fbpx

เมื่อโควิด (ไม่) จากไป และยังทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

หลังจากแพร่ระบาดมาตั้งแต่ต้นปี 2020 สถานการณ์โควิด-19 ในบางประเทศของโลกอาจจะเริ่มเบาบางลง ชนิดที่สังคมเริ่มลืมการสวมหน้ากากและการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ไปแล้ว หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาหรือจีน ก็เริ่มจัดคอนเสิร์ตอย่างเป็นทางการได้ เช่นเดียวกับสถานการณ์ในอีกหลายประเทศที่ดำเนินไปราวกับว่าปีที่ผ่านมาไม่เคยเกิดโรคระบาดที่รุนแรงจนกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สั่นคลอนสภาวะทางสังคมและจิตใจของมนุษย์ทั่วโลก

แม้โควิดในหลายประเทศจะเริ่มสงบลง จากความปกติใหม่ (new normal) เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ (normal) อีกครั้ง แต่คำถามที่สำคัญที่ซุกอยู่ใต้พรมของความปกติที่เกิดขึ้นคือ กลุ่มเปราะบาง ทั้งผู้หญิงและเยาวชน กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้ทุพพลภาพ หรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจะมีชีวิตอยู่อย่างไร พวกเขาได้รับการดูแลจากรัฐมากน้อยแค่ไหนจากวิกฤตโรคระบาดที่พัดมาและยังไม่ได้พัดไปอย่างหมดจด แต่ทิ้งร่องรอยความเสียหายเอาไว้เบื้องหลัง ผู้คนจำนวนมากต้องตกงาน บางคนมีต้นทุนไม่พอที่จะเริ่มต้นธุรกิจครั้งใหม่ ขณะที่ชนชั้นล่างที่ก่อนหน้านี้แทบยังลืมตาอ้าปากไม่ได้ ถูกซ้ำเติมให้ต้องเงียบเสียงต่อไปเพราะไม่มีปากเสียงมากพอ

พูดให้ถึงที่สุด “โควิด 19 ไม่ใช่เพียงโรคระบาด แต่เป็นคลื่นสึนามิที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของคน ต่อเศรษฐกิจ และแน่นอนที่สุดคือต่อสังคมโดยรวม”

ข้างต้นคือคำกล่าวของ ดร.อนรรฆ เสรีเชษฐพงศ์ จากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) โดย UNDP เป็นหน่วยงานที่สำรวจและทำรายงานเรื่องการพัฒนามนุษย์ (UNDP Development Report) ซึ่งประกอบไปด้วยดัชนีรายได้ต่อหัว การศึกษา และอายุค่าเฉลี่ยของคน มาเป็นเวลาถึง 30 ปีด้วยกัน แต่สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เป็นสถานการณ์เดียวที่ส่งผลให้การพัฒนาเหล่านั้นหายวับไปกับตา ชนิดที่เรียกได้ว่าหายไปมากกว่าวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจหรือวิกฤตการณ์ใดๆ และยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์ของคนบางกลุ่มที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังอยู่แล้ว ต้องประสบความเดือดร้อนมากขึ้น

วิกฤตโควิด-19 ทำให้คนตกงานมากเป็นประวัติการณ์

ดร.อนรรฆ ฉายภาพรวมให้เห็นก่อนว่า ระดับ (scale) ความหิวโหยในระดับโลกพุ่งสูงขึ้น เมื่อโควิดระบาดรุนแรงขึ้น โดย UNDP ซึ่งมีสำนักงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่มากกว่า 60 ประเทศ ได้ศึกษาผลกระทบของโควิดต่อเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละประเทศ พบว่า ยังมีประชากรกว่า 100 ล้านคนทั่วโลกที่กำลังเข้าสู่ความยากจนแบบเต็มขั้น (extreme poverty) ขณะที่เยาวชนอีกกว่า 14,000 ล้านคนกลายเป็นเด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษา และแน่นอนที่สุดคือในภาคแรงงาน อัตราการว่างงาน ตกงาน หรือลดชั่วโมงการทำงาน พุ่งสูงขึ้นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก

ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับรายงาน COVID-19 and the World of Work ในปี 2020 ที่จัดทำโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) พบว่า กลุ่มแรงงานนอกระบบ (informal worker) ร้อยละ 47 ของการจ้างงานทั่วโลก เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นแรงงานที่ไหลเวียนอยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหรือค้าขาย และเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทั้งในประเทศที่มีรายได้สูง ไปจนถึงประเทศที่มีรายได้ปานกลางจนถึงต่ำ

แต่ใช่ว่าคนมีงานทำจะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ เลย เพราะจากรายงาน COVID-19 Employment and Labour Market Impact in Thailand ในปี 2020 ของ ILO ชี้ชัดว่า อัตราคนที่มีงานทำ แต่มีรายได้ไม่พอจุนเจือตัวเอง (working poverty) ในประเทศไทยสูงขึ้นมาก คือจากร้อยละ 4.7 เป็นร้อยละ 11.2 หากเทียบกับระยะเวลาก่อนและหลังสถานการณ์โควิด 19 โดยคนยากจนที่อยู่ในหมวดยากจนเต็มขั้น (extremely poor) มีรายได้น้อยกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันด้วยซ้ำ

ผู้หญิง เด็ก และคนพิการ : กลุ่มเปราะบางที่ถูกหลงลืม

แม้ประชากรหลายกลุ่มจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กันโดยถ้วนหน้า แต่ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่อาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ โดยดร.อนรรฆ ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบในภาพใหญ่ของการจ้างงานคือ กลุ่มผู้หญิง เพราะผู้หญิงส่วนมากทำงานในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤตโควิด-19 เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภค ประกอบกับแรงงานนอกระบบกว่าร้อยละ 44 ในประเทศไทยเป็นผู้หญิงด้วย

อีกประเด็นที่หลายคนอาจจะละเลยไปคือ ความกดดันทางวัฒนธรรม ที่ผลักให้ผู้หญิงต้องแบกรับภาระทั้งทางหน้าที่การงาน และภาระการดูแลครอบครัวที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนชัดเจน เช่น การเลี้ยงดูบุตรและสมาชิกในครอบครัว

“คำถามสำคัญคือ ระบบการคุ้มครองทางสังคม (social protection) ของเราเพียงพอสำหรับการดูแลคนเหล่านี้หรือไม่ การที่เด็กๆ ต้องขาดเรียนส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงอาหารหรือไม่ เพราะแต่ก่อน เด็กสามารถรับประทานอาหารที่โรงเรียนได้ โดยเฉพาะเด็กจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย หรือคนที่ป่วยอยู่แล้ว พอสถานการณ์โควิดมาทำให้เขาไม่สามารถไปโรงพยาบาลได้จะทำอย่างไร ผู้หญิงกับเด็กที่ต้องอยู่บ้านเจอปัญหาเรื่องความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่”

ดร.อนรรฆตั้งคำถาม พร้อมทั้งอธิบายต่อว่า ในหลายประเทศทั่วโลก ความกดดันทางครอบครัวก่อให้เกิดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กมากขึ้น และที่น่าห่วงคือ เรื่องของการศึกษาที่เด็กไม่มีโอกาสได้ไปโรงเรียน และแม้เราจะบอกว่า เด็กสามารถเรียนออนไลน์ได้ แต่เด็กจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย หรือเด็กที่มาจากกลุ่มชายขอบ กลุ่มชาติพันธุ์ จะเรียนออนไลน์ได้อย่างไร ทั้งหมดนี้นำไปสู่คำถามสำคัญเกี่ยวกับโอกาสทางการศึกษาของเด็กกลุ่มนี้ และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ช่องว่างทางการศึกษาจะยิ่งถ่างช่องว่างทางโอกาสในชีวิต

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ดร.อนรรฆ อ้างถึงการสำรวจของกองทุนการศึกษาของประเทศไทย พบว่า ครอบครัวที่มีรายได้น้อยร้อยละ 14 แจ้งว่าไม่มีงานทำ ร้อยละ 15 แจ้งว่ายังลำบากมาก ส่วนอีกร้อยละ 41 ระบุชัดเจนว่ามีรายได้น้อย แม้ว่าสถานการณ์โรคระบาดจะจบไปแล้ว แต่ช่องว่างที่ขยายขึ้นมากของโอกาสในชีวิตระหว่างครอบครัวของเด็กที่มีรายได้สูงกับรายได้ต่ำอาจจะใช้เวลายาวนานต่อไปอีก 10 ปี หากไม่ได้รับการแก้ไข

