ในคราวที่แล้ว ผมได้พูดถึงการสูญเสียของ Malcolm Deas นักวิชาการชาวอังกฤษที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นกูรูทางด้านประวัติศาสตร์การเมืองของโคลอมเบีย ซึ่งนับเป็นการสูญเสียอย่างใหญ่หลวงของวงการโคลอมเบียศึกษา โดย Malcolm Deas ได้สร้างลูกศิษย์ลูกหาไว้มากมาย และปัจจุบันกระจายไปอยู่ในหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักการทูต หรือนักวิชาการ .. ถัดจาก Malcolm Deas ในบทความนี้ ผมมาพูดถึงชาวโคลอมเบียอีกท่านหนึ่งที่ก็ถือได้ว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลของโลก โดยได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินเอกตลอดกาล ไม่เฉพาะในประเทศโคลอมเบียเท่านั้น แต่เป็นศิลปินเอกของวงการศิลปะในลาตินอเมริกาเลยทีเดียว เขาคนนั้นคือ Fernando Botero นั่นเอง

ที่มา: Roel
Fernado Botero เกิดเมื่อวันที่ 19 เมษายน 1932 ที่เมืองเมะเดยีน ปัจจุบันมีอายุ 91 ปี เขาเป็นเป็นศิลปินและประติมากรเชิงเปรียบเทียบชาวโคลอมเบีย สไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ของเขาหรือที่เรียกว่า ‘Boterismo’ แสดงถึงผู้คนและตัวเลขขนาดใหญ่เกินจริง ซึ่งผลงานบางชิ้นอาจแฝงนัยถึงการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองหรืออารมณ์ขัน
Botero ได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินเอกตลอดกาลของลาตินอเมริกาที่ยังคงมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน เราสามารถพบผลงานของเขาได้ในพื้นที่สำคัญต่างๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็น Park Avenue ในมหานครนิวยอร์ก หรือ Champs-Élysées ในกรุงปารีส
ในประเทศไทยเองก็มีผลงานประติมากรรมของ Botero โดยงานนั้นชื่อว่า Freddie Horse ซึ่งเป็นรูปปั้นม้าขนาดใหญ่ทำจากทองแดงหนักกว่า 2 ตัน Botero ใช้เวลากว่า 4 ปีในการปั้นม้า Freddie ขนาด 335 x 300 x190 เซนติเมตร ซึ่งเป็นงานศิลปะชิ้นแรกที่ถูกนำมาตั้งไว้ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี เพื่อทำหน้าที่ต้อนรับแขกที่มาเยือนและเป็นการระลึกถึงการเปิดศูนย์การค้าในปี 2014 ซึ่งตรงกับปีม้าในปีนักษัตรของจีน

Botero เริ่มมีชื่อเสียงภายในประเทศโคลอมเบียเมื่อเขาได้รับรางวัลชนะเลิศในงานประกวด The Salón de Artistas Colombianos ครั้งที่ 9 ในปี 1958 ต่อมาเขาได้เริ่มทำงานประติมากรรมหลังจากย้ายไปอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี 1973 และได้รับการยอมรับในผลงานจากทั่วโลกในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ผลงานของเขาถูกเก็บรวบรวมในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงงานสะสมส่วนบุคคลเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ Botero ยังได้รับยกย่องด้วยการได้รับรางวัล The International Sculpture Center’s Lifetime Achievement ในสาขา Contemporary Sculpture Award
