fbpx
ลงทุนการศึกษาปฐมวัยให้คุ้มค่า ต้องลงทุนกับกลุ่มเด็กด้อยโอกาส

ลงทุนการศึกษาปฐมวัยให้คุ้มค่า ต้องลงทุนกับกลุ่มเด็กด้อยโอกาส

ชลิตา จั่นประดับ เรื่อง

ณัฐพล อุปฮาด ภาพ

 

การศึกษาระดับปฐมวัยมีความสำคัญมาก ดังที่รู้กันว่าขั้นตอนการเกิดทักษะต่างๆ ในชีวิตมีความเป็นพลวัตและมีลักษณะต่อยอด เสริมสร้างกันและกันเมื่อเวลาผ่านไป ทักษะในปัจจุบันจะช่วยสร้างทักษะในอนาคต และทักษะใหม่ในอนาคตที่เกิดขึ้น อาจกลายเป็นภูมิปัญญาส่งต่อไปสู่รุ่นลูกหลาน (Intergenerational Impact) ดังนั้น การสร้างทักษะ องค์ความรู้อันเป็นพื้นฐานสำหรับการต่อยอดทักษะด้านต่างๆ ตั้งแต่วัยเริ่มแรกของชีวิต ย่อมเป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่ควรมองข้าม

ขณะเดียวกัน ในฐานะที่รัฐมีบทบาทสำคัญ เป็นผู้รวบรวมทรัพยากรเพื่อลงทุนด้านการศึกษาได้ดีที่สุด โจทย์เรื่องแนวทางสนับสนุนการศึกษาระดับปฐมวัยให้เกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่าต่อสังคมจึงเป็นประเด็นที่รัฐต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ว่าจะลงทุนกับกลุ่มไหน โดยวิธีใด

ข้อเสนอหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ คือ รัฐควรลงทุนด้านการศึกษาระดับปฐมวัยกับกลุ่มเด็กด้อยโอกาส บทความ Early Childhood Education: Quality and Access Pay Off ของ James J. Heckman ศาสตราจารย์วิชาเศรษฐศาสตร์ University of Chicago เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญในเศรษฐศาสตร์การพัฒนามนุษย์ พบว่า การจัดการศึกษาระดับปฐมวัยที่มีคุณภาพแก่เด็กเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลดีแค่กับตัวเด็กเท่านั้น แต่สังคมยังได้รับผลตอบแทนสูงจากการลงทุนลักษณะนี้อีกด้วย

Heckman และคณะวิจัยเริ่มต้นทำงานวิจัยด้วยการตั้งคำถามว่า โครงการจัดการศึกษาปฐมวัยแก่เด็กที่มีในอเมริกาก่อนหน้านี้มีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์หรือไม่ และรัฐควรเข้าไปช่วยสนับสนุนการศึกษาที่ว่านี้อย่างไร โดยใช้วิธีรวมรวมข้อมูลจากโครงการจัดการศึกษาปฐมวัยที่หลากหลาย เช่น โครงการ Head Start โครงการโรงเรียนอนุบาลของเขตพื้นที่ (State preschool programs) และโครงการโรงเรียนสาธิต (Demonstration programs) มาศึกษาวิเคราะห์เพื่อค้นหาคำตอบ

 

มอบการศึกษาปฐมวัยเจาะกลุ่มเด็กด้อยโอกาสโดยเฉพาะ

 

หนึ่งในประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากคือ ภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด รัฐควรลงทุนด้านการศึกษาอย่างไรจึงจะคุ้มค่าที่สุด

