศสนั้นแตกต่างจากอเมริกามาก ชาวอเมริกันสามารถร่าง ‘รัฐธรรมนูญ’ ขึ้นมาใหม่เพราะพวกเขาได้ตัดขาดพันธะทั้งปวงออกจากสหราชอาณาจักรแล้ว ในขณะที่ฝรั่งเศสเอง แม้แต่สภาฐานันดร (ซึ่งเป็น ‘precursor’ ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ก็เกิดขึ้นได้จากพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่ถูกร่างขึ้นเป็นเพียงภาพสะท้อนของรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสที่มีอยู่แล้ว และรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาใหม่นั้นก็จะมีหน้าที่ควบคุมไม่ให้พระราชอำนาจอันเป็นคุณต้องกลายเป็นโทษ และพระมหากษัตริย์ต้องกลายเป็นทรราช (despot)[8]

ความคิดทางรัฐธรรมนูญตามแนวทางของมูนิแยร์นั้นสะท้อนความสืบเนื่องกันของระเบียบแบบแผนอันเก่าแก่ที่สมควรแก่การปรับปรุงตามวาระแห่งยุคสมัย แต่หากเราจะเชื่อข้อเขียนของซิเยสแล้วล่ะก็ ไม่ใช่แค่พระราชอำนาจเท่านั้นหรอกที่ต้องถูกควบคุมโดยประณีตและระมัดระวัง แต่ ‘รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม’ ทั้งหมดจะต้องถูกล้มล้างและเริ่มนับหนึ่งใหม่ แม้แต่พระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญนี้ก็ไม่ใช่กายาทางการเมือง (body politic) ที่ผสานฐานันดรทั้งสามเข้าด้วยกันเป็นชาติดังที่นักคิดในระบอบเก่าเชื่อถือกันมาอีกต่อไป[9] แต่พระมหากษัตริย์เป็นตำแหน่งที่ได้รับการสถาปนาขึ้นมาโดยรัฐธรรมนูญภายใต้เจตจำนงของชาติซึ่งก็คือประชาชนทั้งหลายนั่นเอง

และในท้ายที่สุด ถ้า ‘รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม’ จะเริ่มก่อตัวขึ้นใหม่อีกครั้ง ‘ชาติ’ ก็จะต้องกลายเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่างและเป็นบ่อเกิดแห่งอำนาจทางการเมืองทั้งปวง ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ดังเช่นที่เคยเป็นมาใน ‘ระบอบเก่า’

“…ชาติดำรงอยู่มาก่อนทุกสิ่งทุกอย่าง ชาติคือบ่อเกิดของทุกสิ่งทุกอย่าง
เจตจำนงของชาติย่อมถูกกฎหมายเสมอ เพราะชาติโดยตัวมันเองก็คือกฎหมาย
สิ่งที่ดำรงมาก่อนและเหนือกว่าชาติก็มีเพียงแค่สิทธิตามธรรมชาติเท่านั้นเอง
…” [10]


(5)
บทส่งท้าย


หนังสือ ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร’ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อชัยชนะของ ‘ฐานันดรที่สาม’ และชัยชนะที่ว่านี้คือการลากเส้นแบ่งทางประวัติศาสตร์ให้กับฝรั่งเศส เป็นเส้นแบ่งระหว่าง ‘ระบอบเก่า’ และ ‘ระบอบใหม่’

ซิเยสสร้างนิยามใหม่ให้กับความเป็นชาติ ทำลายล้างพันธะที่เชื่อมร้อยพระมหากษัตริย์กับชาติไว้ออกจากกัน ชาติกลายเป็นทั้งคุณค่านามธรรมของสิ่งที่ดำรงอยู่มาช้านานและเป็นบ่อเกิดของทุกสิ่งทุกอย่าง และในขณะเดียวกัน ชาติก็กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เมื่อฐานันดรที่สามอันเป็นตัวแทนของชาติได้มาชุมนุมกันเพื่อสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้น

ซิเยสใช้หนังสือ ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร’ เป็นเครื่องมือล้มล้าง ‘รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม’ ของฝรั่งเศส

