fbpx
อย่าให้ ‘เจนฯ’ เป็นเส้นคั่นระหว่างเรา : จุดอ่อนของการมองโลกแบบเจเนอเรชัน

อย่าให้ ‘เจนฯ’ เป็นเส้นคั่นระหว่างเรา : จุดอ่อนของการมองโลกแบบเจเนอเรชัน

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพ

 

ถ้าเปรียบสังคมเป็นบ้าน คนทั้งหมดเป็นครอบครัว

‘เจเนอเรชัน’ ก็คงเป็นเหมือนห้องที่แบ่งคนในครอบครัวออกจากกัน

ห้องหนึ่งเป็นของผู้ใหญ่ ห้องหนึ่งเป็นของเด็ก ห้องหนึ่งเป็นของคนแก่ ของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ของมนุษย์ลุงมนุษย์ป้า… และอีกสารพัดแล้วแต่เจเนอเรชันจะแบ่งแยก ปักป้ายชื่อ Baby Boomer X Y Z ให้คนที่อยู่ในห้อง รวมถึงตกแต่งห้องแต่ละแบบให้แตกต่างกัน เพื่อบ่งบอกว่าคนแต่ละเจนฯ ควรเป็นอย่างไร

แต่ปัญหาก็คือ เมื่อคนในครอบครัวทะเลาะกัน ต่างฝ่ายกลับปิดประตูห้องของตัวเอง อ้างว่าเป็นเพราะอยู่ต่างห้อง ต่างวัย ต่างเจนฯ จึงไม่สามารถทำความเข้าใจกันได้ และไม่มีใครคิดจะข้ามเขตห้องเข้าไปพูดคุยกับอีกฝ่ายเพื่อขอคืนดี

เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในทุกมิติของสังคม ตั้งแต่เรื่องโต้เถียงกันระหว่างพ่อแม่ลูก ความขัดแย้งระหว่างเจ้านายกับลูกน้องต่างวัย ไปจนถึงความไม่ลงรอยกันในระดับการเมืองของคนต่างเจนฯ ที่นับวันจะทวีความขัดแย้งขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ในโลกที่คำนิยามเรื่องครอบครัวกำลังเปลี่ยนแปลงไป เราควรหันมาทบทวนว่า เส้นคั่นระหว่างวัยอย่าง ‘เจเนอเรชัน’ ที่กำลังแบ่งแยกและสร้างปัญหาให้กับครอบครัวของใครหลายคนยังควรมีอยู่อีกหรือไม่

หรือมันล้าสมัยเกินกว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของ ‘บ้าน’ เราแล้ว

 

เจเนอเรชันเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไร?

 

แนวคิดเรื่องเจเนอเรชันถือกำเนิดมาเนิ่นนาน บ้างสันนิษฐานว่าอาจมีมาตั้งแต่ยุคโบราณหรือสมัยคริสเตียนตอนต้น (Early Christian) แต่หลักฐานที่ชัดเจนและทรงพลังพอจะบ่งชี้ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของแนวคิดนี้ได้ อยู่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 จนถึงศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา

ในสมัยนั้น เกิดหลายเหตุการณ์สำคัญหลายเรื่อง เช่น การอพยพถิ่นฐานครั้งใหญ่ในโลกตะวันตกจากกระแสปฏิวัติอุตสาหกรรม การเปลี่ยนผ่านระบบการเมืองเป็นประชาธิปไตยอย่างแพร่หลาย การล้มล้างระบอบศักดินาและชนชั้นที่มีอยู่แต่เดิม โครงสร้างทางสังคมและครอบครัวเปลี่ยนไป คนตายน้อยลงด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่ดีขึ้น ทำให้มีคนหลากหลายรุ่นรวมกันในบ้าน คนแก่ได้เห็นหน้าลูกหลาน ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่สร้างทักษะ ประสบการณ์ อันแตกต่างกันระหว่างเด็กกับผู้สูงอายุ

สิ่งเหล่านี้ทำให้นักคิด นักวิพากษ์ในสังคมส่วนหนึ่งต้องการสร้าง ‘มาตรวัดแบ่งยุคสมัย’ แบบใหม่ที่เน้นย้ำความสำคัญของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ไม่ใช่แค่ระบุว่าอยู่ในช่วง ‘ศตวรรษที่ 19’ แต่ต้องชัดเจนว่าเป็น ‘ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม’ หรือยุคอื่นๆ ตามแต่จะเกิดเรื่องราวอันใด

เมื่อผนวกรวมกับการล่มสลายของระบอบเจ้าขุนมูลนาย ไม่มีการแบ่งชนชั้น ‘ขุนนาง’ ‘ไพร่’ หรือ ‘ทาส’ อีกต่อไป สังคมจึงต้องจัดระเบียบใหม่ หาชื่อเรียกกลุ่มคนแบบต่างๆ รวมถึงหาเกณฑ์จำแนกความแตกต่างระหว่างกลุ่ม เพื่อให้ง่ายต่อศึกษาและอธิบายความเป็นไปในสังคม นำมาสู่การเริ่มต้นขีดเส้นแบ่งระหว่าง ‘คนยุคก่อน’ กับ ‘คนยุคหลัง’ ‘คนรุ่นเก่า’ กับ ‘คนรุ่นใหม่’ จนกลายเป็นแนวคิดเรื่องเจเนอเรชัน

