fbpx

เพื่อนแท้ไม่มีขาย แต่ถ้ามีเพื่อนหลากหลายโลกจะกว้างขึ้น

‘ผ่านการเลี้ยงดูมาแบบไหนก็จะเป็นคนแบบนั้น’ 

ประโยคนี้ไม่ได้อธิบายแค่การอยู่กับพ่อแม่หรือครอบครัว แต่หมายรวมถึง ‘สังคม’ ที่มนุษย์คนหนึ่งเข้าไปสานสัมพันธ์ เรียนรู้ เติบโต และหนึ่งในนั้นอาจจะเป็น ‘เพื่อน’ ที่ร่วมสร้างให้คนคนหนึ่งโตขึ้นด้วย

พูดอย่างตรงไปตรงมา ‘เพื่อน’ ในวัยเด็กก็เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อร่างสร้างตัวตนของเราไม่น้อย เราได้ลองผิดลองถูกกับความสัมพันธ์ ผ่านการแตกหัก แตกสลาย ซ่อมแซมสายสัมพันธ์กับเพื่อน และเมื่อมนุษย์ปฏิสัมพันธ์กันผ่านเหตุการณ์ต่างๆ แล้ว ย่อมมีช่วงเวลาแบ่งปันตัวตนด้านหนึ่งของเราให้กับอีกคน และเราก็รับตัวตนอีกด้านของเพื่อนมาอยู่กับเราด้วย 

แต่ ‘ความเป็นเพื่อน’ ไม่ใช่แค่การเรียนรู้ที่จะบริหารอำนาจทางความสัมพันธ์ แต่ยังเป็นการทำความเข้าใจพื้นที่ทางสังคมว่า มีคนอื่นๆ ที่มีพื้นฐานครอบครัวและบริบทชีวิตที่ไม่เหมือนกับตัวเรา โลกของเราจึงขยายออกไปกว้างขึ้น

จากข้อมูลการสำรวจเยาวชน 2022 โดย 101PUB พบว่า เด็กที่มีเพื่อนภูมิหลังต่างกันช่วยให้พวกเขาได้เรียนรู้ที่จะเข้าอกเข้าใจกัน และกลุ่มเยาวชนที่มีเพื่อนสนิทต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะสนใจประเด็นสังคม เช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพและความเหลื่อมล้ำในสังคม มากกว่ากลุ่มเยาวชนที่ไม่มีเพื่อนสนิทต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยจากต่างประเทศพบว่า เมื่อเด็กต้นทุนในชีวิตน้อยได้เป็นเพื่อนกับเด็กที่มีต้นทุนชีวิตสูงกว่าช่วยผลักให้พวกเขามีสถานะทางสังคมสูงขึ้น และมีโอกาสที่จะเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้นตามไปด้วย

101 สนทนากับสามบุคคลที่เคยมีประสบการณ์พบเจอเพื่อนหลากหลายจากการเรียนในโรงเรียนประจำจังหวัด เนื่องจากโรงเรียนเหล่านี้เป็นที่ต้องการของกลุ่มคนที่มีสถานะสูงในสังคมต่างจังหวัด และยังเปิดรับเด็กในเขตการศึกษา ซึ่งอาจมีต้นทุนทางสังคมน้อยได้เข้ามาเรียน ทำให้คนต่างชนชั้นมีโอกาสที่จะมาเจอกันมากที่สุด เมื่อเทียบกับโรงเรียนเอกชนหรือโรงเรียนรัฐขนาดกลางและขนาดเล็กในต่างอำเภอ

“เมื่อเห็นว่าครอบครัวเพื่อนไม่มีเงิน จึงเข้าใจว่าสังคมมีความเหลื่อมล้ำสูง”

‘เพนต์’ ในฐานะของ ‘เด็ก gap year’ เธอเพิ่งเรียนจบชั้นมัธยมฯ จากโรงเรียนประจำจังหวัดแพร่ แม้ที่นี่ไม่ใช่จังหวัดใหญ่มาก แต่มีโรงเรียนประจำจังหวัดที่เป็นนิยมของคนแพร่ แต่เพนต์บอกว่า มีบ้างที่เพื่อนบางคนเลือกไปเรียนเชียงใหม่ หรือจังหวัดใหญ่ในภาคเหนือ เพราะมีโรงเรียนที่ทำให้เข้าถึงการศึกษาคุณภาพได้มากขึ้น แต่สำหรับเพนต์เลือกสอบเข้าโรงเรียนประจำจังหวัดในแพร่

“ตอนเข้ามาเรียนเจอคัลเจอร์ช็อกมากเลย เพราะเพนต์เรียนโรงเรียนเอกชนตอนประถมฯ เราจะคุ้นเคยกับเพื่อนเรียบร้อย เพื่อนจะมีลักษณะคล้ายๆ กัน ไม่ค่อยคุยกันในห้อง ตอนเรียนก็เงียบมากๆ ไม่มีใครพูดคำหยาบ แล้วโรงเรียนจะมีกฎระเบียบเข้มข้นมาก ถ้าไปเรียนต้องต่อแถวเข้าห้อง”

