fbpx
‘พื้นที่สุขภาวะ’ กับโลกยุคใหม่ : เปิดความคิด ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม

‘พื้นที่สุขภาวะ’ กับโลกยุคใหม่ : เปิดความคิด ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่องและภาพ

เมื่อพูดถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดี แน่นอนว่าหนึ่งในมิติที่ทุกคนให้ความสำคัญย่อมหนีไม่พ้นเรื่องสุขภาพ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ

ทว่าในโลกยุคใหม่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ ตึกสูงผุดขึ้นเรื่อยๆ ภายในเมืองซึ่งมีพื้นที่เท่าเดิม ต่างคนต่างอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง และปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นผ่านทางหน้าจอเป็นหลัก สิ่งแวดล้อมเช่นนี้ค่อยๆ บ่มเพาะพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยไม่รู้ตัว ทั้งสุขภาพทางกาย และสุขภาพทางจิต

คำถามที่น่าคิดคือ เราจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเหล่านี้ได้อย่างไร พื้นที่หรือโมเดลแบบไหนที่จะเข้ามาตอบโจทย์ด้านสุขภาพของคนยุคใหม่ โดยเฉพาะกับคนเมืองที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางมลภาวะรูปแบบต่างๆ

หนึ่งในองค์กรที่ร่วมทำงานดูแลเรื่องนี้ และน่าจะให้คำตอบกับเรื่องนี้ได้ คือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อ สสส.

101 มีโอกาสพูดคุยกับ ‘หมอไพโรจน์’ หรือ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. ผู้อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมสุขภาพต่างๆ มากมาย

หมอไพโรจน์เล่าว่าหนึ่งในภารกิจสำคัญที่ สสส. พยายามทำอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือการขยายแนวคิด ‘พื้นที่สุขภาวะ’ อันเป็นเสมือนพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน ที่ดึงดูดให้ผู้คนออกมาใช้สอยและทำกิจกรรมร่วมกัน โดยมีเป้าหมายหลักคือการ ‘ปรับพฤติกรรม’ ของผู้คนในโลกยุคใหม่ ซึ่งนับวันยิ่งมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บมากขึ้น จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

อย่างไรก็ดี มีหลายคำถามที่ชวนให้สงสัยต่อ เป็นต้นว่า พื้นที่สุขภาวะที่ว่านี้คืออะไร สามารถแก้ปัญหาด้านสุขภาพได้อย่างเป็นรูปธรรมแค่ไหน มีความสำคัญกับชุมชนและสังคมอย่างไร และความหวังที่ตั้งไว้กับความเป็นจริง สุดท้ายแล้วตรงกันหรือไม่

หาคำตอบได้ในบทสนทนาต่อไปนี้

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม

เล่าให้ฟังหน่อยว่างานที่คุณหมอทำอยู่ครอบคลุมส่วนไหนบ้าง แล้วเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า ‘พื้นที่สุขภาวะ’ อย่างไร

ผมทำงาน สสส. ชื่อเต็มๆ คือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เราดูทุกมิติของคำว่าสุขภาพ สุขภาพมี 4 มิติคือ กาย จิต ปัญญา และสังคม ซึ่งเรียกแบบรวมๆ ว่า ‘สุขภาวะ’ แต่กายเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นชัดที่สุด สิ่งที่ สสส. ทำคือการไปดูว่าการจะทำให้ร่างกายเราดี สังคมเราดี ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

เราพบว่ามีอยู่ 3-4 องค์ประกอบที่เราต้องทำ เช่น การควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างเหล้า บุหรี่ ที่ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม และนำมาซึ่งการเกิดอุบัติเหตุ สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยที่ต้องควบคุม ขณะเดียวกันสิ่งที่เราพยายามส่งเสริม คือเรื่องของอาหารการกินที่ถูกสุขลักษณะ รวมไปถึงการออกกำลังกาย ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่อง ‘พื้นที่สุขภาวะ’ ที่เรากำลังจะคุยกัน ถ้าพูดแบบกว้างๆ ก็หมายถึงพื้นที่ที่ช่วยส่งเสริมให้คนมีสุขภาวะที่ดี

ทั้งนี้ ต้องอธิบายก่อนว่า เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยใช้คำว่าออกกำลังกายแล้วนะครับ แต่เราใช้คำใหม่ว่า ‘กิจกรรมทางกาย’ มาจากภาษาอังกฤษว่า Physical Activities ซึ่งมีความหมายรวมตั้งแต่การขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว การเดิน การทำสันทนาการ ไปจนถึงการทำงาน ฉะนั้นการออกกำลังกายถือเป็นซับเซตหนึ่งของคำว่ากิจกรรมทางกาย