เจเนอเรชันเริ่มเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ โดยตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา เราจะเห็นแนวคิดดังกล่าวเริ่มถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในหลายประเทศ เช่น เห็นอุดมการณ์และการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่เรียกตนว่าเป็น ‘คนรุ่นใหม่’ ในการปฏิวัติอิตาลี (La Giovine Italia) ช่วงทศวรรษ 1830-1840 เห็นกลุ่ม ‘Young Germany’ ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายอนุรักษนิยมในประเทศ หรือแม้แต่เห็น Ortega Y Gasset นักเขียนและนักปรัชญาผู้โด่งดัง ออกมาปราศรัยสนับสนุนการปฏิรูปสเปนช่วงต้นทศวรรษ 1900 โดยเน้นสื่อสารไปยังคนหนุ่มสาวผู้ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงและยุคสมัยที่ดีกว่าเดิม

นอกจากเรื่องการเมือง เรายังได้เห็นการตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับเจเนอเรชันหลายเล่มจากนักวิชาการและนักเขียน ซึ่งส่วนใหญ่มีลักษณะ ‘ตำหนิ’ คนรุ่นก่อนๆ อย่างเห็นได้ชัด เช่น “The Pinch: How the Baby Boomers Stole Their Children’s Future – and How they can Give it Back” โดย David Willetts ตีพิมพ์เมื่อปี 2010 หรือผลงานปีเดียวกันอย่าง “It’s All Their Fault : A Manifesto” ของ Neil Boorman

เราได้ยินการตั้งชื่อเจนฯ อย่าง เจนฯ X เจนฯ Y และบทนิยามผ่านสื่อต่างๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จน ณ วินาทีนี้ ใครหลายคนคงเชื่อว่า เจเนอเรชันเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง

 

 เรามีเจเนอเรชันไปเพื่ออะไร?

 

ถ้าลองมองให้ลึกยิ่งขึ้นถึงประโยชน์ของแนวคิดเจเนอเรชันแบบร่วมสมัย ชนิดที่ไม่ได้ใช้เพื่อขีดเส้นแบ่งกลุ่มคนเก่า กลาง ใหม่ หรือใช้ในทางการเมืองเพียงอย่างเดียว จะเห็นได้ว่าแนวคิดเรื่องเจเนอเรชันถูกใช้อีก 5 รูปแบบหลักๆ ตามที่ Jonathan White นักสังคมวิทยาแห่ง London School of Economics and Political Science (LSE) วิเคราะห์วิธีการใช้คำดังกล่าวในสื่อ วรรณกรรม และวัฒนธรรมผ่านบทความ Thinking Generations  ได้แก่

หนึ่ง เจเนอเรชันมีบทบาทในการอธิบายประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะความเป็นเหตุเป็นผลระหว่างประสบการณ์ทางสังคมกับการกระทำของคน และสิ่งที่เป็นผลเชื่อมโยงมาถึงปัจจุบัน White ยกตัวอย่าง การริเริ่มพลิกโฉมพรรคแรงงานในอังกฤษ (British Labour Party) โดย Tony Blair และ Gordon Brown จนทำให้ระบบการเมืองและวัฒนธรรมของประเทศอังกฤษเปลี่ยนแปลง ก็เป็นผลมาจากการที่ Tony Blair และ Gordon Brown อยู่ในเจนฯ Baby Boomer ได้สัมผัสสภาพสังคม มีประสบการณ์และการมองโลกแตกต่างจากผู้นำพรรครุ่นก่อนอย่าง Neil Kinnock และ John Smith ทั้งสองจึงตัดสินใจละทิ้งวิถีทางเดิมของพรรคแรงงาน แล้วหันมาปฏิรูประบบนั่นเอง

สอง เจเนอเรชันช่วยบันทึก เน้นย้ำและทำให้เห็นภาพเหตุการณ์สำคัญในช่วงเวลาหนึ่ง ดังเช่นที่เราได้ยินชื่อเจเนอเรชัน ‘Baby boomer’ และสามารถจินตนาการภาพบรรยากาศการเร่งผลิตจำนวนประชากรในสังคมยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือ ‘Jam Generation’ ที่ทำให้เราเห็นเทรนด์ของสังคมอังกฤษช่วงทศวรรษ 1980 ว่าเพลงร็อกของวง The Jam มีอิทธิพลต่อการเติบโตและทัศนคติของนักการเมืองตัวเอ้หลายคน ทั้ง David Cameron, David Miliband, Nick Clegg, Yvette Cooper และอื่นๆ อีกมากมาย

