‘คนหาย’ เป็นปัญหาที่มีอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน และมักเกิดขึ้นโดยไม่มีสัญญาณบอกล่วงหน้า ไม่ว่าจะด้วยปัญหาสุขภาพ เศรษฐกิจ อาชญากรรม หรือปัจจัยทางสังคมอื่นๆ การที่ใครบางคนหายไปย่อมนำความทุกข์ตรมมาสู่คนที่รักหรือคนในครอบครัวอย่างประเมินค่ามิได้
ประกาศตามหาคนหายในรายการโทรทัศน์ โซเชียลมีเดีย ซองขนม หรือแม้แต่ฉลากบนขวดน้ำดื่ม หลากช่องทางที่จะเพิ่มโอกาสในการติดตามจนพบคนที่หายไป สะท้อนว่าเราอยู่กับปัญหาคนหายที่เกิดขึ้นรายวัน แต่ขณะเดียวกันเราแทบไม่รู้ว่าความพยายามเหล่านี้พาคนที่ออกตามหาไปเจอกับคนที่เขารอคอยหรือไม่
เมื่อโลกอันแสนกว้างใหญ่ไม่สามารถทำให้การตามหาคนหายประสบความสำเร็จได้ง่ายๆ ทุกวินาทีที่ใช้ไปกับการตามหา อาจเท่ากับเวลาที่กำลังนับถอยหลังของผู้สูญหาย ทำให้จากที่เป็นคนหาย ก็กลายเป็นร่างไร้ลมหายใจ จากโลกไปพร้อมกับสถานะ ‘นิรนาม’ โดยไม่มีคนที่รักเคียงข้างในวาระสุดท้าย หรือในบางรายก็ถูกฆาตกรรมให้ไม่เหลือปากคำที่เอาตัวคนผิดมาลงโทษได้
การตามหาคนหายจนพบ ไม่ใช่แค่เรื่องของโชคชะตา แต่ ‘ระบบ’ ในการติดตามก็มีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เมื่อมีความเป็นไปได้สองทางว่าคนสูญหายยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้ว การสืบให้ทราบจากหลักฐานที่ติดตัว ‘คนนิรนาม’ หรือ ‘ศพนิรนาม’ จะช่วยแกะรอยไปสู่ที่ที่เขาจากมา ด้วยเหตุนี้งานด้าน ‘นิติวิทยาศาสตร์’ ที่มักถูกเข้าใจว่าทำงานกับศพ แต่ความจริงแล้วมีส่วนสำคัญในการติดตามคนหายและกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ จึงเป็นคนต่อจิ๊กซอว์ที่ขาดไม่ได้ แม้คนหายที่ตายไปแล้วจะพูดไม่ได้ แต่กระดูกและสิ่งที่หลงเหลืออยู่จะช่วยไขประตูไปสู่โลกที่เขาเคยอยู่ และให้คำตอบกับคนที่รอเขากลับบ้านได้
101 สนทนากับ ดร.สุธิดา สุวรรณรังษี ผู้อํานวยการกองพัฒนาระบบการติดตามคนหายและการพิสูจน์ศพนิรนาม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม พิสูจน์ให้ทราบว่างานด้านนิติวิทยาศาสตร์มีบทบาทอย่างไรในการตามหาคนหาย โดยเฉพาะเมื่อคนหายเสียชีวิตและกลายเป็นศพนิรนาม หาคำตอบว่าความยุติธรรมแบบใดที่กระบวนการนิติวิทยาศาสตร์มอบให้ร่างไร้วิญญาณที่ยังไม่อาจหวนคืนสู่ครอบครัวตอนมีชีวิตอยู่ได้
งานด้านนิติวิทยาศาสตร์เข้ามามีบทบาทอย่างไรในคดีคนหาย
เมื่อมีการแจ้งคนหาย เราไม่อาจรู้ได้ว่าคนที่หายไปยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้ว สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่ทำงานเกี่ยวกับการตรวจพิสูจน์อยู่แล้ว จึงมีการดำเนินงานรับแจ้งคนหายและมีศูนย์พิสูจน์บุคคลสูญหายพ่วงมาด้วย ตั้งแต่ก่อตั้ง (พ.ศ. 2545) ต่อมาศูนย์ก็พัฒนามาเป็นกองพัฒนาระบบการติดตามคนหายและการพิสูจน์ศพนิรนามในปัจจุบัน
การทำงานของกองพัฒนาระบบฯ เป็นหนึ่งภารกิจของงานนิติวิทยาศาสตร์ ที่เป็นการทำงานต่อเนื่องจากการชันสูตรศพ ซึ่งกระบวนการทำงานเป็นแพทย์นิติเวชของสถาบันฯ ทำงานร่วมกับการสืบสวนสอบสวนของพนักงานสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ ป.วิอาญา เพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่าผู้ตายคือใคร ตายด้วยสาเหตุอะไร และในกรณีที่เรายังไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่าผู้ตายเป็นใคร หรือภายใน 48 ชั่วโมง ยังไม่มีคนรู้จักหรือยังไม่มีญาติมายื่นเอกสารในการยืนยันตัวตน ก็จะเข้าข่ายการเป็นศพนิรนาม
ดังนั้นในกระบวนการพิสูจน์ทราบว่าผู้ตายเป็นใคร เราจะมีการเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลไว้เพื่อตรวจพิสูจน์ยืนยันตัวตนว่าเขาเป็นใคร นอกจากข้อมูลรูปพรรณสันฐาน หน้าตา สภาพการแต่งกาย บาดแผลที่พบ ร่องรอยที่พบจากศพ หรือเมื่อผ่าชันสูตรแล้วอาจพบข้อมูลว่าผ่านการทำศัลยกรรมมา หลักฐานที่จำเป็นต้องเก็บยังรวมไปถึงข้อมูลทางการแพทย์อื่นๆ เช่น มีข้อมูลการทำฟันหรือไม่ มีแผลเป็น ตำหนิ รอยสักตรงไหนหรือเปล่า ตอนชันสูตรจะเก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้ และจะต้องมีการเก็บลายพิมพ์นิ้วมือและเก็บสารพันธุกรรม (DNA) สำหรับการตรวจพิสูจน์และใช้ในการตรวจเปรียบเทียบในกรณีที่มีญาติมาติดต่อหรือมีการแจ้งหาย และเมื่อมีญาติมาแจ้งหาย เราจึงต้องเก็บข้อมูลของญาติสายตรงและข้อมูลอื่นๆ ไว้ด้วย เราจะมีการเก็บ DNA ของญาติเพื่อมาเทียบกับข้อมูลศพนิรนามในถังฐานข้อมูลของสถาบันฯ ถ้าข้อมูลตรงกันจะรู้แล้วว่าเคสนี้จากที่เป็นคนหาย ก็กลายเป็นศพแล้ว ดังนั้นการพิสูจน์ศพและการติดตามคนหายจึงเป็นกระบวนการที่เกี่ยวเนื่องกัน
