fbpx

อ่านปฏิวัติฝรั่งเศส อ่าน ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร?’ (1)

“…ฐานันดรที่สามคืออะไร? — ทุกสิ่งทุกอย่าง
ฐานันดรที่สามมีสถานะอะไรในโครงสร้างทางการเมืองปัจจุบัน? — ไม่มี
ฐานันดรที่สามต้องการเป็นอะไร? — บางสิ่งบางอย่าง…”

ฐานันดรที่สามคืออะไร? โดย เอ็มมานูเอล-โยเซฟ ซิเยส


(1)
‘Qu’est-ce que le Tiers-État?’ คืออะไร?


กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว… พระมหากษัตริย์ทรงปกครองราชอาณาจักรในฐานะเสนาบดีของพระผู้เป็นเจ้าบนโลกมนุษย์ พระวรกายของพระองค์เชื่อมประสานฐานันดรทั้งสามคือ พระ อภิชน และสามัญชนเข้าด้วยกันเป็นราชอาณาจักร พระมหากษัตริย์และพระราชอาณาจักรของพระองค์รวมกันเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวแบ่งแยกมิได้ และเจตจำนงของพระองค์ก็คือเจตจำนงของชาติ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินจากผู้แทนแห่งฐานันดรทั้งสาม พวกเขาอาจถูกเรียกมาชุมนุมกันในสภาฐานันดรทั่วไปที่ถูกจัดให้มีขึ้นตามแต่พระราชอัธยาศัยของพระมหากษัตริย์…

ที่กล่าวมานี้คือแบบแผนความสัมพันธ์และคติทางเทววิทยาของสังคมฝรั่งเศสก่อนการปฏิวัติใหญ่ ความสัมพันธ์แบบช่วงชั้นตามฐานันดรที่ตกทอดมาจากยุคกลางนี้ถูกจัดวางโดยเรียงลำดับตามความใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้า พระซึ่งผูกขาดการเข้าถึงกับพระผู้เป็นเจ้าจึงอยู่ในฐานันดรที่หนึ่ง อภิชนผู้กุมอำนาจการปกครองถูกจัดอยู่ในฐานันดรที่สอง และสามัญชนผู้ต้องทำงานเลี้ยงชีพถูกจัดอยู่ในฐานันดรที่สามอันเป็นฐานันดรสุดท้าย

แบบแผนทางสังคมเช่นนี้ถูกยึดถือว่าเป็น ‘ความปกติ’ มาช้านานจนกระทั่งในคืนวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ.1789 เมื่อสมัชชาแห่งชาติ (Assemblée nationale) อันเป็นสภาในสมัยปฏิวัติฝรั่งเศสได้ลงมติยกเลิกระบบอภิสิทธิ์ ศักดินาและฐานันดรลงไปอย่างสิ้นเชิง[1]

เหตุการณ์ในคืนวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ.1789 มีความสำคัญอันยิ่งยวดประการหนึ่ง คือมันเป็นจุดแตกหักของฝรั่งเศสจากระเบียบแบบแผนเดิมที่เคยขับเคลื่อนสังคมในระบอบเก่ามาเป็นเวลาช้านาน – นับตั้งแต่คืนวันที่ 4 สิงหา สังคมฝรั่งเศสไม่ได้ประกอบขึ้นมาจากฐานันดรทั้งสามอีกต่อไป แต่ฝรั่งเศสคือ ‘ชาติ’ อันเป็นหนึ่งเดียวแบ่งแยกมิได้ที่ประกอบขึ้นมาจาก ‘ประชาชนชาวฝรั่งเศสทั้งหลาย’ ผู้เสมอภาคต่อหน้ากฎหมายเดียวกัน[2] และฝรั่งเศสคือ ‘ชาติ’ ที่สำแดงเจตจำนงผ่าน ‘สมัชชาแห่งชาติ’ อันประกอบขึ้นมาจากผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งจากทั่วราชอาณาจักร ไม่ใช่ ‘สภาฐานันดร’ ที่เป็นเพียงแค่การชุมนุมของตัวแทนแห่งฐานันดรทั้งสามซึ่งมาประชุมกันเป็นครั้งคราวตามพระราชอัธยาศัยของพระมหากษัตริย์อีกต่อไป

การบรรลุซึ่งบทสรุปในคืนวันที่ 4 สิงหา ดังที่กล่าวมานั้น วางอยู่บนฐานของความคิดทางการเมืองที่สำคัญหลายประการ และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หนังสือ ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร?’ (Qu’est-ce que le Tiers-État?) ของเอ็มมานูเอล-โยเซฟ ซิเยส[3] (Emmanuel-Joseph Sieyès) มีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อการกำหนดทิศทางของข้อถกเถียงเกี่ยวกับความคิดทางการเมืองเหล่านั้น