เมื่อพูดถึงการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เราก็คิดกันว่า ถ้าอยากจะให้คนมาขยับร่างกาย ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย มันมีกี่วิธี วิธีแรกก็คือบอกเขาตรงๆ เลย มาออกกำลังกายเถอะ จะเดิน จะวิ่ง หรือเล่นกีฬาอะไรก็ว่าไป  แต่แค่นี้มันไม่เพียงพอ เพราะจุดสำคัญคือ มันต้องมีพื้นที่ที่ส่งเสริมให้คนสามารถมีกิจกรรมทางกายได้ก่อน ให้เขาได้มาใช้ชีวิต มาขยับร่างกาย ซึ่งไม่ได้หมายถึงพื้นที่สำหรับออกกำลังกายนะ การออกกำลังกายเป็นส่วนที่ตามมา แต่มันต้องตั้งต้นจากการเป็นพื้นที่เพื่อใช้ชีวิตก่อน

ทีนี้พอเรามาทำ อันแรกที่คิดถึงแน่ๆ ก็คือสวนสาธารณะ ซึ่งเป็นแค่โมเดลหนึ่งเท่านั้น แต่นอกจากนั้นยังมีทางเดินทางเท้าต่างๆ ที่อยู่ในเมือง ในชุมชน ไปจนถึงลานกีฬา เหล่านี้คือพื้นที่สุขภาวะทั้งสิ้น ซึ่งโมเดลในการขับเคลื่อนพื้นที่เหล่านี้ก็มีหลายรูปแบบ ไม่ได้มีแค่รูปแบบเดียว ขึ้นอยู่กับว่าชุมชนนั้นๆ ต้องการพื้นที่แบบไหน

หมายความว่า การสร้างพื้นที่เหล่านี้มีความแตกต่างไป ตามลักษณะเฉพาะและความต้องการของคนในชุมชน   

ใช่ เพราะพื้นที่ประเทศไทยกว้างใหญ่ไพศาลมาก เราต้องเลือกตามลักษณะเฉพาะของพื้นที่ต่างๆ โดยเป้าหมายของเราคือ การทำพื้นที่เหล่านี้ให้เป็นตัวอย่าง เป็นต้นแบบเพื่อให้คนอื่นมาเรียนรู้ และนำไอเดียเหล่านี้ไปขยายต่อโดยใช้ระบบกลไกภาครัฐปกติ ที่เราทำกันอยู่ตอนนี้มีหลายโมเดล ในทีนี้ผมจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพกว้างๆ บางโมเดล

โมเดลแรกคือโครงการ ‘ย่านจีนถิ่นบางกอก’ ชุมชนเยาวราช ตรงนั้นมีมรดกวัฒนธรรมเก่าแก่ มีสถานที่ประวัติศาสตร์แอบซ่อนอยู่ในนั้นเต็มไปหมด เป็นชุมชนที่มีทางเดินเป็นตรอกซอกซอยเชื่อมถึงกันหมด สิ่งที่เราทำคือเข้าไปร่วมมือกับคนในชุมชน เพื่อปรับพื้นที่นี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ใช้การเดินเป็นหลัก คนที่ได้ประโยชน์ก็คือคนในชุมชน ส่วนนักท่องเที่ยวหรือคนนอกก็ได้เข้าไปสัมผัสกับชุมชน ได้เข้าถึงมรดกทางวัฒนธรรมที่ยังหลงเหลืออยู่

บางพื้นที่จากที่เดินไม่ได้ ก็กลายเป็นเดินได้ ซึ่งเราก็ใช้กระบวนการเดิม คือลงไปคลุกคลีกับชุมชน เพื่อแลกเปลี่ยนไอเดียและปรับความเข้าใจให้ตรงกันก่อน ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ลงไปบอกว่าจัดพื้นที่กัน แบบนั้นไม่มีทางทำได้

โมเดลต่อมาคือ สวนพื้นที่สุขภาวะและห้องสมุดกำแพง ชุมชนรุ่งฟ้า 36 เขตภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญมีพื้นที่รกร้างเยอะเลย หนึ่งในนั้นคือพื้นที่ด้านหลังชุมชนรุ่งฟ้า อยู่ด้านหลัง ม.สยาม ซึ่งเคยเป็นพื้นที่รกร้าง สำหรับทิ้งขยะ เราก็ไปคุยกับชาวบ้าน บอกว่าเปลี่ยนพื้นที่นี้เป็นสนามกีฬาได้ไหม ปลูกผักได้ไหม ทำให้เป็นสวน เป็นพื้นที่กลางให้คนมานั่งคุยกัน เล่นกีฬา ออกกำลังกาย ซึ่งอันนี้ได้สองเด้งเลย หนึ่งคือกำจัดสิ่งแวดล้อมที่สกปรก เป็นมลภาวะ สองคือเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ทำให้คนในชุมชนได้มาใช้สอยพื้นที่ร่วมกัน