เมื่อพูดถึงการชันสูตรศพ ภาพแรกที่ผุดขึ้นมาตามที่เห็นในข่าวบ่อยๆ คือศพที่เป็นร่าง แล้วถ้าศพอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมแล้ว หรือมาเป็นโครงกระดูก จะมีวิธีการตรวจพิสูจน์ที่ต่างออกไปบ้างไหม
ที่จริงกระบวนการตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลไม่ต่างกัน เพราะเป้าหมายของเรายังเหมือนเดิม คือพิสูจน์เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่บ่งบอกอัตลักษณ์ ให้ระบุตัวตนให้ได้มากที่สุด แน่นอนว่าร่างที่ส่งมาชันสูตรมีทั้งร่างสมบูรณ์ ร่างที่เปลี่ยนแปลงสภาพแล้ว เช่น เสียชีวิตเพราะจมน้ำ จะมีสภาพที่บวม พอง อืดแล้ว อาจไม่สามารถดูรูปร่างหน้าตาที่ชัดได้แล้วว่าเป็นใคร ถ้าไม่มีหลักฐานเอกสารอื่นๆ ประกอบ
ถึงแม้ว่าศพจะเปลี่ยนสภาพแล้ว แต่อัตลักษณ์บางอย่างยังอยู่ เช่น รอยสัก และแม้ว่าศพที่เน่าแล้ว ทางนิติวิทยาศาสตร์ก็ยังสามารถเก็บลายพิมพ์นิ้วมือได้เช่นเดียวกัน แต่จะมีความยากขึ้นเท่านั้น ข้อมูลเหล่านี้จะสามารถนำมาเทียบกับฐานข้อมูลที่ญาติมาแจ้งไว้ ซึ่งอาจจะบอกว่ามีแผลเป็น มีรอยสัก หรือมีประวัติการทำฟัน รวมถึงการเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของกรมการปกครองด้วย
แต่ถ้าเป็นกรณีที่มาแบบชิ้นส่วนเดียว เช่น ท่อนแขน ส่วนนี้จะบอกไม่ได้ว่ายังมีชีวิตหรือเสียชีวิต ถ้ามาเป็นคอก็ชัดเจนว่าเสียชีวิตแล้วแน่นอน ในเคสแบบนี้ที่ไม่มีมือให้เก็บลายนิ้วมือ เราก็เก็บ DNA แทน จริงๆ ไม่ว่าจะมาแบบไหนเราก็ต้องตรวจพิสูจน์ให้ได้ว่าเขาเป็นใคร
โครงกระดูกก็เช่นเดียวกัน ถ้าเจอในที่เกิดเหตุ พนักงานสอบสวนจะส่งมาให้เราชันสูตรเบื้องต้น แต่ถามว่าแพทย์จะบอกว่าเป็นใครเลยได้ไหม เราบอกไม่ได้ ภายใต้กองพัฒนาระบบการติดตามคนหายและการพิสูจน์ศพนิรนามของเราจึงต้องมีกลุ่มงานตรวจวิเคราะห์กระดูก ทำหน้าที่ในการตรวจวิเคราะห์กระดูก เช่น ชิ้นส่วนกระดูกที่ได้รับมาเป็นกระดูกจริงหรือไม่ ถ้าใช่แล้วเป็นกระดูกคนหรือกระดูกสัตว์ ถ้าใช่คน แล้วเป็นชิ้นส่วนไหน เราจะมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์กระดูกโดยเฉพาะ
ในกรณีของศพนิรนามที่เสียชีวิตโดยผิดธรรมชาติ หลายรายเสียชีวิตอยู่ห่างไกลจากบ้านเกิด หรือในบางเคสเป็นศพที่ถูกอำพรางคดีด้วยวิธีต่างๆ หากข้อมูลจากครอบครัวเดินทางมาไม่ถึงมือเรา เป็นไปได้แค่ไหนที่กระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียวจะไขคดีและคืนความยุติธรรมให้เหยื่อและครอบครัวได้
เราต้องมีความร่วมมือและทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน ไม่สามารถทำเพียงลำพังได้ เพราะนับตั้งแต่มีการตายเกิดขึ้น ตาม ป.วิอาญา ก็จะเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย พนักงานสอบสวนจะมีหน้าที่เป็นเจ้าของคดี รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ต้องลงไปที่เกิดเหตุเพื่อดูว่าผู้ตายเสียชีวิตอย่างไร จากนั้นก็ต้องประสานแพทย์ในการตรวจชันสูตรพลิกศพในที่เกิดเหตุ หากตายโดยผิดธรรมชาติจะต้องมีการชันสูตร ถ้าไม่มีญาติหรือคนรู้จักมาแจ้งว่าเป็นใคร ก็จะเข้าสู่กระบวนการเก็บข้อมูลพิสูจน์อัตลักษณ์จากศพเหมือนที่ได้เล่าไปแล้วตอนต้น
ดังนั้น นอกจากพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลแล้ว สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ยังรับแจ้งหายด้วย ถ้าญาติแจ้งหายไว้ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ แล้วสงสัยว่าเป็นเคสนี้ พนักงานสอบสวนจะพาญาติมาติดต่อหาเราเพื่อเทียบ DNA เราเปิดสถาบันมานานกว่า 20 ปีแล้ว ดังนั้นจะมีข้อมูลมาแจ้งหายไว้จำนวนมาก แน่นอนว่าคนมีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานอยู่ตลอด โอกาสในการรู้ว่าคนหายแล้วไปเสียชีวิตที่ไหนก็ไม่ได้มีมาก การที่ญาติมาแจ้งและเก็บข้อมูลไว้ เพื่อขอเทียบข้อมูลกับฐานข้อมูลศพนิรนามเลยเป็นการเพิ่มความเป็นไปได้อีกทาง
