fbpx

เป็นบ๊วยได้อย่างไร : เมื่อความเหลื่อมล้ำซ้ำเติมความไร้ประสิทธิภาพของรัฐในการจัดการวิกฤตโควิด-19

สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ได้เผยให้เห็นปัญหาในโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองของหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย การระบาดในไทยระลอกแรกเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 โดยในช่วงดังกล่าวจำนวนคนที่ติดเชื้อในประเทศมีเพียงวันละไม่ถึง 150 คน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ส่งผลให้ในช่วงการระบาดระลอกแรกนี้ไทยได้รับการจัดเป็นอันดับหนึ่งในฐานะประเทศที่ฟื้นตัวจากโควิดได้ดีที่สุดตามดัชนี GCI ซึ่งเป็นดัชนีจัดอันดับความสามารถในการจัดการโควิด-19 โดยเปรียบเทียบจาก 180 ประเทศทั่วโลก [1] 

อย่างไรก็ตาม หนึ่งปีผ่านไปสถานการณ์โควิดของไทยพลิกกลับเป็นตรงกันข้าม ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 เกิดการระบาดอย่างรุนแรงและกว้างขวางโดยจำนวนเคสผู้ติดเชื้อในไทยมีเกินกว่า 15,000 รายต่อวัน สวนทางกับในหลายประเทศที่สามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดได้ดีขึ้นแล้ว สภาพนี้ส่งผลให้ประเทศไทยตกจากอันดับ 1 ไปสู่อันดับที่ 170 จาก 180 ประเทศในดัชนี CGI รวมถึงอยู่ในลำดับสุดท้ายจาก 120 ประเทศในดัชนีการฟื้นตัวโควิดที่จัดทำโดยเว็บไซต์นิเคอิ สิ่งเหล่านี้นำมาสู่คำถามที่สำคัญต่อประสิทธิภาพของภาครัฐไทยในการจัดการสถานการณ์โควิด

บทความนี้จะวิเคราะห์ถึงบทเรียนจากปัญหาประสิทธิภาพการจัดการสถานการณ์โควิดของประเทศไทย โดยเน้นไปที่ความเชื่อมโยงของปัญหาดังกล่าวกับความเหลื่อมล้ำ ซึ่งผู้เขียนวิเคราะห์ว่าลักษณะการจัดการที่ไม่ได้คำนึงถึงมิติเรื่องเหลื่อมล้ำอย่างเพียงพอในช่วงที่มีการระบาดนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความไร้ประสิทธิภาพของมาตรการที่ถูกนำมาใช้ควบคุมโรค

ความเหลื่อมล้ำกับการระบาดและการเสียชีวิต

งานศึกษาหลายชิ้นจากต่างประเทศระบุตรงกันว่าอัตราการระบาดและเสียชีวิตจากโควิดมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกับระดับความเหลื่อมล้ำ ตัวอย่างเช่น การศึกษาจากสหรัฐอเมริกาโดย Oronce (2020) พบว่าเมื่อเปรียบเทียบระหว่างรัฐต่างๆในสหรัฐฯ แล้ว ค่าดัชนี Gini ที่บ่งบอกความเหลื่อมล้ำในแต่ละรัฐนั้นมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกับจำนวนการติดเชื้อและการตายของประชากร นอกจากนี้สัดส่วนของผู้ติดเชื้อที่เป็นประชากรผิวสีและชนพื้นเมืองยังมีสูงกว่าเมื่อเทียบกับอัตราส่วนของประชากรกลุ่มเหล่านี้ในความเป็นจริง [2] ในขณะที่เมื่อดูประสิทธิภาพของนโยบายรณรงค์ให้ลดการเคลื่อนที่เพื่อลดการแพร่ระบาดในงานของ Zhai et al (2020) จะพบว่าพื้นที่ที่มีรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนสูงจะสามารถลดการเคลื่อนที่ของผู้คนได้มากกว่าพื้นที่ที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำ [3] นั่นหมายถึงการดำเนินมาตรการลดการแพร่กระจายในพื้นที่รายได้สูงนั้นมักจะมีประสิทธิภาพมากกว่า