‘ฐานันดรที่สามคืออะไร?’ คือความเรียงทางการเมืองขนาดยาว 127 หน้าที่ตีพิมพ์ในเดือนมกราคมของปี ค.ศ.1789 อันเป็นช่วงเวลาที่กษัตริย์ลุยส์ที่ 16 (Louis XVI) มีพระราชโองการเรียกประชุม ‘สภาฐานันดรทั่วไป’ (États généraux)[4] ซิเยสได้ใช้พื้นที่ในความเรียงชิ้นนี้ผลักดันข้อเรียกร้องทางการเมืองเฉพาะหน้าต่อสภาฐานันดรทั่วไปที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ

(1) ให้มีจำนวนผู้แทนของฐานันดรที่สามเท่ากับจำนวนผู้แทนของฐานันดรที่หนึ่งและสองรวมกัน และ

(2) ให้มีการออกคะแนนเสียงโดยนับตามจำนวนคนไม่ใช่นับตามรายฐานันดรอย่างที่เคยปฏิบัติมา

แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือซิเยสได้อุทิศพื้นที่ส่วนใหญ่ของ ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร?’ ไปกับการโจมตีและเรียกร้องให้ยกเลิกระบบอภิสิทธิ์ ศักดินาและฐานันดร ซิเยสยังได้สร้างนิยามใหม่ให้กับความเป็นชาติ เขาปฏิเสธความชอบธรรมของสภาฐานันดรทั่วไปและเรียกร้องให้สมาชิกฐานันดรที่สามในฐานะตัวแทนแห่งเจตจำนงของชาติจงรวมตัวกันเป็น ‘สมัชชาแห่งชาติ’ เพื่อสถาปนารัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรขึ้นมา – นี่คือข้อเสนอที่ไปไกลกว่าสถานการณ์ทางการเมืองเฉพาะหน้า แท้จริงแล้วนี่คือคำประกาศของการปฏิวัติ

เราอาจประเมินความสำเร็จของหนังสือ ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร?’ ได้จากการพิจารณาว่าข้อเรียกร้องของซิเยสต่างบรรลุผลในห้วงเวลาอันสั้น ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1789 เมื่อมีการเปิดประชุมสภาฐานันดรทั่วไปขึ้นที่พระราชวังแวร์ซาย (Versailles) รัฐบาลของกษัตริย์ลุยส์ที่ 16 ยินยอมให้ฐานันดรที่สามมีจำนวนผู้แทนเท่ากับของฐานันดรที่หนึ่งและสองรวมกัน แต่กระนั้น การไม่ยอมให้สภาฐานันดรนับคะแนนเสียงรายคนก็ทำให้ผู้แทนของฐานันดรที่สามตัดสินใจแยกออกมาประชุมกันเอง

ในวันที่ 17 มิถุนายน ผู้แทนฐานันดรที่สามกลุ่มนี้เริ่มเรียกตนเองว่า ‘สมัชชาแห่งชาติ’ และในวันที่ 20 มิถุนายน เมื่อพวกเขาพบว่าประตูห้องประชุมถูกล็อกและอารักขาไว้โดยทหารยาม สมาชิกสมัชชาแห่งชาติก็รวมตัวกันในสนามเทนนิสที่ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังแวร์ซาย[5] และกล่าวคำปฏิญาณว่าพวกเขาจะไม่แยกย้ายจากกันจนกว่าจะได้มาซึ่ง ‘รัฐธรรมนูญ’

แรงกดดันจากคำปฏิญาณแห่งสนามเทนนิส (Serment du Jeu de Paume) บีบให้กษัตริย์ลุยส์ที่ 16 ต้องยอมรับสถานะของสมัชชาแห่งชาติและขอให้ผู้แทนจากฐานันดรที่หนึ่งและสองเข้าร่วมด้วย ซึ่งทำให้ ‘สภาฐานันดร’ ต้องปลาสนาการไปโดยปริยาย แต่ถึงกระนั้น ความหวาดระแวงของประชาชนในปารีสต่อท่าทีของกษัตริย์ลุยส์ที่ 16 ผู้สั่งให้ทหารจำนวนมากเข้ามาประจำการที่พระราชแวร์ซายก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การบุกทลายคุกบาสตีย์ (Prise de la Bastille) เพียงไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังจากนั้น ในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ.1789

การทลายคุกบาสตีย์ทำให้ลุยส์ที่ 16 ยอมเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และอีกเพียงราว 20 กว่าวันหลังจากนั้นในคืนวันที่ 4 สิงหาคม สมัชชาแห่งชาติก็มีมติให้ ‘ทำลายระบบศักดินาลงไปอย่างสิ้นเชิง’ – กล่าวโดยสรุป ข้อเรียกร้องของซิเยสใช้เวลาเดินทางไม่ถึงหนึ่งปีนับตั้งแต่การตีพิมพ์หนังสือ ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร?’ ในเดือนมกราคม ค.ศ.1789