ถ้ามาเทียบแล้วไม่เจอในฐานข้อมูลของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เราก็จะประสานไปยังสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อเอาโปรไฟล์ดีเอ็นเอของญาติไปเทียบในถังข้อมูลของเขาว่ามีข้อมูลศพนิรนามที่ตรงกันไหม เราจึงทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานการติดตามคนหายและพิสูจน์ศพนิรนามไปด้วย ซึ่งเป็นบทบาทของฝ่ายเลขานุการฯ คณะกรรมการ ค.พ.ศ. ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการสนับสนุนการปฏิบัติงานการติดตามคนหาย การพิสูจน์คนนิรนามและศพนิรนาม พ.ศ. 2564 ที่ขับเคลื่อนการทำงานด้านการติดตามคนหายในภาพรวมของประเทศ
เป็นที่มาว่าทำไมเราถึงต้องมีความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย เพราะเป็นต้นสังกัดของพนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นต้นทางของที่มาของศพนิรนาม การแจ้งคนไร้ญาติ หรือคนนิรนาม นอกจากนั้นเราต้องประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกหลายหน่วย เช่น กระทรวงสาธารณสุขที่มีแพทย์นิติเวชทำหน้าที่ชันสูตรศพ
แล้วถ้าเป็น ‘คนหาย’ ที่ยังมีชีวิตอยู่ล่ะ?
การร่วมมือกันไม่ใช่แค่กรณีของศพนิรนาม แต่ยังรวมถึงคนนิรนามและศพไร้ญาติด้วย เวลามีคนหาย นอกจากความเป็นไปได้ว่าเขาอาจเสียชีวิตเป็นศพแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ว่าประสบอุบัติเหตุ ไปเป็นคนไข้ในโรงพยาบาล แล้วไม่สามารถบอกข้อมูลส่วนตัวได้ หรือจำตัวเองไม่ได้ เราเรียกว่า ‘คนไข้นิรนาม’
บางเคสพอรักษาไปได้ประมาณหนึ่ง แม้จะยังจำตัวเองไม่ได้ แต่ก็จำเป็นต้องออกจากโรงพยาบาล เพราะอย่างที่รู้กันว่าโรงพยาบาลประเทศเรามักประสบปัญหาเตียงไม่พอ ก็ต้องไปอยู่ที่สถานแรกรับคนไร้ที่พึ่งของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
การตามหาญาติให้กับศพนิรนามและคนนิรนามจึงมีหลายหน่วยงาน หลากสังกัดกระทรวงที่เราต้องประสานงานร่วมกัน
เมื่อต้องทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานเช่นนี้ ข้อมูลก็น่าจะมาจากหลายทิศทางพอสมควร ปัจจุบันประเทศไทยมีแพลตฟอร์มส่วนกลางที่ช่วยให้ข้อมูลจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาบรรจบกัน หรือสามารถเทียบกับประกาศตามหาจากครอบครัวผู้สูญหายบ้างไหม
การทำให้ข้อมูลจากทุกหน่วยงานเชื่อมโยงกันถือว่าเป็นความฝันของเราเลย เนื่องจากตอนนี้ยังทำไม่ได้ แต่ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก่อนการทำงานของภาครัฐยังทำงานแบบเป็นไซโล ต่างหน่วยงานจะมีรูปแบบการเก็บข้อมูลที่ต่างกัน ระบบที่นำมาใช้เก็บข้อมูลก็มีรูปแบบต่างกัน เมื่อต่างคนต่างทำ ทำให้ข้อมูลคนหายหรือข้อมูลของศพนิรนามกระจัดกระจายอยู่หลายแห่ง เกิดความยุ่งยากต่อญาติที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้จากที่เดียวแล้วจบ
ยกตัวอย่างข้อมูลการชันสูตรศพ ประเทศเรามีหน่วยงานที่มีแพทย์นิติเวชที่ทำหน้าที่นี้กระจายอยู่ถึง 5 สังกัด ได้แก่ 1. สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2. แพทย์นิติเวชตามโรงพยาบาลประจำจังหวัด ซึ่งมักจะมีอยู่ตามจังหวัดใหญ่ๆ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข 3. สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เรามีแพทย์นิติเวชเช่นเดียวกัน อยู่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม 4. แพทย์นิติเวช ของวชิรพยาบาล สังกัดกรุงเทพมหานคร และ 5. แพทย์นิติเวชในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย อยู่ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษาฯ
จะเห็นว่าแค่แพทย์นิติเวชอย่างเดียวก็กระจายกันอยู่แต่ละกระทรวง ซึ่งนโยบายและภารกิจเฉพาะของแต่ละกระทรวงไม่เหมือนกัน ส่งผลถึงที่มาของงบประมาณ การสนับสนุนบุคลากร และภารกิจของแพทย์นิติเวช ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้ส่งผลไปถึงการจัดเก็บข้อมูลและการจัดการอื่นๆ ด้วย
สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มีการจัดทำฐานข้อมูลกลางที่เรียกว่าระบบ CIR ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางข้อมูลการติดตามคนหาย การพิสูจน์คนนิรนาม และพิสูจน์ศพนิรนาม ในภาพรวมของประเทศ จากการประชุมคณะกรรมการ ค.พ.ศ. ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นฝ่ายเลขานุการฯ เราพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่ใกล้เคียงกัน โดยที่ประชาชนไม่ต้องวิ่งไปหลายที่ สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือขอการสนับสนุนการทำงานร่วมกันให้เกิดการบูรณาการที่แท้จริง