‘รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม’ หรือระเบียบแบบแผนเก่าแก่จากยุคกลางที่ยึดถือว่ากายาของพระมหากษัตริย์เป็นบ่อเกิดแห่งอำนาจทางการเมืองทั้งปวงและเป็นส่วนเชื่อมผสานฐานันดรทั้งสามให้กลายเป็นชาติถูกทำลายลงเมื่อผู้แทนแห่งฐานันดรที่สามประกาศว่าพวกเขาเป็นตัวแทนของชาติและไม่ใช่แค่ตัวแทนของหนึ่งในสามฐานันดรที่มาประชุมกันตามพระราชโองการของพระมหากษัตริย์อีกต่อไป การยกเลิกระบบฐานันดรและอภิสิทธิ์ของสมัชชาแห่งชาติในคืนวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1789 จะเป็นการตอกฝาโลงให้กับระบอบเก่าของฝรั่งเศสในที่สุด

คงจะเป็นการยากที่จะลากเส้นแบ่งระหว่าง ‘ระบอบเก่า’ และ ‘ระบอบใหม่’ ลงไปในปฏิทินอย่างชัดเจน แต่ฝรั่งเศสหลังการตีพิมพ์ ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร’ ย่อมไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ผู้ที่อ่าน ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร’ ย่อมเกิดสำนึกร่วมกันอย่างหนึ่ง

ก่อนหน้าพระมหากษัตริย์อาจเคยเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง แต่หลังจากนี้ชาติจะเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง

ชาติที่ไม่ใช่สมบัติของใครและไม่ใช่ส่วนหนึ่งของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นชาติที่ดำรงอยู่ในตัวประชาชนทุกคน

ชาติที่เป็นของราษฎรทั้งหลาย

-จบ-


หมายเหตุ อ่านบทความชุด อ่านปฏิวัติฝรั่งเศส ‘อ่านฐานันดรที่สามคืออะไร’ ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2



[1] สำนวนแปลของฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล จาก «Article XVI: Toute Société dans laquelle la garantie des Droits n’est pas assurée, ni la séparation des Pouvoirs déterminée, n’a point de Constitution». Déclaration des Droits de l’Homme et du Citoyen (1789).

[2] นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2534. รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย. ศิลปวัฒนธรรม, 13(1).

[3] ความหมายของรัฐธรรมนูญจาก Baker, K. M. Inventing the French Revolution. Cambridge University Press. 1990. หน้า 257-258.

[4] ในกรณีของไทย เรามักเห็นปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยมหยิบยกเอาแนวคิดเรื่อง ‘ประเพณีการปกครอง’ มาใช้อธิบายความชอบธรรมในการแทรกแซงทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ในกรณีของอังกฤษ การจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์และส่งเสริมอำนาจของรัฐสภาก็สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้บริบทของแนวคิดทางรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ผู้เขียนเห็นว่าการที่อังกฤษมีสถาบันทางสังคม-การเมืองที่เข้มแข็งช่วยหนุนเสริมการถ่วงดุลของอำนาจและต่อต้านการใช้อำนาจที่เบ็ดเสร็จของสถาบันทางการเมืองที่ไม่มีการยึดโยงกับประชาชน

[5] อ่านการค้นคว้าถึงความคิดทางรัฐธรรมนูญในสมัยก่อนปฏิวัติฝรั่งเศสได้ใน Valensise, M. The French Constitution in Prerevolutionary Debate. The Journal of Modern History. Vol. 60. Supplement: Rethinking French Politics in 1788 (Sep. 1988). pp S22-S57.

[6] ภายหลังการทลายคุกบาสตีย์ มูนิแยร์และพวกจะรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ‘มิตรของรัฐธรรมนูญระบอบกษัตริย์’ (Amis de la Constitution Monarchique) มูนิแยร์มีบทบาทสำคัญหลายอย่างในช่วงต้นของการปฏิวัติก่อนที่กระแสเรดิคัลจะทำให้พื้นที่ของพวกอนุรักษนิยมถูกกลืนหายไป

[7] “…The French people are not a new people that just has left the forests to form an association but a vast society of twenty-four million persons that wish to tighten the bonds uniting all its parts and to regenerate the realm, a society for whom the principles of true monarchy will always be sacred…” อ้างใน Baker, K. M. Inventing the French Revolution. Cambridge University Press. 1990. หน้า 260.

[8] Baker, K. M. Inventing the French Revolution. Cambridge University Press. 1990. หน้า 276.

[9] ดูบทความตอนก่อนหน้า อ่านปฏิวัติฝรั่งเศส อ่าน ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร?’ (2)

[10] “The nation exists prior to everything; it is the origin of everything. Its will is always legal. It is the law itself. Prior to the nation and above the nation there is only natural law.” Sieyès, E.J. (1789). What is the Third Estate ใน Sonenscher, M. (2003). Emmanuel-Joseph Sieyès: Political Writings. Hackett Publishing Company, Inc. หน้า 136

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save