แล้วพอตกลงกันได้ มันกลายเป็นโมเดลที่ดีว่า เราแทบจะไม่ต้องลงทุนอะไร ข้อแรกคือเขายกพื้นที่ให้เป็นสาธารณประโยชน์ คนในชุมชนเข้ามาช่วยกันสร้าง ช่วยกันดูแล ทำให้เขาเกิดความรู้สึกว่านี่คือพื้นที่ของเขา วินมอเตอร์ไซค์บอกเลยว่าเดี๋ยวเขาจะเป็นคนคอยดูเองว่าใครจะมาพ่นสี ส่วนชาวบ้านก็บอกว่าต้นไม้ไม่ต้องห่วง เดี๋ยวช่วยดูแลรดน้ำให้ สุดท้ายมันกลายเป็นพื้นที่ที่คนได้มาใช้จริง มีผู้สูงอายุมาออกกำลังกายตอนเช้าๆ ตอนเย็นเด็กๆ ก็มาวิ่งเล่น แล้วคนในชุมชนก็ช่วยกันสอดส่องดูแล

จากที่เล่ามา ผมอยากชี้ให้เห็นคอนเซ็ปต์ว่า การที่พื้นที่เหล่านี้เกิดขึ้นมาได้ แล้วใช้ประโยชน์ได้จริง เราตั้งต้นจากความต้องการของชุมชนก่อน แล้วจึงอาศัยความเชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อเข้าไปสร้างให้เกิดขึ้นจริง สสส.มีสถานะเป็นเหมือนเจ้าภาพเท่านั้น ในการเป็นแหล่งทุน คอยประสานชาวบ้าน นักวิชาการ และภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เข้ามาช่วยกันทำ มันถึงจะยั่งยืนและอยู่ได้

 

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม

จากโครงการต่างๆ ที่คุณหมอเล่ามา เห็นผลลัพธ์อะไรที่น่าสนใจและเป็นรูปธรรมบ้าง

สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือ หนึ่ง เรื่องสุขภาพ การมีพื้นที่แบบนี้ทำให้คนได้เดินเยอะขึ้น ได้ออกกำลังกายโดยอัตโนมัติเยอะขึ้น ซึ่งมองเผินๆ ก็อาจไม่มีผลอะไร แต่ในรายละเอียด แน่นอนว่ามันมีผลต่อหัวใจ หลอดเลือด โดยที่คนอาจจะไม่รู้ตัว

โรคที่ตอนนี้คนเป็นกันเยอะ คือโรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน มะเร็ง ซึ่งตัวชี้วัดเรื่องกิจกรรมทางกายที่เราพูดถึงในตอนแรก ของไทยตอนนี้อยู่ที่ 73 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้ายึดตามคำแนะนำ WHO ถือว่ายังไม่เพียงพอ เป้าที่เราตั้งไว้ตอนนี้คือ 80 เปอร์เซ็นต์ การเพิ่มพื้นที่สุขภาวะในแบบที่ผมเล่ามา เป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคตระกูลนี้ได้ ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการโปรโมทเรื่องการบริโภคอาหาร การควบคุมเหล้าบุหรี่ต่างๆ อย่างที่เกริ่นไป นั่นคือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นข้อแรก คือด้านสุขภาพ

สองคือเรื่องเศรษฐกิจ การมีพื้นที่แบบนี้เพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจโดยรอบพื้นที่นั้นๆ คึกคึกขึ้นโดยปริยาย เมื่อคนออกมาปฏิสัมพันธ์ ใช้สอยพื้นที่ร่วมกัน การค้าขายต่างๆ ก็เกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติ เกิดช่องทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่นั้นๆ ได้

สามคือเรื่องสังคม ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ พื้นที่แบบนี้ช่วยเพิ่มการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนด้วยกันเอง รวมถึงคนในชุมชนกับคนภายนอกโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะในยุคสมัยนี้ที่ต่างคนต่างมีโลกใบเล็กๆ ของตัวเองอยู่ในหน้าจอ การออกมาปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นมันน้อยลงอยู่แล้ว การมีพื้นที่แบบนี้มากขึ้นจะช่วยกระตุ้นให้คนออกมามีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกมากขึ้น

ขอถามต่อในส่วนของผลลัพธ์ด้านสุขภาพ การมีพื้นที่แบบนี้ในเมืองใหญ่ๆ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ แม้สวนสาธารณะบางแห่งจะมีต้นไม้เยอะ อากาศร่มรื่น แต่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง รายรอบด้วยถนนใหญ่ที่มีมลภาวะหนาแน่น จุดที่น่าคิดคือ คนที่รักสุขภาพ ซึ่งออกไปทำกิจกรรมทางกายในพื้นที่เหล่านี้ อาจไม่ทันตระหนักว่าอากาศที่สูดเข้าไปมีมลภาวะเจือปนมากน้อยแค่ไหน คุณหมอมองมุมนี้ยังไง เพราะสุดท้ายแล้วจากที่ควรจะเป็นผลดี อาจกลับกลายเป็นการทำลายสุขภาพโดยที่ไม่รู้ตัว

เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับต้นทุนสังคม รวมถึงบริบทในพื้นที่นั้นๆ ด้วย ฝรั่งอาจทำได้ และบางพื้นที่ก็ทำได้ดี สามารถสร้างสวนที่แยกออกไปได้เลย เพราะต้นทุนสังคมเขาเยอะมาก แต่ในส่วนของไทย หรือในหลายๆ พื้นที่ของกรุงเทพฯ เราต้องพยายามบริหารจัดการภายใต้ข้อจำกัดและทางเลือกที่เรามี

ผมยกตัวอย่างสวนลุมพินี ซึ่งอยู่กลางเมืองเหมือนกัน ผมจะเล่าประวัติศาสตร์ให้ฟังว่าสมัยก่อน สวนลุมรถยนต์ขับผ่านได้ ขายของได้หมดเลย แล้ววันดีคืนดีมีคนเสนอว่า น่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะให้เด็กวิ่งเล่นนะ ไม่ให้รถยนต์เข้ามาได้ไหม ก็มีการไปเจรจากับผู้ว่าฯ ตอนแรกผู้ว่าฯ ก็ไม่ยอม เพราะประชาชนบางส่วนค้าน คุยกันไปคุยกันมา ได้ข้อสรุปว่างั้นทดลองปิดก่อน ขอสามเดือน แล้วเดี๋ยวว่ากันอีกที ถ้าสามเดือนไม่เวิร์ค เปิดเหมือนเดิม

ผลปรากฏว่า สามเดือนที่ปิดไม่ให้รถยนต์เข้า ผลตอบรับดีมาก คนที่มาใช้ส่วนใหญ่บอกว่าดี เห็นด้วยที่สวนลุมจะเป็นแบบนี้ ตั้งแต่นั้นมาก็ยาวเลย มาจนถึงตอนนี้ก็สามสิบปีแล้ว นี่คือตัวอย่างของการใช้โอกาส ซึ่งเราไม่มีทางรู้หรอกว่าโอกาสจะเกิดตอนไหน แต่เราฉวยโอกาสที่จะลองพัฒนา แม้มันจะไม่ได้บริสุทธิ์ผุดผ่องร้อยเปอร์เซ็นต์ ถนนหนทางก็ยังอยู่ข้างนอก รถก็ยังติดเหมือนเดิม แต่เราสามารถจัดการกับพื้นที่ที่เรามีอยู่ได้ ต้นไม้เยอะๆ ปลูกเข้าไป จัดการสิ่งแวดล้อมให้มันดี ยังไงก็ช่วยได้ ดีกว่าไม่มีเลย ฉะนั้นโจทย์ที่ต้องตั้งไว้เมื่อพูดถึงการพัฒนาพื้นที่แบบนี้คือ จะทำยังไงให้มันเกิดขึ้นได้จริงภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ

แล้วในมุมกลับกัน การพัฒนาพื้นที่เหล่านี้ มีปัญหาอะไรที่ต้องเผชิญบ้าง

คำถามนี้ผมไม่มีคำตอบตายตัวนะ แต่ถามว่ามีมั้ย มีแน่นอน ซึ่งผมคิดว่าแบ่งได้เป็น 3 ปัจจัยใหญ่ๆ

หนึ่ง คือตัวพื้นที่เอง เวลาเรามองหาพื้นที่ที่จะเอามาพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลง มันค่อนข้างหายาก เพราะส่วนใหญ่แล้ว ทุกพื้นที่ย่อมมีเจ้าของ มีคนจับจองอยู่แล้ว เป็นของรัฐบ้าง ของเอกชนบ้าง ฉะนั้นการหาพื้นที่ที่เหมาะสมและสามารถทำได้จริง ถือเป็นโจทย์ที่ยากเหมือนกัน

สอง คือชุมชน อย่างที่บอกไปว่า การที่พื้นที่เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ และคงอยู่ได้ ชุมชนโดยรอบต้องเอาด้วย หลายที่ที่ประสบผลสำเร็จ เกิดจากการที่ชุมชนเห็นประโยชน์ แต่ถ้าเขารู้สึกว่ามีพื้นที่นี้แล้วจะทำให้เสียประโยชน์ หรือมองไม่เห็นประโยชน์ เขาไม่เอาด้วยนะ

สาม คือเรื่องนโยบาย พูดง่ายๆ ว่าต่อให้เราอยากทำแค่ไหน พร้อมแค่ไหน แต่ถ้านโยบายทางการเมือง หรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่เปิดทางให้ มันก็เคลื่อนไปลำบาก