สาม เจเนอเรชันช่วยในการรวมกลุ่มทางสังคม ทำหน้าที่เปรียบเสมือน ‘จุดร่วม’ ของคนอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ทำให้เรารู้สึกมีเพื่อนร่วมชะตากรรม เข้าอกเข้าใจกันและกัน แม้ว่าแต่ละคนอาจไม่มีบุคลิกนิสัยหรือรสนิยมเหมือนกันเลยก็ตาม ทั้งยังทำหน้าที่เป็น ‘จุดเชื่อม’ ของคนต่างรุ่น ด้วยการอุปมาคนในสังคมเป็น ‘ครอบครัว’ ขนาดใหญ่ เหมือนที่เรามักจะได้ยินคำว่า ‘ปู่ย่าตายาย’ หรือ ‘บรรพบุรุษ’ ของเรา แทนการเรียกว่า ‘คนในอดีต’ และเราต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อ ‘ลูกหลาน’ ไม่ใช่ ‘คนในอนาคต’ คำเหล่านี้ทำให้คนต่างวัยในสังคมรู้สึกใกล้ชิดกันมากขึ้น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น

สี่ เจเนอเรชันฉายภาพการยึดถือคุณค่าที่แตกต่างกันของคนแต่ละวัย ตัวอย่างเช่น เป็นที่เชื่อกันว่าเจนฯ Baby boomer ให้คุณค่ากับผลประโยชน์ ความมั่งคั่งส่วนตน เพราะใช้ชีวิตผ่านสภาพสังคมแสนลำเค็ญหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนเจนฯ Millennials เป็นหนุ่มสาวที่ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ ชื่อเสียง หน้าตาในสังคม เราจึงได้เห็นการอวดไลฟ์สไตล์โก้หรูบนโซเชียลมีเดียจากคนเหล่านี้อยู่เสมอ

แนวคิดเจเนอเรชันอธิบายว่าการยึดถือคุณค่าที่ต่างกันนี้ อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาสังคมในปัจจุบัน อย่างในหนังสือ “Jilted Generation: How Britain has Bankrupted its Youth” ของ Howker และ Malik ปี 2010 อ้างว่า การที่คนเจนฯ Baby Boomer เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากเกินไป ทำให้พวกเขาปล่อยปละละเลยการดูแล ‘ลูกหลาน’ และปล่อยให้แบกรับปัญหาที่พวกเขาทิ้งไว้ในโลกยุคถัดมา

ห้า เจเนอเรชันใช้อธิบายและทำนายความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในสังคม จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้ ‘เด็ก’ และ ‘ผู้ใหญ่’ เริ่มมีความแตกต่างมากขึ้นเรื่อยๆ คนเจนฯ ใหม่แทบไม่เหลือร่องรอยความคิด ความเชื่อแบบคนเจนฯ เก่าโดยสิ้นเชิง คนต่างรุ่นจึงยากจะทำความเข้าใจหรือยอมรับกันและกัน อีกทั้งคนรุ่นใหม่บางส่วนยังถือว่าตนเองเป็น ‘เหยื่อ’ ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของคนรุ่นเก่า ทำให้คาดเดาได้ว่า ความแตกต่างดังกล่าวอาจนำไปสู่ความขัดแย้งรูปแบบต่างๆ ของสังคมเข้าสักวัน

 

เจเนอเรชันทำอะไรกับเรา?

 

แม้แนวคิดเรื่องเจเนอเรชันจะมีประโยชน์ในฐานะมุมมองหนึ่งที่ใช้อธิบายสังคม แต่ก็มีข้อโต้แย้งอยู่ว่า การใช้แว่นตา ‘เจเนอเรชัน’ มองทุกปัญหา อาจทำให้แนวคิดนี้มีอิทธิพลเหนือชีวิตและความคิดในโลกจริงมากเกินไป รวมถึงส่งผลร้ายอย่างไม่น่าเชื่อ

เป็นต้นว่า เราปล่อยให้คำนิยามลักษณะเจนฯ แบบต่างๆ กลายร่างเป็น ‘ภาพเหมารวม (Stereotype)’ ของคนแต่ละช่วงวัย มองเห็นเจนฯ Baby Boomer เป็นพวกวัตถุนิยม ชอบความมั่งคั่ง เคร่งเครียดจริงจัง และโน้มเอียงไปทางหัวอนุรักษ์

เจนฯ X เป็นพวกไม่ชอบพิธีรีตอง ไม่ทุ่มเทแต่กับงาน เพราะเชื่อเรื่อง Work-life Balance

เจนฯ Y หรือ Millennials คือพวกหลงตัวเอง ใส่ใจภาพลักษณ์ ชื่อเสียง ไม่อดทนต่องานหนัก จึงมักเปลี่ยนงานบ่อย

ไปจนถึง เจนฯ Z หรือ เจนฯ Alpha ในอนาคต ที่ยังไม่ทันเกิดหรือเติบโต แต่ถูกคาดหวัง (รวมถึงตีตรา) ไปแล้วว่าต้องเป็นพวกเก่งเทคโนโลยี มีความคิดเปิดกว้าง แต่ความอดทนต่ำกว่าเจนฯ อื่น เพราะเสพติดความรวดเร็ว สะดวกสบาย