ขั้นแรกเราอยากเชื่อมโยงข้อมูลในระบบฐานข้อมูลกลาง แต่เพราะระเบียบสำนักนายกฯ ยังไม่มีอำนาจบังคับ เราทำได้ในการประสานความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การเชื่อมโยงข้อมูลในอนาคต ตอนนี้เดินหน้าแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอยู่ ซึ่งมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
หมายความว่าถ้ามีกฎหมายมารองรับและให้อำนาจสั่งการ การ ‘เชื่อมโยง’ ข้อมูลก็จะเกิดขึ้นได้ การติดตามคนหายหรือศพนิรนามก็จะประสบความสำเร็จมากขึ้น
ใช่ เพราะระเบียบสำนักนายกฯ ที่เรามีอยู่ยังเป็นเพียงแค่การขอความร่วมมือ เราไม่ได้มีอำนาจบังคับหรือไปบอกหน่วยงานอื่นว่าต้องส่งข้อมูลให้เรา มิเช่นนั้นจะมีโทษตามกฎหมาย เราจึงมีความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดการยกระดับระเบียบสำนักนายกฯ ให้เป็นกฎหมายในลำดับที่สูงขึ้นคือเป็น พ.ร.บ. เหมือน พ.ร.บ.อุ้มหาย ที่พอมีผลบังคับใช้ ตำรวจก็ต้องไปหาอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียงมาใช้ขณะจับกุม
การยกระดับเป็น พ.ร.บ.การติดตามคนหาย คนนิรนาม และศพนิรนามจะทำให้เราสามารถกำหนดหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างมาตรฐานการเก็บข้อมูล และรวบรวมข้อมูลในภาพรวมของประเทศให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นได้
ณ ตอนนี้ที่ยังไม่มี พ.ร.บ. คุณทำงานอย่างไรกับข้อมูลที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจาย
เราใช้การประสานงานและทำการเปรียบเทียบ แมตช์ข้อมูลของสถาบันฯ และหน่วยงานเกี่ยวข้องทีละฐานไปก่อน และพยายามสร้างเครือข่ายแนวร่วมการปฏิบัติในการทำงานร่วมกัน เช่น กรมการปกครอง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เก็บฐานข้อมูลลายพิมพ์นิ้วมือของประชาชนไทยทุกคน และยังมีฐานข้อมูลลายพิมพ์นิ้วมือที่อยู่กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งอยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากรรม
แต่ก่อน เมื่อเราเทียบข้อมูลในฐานกรมการปกครองแล้วไม่เจอ เราเชื่อว่าคงไม่ต้องไปหาที่ไหนแล้ว เพราะเขามีข้อมูลของคนทั้งประเทศ แต่เมื่อเราย้อนดูสถิติของการตรวจพบเคสที่สามารถยืนยันบุคคลได้ มีจำนวนน้อยมาก เราก็เริ่มตั้งคำถามแล้วว่าเป็นเพราะอะไร พอได้ไปหารือกันเลยรู้คำตอบและแนวทางการปรับแก้ คือทีมข้อมูลลายนิ้วมือของกรมการปกครองเป็นทีมไอที ทำหน้าที่พัฒนาระบบ ส่วนทีมเราเป็นนักนิติวิทยาศาสตร์ ทำหน้าที่ตรวจพิสูจน์ ฉะนั้นภาษานักคอมพิวเตอร์กับนักวิทยาศาสตร์มันต่างกัน เราเลยต้องปรับกันใหม่ว่าจะกลิ้งนิ้วหรือพิมพ์นิ้วแบบใด ระบบเดิมกับระบบใหม่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร หมึกที่ใช้เก็บลายพิมพ์นิ้วมือจะใช้หมึกตราม้าเหมือนเดิมไม่ได้แล้วนะ ความคมชัดและขนาดมันไม่ได้ จะทำให้หากันไม่พบ
ตั้งแต่ปี 2562 เราเริ่มมีความร่วมมือที่ไม่เป็นทางการ เอาเคสเก่าที่เคยตรวจไม่เจอไปปรับภาพ ปรับขนาด ปรับแสง เราพบว่าโอกาสที่จะหาเจอเพิ่มขึ้นประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้เราก็ส่งไปเทียบกับฐานข้อมูลของกระทรวง พม. ที่มีการเก็บลายพิมพ์นิ้วมือโดยนักสังคมสงเคราะห์ ที่ทำงานร่วมกับโรงพยาบาล ในเคสที่เป็นคนไข้นิรนามหรือไร้ญาติ ซึ่งหลายโรงพยาบาลใช้หมึกพิมพ์ตราม้าในการพิมพ์มือ ความชัดเจนของลายเส้นไม่มากพอในการตรวจพิสูจน์ เราแนะนำว่าต้องเปลี่ยนนะ ถ้าไม่เป็นหมึกอิเล็กทรอนิกส์ก็ต้องเป็นหมึกสำหรับพิมพ์มือ แต่เป็นที่เข้าใจได้ว่าการจะเปลี่ยนมันเกี่ยวโยงกับเรื่องงบประมาณด้วย ก็ค่อยๆ ปรับแก้และพัฒนาร่วมกันไป
นอกจากหน่วยงานภาครัฐที่กล่าวมาแล้ว คุณทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมอย่างไรบ้าง เช่น มูลนิธิกระจกเงา ซึ่งเป็นองค์กรแรกๆ ที่หลายคนนึกถึงเมื่อพูดถึงการตามหาคนหาย
