fbpx
โลกมายาของ 'อาหารเสริม'

โลกมายาของ ‘อาหารเสริม’

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

ย้อนไปช่วง 2-3 เดือนก่อน เชื่อว่าผู้อ่านหลายคนคงจำข่าวใหญ่เรื่องการบุกทลายโกดังอาหารเสริม-ผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม รายใหญ่สองราย ที่ดำเนินการโดยผิดกฎหมาย เข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค พร้อมออกหมายจับผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายที่เกี่ยวข้อง

แม้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดกรณีแบบนี้ แต่นี่ถือเป็นกรณีใหญ่ที่ส่งผลสะเทือนกับผู้คนในวงกว้าง มีตัวอย่างของผู้บริโภคที่เสียชีวิตจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีหลักฐานชัดแจ้งถึงการ ‘สวม’ เครื่องหมาย อย. รวมถึงการตรวจพบส่วนผสมที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ยังไม่นับกลเม็ดในการโฆษณาและจัดจำหน่ายโดยใช้ดารา-เซเลป เป็นเครื่องมือ

หากมองในมุมผู้บริโภค บทเรียนสำคัญจากกรณีนี้ คือการตระหนักและรู้เท่าทันอันตรายที่อาจแฝงมากับผลิตภัณฑ์ ‘เพื่อสุขภาพ’ เหล่านี้ เช่นเดียวกับการใส่ใจหาข้อมูลความรู้ก่อนตัดสินใจซื้อหรือบริโภค

รายงานชิ้นนี้ ได้รวบรวมข้อมูลเบื้องลึกที่คนทั่วไปควรทราบ โดยอิงจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องและความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสลายมายาคติเดิมๆ ไปจนถึงความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารเสริม สินค้าสุขภาพที่กำลังมาแรงทว่าแฝงไปด้วยความไม่ชอบมาพากล

วิตามิน ยาบำรุง อาหารเสริม

: ฟองสบู่ลูกใหม่ในตลาดสินค้าสุขภาพ

หากพิจารณาภาพใหญ่ของการใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทย จะสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ค่ารักษาพยาบาล กับค่ายาและเวชภัณฑ์ ซึ่งครอบคลุมถึงอาหารเสริมและยาบำรุงต่างๆ ด้วย

ในงานวิจัยเรื่อง ‘การค้นหาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับรายจ่ายสุขภาพที่ประชาชนต้องจ่ายด้วยตนเองในประเทศไทย’ จัดทำโดย ทีมวิจัยของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) นำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจไว้หลายประการด้วยกัน อันสะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารเสริมประเภทต่างๆ อย่างมีนัยยะสำคัญ ดังนี้

ประการแรก นับตั้งแต่ประเทศไทยมี ‘ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่ารักษาพยาบาล โดยเฉพาะในโรงพยาบาลรัฐ ได้อย่างชัดเจน เช่นเดียวกับการลดจำนวนครัวเรือนที่ต้องประสบวิกฤตทางการเงินจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ทว่าสิ่งที่น่าแปลกใจคือ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยรวมของคนไทยซึ่งควรจะลดลง กลับไม่ได้ลดลงจากช่วงก่อนมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่าไหร่นัก

ประการที่สอง เมื่อพิจารณาต่อไปว่า เหตุใดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพดังที่กล่าวมา จึงไม่ลดลงอย่างที่ควรจะเป็น ก็พบว่ามีค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นมาแทน โดยเฉพาะในส่วนของค่ายาและเวชภัณฑ์ (ในงานวิจัยนี้ แบ่งเป็น 5 ประเภทคือ ค่ายาแผนปัจจุบัน, ค่าวิตามิน/ยาบำรุง/อาหารเสริม, ค่ายาสมุนไพร/ยาแผนโบราณ, ค่ายาคุมกำเนิด/ถุงยางอนามัย และค่าเวชภัณฑ์/อุปกรณ์ปฐมพยาบาล) เมื่อพิจารณาในรายละเอียด พบว่าค่าใช้จ่ายในส่วนของ ‘วิตามิน ยาบำรุง อาหารเสริม’ นั้น พุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ จาก 465 ล้านบาทในปี 2545 สู่ 7,700 ล้านบาทในปี 2558

