fbpx
ฉันทมติใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ สู่ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง

ฉันทมติใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ สู่ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง

 กองบรรณาธิการ เรื่อง

 

ตลอด 88 ปี ของประชาธิปไตย ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมากถึง 20 ฉบับ แม้ว่าที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทยจะมีรัฐธรรมนูญบางฉบับที่ได้ชื่อว่า ดี แต่ก็ล้วนจบชีวิตไปในระยะเวลาไม่นานนักเพราะการรัฐประหาร

สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็นฉบับที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งเรื่องเนื้อหาและกระบวนการ เช่นนี้แล้ว ในห้วงยามที่สังคมไทยกำลังเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวาง สิ่งหนึ่งที่จะเป็นหนทางสู่ฉันทมติใหม่ของสังคมคือรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ได้รับการยอมรับโดยถ้วนหน้า

สถานการณ์ทั้งการเมืองในสภาและการเมืองภาคประชาชนทำให้สังคมกลับมาคุยกันอีกครั้งถึงการร่างอนาคตการอยู่ร่วมกันในสังคม

ในการเปิดตัวโครงการ “Constitution Dialogue : รัฐธรรมนูญสนทนา” ที่จะศึกษาวิจัยเรื่องรัฐธรรมนูญในประเด็นสำคัญและต้องการชวนสังคมร่วมคิดและแลกเปลี่ยนเรื่องรัฐธรรมนูญ ได้ชวนคนจากหลายมุมมองมาร่วมกันแลกเปลี่ยนในงานเสวนา Constitution Dialogue: รัฐธรรมนูญสนทนา #1 หัวข้อ “New constitution, New consensus : ออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ สร้างฉันทมติใหม่ เพื่ออนาคตสังคมไทย”

ผู้ร่วมพูดคุยประกอบด้วย นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ, พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีต ส.ส.ร. 2540, สุนี ไชยรส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต อดีต ส.ส.ร. 2540 อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, จีรนุช เปรมชัยพร ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL), พริษฐ์ วัชรสินธุ กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และกลุ่ม Re-solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่ และ พร้อมพร พันธุ์โชติ นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

หมายเหตุ สรุปความจากงานเสวนา Constitution Dialogue: รัฐธรรมนูญสนทนา #1 หัวข้อ “New constitution, New consensus : ออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ สร้างฉันทมติใหม่ เพื่ออนาคตสังคมไทย” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานเปิดตัวโครงการวิจัยและชุดเสวนาสาธารณะ “Constitution Dialogue : รัฐธรรมนูญสนทนา” เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโดย ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเว็บไซต์สื่อความรู้สร้างสรรค์ The101.world 

 

 

 

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ก้าวต่อไปที่ต้องระมัดระวังของการเมืองไทย

 

 

ฉันทมติขึ้นอยู่กับว่าจะผลักดันให้เกิดเป็นประเด็นที่คนถกเถียงเป็นวงกว้างแค่ไหน เวลานี้สำคัญมากที่เราจะต้องคิดเรื่องรัฐธรรมนูญให้ดี ถ้าโยนเข้าสภาจะเป็น ‘หมาแดก’ ทันที หากจะทำตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ไปเชิญผู้รู้ต่างๆ มาศึกษา ผมอยากเตือนว่าระวังจะเกิดปัญหาเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งมันมีข้อดีแยะ แต่ข้ออ่อนที่สุดคือมันเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความรังเกียจสิ่งที่เป็นการเมือง ดูถูกและระแวงการเมือง รัฐธรรมนูญ 2540 มีความตั้งใจตั้งแต่ต้นที่จะลดปริมาณการเมืองให้ออกไปจากการเมืองไทย โดยเอาอำนาจของผู้ชำนาญการทั้งหลายมาครอบการเมืองไว้ อันนี้อันตรายที่สุด โลกในอุดมคติแบบนั้นคือโลกแบบ สสส. คือโลกที่เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญบวกวงศาคณาญาติเข้าไปครอบงำ ใครขับรถเร็ว ใครกินเหล้ามาก สูบบุหรี่มาก สสส. ไปเกี่ยวทั้งหมด ถ้าคุณสร้างรัฐธรรมนูญแบบปี 2540 คุณจะได้โลกอุดมคติแบบ สสส. ซึ่งในฐานะคนดื่มเบียร์ ผมไม่อยากรับโลกแบบนั้นเด็ดขาด

