fbpx

อ่านปฏิวัติฝรั่งเศส อ่าน ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร?’ (2)

ในบทความตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึงบริบททางการเมืองในขณะที่มีการตีพิมพ์หนังสือ ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร?’ และสิ่งที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นหัวใจของความเรียงทางการเมืองชิ้นนี้ สำหรับตอนนี้ ผู้เขียนอยากจะชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของหนังสือ ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร?’ ในฐานะที่ซิเยสใช้เป็นเครื่องมือช่วงชิงความเป็น ‘ตัวแทนอันชอบธรรมของชาติ’ มาสู่ฐานันดรที่สาม


(3)
ฐานันดรที่สามและตัวแทนอันชอบธรรมของชาติ


ใครคือตัวแทนอันชอบธรรมของชาติ?

ใครคือผู้ทรงอำนาจสถาปนา ‘รัฐธรรมนูญ’ อันเป็นระเบียบแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในชุมชนที่เรียกว่า ‘ชาติ’?

คำตอบต่อคำถามพื้นฐานสองข้อนี้แฝงไปด้วยประวัติศาสตร์แห่งการช่วงชิงความชอบธรรมในการเป็นตัวแทนของชาติที่มีเนิ่นนานก่อนการตีพิมพ์หนังสือ ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร?’ ถ้าหากเรามองย้อนกลับไปในอดีตก็จะเห็นการคัดง้างอำนาจระหว่างอภิชนและพระมหากษัตริย์ และในการคัดง้างอำนาจนั้นก็รวมไปถึงการช่วงชิงกันว่าใครกันแน่คือตัวแทนอันชอบธรรมของชาติ การต่อสู้ระหว่างอภิชนและพระมหากษัตริย์ดำเนินเช่นนี้เรื่อยมาจนกระทั่งการปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศสที่ได้ทำให้สามัญชนเริ่มเข้ามาเป็นฝ่ายช่วงชิงการเป็นตัวแทนอันชอบธรรมของชาติบ้าง[1]

ในระบอบเก่าของฝรั่งเศส สามัญชนไม่เคยมีที่ทางอยู่ในการช่วงชิงความเป็นตัวแทนอันชอบธรรมของชาติ และถึงที่สุดแล้ว ‘สามัญชน’ ก็ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าฐานันดรต่ำที่สุดของสังคมชนชั้น

ความเป็นชาติในระบอบเก่าของฝรั่งเศสมีความหมายถึงการรวมตัวกันของประชาชนที่ถูกยึดเหนี่ยวร้อยรัดเอาไว้ด้วยกันภายในกายาของพระมหากษัตริย์ หากปราศจากพระมหากษัตริย์ก็ย่อมปราศจากชาติ เพราะชาติและพระมหากษัตริย์ต่างก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวซึ่งกันและกัน

ในหนังสือเรื่อง ‘การเมืองอันเนื่องมาจากถ้อยคำในพระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์’ (‘Politics Drawn from the Very Words of Holy Scripture’ หรือ ‘Politique tirée des propres paroles de l’Écriture sainte’) ของฌาคส์-เบนิญ บ็อสซุยเยต์ (Jacques-Bénigne Bossuet) นักบวชผู้เป็นที่ปรึกษาของกษัตริย์ลุยส์ที่ 14 และเป็นนักคิดทางกฎหมายของระบอบเก่าผู้ทรงอิทธิพลในการสร้างคำอธิบายเรื่องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิ์ (absolutism) ผ่านแนวคิดทางศาสนา ได้อธิบายไว้ว่า ‘พลังอำนาจทั้งปวงของชาติรวมอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวได้ก็ด้วยองค์อธิปัตย์’ และ ‘ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของประชาชนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพวกเขาต่างละทิ้งเจตนารมณ์ส่วนตน ถ่ายทอดและหลอมรวมเจตนารมณ์นั้นมาอยู่ในองค์พระมหากษัตริย์ ไม่อย่างนั้นแล้วก็จะไม่เกิดการรวมกัน (เป็นชาติ) ประชาชนก็จะเหมือนดั่งคนพเนจรหรือฝูงนกที่กระจัดกระจายไป[2]