ทั้งสามปัจจัยนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญมาก และต้องอาศัยการจัดการเพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่เราอยากทำ พูดง่ายๆ ว่าถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เอาด้วยนะ เสร็จเลย แต่ยังโชคดีอยู่บ้างที่ สสส. รวมถึงกลุ่มนักวิชาการที่มาช่วยเราทำงาน เขาตระหนักถึงปัจจัยเหล่านี้ดี ฉะนั้นเวลาจะทำอะไรสักอย่าง เราทำการบ้านกันพอสมควร ต้องมีข้อมูลทางวิชาการมาสนับสนุน ต้องลงไปสำรวจพื้นที่ เก็บข้อมูลทุกอย่าง เพื่อให้เราสามารถยืนยันและโน้มน้าวกับฝ่ายต่างๆ ได้ว่า สิ่งที่เราทำมันมีประโยชน์และสำคัญยังไง หลายโครงการที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้จึงเกิดขึ้นได้

การเข้าไปทำงานประสานกับชุมชนต่างๆ มีกระบวนการอย่างไร พอจะเล่าให้ฟังได้ไหม

ใช้กระบวนการกลุ่ม ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีการขัดแย้งในพื้นที่ กลุ่มหนึ่งเห็นด้วย อีกกลุ่มไม่เห็นด้วย เราก็เอาคนในพื้นที่ที่เราเคยคุยกับเขา เคยให้ความรู้เขา มาช่วยในการประสาน ทำความเข้าใจ เหมือนนักการเมืองหาเสียง หาแกนนำ แล้วเราก็ไปเวิร์คช็อป พูดคุย เห็นด้วยไม่เห็นด้วยอย่างไร อันไหนสอดคล้อง เกลี้ยกล่อมกันได้ ถ้าเห็นประโยชน์ร่วมกัน ก็ลุยเลย

แต่ถ้าพื้นที่ไหนมีความขัดแย้ง เราจะเคลียร์ความขัดแย้งนั้นให้เรียบร้อยก่อน ไม่ฝืน เคลียร์เสร็จแล้วค่อยทำงานกันทีหลัง เพราะถ้าไปฝืนทำงานภายใต้ความขัดแย้ง มันจะเครียด แล้วไม่ยั่งยืน แต่ข้อดีที่พบอยู่เสมอๆ คือเรามักจะเจอคนทำงานที่ active ในพื้นที่นั้นๆ ก็เลยทำให้คุยรู้เรื่อง ทำให้การทำงานง่ายขึ้น

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม

คุณหมอพูดถึงการใช้งานวิชาการมาสนับสนุน มีตัวอย่างหรือแง่มุมที่น่าสนใจไหม ในการทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้พื้นที่เหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง

นักวิชาการที่ทำงานด้านนี้มีหลายส่วน แต่ส่วนที่เราทำงานใกล้ชิดคือกลุ่มของสถาปัตย์ ซึ่งโดยส่วนตัวผมก็แปลกใจเหมือนกันว่า สถาปัตย์กับสุขภาวะมันเกี่ยวกันได้ยังไง

ในชีวิตนี้ ด้วยความที่คลุกคลีกับด้านการแพทย์มาตลอด ผมแทบไม่มีความเข้าใจด้านสถาปัตย์เลย คิดว่าสถาปัตย์คือการดีไซน์บ้าน ออกแบบสิ่งปลูกสร้างต่างๆ แค่นั้น แต่พอมาทำงานนี้ เฮ้ย การจัดการสิ่งแวดล้อมมันก็ต้องใช้องค์ความรู้ด้านสถาปัตย์นี่หว่า ซึ่งเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งเลยด้วยซ้ำ

หลักๆ ที่เราทำงานด้วยก็คือคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ  ซึ่งเขามีไอเดียเรื่องการพัฒนาพื้นที่เพื่อสุขภาวะอยู่แล้ว ก็เลยจูนความคิดกัน คุยกันปุ๊บ เคมีตรงกัน ความคิดตรงกัน ก็ทำงานด้วยกันเลย

ส่วนที่ช่วยเราได้มากคือการที่เขานำข้อมูลวิจัยที่มีอยู่แล้ว มาช่วยซับพอร์ท ขณะเดียวกันก็ช่วยพัฒนาพื้นที่ไปด้วย ตัวอย่างที่เห็นชัดคือโครงการ Goodwalk Thailand ที่พยายามส่งเสริมให้คนออกมาเดิน มีการจัดเก็บข้อมูลการเดิน หรือที่เรียกว่า Walking Index อย่างเป็นระบบ คนทั่วไปสามารถเข้าไปดูได้เลยว่า พื้นที่ไหนเหมาะแก่การเดินแค่ไหนอย่างไร และในแต่ละพื้นที่มีจุดเด่นหรือความน่าสนใจอย่างไร ตั้งแต่สถานที่ท่องเที่ยว อาหารการกิน ไปจนถึงไลฟ์สไตล์ในชุมชนนั้นๆ