เนื่องจากกองพัฒนาระบบฯ เราสวมหมวกสองใบคือ เราเป็นฝ่ายเลขานุการฯ ของคณะกรรมการพัฒนาระบบการติดตามคนหาย ในการวางนโยบายระดับประเทศ และหมวกอีกใบเราเป็นผู้ปฏิบัติด้วย เพราะเราทำหน้าที่พิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล ทำให้เรามองภาพกว้างได้ และมีโอกาสทำงานกับทุกภาคส่วน อันที่จริงภาคประชาสังคมเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันงานของเรามากๆ มีหลายเคสที่เป็นความร่วมมือกับภาคประชาสังคม อย่างมูลนิธิกระจกเงา แล้วเคสประสบความสำเร็จ หมายถึงสามารถส่งศพคืนญาติคืนสู่ครอบครัวสำเร็จ
เรามีการทำ MOU กับมูลนิธิที่มีสุสานฝังศพ เช่น มูลนิธิอนุศาสตร์สงเคราะห์ที่ชลบุรี มูลนิธิสว่างอริยะธรรมสถานที่นครนายก เราช่วยวางระบบที่มีมาตรฐานในการจัดการศพ มีการแยกโซนระหว่างศพนิรนามกับศพไร้ญาติ เพื่อให้บริหารจัดการได้ง่าย หากเป็นศพนิรนามก็ควรจะเก็บไว้จนกว่าจะพิสูจน์ได้ รวมไปถึงสนับสนุนการจัดการฐานข้อมูลเกี่ยวกับหลุมศพ ปัจจุบันนี้เราอยู่ตรงนี้ที่กรุงเทพฯ ก็รู้ได้ว่าหลุมไหนยังว่าง หรือหลุมไหนชื่ออะไร เราพยายามสร้างให้เป็นต้นแบบเพื่อให้สามารถขยายต่อไปยังมูลนิธิอื่นๆ พื้นที่อื่นๆ ที่มีสุสานฝังศพ และสนใจจะร่วมมือกับเรา
พอเรามีสองหมวกที่ผลักดันทั้งนโยบายและการปฏิบัติ ทำให้เราสามารถประสานและทำงานได้กับทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม อย่างกระจกเงาเองที่เป็นองค์กรหลักในการติดตามคนหาย แต่ก่อนกระจกเงาบอกว่าภาครัฐเข้ายาก จะขอข้อมูลก็ยาก ด้วยความที่เราเคยทำงานด้วยกันมาก่อนเพราะต้องลงพื้นที่เกิดเหตุ พอเป็นผู้ปฏิบัติด้วยกัน เราจะเข้าใจถึงข้อจำกัดและความยุ่งยากของภาครัฐ เราเลยคุยกันง่ายขึ้น พยายามหาช่องทางว่าถ้าปรับตรงนี้เปลี่ยนตรงนั้นน่าจะทำให้เกิดผลดีต่อประชาชนมากขึ้น กระจกเงาเขาจะสะท้อนปัญหาให้ฟังว่าเคสนี้ตามไม่เจอ มันติดตรงไหน อย่างไร เราในฐานะที่ทำเรื่องการชันสูตร พิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล และดูเรื่องฐานข้อมูลจะดูว่าช่วยกันตรงไหนได้บ้างเพื่อนำไปสู่การเทียบข้อมูลในฐาน และสามารถส่งคืนศพให้ญาติได้
ถ้าภาคประชาสังคมไปติดต่อภาครัฐแล้วเข้ายาก เราที่เป็นภาครัฐจะทำหน้าที่ประสานให้ เพราะถ้าตามระเบียบสำนักนายกฯ การลงข้อมูลในระบบฐานข้อมูลกลาง CIR พนักงานสอบสวนต้องลงทะเบียนกับเรา และปฏิบัติงานตามระเบียบด้วย เราใช้ช่องทางนี้ในการช่วยประสานงาน อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เราไม่ได้เลือกปฏิบัติ เราทำให้ทุกเคส เพียงแต่หาช่องทางว่าทำอย่างไร ในไม่กี่ปีมานี้มีหลายเคสของกระจกเงาที่ประสบความสำเร็จ ยิ่งยืนยันว่าเราเดินมาถูกทาง
ขณะเดียวกัน หลายครั้งเราหาครอบครัวศพนิรนามเจอเพราะเทียบข้อมูลกับกระจกเงา บางเคสญาติเคยแจ้งคนหายไว้ที่โรงพักแห่งหนึ่งหลายปีมาแล้ว แต่ด้วยความที่ระบบบ้านเราตอนนั้นยังเป็นกระดาษ เราก็ไม่รู้ว่ามีการแจ้งไว้ ขณะเดียวกัน ญาติก็ไม่เคยมาแจ้งกับเรา เราเลยมีการเก็บข้อมูลใหม่ คือเก็บข้อมูลของญาติด้วย เพื่อเทียบกับฐานศพนิรนาม แล้วก็ไปเทียบกับหน่วยงานที่รับแจ้งคนหาย เช่น กระจกเงา
ดูเหมือนคนจำนวนหนึ่งเลือกจะไปแจ้งกระจกเงามากกว่า เพราะหน่วยงานรัฐไม่ต้อนรับหรือเลือกปฏิบัติ เช่น กรณีที่แม่แจ้งตำรวจให้ช่วยตามหาลูกสาวที่หายไป แต่กลับถูกบอกให้กลับบ้านไปก่อน เป็นช่วงเดียวกับที่ตำรวจในโรงพักนี้ปรากฏอยู่บนหน้าสื่อว่าเร่งตามหานักธุรกิจชาวต่างชาติที่หายตัวไปอย่างเต็มที่ มีปัจจัยอื่นบ้างไหมที่คนเลือกไปหาภาคประชาสังคมมากกว่า
หลายครั้งมีคำถามเข้ามาว่ากระจกเงาก็รับแจ้งคนหาย ทำไมสถิติเขาสูงกว่าหน่วยงานภาครัฐ คนส่วนใหญ่ดูเหมือนจะเลือกไปแจ้งกระจกเงามากกว่า เราต้องยอมรับว่าเพราะเราเป็นหน่วยงานภาครัฐจึงต้องปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย พอมีคนมาแจ้งคนหาย เราพยายามจะผลักดันให้เขาเข้าสู่กระบวนการตามระเบียบ คือ แจ้งความกับพนักงานสอบสวน การมาแจ้งสูญหายที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์สำหรับบางคนเลยรู้สึกว่ายุ่งยากและไม่สะดวก สมมติมา 10 คน พอเราบอกว่าควรไปแจ้งความนะ ก็จะหายไปครึ่งแล้ว เพราะบางทีเขาไม่อยากไปแจ้งความ
โอกาสที่ข้อมูลจากทางฝั่งญาติและจากองค์กรที่ทำงานเรื่องการติดตามคนหายจะมาเจอกันได้ต้องอาศัยการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลอยู่มาก การมีกฎหมาย เช่น PDPA (พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) เป็นอุปสรรคต่อการทำงานบ้างไหม