ประการที่สาม หากพิจารณาตามสัดส่วนของรายได้ พบว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูง คือกลุ่มที่ใช้จ่ายในส่วนของวิตามิน ยาบำรุง และอาหารเสริม มากกว่ากลุ่มอื่นๆ ขณะที่ครัวเรือนซึ่งมีรายได้น้อย จะมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในส่วนนี้น้อยลงตามไปด้วย จุดที่น่าสนใจคือ กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย กลับเลือกใช้จ่ายกับผลิตภัณฑ์อีกประเภทหนึ่งแทน คือยาสมุนไพรและยาแผนโบราณ

จากข้อมูลที่ว่ามา สะท้อนให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์จำพวกวิตามิน ยาบำรุง และอาหารเสริม เป็นเสมือนฟองสบู่ลูกใหม่ในตลาดสินค้าสุขภาพ และมีแนวโน้มที่จะเฟื่องฟูขึ้นเรื่อยๆ

ทว่าในมุมกลับกัน คำถามสำคัญที่น่าขบคิดต่อคือ การที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้รับความนิยมสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สมเหตุสมผลและคุ้มค่ากับราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่ายไปหรือไม่ อย่างไร

กราฟแสดงค่าใช้จ่ายด้านยาและเวชภัณฑ์ของครัวเรือนไทย ช่วงปี 2545-2558
กราฟแสดงค่าใช้จ่ายด้านยาและเวชภัณฑ์ของครัวเรือนไทย ช่วงปี 2545-2558

ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

 

นอกจากข้อมูลเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีงานอีกส่วนหนึ่งที่นำเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับมายาคติและความเชื่อผิดๆ ที่คนไทยมีต่อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ด้วย

หนึ่งในนั้นคืองานเรื่อง ‘สถานการณ์การบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในประเทศไทย’ โดย ดร.ภญ.ณัฏฐิญา ค้าผล ซึ่งชี้ให้เห็นถึง ‘ความไม่รู้’ และ ‘ความเข้าใจผิด’ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของคนไทยได้อย่างแจ่มชัด โดยมีผลการศึกษาที่น่าสนใจ แบ่งเป็นสองหัวข้อ ดังนี้

1) ว่าด้วย ‘ความเชื่อของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร’

ผลการศึกษาพบว่า คนไทยใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารด้วยความเชื่อที่แตกต่างกัน 6 ข้อ ได้แก่ ใช้เพื่อเสริมอาหาร, ใช้เพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บก่อนที่จะเกิดโรค, ใช้เพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บ, ใช้เพราะเห็นว่ามีงานวิจัยมากมายน่าเชื่อถือ, ใช้เพราะตามกระแสชาวต่างชาติที่เริ่มต้นบริโภค และ ใช้เพราะเชื่อเทคนิคการโฆษณาขายตรง ซึ่งมักโฆษณาเกินเลยกว่าที่ขออนุญาตกับทางหน่วยงานรัฐ

นอกจากนี้ การศึกษายังพบว่ามีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นต้นว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของ ‘การมอบความรักความห่วงใย’ หรือ ผู้บริโภคบางคนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากผู้ขายที่มีความสัมพันธ์กับผู้บริโภคด้วยความเกรงใจ มิใช่จากความจำเป็น

จะเห็นได้ว่า ปัจจัยที่ว่ามาทั้งหมดนั้น ล้วนนำไปสู่การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างไม่สมเหตุสมผล

2) การเลือกซื้อหรือเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

จากผลการศึกษา พบว่าผู้บริโภคมีพฤติกรรมในการเลือกซื้อ/เลือกใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดังนี้

2.1 สิ่งที่ดูทุกครั้ง คือ วันเดือนปีที่หมดอายุ รองลงมา คือ วันเดือนปีที่ผลิตและเหตุผล หรือวัตถุประสงค์ของการใช้

2.2 สิ่งที่ดูบ้างหรือไม่ดูบ้าง คือ ความสวยงามของหีบห่อ รองลงมา คือ แหล่งผลิต และข้อมูลบนฉลากของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

