fbpx

อาหารกับความทรงจำและภูมิปัญญากับทุนนิยม ใน ‘รฦกรส’

“รสชาติที่ปลายลิ้น กลิ่นหอมที่อวลอยู่ปลายจมูก…กระตุ้นภาพเลือนรางในอดีตให้วาบผ่านเข้ามาในหัวเหมือนสายฟ้าแลบ ภาพที่พร่าเลือนจนบอกรายละเอียดไม่ได้”

ผมเชื่อว่าเราทุกคนมีรสชาติของความทรงจำอยู่ในหลายเมนูที่เรารับประทาน ความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับความทรงจำเป็นเรื่องของอดีตกับปัจจุบัน รสชาติบางอย่างกระตุ้นให้เรานึกถึงอดีตราวกับนำอดีตมาวางเป็นเครื่องเคียงอยู่บนโต๊ะอาหาร ในที่นี้ ผมคิดว่าอาหารไม่เป็นเพียงแค่อาหารที่เรารับประทานเข้าไปเพื่อยังชีพในปัจจุบัน แต่อาหาร -ในบางครั้งและหลายครั้ง- คือประสบการณ์ที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ในแต่ละช่วงชีวิตของปัจเจกบุคคล เราอาจพูดได้ว่า อาหารคือสะพานที่พาเราข้ามไปมาระหว่างอดีตกับปัจจุบันขึ้นอยู่กับว่าแต่ละสะพานนั้นจะนำพาเราไปพบกับอดีตแบบไหน

นอกจากนั้นอาหารยังเป็นเรื่องภูมิปัญญาที่สั่งสมกันมายาวนานอีกด้วย ในแต่ละสังคมมีความรู้เกี่ยวกับอาหารที่แตกต่างกันไปตามลักษณะทางกายภาพ ภูมิอากาศ ภาษา ความเชื่อ ผู้คน สิ่งเหล่านี้ล้วนหล่อหลอมให้อาหารในแต่ละท้องที่มีความแตกต่างกันทั้งในด้านวิธีการทำ วิธีการเตรียม การปรุง รวมไปถึงวิธีการในการกิน การจับคู่อาหาร การทดลองว่าอะไรในธรรมชาติกินได้และกินไม่ได้หรือวัตถุดิบบางอย่างต้องมีวิธีการเตรียมที่แตกต่างกันเพื่อนำไปประกอบอาหารอย่างปลอดภัย ดังนั้นอาหารจึงเป็นความรู้ที่ผูกพันอยู่กับพื้นที่ที่แตกต่างกันอีกด้วย

นวนิยาย ‘รฦกรส’ ผลงานล่าสุดของ พงศกร นักเขียนที่ผลงานของเขาได้รับการตอบรับอย่างยอดเยี่ยมและถูกนำไปดัดแปลงเป็นละครทีวีหลายเรื่อง ‘รฦกรส’ เป็นงานเขียนในแบบ ‘ฟีลกู๊ด’ เรื่องล่าสุดหลังจากที่ไม่ได้เขียนในแนวนี้มานาน (ที่ผมคิดว่านักวรรณกรรมหากมีเวลาน่าจะศึกษาวรรณกรรมแนวนี้ในฐานะที่เป็น ประเภทหรือ genre หนึ่งของวรรณกรรม) ด้วยความที่เป็นวรรณกรรมฟีลกู๊ด ‘รฦกรส’ ไม่ใช่วรรณกรรมที่อ่านยากเย็นไม่มีอภินิหารหรือการแสดงแสนยานุภาพทางวรรณกรรมของผู้เขียนใดๆ ทั้งสิ้นแต่ผมกลับคิดว่ามันประเด็นบางอย่างที่ชวนให้ผมคิดถึงปรากฏการณ์ของสังคมได้อย่างน่าสนใจ