“ตัดภาพมาตอนเข้าเรียน ม.1 ไม่มีใครต่อแถวเดินเข้าห้องแล้ว จะเรียนก็เดินเข้าห้องเลย แล้วเพื่อนหลากหลายฐานะ หลากหลายนิสัยมาก ไม่ได้เป็นแบบเดียวกันทั้งหมด และพูดคำหยาบกันเยอะมากๆ”

เพนต์ไม่ได้ติดใจหรือกังวลที่เพื่อนพูดคำหยาบ ในทางตรงข้ามเธอเข้าใจสังคมมากขึ้น และพยายามปรับตัวให้เข้ากันกับเพื่อนที่มีความหลากหลายมากกว่า

“นี่สินะสังคม โลกภายนอกที่ฉันต้องไปเผชิญ ตอนนั้นคิดกับตัวเองแบบนี้จริงๆ ถ้าเปรียบให้เห็นภาพเหมือนเราอยู่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนประถม แล้วพอขึ้นมัธยมเหมือนออกสู่นอกทะเลแล้ว”

สิ่งที่ทำให้เพนต์เจอความหลากหลายมากขึ้นคือการจัดห้องเรียน เมื่อเลื่อนชั้นปีจะมีการจัดห้องเรียนตามคะแนน ทำให้เธอเจอเพื่อนไม่ซ้ำกัน แม้ใจจริงเธออยากอยู่ห้องเดิมก็ตาม “แต่การอยู่ห้องอื่นๆ ก็เจอเพื่อนหลากหลายดี” เธอว่า

การได้เจอเพื่อนใหม่ๆ นี่เองที่ทำให้เธอเจอเหตุการณ์สำคัญในช่วง ม.2 เมื่อมีการลักขโมยเกิดขึ้นในห้องเรียนจนมีตำรวจเข้ามาสอบสวน

“ในห้องจะมีเพื่อนรวยมากคนหนึ่ง พกเงินมาโรงเรียนทีละหลายพัน แล้วเพื่อนคนที่ไม่มีเงินก็ขโมยเงินคนที่รวยมาก เหตุการณ์คือตำรวจมาที่ห้อง แล้วมารู้ความจริงว่า เขาไม่มีตังค์จ่ายค่าเทอมถึงต้องทำแบบนี้”

เพนต์ยอมรับว่าในวัย ม.2 การไกล่เกลี่ยสถานการณ์นี้เป็นเรื่องยาก แม้จะเข้าใจภาวะที่เพื่อนเจอได้ 

“เราก็สงสารเขา มันไม่ควรจะเกิดสถานการณ์ที่คนไม่มีเงินมาเรียนในสังคมนี้ แต่จริงๆ เขาก็ไม่ควรขโมย มีช่วงหนึ่งที่คนในห้องไม่โอเคกับเพื่อนคนนี้ไปเลย แต่ก็ต้องเข้าใจว่ามันคือวุฒิภาวะของเด็ก ม.2 แต่เราก็ค่อยๆ ไกล่เกลี่ยกันจนกลับมาเป็นเพื่อนกันได้ แต่แน่นอนว่าเพื่อนที่รวยแล้วโดนขโมยเงินก็ไม่ได้ลงรอยกัน มันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว แต่เข้าใจได้ เพราะถ้าใครโดนก็คงไม่โอเค”

ในขณะเดียวกัน การได้ย้ายห้องบ่อยๆ ทำให้เพนต์เจอเพื่อนสนิทในกลุ่มที่มีสถานะทางเศรษฐกิจน้อยกว่า เธอบอกว่าคบกันได้ เพราะ ‘เคมี’ ตรงกัน แต่ไม่ค่อยพูดคุยเรื่องที่บ้านกันตรงไปตรงมา เหมือนเป็น ‘มารยาท’ ที่จะไม่ละลาบละล้วงเรื่องส่วนตัวที่เพื่อนอาจจะไม่อยากเล่า 

“เพื่อนสู้ชีวิตมาก พ่อแม่เขาไม่ได้มีเงินซัพพอร์ต เขาต้องทำงาน  เพนต์ก็คิดเหมือนกันว่าอายุเท่านี้ทำไมต้องสู้ชีวิตขนาดนี้ ในขณะที่เสาร์-อาทิตย์ เพนต์และเพื่อนคนอื่นนอนเล่น ไถโทรศัพท์อยู่บ้าน แต่เพื่อนคนนี้ต้องไปช่วยพ่อแม่ขายของ หรือต้องขายของออนไลน์ คนอื่นคืออยากได้อะไรพ่อแม่จะให้ แต่เขาต้องเก็บเงินซื้อเอง มันรู้สึกได้ว่าสังคมเหลื่อมล้ำนะ”

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เพนต์เห็นชัดคือช่วงม.6 ทุกคนต้องติวกวดวิชาเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ ในขณะที่เพื่อนที่มีชนชั้นต่างกันต้องเก็บเงินซื้อหนังสือมาอ่านเอง