รัฐธรรมนูญเพื่ออนาคตต้องไม่เขียนนโยบายให้คนอื่นๆ แก้ไขไม่ได้ ความฉิบหายของบ้านเมืองเรามาจากรัฐธรรมนูญต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย. 2475 ซึ่งผมคิดว่าเป็นหนึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีมากของไทย จนมาถึงฉบับปี 2560 ได้เกิดปัญหาหลายอย่างมาก เราต้องเรียนรู้ว่าจะแก้ไขอย่างไรได้บ้างและใครบ้างที่ขัดขวางประชาธิปไตยทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งผมคิดว่ามีดังนี้คือ สถาบันกษัตริย์ กองทัพ ตุลาการหรือกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ทุน การคอร์รัปชัน สมรรถภาพการบริหาร อำนาจกำกับควบคุมของประชาชนที่แทบไม่มี ทั้งยังสื่อไม่มีคุณภาพ เรามีวัฒนธรรมกดขี่ให้เราคิดอะไรไม่ออก ให้เราไร้อำนาจ คนไทยไม่ใช่ไร้อำนาจเพราะกฎหมาย แต่ตื่นขึ้นมาก็ไร้อำนาจแล้ว เพราะวัฒนธรรมครอบไม่ให้เราคิดไปต่อกรตั้งแต่ต้น

ประเด็นต่อมา สภาผู้แทนราษฎรในไทยไม่มีบทบาทอะไรเลย คนด่าว่า ส.ส. เอาแต่ทะเลาะกันอยู่ได้ นั่นเพราะเราไม่ได้ให้อำนาจ ส.ส. เลยนอกจากให้เงินเดือนแล้วให้ไปประชุมตามวาระที่กำหนด สภาคืออำนาจของประชาชนส่วนหนึ่ง เราต้องให้อำนาจสภามากขึ้น อาจารย์เสกสรรค์ (ประเสริฐกุล) เคยบอกว่า ก่อนหน้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 สถาบันทางการเมืองสำคัญที่เกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้วคือสถาบันกษัตริย์ ระบบราชการ กองทัพ ตุลาการ หลังยึดอำนาจ 2475 ก็ไม่ได้แตะสถาบันทั้งสี่เลย กระทั่งตัวโครงสร้างกองทัพก็ไม่ได้แตะ ดังนั้น สภาต้องเข้าไปกำกับควบคุมสถาบันทั้งสี่ให้ได้

อย่าลืมว่าตั้งแต่ปี 2475 สืบเรื่อยมาจนไม่นานมานี้ กษัตริย์ไม่ได้สืบราชสมบัติตามกฎมณเฑียรบาลอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาด้วย ผมจึงคิดว่า ผบ.ทบ. ที่มีกำลังอาวุธ มีกองทัพในการปราบปรามก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาเช่นกัน ประธานศาลฎีกาก็ต้องได้รับความเห็นชอบ สภาต้องให้ความเห็นชอบในบทบาทต่างๆ และต้องกระจายอำนาจ ราษฎรจึงจะมีบทบาทในทางการเมืองจริง ต้องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น รวมทั้งอำนาจการจัดการทรัพยากรให้ท้องถิ่น คุณต้องให้เขาได้จัดการไฟฟ้า น้ำ ป่าของเขาเอง

เรื่องวุฒิสภาควรมีไหม ผมคิดว่าไม่ควรมี แต่ถ้าจะมี วุฒิสภาต้องมาจากการเลือกตั้ง วุฒิสภาไม่ควรเข้ามาตรวจสอบอำนาจผู้แทนราษฎร ที่สำคัญคือทำอย่างไรให้วุฒิสภากลายเป็นพื้นที่ที่สังคมจะเข้ามาเล่นได้ งบประมาณใหญ่สุดที่วุฒิสภาควรจะได้คืองบพิมพ์หนังสือ วิทยุ ทีวี เพื่อนำประเด็นที่จะกลายเป็นกฎหมายมาบอกสังคม ชวนให้สังคมมองประเด็นปัญหาให้กว้างขึ้น ถ้าจะมีวุฒิสภา บทบาทที่ความเป็นคือการถ่วงดุลผ่านประชาชน ซึ่งก็ทำได้โดยไม่ต้องมีวุฒิสภา หากจัดระบบตรวจสอบในสภาให้ดี

อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่ผู้ประท้วงให้คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก ผมขัดใจทุกที คุณยึดอำนาจบ้านเมือง ทำบ้านเมืองเละเทะขนาดนี้ ยังบอกให้ลาออกไปเลี้ยงหลาน ทำไมใจดีกันขนาดนี้ ถ้าอยากหยุดการรัฐประหารคือต้องทำให้การรัฐประหารมันไม่คุ้ม เอาให้ไม่ว่าจะผ่านไปอีกสักกี่ปี คนทำรัฐประหารต้องนอนหลับไม่สนิทเลยจนกว่าวันที่แก่จนตาย

 

 

ประเด็นการปฏิรูปสถาบัน เมื่อนักศึกษาเริ่มเคลื่อนไหวเรื่องสิบข้อเรียกร้องวันที่ 10 สิงหาคม ผมตกใจมาก เพราะกลัวว่าการเคลื่อนไหวต่างๆ จะพังไปหมด แต่ถึงเวลานี้ คำถามที่ว่าการปฏิรูปจะเข้าไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญไหม คำตอบคือคุณหนีไม่ได้หรอก พรรคเพื่อไทยเล่นการเมืองแบบไม่แตะหมวด 1 และ 2 แต่ตอนนี้ก็เอาแล้ว พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่ยังขึ้นอยู่กับการเลือกตั้ง ส่วนหนึ่งที่การเมืองไทยเฮงซวยเพราะนักการเมืองไม่แน่ใจว่าจะมีการเลือกตั้งหรือเปล่า เลยไม่จำเป็นต้องตอบสนองประชาชน ไม่รู้ว่าในอนาคตจะได้ขอคะแนนจากประชาชนหรือเปล่า ก็ไปขอคะแนนจากคณะรัฐประหาร หากเราทำให้เกิดการเลือกตั้งสม่ำเสมอได้ เราจะคุมนักการเมืองได้มากขึ้น

การปฏิรูปจะอยู่ในรัฐธรรมนูญไหม อยู่แน่นอน หนีไม่พ้นเรื่องปฏิรูป แต่ในขณะเดียวกันแล้วจะมีการแก้รัฐธรรมนูญไหม…ผมว่าไม่แน่ ไม่เคยมีครั้งใดในสังคมไทยที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งอย่างที่เกิดในเวลานี้ ถ้าเกิดความเปลี่ยนแปลงได้จริง มันจะแรงกว่า 14 ตุลาฯ สามเท่า แรงกว่าพฤษภาทมิฬห้าเท่า และเกือบๆ หรือมากกว่า 2475 มันจะเปลี่ยนระบบไปมากมายมหาศาล

ผมหวังว่ารัฐธรรมนูญจะไม่นองเลือด ผมเห็นการนองเลือดในไทยมาแยะแล้ว จะหนีการนองเลือดด้วยการแก้รัฐธรรมนูญนั้นไม่มีทางหรอก แต่จะทำให้เกิดประเด็นของสังคม และไม่ว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ มันจะช่วยผลักดันแนวทางให้เป็นไปอย่างที่เราต้องการ เราสามารถผลักดัน ส.ส.ร. ได้ เชื่อว่ากรรมาธิการจากฝั่งรัฐไม่กล้าขัดหรอก

วิธีเดียวที่จะหนีการนองเลือดได้คือชนชั้นนำต้องรับและปรับตัวเอง ซึ่งไม่ได้เป็นการเสียสละอะไรมากมายด้วย กลุ่มซีพียังอยู่ เซเว่นก็ยังอยู่ แต่มันจะไม่น่าเกลียดเหมือนเก่า สถาบันยังอยู่เป็นที่เคารพเหมือนเดิม เพียงแต่ไม่สามารถทำอะไรก็ตามแต่ที่ประชาชนไม่พอใจ เมื่อไหร่ที่เขาไม่พอใจก็ปรับเสีย คุณคิดว่ากษัตริย์ในโลกนี้เขาไม่เอาใจประชาชนเหรอ เอาใจทั้งนั้นแหละ คุณแค่ต้องปรับตัวเอง ชนชั้นนำไทยไม่เคยถูกบังคับให้ปรับตัวอย่างแรงพอ