ดังนั้นหากเราจะพูดถึงหนังสือเล่มนี้ในฐานะของข้อเสนอทางการเมืองเฉพาะหน้า ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร?’ ย่อมประสบความสำเร็จอย่างสูงดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่อันที่จริง ความสำเร็จของหนังสือเล่มนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การหยิบยื่นยุทธศาสตร์หรือข้อเสนอทางการเมืองที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น แต่คือการสร้าง ‘ความหมายใหม่’ ‘สำนึกใหม่’ และ ‘จินตนาการใหม่’ ให้กับฐานันดรที่สาม

‘ฐานันดรที่สามคืออะไร?’ โน้มน้าวให้ผู้อ่านได้เห็นว่าฐานันดรที่สามไม่ใช่ชนชั้นต่ำที่สุดของสังคมอีกต่อไป แต่พวกเขาคือพลังที่ขับเคลื่อนประเทศชาติ คือพลังที่ยังไม่ถูกปลดปล่อยออกมาอย่างเต็มเปี่ยมเพราะถูกตรึงไว้ด้วยโซ่ตรวน[6] ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร?’ ชี้ให้เห็นว่าฐานันดรที่สามคือเหยื่อของพวกปรสิตอย่างพระและอภิชนที่กัดกินผลผลิตจากสมองและแรงกายของคนส่วนใหญ่มาโดยตลอด[7] และท้ายที่สุด ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร?’ ไม่ได้หยุดอยู่ที่การยืนยันว่าฐานันดรที่สามคือประชาชนคนส่วนใหญ่และส่วนที่สำคัญที่สุดของชาติเท่านั้น แต่ ‘ฐานันดรที่สามคือชาติที่สมบูรณ์ในตัวเอง’ (Le Tiers état est une nation complete) และเพราะฐานันดรที่สามคือชาติและเจตจำนงของชาติ จึงมีแต่ฐานันดรที่สามเท่านั้นที่มีสิทธิ์ชี้ชะตาและอนาคตของฝรั่งเศส

ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนจะขอชวนผู้อ่านให้มาร่วมกันมองการปฏิวัติฝรั่งเศสผ่านข้อเสนอทางการเมืองของเอ็มมานูเอล-โยเซฟ ซิเยส ในเรื่องการสร้างนิยามใหม่ของความเป็นชาติ และการใช้นิยามของความเป็นชาติแบบใหม่นี้สร้างสำนึกใหม่ให้กับผู้แทนจากฐานันดรที่สามที่กำลังจะเดินทางไปเข้าร่วมสภาฐานันดรที่กำลังจะมีขึ้น – ‘สำนึกใหม่’ ที่ว่านี้ก็คือการที่ผู้แทนจากฐานันดรที่สามไม่ได้มองว่าพวกเขาเป็นเพียงแค่ตัวแทนจากชุมชนและเมืองต่างๆ อีกต่อไป แต่คือผู้แทนของชาติและของประชาชนชาวฝรั่งเศสทั้งมวล ความสำนึกในฐานะผู้แทนของชาติและเจตจำนงของชาตินี้เองจะเป็นฐานแห่งความชอบธรรมที่พวกเขาจะใช้ในการสถาปนารัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสขึ้นมาในที่สุด


(2)
ฐานันดรที่สามและนิยามใหม่ของความเป็นชาติ


“…ใครกันหนอที่จะกล้าพูดว่าฐานันดรที่สามไม่ได้มีทุกสิ่งทุกอย่างที่เพียงพอต่อการก่อร่างเป็นชาติที่สมบูรณ์ในตัวเอง? (อันที่จริงแล้ว) ฐานันดรที่สามเป็นเสมือนกับชายที่แข็งแรงกำยำแต่แขนข้างหนึ่งของเขาถูกตรึงไว้ด้วยโซ่ตรวน หากตัดพวกอภิสิทธิ์ชนออกไป ประเทศชาติหาได้สูญเสียอะไรไม่ แต่กลับจะได้คืนมามากขึ้นยิ่งกว่าเดิม แล้วอะไรคือฐานันดรที่สามกันน่ะหรือ? ก็คือทุกสิ่งทุกอย่าง; แต่เป็นทุกสิ่งที่อย่างที่ถูกพันธนาการและถูกกดขี่ แล้วจะเป็นอย่างไรน่ะหรือ ถ้าไม่มีพวกอภิสิทธิ์ชน? ก็จะเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เสรีและเบ่งบาน…”