“ยิ่งตอนเรียน มีคนที่มีไอแพดกับคนไม่มี ยิ่งเห็นชัด คนมีไอแพดขอครู airdrop ไฟล์มาเปิดได้เลย คนไม่มีต้องวิ่งไปหลังห้องประชุมเพื่อปรินต์เอกสารมาอ่าน”

“เคยมีครั้งหนึ่งที่ครู airdrop ไฟล์อย่างเดียว เพนต์เลยชวนเพื่อนไปปรินต์เอกสารด้วยกัน เสียเงินก็ยอม เพราะครูแจกเป็นไฟล์อย่างเดียวเลย เราก็รู้สึกไม่โอเค”

ยังไม่รับรวมการเข้าถึงการศึกษาในช่วงมหาวิทยาลัยที่เพนต์มองว่ามีปัญหาความเหลื่อมล้ำตั้งแต่การสมัครสอบ “เพราะแค่ค่าสมัครก็ 1,700 บาทแล้ว คนไม่มีเงินจะหาจากตรงไหน” 

เธอยังเล่าด้วยว่า เพื่อนบางคนที่อยากเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่สอบได้ในกรุงเทพฯ ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะครอบครัวไม่มีเงินสนับสนุน จึงต้องตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัยในภาคเหนือแทน

“ทำไมต้องเกิดเหตุการณ์แบบนี้ สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามาก แค่เรื่องนี้ยังเหลื่อมล้ำ แล้วมันจะโยงไปเรื่องอื่นๆ” 

เพนต์บอกว่า เธอเข้าใจและเชื่อมโยงปัญหาที่เพื่อนเจอกับปัญหาในสังคมได้อย่างเห็นภาพขนาดนี้ อาจเพราะช่วง ม.4-ม.5 มีการเรียกร้องการเมืองในไทย ประกอบกับเกิดโควิด เมื่อรวมประสบการณ์หลายๆ อย่างในชีวิต ทำให้เพนต์เข้าใจปัญหาสังคมและบทบาทของรัฐมากขึ้น

“นโยบายของรัฐควรซัพพอร์ตด้านการศึกษามากขึ้น ไม่ให้มีเหลื่อมล้ำ คนต้องเข้าถึงการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและเสมอภาค” 

“เราอยู่กับเพื่อนรวยด้วยความสัมพันธ์แบบต่างตอบแทนกัน ทำให้ไม่มีใครมีอำนาจมากกว่าใคร”

‘เมฆ’ นิยามว่าตัวเองเป็นลูกครึ่งราชบุรี-อุบลฯ ตามเชื้อสายบ้านเกิดของพ่อแม่ และด้วยประสบการณ์ที่ได้ใช้ชีวิตวัยเด็กในสองจังหวัดนี้ ทำให้เขามองเห็นสังคมที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะผ่านการสร้างความสัมพันธ์กับ ‘เพื่อน’ ในโรงเรียน

“เราเรียนมาสี่โรงเรียน คือ ที่อุบลฯ สองโรงเรียน ที่ราชบุรีสองโรงเรียน โรงเรียนแรกที่เรียนในอุบลฯ คือโรงเรียนเอกชนใหญ่ในจังหวัด ส่นวใหญ่เด็กที่นี่ครอบครัวมีฐานะ พอเรียนถึง ป.3 พ่อแม่ตัดสินใจให้ย้ายโรงเรียน เพราะค่าเทอมแพง เปลี่ยนเข้าเรียนโรงเรียนรัฐแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เจอคัลเจอร์ช็อก เพราะตอนอยู่ที่โรงเรียนเอกชน เราอยู่ในบรรยากาศที่มีการจัดระเบียบไว้ดี ตึกจัดเป็นสัดส่วน พอมาโรงเรียนรัฐ ทุกอย่างยุ่งเหยิง มีหมาเต็มโรงเรียน ได้เห็นความหลากหลายของเพื่อน มีทั้งคนมีเงินและคนที่ขัดสน ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่ามีโรงเรียนอีกหลายแบบที่ไม่ใช่โรงเรียนบรรยากาศเนี้ยบแบบที่เคยเจอ” 

เมฆยอมรับว่าในวัยเยาว์ตัวเองมี ‘สายตาแบบเด็กๆ’ ที่มองภาพลักษณ์ในสังคมเพียงไม่กี่แบบ ทำให้เขามองเห็นความแตกต่างของเพื่อนที่โรงเรียนในอุบลฯ แตกต่างกับราชบุรีเมื่อเขาต้องย้ายเข้า ป.5 ที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในราชบุรี หลังจากพ่อแม่ตัดสินใจแยกทางกัน

“โรงเรียนที่เราย้ายไปเป็นโรงเรียนเอกชนที่ครอบครัวต้องมีตังค์ประมาณหนึ่ง เพื่อนก็สัมผัสถึงความแปลกแยกของเราได้ แต่สุดท้ายก็อยู่ด้วยกันได้นะ ในขณะเดียวกันโลกทัศน์วัยเด็กก็เปลี่ยนไปอีกครั้ง เพราะเจอลักษณะเด็กที่ต่างกับเพื่อนที่อุบลฯ เจอพ่อแม่เพื่อนแต่งตัวที่สื่อว่าเป็นคนมีฐานะ”