กลิ่นและรสชาติของความทรงจำ

คำว่า ‘รฦกรส’ พงศกรอธิบายว่าหมายถึง “หวนคิดรสชาติที่คุ้นเคย มีความหมายสำคัญกับพระเอกของเรื่อง รวมถึงเป็นแกนของเรื่องทั้งหมด” รฦกเป็นชื่อของพระเอกในเรื่องเขาเป็นทายาทของตระกูล ‘วนาสินธุ์สวัสดิ์’ ซึ่งเป็นเจ้าของคอมมูนิตี้มอล ‘วนา คอมเพล็กซ์’ ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงและกำลังจะขยายเฟสสองแต่ติดอยู่ตรงที่ตึกแถวแห่งหนึ่งเป็นที่ตั้งของร้าน ‘ข้าวขวัญ’ ไม่ยอมขายให้บริษัทวนา การขยายโครงการจึงคาราคาซังมาหลายปี รฦกมีโอกาสได้รู้จักกับคนในร้านข้าวขวัญนั่นเป็นที่มาของการได้กิน ‘ป่นปลาร้า’ ที่ทำให้เขาหวนระลึกนึกถึงรสชาติที่คุ้นเคยแต่เพียงแต่เขาจำไม่ได้เท่านั้นว่าเขาเคยกินที่ไหนและมันเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้เขาไปที่ร้านข้าวขวัญทุกวันจนกระทั่งรสชาติของอาหารนำพาเขาไปพบเจอกับ ‘แม่’ แท้ๆ ที่พลัดพรากจากกันไปตั้งแต่เขายังจำความได้ไม่ถนัดนัก[1] ดังนั้นเราจะเห็นว่า ชื่อเรื่อง แก่นเรื่อง โครงเรื่องนั้นล้วนยสอดคล้องสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น

(สำหรับใครที่หา ‘ฦ’ บนแป้นพิมพ์ไม่เจอ มันอยู่ตรง ฝ. ฝา สำหรับแป้นพิมพ์ทั่วๆ ไปครับ สำหรับโทรศัพท์ในบางรุ่น เท่าที่ผมพบเจอ ไม่มีตัวอักษรตัวนี้ครับ)

ในนวนิยายเรื่องนี้ กลิ่นและรสชาติของอาหารคือสิ่งสำคัญที่ผูกโยงเรื่องราวเข้าไว้ด้วยกันทั้งหมด รสชาติของ ‘ป่นปลาร้า’ คือจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่รฦกมีต่อพ่อใหญ่มูลและครอบครัวแห่งร้าน ‘ข้าวขวัญ’ และนำไปสู่การค้นพบความจริงบางอย่างในชีวิตของเขาเอง สิ่งที่ผมสนใจก็คือกลิ่นและรสชาติของอาหารนั้นคือสิ่งที่มีบทบาทสำคัญของเรื่องจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตามมันทำให้ผมรู้สึกว่า ตัวละครในเรื่องไม่ว่าจะเป็น รฦก ข้าวขวัญ พ่อใหญ่มูล หรือแสงตา เป็นเพียงส่วนประกอบที่ทำให้เรื่องดำเนินต่อไปได้ เป็นสิ่งที่ทำให้กลิ่นและรสชาติของอาหารนั้นมีลักษณะที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้มากกว่าตัวละครเสียอีก

หากจะว่าเป็นความบังเอิญที่ตัวละครเอกรฦกมายืนอยู่หน้าร้านข้าวขวัญที่ย่าของเขาต้องการตึกแถวหลังนี้เหลือเกินจนกระทั่งคนในครอบครัวข้าวขวัญเชื้อชวนเข้าไปกินข้าวอย่างง่ายๆ ก็ว่าได้หรือจะว่าตัวเรื่องทำให้เราเชื่อน้อยเกินไปว่าคนเราจะชวนคนแปลกหน้าที่มายืนหน้าบ้านเรากินข้าวกันง่ายดายขนาดนั้นเลยก็… อาจจะได้เช่นกัน ผมจะไม่พยายามหาความสมเหตุสมผลของตัวเรื่องเท่าไรนักเพราะมันอาจไม่ใช่ประเด็นหลักของผมในบทวิจารณ์ชิ้นนี้ แต่หากไม่มีความบังเอิญ (มากๆ จนอาจทำให้หงุดหงิดใจไปบ้าง) รฦกจะไม่มีทางค้นพบสิ่งที่ไปกระตุ้นเตือนความทรงจำในส่วนลึกของเขาได้จากการรับประทาน ‘ป่นปลาร้า’ ของร้านข้าวขวัญ