ตอน PDPA ออกมาแรกๆ เรามีการศึกษาข้อกฎหมายอย่างละเอียด เพราะข้อมูลที่เราถืออยู่จัดว่าเป็น PDPA หมดเลย สิ่งที่เราทำคือการทำเอกสารแสดงความยินยอมให้ญาติกรอกว่าข้อมูลที่แจ้งไว้กับเรานั้นเขาต้องการให้เผยแพร่เพื่อการติดตามหาหรือเปล่า ต้องการให้เผยแพร่บนเว็บไซต์ไหมหรือไม่ต้องการ
ในกรณีที่เป็นศพนิรนามหรือศพไร้ญาติ ถ้าเราตามเจอญาติแล้ว แต่ญาติไม่สะดวกที่จะมาขอรับศพ เราจะมีใบให้เขาเซ็นว่าไม่สะดวกรับ มอบศพให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ดำเนินการเลย หรือมอบให้เพื่อการศึกษาวิจัย ถามว่ามีผลทางกฎหมายไหม มันก็ไม่ได้ขนาดนั้น แต่ก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่มีไว้เพื่อบอกและแจ้งว่าเรามีกระบวนการตรงนี้ ถ้าเขายืนยันว่าไม่เผยแพร่ เราก็จะไม่เผยแพร่
ปัจจุบันไทยยังไม่มีฐานข้อมูลสารพันธุกรรม (DNA database) ในระดับประเทศ ขณะที่ชาติอื่นในอาเซียนตรากฎหมายกำหนดแนวทางจัดทำฐานข้อมูล DNA รุดหน้าไปแล้ว ในระดับนานาชาติ การจัดทำฐานข้อมูลเช่นนี้จะช่วยในการสืบคดีอาชญากรรมข้ามชาติ หรือมีไว้เพื่อประโยชน์ต่อความมั่นคงภายใน ซึ่งช่วยในงานตามหาผู้สูญหายด้วย แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ของไทยก็มีการบังคับเก็บ DNA ภายใต้เหตุผลด้าน ‘ความมั่นคง’ ไปแล้ว เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่ไทยจะเริ่มใช้ฐานข้อมูล DNA อย่างจริงจัง
สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ก็เสนอเรื่องการเก็บข้อมูลสารพันธุกรรมเช่นกัน เราผลักดัน พ.ร.บ. DNA มาเป็น 10 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้เรามองภาพใหญ่ของประเทศว่าควรจะเก็บสารพันธุกรรมของทุกคนอยู่ในฐานข้อมูล แต่ก็จะขัดกับ PDPA จากภาพใหญ่ที่จะทำเรื่อง พ.ร.บ. DNA ระดับประเทศ ถูกยุบมาเหลือแค่ทำในกรมราชทัณฑ์ สังกัดกระทรวงยุติธรรมก่อน คือเก็บสารพันธุกรรมของคนที่กำลังจะถูกปล่อยจากเรือนจำ
คนทำงานนิติวิทยาศาสตร์แบบเราเห็นความสำคัญของการใช้ฐานข้อมูล DNA รวมถึงฐานข้อมูลลายพิมพ์นิ้วมือ แต่หากมองในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ยังมีหลายประเด็นที่ต้องถกเถียงและพูดคุยกันต่อ เช่น การเก็บ DNA ในสามจังหวัดชายแดนใต้ จะมีมุมที่แย้งกันระหว่างเรื่องสิทธิมนุษยชนกับเรื่องความมั่นคง
หรือเปรียบเทียบการเก็บข้อมูลลักษณะนี้ให้เข้าใจง่ายๆ เช่นการบันทึกข้อมูลประวัติอาชญากรเมื่อถูกจับตัวเป็นผู้ต้องสงสัย มีดีเบตว่าพอผ่านไปสักระยะควรจะเอาข้อมูลออกจากระบบด้วย สิ่งที่ต้องคิดต่อจึงไม่ใช่แค่การทำระบบ แต่ต้องมองถึงอนาคตว่าถ้าเมื่อไหร่ที่เขาไม่ประสงค์จะมีข้อมูลอยู่ในระบบแล้ว จะมีกระบวนการเอาชื่อเขาออกไหม
หลายคนรับรู้เกี่ยวกับงานด้านนิติวิทยาศาสตร์จากซีรีส์ เช่น CSI ของอเมริกา ซึ่งตัวละครในเรื่องเก่งกาจมากทีเดียว ไขได้ทุกคดี แถมยังมีเทคโนโลยีที่ดูล้ำสมัยมากมาย การรับรู้ผ่านสื่อแบบนี้ส่งผลต่อการทำงานในโลกจริงไหม
ย้อนไป 10 กว่าปีก่อน มีสิ่งที่เรียกว่า CSI Effect คือผลกระทบที่เกิดจากการดูซีรีส์ CSI ที่ทำให้ประชาชนมีความคาดหวังสูงลิ่วต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม เพราะในซีรีส์เขาสามารถปิดคดีได้ภายใน 4 ฉาก แต่ความเป็นจริงมันไม่ใช่ หน้างานจริงมีข้อจำกัดในการตรวจพิสูจน์มากมาย
แต่ถ้าถามในมุมวิวัฒนาการของเทคโนโลยี หลายอย่างที่เห็นใช้ในซีรีส์ก็มีอยู่จริง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคราบเลือดเรืองแสง การตรวจวิถีกระสุน เทคโนโลยีแบบนี้มันมีจริงและใช้งานได้จริง
ถ้าหันมามองความเป็นจริงในไทย เทคโนโลยีและความสามารถในการพิสูจน์จากหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เราถือว่าก้าวหน้าไหม เทียบกับประเทศในภูมิภาค
เครื่องมือบ้านเราที่นำเข้ามาค่อนข้างทันสมัย เทคโนโลยีเราจัดว่ามีความพร้อมสูงเลยหากเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยกเว้นสิงคโปร์ไว้หน่อย เราเองเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็อัปเดตตลอด เพียงแต่ว่าจะถูกจำกัดด้วยงบประมาณ อย่างไรก็ตาม ต่อให้มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่หลายครั้งก็ไม่ถูกใช้ เพราะในการตรวจพิสูจน์เราต้องได้รับการร้องขอจากพนักงานสอบสวนตามกฎหมายว่าจะให้ตรวจหรือเปล่า