เราปล่อยให้ตนเองเชื่อว่าลักษณะตาม ‘ธรรมชาติ’ ของแต่ละเจเนอเรชันมีอยู่ในตัวเราจริง และมีอยู่ในตัวผู้อื่นจริง ทำให้เราปฏิบัติกับตัวเอง หรือปฏิบัติกับผู้อื่นประหนึ่งว่าเขามีนิสัยเช่นนั้น บีบบังคับให้เขาต้อง ‘ทำตัวแย่’ เพื่อสอดคล้องกับความเชื่อของเรา ซึ่งตรงกับทฤษฎีทางจิตวิทยาเรื่อง Self-Fulfilling Phophecy ว่าด้วยการคาดเดาพฤติกรรมเชิงลบของอีกฝ่าย ที่ตนมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างไม่รู้ตัว

ยิ่งไปกว่านั้น เราอาจปล่อยให้ตนเองมองคนต่างเจเนอเรชันเหมือนมองคนแปลกแยก หรือคนประหลาดที่ต้องหาวิธีรับมือเป็นพิเศษ ตามที่ Leah Georges นักจิตวิทยาสังคม เล่าใน TED Talk เรื่อง “How generational stereotypes hold us back at work” ว่า บรรดาเจ้าของบริษัททั้งหลายมักคุยกันว่าจะวางแผนรับมือกับพนักงานเจนฯ Y – ผู้ขึ้นชื่อว่าขยันเปลี่ยนงาน (Job Hopper) และไม่มีน้ำอดน้ำทนจำนวนมากในอนาคตอย่างไร

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว คนเจนฯ Y ไม่ได้แตกต่างจากเจนฯ X หรือเจนฯ อื่น พวกเขาต้องการเงินเดือน สวัสดิการ และบรรยากาศที่เหมาะสมกับการทำงานเหมือนกัน เรื่องนี้ถูกยืนยันโดยผลการสำรวจของ Pew Research Center เผยแพร่ปี 2017 ว่าคนเจนฯ Y ทำงานที่เดิมนานพอๆ กับคนเจนฯ X คือ 5 ปีเป็นอย่างน้อย ดังนั้น คงไม่เป็นธรรมอย่างมากหากจะกล่าวหาหรือกระทั่งตัดสิทธิ์ ไม่รับคนเจนฯ Y เข้าทำงาน เพราะอคติเหล่านี้

ท้ายที่สุดแล้ว เจเนอเรชันอาจเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในสังคม (ตามที่มันทำนาย) เข้าสักวัน เพราะคนในสังคมเริ่มมองกันและกันด้วยสายตาเหนื่อยระอามากขึ้น โดยเฉพาะ ‘เด็ก’ กับ ‘ผู้ใหญ่’ ‘คนรุ่นใหม่’ กับ ‘คนรุ่นเก่า’ อย่างที่เราได้ยินคำเรียกขาน ‘มนุษย์ลุง’ ‘มนุษย์ป้า’ ‘เด็กสมัยนี้’ ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการแสดงออกในที่สาธารณะ เช่น กรณี Chlöe Swarbrick นักการเมืองชาวนิวซีแลนด์กล่าวคำว่า “OK, Boomer” กับนักการเมืองรุ่นเก๋าที่มาขัดจังหวะการกล่าวสนับสนุนนโยบาย Zero Carbon กลางสภาของเธอ หรือปรากฏการณ์ “Hao, Boomer” ที่คนวัยรุ่นร่วมกันส่งเสียงถึงผู้นำและคนรุ่นพ่อแม่ซึ่งออกมาห้ามปรามการชุมนุมประท้วงของฮ่องกง เรื่องราวเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าช่องว่างของคนต่างรุ่นเริ่มขยับขยายออกกว้าง จนเกิด ‘Clash of Generation’ ปะทะอย่างไม่ประนีประนอมกันมากขึ้นทุกที

 

ทำไมเจเนอเรชันอาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป?

 

เมื่อเจเนอเรชันกลายเป็นหนึ่งในแนวคิดฝังรากลึกในสังคม คำถามที่น่าขบคิดต่อคือ แล้วเจเนอเรชันที่ว่านี้ เป็นเหตุเป็นผลหนักแน่น มีหลักฐานรองรับ หรือน่าเชื่อถือมากพอให้ยึดเป็นหลักมองโลกหรือไม่?