สำหรับประเทศบราซิล (อยู่ลำดับที่ 172 ใน GCI) ซึ่งมีปัญหาสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำที่รุนแรง ผลการศึกษาของ Cardoso (2020) พบว่าความเหลื่อมล้ำส่งผลอย่างมากต่อจำนวนผู้ติดเชื้อต่อวัน โดยปัจจัยเรื่องคุณภาพที่อยู่อาศัยเป็นกุญแจสำคัญที่ส่งผลต่ออัตราการติดและอัตราการตาย เนื่องจากผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่แออัดไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดและสารฆ่าเชื้อ ทำให้ยากที่จะทำตามมาตรการป้องกันการระบาด [4] นอกจากนี้ Martins-Filho (2020) ยังพบว่ากลุ่มคนเปราะบางมีสัดส่วนการติดเชื้อและอัตราการตายที่สูง อันเนื่องมาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและการไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือในการตรวจเชื้อ [5] 

งานศึกษาเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำส่งผลต่อการระบาดของโควิดและการตายอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อหันกลับมามองที่ประเทศไทย การระบาดในรอบหลังของบ้านเราก็ได้เกิดในพื้นที่ที่มีประชากรแออัดหรือยากจน โดยข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 เผยให้เห็นว่าคลัสเตอร์ที่เป็นแหล่งแพร่ระบาดในกรุงเทพฯ มักเป็นแคมป์คนงานก่อสร้าง โรงงานต่างๆ รวมถึงตามชุมชนและตลาดที่มีความหนาแน่น

ในส่วนต่อๆ ไปของบทความ ผู้เขียนจะชี้ให้เห็นว่าสภาพความเหลื่อมล้ำยังส่งผลเชื่อมโยงกับปัญหาที่เกิดกับนโยบายการควบคุมโรคของประเทศไทย ทั้งในด้านการตรวจโรค การจัดการเตียง และการจัดการวัคซีน จนทำให้การควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในระลอกใหญ่ที่ผ่านมานั้นขาดทั้งประสิทธิภาพและความเป็นธรรม นอกจากนี้ แนวทางการจัดการโดยรวมของรัฐไทยที่ยังเน้นไปที่ความมั่นคง แต่กลับละเลยการตอบสนองกับความเหลื่อมล้ำอย่างเพียงพอ ยิ่งส่งผลให้การควบคุมการระบาดของโควิดนั้นไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

การจัดการเรื่องการตรวจโรค การจัดการเตียง และวัคซีน

การตรวจโรค – แม้ว่าการตรวจการติดเชื้อจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแสวงหาผู้ติดเชื้อเพื่อนำพวกเขาออกจากชุมชนเป็นการชั่วคราว แต่เมื่อมาดูข้อมูลของไทยในช่วงเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมากลับพบว่าอัตราการตรวจพบผู้ติดเชื้อของไทยนั้นสูงมากกว่าถึง 12% ซึ่งตามมาตรฐานแล้วนั้นค่าการตรวจพบไม่ควรเกิน 5% สิ่งนี้สะท้อนถึงจำนวนการตรวจในภาพรวมที่ต่ำกว่าความเป็นจริง