เจ้าอังกฤษกลายเป็นผู้ปกป้องประชาธิปไตยไปแล้ว เพราะไม่มีทางเลือก สมัยหนึ่งหลัง glorious revolution เมื่อปี 1688 เจ้าอังกฤษไม่มีอำนาจกองทัพบกในมือเลย ดังนั้น มีกษัตริย์ได้ แต่กษัตริย์จะมีกองทัพบกไม่ได้ เขาบีบจนสถาบันกษัตริย์ไม่มีทางเลือก ต้องปรับตัว แต่เราไม่เคยเกิดสภาวะนี้เลยในประวัติศาสตร์ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ในไทยไม่กล้าแม้แต่จะปรับตัวเพื่อให้ตัวเองเข้มแข็งขึ้น วิธีที่อยู่ได้นานคือสร้างเครื่องมือขึ้นมาค้ำ เช่น กองทัพ

ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนถึงพฤษภาทมิฬปี 2535 มาจนการฆ่าประชาชนปี 2552-2553 ชนชั้นนำไม่เคยปรับตัว ผมจึงคิดว่าโอกาสนองเลือดจึงเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ ต่อให้เพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) ตายไป ขบวนการก็ยังเคลื่อนไหวต่อ ถ้าเป็นแบบนี้คุณจะทำยังไง จะยอมไหม ผมไม่เคยเห็นชนชั้นนำไทยยอมปรับตัวดีๆ เลย

ขอให้ทุกคนโชคดี

 

พนัส ทัศนียานนท์ : วางรากฐานใหม่ รื้อสร้างกระบวนการยุติธรรม

 

 

ผมเห็นด้วยกับ อ.นิธิ ที่ว่าจุดอ่อนที่ร้ายกาจที่สุดของรัฐธรรมนูญ 2540 คือการรังเกียจการเมือง รัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามทำให้การเมืองใสบริสุทธิ์ผุดผ่องให้ได้ตามแนวคิดของคนที่อยู่เบื้องหลัง จึงทำให้เกิดระบบองค์กรอิสระขึ้นเพื่อมาควบคุมการเมืองอีกชั้นหนึ่ง เพราะความไม่ไว้ใจการเมือง

ปัญหาเกิดขึ้นหลังรัฐธรรมนูญ 2540 ถูกโค่นลง เกิดตุลาการภิวัตน์ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำให้เหล่าผู้พิพากษาตุลาการทั้งหลายมีอำนาจขึ้นมาก ซึ่งส่วนมากมักจะมีแนวคิดอนุรักษนิยม บางคนถึงขั้นเป็นขวาจัดด้วยซ้ำ องค์กรพวกนี้อ้างความเป็นอิสระ เพื่อใช้ระบบตรวจสอบกันเอง ซึ่งก็ทำให้เป็นเหมือนรัฐอิสระ ดังนั้นเมื่อระบบการตรวจสอบตรงนี้ล้มเหลวสิ้นเชิง มันก็ขาดความน่าเชื่อถือ ตอนที่ผมเป็น ส.ส.ร. ก็ได้คัดค้าน เพราะมองเห็นความน่ากลัว แต่ผมก็เป็นเสียงข้างน้อย รัฐธรรมนูญ 2540 ยังมีจุดที่เกาะเกี่ยวประชาชนอยู่ เช่น การมีกรรมการสรรหาเป็นตัวแทนพรรคการเมือง แต่ก็ถูกยกเลิกไปด้วยรัฐธรรมนูญ 2550 เปลี่ยนเป็นการนำเอาตุลาการเข้ามาเป็นกรรมการสรรหาเป็นหลัก