เมนู ‘ป่นปลาร้า’ คือสะพานสำคัญที่ทำให้รฦกสามารถ ‘เชื่อมโยง’ กับอดีตของตัวเองได้อย่างน่าสนใจ เพราะหลังจากที่ได้ชิมป่นปลาร้ามันทำให้เขารู้สึกถึงภาพในอดีตของเขาแต่ก็เป็นภาพที่เลือนรางมากๆ ดังที่กล่าวว่า

“เป็นความทรงจำจากส่วนลึกที่เขาลืมมันไปหมดแล้ว หากรสของป่นปลาร้าที่ตักกินเป็นคำแรก ปลุกเอาเศษเสี้ยวความทรงจำอ่อนจางคืนกลับมาอีกครั้ง แต่รายละเอียดมันคืออะไรกันแน่ เขาพยายามเค้นความทรงจำของตัวเอง หากมีแต่ความว่างเปล่า ภาพแรกที่แวบผ่านเข้ามาจางหายไปอย่างรวดเร็ว” (หน้า 24)

ปฏิกิริยาตอบสนองที่เกิดขึ้นกับตัวรฦกก็คือความมึนงงที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยคำพูดหรือภาษาใดๆ เพราะเขาเข้าใจว่าตนเองไม่เคยกินปลาร้าแน่ๆ เพราะที่บ้านของเขาไม่มีใครกินดังเราจะเห็นได้จากความอ้ำอึ้งพูดติดขัดของเขาเมื่อถูกถามว่าเป็นอะไร “ปะ…เปล่าครับ” “ชะ…ใช่ครับ” (หน้า 26) จากนั้นรฦกก็กินข้าวราวกับคนหิวโซ ท่ามกลางความมึนงงของเขาเราจะเห็นได้ว่า รฦกพยายามจะหาคำอธิบายที่ดูจะเป็นเหตุเป็นผลด้วยภาษาที่ชัดเจนในความรู้สึกของเขาแต่กลับไม่สามารถทำได้ เขาทำได้แต่เพียงอ้ำอึ้งและกินต่อไป

ในจุดนี้เองที่ผมคิดว่ามันคือการแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการที่ผัสสะหรือประสาทสัมผัสของเราถูกกระทบและส่งปฏิกิริยาต่ออารมณ์ความรู้สึกของเราโดยตรง โดยปกติแล้วระบบประสาทของเราอาจเชื่อมโยงสิ่งที่เกิดขึ้นไปยังข้อมูลทั้งหมดที่เรามีอยู่ในสมองและประมวลผล อธิบายออกมาเป็นภาษา สิ่งที่ผมสนใจก็คือ การอธิบายออกมาเป็นภาษาไม่ได้นี้แหละเป็นสิ่งที่ช่วยชี้ให้เห็นว่าภาษาในหลายครั้งก็ไม่อาจอธิบายปรากฏการณ์ที่อยู่ตรงหน้าเราได้หรือไม่สามารถประมวลผลที่เกิดขึ้นการการใคร่ครวญด้วยความคิดได้ ถ้าหากเราเชื่อว่าภาษาคือศูนย์กลางของความคิดมนุษย์เพราะมนุษย์ไม่อาจคิดโดยไม่มีภาษาหรือไม่ใช้ภาษาได้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับรฦกหลังจากกินป่นปลาร้าของร้านข้าวขวัญก็สิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า ภาษาอาจไม่ใช่ศูนย์กลางของมนุษย์อีกต่อไป ภาษาไม่ใช่สิ่งที่ขับเคลื่อนมนุษย์ แต่เป็นอารมณ์ความรู้สึก