มีข้อสังเกตว่าอัตราการตรวจที่ต่ำของไทยมีความเชื่อมโยงกับกฎกติกาที่บังคับให้สถานพยาบาลที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อจำเป็นต้องรับผู้ป่วยเข้ามารักษาในโรงพยาบาล ส่งผลให้โรงพยาบาลจำนวนหลายแห่งงดรับการตรวจเชื้อ เหลือเพียงแต่แล็บตรวจของภาคเอกชนที่มีการคิดค่าใช้จ่ายสูงที่ยังเปิดให้บริการ ในขณะที่จุดตรวจเชิงรุกที่ภาครัฐตั้งขึ้นมาซึ่งมีการรับตรวจเชื้อจำนวนจำกัดส่งผลให้มีการเข้าคิวรอตรวจกันข้ามวัน สถานการณ์เช่นนี้เป็นอุปสรรคสำคัญและส่งผลให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงการตรวจได้ยากกว่าและไม่ถูกแยกออกจากชุมชน

การจัดการเตียง – จำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วในระลอกการระบาดกลางปี 2564 นำมาสู่วิกฤตจำนวนเตียงในโรงพยาบาล การที่โรงพยาบาลโดยเฉพาะของรัฐนั้นมีจำนวนเตียงเต็ม ยังส่งผลให้ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลถ้วนหน้าไม่สามารถรองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นได้ ผู้ติดเชื้อจำนวนมากจึงต้องไปเสาะแสวงหาสถานพยาบาลรักษาที่ไม่มีสวัสดิการจากภาครัฐรองรับ เช่น โรงพยาบาลเอกชน หรือ ฮอลพิเทล ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลสูง สภาพเช่นนี้ส่งผลให้ผู้ป่วยโควิดที่มีรายได้น้อยจำนวนมากพบความยากลำบากในการหาที่เข้ารักษาพยาบาล และไม่สามารถแยกตนเองออกจากคนรอบข้างได้จนเกิดการแพร่กระจายเชื้อโดยเฉพาะในพื้นที่แออัด

วัคซีน – แม้ว่าการจัดสรรวัคซีนของภาครัฐได้มีการมุ่งเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงสูง แต่การกระจายวัคซีนกลับไม่มีความแน่นอน วัคซีนจำนวนมากถูกถ่ายให้หน่วยงานอื่นเป็นผู้จัดสรร เช่น ค่ายมือถือ ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงภาคเอกชนที่จัดหาวัคซีนทางเลือกแบบเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมักถูกจองโดยหน่วยงานต่างๆ ที่สั่งซื้อในปริมาณมาก พร้อมกันนี้ยังปรากฏการใช้อภิสิทธิ์เพื่อเข้าถึงวัคซีนในหลายกรณี เช่น กรณีที่กลุ่มศิลปินดาราได้รับการฉีดวัคซีนก่อนกำหนดเวลาที่ประชาชนทั่วไปจะฉีดได้ รวมถึงยังมีกรณีที่บางจังหวัดได้รับการจัดสรรวัคซีนในสัดส่วนที่สูงกว่าทั้งที่มีการระบาดน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ

การจัดสรรวัคซีนที่เกิดขึ้นนั้นจึงขาดทั้งประสิทธิภาพและความเท่าเทียม การบริหารจัดการวัคซีนทำให้แรงงานในระบบมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนได้มากกว่า ในขณะที่แรงงานนอกระบบต้องพึ่งพิงการจัดสรรจากช่องทางที่ไม่มีความแน่นอน ความขาดแคลนของวัคซีนและการขาดความชัดเจนในการบริหารจัดการยังส่งผลให้ผู้ที่มีทุนทางสังคมสูงมีความได้เปรียบในการเข้าถึงวัคซีนจากการใช้เส้นสายที่ตนเองมี

โดยสรุป การกระจายทรัพยากรการควบคุมโรครวมไปถึงการเข้าถึงการรักษาที่ไม่เป็นไปตามลำดับความจำเป็น และยังมีลักษณะแบบ ‘มือใครยาวสาวได้สาวเอา’ นี้เองที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่แออัดที่เป็นที่อยู่อาศัยของคนยากจน และทำให้การระบาดครั้งนี้ลุกลามจนเกิดเป็นวิกฤตสาธารณสุขในที่สุด