ฐานันดรที่สามคืออะไร? โดย เอ็มมานูเอล-โยเซฟ ซิเยส

ซิเยสเริ่มต้น ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร?’ ด้วยการตั้งคำถามสำคัญสามประการ นั่นคือ (1) ฐานันดรที่สามคืออะไร? (2) ฐานันดรที่สามมีสถานะอะไรในโครงสร้างทางการเมืองปัจจุบัน? และ (3) ฐานันดรที่สามต้องการเป็นอะไร? – ต่อคำถามสำคัญทั้งสามข้อนี้ ซิเยสได้ให้คำตอบที่สรุปรวบยอดข้อเสนอของเขาเอาไว้ว่า

(1) ฐานันดรที่สามคืออะไร? — ทุกสิ่งทุกอย่าง

(2) ฐานันดรที่สามมีสถานะอะไรในโครงสร้างทางการเมืองปัจจุบัน? — ไม่มี

(3) ฐานันดรที่สามต้องการเป็นอะไร? — บางสิ่งบางอย่าง

ผู้เขียนเห็นว่าคำตอบของซิเยสสะท้อนเป้าหมายของหนังสือ ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร?’ ดังนี้

หนึ่ง เพื่อยืนยันว่าฐานันดรที่สามเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง โดยคำว่า ‘ทุกสิ่งทุกอย่าง’ ในที่นี้ ก็คือการที่โดยแท้จริงแล้ว ชาติล้วนประกอบขึ้นมาจากฐานันดรที่สาม ฐานันดรที่สามเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของชาติเพราะพวกเขาทำงานขับเคลื่อนประเทศชาติให้ดำรงอยู่และเจริญรุ่งเรืองขึ้นได้โดยไม่ต้องการอภิสิทธิ์ชนซึ่งเปรียบเสมือนปรสิตคอยดูดกินผลผลิตของแรงกายและสมองของฐานันดรที่สามแต่อย่างใด

สอง เพื่อชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าฐานันดรที่สามจะเป็น ‘ทุกสิ่งทุกอย่าง’ แต่พวกเขากลับไม่ได้มีสถานะใดๆ ในโครงสร้างทางการเมืองปัจจุบัน ในทางตรงกันข้าม พวกอภิสิทธิ์ชนที่ซิเยสมองว่าเป็นส่วนเกินและภาระของชาติกลับสงวนหน้าที่การงานในระดับสูงเอาไว้สำหรับพวกตน และกุมอำนาจในการตัดสินใจความเป็นไปของชาติเอาไว้

และ สาม เพื่อโน้มน้าวให้ฐานันดรที่สามเห็นว่าในระหว่างการต่อสู้เพื่อช่วงชิงความเป็น ‘บางสิ่งบางอย่าง’ นั้น พวกเขาควรจะเลือกเป็นอะไร? จะยอมสยบต่อระเบียบแบบแผนทางสังคมแบบเดิมๆ ในฐานะส่วนหนึ่งของฐานันดรทั้งสามแห่งราชอาณาจักร? หรือพวกเขาจะเลือกสร้างระเบียบแบบแผนใหม่ที่ฐานันดรที่สามกลายเป็น ‘ทุกสิ่งทุกอย่าง’ อย่างแท้จริง?

เป้าหมายของ ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร?’ ทั้งสามข้อต่างมุ่งเป้าไปยังภารกิจทางการเมืองที่สำคัญที่สุดของฐานันดรที่สามในสายตาของซิเยสในขณะนั้น นั่นคือการทวงอำนาจคืนมาจากพวกอภิสิทธิ์ชน และเพื่อทวงคืนอำนาจอันชอบธรรมคืนกลับมา ซิเยสไม่เพียงโจมตีพวกอภิสิทธิ์ชนอย่างเผ็ดร้อน แต่เขาได้สร้างคำอธิบายความเป็นชาติขึ้นใหม่ซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นหัวใจหลักของ ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร?’ อย่างแท้จริง

ด้วยเหตุนี้เอง สิ่งแรกที่เราจะได้เห็นเมื่อเริ่มอ่าน ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร?’ ก็คือการสร้างนิยามใหม่ของความเป็นชาติขึ้นมา ‘ชาติ’ สำหรับซิเยสไม่ใช่แค่คำเรียกกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในดินแดนเดียวกันหรืออยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลเดียวกันเท่านั้น[8] แต่ ‘ชาติ’ ประกอบขึ้นมาจากกิจการของกลุ่มคนที่ทำให้ชาติสามารถดำรงอยู่และเจริญรุ่งเรืองขึ้นได้ ซิเยสได้แบ่งกิจการที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่และความเจริญรุ่งเรืองของชาติออกเป็นสองประเภท คือ (1) กิจการในภาคเอกชน (travaux particuliers) และ (2) กิจการในภาครัฐและภาคสาธารณะ (fonctions publiques) เช่น งานของส่วนราชการและการศาสนา