รสชาติของป่นปลาร้าได้รับการอธิบายจากพ่อใหญ่มูลว่า “รสชาติขึ้นอยู่กับปลาร้าเป็นสำคัญ จะเค็ม จะรสจัด จะหอม จะนัวแค่ไหนอยู่ที่ปลาร้า” (หน้า 27) ปลาร้าเป็นหัวใจสำคัญของเมนูนี้และยังเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของเรื่องอีกด้วยเพราะกลิ่นและรสชาติของปลาร้าที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว รสชาติแห่งความทรงจำของปลาร้าไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่นำรฦกไปไขปริศนาที่คาใจเขาอยู่ว่าเขาเคยกินรสชาติเช่นนี้ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร เพราะคนที่บ้านของเขาไม่มีใครกินปลาร้าแน่ๆ เขาไม่เคยเติบโตมาจากอาหารชนิดนี้แต่มันกลับเป็นสิ่งที่เขารู้สึกว่าตนเองคุ้นเคยกับมันอย่างที่สุดราวกับอยู่ในรหัสพันธุกรรม แต่มันได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของเขา จากนักเรียนนอกที่คิดถึงเพียงการรักษาหน้าเพื่อทำธุรกิจของเขาและครอบครัวมาสู่ความพยายามที่จะค้นหาและเรียนรู้วิถีชีวิต อาหารการกินของท้องถิ่นราวกับว่าเป็นการเปิดโลกใหม่ๆ ที่เขาไม่เคยสัมผัสมาก่อน

อารมณ์ความรู้สึกที่ถูกกระตุ้นผ่านผัสสะของการลิ้มรสมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชีวิตของตัวละครอย่างรฦกแม้ว่าเราอ่านแล้วอาจจะมองไม่เห็นความสมเหตุสมผลเท่าไรนักหรืออาจมองว่าตัวนวนิยายยังไม่ได้ให้รายละเอียดที่มากพอว่าทำไมรฦกถึงยอมที่จะมาร้านข้าวขวัญแต่เช้าทุกวันเช้า ทั้งๆ ที่เขาไม่เคยคิดจะตื่นเช้าเลย ทำให้เขาเรียนรู้ความเป็นมาของอาหารที่เขาไม่เคยกินมาก่อน มันคือสิ่งที่อธิบายเป็นภาษาไม่ได้เพราะมันคือการทำงานของอารมณ์ความรู้สึก เป็นพลังของอารมณ์ความรู้สึกที่ผลักดันให้ตัวละครรฦกกระทำสิ่งต่างๆ อาจเป็นได้ทั้งความพยายามในการตามหาว่าแท้จริงแล้วความคุ้นเคยที่อธิบายไม่ได้อย่างชัดเจนนั้นมีที่มาจากไหนและเป็นเรื่องของการเปิดโลกเปิดประสบการณ์ของตัวรฦกอีกด้วย

เมื่อภูมิปัญญากับทุนนิยมหันหน้าเข้าหากันความรักก็บังเกิดขึ้น

ความต้องการตึกแถวเพื่อเอามาพัฒนาเป็นเฟสที่สองของคอมมูนิตี้มอลล์ของครอบครัววนาสินธุ์สวัสดิ์นั้นทำให้ทั้งร้านข้าวขวัญตึกแถวสุดท้ายท่ามกลางคอมมูนิตี้มอลล์กลายเป็นไม้เบื่อไม้เมากับครอบครัวของรฦก วนาคอมเพล็กซ์ใช้ทั้งวิธีเจรจา เกลี้ยกล่อมให้ร้านข้าวขวัญยอมขายให้ พ่อใหญ่มูลก็ไม่ยอมขายให้สักที แม้เรวุทธน้องชาย (ต่างมารดา) ของรฦกจะพยายามใช้วิธีสกปรกด้วยการเอาบล็อกเกอร์นักรีวิวมารีวิวร้านข้าวขวัญเสียๆ หายๆ ในโซเชียลมีเดียแต่กระแสตีกลับเพราะบรรดาลูกค้าของร้านเข้าไปตอบว่าอาหารร้านข้าวขวัญอร่อยมากและไม่ได้แย่อย่างที่บล็อกเกอร์รีวิวอีกทั้ง ‘นักสืบโซเชียล’ ช่วยกันตรวจสอบว่านี่คือการใส่ร้ายมากกว่าการรีวิว