รัฐไทยสั่งแต่ไม่เสริม

การจัดการโรคระบาดของรัฐไทยที่หากสังเกตดูแล้วมักจะใช้แนวทางแบบการรักษา ‘ความมั่นคง’ กลายเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เชื่อมโยงกับมิติความเหลื่อมล้ำ

ที่ผ่านมารัฐไทยมักจะเน้นการใช้มาตรการแบบเด็ดขาดในการรับมือกับการระบาดของโรค ไม่ว่าจะเป็นการออกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน กำหนดเวลาห้ามออกจากบ้าน สั่งปิดพื้นที่ที่มีคนสัญจรมากๆ รณรงค์ให้ประชาชนเว้นระยะห่าง อยู่แต่ในบ้าน ลักษณะการใช้มาตรการเหล่านี้มาในรูปแบบที่ภาครัฐสั่งให้ประชาชนปฏิบัติตาม คล้ายกับแนวทางในการรบซึ่งมีผู้บังคับบัญชา (รัฐ) เป็นคนชี้นำให้เหล่าทหารผู้น้อย (บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน) ดำเนินตามแนวทางต่างๆ เพื่อกำจัดเป้าหมาย (การระบาดของไวรัส)

แนวทางนี้แม้จะแลกมาด้วยต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูงแต่ผลลัพธ์ของการจัดการอย่างเข้มข้นก็ทำให้สามารถหยุดยั้งการระบาดรอบแรกได้ แต่ความสำเร็จในการจัดการระบาดครั้งแรกนี้เอง ยิ่งส่งผลให้รัฐเชื่อมั่นว่าแนวทางการจัดการเช่นนี้จะประสบความสำเร็จในการป้องกันโรคระบาดไปได้เรื่อยๆ จนภาครัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับหน้าที่อีกด้านอย่างการเตรียมระบบและทรัพยากรเพื่อเตรียมการจัดการวิกฤตในระยะกลาง (เตียงและการตรวจ) และระยะยาว (วัคซีน) สภาพการละเลยนี้สะท้อนจากการที่รัฐบาลใช้งบเพียง 25.8% ของงบประมาณจาก 45,000 ล้านบาทที่กู้มาเพื่อลงทุนในสาธารณสุขเพื่อแก้ปัญหาการระบาดของไวรัส (สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2564) และมีการอนุมัติงบกลางสำรองจ่ายฉุกเฉินเพื่อจัดการโควิดเพียงแค่ 33% จากงบ 140,000 ล้านบาทเท่านั้น

และไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องแนวทางของรัฐที่เชื่อมั่นต่อการป้องกันการระบาดของโควิดด้วยการบังคับบัญชาเพียงอย่างเดียว เมื่อสถานการณ์โควิดลุกลามยังต้องมาเจอกับปัญหาของความไม่ประสานงานกันของหน่วยงานในรัฐราชการที่มีลักษณะรวมศูนย์แบบแตกกระจาย ส่งผลให้รัฐมีความสับสนในการจัดการรวมถึงมีความไม่ชัดเจนในการสื่อสารกับประชาชน ทั้งหมดยิ่งทำให้หน้าที่ในการสนับสนุนบริการสาธารณะเพื่อประชาชนทำได้ต่ำกว่ามาตรฐานที่ควร พร้อมกับความสามารถในการสั่งการประชาชนก็ลดลง

ทั้งนี้รัฐที่ดำเนินแนวทางแบบเน้นการสั่งการประชาชนมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาภาพลักษณ์ให้ประชาชนเชื่อมั่นเพื่อให้คำสั่งการของภาครัฐมีประสิทธิภาพ รัฐจึงมีการตอบโต้ต่อข่าวสารเหตุการณ์หรือคำวิจารณ์ที่มีต่อตัวรัฐอย่างรุนแรง เนื่องจากมองว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้รัฐเสียหน้าและมีประสิทธิภาพในการสั่งการลดลง มองว่าผู้วิจารณ์หรือการรายงานข่าวความล้มเหลวในการจัดการเป็นศัตรูมากกว่าจะมองว่าเป็นฟีดแบ็คเพื่อการปรับปรุงของภาครัฐ สภาพนี้ยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล

การสร้างระเบียบความเข้มงวดต่างๆ ในการบังคับให้ทุกคนต้องปฏิบัติตาม ตลอดจนวิธีคิดที่ว่าหากใครไม่ปฏิบัติตามคือผู้ที่ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมควรถูกประนามและควรได้รับบทลงโทษ แนวทางแรงจูงใจทางลบเช่นนี้ไม่สามารถบังคับให้คนรายได้น้อยสามารถปฏิบัติตามได้อย่างสม่ำเสมอในการรับมือกับการระบาดที่กินเวลานาน และการให้ความสำคัญกับแนวทางนี้ยังส่งผลให้รัฐละเลยอีกแนวทาง ซึ่งก็คือการมุ่งส่งเสริมทรัพยากรและการช่วยเหลือให้ประชาชนและผู้ขาดแคลน เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ และป้องกันตัวเองได้ง่ายยิ่งขึ้น

แนวทางที่ควรจะเป็น

ประเด็นสำคัญสำหรับภาครัฐในการจัดการวิกฤตโควิดที่ผู้เขียนอยากจะย้ำคือ ภาครัฐควรต้องมุ่งเป้าไปที่การทำให้ประชากรทุกคนมีความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการระดมทรัพยากรไปช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่มีรายได้น้อยในสังคม ทั้งการให้ทรัพยากรที่ป้องกันการติดเชื้อ และสร้างแรงจูงใจเพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถมีพฤติกรรมที่ไม่เสี่ยงต่อการติดโดยไม่จำเป็นได้

ทั้งนี้ หากลองพิจารณากรณีตัวอย่างการจัดการการระบาดที่มีประสิทธิภาพของประเทศสิงคโปร์ซึ่งสามารถยึดตำแหน่งจ่าฝูงในดัชนี GCI ได้ในปัจจุบัน พบว่าสิงคโปร์เองก็เคยมีการระบาดอย่างหนักในช่วงกลางปี 2563 อันเป็นผลมาจากสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่แรงงานต่างชาติ ซึ่งมีจำนวนกว่า 3 แสนคนในภาคการผลิตและการก่อสร้าง ซึ่งมีความเป็นอยู่แบบแออัด ทำงานใกล้ชิดกัน และมีรายได้ต่ำ เมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สภาพการทำงานที่ใกล้ชิดและหอพักที่แออัดจึงเป็นแหล่งแพร่ระบาด (Cluster) ที่ทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว

แต่รัฐบาลสิงคโปร์ได้ใช้มาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มข้น เริ่มต้นจากมาตรการควบคุมกักตัวแรงงานในที่พัก ยิ่งไปกว่านั้นยังมีมาตรการช่วยเหลือ เช่นการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของกลุ่มแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลดความแออัดในห้องพัก และคำนึงถึงสุขอนามัยของแรงงานมากขึ้น การระดมตรวจหาคัดแยกผู้ติดเชื้อเป็นระยะอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้กลุ่มแรงงานต่างชาติยังถูกจัดลำดับการได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรกๆ ถัดจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและกลุ่มผู้สูงอายุ

ประกอบกับมาตรการระดับชาติ เช่น เพิ่มเตียงผู้ป่วยตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการระบาดอย่างรวดเร็ว ลงทุนแสวงหาชุดตรวจเป็นจำนวนมากเพียงพอต่อประชาชน [6] หรือการมีระบบติดตามไทม์ไลน์ของประชาชนที่มีประสิทธิภาพ การลงทุนในทรัพยากรเหล่านี้ช่วยเป็นรากฐานสำคัญในการควบคุมโรค