เราจะเห็นว่าระเบียบแบบแผนของ ‘ชาติ’ ตามความหมายใหม่นี้ไม่ได้ถูกจัดวางตามลำดับความใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้าตามแบบฐานันดรทั้งสามอีกต่อไป แต่มันถูกแบ่งตามประเภทของงานที่มีความจำเป็นทางเศรษฐกิจต่อชาติอย่างเท่าเทียมกัน ซิเยสยังได้ชี้ให้เห็นด้วยว่าฐานันดรที่สามไม่ได้เพียงแค่ประกอบกิจการในภาคเอกชนเท่านั้น แต่พวกเขายังเป็นฝ่ายที่ต้องออกแรงทำงานอย่างแท้จริงในกิจการภาครัฐและภาคสาธารณะที่พวกพระและอภิชนต่างสงวนตำแหน่งระดับสูงไว้สำหรับพวกเดียวกันอีกด้วย ซิเยสได้โจมตีว่าการกีดกันไม่ให้ฐานันดรที่สามเข้าถึงหน้าที่การงานในระดับสูงในลักษณะนี้ แท้ที่จริงแล้วถือเป็น ‘อาชญากรรมต่อสังคม’ และเป็นการทรยศต่อ ‘ประโยชน์แห่งสาธารณะ’ (une trahison pour la chose publique)[9]

ซิเยสไม่ได้ใช้แค่การทำงานเป็นเครื่องมือแบ่งแยกพวกอภิสิทธิ์ชนออกจากส่วนหนึ่งของความเป็นชาติเท่านั้น แต่เขายังอภิปรายถึงนิยามของความเป็นชาติแบบใหม่อีกด้วย ‘ชาติ’ ในความหมายของซิเยสหมายถึงกลุ่มคนที่อยู่ภายใต้ ‘กฎหมายเดียวกัน’ และมีผู้แทนแห่งอำนาจนิติบัญญัติเดียวกัน[10] ด้วยเหตุนี้ ซิเยสจึงเสนอว่า การที่พวกอภิสิทธิ์ชนมีอภิสิทธิ์และข้อยกเว้นทางกฎหมายแตกต่างไปจากประชาชนคนอื่นๆ รวมทั้งการมีผู้แทนของชนชั้นตนเองแยกอีกต่างหากจึงเสมือนกับการมีชาติซ้อนอยู่ในชาติ และแปลกแยกจากชาติที่แท้จริงซึ่งประชาชนทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันและมีผู้แทนแห่งอำนาจนิติบัญญัติเดียวกัน[11]

สภาวะความแปลกแยกของอภิสิทธิ์ชนนี่เองที่ทำให้ซิเยสเสนออีกด้วยว่า แม้กระทั่งผู้แทนของฐานันดรที่สามในอดีตก็ไม่ใช่ตัวแทนของชาติอย่างแท้จริง เพราะคนเหล่านี้ล้วนถูกยกให้มีสถานะเป็นอภิชนหรือได้รับอภิสิทธิ์บางอย่างชั่วคราว และถึงแม้ ‘อภิชนใหม่’ หรือ ‘อภิชนชั่วคราว’ เหล่านี้จะไม่ได้รับการยอมรับจากพวก ‘อภิชนเก่า’ ที่มีความเชื่อกันว่า อภิชนที่แท้จริงนั้นจะต้องสืบทอดสายเลือดอภิสิทธิ์ชนในวงศ์ตระกูลมาแล้วอย่างน้อยสี่รุ่น แต่พวกเขาก็ยังมีสถานะเป็นอภิสิทธิ์ชนตามกฎหมายอยู่ดี และนั่นย่อมทำให้การตัดสินใจทางการเมืองจากผู้แทนของฐานันดรที่สาม ‘ตัวปลอม’ เหล่านี้ล้วนมีเพื่อรักษาอภิสิทธิ์ของอภิชนด้วยกัน ดังนั้น ในท้ายที่สุดแล้ว สภาฐานันดรในอดีตจึงมีฐานะเป็นเพียงแค่การชุมนุมของเหล่าชนชั้นสูงและอำมาตย์ (aristocrats) เท่านั้นเอง[12]