หากจะกล่าวโดยสรุป ในระบอบเก่าของฝรั่งเศส พระมหากษัตริย์ถือเป็น ‘ตัวแทนของชาติ’ และ ‘ตัวแทน’ ในที่นี้ก็ไม่ใช่ในฐานะของการเป็น ‘บุคคลที่ได้รับมอบอำนาจมาจากคนอื่น’ แต่พระมหากษัตริย์นั่นแหละที่เป็นแหล่งของอำนาจนั้นด้วยพระองค์เอง เมื่อชาติดำรงอยู่ในกายาของพระมหากษัตริย์ เจตนารมณ์ของพระมหากษัตริย์ก็คือเจตนามณ์ของชาติไปโดยปริยาย

การที่พระมหากษัตริย์อ้างตนเป็นตัวแทนอันชอบธรรมของชาติแต่เพียงผู้เดียวเช่นนี้ย่อมต้องกระทบกระทั่งกับพวกอภิชน ก่อนอื่นเราควรเข้าใจว่าแม้พระมหากษัตริย์ในสังคมศักดินาจะมีสถานะในทางทฤษฎีเป็นเจ้าเหนือดินแดนทั้งมวลในราชอาณาจักร แต่พวกอภิชนซึ่งที่แท้แล้วก็คือตระกูลเจ้าที่ดินท้องถิ่นเก่าแก่ซึ่งสืบทอดการปกครองแว่นแคว้นของตนเองมาเป็นเวลาเนิ่นนานคือผู้มีอำนาจเหนือดินแดนใต้ปกครองของตนที่แท้จริง การตัดสินใจบริหารราชกิจหรือแม้แต่การออกกฎหมายของพระมหากษัตริย์จึงจะต้องได้รับความยินยอมจากพวกอภิชนเหล่านี้เสียก่อน

ในระบอบเก่าของฝรั่งเศส พวกอภิชนเหล่านี้รวมตัวกันเข้าเป็นสภาของอภิชนที่เรียกว่า ‘คณะปาเลอมองต์’ (Le Parlement) ซึ่งแม้ในทางทฤษฎี คณะปาเลอมองต์จะมีหน้าที่เสมือนเป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันคือสถาบันทางการเมืองที่เป็นเอกเทศ ทรงพลัง และคอยคัดง้างอำนาจกับพระมหากษัตริย์อยู่ตลอดเวลา ในอังกฤษ สภาของอภิชนที่มีลักษณะเช่นนี้ก็จะวิวัฒนาการจนกลายมาเป็นรัฐสภาเช่นในปัจจุบัน แต่ในระบอบเก่าของฝรั่งเศส คณะปาเลอมองต์ซึ่งมีอำนาจวินิจฉัยและตัดสินคดีความต่างๆ รวมทั้งรับรองกฎหมายที่เสนอโดยพระมหากษัตริย์จะถูกยุบไปในสมัยปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศสไปในที่สุด

อย่างไรก็ดี ในช่วงก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส แม้คณะปาเลอมองต์ใช้อำนาจตัดสินคดีความในนามของพระมหากษัตริย์และมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประธานก็ตามที แต่อภิชนเหล่านี้กลับท้าทายพระราชอำนาจและการผูกขาดสถานะตัวแทนของชาติจากพระมหากษัตริย์อยู่ตลอดเวลา

ยกตัวอย่างเช่นในกรณีที่รัฐบาลของกษัตริย์ลุยส์ที่ 15 ต้องการออกมาตรการทางภาษีแบบใหม่เพื่อชดเชยสภาวะขาดดุลการคลังจากการสูญเสียงบประมาณจำนวนมากไปกับการทำสงครามสืบราชบัลลังก์ออสเตรีย (ค.ศ. 1740 – 1748)[3] ภาษีประเภทใหม่นี้เป็นการเก็บภาษีจากรายได้ (income tax) มากถึงร้อยละ 20 โดยไม่แบ่งแยกฐานันดร ซึ่งทำให้เกิดการต่อต้านจากพวกอภิชนและพระอย่างหนัก โดยเฉพาะการขัดขวางของคณะปาเลอมองต์ไม่ให้นโยบายนี้กลายเป็นกฎหมายได้