         

พูดถึงเรื่องการใช้พื้นที่ มีสองส่วนใหญ่ๆ ที่ในช่วงหลังมานี้ มีการรณรงค์กันค่อนข้างเยอะ คือการเดิน กับการใช้จักรยาน คุณหมอมองว่าสองส่วนนี้ สามารถทำให้เป็นจริงได้ในบริบทสังคมไทยมากน้อยแค่ไหน

ถ้ามองในภาพรวม ผมคิดว่าทั้งสองส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนไทยอยู่แล้ว เราไม่ได้จะโปรโมทว่า ให้คนขี่จักรยานทั้งวัน หรือต้องเดินไปไหนมาไหนเท่านั้น ไม่ใช่ เราบอกให้คุณใช้ชีวิตตามปกตินั่นแหละ แต่ให้ลองตระหนักมากขึ้นว่า จริงๆ แล้วคุณสามารถใช้การเดินในชีวิตประจำวันมากขึ้นได้รึเปล่า การขี่จักรยานก็เหมือนกัน เราไม่ได้โปรโมทให้แข่งกีฬา เราโปรโมทให้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน นี่คือหลักการนะ แต่เวลาทำงานจริง เราแบ่งเป็นสองส่วนใหญ่ๆ

ส่วนแรกคือการเดิน สิ่งที่เราทำคือการพัฒนาพื้นที่ เก็บข้อมูล ทำแคมเปญต่างๆ ไป ใช้แอพพลิเคชั่นบ้าง เดี๋ยวนี้ภาคธุรกิจออกมาช่วยกันทำงานเยอะ ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมคนได้แบบทันทีทันใด แต่เราหวังว่ามันจะค่อยๆ เปลี่ยน mindset ของคนในสังคม พยายามโปรโมทว่าการเดินมันดียังไง แล้วเมืองที่เราอาศัยอยู่ จุดไหนที่เดินได้ แล้วมันน่าเดินยังไง

ประเทศไทยเราเคยเป็นเมืองที่เดินได้ งานศึกษาวิจัยต่างๆ ชี้เลยว่าเราคุ้นเคยกับการเดิน เราพึ่งมาเน้นการขับรถขับรากันเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง การเดินหนึ่งกิโลสำหรับคนสมัยก่อนเป็นเรื่องปกติมาก แต่พอสภาพสังคมเปลี่ยน วิถีชีวิตเปลี่ยน เกิดเป็นความเคยชิน พฤติกรรมก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปโดยไม่รู้ตัว

ส่วนที่สองคือเรื่องจักรยาน ซึ่งเราแบ่งเป็นสามกลุ่ม กลุ่มบนสุดคือกลุ่มที่เป็นนักแข่ง ขี่จักรยานในลักษณะของกีฬา มีอยู่ประมาณสักพันคน กลุ่มที่สองคือใส่ชุดสวยๆ ขี่ท่องเที่ยว มีประมาณหลักแสน ส่วนสุดท้ายคือฐานรากเลย ก็คือคนที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ขี่ชิลล์ๆ ไปซื้อของบ้าง ขี่ไปทำงานใกล้ๆ บ้าง กลุ่มนี้คือฐานใหญ่ซึ่งเราให้ความสำคัญที่สุด เพราะโจทย์ของเราคือทำยังไงให้จักรยานกลายเป็นวิถีชีวิต

หนึ่งต้องมีจักรยาน พูดง่ายๆ คือคนต้องเข้าถึงได้ จับต้องได้ ไม่แพง ซึ่งตรงนี้ไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่ จักรยานแม่บ้านที่คนทั่วไปใช้กันก็ราคาไม่สูงอยู่แล้ว ประเทศไทยก็ผลิตได้

อย่างที่สองคือเส้นทาง ซึ่งพอพูดถึงเรื่องนี้ทีไร ก็มีดราม่าเมื่อนั้น แต่ถ้าพูดในแง่หลักการ จะมีสองคอนเซ็ปต์ใหญ่ๆ คือเรื่องของการจัดสรร Bike lane จะอยู่ฝั่งซ้าย ฝั่งขวา หรือตรงกลาง ก็ว่ากันไป มันมีทฤษฎีอยู่ ของบ้านเราชิดริมเลย ถ้าของบางประเทศก็อยู่ตรงกลาง มีพื้นที่ให้รถจอดได้ อีกคอนเซ็ปต์คือ Share The Road คือการทำให้คนตระหนักว่า ถนนที่คุณใช้อยู่ มีจักรยานที่ร่วมทางอยู่ด้วย ฉะนั้นคุณต้องแชร์พื้นที่ให้เขาโดยอัตโนมัติ