หากพิจารณาให้ดีแล้ว เราจะเห็นว่านิยามความเป็นชาติแบบใหม่ของซิเยสมีความสำคัญอย่างยิ่ง ประการแรก มันปฏิเสธระเบียบแผนในสังคมศักดินาซึ่งเป็นรากฐานของสิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนั้นอย่างสิ้นเชิง และประการที่สอง มันชี้ให้เห็นว่าสังคมก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศสนั้นไม่เคยมีความเป็นชาติอย่างแท้จริงอยู่เลยเนื่องเพราะเจตจำนงของชาติที่แท้จริงกำลังถูกตรึงไว้ด้วยโซ่ตรวน จะมีก็แต่การปลดปล่อยโซ่ตรวนนี้เท่านั้น ที่จะทำให้ประชาชาติฝรั่งเศสสามารถสำแดงเจตจำนงในการสถาปนา ‘รัฐธรรมนูญ’ อันเป็นระเบียบแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในชุมชนที่เรียกว่า ‘ชาติ’ นี้ขึ้นมาได้อย่างแท้จริง

ก็ใครกันเล่าที่จะมีอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ ย่อมต้องไม่ใช่พระหรือพวกอภิชน หรือพระมหากษัตริย์ แต่คือชาติ และชาติก็คือประชาชนนั่นเอง[13]

(อ่านต่อตอน 2)



[1] จอร์จส์ เลอแฟฟร์ (Georges Lefebvre) นักประวัติศาสตร์ด้านการปฏิวัติฝรั่งเศสได้สรุปเหตุการณ์ในคืนวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ.1789 เอาไว้ว่า “…โดยไม่ต้องมีการอภิปรายโต้เถียงใดๆ สมัชชาแห่งชาติได้ยอมรับหลักความเท่าเทียมทางภาษีและเพิกถอนสิทธิเหนือที่ดินต่างๆ (manorial rights) ด้วยการไถ่คืนจากพวกเจ้าที่ดินด้วยความกระตือรือร้น ยกเว้นก็แต่การเป็นทาสติดที่ดินซึ่งจะถูกยกเลิกไปอย่างสิ้นเชิงโดยไม่ต้องชดใช้ ข้อเสนออื่นๆ ที่ตามมาก็ได้รับความสำเร็จไม่ต่างกัน ความเท่าเทียมต่อบทลงโทษทางกฎหมายและการรับเข้าทำงานในตำแหน่งราชการ การยกเลิกระบบใช้เงินซื้อตำแหน่งราชการ การแปลงส่วยของฝ่ายศาสนจักร (tithe) ให้กลายเป็นการจ่ายเงินที่สามารถไถ่ถอนได้ เสรีภาพในการเคารพนับถือศาสนา การยกเลิกการถืออภิสิทธิ์จากตำแหน่งหน้าที่ในศาสนจักรที่เรียกว่า ‘เบนเนฟิซ’ (benefices) พร้อมกันหลายๆ อัน และการยกเลิกเงินที่เรียกว่า ‘อาเนต’ (annates) (ซึ่งเป็นเงินรายได้ของพระสันตะปาปาที่บิชอปมอบให้เมื่อได้รับการแต่งตั้ง) ส่วนเรื่องอภิสิทธิ์ของแคว้นและเมืองต่างๆ ก็ถูกเสนอเป็นเครื่องบูชายัญชิ้นสุดท้าย…”. Lefebvre, G. (2001). The French Revolution: From its origins to 1793. Routledge Classig Edition. หน้า 125-126. – ข้อความประโยคแรกของรัฐกฤษฎีกาที่เป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์ในคืนวันที่ 4 สิงหา ได้สรุปใจความสำคัญของมติในคืนนั้นเอาไว้ได้อย่างรวบรัดว่า “…สมัชชาแห่งชาติได้ทำลายระบบศักดินาลงไปอย่างสิ้นเชิง…” (The National Assembly destroys the feudal regime in its entirety.) – แม้ในความเป็นจริงการบังคับใช้มติของคืนวันที่ 4 สิงหา จะไม่ได้ราบรื่นหรือสามารถ ‘ทำลายระบบศักดินาลงไปอย่างสิ้นเชิง’ ในห้วงเวลาอันสั้นอย่างที่ปรารภไว้ในรัฐกฤษฎีกา แต่วันที่ 4 สิงหา คือหมุดหมายของ ‘จุดที่ไม่อาจหวนกลับ’ (point of no return) ของสังคมฝรั่งเศสอย่างแท้จริง – (สำหรับปัญหาในการยกเลิกสิทธิเหนือที่ดิน ดู Sait, E.M. (1908). The manorial system and the French revolution. Political Science Quarterly, Vol. 23, No 4. หน้า 690-711.)

[2] “…ชาติคืออะไร? ชาติคือกายาที่ประกอบขึ้นมาจากบุคคลที่มีชีวิตอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันและมีตัวแทนแห่งอำนาจนิติบัญญัติร่วมกัน…” (Qu’est-ce qu’une nation? Un corps d’associés vivant sous une loi commune et représentée par la même législature.) – Sieyès, E.J. (1789). Qu’est-ce que le Tiers-État? ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 ใน Éditions du Boucher (2002). หน้า 5.