การขัดขวางของคณะปาเลอมองต์ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างพระราชอำนาจและพวกอภิชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยปกติแล้ว กฎหมายที่เสนอโดยพระมหากษัตริย์จะต้องผ่านการรับรองของสภาอภิชนชั้นสูงที่เรียกว่าคณะปาเลมองต์แห่งปารีส (Le Parlement de Paris) เสียก่อน หากพวกอภิชนเหล่านี้ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่เสนอโดยพระมหากษัตริย์แล้ว พวกเขาก็จะสามารถออกหนังสือถวายคำทัดทาน (ที่เรียกว่า ‘Remontrances du Parlement de Paris’) เพื่อโต้แย้งและชี้แจงเหตุผลที่พวกเขาไม่รับรองกฎหมายฉบับดังกล่าว หากพระมหากษัตริย์ยังต้องการยืนยันที่จะผ่านกฎหมายที่ถูกขัดขวางโดยคณะปาเลอมองต์ พระองค์ก็สามารถใช้ฐานะองค์ประธานการประชุมของคณะปาเลอมองต์ที่เรียกว่า ‘ลีต์ เดอ ฌูสติส’ (lit de justice) ในการยืนยันพระราชวินิจฉัยของพระองค์เอง (และถึงที่สุดพระมหากษัตริย์ก็อาจจะใช้ ‘พระราชอำนาจ’ ในการจับกุม คุมขังหรือเนรเทศสมาชิกของคณะปาเลอมองต์ที่เป็นปฏิปักษ์กับพระองค์)

การปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างคณะปาเลอมองต์และกษัตริย์ลุยส์ที่ 15 ในเรื่องการออกกฎหมายเก็บภาษีประเภทใหม่นี้เองที่ทำให้กษัตริย์ลุยส์ที่ 15 ประกาศกร้าวต่อหน้าที่ประชุมของคณะปาเลอมองต์ถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์ในฐานะแหล่งกำเนิดอำนาจรัฐทั้งปวงและในฐานะที่เป็นตัวแทนอันชอบธรรมของชาติ

“…มีเพียงแต่ตัวเราเท่านั้นที่ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย อันเป็นอำนาจแห่งการชี้นำ แห่งความยุติธรรม และเหตุผล เราเพียงผู้เดียวที่มอบตัวตนและอำนาจให้กับรัฐ ความสมบูรณ์แห่งอำนาจนี้กระทำไปในนามของเราเท่านั้น มันดำรงอยู่โดยถาวรในเรา และไม่อาจใช้ต่อต้านเราได้ อำนาจในการออกกฎหมายเป็นของเราเท่านั้น ไม่อยู่ภายใต้ใคร และไม่อาจแบ่งแยกได้ เป็นอำนาจแห่งเราโดยแท้ที่พวกข้าราชสำนักของเราเองย่อมไม่อาจมีอิทธิพลเหนือการออกกฎหมาย แต่จำกัดเฉพาะเพียงการบันทึก การประกาศ และการบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น พวกเขามีสิทธิ์ในการทัดทานตามหน้าที่ของที่ปรึกษาที่ดีและซื่อสัตย์ ระเบียบแบบแผนของรัฐทั้งปวงกำเนิดจากเรา เราคือผู้พิทักษ์สูงสุดแห่งระเบียบแบบแผนนั้น ประชาชนของเราเป็นหนึ่งเดียวกับเรา เช่นเดียวกับสิทธิและผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งมีบางคนต้องการที่จะแยกมันออกไปจากเราผู้เป็นพระมหากษัตริย์ สิทธิและผลประโยชน์ของชาติย่อมเป็นหนึ่งเดียวกับเราและอยู่ในมือของเราโดยแน่แท้…”[4]