คำตอบจากนักคิดและนักวิชาการส่วนหนึ่งคือ ไม่ ด้วยเหตุผลนานาประการดังต่อไปนี้ ที่แสดงให้เห็นว่าแนวคิดเจเนอเรชันมีข้อบกพร่องมากมายจนสามารถโต้แย้งได้ว่าไม่มีอยู่จริง และล้าสมัยเกินกว่าจะใช้อธิบายความเป็นไปในสังคมเสียแล้ว

 

1.นิยามช่วงอายุของเจเนอเรชันในแต่ละแห่งไม่ชัดเจนแน่นอน

สิ่งที่ขาดไม่ได้เวลาเราพูดถึงเจนฯ Baby Boomer X Y หรือ Z คือ การกำหนดช่วงปีเกิดและลักษณะนิสัยของคนแต่ละรุ่นซึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์สำคัญหรือสภาพแวดล้อมของสังคมขณะนั้น

ปัญหาคือเหตุการณ์สำคัญดังว่าอาจไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกันทุกแห่งและส่งผลต่อทุกสังคมบนโลก

ตัวอย่างเช่นเจนฯ Baby Boomer มีที่มาจากกระแสเร่งผลิตจำนวนประชากรหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนทำให้อัตราการเกิดเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์และคนนิยมแต่งงานกันตั้งแต่อายุยังน้อย ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและภูมิภาคยุโรปราวทศวรรษ 1940 – 1960 ขณะที่ฝั่งเอเชียอย่างจีน ญี่ปุ่น เพิ่งมีกระแสทำนองเดียวกันในช่วงทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา

นั่นทำให้คนเจนฯ เดียวกันอาจมีช่วงอายุแตกต่างกันในแต่ละที่ จนเราไม่สามารถระบุชัดเจนว่าเจเนอเรชันแต่ละรุ่นควรจะเริ่มต้น จบลง และเริ่มต้นใหม่อีกครั้งเมื่อใด โดยปราศจากการพินิจพิเคราะห์ถึงปัจจัยด้านสภาพสังคมแต่ละแห่ง

 

2.การแบ่งช่วงเจเนอเรชันไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมอีกต่อไป

บทความเกี่ยวกับเจเนอเรชันใน The Atlantic ของ Joe Pinsker ระบุว่าการแบ่งเจเนอเรชันอย่างคร่าวๆ โดยทั่วไปถือเกณฑ์ห่างกัน 15 ปี กล่าวคือ หลังเจนฯ รุ่นหนึ่งเกิด ถัดไปอีก 15 ปี จึงนับว่าขึ้นเจนฯ ใหม่ ในขณะที่ทฤษฎีเจเนอเรชันของ Strauss–Howe เสนอว่าแต่ละเจนฯ ห่างกันราว 20-22 ปี ซึ่งคนแต่ละรุ่นก็จะได้สัมผัสสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง รวมถึงเทคโนโลยีแตกต่างกันไป

แต่แท้จริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงทางสังคมอาจไม่ได้เกิดขึ้นในรอบ 15 หรือ 20 ปี โดยเฉพาะในปัจจุบัน ปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง อย่างกระแส Baby Boomer หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (The Great Recession) แทบไม่เกิดขึ้นและเปลี่ยนสภาพสังคมอย่างมีนัยสำคัญอีกแล้ว แม้ว่าจะมีการพูดถึงกระแสดิสรัปต์จากเทคโนโลยีบ้างประปราย แต่ก็ไม่ได้สร้างความแตกต่างระหว่างเจเนอเรชันแบบเห็นได้ชัด เหมือนที่เราแทบไม่เห็นความแตกต่างด้านบุคลิกหรือความสามารถด้านเทคโนโลยีระหว่างคนเจนฯ Z กับเจนฯ Alpha อย่างที่เคยเห็นระหว่างเจนฯ รุ่นก่อนๆ

นอกจากนี้ การตั้งชื่อเจนฯ รุ่นถัดมาจาก Baby Boomer เป็นตัวอักษร X Y Z เรียงตามลำดับ แทนการใช้ชื่อเหตุการณ์ในยุคนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าการระบุเจเนอเรชันและนิยามลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันตามบริบทสังคมเริ่มเลือนรางขึ้นทุกที

 

3.เจเนอเรชันเดียวกัน ไม่ได้มีลักษณะเหมือนกันเสมอ

การแบ่งกลุ่มคนออกเป็นเจเนอเรชัน เปรียบการขีดเส้นกั้นคนแต่ละรุ่น คาดหวังว่าแต่ละกลุ่มต้องแตกต่างกัน และคนเจนฯ เดียวกัน ควรมีลักษณะเหมือนกันเป็นสากล

ทว่า ในความเป็นจริง เราไม่สามารถแยกแต่ละเจนฯ ออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด และไม่สามารถฟันธงได้ว่าคนรุ่นเดียวกันจะได้รับประสบการณ์ อิทธิพลจากสังคมเหมือนกันเสมอไป ในเมื่อเจนฯ หนึ่งกินเวลามากถึง 15-20 ปีเป็นอย่างต่ำ ฉะนั้น เป็นไปได้หรือที่คนเกิดช่วงต้นเจนฯ จะเหมือนกับคนช่วงปลายเจนฯ ซึ่งเกิดอีกกว่า 10 ปีให้หลัง? คนเจนฯ Y ที่เกิดปี 1981 ซึ่งยังใช้ชีวิตวัยเด็กในยุคไร้อินเทอร์เน็ต จะเหมือนกับคนเจนฯ Y ที่เกิดปี 1996 และมีอินเทอร์เน็ตใช้แต่แรก?