เมื่อเข้าสู่มัธยมฯ คนในจังหวัดราชบุรีมีค่านิยมที่ผลักดันให้ลูกหลานเข้าเรียนโรงเรียนดังประจำจังหวัด เนื่องจากเป็นสถาบันที่ก่อตั้งมากว่าหนึ่งศตวรรษ และถือกำเนิดตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เดิมทีครอบครัวข้าราชการจะส่งบุตรเข้าเรียนที่นี่ ทำให้เด็กส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางที่มีต้นทุนในสังคม 

“โรงเรียนนี้ถือว่าเป็นโรงเรียนฮอตฮิตของภูมิภาคก็ว่าได้ เพราะนอกจากคนในจังหวัดจะอยากให้ลูกมาเข้าเรียนแล้ว คนในจังหวัดใกล้เคียงก็อยากมาเรียนด้วย พวกเขาเชื่อว่านี่คือโรงเรียนที่ดีที่สุดในภูมิภาค ถ้าเราไปดูการจัดอันดับ 50 โรงเรียนดีในไทยที่ใช้วิธีวัดจากคะแนนโอเน็ตจะเห็นว่าโรงเรียนนี้ติดอันดับด้วย”

เมฆอธิบายว่า เมื่อสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพมีอย่างจำกัด และด้วยชื่อเสียงและค่านิยมของของคนในจังหวัด ทำให้คนทุกสถานะทางสังคมพยายามให้ลูกหลานเข้ามาเรียนที่นี่ แต่เมื่อเกิดการแข่งขันสูง ทำให้มีเพียงเด็กที่มีต้นทุนชีวิตจะสามารถสอบเข้าได้ อย่างไรก็ตาม โรงเรียนรัฐมีระบบการคัดเลือกเด็กใกล้บ้านและบ้านที่อยู่ในเขตการดูแลของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ ทำให้คนมักเรียกว่า ‘เด็กในเขต’ สามารถสมัครเข้าเรียนโรงเรียนชื่อดังด้วยระบบโควต้าได้ ซึ่งช่วยเพิ่มเปอร์เซ็นต์ของนักเรียนที่อาจจะไม่ได้มีต้นทุนทางเศรษฐกิจเข้ามาเรียนมากขึ้น

“พอมาเป็นโรงเรียนมัธยมฯ ก็ต่างจากโรงเรียนเอกชนตอนประถมฯ เราเจอเพื่อนตั้งแต่จนมากๆ ไปจนถึงรวยเวอร์ๆ เพราะโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนใหญ่มากและเป็นพื้นที่ที่เด็กหลายแบบมาเรียน สิ่งแรกที่เห็นถึงความแตกต่างและปฏิเสธไม่ได้คือ เสื้อผ้า หน้าตา ผิวพรรณ เริ่มสังเกตว่าเขามีเงินเข้าถึงกวดวิชา หรือมีเงินซื้อตำราบางอย่างเพิ่ม เห็นว่าคนสนใจอะไรหลากหลาย เพราะชมรมในโรงเรียนเยอะมาก”

แม้เมฆจะตระหนักรู้ว่าเพื่อนมีความหลากหลายมาก แต่นั่นไม่ใช่เงื่อนไขที่เขาเอามาคิดเรื่องการสานสัมพันธ์กับใคร 

“ตอนนั้นเงื่อนไขในการมีเพื่อนไม่ได้ถูกคัดกรองผ่านการมองเงินในกระเป๋า หรือผ่านรสนิยมในชีวิตเราขนาดนั้น เราเลยไม่ได้ความต่างนั้นมาเป็นเงื่อนไขในการเป็นเพื่อนกับใคร สิ่งหนึ่งที่คนพูดกันจนเป็นประโยคคลาสสิก คือ ‘ความเป็นเพื่อนที่เพียวที่สุดคือช่วงประถมฯ หรือมัธยมฯ’ เราก็ยังเห็นว่าสิ่งนี้เป็นข้อเท็จจริงและถูกต้องอยู่ เราเข้าหาเพื่อนด้วยความเปิดใจ คุยกันได้เพราะความสนุก มีเงื่อนไขน้อยกว่าตอนโตมากๆ แล้วเราไม่ได้สร้างพื้นที่ของตัวเองแบบคนเมืองเหมือนตอนเรามาอยู่กรุงเทพฯ ดังนั้น การเป็นเพื่อนตอนประถมฯ กับมัธยมฯ มันง่ายมาก”

นั่นทำให้เพื่อนในกลุ่มมัธยมฯ ของเมฆมาจากสถานะทางสังคมที่หลากหลาย ทั้งลูกเจ้าของธุรกิจใหญ่ในราชบุรี ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลาน ส.ส. ลูกข้าราชการ ลูกพ่อค้าแม่ค้า หรือลูกที่พ่อแม่แยกทางและต้องอาศัยอยู่กับย่า ลูกอาจารย์มหาวิทยาลัย ลูกเกษตรกร 