[3] บาทหลวงและนักคิดทางกฎหมายที่จะมีบทบาทสำคัญต่อทั้งการปฏิวัติฝรั่งเศสและการขึ้นสู่อำนาจของนโปเลอง โปนาบาร์ต (Napoleon Bonaparte) – ไม่ใช่เพียงแค่บทบาททางการเมืองของซิเยส (Sieyès) เท่านั้นที่กลายเป็นประเด็นการถกเถียง แม้แต่ชื่อของเขาก็ชวนให้เกิดคำถามว่าแท้จริงแล้วควรจะออกเสียงอย่างไร ในยุคร่วมสมัย มีคนเขียนชื่อของเขาหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Sieys Scies หรือ Syeyes แม้แต่ซิแยสเองก็เขียนชื่อตัวถึง 3 แบบที่แตกต่างกันออกไป คือ Sieys Siéyes และ Sieyes โดยชื่อ Sieyes เป็นแบบที่เขานิยมใช้มากที่สุด และเราควรจะออกเสียงชื่อของว่า ‘ซิเอส’ หรือ ‘ซิเยส’ (Si-es) – ดู Sewell, W.H., (1994). A Rhetoric of Bourgeois Revolution: The Abbé Sieyes and What is the Third Estate? Duke University Press. หน้า 2. และ Jean-Denis Bredin. (1988). Sieyès: La clé de la Révolution française. Editions de Falllois. หน้า 22-23.

[4] เพื่อเข้าใจถึงบริบทของเหตุการณ์ก่อนการเปิดประชุมสภาฐานันดรทั่วไปในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ.1789 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่มีการตีพิมพ์หนังสือ ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร?’ ดูบทความ “จดหมายถึงพระมหากษัตริย์: เสียงเรียกร้องให้ปฏิรูป ก่อนการปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศส ปี 1789” ของผู้เขียนใน The 101 World

[5] สนามเทนนิสในที่นี้ คือสนาม ‘เรียลเทนนิส’ (real tennis หรือ jeu de paume) ซึ่งเป็นต้นแบบของการกีฬาเทนนิสในปัจจุบัน ‘เรียลเทนนิส’ เป็นกีฬาที่เล่นในอาคารและมีกติกาที่ซับซ้อนกว่าเทนนิสในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ คำปฏิญาณแห่งสนามเทนนิสจึงเกิดขึ้นในอาคาร

[6] “…Who then would dare to say that the Third Estate does not, within itself, contain everything needed to form a complete nation? It resembles a strong, robust man with one arm in chains…” (…ใครกันหนอที่จะกล้าพูดว่าฐานันดรที่สามไม่ได้มีทุกสิ่งทุกอย่างที่เพียงพอต่อการก่อร่างเป็นชาติที่สมบูรณ์ในตัวเอง (อันที่จริงแล้ว) ฐานันดรที่สามเป็นเสมือนกับชายที่แข็งแรงกำยำแต่แขนข้างหนึ่งของเขาถูกตรึงไว้ด้วยโซ่ตรวน…) – Sieyès, E.J. (1789). What is the Third Estate ใน Sonenscher, M. (2003). Emmanuel-Joseph Sieyès: Political Writings. Hackett Publishing Company, Inc. หน้า 96.

[7]…(nobility) attaches itself to a real nation like one of those parasitic forms of vegetation that live off the sap of the plants…” (…(พวกอภิชน) ยึดเกาะชาติที่แท้จริงเอาไว้เสมือนดั่งพวกพืชปรสิตที่อาศัยดูดกินสารอาหารของพืชอื่น ๆ)- Sieyès, E.J. (1789). What is the Third Estate ใน Sonenscher, M. (2003). Emmanuel-Joseph Sieyès: Political Writings. Hackett Publishing Company, Inc. หน้า 97.

[8] «NATION, s. f. (Hist. mod.) mot collectif dont on fait usage pour exprimer une quantité considérable de peuple, qui habite une certaine étendue de pays, renfermée dans de certaines limites, & qui obeit au même gouvernement.» Diderot, D. and d’Alebert, J. (1765). Encyclopédie ou Dictionnaire raisonné des sciences, des arts et des métiers, vol. 11. Paris.