หากลองสังเกตดูจะพบว่า ประชากรปลายเจนฯ หนึ่งๆ มีความคล้ายคลึงกับคนต้นเจนฯ ถัดไปมากกว่าคนเจนฯ เดียวกันเสียอีก เช่น เจนฯ Y ที่เกิดปี 1996 มีไลฟ์สไตล์คล้ายกับคนเจนฯ Z ที่เกิดปี 1997 นอกจากนี้ คนเจนฯ เดียวกัน แต่อยู่คนละสังคม คนละประเทศ ก็มีประสบการณ์ไม่เหมือนกัน เพราะเหตุการณ์สำคัญของสังคมหนึ่ง อาจไม่เกิดขึ้น หรือเกิดในรูปแบบที่แตกต่างกันในอีกสังคมหนึ่ง เช่น คนเจนฯ Y ในประเทศไทยได้สัมผัสวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 1997 ซึ่งเมื่อดูช่วงอายุแล้วก็ยังอยู่ในวัยเรียน แต่คนเจนฯ Y ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปใต้กลับมีประสบการณ์วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อปี 2008 ซึ่งอยู่ในวัยที่เพิ่งเรียนจบและหางานทำ ประสบการณ์ที่แตกต่างกันนี้ทำให้ทั้งสองกลุ่มได้รับผลกระทบต่างกัน และมีลักษณะต่างกัน ตามไปด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น Rick Settersten ศาสตราจารย์ด้านพัฒนาการมนุษย์และครอบครัว มหาวิทยาลัยรัฐออริกอน สหรัฐอเมริกา ยังชี้ให้เห็นว่า เทรนด์การมีลูก สร้างครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคมแต่ละยุค ทำให้เจนฯ แต่ละเจนฯ เริ่มปะปนกัน จากเดิมที่เข้าใจว่าเจนฯ Y คือลูกของเจนฯ Baby Boomer ส่วนเจนฯ Z คือลูกของเจนฯ X หลังพ่อแม่บางกลุ่มมีลูกช้าลงเรื่อยๆ ทำให้เด็กส่วนหนึ่งมีประสบการณ์ชีวิตร่วมกัน สัมผัสสภาพสังคมแบบเดียวกัน แต่กลับถูกระบุว่ามาจากคนละเจเนอเรชัน

ยังไม่นับว่าคนเจนฯ Baby Boomer บางคนมีลูกเร็วจนถือว่าลูกเป็นเจนฯ Baby Boomer เหมือนกัน ในแง่นี้ คำอธิบายเรื่องลักษณะและความแตกต่างระหว่างเจเนอเรชันจึงใช้ได้ไม่ครอบคลุมและไม่ตรงกับความเป็นจริง

 

4.แนวคิดเจเนอเรชันมองข้ามปัจจัยอื่นที่ช่วยสร้างความแตกต่างในตัวบุคคล

นิสัยใจคอของคนเป็นผลผลิตจากปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ทั้งการเลี้ยงดู วัฒนธรรม ประสบการณ์ ความเชื่อ ฯลฯ คนแต่ละคนจึงมีความแตกต่างและเป็นตัวของตัวเอง

ทว่า แนวคิดเจเนอเรชันได้มองข้ามสิ่งเหล่านี้ และพยายามจัดกลุ่ม สร้างลักษณะมาตรฐานของคนด้วยการอนุมานจากสภาพสังคมในเวลาหนึ่งเพียงอย่างเดียว กลายเป็นสูตรสำเร็จที่ทำให้คนเชื่อว่า ไม่ว่าใครจะอยู่มุมไหนของสังคม เป็นเพศใด หรือมีสถานะแบบไหน ย่อมมีลักษณะตามเจนฯ ที่คนนั้นเกิดมา ปัจจัยอื่นๆ ล้วนไม่สำคัญเท่า ในบทความของ David Costanza จากเว็บไซต์ SLATE จึงหยิบยกงานวิจัยที่ใช้วิธีคิดคล้ายคลึงกัน อย่างเรื่อง ‘one national-culture model’ ของศาสตราจารย์ Geert Hofstede มาอธิบายว่า เหตุใดเจเนอเรชันจึงไม่สามารถกำหนดลักษณะของคนแต่ละรุ่นโดยมองข้ามปัจจัยอื่นนอกจากสภาพสังคมได้ (–หรือไม่ ก็ทำได้ยากมาก)

เดิมทีงานวิจัยของศาสตราจารย์ Hofstede ต้องการนิยามตัวแทนนิสัยของคนแต่ละประเทศ เช่น คนอเมริกาเป็นตัวของตัวเองสูง ชอบทำตามใจ ไม่ชอบระบบอาวุโส ส่วนคนจีนมีน้ำอดน้ำทน ให้ความสำคัญกับสัมมาคารวะ แต่สุดท้าย งานวิจัยดังกล่าวก็แทบจะเรียกว่าล้มเหลว เนื่องจากจำนวนคนในแต่ละประเทศมีกว่าล้านคน หลากชาติพันธุ์ หลายวัฒนธรรม จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะหยิบยกใครจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งขึ้นมาเป็นตัวแทนนิสัยคนทั้งชาติ