2.3 สิ่งที่ไม่ดูเลย คือ คำเตือนถึงผลข้างเคียง

ทั้งนี้ หากพิจารณาขั้นตอนในการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานอาหารและยา พบว่าในส่วนของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น ถูกจัดให้อยู่ในหมวด ‘อาหาร’ มิใช่ในหมวด ‘ยา’

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า การตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ในหมวด ‘อาหาร’ นั้น แตกต่างจากหมวด ‘ยา’ ตรงที่ว่า จะไม่มีการตรวจสอบ ‘ข้อมูลความปลอดภัยทางยา’ และ ‘ข้อมูลประสิทธิภาพของยา : การศึกษาทางคลินิก (RCT)’

ตารางเปรียบเทียบ ขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนกับ อย.
ตารางเปรียบเทียบ ขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนกับ อย.

นอกจากเรื่องความเชื่อผิดๆ ที่กล่าวไปข้างต้น ทีมวิจัยของ HITAP ยังทำการศึกษาถึง ‘สรรพคุณ’ ของวิตามิน ยาบำรุง อาหารเสริม ทั้งหมด 5 ชนิดที่ได้รับความนิยม ได้แก่ Collagen, Glutatione, Zinc, Coenzyme Q10, และ ซุปไก่ ว่ามีสรรพคุณตามที่กล่าวอ้างหรือโฆษณาไว้จริงหรือไม่ โดยสืบค้นจากฐานข้อมูลทางยาที่ชื่อว่า PubMed ซึ่งผลการศึกษาที่ออกมา พบว่า

  1. Collagen ซึ่งมีการอวดอ้างสรรพคุณว่า ช่วยให้ผิวขาวกระจ่างใส เนียนนุ่ม ชุ่มชื้น ผลการศึกษาระบุว่า ไม่พบการศึกษาในสรรพคุณดังกล่าว
  2. Glutatione ซึ่งมีการอวดอ้างสรรพคุณว่า ช่วยให้ผิวขาวกระจ่างใส เนียนนุ่ม ชุ่มชื้น ผลการศึกษาระบุว่า ไม่พบการศึกษาในสรรพคุณดังกล่าว
  3. Zinc ซึ่งมีการอวดอ้างสรรพคุณว่า ช่วยรักษาสิวเสี้ยน ผลการศึกษาระบุว่า ไม่พบการศึกษาในสรรพคุณดังกล่าว
  4. Coenzyme Q10 ซึ่งมีการอวดอ้างสรรพคุณว่า ช่วยลดภาวะหัวใจล้มเหลว ผลการศึกษาระบุว่า พบการศึกษาที่เกี่ยวข้อง แต่ผลการศึกษาไม่น่าเชื่อถือ
  5. ซุปไก่ (Chicken Essense) ซึ่งมีการอวดอ้างสรรพคุณว่า ช่วยพัฒนาสติปัญญาและความสามารถในการจำ ผลการศึกษาระบุว่า พบการศึกษาที่เกี่ยวข้อง แต่ผลการศึกษาพบว่าคุณประโยชน์/สรรพคุณไม่เป็นไปตามที่กล่าวอ้าง

ตารางแสดงผลการศึกษา สรรพคุณของอาหารเสริม 5 ประเภทที่ได้รับความนิยม
ตารางแสดงผลการศึกษา สรรพคุณของอาหารเสริม 5 ประเภทที่ได้รับความนิยม | ที่มา : HITAP

 

 

ทางออกและมาตรการควบคุม

ถึงตรงนี้ เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงเกิดคำถามมากมายในใจ กระทั่งประหลาดใจกับข้อมูลชุดใหม่ๆ ที่เข้ามาหักล้างกับความเชื่อและความเข้าใจเดิมๆ ที่มีต่ออาหารเสริม

ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ ในฐานะผู้ก่อตั้ง HITAP และผู้ควบคุมดูแลการศึกษาวิจัยที่นำเสนอไปข้างต้น กล่าวถึงความสำคัญของการศึกษาประเด็นนี้ว่า นี่คือเรื่องที่คนในสังคมควรหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น ตั้งแต่ระดับของผู้บริโภค ไปจนถึงระดับผู้กำหนดนโยบาย เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตาย ซึ่งยึดโยงอยู่กับธุรกิจที่กำลังขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

“ข้อแรกที่อยากเน้นย้ำจากงานวิจัย คือมันสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าอาหารเสริมคือยา ช่วยป้องกันและรักษาโรคได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด

“อีกข้อซึ่งสำคัญมาก คือคนส่วนใหญ่แทบไม่รู้เลยว่า การขึ้นทะเบียนและได้มาซึ่งใบอนุญาตของ ‘ยา’ กับ ‘อาหารเสริม’ นั้น จริงๆ แล้วต่างกันอย่างสิ้นเชิง การที่เจ้าของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชอบเคลมว่า ได้รับอย.อย่างถูกต้อง คือการเคลมบนฐานที่ว่า ได้อย. ในหมวดของอาหาร ซึ่งไม่ต้องแสดงข้อมูลเรื่องความปลอดภัย ไม่ต้องแสดงข้อมูลเรื่องประสิทธิผลของยา

“ในทางกลับกัน คนทั่วไปที่เห็นว่าสินค้าเหล่านี้มีฉลากอย. ก็มักจะเข้าใจไปโดยปริยายว่าสินค้านี้น่าเชื่อถือ ซึ่งความจริงไม่ใช่ การที่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีอย.รับรอง ไม่ได้หมายความว่าผลิตภัณฑ์นั้นน่าเชื่อถือหรือปลอดภัยเสมอไป”

นอกจากนี้ นพ.ยศ ยังชี้ว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้แพร่หลาย คือการขาดมาตรการกำกับดูแลที่เหมาะสม ตั้งแต่ต้นน้ำ หรือ pre-marketing ไปจนถึงปลายน้ำ หรือ post-marketing โดยยกตัวอย่างกรณีของอเมริกาเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน ที่จู่ๆ ก็มีคนในรัฐฮาวายสิบกว่าคน เกิดภาวะตับวายเฉียบพลันในเวลาไล่เลี่ยกัน

“พอสืบไปเรื่อยๆ เขาก็พบว่ามีสาเหตุมาจากอาหารเสริมตัวหนึ่ง ซึ่งตำรวจก็ตามไปจับถึงแหล่งผลิตเลย ก็พบว่าเป็นบ้านคนธรรมดานี่แหละ เจ้าของคือคู่สามีภรรยาที่ไม่ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านยาหรือสุขภาพเลย แต่นำเข้าสินค้านี้มาจากโรงงานในประเทศจีน ซึ่งระหว่างการขนส่งมันเกิดการปนเปื้อน และเป็นเหตุให้คนที่กินยานี้เข้าไปเสียชีวิต นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นในอเมริกา ซึ่งก่อนหน้านั้นยังไม่มีมาตรการตรวจสอบ Q.C. ของผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างที่ควรจะเป็น

“พอเกิดกรณีนี้ขึ้นมา เขาก็เริ่มตื่นตัวกันมากขึ้น มีการนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 100 ผลิตภัณฑ์ ไปทำการทดสอบในแล็บ ว่ามี DNA ของพืชและสัตว์ตรงตามที่ระบุไว้ในฉลากไหม ผลปรากฏว่ายังไงรู้ไหมครับ ใน 100 ผลิตภัณฑ์ พบว่ามีแค่ 1 ผลิตภัณฑ์เท่านั้น ที่มี DNA ตรงตามฉลาก…

“ฉะนั้น พวกอาหารเสริมที่เรากินๆ กันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเห็ดหลินจือ เป็นถั่งเช่า หรืออะไรก็แล้วแต่ อย่าคิดนะครับว่ามันเป็นไปตามที่เขาโฆษณาหรือแปะฉลากไว้ กระทั่งวิตามินทุกชนิด ถ้าคุณกินเข้าไปเกินขนาด ก็อาจกลายเป็นโทษได้เช่นกัน”

อีกบุคคลหนึ่งซึ่งทำงานคลุกคลีกับเรื่องยาและการคุ้มครองผู้บริโภคมาอย่างยาวนาน คือ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

เธอให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ไว้ในทำนองเดียวกับ นพ.ยศ ว่า ปัญหาสำคัญอยู่ที่ส่วนของการกำกับดูแล ซึ่งภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องยังขาดการทำงานร่วมกันอย่างแข็งขัน