ในความเป็นจริง แม้คณะปาเลอมองต์จะท้าทายการผูกขาดความเป็นตัวแทนของชาติโดยพระมหากษัตริย์ แต่พวกอภิชนก็ไม่ได้ปฏิเสธพระมหากษัตริย์ในฐานะบ่อเกิดแห่งอำนาจรัฐและกฎหมาย พวกเขาเพียงแต่อ้างความเป็น ‘คนกลาง’ ที่ทำหน้าที่เชื่อมประสานระหว่างพระมหากษัตริย์และ ‘ชาติ’ นั่นคือพวกเขาเป็นตัวแทนของพระราชอำนาจต่อหน้าประชาชน พวกเขามีฐานะผู้ใช้กฎหมายของราชอาณาจักรตัดสินคดีความในนามของพระองค์ แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็เป็นตัวแทนของชาติ หรือเป็น ‘ปากเสียง’ ของประชาชนต่อหน้าพระมหากษัตริย์ นำเสียงสะท้อนจากประชาชนมากราบทูลให้กษัตริย์ได้ทราบ (the parlement only ever speak to the nation in the name of the king, just as it only ever speaks to its king in the name of the nation. Its remonstrances are those of the nation) [5]

สถานะอย่างหลังนี่เองที่พวกคณะปาเลอมองต์ได้นำมาใช้ต่อสู้กับพระมหากษัตริย์ พวกเขาขับเน้นบทบาทของพวกตนในการรับรองกฎหมายที่เสนอโดยพระมหากษัตริย์ แน่นอนว่ากฎหมายย่อมไม่เป็นกฎหมาย หากปราศจากความยินยอมพร้อมใจของชาติ (ซึ่งในที่นี้ก็ไม่ใช่ใครนอกจากพวกอภิชนอย่างคณะปาเลอมองต์)

การขับเคี่ยวระหว่างอภิชน (ผู้ต้องการลดทอนอำนาจของพระมหากษัตริย์) และกษัตริย์ลุยส์ที่ 15 (ผู้ต้องการรวมศูนย์อำนาจ) นำไปสู่การยุบคณะปาเลอมองต์ในที่สุด แต่เมื่อกษัตริย์ลุยส์ที่ 16 ขึ้นครองราชย์ สภาอภิชนเหล่านี้ก็จะถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีก เพราะท้ายที่สุดแล้ว หากพวกอภิชนถูกทำให้ไม่มีปากเสียง พวกเขาก็จะไม่ยอมให้ความร่วมมือในเรื่องการเสียภาษีกับรัฐบาลส่วนกลางของกษัตริย์ ซึ่งในสังคมศักดินาของยุโรป อภิชนเจ้าที่ดินมีพลังต่อรองกับพระมหากษัตริย์ไม่น้อยเลย[6]

การต่อสู้กันระหว่างอภิชนและพระมหากษัตริย์เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งในระบอบเก่าของฝรั่งเศส และการแก่งแย่งกันเป็นตัวแทนของสิ่งนามธรรมที่เรียกว่า ‘ชาติ’ ก็ดูจะดำเนินไปราวกับไม่มีวันจบสิ้น แต่ที่จริงแท้แน่นอนคือประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของชาติแต่ไม่เคยเป็นอะไรมากกว่านั้น การมาถึงของการปฏิวัติฝรั่งเศสและ ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร?’ จะทำให้ประชาชนกลายเป็นองค์ประธานของสิ่งที่เรียกว่า ‘ชาติ’ ไปในที่สุด

ชาติในความหมายอย่างใหม่นี้เป็นสิ่งจับต้องได้ ประชาชนไม่ต้องจินตนาการถึงชาติที่เป็นนามธรรมอันผนึกอยู่ในกายาของพระมหากษัตริย์อีกต่อไป ประชาชนมองเห็นชาติที่อยู่ตรงหน้าและอยู่ในตัวของพวกเขาเอง เพราะชาติคือประชาชน ตัวแทนที่ชอบธรรมของชาติจึงไม่ใช่อภิชนหรือพระมหากษัตริย์แต่คือคนที่ถูกเลือกขึ้นมาจากประชาชนด้วยกันนี่เอง


(อ่านต่อตอนที่ 3)



[1] คำว่า ‘สามัญชน’ ในที่นี้เป็นคำที่กว้าง นับรวมตั้งแต่พวกพวกกระฎุมพี (bourgeoisie) ซึ่งอาจมีวิถีชีวิตไม่ต่างจากพวกอภิชนมากนัก ไปจนถึงคนชนชั้นล่างที่เป็นชาวนาติดที่ดินหรือผู้ใช้แรงงาน แม้สามัญชนที่เป็นคนชนชั้นล่างจะมีส่วนสำคัญในการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกแกนนำที่ผลักดันข้อเรียกร้องทางการเมืองต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นพวกกระฎุมพี