ดังนั้น การหยิบยกลักษณะนิสัยของคนบางกลุ่มขึ้นมาเป็นตัวแทนนิสัยคนแต่ละเจเนอเรชันทั่วโลก จึงแทบเป็นไปไม่ได้เช่นเดียวกัน

 

5.เจเนอเรชันฉายภาพเพียงคนชั้นกลาง และมองข้ามความเหลื่อมล้ำ

ในงานเขียนของ Jonathan White ระบุว่า คนที่มีลักษณะเป็นตัวแทนคนแต่ละเจเนอเรชัน มักเป็นชนชั้นกลางผู้มีอันจะกิน เช่น เจนฯ Baby Boomer ที่เชื่อกันว่ามั่งคั่ง เห็นแก่ผลประโยชน์จนก่อปัญหาให้แก่ลูกหลานนั้น ในความเป็นจริงแล้ว มีคนเจนฯ Baby Boomer ไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำที่ร่ำรวย หรือมีอำนาจทางการเมืองมากพอจะสร้างผลกระทบสืบเนื่องถึงยุคหลัง

ขณะเดียวกัน ข้อเท็จจริงที่ Palmer H Muntz อาจารย์ในมหาวิทยาลัย Lincoln Christian รัฐอิลลินอยส์ สังเกตเห็นจากการไปเยี่ยมเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษาว่า พวกเขาไม่ได้คร่ำเครียดกับเกรดหรือการวางแผนในชีวิตตามลักษณะของเด็กเจนฯ Y และ Fred A Bonner II อาจารย์มหาวิทยาลัย Prairie View A & M ในรัฐเท็กซัส ซึ่งกล่าวว่า เขาไม่พบลักษณะของเด็กเจนฯ Y หลายประการในตัวลูกศิษย์ผิวสี ศิษย์ชาว Hispanic ไปจนถึงเด็กยากจน ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าแนวคิดเจเนอเรชันไม่ได้สนปัจจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำ หรือกลุ่มคนชาติพันธุ์อื่นนอกจากชนผิวขาว

ดังนั้น ถ้าเราหันมามองเด็กเจนฯ Z หรือ Alpha ใกล้ตัว ที่ถูกทำนายกันว่าเป็น ‘Digital Native Generation’ ก็คงเรียกได้ว่าไม่จริงสำหรับกลุ่มเด็กยากไร้ที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหมือนชนชั้นกลางหรือชนชั้นนำ

 

6.เจเนอเรชันยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือมารองรับ

ถึงแม้จะมีงานวิจัยหลายชิ้นที่สร้างขึ้นเพื่อหวังศึกษาและยืนยันแนวคิดเรื่องเจเนอเรชัน แต่งานเหล่านั้นกลับไม่มีน้ำหนักมากพอจะอธิบายเจเนอเรชันในแง่วิทยาศาสตร์ ซ้ำยังอาจเป็นการอธิบายปัจจัยอื่นที่หนักแน่นกว่าเจเนอเรชันไปโดยไม่รู้ตัว

ตัวอย่างเช่น งานวิจัยเรื่อง “Generational Differences in Work-Related Attitudes: A Meta-analysis” ในปี 2012 พยายามอธิบายว่าคนเจนฯ Y ไม่ค่อยพอใจกับงานที่ทำอยู่เท่าคนเจนฯ X ผ่านการแสดงคะแนนความพึงพอใจต่องานที่ต่ำกว่าของคนเจนฯ Y

งานชิ้นนี้ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ความพึงพอใจต่องานมักแปรผันตามอายุคน มากกว่าขึ้นอยู่กับเจเนอเรชัน เพราะคนวัยรุ่นมักมีแนวโน้มย้ายงานบ่อยกว่าคนแก่กว่าและทำงานมานานกว่าจนมีความมั่นคงพอสมควรเป็นธรรมดา ถ้างานชิ้นนี้สำรวจคนเจนฯ X เทียบกับ Baby Boomer ก็คงได้ผลว่าคนเจนฯ X พึงพอใจกับงานน้อยกว่า Baby Boomer เช่นกัน

และในขณะที่หลายคนลงความเห็นว่าคนเจนฯ Y เป็นพวกหลงตัวเอง (narcissism) จนเกิดหนังสือและบทความนิยามพวกเขาว่าเป็น ‘ME Generation’ อย่างแพร่หลาย งานวิจัยเรื่อง “The Narcissism Epidemic Is Dead; Long Live the Narcissism Epidemic” ในปี 2017 กลับชี้ให้เห็นว่าคนเจนฯ Y มีแนวโน้มหลงตัวเองน้อยกว่าคนเจนฯ ก่อนๆ เสียอีก และถ้าพวกเขาจะหลงตัวเองก็คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะไม่ว่าใครๆ ต่างก็ใส่ใจเรื่องรูปลักษณ์ ภาพพจน์ของตนเองในสมัยยังหนุ่มสาวทั้งนั้น ไม่เว้นกระทั่งคนเจนฯ Baby Boomer หรือ เจนฯ X นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างที่เป็นผลจากช่วงอายุ ไม่ใช่เจเนอเรชัน