“แล้วเราเรียนศิลป์-ฝรั่งเศสที่มีเพื่อนในห้องหลากหลายมาก เรามีเพื่อนมีภาวะออทิสซึมด้วย”

เมื่อถามว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาดำเนินกันอย่างไร เมื่อต่างคนต่างเติบโตมาต่างกัน เมฆบอกว่า ด้วยราชบุรีเป็นจังหวัดเล็ก กิจกรรมที่ทำร่วมกันก็เกิดขึ้นตามประสาเด็กมัธยมฯ แบบง่ายๆ คือ กินหมูกะทะ เล่นกีฬา นัดเจอบ้านเพื่อนบ้าง

“อยู่ด้วยกันแล้วสนุก เด็กมันก็แค่นั้น แต่สิ่งที่ทำให้เราอยู่กลุ่มเดียวกันได้ เพราะเราต่างตอบแทนกัน คือในกลุ่มเราจะเป็นเด็กเนิร์ดที่เกเร คือเกเรแค่ไหน เราทำงานส่งครูตลอด ทีนี้เวลามีงานกลุ่ม เพื่อนจะมาขอให้เราเป็นหัวหน้ากลุ่ม เขาก็ไม่ได้ทำอะไรมากมาย แล้วเราก็เอาชื่อมาแปะไว้ เขาได้รับประโยชน์จากเราและเราได้รับประโยชน์จากเขา เพราะตอนไปเรียนเพื่อนที่รวยเอารถยนต์มารับไปเที่ยว เราจะได้เข้าไปถึงโลกของเพื่อน ไปปาร์ตี้ที่บ้านแล้วเจอญาติเขาที่รวยๆ มางาน แล้วที่งานมีอาหารหลายแบบที่บ้านเราคงไม่ทำกิน การเข้าไปบ้านเพื่อนที่รวยมันแฟนตาซีมากๆ เพราะมีที่ดินเยอะ มีบ้านทรงไทยหลังใหญ่ มีพื้นที่ที่เราไม่เคยได้เห็นมาก่อน”

การแลกเปลี่ยนเช่นนี้อาจทำให้เข้าใจได้ว่า เพื่อนของเมฆใช้ความรวยในการข่มให้พวกเขาต้องทำงานเพื่อแลกกับการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ หรือไม่ แต่เมฆบอกว่า ในความเป็นจริง ไม่ใช่ทุกครั้งที่เขายอมให้เพื่อนเข้ากลุ่ม หากงานไหนที่อยากหาคนช่วยเหลือ เมฆก็สามารถเลือกสมาชิกคนอื่นที่ตัวเองต้องการได้

“เรามีอำนาจในการตัดสินใจ ไม่มีใครมากดดันเรา หรือถ้าช่วงสอบ เราไม่พร้อมก็ไม่ติวให้ ถามว่ามีเคืองกันไหม มีอยู่แล้ว แต่มันเล็กๆ น้อยๆ มาก ดังนั้น ในทางหนึ่งเรามีอำนาจในการเลือกเหมือนกัน ของเราเป็นอำนาจในเชิงความรู้ เขาเป็นอำนาจในเชิงการเงิน เราต่างตอบแทนสิ่งนี้กัน”

แน่นอนว่าเพื่อนไม่ได้มีแค่อำนาจทางการเงิน แต่ยังมีอำนาจทางสังคม เนื่องจากชื่อต่อท้ายด้วยนามสกุลที่ใครๆ ก็รู้จัก เมื่อไปที่ไหนจึงเป็นที่สนใจของคน เมฆมองว่า ในฐานะมิตร พวกเขารับรู้ว่าเพื่อนมีอำนาจตรงนี้ และช่วยให้เพื่อนได้รับสิทธิพิเศษไปด้วย

“เราคิดว่าเรามีชีวิตที่สบายขึ้น เวลาเดินไปไหนมาไหน ถ้าคนอื่นสนใจเพื่อนคนนี้ พวกเราจะรู้สึกพิเศษขึ้น คือเราได้รับความเอื้อเฟื้อไปด้วย พอความป็อปปูลาร์เขาจะเผื่อแผ่มาสู่ในกลุ่ม เวลามีกิจกรรมอะไร เราจะไม่ถูกทอดทิ้ง และคนอื่นๆ จะให้ความร่วมมือง่ายขึ้น”

เมฆยังเล่าด้วยว่า ในขณะที่เพื่อนคนอื่นๆ ที่มีสถานะทางการเงินน้อยกว่าก็ยังได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนรวย และเขาคิดว่าเพื่อนมองเห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมจากการมีเพื่อนในกลุ่มที่มีต้นทุนน้อยกว่า

“ตอนเรียนมันให้เพื่อนคนอื่นยืมเงินเยอะ บางคนไม่คืนมันก็มีโกรธบ้าง ไม่ได้เหยียดคนอื่นด้วย และก็ยังเป็นเพื่อนกันอยู่ พูดจริงๆ ก็อาศัยความใจดีและเข้าใจถึงจะให้คนที่ไม่ได้มีสถานะเท่าคุณหยิบยืมเงินได้มากขนาดนี้ แต่ก็ใช่ว่าเพื่อนจะดีไปทุกอย่าง มันก็มีความย้อนแย้งอยู่ เช่น ไปบูลลี่เพื่อนที่เป็นออทิสซึม” 