มีข้อถกเถียงที่ว่าเราให้ดุลพินิจแก่พนักงานสอบสวนมากเกินไปหรือไม่ เพราะเขามีดุลพินิจที่จะส่งวัตถุพยานชิ้นไหนก็ได้ สมมตินักนิติวิทยาศาสตร์แบบเราไปตรวจที่เกิดเหตุและเก็บวัตถุพยานมา 10 ชิ้น เราต้องส่ง 10 ชิ้นนี้ให้พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี แต่พนักงานสอบสวนเขาอาจเลือกแค่ชิ้นเดียวไปตรวจก็ได้ เป็นอำนาจและดุลยพินิจของพนักงานสอบสวนที่รวบรวมพยานหลักฐานแล้วส่งสำนวนขึ้นสู่อัยการ ฉะนั้นต่อให้เรามีเครื่องมือทันสมัย แต่พนักงานสอบสวนไม่ใช้เรา หรือไม่เลือกวัตถุพยานมาให้เราตรวจก็จบ มันอยู่ที่กระบวนการ ซึ่งเราไม่ได้เป็นคนตัดสินใจ
จากมุมมองของนักนิติวิทยาศาสตร์ คุณคิดอย่างไรต่อคำกล่าวที่ว่า “ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความอยุติธรรม” ทราบมาว่ามีหลายเคสปิดไม่ได้ หรือน่าจะมีบางเคสที่ใช้เวลาสืบสวนนานเสียจนผู้กระทำผิดเสียชีวิตแล้ว หรือไม่อยู่ให้นำตัวมาดำเนินคดีได้แล้ว เช่น เคสคุณสุมาลีที่คาดว่าถูกฆาตกรรม เธอเป็นศพนิรนามอยู่หลายปีกว่าลูกชายจะตามเจอ เมื่อเจอว่าฝังอยู่ที่ไหนก็พบว่ามีการล้างป่าช้าไปแล้ว ถึงที่สุดแล้ว คำถามว่าใครฆ่าเธอก็ไม่ถูกไข
เห็นด้วยกับการบอกว่าความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรม ถามว่าเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร หรือมีมุมมองความคิดในการทำงานด้านนิติวิทยาศาสตร์กับเรื่องนี้อย่างไร ขอตอบว่าในกระบวนการทางยุติธรรม งานนิติวิทยาศาสตร์คืองานสนับสนุน จริงๆ แล้วผู้บังคับใช้กฎหมายที่มีหน้าที่หลักนั้นต้องมีกระบวนการที่ชัดเจน มีมาตรฐานการปฏิบัติงาน มีมาตรฐานของห้องปฏิบัติการ และมีระบบที่สามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับได้อย่างเป็นธรรม ไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ในฐานะผู้กระทำความผิด เหยื่อ หรือผู้ที่ถูกคุมขังไปแล้วก็ตาม
จริงๆ คงไม่ใช่แค่เคสนี้ แต่มองว่าเป็นภาพรวมในการขับเคลื่อนงานในระดับประเทศที่ต้องทำให้มีมาตรฐาน ถ้าต้นทางคือพนักงานสอบสวนและแพทย์นิติเวชที่ทำหน้าที่ชันสูตรศพเก็บรวบรวมพยานหลักฐานได้ครบ ต่อให้เวลาผ่านไปนานกว่าญาติจะตามเจอ ข้อมูลที่มีอยู่จะสามารถเทียบกลับได้เสมอ ฉะนั้นเราย้ำมาเสมอว่าต้องวางแนวทางร่วมกันในการเก็บข้อมูล
จะมีโรงพยาบาลหลายแห่งที่บอกว่าไม่มีงบประมาณในการตรวจ DNA แต่คุณสามารถเก็บวัตถุพยานไว้รอวันที่มีงบประมาณ หรือมีคนมาขอเทียบได้ ฉะนั้นปัญหาของบ้านเราตอนนี้ จริงๆ ก็พูดกันมานานว่าต้องมีการวางมาตรฐานให้มีการเก็บลายนิ้วมือ สารพันธุกรรม หรือวัตถุพยานที่สามารถนำไปตรวจสารพันธุกรรมได้ ต่อให้ผ่านไปนานแค่ไหน ญาติมาเทียบ อย่างน้อยเราก็ตอบได้ว่าเป็นศพนิรนามนะ และฝังอยู่ที่ไหน หรือถ้าถูกล้างป่าช้าไปแล้ว ไม่ได้ศพกลับไปประกอบพิธี แต่อย่างน้อยเราก็ได้รู้จากพยานหลักฐานที่เราเก็บไว้ว่าคนที่เขาตามหาเคยอยู่ที่นี่
สุสานถือเป็นปลายทางแล้ว การให้ความสำคัญต้องเริ่มตั้งแต่ต้นทางมากกว่า คือพนักงานสอบสวนและแพทย์นิติเวชที่ทำหน้าที่ชันสูตรและเก็บข้อมูลพยานหลักฐานต่างๆ การกำหนดอำนาจหน้าที่ การจัดการศพนิรนาม การจัดเก็บข้อมูล การส่งต่อข้อมูล ตรงนี้ต้องผลักดันให้ขับเคลื่อนไปทั้งระบบ รวมถึงการการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ให้ชัดเจนไปด้วย
มีเคสไหนที่ใช้ระยะเวลาในการตามหาญาตินานที่สุด คุณถอดบทเรียนอะไรได้บ้างจากเคสนี้
มีเคสที่เพิ่งส่งคืนญาติไป ใช้เวลา 18 ปี ถ้ามองจากมุมคนสมัยนี้คงบอกว่า โห นานมาก แต่เวลา 18 ปีนี่คือการเปลี่ยนผ่านจากยุคกระดาษมาดิจิทัลนะ ปัจจุบันนี้ ถ้ามาตามช่องทางและระบบที่วางไว้ก็อาจจะใช้เวลาไม่นานขนาดนี้ เพราะระบบถูกพัฒนาขึ้นมากแล้ว
ในเคสนี้ ญาติบอกว่าถอดใจไปนานแล้ว เขาคิดว่าน่าจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่เกือบทุกครั้งที่มีญาติมารับศพ ต่อให้ผ่านไปนานแค่ไหน สุดท้ายญาติก็อยากรับกลับไปทำพิธีกรรมทางศาสนาและกลับคืนสู่ครอบครัว ถึงแม้จะเป็นโครงกระดูกก็ตาม นี่เป็นอีกเป้าหมายของเราที่จะคืนศพนิรนามหรือศพไร้ญาติสู่ครอบครัวให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