หากเราพิจารณาเมนูร้านข้าวขวัญแต่ละอย่าง เช่น ป่นปลาร้า พะแนงเนื้อ โจ๊ก อีกทั้งขนมไทยแบบภาคกลาง เช่น ตะโก้เผือก ปลากริมไข่เต่า ขนมชั้น ลูกชุบ เราจะเห็นได้ว่าร้านข้าวขวัญนั้นเป็นเสมือนศูนย์รวมภูมิปัญญาด้านอาหารของภาคอีสานและภาคกลางเอาไว้ในที่เดียวกัน นอกจากนี้พวกเขายังขายอาหารในราคาที่ถูกมาก นั่นคือ “ข้าวราดแกงสองย่างยี่สิบห้าบาท สามอย่างสามสิบห้าบาท เติมข้าวจานละห้าบาท” (หน้า 38) ร้านข้าวขวัญขายข้าวด้วยปรัชญาที่ว่า “กำไรของพ่อใหญ่คือคุณภาพชีวิตของลูกค้านี่ละ ดูเด็กคนนั้นสิ…ได้กินอิ่ม กินอาหารมีคุณภาพ ก็จะเรียนหนังสืออย่างมีความสุข สมองดี เรียนดี พอโตขึ้นก็จะเป็นคนดี…พ่อใหญ่เชื่ออย่างนั้นนะ” (หน้า 38)  

เราจะเห็นได้ว่า ความแตกต่างระหว่างร้านข้าวขวัญกับวนาคอมเพล็กซ์นั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ในขณะที่วนาคอมเพล็กซ์มุ่งที่จะประสบความสำเร็จจากการขยายขอบเขตของการลงทุนเพื่อกำไรที่มากขึ้นร้านข้าวขวัญกลับเล็งเห็นถึงความสำคัญของอาหารดีราคาถูกที่ทุกคนสามารถกินได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี คุณค่าสองแบบที่เกิดขึ้นมาในนวนิยายเรื่องนี้จึงเป็นความแตกต่างกันระหว่างคุณค่าแบบทุนนิยมที่ให้ความสำคัญกับกำไรและตัวเองมากที่สุดกับคุณค่าแบบภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เล็งเห็นถึงคนอื่น มีจิตใจเอื้ออารีไม่ได้เห็นเงินและกำไรเป็นเป้าหมายสำคัญ

ความแตกต่างของสองขั้วตรงกันข้ามเช่นนี้ปรากฏอยู่ตลอดเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการ ‘ให้ความรู้เรื่องอาหารท้องถิ่น’ ของพ่อใหญ่มูล แสงตาแก่รฦก ประเด็นที่น่าสนใจก็คือภูมิปัญญาอาหารท้องถิ่นที่ถูกแสดงในเรื่องนี้ยังผูกติดอยู่กับความเป็นธรรมชาติ ไร้สารเจือปน อาหารท้องถิ่นชี้ให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในท้องถิ่นที่ไม่อาจหาได้ในกรุงเทพ เช่น ‘ลาบเทา’ ซึ่งเป็นอาหารที่ทำมาจากสาหร่ายชนิดหนึ่งเจริญเติบโตได้ในแหล่งน้ำที่ ‘สะอาด’ และแน่นอนว่า แหล่งน้ำสะอาดนั้นย่อมอยู่ในท้องถิ่น ไม่ใช่กรุงเทพฯ…