“แล้วตอนนี้ ทุกคนแยกย้ายไปใช้ชีวิตแล้ว แต่จะมีเพื่อนในกลุ่มคนหนึ่งที่เป็นลูกข้าราชการเล็กๆ ของจังหวัด ยังคงไปไหนมาไหนด้วยกันอยู่ เพราะเขายังมีประโยชน์ในความสัมพันธ์ต่อกันอยู่ เพื่อนคนรวยก็รู้สึกหลงทาง เพราะรู้สึกไม่มีใครจริงใจกับเขา แล้วพอเรียกเพื่อนที่เป็นลูกข้าราชการคนนี้ไปหา มันก็จะไปตลอด ในขณะที่เพื่อนคนที่ไปหาก็มีส่วนร่วมในวงสังคมเดียวกัน ได้ติดต่อและคอนเน็กชันอื่นๆ ในวงสังคมนั้น หรือพอจะสร้างบ้านก็เรียกเพื่อนคนรวยมาช่วย ต่างก็แลกเปลี่ยนกัน”

“ส่วนเราไม่ได้สนิทกันกับเพื่อนกลุ่มนั้นแล้ว พอโตขึ้นเราก็ไม่ได้มีความสนใจตรงกันแล้ว แต่ติดต่อกันได้ ตอนเจอกัน เพื่อนที่รวยเคยบอกว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้กูเรียนจบมาได้เพราะมึงเอากูเข้ากลุ่มและมึงติวให้กู”

อย่างไรก็ตาม พวกเขายังคงติดต่อกันผ่านโซเชียลมีเดียบ้าง ซึ่งทำให้เมฆเห็นว่าเพื่อนรวยของเขาสนใจความเป็นไปของสังคม ผ่านการแชร์ข้อเรียกร้องทางการเมืองที่คนรุ่นใหม่ออกมาพูดคุยในสังคม

“เขาอาจจะไม่ได้อินเรื่องสิทธิเสรีภาพเท่าเรา แต่ว่าเขาเข้าใจว่าทำไมเราเรียกร้องสิ่งนี้ เขาเข้าใจว่าทำไมคนต้องการยุติธรรม จากประสบการณ์ที่รู้จักกัน เขาไม่ได้หยีคนจนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิหรือประชาธิปไตย แต่เขาไม่ได้มาออกแอ็กชันมาก เพราะเขาอยู่ในพื้นที่ที่สบายแล้ว” 

“การเห็นเพื่อนที่ไม่ได้มีต้นทุนชีวิต ทำให้เข้าใจว่าคนเรามีภาระไม่เหมือนกัน และเพื่อนเก่งมากที่สู้มาได้”

เช่นเดียวกับเมฆ ‘บุ๊ค’ เป็นคนจังหวัดอุบลฯ ที่ผ่านการเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษประจำจังหวัด ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ก่อตั้งในยุครัชกาลที่ 6 และเป็นโรงเรียนที่ข้าราชการ นักการเมืองท้องถิ่น  ส.ส., ไปจนถึงเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ส่งลูกหลานเข้ามาเรียน โดยระบบโรงเรียนมีโควต้าเด็กในเขตและโควต้าเด็กความสามารถพิเศษ ทำให้มีคนหลากหลายเข้ามาเรียนที่นี่เช่นเดียวกัน

บุ๊คบอกว่าเธอเป็นลูกพนักงานประจำในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งได้รับรายได้ต่อเนื่องและครอบครัวพร้อมสนับสนุนเธอ แม้ไม่ใช่ทุกด้าน แต่ก็มีเงื่อนไขน้อย ในขณะที่เพื่อนในกลุ่มมาจากครอบครัวข้าราชการ พ่อค้าแม่ค้า หรือบางคนก็มาจากต่างอำเภอ และเธอยังมีเพื่อนต่างห้องที่รู้จักกันผ่านเพื่อนของเพื่อน ซึ่งหลายคนมีฐานะทางสังคมและการเงินอย่างมาก

“อย่างมีเพื่อนคนหนึ่งที่สนิทกันมากตอนนี้ เมื่อก่อนตอนเรียนมัธยมฯ อยู่คนละห้อง เพื่อนอยู่ห้องพิเศษที่ต้องจ่ายค่าเทอมสูง แต่ก็รู้จักกันต่อมาเป็นทอดๆ เพราะเป็นเพื่อนกับเพื่อนเราตอน ม.ต้นอีกที ซึ่งทุกวันนี้ก็ไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด” 

“ตอนนั้นก็พอรู้ว่าบ้านใครเป็นยังไง แต่ก็ไม่ได้สนใจเอามาเป็นเงื่อนไขในการคบหาเพื่อนมาก ตอนเด็กก็คบกันไป ไม่ได้คิดว่าใครบ้านรวย บ้านใครขัดสนเลย” เธอให้คำตอบก่อนจะเว้นจังหวะนึกคิด “จริงๆ เราน่าจะคบกันได้เพราะเราศีลเสมอกันนะ” 