ในบทความเว็บไซต์ SLATE ยังอ้างอิงถึงงานวิจัยอีกชิ้น ซึ่งระบุว่าคนเจนฯ Y มีความภาคภูมิใจที่ได้เข้าร่วมกับกองทัพมากกว่าเจนฯ X หรือ Baby Boomer เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว งานชิ้นนี้ก็ถูกตั้งคำถามว่าเป็นผลจากเหตุการณ์ 9/11 ทำให้คนตื่นตัวขึ้น และเพิ่มความน่ายกย่องแก่อาชีพทหารมากขึ้น ไม่เกี่ยวข้องกับเจเนอเรชันแต่อย่างใด

 

7.ระเบียบวิธีวิจัยเรื่องเจเนอเรชันยังไม่แม่นยำ

วิธีการทำวิจัยเกี่ยวกับเจเนอเรชันในปัจจุบันสามารถทำได้โดยรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มคนหลายเจนฯ ในช่วงเวลาหนึ่งเป็นตัวตั้งต้น และเก็บข้อมูลจากกลุ่มคนชุดเดิมอีกครั้งหลังเวลาผ่านไปอย่างน้อยปีละหน เพื่อเปรียบเทียบบุคลิกลักษณะเฉพาะตัวของคนแต่ละกลุ่ม

วิธีดังกล่าวนอกจากต้องใช้ตัวแทนประชากรที่ดีและหลากหลายเพื่อให้ครอบคลุมคนทั้งเจนฯ ต้องใช้เวลานานเพื่อสร้างข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ยังมีปัญหาสำคัญที่การจำแนกว่า การกระทำและความคิดเห็นของคนเรา เป็นผลจากเจเนอเรชัน หรือเป็นผลจากอายุ (age effect) และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม (period effect) ตามที่ได้ตั้งข้อสังเกตจากงานวิจัยหลายชิ้นก่อนหน้านี้

แม้ว่าจะมีการใช้วิธีเชิงสถิติหลายแบบ เช่น Analysis of Variance (ANOVA) Cross-Temporal Meta-Analysis (CTMA) และ Cross-Classified Hierarchical Linear Modeling (CCHLM) เข้ามาประยุกต์ในการศึกษาวิจัย ก็ยังเจอปัญหาว่าไม่สามารถแยกปัจจัยด้าน ‘เจเนอเรชัน-อายุ-เหตุการณ์’ ออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด ทั้งหมดมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน จนไม่อาจระบุได้ชัดเจนว่าเป็นผลจากเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงประการเดียว

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อใช้วิธีคำนวณทางสถิติกับชุดข้อมูลเดียวกันแตกต่างกัน ยังให้ผลลัพธ์ต่างกันอีกด้วย ในบทความเรื่อง “A Review of Analytical Methods Used to Study Generational Differences: Strengths and Limitations” แสดงตัวอย่างงานวิจัยหนึ่งเกี่ยวกับความพึงพอใจต่องานของตน พบว่า เมื่อใช้การวิเคราะห์ข้อมูลแบบ ANOVAs ได้ผลว่าคนเจนฯ Y พึงพอใจต่ำสุด แต่ถ้าใช้ CTMAs กลับได้ผลว่าคนเจนฯ Y กับคนเจนฯ X พึงพอใจต่ำสุดสลับกันไป ส่วนวิธีแบบ CCHLM นั้น กลับไม่บ่งบอกว่าคนกลุ่มใดพึงพอใจต่ำแบบมีนัยสำคัญ ผลของงานวิจัยด้านเจเนอเรชันจึงดูไม่แน่นอน และพลิกแพลงไปได้เสมอขึ้นอยู่กับวิธีการ

 

แม้การมองโลกแบบเจเนอเรชันอาจทำให้เราเข้าใจปัญหาและเรื่องราวภายใน ‘บ้าน’ ได้รวดเร็วและง่ายดาย แต่ในขณะเดียวกัน เราเองก็ควรมองเห็นจุดอ่อนของแนวคิดนี้ไปพร้อมๆ กัน

เพราะสุดท้ายแล้ว เส้นแบ่งความเหมือนและความต่างระหว่างเจนอาจบางมากกว่าที่เราคิด อีกทั้งยังเลื่อนไหลไปมา

ที่สำคัญคือ ไม่ว่าจะเกิดเรื่องราวแบบไหน หรือความสัมพันธ์ในบ้านจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร อย่างน้อยคนทุกเจนฯ ต่างก็เป็น ‘คนในครอบครัว’ ไม่แตกต่างกัน

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save