ตอนที่ผมเป็น ส.ส.ร.ทำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ผมได้เสนอให้เอาระบบ lay judges เข้ามาใช้เหมือนที่ญี่ปุ่น เพื่อให้ระบบศาลยึดโยงกับประชาชน ระบบนี้เปิดให้ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเข้าไปนั่งเป็นผู้พิพากษา ร่วมตัดสินคดีความกับผู้พิพากษาอาชีพได้ ไม่ใช่เป็นได้แค่ลูกขุน แต่ข้อเสนอนี้ก็ถูกตีตกไปในขั้นแปรญัตติ โดยมีคนแย้งว่านี่ไม่ใช่การปฏิรูปศาลแต่เป็นการปฏิวัติศาล

หากยังมีทัศนะที่ว่าองค์กรอิสระและตุลาการไม่สามารถแตะต้องได้เลย ผมก็มองไม่เห็นอนาคตของ ส.ส.ร.ชุดใหม่ที่จะเข้ามา และเป็นไปได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจจะตีตกไม่ยอมให้มี ส.ส.ร. หรือไม่เช่นนั้น ส.ว. หลายคนก็อาจโหวตคว่ำการตั้ง ส.ส.ร.ในวาระ 3 เพื่อไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้เลย อย่างมากอาจทำเพียงแก้ไขมาตรา 256 ที่ทำให้รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ง่ายขึ้นเท่านั้น นี่คือการมองในแง่ร้ายที่สุด

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผมได้เห็นการแปรญัตติของรัฐสภาชุดนี้ ก็ยังพอสบายใจขึ้นมาบ้างเพราะยังไม่เห็นใครที่จะแปรญัตติว่าจะไม่เอา ส.ส.ร. แต่สุดท้ายโมเดล ส.ส.ร.ที่จะออกมาก็น่าจะเป็นไปตามโมเดลที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอมากกว่า ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรง 150 คน และมาจากการสรรหาอีก 50 คนจากภาคส่วนต่างๆ ไม่แน่ใจว่าส.ส.ร.ลักษณะแบบนี้จะถูกครอบงำโดยรัฐบาลทั้งหมดหรือไม่ และจะทำให้การสืบทอดอำนาจยังคงมีอยู่ต่อไป เมื่อรัฐบาลกำลังคุมเสียงข้างมากและยังมี ส.ว.อีก 250 คน โอกาสที่พรรคฝ่ายค้านชนะค่อนข้างจะยากมาก

ผมสนับสนุนโมเดลที่ให้ ส.ส.ร.ทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งโดยตรง จะทำให้โอกาสที่จะครอบงำ ส.ส.ร. เกือบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย แต่ ส.ว.ท่านหนึ่งบอกว่าโมเดลแบบนี้ทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ หากมีคนมาสมัครเป็นหมื่นๆ คนก็จะยุ่งยาก เพราะฉะนั้นเราจะต้องช่วยกันกดดันให้เกิดการเปลี่ยนใจเห็นดีเห็นงามกับโมเดลลักษณะนี้ขึ้นมา

ประเด็นที่ผมติดใจมากที่สุดในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ก็คือเรื่องศาลและองค์กรอิสระ แทนที่เราจะรื้อเพียงแค่ศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียว เราอาจจะต้องรื้อระบบศาลไทยทั้งหมด เพราะระบบศาลไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงเลยนับตั้งแต่กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงก่อตั้งขึ้นมา และยังมีความพยายามขยายอำนาจของตัวเองออกไปมากขึ้น โดยอ้างความเป็นอิสระ ไม่ยอมให้แตะต้อง

ดังนั้น ถ้าจะหาฉันทมติใหม่ได้ในการร่างรัฐธรรมนูญ เราต้องพิจารณาประเด็นนี้กันอย่างหนัก การปล่อยให้องค์กรเหล่านี้คัดเลือกแต่งตั้งกันเองไม่ควรจะใช้ได้อีกต่อไป ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรองค์กรเหล่านี้ถึงจะถูกควบคุมได้โดยอำนาจของประชาชน ซึ่งแน่นอนว่าต้องกลับมาที่สภา จะทำอย่างไรให้หลักการที่ว่าสภาเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด เหมือนอย่างรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 บัญญัติไว้ แต่นักกฎหมายมหาชนทั้งหลายมักเถียงว่าระบบของเราเป็นระบบลายลักษณ์อักษร ต่างจากของอังกฤษ เพราะฉะนั้นเราจะมี supremacy of parliament ไม่ได้ แต่ในความจริงเราเคยใช้มาแล้วในรัฐธรรมนูญ 2475 ซึ่งเป็นเพียงฉบับชั่วคราว