การสร้างความแตกต่างนี้เราจะเห็นได้จากทั้งการบรรยายแสงตาว่ามีความสวยแบบธรรมชาติใช้ชีวิตแบบ ‘ออแกนิค’ อยู่ในชุมชนชนบทคอยช่วยเหลือผู้คนในชนบทโดยไม่ออกตัว ให้ทุนการศึกษาเด็กๆ ริเริ่มโครงการตลาดนัดในหมู่บ้าน ปลูกข้าวปลูกผักด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์  ในขณะที่เจิดจันทร์ แม่ (เลี้ยง) ของรฦกนั้น “เฉิดฉายอยู่ตามงานสังคม เป็นตัวแทนของบริษัทวนาไปออกงานกุศล บริจาคเงินช่วยเหลือมูลนิธิต่างๆ บ้างก็ไปงานเลี้ยงเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับบรรดาผู้มีชื่อเสียงในวงสังคม” (หน้า 10) แต่เราก็อาจเข้าใจได้ว่าการสร้างความแตกต่างเช่นนี้เป็นไปเพื่อกลวิธีทางวรรณกรรมที่ให้ความสำคัญกับแสงตาในฐานะแม่แท้ๆ ของรฦกที่ต้องพลัดพรากจากกันตั้งแต่รฦกยังจำความไม่ได้นอกจากรสชาติของอาหารที่แสงตาเคยทำให้ตอนเด็กๆ

เราจะเห็นได้ว่า ภูมิปัญญาและอาหารนั้นล้วนเป็นสิ่งที่เจริญเติบโตขึ้นในเขตชนบททั้งสิ้น ในแง่หนึ่งมันคือการให้ความสำคัญกับท้องถิ่นและภูมิปัญญาท้องถิ่นในฐานะ ‘รากเหง้า’ ของสังคมไทย แต่ชนบทก็ไม่ได้ถูกทำให้เป็นเรื่องราวของความโรแมนติกแบบบ้านๆ แบบเก่าๆ หรือหยุดนิ่งโดยที่ไม่ได้สัมพันธ์กับโลกที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา เพราะตัวละครอย่างข้าวขวัญ (ซึ่งเป็นนางเอกตามสูตรของนวนิยายฟีลกู๊ด) ก็เป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ เธอสามารถอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างภูมิปัญญาชาวบ้านในเรื่องอาหารกับวิทยาศาสตร์อาหารได้อย่างลงตัว ดังนั้น ความรู้ของชาวบ้านไม่ได้หยุดอยู่กับที่ ไม่ได้ถูกแช่แข็งอย่างที่เคย ‘ทำ’ กันบ่อยๆ ในวรรณกรรมช่วงทศวรรษ 2530 และดูเหมือนว่านวนิยายเรื่องนี้พยายามจะสร้างความเป็นพลวัตให้กับภูมิปัญญาชาวบ้านได้อย่างน่าสนใจอีกด้วย

คู่ตรงกันข้ามที่ถูกสร้างขึ้นในนวนิยายเรื่องนี้ก็คือ ท้องถิ่นและภูมิปัญญาท้องถิ่นกับเมืองและทุนนิยม นี่อาจเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นมรดกตกทอดที่สำคัญของวรรณกรรมไทยจำนวนหนึ่งในช่วงทศวรรษ 2530 ที่มักจะพูดถึงชาวบ้านในแง่ดี ชนบทคือท้องถิ่นอันพิสุทธิ์สดใส อบอุ่น อบอวลไปกลิ่นดินกลิ่นหญ้าอันหอมฟุ้งขจรขจายไปกระตุ้นต่อมรักชาวบ้าน ถ้าไม่รักษาความพิสุทธิ์เช่นนี้ไว้สังคมไทยต้องถึงความพินาศฉิบหายเป็นแน่แท้ ในขณะที่เมืองและทุนนิยมนั้นคือการคุกคาม คือการให้ไม่บริสุทธิ์ เป็นปีศาจก็ไม่ปาน สิ่งที่ผมสนใจก็คือ ผมพบว่าผู้เขียนพยายามจะทะลุกรอบของการสร้างคู่ตรงกันข้ามเช่นนี้ด้วยหาทางประนีประนอมให้กับภูมิปัญญาและทุนนิยม