[2] “…Such is the unity of a people, when each one renouncing his own will, transfers and reunites it to that of the prince and the magistrate. Otherwise there is no union; the people become wanderers, like a flock dispersed…” Bossuet, J. B. Politics Drawn from the Very Words of Holy Scripture (Article 3: the 3rd Proposition). Translated and edited by Riley, P. Cambridge University Press. 1990. หน้า 15. – ข้อความของบ็อสซุยเยต์ท่อนนี้ (ซึ่งคล้ายคลึงและอาจได้อิทธิพลมาจาก Leviathan ของโธมัส ฮอบบ์ส์ (Thomas Hobbes) ทำให้ผู้เขียนนึกถึงเนื้อเพลงสองท่อนแรกของ ‘ของขวัญจากก้อนดิน’ ที่แต่งโดยคุณนิติพงษ์ พ่อนาค “…เราทุกคนก็เหมือนก้อนดินแค่ก้อนหนึ่ง เปราะบางไร้ค่าไร้ความหมาย อ่อนแอเหมือนโคลน ไหลไปตามทางเรื่อยไป เมื่อน้ำแห้งไปก็แตกระแหง มีพลังเพียงแค่แรงเดียวที่ยึดเรา เหนี่ยวรั้งเราไว้ให้กล้าแข็ง รวมผู้คนมากมายให้ทรงพลังแข็งแรง รวมเม็ดดินทุกเม็ดให้เป็นแผ่นดิน…” คงเป็นเรื่องน่าสนใจดี หากคุณนิติพงษ์จะได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่านฮอบบ์ส์

[3] สงครามสืบราชบัลลังก์ออสเตรีย (ค.ศ. 1740 – 1748) มีชนวนมาจากการสวรรคตของชาร์ลส์ที่ 6 (Charles VI) กษัตริย์แห่งราชวงศ์ฮาบสบวร์ก (Habsburg) ในออสเตรียและฮังการี และจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (The Holy Roman Empire) ซึ่งส่งผลให้เจ้าหญิงมาเรีย เธเรซา (Maria Theresa) ผู้เป็นบุตรสาวเพียงคนเดียวของจักรพรรดิชาร์ลส์ที่ 6 ได้สืบราชบัลลังก์ต่อ แต่ฝรั่งเศสซึ่งเป็นศัตรูของออสเตรียมาช้านานได้อาศัยจังหวะนี้เข้าร่วมสงครามเป็นพันธมิตรกับกลุ่มอาณาจักรที่ไม่เห็นด้วยกับการสืบราชบัลลังก์ของมาเรีย เธเรซา โดยรากฐานของกฎหมายศักดินาโบราณในยุโรป (salic law) ที่ปฏิเสธการสืบราชบัลลังก์โดยสตรี

[4] “…In my person alone lies that sovereign power whose very nature is the spirit of counsel, justice and reason. From me alone the courts receive their existence and authority. The fullness of this authority, which they exercise in my name only, remains permanently vested in me, and its use can never be turned against me. Legislative power is mine alone, without subordination or division. It is by my sole authority that the officers of my courts effect not the creation of the law, but its registration, promulgation and execution, and that they have the right to remonstrance, as is the duty of good and faithful counsellors. Public order in its entirety emanates from me. I am its supreme guardian. My people are one with me, and the rights and interests of the nation – which some dare to make into a body separate from the monarch – are of necessity united with my own and rest entirely in my hands…” – เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1766 เรียกว่า ‘la séance de la Flagellation’

[5] จาก ‘Remontrances du Parlement de Bretagne au XVIIIe siècle’ อ้างใน Baker, K. M. Inventing the French Revolution. Cambridge University Press. 1990. หน้า 230.

[6] สามารถอ่านเรื่องความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลของกษัตริย์ลุยส์ที่ 16 และพวกอภิชนรวมทั้งคณะปาเลอมองต์ได้จากบทความเรื่อง ‘จดหมายถึงพระมหากษัตริย์: เสียงเรียกร้องให้ปฏิรูป ก่อนการปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศส ปี 1789’ ของผู้เขียน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save