สาม มีสวนสาธารณะที่มีเส้นทางสำหรับขี่จักรยานโดยเฉพาะ ส่วนนี้จะช่วยในแง่ของการออกกำลังกาย

ที่ว่ามาคือเรื่องของทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติ ถามว่าทำได้แค่ไหนอย่างไร คำตอบคือทำได้บ้างแล้ว หลายจังหวัดมีเส้นทางจักรยานแล้ว แล้วคนก็ใช้กันในชีวิตประจำวันจริงๆ บางจังหวัดมีสนามแข่งขันจักรยานเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งเกิดจากผู้ว่าฯ เห็นด้วย มีทรัพยากรพร้อม มีเส้นทางพร้อม ชุมชนสนับสนุน ก็เลยขีดสีตีเส้นได้

แต่อย่างกรุงเทพฯ คุณก็เห็นใช่ไหมว่ามี bike lane แต่ขี่ไม่ได้ คนเอารถมาจอดบ้าง ตั้งขายของกันบ้าง มอเตอร์ไซค์ลักไก่เข้ามาวิ่งบ้างอะไรบ้าง หรือบางพื้นที่ก็ไปทำถนนที่เหมาะกับการขับรถยนต์มากกว่า ไม่มีทางสำหรับขี่จักรยาน

ในเชิง technical เคสของกรุงเทพฯ ยังมีข้อจำกัดหลายเรื่อง เมืองที่ทำแล้วเวิร์คส่วนใหญ่จะเป็นเมืองเล็กๆ ที่คนใช้รถยนต์ไม่เยอะมาก มีเส้นทางที่สามารถทำได้ เหนืออื่นใดคือคนในชุมชนนั้นมองเห็นความสำคัญของเรื่องนี้

ในกรุงเทพฯ นี่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยใช่ไหม

กรุงเทพฯ ถือว่ายาก โดยเฉพาะในทางปฏิบัติ เพราะคนในพื้นที่เองก็ไม่ได้ตระหนักกันเท่าไหร่

ยกตัวอย่างๆ ง่าย อย่างตัวผมเอง เคยเก็บเงินไปซื้อจักรยานคันแรก ตอนนั้นจำได้เลย เป็นช่วงใกล้ปีใหม่ซื้อมาปุ๊บผมก็ลองใช้เลย ขับจากแถวสวนลุมมาทำงานที่ สสส. ระยะทางใกล้นิดเดียวเอง โอโห ลุ้นมากว่ากูจะโดนรถชนตายมั้ย (หัวเราะ) ตรงแยกวิทยุนี่น่ากลัวมาก ขี่ๆ ไปก็โดนเบียด เฉียดไปเฉียดมาตลอด วันเดียวเท่านั้นแหละ ผมพอเลย กลัวรถชน

แล้วถามว่าจะแก้ยังไง หนึ่ง ต้องสร้างการตระหนักรู้ สร้าง mindset ใหม่ คนขับรถยนต์กรุณารู้ด้วยว่าที่นี่มีคนขับจักรยาน เห็นจักรยานแล้วคุณจะขี่ห่างแค่ไหน อย่างไร ต้องทำเป็นแคมเปญออกไปเลย ให้ความรู้ผ่านสื่อเวลาขับรถควรจะห่างจากจักรยานกี่เมตร อะไรก็ว่าไป

ลองสังเกตว่าถ้าคนไหนที่ขับรถ แล้วเว้นระยะห่างจากจักรยานมากๆ ให้สันนิษฐานว่าคนขับรถคนนั้นเป็นคนขับจักรยานด้วย เขาถึงเข้าใจ ทุกวันนี้ผมก็เป็น เวลาขับรถก็พยายามเว้นระยะห่าง เพราะเราเข้าใจเขา รู้ว่ามันไม่ปลอดภัยเลย ไม่ว่าคุณจะขี่ไปซื้อของ หรือขี่ท่องเที่ยวชมเมืองก็ตาม เวลาผมเห็นจักรยานผมให้เกียรติสุดๆ (หัวเราะ)

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม

ในตอนต้น คุณหมอพูดถึงโรค NCDs ที่คนสมัยนี้เป็นกันเยอะ อยากให้ขยายความหน่อยว่ามันเป็นยังไง สาเหตุเกิดจากอะไร

ถ้าเป็นสมัยก่อน เมื่อพูดถึงโรคภัยไข้เจ็บ เราเจ็บจากเชื้อโรค ปอดบวม ไข้หวัด อะไรต่างๆ คนตายจากโรคพวกนี้กันเยอะ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ แล้วสมัยก่อนวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังไม่ทันสมัย ยาก็ยังไม่ดี ทำให้โรคบางโรคที่แอบแฝงอยู่ ตรวจหาไม่เจอ หรือรักษาไม่ได้