ในวัยเด็ก Botero ได้รับการเลี้ยงดูจากลุง เนื่องจากบิดาเสียชีวิตตั้งแต่เขาอายุได้ 4 ปี ในช่วงวัยเด็กผลงานของ Botero ได้รับอิทธิพลมาจากสไตล์บารอก ที่ปรากฏตามโบสถ์ต่างๆ ในเมืองเมะเดยีน เขาเป็นคนเรียนดี ได้รับทุนการศึกษามาโดยตลอด ในวัย 16 ปี ผลงานภาพวาดของเขาได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ El Colombiano ฉบับวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ชั้นนำของเมืองเมะเดยีน ก่อนที่ผลงานของเขาจะถูกนำมาจัดแสดงครั้งแรกในปี 1948 ร่วมกับศิลปินท่านอื่นๆ ต่อมาในปี 1951 เขาได้ย้ายมาอยู่กรุงโบโกตา เมืองหลวงของประเทศ และได้จัดแสดงผลงานเดี่ยวเป็นครั้งแรกที่ The Galería Leo Matiz
ในปี 1952 เขาได้ย้ายไปศึกษาต่อที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ที่กรุงปารีส ในปี 1953 เขาได้ใช้เวลาส่วนมากในการศึกษาศิลปะที่ The Louvre Museum และจากนั้นก็ได้เดินทางต่อไปยังเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ระหว่างปี 1953-1954 เพื่อศึกษาศิลปะในยุคเรเนซองส์ที่สำคัญๆ
ปัจจุบัน Botero ใช้เวลาส่วนมากอยู่ในกรุงปารีส แต่จะเดินทางกลับบ้านเกิดที่เมืองเมะเดยีนปีละครั้ง ครั้งละ 1 เดือนเป็นประจำ เขามีผลงานการจัดแสดงศิลปะเดี่ยวของเขามากกว่า 50 ครั้ง ในเมืองสำคัญต่างๆ ทั่วโลก และผลงานของเขาแต่ละชิ้นมีมูลค่ากว่าหลักล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2004 Botero ได้จัดงานแสดงศิลปะภาพวาด 27 ภาพ และภาพเขียน 23 ภาพ ที่สะท้อนปัญหาความรุนแรงในโคลอมเบียระหว่าง ปี 1990-2004 และเขาได้บริจาคภาพทั้งหมดให้กับพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของโคลอมเบีย

ในปี 2005 Botero ให้ความสนใจเรื่องปัญหาความรุนแรงจากการทรมานและละเมิดสิทธิมนุษยชนชองรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและ The Central Intelligence Agency (CIA) ต่อนักโทษที่ถูกคุมขังในเรือนจำ Abu Ghraib ในประเทศอิรัก ในช่วงที่สหรัฐอเมริกาทำสงครามกับอิรักอย่างหนัก Botero ได้วาดรูปมากกว่า 85 รูป และภาพเขียนกว่า 100 รูป ภายใต้ธีม ‘การวาดภาพจากนอกเรือนจำ’ เพื่อแสดงถึงความโหดร้ายจากสงครามที่นักโทษได้รับ งานเหล่านี้ได้รับการจัดแสดงที่ประเทศสหรัฐอเมริกาถึง 2 ครั้ง ในปี 2007 รวมถึงที่เมืองหลวงในกรุงวอชิงตันดีซี Botero ประกาศว่าเขาจะไม่ขายภาพเขียนใดๆ ในชุดนี้ แต่จะบริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์ต่างๆ แทน ซึ่งต่อมาในปี 2009 Botero ได้บริจาคภาพเหล่านี้กว่า 56 ภาพ ให้แก่ The Berkeley Art Museum ส่วนงานที่เหลือมักจะถูกหมุนเวียนไปปรากฏอยู่ในงานแสดงภาพวาดที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยธรรมทั่วโลก