บุ๊คยกตัวอย่างกิจกรรมง่ายๆ ที่เธอกับเพื่อนต่างชนชั้นไปไหนมาไหนด้วยกัน อย่างการทานอาหาร “เราก็ไปร้านเดียวกันได้นะ เพื่อนก็ไม่เคยชวนไปไหนที่เราจ่ายไม่ไหว หรือเพื่อนก็ไปร้านที่ตั้งอยู่ฟุตพาธกับเราได้ ไม่เคยเกี่ยงว่ามันไม่สะอาดหรืออะไร ขอแค่อร่อยพอ” 

เธอตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วอุบลฯ เป็นจังหวัดที่ไม่ได้มีสถานที่ให้ใช้จ่ายเงินมากเท่ากับกรุงเทพฯ ร้านอาหารหลายร้านมีราคาและลักษณะใกล้เคียงกัน มีบางร้านที่ราคาสูงเกินกว่าเด็กวัยมัธยมฯ จะจ่ายได้ แต่เพื่อนที่มีเงินมากก็ไม่เคยชวนไปร้านนั้น ทำให้ในกลุ่มเพื่อนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่ต่างกันสามารถไปใช้ชีวิตด้วยกันได้

“หรืออย่างไปไหนมาไหนกับเพื่อนในกลุ่มที่อาจจะมีเงื่อนไขทางการเงินมากกว่า ก็ไม่ได้รู้สึกว่าพวกเราแตกต่างกัน มันโตมาด้วยกัน สิบโมงไปปีนรั้วหลังโรงเรียนซื้อขนมกิน เที่ยงก็กินข้าวที่โรงอาหารแบบเดียวกัน เย็นก็เดินไปซื้อของกินหน้าโรงเรียน สภาพแวดล้อมโรงเรียนก็เป็นแบบนี้ ไม่ว่าจะลูกคนมีเงินหรือไม่มีเงินก็ใช้ชีวิตคล้ายๆ กัน นี่คือเหตุผลที่บอกว่าทำไมตอนนั้นไม่ได้นึกเรื่องรวย-จนเลย แม้จะรู้ว่าที่บ้านเพื่อนต่างกับเรา” 

แม้วัยเรียนจะใช้ชีวิตคล้ายกันอย่างไร แต่เมื่อโตขึ้น เธอเริ่มตระหนักได้ว่าเพื่อนหลายคนมีภาระที่ต้องรับผิดชอบต่างจากเธอ จุดนั้นเองที่ทำให้บุ๊คเริ่มคิดได้ว่าตัวเองมีฐานะทางเศรษฐกิจมากกว่าคนอื่น 

“เคยมีครั้งหนึ่งที่เพื่อนในกลุ่มพูดว่า ‘บ้านกูจนมากนะมึง’ เราถึงเพิ่งเข้าใจว่าเออว่ะ เพื่อนสู้มากๆ เริ่มจากขายของตั้งแต่เรียนม.ปลายจนเข้ามหา’ลัย ก็มีเงินผ่อนรถ ยังไม่ทันเรียนจบผ่อนเสร็จแล้ว ในขณะที่แม่ซื้อรถให้เรา ตอนนี้เรียนจบเพื่อนซื้อบ้าน ซึ่งมันเป็นหนี้ระยะยาวมากๆ ในขณะที่เราอยู่บ้านที่พ่อแม่ซื้อไว้แล้ว”

“แล้วมีเพื่อนหลายคนเลยที่ต้องแบกภาระในครอบครัว พอถึงวัยทำงานต้องส่งเงินไปให้ที่บ้าน บางคนผ่อนรถเดือนละเป็นหมื่นๆ พอเราได้รับรู้แล้วคิดว่าการผ่อนของราคาสูงๆ นี่หนักมากนะ แต่ก็เข้าใจว่ารถเป็นสิ่งจำเป็นในการใช้เดินทางไปทำงาน แล้วเพื่อนก็สู้มากๆ เก่งกันทุกคนเลย พอย้อนมามองตัวเอง เราตั้งคำถามนะว่า แล้วนี่เราทำอะไรอยู่” 

ในขณะเดียวกัน เธอก็ได้เห็นว่าเพื่อนรวยมีชีวิตที่สบายอีกแบบ เลือกทำอะไรได้ตามความสะดวกในจังหวะของชีวิต จะไปเรียนต่อ หรือเที่ยวต่างประเทศในเวลาไหนก็ได้ หรือสามารถเริ่มลงทุนทำธุรกิจส่วนตัวได้ง่ายๆ แต่ข้อสังเกตเหล่านี้ ไม่ได้หมายความว่าเธอรู้สึกถึงความเป็นอื่นในสถานะความเป็นเพื่อน และไม่ได้โกรธหรือยื่นบทลงโทษให้กับเพื่อนที่มีการเงินที่ดีกว่า แต่เธอเห็นว่าชีวิตคนเราต่างกัน 