ด้วยการระดมทรัพยากรไปกับกลุ่มเสี่ยงในสภาพสังคมที่เหลื่อมล้ำ ส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มมีความสามารถในการป้องกันโรคเพิ่มสูงขึ้น ลงทุนในทรัพยากรป้องกัน บวกกับการเปิดเผยข้อมูลและแผนระยะยาวที่ชัดเจน สิงคโปร์จึงมีระดับผู้ติดเชื้อลดลงและมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นเป็นลำดับ

สรุป

ภายใต้สถานการณ์ที่สังคมไทยต้องเผชิญกับไวรัสที่พรากชีวิตอันเป็นปกติโดยมีโครงสร้างความเหลื่อมล้ำเป็นเชื้อไฟหล่อเลี้ยงการระบาดของโควิด-19 ภาครัฐไทยกลับมีแนวทางการป้องกันการระบาดที่เน้นการจัดการความมั่นคงและบังคับให้ปฏิบัติตาม และละเลยในการลงทุนส่งเสริมทรัพยากรที่สำคัญที่จะช่วยให้เกิดการป้องกันการระบาด บรรเทาการเจ็บป่วย และตาย โดยเฉพาะในกลุ่มคนรายได้น้อยที่มีข้อจำกัดในการการประพฤติปฏิบัติเพื่อป้องกันการติดต่อของโรค

เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในประเทศสิงคโปร์ รัฐสิงคโปร์กระโจนเข้าไปเน้นแก้ปัญหาที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย (แรงงานต่างชาติ) ซึ่งเป็นพื้นที่การระบาดที่สำคัญ แนวทางที่แตกต่างกันระหว่างไทยที่เน้นแนวทางแบบมั่นคง กับสิงคโปร์ที่เน้นจัดการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง คือปัจจัยที่สำคัญในการกำหนดผลลัพธ์ที่แตกต่างกันในการรับมือกับวิกฤตโควิด

อ้างอิง :

[1] โดยดัชนี GCI เป็นดัชนีเปรียบเทียบความสามารถของภาครัฐในการจัดการสร้างการฟื้นตัวจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิดโดยมีประเทศในฐานข้อมูล 180 ประเทศ ซึ่งข้อมูลหลักที่ใช้ในการคำนวณประสิทธิภาพการฟื้นตัวประกอบด้วย จำนวนเคสที่ตรวจเจอ สัดส่วนการตรวจเทียบกับจำนวนการพบเชื้อ จำนวนผู้หายป่วย จำนวนการตรวจ และการสืบสวนติดตามโรค

[2] Carlos Irwin Oronce, et al, 2020, Association Between State-Level Income Inequality and COVID-19 Case and Mortality in the USA, Society of General International Medicine

[3] Wei Zhai, et al, 2020, American Inequality Meets COVID-19: Uneven Spread of the Disease across Communities, Annals of the American Association of Geographers

[4] Evelin Helena Silva Cardoso, et al, 2020, Characterizing the Impact of Social Inequality on COVID-19 Propagation in DEveloping Countries, IEEE Access

[5] Paulo Ricardo Martins-Filho, et al, 2020, COVID-19 fatality rates relates to social inequality in Northeast Brazil: a neighbourhood-level analysis, Journal of Travel Medicine

[6] Oppah Kuguyo, Andre Pascal Kengne,and Collet Dandara, 2020, Singapore COVID-19 Pandemic Response as a Successful Model Framework for Low-Resource Health Care Settings in Africa?, Journal of Integrative Biology, 24(8)

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economic Focus

19 Apr 2023

นโยบายแจกเงินดิจิทัล: ทำได้ หรือขายฝัน?

วิมุต วานิชเจริญธรรม ชวนมองวิวาทะสองฝั่งของนโยบายแจกเงินดิจิทัลในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย พร้อมให้ข้อเสนอถึงการปรับนโยบายให้ตรงจุดขึ้น

วิมุต วานิชเจริญธรรม

19 Apr 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save