งานวิจัยพบว่า โครงการของรัฐที่จัดสรรการเข้าถึงศูนย์การศึกษาคุณภาพสูงแก่เด็กในครอบครัวด้อยโอกาสนั้นเป็นทางเลือกที่ดี ทำให้เด็กเหล่านี้มีแนวโน้มได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพมากกว่าการที่พวกเขาไม่ได้เข้าร่วมโครงการใดๆ เลย ทว่า ในทางกลับกัน สำหรับเด็กจากครอบครัวฐานะทางการเงินดี และสามารถเข้าถึงการศึกษาคุณภาพดีกว่าระดับที่รัฐจัดให้ การจัดโครงการเหล่านี้อาจส่งผลด้านลบต่อโอกาสทางการเรียนรู้ของเด็ก เนื่องจากพ่อแม่ที่ร่ำรวยอาจไม่เลือกลงทุนด้านการศึกษาแก่ลูกตามความสามารถทางการเงิน แต่เลือกส่งลูกเข้าโครงการของรัฐ ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้วอาจมีการศึกษาคุณภาพน้อยกว่าแทน

ข้อค้นพบนี้ทำให้ผู้กำหนดนโยบายต้องหันมาทบทวนการออกแบบนโยบายการศึกษาอีกครั้ง เพราะการสนับสนุนของรัฐต่อคนทุกกลุ่มอาจมีอิทธิพลต่อทางเลือกลงทุนด้านการศึกษาของผู้ที่มีโอกาสอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ภายใต้ข้อจำกัดทางด้านทรัพยากร ปัญหานี้อาจจะไม่ยากนัก ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายคือ รัฐควรเลือกใช้งบประมาณสนับสนุนกลุ่มเด็กด้อยโอกาสก่อน เพราะให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่า อีกทั้งยังไม่ส่งผลต่อทางเลือกของผู้มีโอกาสอยู่แล้ว

ดังนั้น หากผู้กำหนดนโยบายต้องการจัดสรรเงินสนับสนุนการศึกษาระดับปฐมวัย จึงควรใช้เกณฑ์ตรวจสอบรายได้และทรัพย์สินของแต่ละครัวเรือน (means-test) พิจารณามอบความช่วยเหลือที่เหมาะสมแก่เด็กด้อยโอกาสเป็นหลัก เพื่อการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับผลตอบแทนกลับคืนสู่สังคมคุ้มค่ากว่าการลงทุนจัดการศึกษาแก่เด็กทุกคน

 

ลงทุนกับคุณภาพการศึกษาปฐมวัยให้เต็มที่

 

นอกจากโอกาสการเข้าถึงการศึกษา สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือ คุณภาพของการศึกษาปฐมวัยในโครงการที่รัฐจัดให้ จากการศึกษาโครงการที่หลากหลายชี้ให้เห็นว่า ยิ่งโครงการมีคุณภาพเท่าใด ประสิทธิภาพที่เกิดแก่ผู้เรียนและสังคมก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก อย่างในโครงการที่ได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานคุณภาพระดับสูง เช่น โครงการ Perry Preschool (ซึ่่งเป็นโครงการทดลองให้การศึกษาคุณภาพสูงกับเด็กผิวดำวัย 3-4 ขวบในสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1962 – 1967) และโครงการ Abecedarian (โครงการทดลองให้เด็กด้อยโอกาสเรียนในโรงเรียนคุณภาพสูงของรัฐนอร์ท แคโนา ในช่วงปี 1972 – 1985) พบว่า ผลที่เกิดแก่เด็กด้อยโอกาสผู้เข้าร่วมโครงการในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมนั้น ดีกว่ากลุ่มเด็กที่ไม่ได้รับการศึกษาเลย