[9] คำว่า ‘ประโยชน์แห่งสาธารณะ’ ในที่นี้ ซิเยสใช้ภาษาฝรั่งเศสคำว่า ‘La chose publique’ ซึ่งแปลมาจากคำศัพท์ภาษาละติน ‘res publicae’ ที่เป็นต้นกำเนิดของคำว่า ‘สาธารณรัฐ’ (republic) แต่คำว่า ‘La chose publique’ หรือ ‘res publicae’ ในความหมายดั้งเดิมหมายถึงรัฐที่มีความมุ่งหมายรับใช้ผลประโยชน์ของสาธารณะหรือของประชาชนทั้งหมด ไม่ใช่ดำรงอยู่เพื่อรับใช้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ – วลี “ทรยศต่อ ‘ประโยชน์แห่งสาธารณะ’” (une trahison pour la chose publique) จึงมีนัยยะโจมตีพวกอภิสิทธิ์ชนในฐานะที่กุมอำนาจของรัฐว่าไม่ได้ใช้ไปเพื่อผลประโยชน์ของสาธารณะแต่เพื่อพวกพ้องของตนเอง (คำว่า La chose publique ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า The Commonwealth)

[10] นิยามของชาติในแบบนี้ของซิเยสได้รับอิทธิพลบางส่วนจากฌอง-ฌาก รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) ในเรื่อง ‘สัญญาประชาคม’ (The Social Contract) ที่ว่ากฎหมายอันชอบธรรมนั้นกำเนิดขึ้นมาจากเจตจำนงร่วมของประชาชน (general will) ที่ตกลงกันว่าจะอยู่ภายใต้อำนาจของกฎหมายหนึ่งๆ แต่ต่างจากรุสโซในหนังสือสัญญาประชาคมที่มองว่าเจตจำนงร่วมของประชาชนไม่สามารถแสดงออกผ่านการเมืองแบบตัวแทน (representative democracy) ได้ (ถึงกระนั้น รุสโซได้ให้ความเห็นไว้ใน ‘Considérations sur le gouvernement de Pologne’ ซึ่งเป็นความเรียงทางการเมืองชิ้นท้ายๆ ของเขาว่าการเมืองแบบตัวแทนอาจเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับประเทศขนาดใหญ่อย่างโปแลนด์)

[11] “…It would be foreign to the Nation first, by virtue of its principle, because its mandate did not come from the people, and second, by virtue of its object, because this consists in defending, not the general interest, but a particular one…” (ผู้แทนของพวกอภิชนจึงเป็นสิ่งแปลกแยกจากชาติ ประการที่หนึ่ง เพราะโดยหลักการของมันที่ไม่ได้รับอาณัติมาจากประชาชน และประการที่สอง เพราะเป้าประสงค์ของมันที่ไม่ได้พิทักษ์ผลประโยชน์ของส่วนรวมแต่เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่ง)– Sieyès, E.J. (1789). What is the Third Estate ใน Sonenscher, M. (2003). Emmanuel-Joseph Sieyès: Political Writings. Hackett Publishing Company, Inc. หน้า 98.

[12] เราควรเข้าใจว่าซิเยสไม่ได้รวมพระมหากษัตริย์ไว้ในความขัดแย้งนี้ บทที่ 2 ของ ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร?’ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสำหรับซิเยสแล้ว อำนาจที่แท้จริงอยู่ในมือของอภิชนและราชสำนักที่กระทำไปในนามของพระมหากษัตริย์ (ยกเว้นก็เพียงแต่บางช่วงในรัชสมัยของกษัตริย์ลุยส์ที่ 11 และ กษัตริย์ลุยสที่ 14) ความเห็นของซิเยสเช่นนี้ อาจสะท้อนบริบทของเหตุการณ์ดังที่ผู้เขียนได้อธิบายไว้ใน “จดหมายถึงพระมหากษัตริย์: เสียงเรียกร้องให้ปฏิรูป ก่อนการปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศส ปี 1789”  ว่าความขัดแย้งหลักก่อนการประชุมสภาฐานันดรทั่วไปก็คือความขัดแย้งระหว่างพวกอภิชนกับรัฐบาลกลางของกษัตริย์ลุยส์ที่ 16

[13] “…In every free nation…there is only one way to put an end to differences about the constitution. Recourse should not be made to the Notables, but to the Nation itself. If we lack a constitution, then a constitution must be made, and the Nation alone has the right to do so…” (ในชาติที่เสรีทั้งหลาย…มีเพียงทางเดียวที่จะยุติข้อพิพาทระหว่างกันในเรื่องรัฐธรรมนูญได้ ย่อมต้องไม่ใช่การขอความช่วยเหลือจากจากพวกอภิชน แต่เป็นการร้องขอเอาจากชาตินั้นเอง ถ้าหากเราไม่มีรัฐธรรมนูญ เราก็ต้องสร้างมันขึ้นมา และก็มีเพียงแต่ชาติเท่านั้นที่มีสิทธิ์สร้างรัฐธรรมนูญขึ้นมา) – Sieyès, E.J. (1789). What is the Third Estate ใน Sonenscher, M. (2003). Emmanuel-Joseph Sieyès: Political Writings. Hackett Publishing Company, Inc. หน้า 133.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save