ในปี 2006 หลังจากที่ Botero ได้ทุ่มเทการทำงานของเขาให้กับภาพวาดและภาพเขียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาต่อนักโทษชาวอิรัก เขาก็ได้หันกลับมาวาดภาพที่ดั่งที่เคยวาดมาในอดีตตลอด 50 ปีที่ผ่านมา เป็นการวาดภาพคนในครอบครัวในอากัปกริยาต่างๆ ภาพหมู่ของสมาชิกในครอบครัวที่แสดงให้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวโคลอมเบียที่เขามักเขียนในยุคคริสต์ทศวรรษที่ 1970 และ 1980 ซึ่งต่อมาได้มีการนำแสดงเป็นผลงานเดี่ยวในปี 2008 ในชื่อ The Circus ซึ่งประกอบด้วยภาพวาดสีน้ำมันและสีน้ำกว่า 20 ชิ้น Botero ได้ให้สัมภาษณ์ในปี 2010 ว่า เขานั้นพร้อมที่จะพัฒนาการวาดรูปใหม่ๆ ในธีมต่างๆ ขึ้นอยู่กับบริบทของสังคมในขณะนั้น แต่ก็จะไม่หลงลืมการวาดภาพที่เป็นอัตลักษณ์ของเขา
Botero ได้บริจาคผลงานศิลปะของเขาเป็นจำนวนมากให้กับพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั้งในกรุงโบโกตาและเมืองเมะเดยีน ในปี 2000 ได้มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ Botero ขึ้นที่กรุงโบโกตา ซึ่งเขานั้นได้บริจาคผลงานกว่า 200 ชิ้นให้กับพิพิธภัณฑ์นี้ รวมทั้งผลงานของ Chagall, Picasso, Robert Rauschenberg และผลงานของนักเขียนชาวฝรั่งเศสสไตล์อิมเพรสชันนิสม์ที่จะมุ่งเน้นถึงการวาดภาพที่จับซึ่งสายตาสัมผัสรับรู้ในช่วง ณ เวลานั้นและเป็นช่วงเวลาที่ฉับพลัน และจะมีการแยกแยะสีที่จะเข้ามาประกอบกันเข้าเป็นแสงที่ส่องต้องสิ่งต่างๆ ทำให้เกิดพื้นผิวภาพที่เต็มไปด้วยสีสันที่แปรเปลี่ยนเป็นภาพที่เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง ที่เขาสะสมอยู่ด้วย นอกจากนั้น Botero ยังได้บริจาคผลงานจำนวน 119 ชิ้นให้แก่พิพิธภัณฑ์จังหวัดแอนทิโอเกีย ซึ่งมีเมืองเมะเดยีนเป็นเมืองหลวง ผลงานประติมากรรมงานปั้นทองแดงของเขากว่า 23 ชิ้นถูกนำมาจัดแสดงถาวรหน้าพิพิธภัณฑ์จังหวัดแอนทิโอเกีย และได้รับการขนามนามว่าเป็นจัตุรัส Botero
เมื่อมีการเจรจาทำสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างรัฐบาลของประธานาธิบดี Juan Manuel Santos กับกลุ่มกองกำลังปฏิวัติแห่งโคลอมเบีย (The Revolutionary Armed Forces of Colombia: FARC) Botero ได้บริจาครูปปั้น La paloma de la paz หรือ The Peace Dove ให้กับรัฐบาลโคลอมเบีย เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากสงครามระหว่างรัฐบาลกับ FARC ที่มีมาตั้งแต่ปี 1964 ปัจจุบันรูปปั้นนี้ถูกนำไปจัดแสดงที่ The Casa de Nariño ซึ่งเป็นที่ทำงานของประธานาธิบดีโคลอมเบียในปัจจุบัน
จากผลงานทั้งหมดนี้ ส่งผลให้ Fernando Botero กลายเป็นอัครศิลปินที่ยิ่งใหญ่ไม่แต่ในเฉพาะโคลอมเบีย แต่ยังรวมถึงภูมิภาคลาตินอเมริกา และอาจไกลไปถึงทั่วโลกอีกด้วย Botero ไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นศิลปินที่มุ่งหวังแต่เพียงการขายผลงานหารายได้เข้าตัวเขาเองเท่านั้น แต่เขายังเป็นผู้ที่รักความยุติธรรมในสังคมที่พร้อมจะถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานศิลปะของเขาได้อยู่ตลอดเวลาอีกด้วย