“เราคิดว่า regulator ของบ้านเรา ยังทำงานไม่แข็งแรงพอ ยิ่งถ้าจะรวมการโฆษณาหรือขายสินค้าทางออนไลน์ด้วย คุณก็ต้องไปร่วมกับกระทรวงดิจิทัลฯ ด้วย แต่เท่าที่ผ่านมา คุณยังไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องนี้มากพอด้วยซ้ำ ซึ่งสุดท้ายเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา มันก็จะย้อนกลับมากระทบที่งบประมาณด้านสุขภาพอีกที”

กรรณิการ์ชี้ว่า ในส่วนของการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีอยู่ตอนนี้ จะเน้นเฉพาะในส่วนของการ pre-marketing มากกว่า เช่น การเปิดให้ขึ้นทะเบียน ขอใบอนุญาต ขณะที่การกำกับดูแลในส่วนของ post-marketing กลับหละหลวม

“ตอนนี้ที่ทำอยู่กัน จะเป็นส่วนของ pre-marketing มากกว่า คุณให้เขามาขอขึ้นทะเบียนอาหารเสริม ขอโฆษณา อะไรก็ว่าไป แต่คุณกลับไม่ไป monitor เขา อย่างน้อยๆ ก็ควรสนับสนุนให้ประชาชนช่วยกัน monitor ได้ โดยการเปิดข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้ประชาชนเข้าถึงได้

“สมมติเราไปเจอผลิตภัณฑ์หนึ่ง โฆษณาว่าเป็นแก้อาการนั้น บรรเทาอาการนี้ แต่พอเราเข้าไปเช็คปุ๊บ ปรากฎว่ามันขึ้นทะเบียนเป็นแค่อาหารเสริม แค่นี้ก็ผิดแล้ว คุณก็จัดการสิ หรืออย่างพวกวิทยุชุมชนที่เปิดกรอกหูทั้งวันทั้งคืน คุณตามไปเช็กได้มั้ย อันไหนที่โฆษณาเกินจริง สรรพคุณไม่ตรงกับที่อ้างไว้ รวมไปถึงพวกโฆษณาที่อยู่ในโทรทัศน์ โดยเฉพาะพวกทีวีดิจิทัลทั้งหลายที่กำลังจะตาย ก็รับโฆษณาสินค้าพวกนี้กันถล่มทลาย ตั้งแต่อกฟู รูฟิต หุ่นผอมเพรียว มีทุกอย่าง”

เอาเข้าจริงแล้ว การโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในรูปแบบต่างๆ ที่ว่ามา ใช่ว่าผู้ที่มีหน้าที่กำกับดูแลจะไม่รู้ไม่เห็นเสียทีเดียว ทว่าอุปสรรคสำคัญอีกประการที่ทำให้การกำกับดูแลผลิตภัณฑ์เหล่านี้กลายเป็นเรื่องยาก ก็คือผลประโยชน์ทางธุรกิจ

“สิ่งที่เกิดตอนนี้ กลับกลายเป็นว่า ถ้าเภสัชคนไหน หรือโรงพยาบาลไหนที่เข้มหน่อย พยายามจะเข้าไปแตะเรื่องนี้ คุณโดนฟ้องทันที เผลอๆ โดนดาบสองอีกคือเจ้านายทิ้ง เรื่องพวกนี้ไม่ได้พูดเกินจริงเลย เพราะมันมีคดีให้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ”

ในมุมของกรรณิการ์ เธอมองว่าสุดท้ายแล้วการแก้ปัญหานี้ ภาครัฐรวมถึงภาคประชาชนควรเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้น ไม่ใช่โยนความผิดให้แก่ ‘ความไม่รู้’ ของผู้บริโภคอย่างเดียว

“ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าคนไทยมีข้อมูลความรู้น้อย ดราม่าเยอะ แต่คุณจะโทษที่ผู้บริโภคอย่างเดียวก็ไม่ได้ คุณต้องแก้ที่โครงสร้างด้วย เริ่มจากใช้กฎหมาย ใช้กลไกรัฐ ถ้ากลไกรัฐแล้วยังจัดการไม่ได้ ก็ให้ภาคประชาชนเข้ามาช่วย พยายามหาทางอื่นๆ ที่จะแก้ปัญหาได้ ไม่ใช่เอาแต่พูดกันว่า ก็คนไทยเป็นแบบนี้แหละ แล้วก็ปล่อยผ่านไป”

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save