การประนีประนอมของภูมิปัญญากับทุนนิยมในนวนิยายเรื่องนี้ก็คือ แผนการพัฒนาร่วมกันระหว่างวนาคอมเพล็กซ์กับร้านข้าวขวัญที่นำเสนอโดยเรวุทธ หลังจากที่ร้านข้าวขวัญถูกเผา (ด้วยฝีมือหมีอวบบล็อกเกอร์นักรีวิวอาหาร) ดูเหมือนจังหวะจะพอดีกับที่เรวุทธเสนอโครงการพัฒนาร้านข้าวขวัญควบคู่กับโครงการวนาคอมเพล็กซ์เฟสสอง โครงการดังกล่าวนั้นเรวุทธวางแผนพัฒนาร้านข้าวขวัญ “ภายใต้หลักการออกแบบของสถาปัตยกรรมชุมชน คือตกแต่งร้านข้าวขวัญใหม่ทั้งหมดโดยใช้รูปแบบของตึกเก่าเป็นตัวตั้งแต่ทำให้ทันสมัยขึ้น…โดยไม่เปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์หลักใดๆ เลย” (หน้า 170-171) แผนการพัฒนาร้านข้าวขวัญนี้สอดคล้องกับแผนการก่อสร้างวนาคอมเพล็กซ์เฟสสองนั่นคือ “ใช้ร้านข้าวขวัญเป็นตัวตั้ง กล่าวคือตึกสร้างใหม่จะได้รับการออกแบบให้กลมกลืนกับร้านข้าวขวัญ อยู่ภายใต้ตัวตนอัตลักษณ์เดียวกัน” (หน้า 171)

เมื่อการณ์กลับเป็นเช่นนี้ คือ จากกลุ่มทุนที่อยากจะได้ตึกแถวเก่าๆ เอามาพัฒนาเป็นศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์มากๆ กลายมาเป็นเมื่อครอบครองไม่ได้ก็พัฒนาร่วมกันเสียเลย ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะดูสมประโยชน์กันทุกฝ่าย ร้านข้าวขวัญสามารถเปิดร้านอาหารราคาถูกได้ต่อไปโดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ในขณะที่กลุ่มทุนวนาคอมเพล็กซ์ก็ได้พัฒนาโครงการของตัวเองต่อไปโดยอาศัยแนวคิดที่กลุ่มทุนและท้องถิ่นสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก ทุกคนแฮปปี้… อีกทั้งตัวนวนิยายยังส่งเสริมการสอดประสานกับอย่างกลมกลืนระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นกับทุนนิยมด้วย ‘ความรัก’ ของตัวละครอย่างรฦกและข้าวขวัญและเรวุทธกับข้าวใหม่ คนอ่านก็แฮปปี้ที่ความขัดแย้งลงตัวได้ ดังนั้น แฮปปี้กว่านี้ไม่มีอีกแล้ว

แต่เมื่อพิจารณาว่า ร้านข้าวขวัญคือส่วนหนึ่งของโครงการคอมมูนิตี้มอลล์อย่างวนาคอมเพล็กซ์เฟสสองและการออกแบบให้ร้านข้าวขวัญอยู่ศูนย์กลางของคอมมูนิตี้มอลล์และสร้างตึกที่ ‘เข้ากันได้’ กับตึกของร้านข้าวขวัญนั้น แท้จริงแล้วอาจหมายถึงการทำให้ร้านข้าวขวัญกลายเป็น ‘สินค้า’ อย่างหนึ่งของคอมมูนิตี้มอลล์แห่งนี้เช่นกัน  สิ่งที่ผมอยากชวนสนทนาคือ ภูมิปัญญานั้นมีคุณค่าเป็นสินค้าอย่างหนึ่งในโลกสมัยใหม่ ไม่ใช่ว่าภูมิปัญญาเป็นสิ่งที่ขายไม่ได้สำหรับผม แต่การทำให้ภูมิปัญญากลายเป็นสินค้าสมัยใหม่ภายใต้การต่อรองที่ดูเหมือนจะเท่าเทียมกันทุกคนสมประโยชน์กันนั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่าเราจะเข้าใจมันได้อย่างไร เพราะการต่อรองระหว่างภูมิปัญญากับทุนนิยมนั้นน้อยครั้งที่อยู่บนพื้นฐานที่สมประโยชน์กันทุกฝ่าย