แต่ช่วงหลังๆ เมื่อเทคโนโลยีทางการแพทย์พัฒนาขึ้น โรคติดเชื้อเหล่านี้ก็ลดลง เพราะเรามีวัคซีน มียารักษา แต่ในทางกลับกัน โรคที่เคยเป็นโรคพื้นฐาน ประเภทที่เรียกว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เริ่มมีสัดส่วนเยอะขึ้น สาเหตุมาจากสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ประกอบกับพฤติกรรมของคน ตั้งแต่การกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ หวานมันเค็มเอย สูบบุหรี่กินเหล้าเอย พวกนี้ไม่ได้ป่วยจากเชื้อโรค แต่ป่วยจากพฤติกรรม แล้วจึงทำให้เกิดโรค ซึ่งสะท้อนออกมาประมาณ 4-5 โรคคือ เบาหวาน ความดัน ไขมัน มะเร็ง อย่างเบาหวานกับความดัน พอเป็นสักพัก ก็จะเริ่มเป็นโรคไต เป็นโรคสมองตามมา โรคเหล่านี้เราเรียกรวมกันว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง Non-Communicable Diseases หรือเวลาย่อ NCDs

กลุ่มโรคนี้แสดงให้เห็นว่า ถ้าคุณไม่เปลี่ยนพฤติกรรม โอกาสที่จะหายก็น้อยลง เพราะยามันรักษาแค่ปลายเหตุ เป็นเบาหวานก็รักษาเบาหวาน แต่ถ้าคุณไม่ออกกำลังกาย ถ้าคุณยังกินอาหารหวานมันเค็ม ถ้าคุณยังสูบบุหรี่กินเหล้าอยู่ ยังไงมันก็ต้องเป็นสักวันอยู่ดี

แล้วโรคกลุ่มนี้ในคนไทยนี่เพิ่มขึ้นสูงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเบาหวาน มะเร็ง หรือไขมัน ทุกโรคนี่ตัวเลขสูงขึ้นหมด เหนือกว่านั้นคือมันเป็นปัญหาที่ระดับโลกให้ความสำคัญมากในปัจจุบัน

ถ้าดูจากประวัติศาสตร์การทำงานขององค์การสหประชาชาติ หรือUN เคยลงมาจัดการกับโรคทางสาธารณสุขเพียงหนึ่งโรคเท่านั้นเองคือ โรคเอดส์ ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อ แล้วก็ไม่เคยพูดโรคอื่นเลย จนกระทั่งเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง ถึงมีการพูดถึงโรคที่สอง ก็คือโรค NCDs ที่เขาต้องพูดเพราะมันเป็นปัญหาระดับโลกจริงๆ ที่ UN ต้องลงมาจัดการ นี่คือการสะท้อนว่า NCDs เป็นปัญหาที่สำคัญมาก

ตอนนี้ในประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน

ถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เราได้ลำดับหนึ่งนะ โดยวัดจากการมีมาตรการต่างๆ ตามที่ WHO กำหนดไว้ ส่วนระดับโลกเราก็ถือว่าติดอันดับท็อปๆ

WHO เขาจะออกคำแนะนำมาเลยว่า ต้องมีกระบวนการจัดการอย่างไร ต้องออกกฎหมายประเภทไหน จัดการสิ่งแวดล้อมอย่างไร ซึ่งเราก็มาดูว่าประเทศเราทำอะไรไปแล้วบ้าง แล้วมีอะไรที่ยังไม่ได้ทำบ้าง ซึ่งเราก็ทำไปเยอะอยู่

แต่ถามว่าผลสุดท้ายแล้ว โรคจะลดลงแค่ไหน มันยังวัดผลไม่ได้ในตอนนี้ เพราะโรคที่เห็นตอนนี้มันเกิดจากพฤติกรรมที่เราเห็นเมื่อยี่สิบสามสิบปีที่แล้ว ไม่ได้หมายความว่าเราทำสิ่งแวดล้อมดีวันนี้จะลดเดี๋ยวนี้เลย มันต้องไปดูในอีกยี่สิบหรือสามสิบปีข้างหน้าว่าผมจะเป็นโรคพวกนี้ไหม ถ้าผมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตอนนี้ ฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือการทำตามมาตรการต่างๆ ให้ดีที่สุด โดยตั้งเป้าว่าโรคเหล่านี้จะลดลงเรื่อยๆ ในอนาคต

เอาเข้าจริงแล้ว สิ่งที่ สสส. ทำเกือบทั้งหมด แง่หนึ่งก็เพื่อตอบโจทย์เรื่องการลดโรค NCDs ด้วย ตั้งแต่การควบคุมเหล้า บุหรี่ การสร้างพื้นที่สุขภาวะ ไปจนถึงการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ทั้งหมดนี้มีจุดประสงค์เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมคนทั้งสิ้น

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save