สิ่งหนึ่งที่เราถอดบทเรียนได้คือ เมื่อก่อนการทำงานของกองพัฒนาคนหายเราจะติดตามแค่ข้อมูล คือญาติมาแจ้งแค่นี้ เราเก็บแค่นี้ ถ้ามาแมตช์ในถังข้อมูลไม่เจอ เราก็จะตอบพนักงานสอบสวนไปว่าไม่เจอ หรือศพไร้ญาติ ซึ่งหมายถึงว่าพิสูจน์ได้แล้วว่าคนนี้คือใคร มีชื่อ-นามสกุล แต่ไม่มีญาติมาติดต่อรับศพ เราก็จะแจ้งพนักงานสอบสวนว่าเป็นคนนี้เพราะหน้าที่ตามญาติเป็นของเจ้าหน้าที่สอบสวน แต่ความเป็นจริงพนักงานสอบสวนมีภารกิจเยอะมาก ฉะนั้นมีโอกาสที่เขาโทรไปติดตาม แต่ไม่มีคนรับ ตามครั้งเดียวไม่มีคนตอบก็ล้มเลิก โอกาสที่ญาติจะรับทราบเลยก็น้อย เราเลยพยายามปรับกระบวนงานในเรื่องการติดตามให้มากขึ้น เราเลยเริ่มตั้งทีมประสานครอบครัวเพื่อการติดตามญาติ เป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้เคสสำเร็จ ส่งศพคืนญาติได้มากขึ้น
สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ก่อตั้งขึ้นมาภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้กระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพ ให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนด้อยโอกาส ถ้าให้ประเมินตลอด 20 กว่าปีที่ก่อตั้งมานี้ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ทำงานได้ตอบเจตนารมณ์นี้แล้วหรือยัง
แต่แรกในการก่อตั้งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เราเป็นเหมือนหน่วยงานทางเลือกให้ประชาชน เป็นเหมือนหน่วยงานที่คานอำนาจกับเจ้าหน้าที่สอบสวน เพราะสมัยนั้นคนยังตั้งแง่กับการทำงานของตำรวจ ถ้าประชาชนไปหาตำรวจแล้วไม่สบายใจ ก็ยังมีทางเลือกให้มาหาสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพราะเชื่อมั่นได้ว่าหลักฐานที่ผ่านการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์นั้นบิดเบือนความจริงไม่ได้อยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม การทำงานของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ต้องอิงกับอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ในห้วงแรก เรามุ่งเน้นการใช้นิติวิทยาศาสตร์ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นส่วนใหญ่ แต่ระยะต่อมา ภาครัฐเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น หน่วยงานมีการเปิดรับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชน ทำให้นโยบายของสถาบันฯ นอกจากการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาแล้ว ยังมุ่งให้ความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชน ตอนนี้จะเห็นว่ามีการพิสูจน์สัญชาติ การตรวจพิสูจน์คนนิรนาม ซึ่งเป็นการคืนสิทธิให้กับประชาชน เพื่อให้เขาเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐและสวัสดิการอื่นๆ หรือในการพิสูจน์ทราบศพนิรนาม เราถือว่าการพิสูจน์ว่าเขาเป็นใครก็ถือเป็นการคืนสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนเช่นกัน งานนิติวิทยาศาสตร์จึงมอบความเป็นธรรมต่อสังคมและประชาชน
มองไปข้างหน้า อะไรคือเป้าหมายที่แวดวงนิติวิทยาศาสตร์ไทยอยากไปให้ถึง
เราเรียนรู้จากความล่าช้าในกระบวนการที่เกิดขึ้นว่า เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป หน่วยงานภาครัฐจะอยู่นิ่งเหมือนเดิมไม่ได้ ต้องมีการพัฒนาข้อมูล การนำเทคโนโลยีต่างๆ หรือการรวมฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน ลดความมากขั้นตอน หรือกระทั่งกระบวนการยุติธรรมที่ต้องใช้ต้นทุนสูง ทำอย่างไรที่ภาครัฐจะสามารถลดต้นทุนให้ประชาชนได้
ฉะนั้นเป้าหมายเราคือการรวมศูนย์ฐานข้อมูลในด้านการพิสูจน์ศพนิรนามหรือศพไร้ญาติ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะลดความยุ่งยากให้กับประชาชน เราพยายามรวมศูนย์ให้เป็นภาพรวมของประเทศ ฉะนั้น แทนที่ประชาชนจะต้องวิ่งไปหลายที่ สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เขาสามารถมุ่งตรงมาหาเรา ซึ่งเป็นหนทางที่จะไม่เพิ่มภาระให้กับประชาชน
เพราะความสูญเสีย และการสูญหายไปของญาติ ทำให้เกิดความเจ็บปวดต่อครอบครัวมากพอแล้ว กระบวนการในการตามหาไม่ควรจะเพิ่มความยากลำบากให้ญาติ การพัฒนาระบบให้ง่ายต่อการเข้าถึงและการติดตามไม่ควรจะเปลี่ยนแค่ในสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ แต่หมายรวมถึงหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด
ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world