ผมคิดว่าสิ่งที่ทุนนิยมสมัยใหม่พัฒนากลวิธีในการแสวงหาความั่งคั่งนั้นอาจไม่ใช่การกินรวบ หรือการทุ่มทุนเข้าไปซื้อทุกอย่างเอามาไว้ในการครอบครอง ยึดครองตลาดผูกขาดการซื้อขายไว้แต่เพียงผู้เดียว แต่มันคือการทำให้เห็นว่าแท้จริงแล้วทุนนิยมก็มีหัวใจ รักชาวบ้านได้ ถ้าชาวบ้านน่ารักและมีความเชื่อมโยงบางอย่างกับทุนนิยมได้ เช่นในกรณีของนวนิยายเรื่องนี้คือแสงตาแม่แท้ๆ ของรฦก เคยเป็นนักเรียนนอก เป็นคนรักของพ่อรฦก เป็นสะใภ้ของตระกูลวนาสินธุ์สวัสดิ์ แต่มีเหตุให้ต้องกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในชนบท ทุนนิยมรักชาวบ้านได้ก็ต่อเมื่อชาวบ้านน่ารัก พูดจากันดีๆ รู้เรื่อง เมื่อทุนนิยมมีหัวใจรักชาวบ้านที่น่ารักได้ ชาวบ้านก็จะไม่ใช่ชาวบ้านอีกต่อไป แต่คือส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมและช่วยให้ทุนนิยมสามารถสะสมความมั่งคั่งได้อย่างไม่สิ้นสุดในขณะเดียวกันก็ทำให้ส่วนต่างๆ ของระบบทุนนิยม… เป็นต้นว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่รู้สึกว่าตัวเองต้องเปลี่ยนอะไรหรือถูกขูดรีดจากตัวระบบนั่นเอง

ส่งท้าย: จากบ้านหลังหนึ่ง ณ ชายหาดของโรงแรม ‘อันดามัน อินน์’

‘ซัลมาน’[2] ยังคงใช้ชีวิตแบบเดิม ซัลมานไม่เคยแก่ขึ้นและไม่เคยหมดแรงที่จะวิวาทกับนักท่องเที่ยวจากโรงแรมอันดามัน อินน์ วันหนึ่งซัลมานได้รับรู้เรื่องราวของพ่อใหญ่มูลและร้านข้าวขวัญ เขาหัวเราะจนเสียสติ ซัลมานนั่งถามตัวเองว่า เขามาก่อนกาลหรือโลกนี้มันไม่เคยเปลี่ยนไป จากนั้นเขาเขียนจดหมายฝากพระเจ้าไปถาม กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ว่า “สรุปแล้ว โลกนี้มันไม่เคยเปลี่ยนไปใช่หรือไม่” ซัลมานอยากจะเขียนจดหมายอีกฉบับไปถึงพ่อใหญ่มูลว่า “บางทีอาจจะดีที่ท่านยินยอมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการห่าเหวอะไรนั่น มันน่าจะดีกว่าความดื้อดึงของข้าพเจ้าก็ได้ แต่เชื่อเถอะ ในวันใดวันหนึ่งท่านจะตระหนักว่าไอ้การที่มีคนบอกว่า ท่านไม่ต้องเปลี่ยนอะไรเลยในชีวิตนั้นล้วนเป้นเรื่องตอหลดตอแหลทั้งสิ้น เชื่อเถอะ เชื่อเถอะ”

อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครรู้ว่ากนกพงศ์ตอบซัลมานว่าอย่างไร เพราะมันเป็นเรื่องมันไม่จริง  


[1] โครงเรื่องของ ‘รฦกรส’ นั้นจะว่าเป็นการเขียนวรรณกรรมเพื่อนำไปต่อยอดเพื่อการดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ก็คงไม่ผิดนัก เพราะจังหวะจะโคนในการดำเนินเรื่องนั้นดูเหมือนจะสร้างมาเพื่อเป็นละครโดยแท้จริง

[2] ตัวละครจากเรื่อง ‘โลกใบเล็กของซัลมาน’ เรื่องสั้นที่ยอดเยี่ยมที่สุดเรื่องหนึ่งของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save