คำถามคือ เมื่อมีประสบการณ์ที่เจอเพื่อนที่มีความหลากหลายแล้ว บุ๊คมองภาพรวมของสังคมอย่างไร เธอตอบด้วยการยกตัวอย่างว่า 

“เรามองเห็นความเหลื่อมล้ำนะ ยิ่งพอได้มาทำงานเป็นพนักงานธนาคารรัฐ ทำให้เจอคุณลุง คุณป้า คุณตา คุณยายมาเบิกเงินที่นี่ เราเลยเข้าใจคนกลุ่มนี้มากๆ เพราะเมื่อมีโครงการของรัฐ เช่น บัตรคนจน หรือเงินคนแก่ เงินจะเข้าในธนาคารนี้ เขาก็จะมาเปิดบัญชีกัน แต่จะไม่ทำบัตรเอทีเอ็ม เพราะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปี เงิน 200 เขาเอาไปกินข้าวดีกว่า”

“เคยมีวันหนึ่งที่ลุงเดินมาถามว่า เงินในบัญชีนี้มีเท่าไหร่ เราตอบว่า 50 บาท ลุงบอกว่าแล้วเบิกได้ไหม เราบอกว่า ได้เลย แต่น้ำตาจะไหล เราจะคิดตลอดว่าบ้านเราไม่มีสวัสดิการให้คนแก่บ้างเลยเหรอ เงินคนแก่ที่เขาได้กัน 600 เขาใช้กันทั้งเดือนเลยนะ”

เธอเห็นด้วยกับข้อคิดเห็นที่ว่าเมื่อได้เรียนที่เจอเพื่อนหลากหลาย ทำให้เธอเห็นอกเห็นใจคนในสังคมที่อาจจะมีรายได้น้อยกว่า แต่เธอก็ตั้งข้อสังเกตว่าส่วนหนึ่งเพราะตัวเองเป็นคนสะเทือนใจง่ายด้วย และไม่เคยถูกสอนให้ทำตัวเหนือคนอื่น

“มีวันหนึ่งที่ระหว่างเตรียมไปทำงานนั่งดูข่าวสรยุทธ แล้วมีวิดีโอภาพคุณป้านั่งรถจากระยองไปรอดูการโหวตนายกฯ แล้วพอพิธาไม่ได้ เขาก็ร้องไห้ ตอนนั้นเราจะร้องไห้ตามป้า คิดดูว่าป้านั่งรถไฟไกลมากเพื่อมาเจอกับความผิดหวัง แล้วป้าบอกว่า เงินจะไม่มีกินข้าวแล้ว เขาลำบากมากนะ อย่างเราเป็นลูกพนักงานรัฐวิสาหกิจ มีเงินเดือนประจำ ไม่ว่าจะโควิดหรือเศรษฐกิจเป็นยังไง แม่จะยังคงได้เงินเดือนตลอด ไม่ได้เดือดร้อนเลย แต่พอเห็นป้าร้องไห้ เราจะร้องไห้ ตอนนั้นแต่งหน้าอยู่ ต้องรีบปิดทีวีก่อนเลย” 

ในขณะเดียวกัน เธอก็เล่าประสบการณ์ที่เคยเจอจากเพื่อนรวยในช่วงมหาวิทยาลัยที่ไม่เข้าใจคนในสถานะอื่นของสังคม ทำให้เธอเห็นคนที่ใช้ชีวิตบนยอดพีระมิด โดยไม่สนใจคนอื่น และทำให้เธอไม่ได้ยุ่งกับคนกลุ่มนี้เลย

“เคยเจอนะ เพื่อนบางคนที่มองว่าคนจนคือคนที่ไม่สู้ หรือเห็นเพื่อนจนเรียนไม่ดี ก็บอกว่าเขาไม่พยายาม แต่เราตั้งคำถามว่า เพื่อนรวยมีรถขับมาเรียน ที่บ้านจ่ายค่าเทอมให้ มีเวลาไปอ่านหนังสือโดยไม่ต้องกังวลอะไร แต่รู้ไหมว่าคนจนที่อยู่ต่างอำเภอ ต่างจังหวัดกว่าเขาจะพยายามเข้ามาเรียนในตัวเมืองได้ เขาต้องทำอะไรบ้าง แล้วราคาค่าใช้จ่ายเยอะมาก ทั้งค่าหอ ค่าเทอม ค่าใช้ชีวิต ค่าเดินทาง”

“ลูกคนรวยมีโอกาสมากกว่าคนอื่น ไม่ต้องพยายามเท่าคนอื่น เขาอยู่บนยอดพีระมิดที่ไม่รู้อะไร ซึ่งเราคิดว่าพอเราอยู่ในจุดที่เรามองเห็นเพื่อนหลากหลาย ทำให้เห็นว่าเพื่อนพยายามกันมากๆ และเพื่อนเก่งมากกว่าจะผ่านอะไรต่างๆ มาได้ ทั้งๆ ที่มีเวลาน้อยกว่าเรา แต่เพื่อนก็ทำให้เต็มที่จนเรียนจบ เพื่อนสู้จริงๆ”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save