กระทั่งในโครงการที่มีคุณภาพการศึกษาลดลงมาอย่าง Head Start ผลลัพธ์ที่ได้ก็ยังนับว่าดีต่อตัวเด็กผู้ด้อยโอกาสและสังคม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ตัวอย่างผลลัพธ์ดังกล่าว ได้แก่ พัฒนาการด้านทักษะทางปัญญา เด็กที่ได้รับการศึกษาระดับปฐมวัยมี IQ เพิ่มขึ้นสูงกว่ากลุ่มไม่ได้รับการศึกษา และถึงแม้พัฒนาการนี้อาจปรากฏในเด็กแค่ระยะสั้น ก่อนค่อยๆ หายไปตามกาลเวลา แต่ทักษะอื่นๆ เช่น ทักษะทางพฤติกรรมและสุขภาพ จะคงอยู่ยาวนาน โดยจากการศึกษาของ Heckman พบว่า การศึกษาระดับปฐมวัยทำให้เกิดแรงกระตุ้นทางวิชาการ ทำให้เพิ่มโอกาสการถูกจ้างงานและประสบความสำเร็จในชีวิต ทั้งยังลดปัญหาทางพฤติกรรมการแสดงออก ซึ่งเชื่อมโยงกับโอกาสการว่างงาน ก่ออาชญากรรม และถูกจับกุมที่น้อยลง ยิ่งไปกว่านั้น ยังช่วยลดแนวโน้มการเกิดโรคอ้วนในกลุ่มอายุ 12 และ 13 ปี โรคซึมเศร้าและโรคอ้วนในกลุ่มอายุ 16 และ 17 ปี และลดอาชญากรรมในกลุ่มอายุ 20 และ 21 ปีอีกด้วย

ถึงแม้ว่าการลงทุนด้านการศึกษาปฐมวัยคุณภาพสูงในโครงการเหล่านี้อาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงตามมา ทว่า หากเรามองประสิทธิภาพของการศึกษาให้ไกลกว่าการมุ่งเน้นพัฒนาการด้านทักษะทางปัญญาในระยะสั้น และให้ความสำคัญกับทักษะทางพฤติกรรม สุขภาพ ที่ให้ผลยั่งยืนแก่ชีวิต ก็จะพบว่าการลงทุนนี้ได้รับผลตอบแทนแก่สังคมเกินคุ้ม  เพราะนอกจากการศึกษาที่มีคุณภาพสูงจะมอบประชากรคุณภาพแก่ประเทศแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายทางสังคม เช่น ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ กระบวนการยุติธรรม เป็นต้น

 

โดยสรุปแล้ว ถ้อยความที่ Heckman ต้องการสื่อผ่านงานวิจัยชิ้นนี้ไปสู่รัฐและสาธารณะ คือ การชี้ให้เห็นว่ากลุ่มคนด้อยโอกาสในสังคมควรได้รับความช่วยเหลือเรื่องการศึกษาปฐมวัยจากผู้กำหนดนโยบายมากที่สุด ขณะที่กลุ่มคนซึ่งแต่เดิมมีโอกาสด้านการศึกษาจากฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี ย่อมสามารถจัดหาทางเลือกดีที่สุดแก่ตนเองได้อยู่แล้ว รัฐจึงควรทุ่มงบประมาณ มุ่งจัดการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูงแก่เด็กด้อยโอกาส แทนการให้เงินสนับสนุนหรือจัดการศึกษาคุณภาพไม่สูงนักแก่ทุกคน เพื่อผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าต่อเศรษฐกิจและสังคม

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐควรระลึกอีกประการ คือ ความด้อยโอกาสนั้นอาจไม่สามารถนิยามได้แค่จากรายได้ในครัวเรือน แต่อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น เวลาที่ผู้ปกครองมีให้กับเด็ก และทรัพยากรที่พวกเขาสามารถจัดสรรให้กับลูกๆ สำหรับเสริมสร้างพัฒนาการ ซึ่งในปัจจุบัน ความกดดันจากสภาพเศรษฐกิจอาจบีบบังคับให้ผู้ปกครองฐานะปานกลางไปจนถึงยากจนต้องใช้เวลาทำงาน หารายได้มาจุนเจือครอบครัว จนห่างจากครอบครัวมากขึ้น ทำให้การนิยามคำว่าด้อยโอกาสนี้ รัฐอาจต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ ที่ส่งผลหล่อหลอมชีวิตวัยเยาว์ และมอบความช่วยเหลือเพื่อให้เด็กเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ ไม่มีใครตกหล่น

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save