ขณะที่ผู้พิการก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มเปราะบางรุนแรง เพราะประชากรในกลุ่มนี้มีความยากจนสูงขึ้นจากร้อยละ 14 สู่ร้อยละ 15 ดร.อนรรฆ เสนอว่า เนื่องจากผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในไทยมีมากถึงร้อยละ 83 จึงเป็นโอกาสดีที่จะดัดแปลงเทคโนโลยีให้ผู้พิการเข้าถึงได้มากขึ้น ดังที่ UNDP เคยจัด Business Continuity Program หรือโปรแกรมวางแผนจัดการธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ให้หน่วยราชการขับเคลื่อนบริการทางสาธารณะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หรือให้ความรู้ด้านแพลตฟอร์มดิจิทัลกับรัฐบาล

การจัดการสิ่งแวดล้อม โจทย์คู่ขนานที่มาพร้อมกับวิกฤตโควิด-19

แม้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมาวิกฤตโควิด-19 ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมทั่วโลก ในรายงานการพัฒนามนุษย์ฉบับล่าสุดของ UNDP พบว่า การพัฒนามนุษย์มักจะมาพร้อมกับราคาที่ต้องจ่ายในการทำลายสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ ประเทศที่มีระดับการพัฒนามนุษย์สูง มักจะเป็นประเทศที่มีตัวชี้วัดทั้งค่าการบริโภคพื้นฐานต่อการใช้ทรัพยากร (Material Footprint: MF) สูง หรือว่ามีการปล่อยมลพิษสูงไปด้วย และหากคำนวณผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ประเทศเหล่านี้จะตกชั้นจากประเทศที่พัฒนาสูงทันที

คำถามสำคัญคือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวโยงกับความเหลื่อมล้ำอย่างไร?

ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน เช่น น้ำท่วมหรือภัยแล้ง ประเทศที่มีความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติสูงมักจะเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ หรือความเหลื่อมล้ำทางเพศสูงอยู่แล้ว และหากวัดกันในระดับโลก กลุ่มประเทศที่จะได้รับผลกระทบทั้งจากการทำเกษตรกรรมหรืออุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นก็มักจะเป็นประเทศรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบก่อน

สำหรับประเทศไทย หากวัดจากดัชนีการพัฒนามนุษย์ ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 79 จาก 139 ประเทศทั่วโลก แต่การพัฒนาก็ร่วงลงมาถึงร้อยละ 16 และถ้าเราลองหักลบช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน จะเห็นว่า แม้กระทั่งประเทศที่ติด 10 อันดับแรกของการพัฒนา เช่น นอร์เวย์ ไอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ก็สามารถตกอันดับลงมาอย่างมากเช่นกัน

“ประเด็นที่น่าสนใจคือ โควิดมีผลกระทบที่ซับซ้อนหลายชั้น เราเห็นอยู่ว่าโควิดทำให้ต้องปิดเมือง คนต้องอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อ และส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เคยหมุนกลับไม่หมุนเสียแล้ว แต่สิ่งที่อยากจะเน้นคือ ผลกระทบของการขาดรายได้ต่อสังคมโดยรวมซึ่งทำให้เกิดความยากจน และยังไม่นับว่าคนที่ไม่มีรายได้ประจำหรือหาเช้ากินค่ำจะต้องขาดรายได้ พวกเขาจะหาเงินมาจากไหน รัฐบาลต้องช่วยเหลืออย่างไร”

ดร.อนรรฆ ยังทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า สาเหตุที่เราต้องพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำ เพราะช่องว่างที่เกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำก่อให้เกิดปัญหาแบบ snowball มากขึ้น สอดคล้องกับการคำนวณของ UNDP ที่ชี้ชัดว่า “ความเหลื่อมล้ำเป็นปัจจัยในการลดทอนความเป็นมนุษย์ และเกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก”


เก็บความจากงานเสวนาหัวข้อ ‘Shifts in Global Development Trends from the Views of Vulnerable and Marginalized Groups’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเสวนาในเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 9 (The International Virtual Forum – Resilient Leadership in Practice) จัดโดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย

ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save