นอกจากนี้การเขียนรัฐธรรมนูญที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารอีกก็เป็นประเด็นที่น่าขบคิด เราเคยมีเรื่องการป้องกันรัฐประหารในรัฐธรรมนูญมาก่อนแล้ว แต่สุดท้ายทำอะไรไม่ได้เพราะถูกฉีกทิ้ง รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เขียนเรื่องนี้ไว้ก็คือฉบับปี 2517 และฉบับ 2540 ก็มีความพยายามที่จะเขียนเรื่องนี้ไว้ เกิดมาตราที่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญขึ้นมา แต่กลายเป็นว่ามาตรานี้ถูกใช้ลงโทษเอาผิดฝ่ายการเมืองมากกว่า เพราะไปเขียนเติมว่า “หรือการได้มาซึ่งอำนาจรัฐด้วยวิธีการใดๆ” กลายเป็นว่าการโกงการเลือกตั้งต่างๆ ถือว่าเข้าข่ายมาตรานี้ทั้งหมด เพราะถือว่าเป็นการได้อำนาจมาโดยมิชอบ

ในเรื่องนี้เราต้องดูที่ต้นตอปัญหา เขารัฐประหารโดยไม่รู้สึกกลัวอะไร เพราะมันสำคัญที่ว่า ถ้าเขารัฐประหารสำเร็จก็เรียกตัวเองได้ว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ คนที่กำหนดคำนี้ขึ้นมาก็คือศาลยุติธรรมของเรา ตั้งแต่รัฐประหารปี 2490 ตอนนั้นมีประเด็นขึ้นมาว่ารัฐธรรมนูญใต้ตุ่มที่ร่างมาโดยมิชอบก็ไม่ควรมีผลบังคับใช้ได้ พอมีการฟ้องร้องกัน ศาลฎีกาก็ตัดสินมาว่า ผู้ยึดที่อำนาจได้และประชาชนยอมรับ ยอมสงบราบคาบ ไม่มีการต่อต้าน ถือว่าเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน นี่เลยกลายเป็นหลักนิติศาสตร์ไทยขึ้นมา กลายเป็นแนวประเพณีปฏิบัติของฝ่ายทหารว่าถ้าจะยึดอำนาจต้องทำให้สำเร็จ แล้วก็ประกาศตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์

ต้นตอที่สำคัญก็ย้อนกลับไปที่ศาลอีก แนวคิดของศาลยุติธรรมไทยไม่เคยเปลี่ยนแปลง รัฐประหารกี่ครั้งก็ฉีกรัฐธรรมนูญ การเขียนเรื่องการป้องกันรัฐประหารในรัฐธรรมนูญจึงแก้ไขอะไรไม่ได้ เลยคิดว่าเราควรเขียนในกฎหมายธรรมดาว่า ถ้าผู้พิพากษาท่านใดตัดสินว่าการทำรัฐประหารสำเร็จแล้วจะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ให้ถือว่าผู้พิพากษาคนนั้นกระทำความผิดต้องโดนลงโทษ นี่จึงจะมีผล เพราะกฎหมายฉบับนี้ยังอยู่ แม้จะฉีกรัฐธรรมนูญไปแล้ว ยกเว้นแต่ว่าคณะรัฐประหารจะยกเลิกกฎหมายตัวนี้ไปด้วย ตรงนี้ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร

มีตัวอย่างในต่างประเทศโดยเฉพาะตุรกี อาร์เจนตินา ชิลี ที่ยึดอำนาจเสร็จก็เป็นรัฏฐาธิปัตย์ นิรโทษกรรมตัวเอง แต่สุดท้ายแล้วเขาสามารถเอาคนทำรัฐประหารกลับมาลงโทษได้ กรณีของตุรกีช่วงทศวรรษ 1960 เมื่อไม่นานนี้ก็เพิ่งถูกจับขึ้นศาล ประเทศไทยเราคงต้องไปศึกษาว่าเขาทำอย่างไร ผมว่าเขาทำผ่านการประชามติ และลบล้างผลพวงรัฐประหารทั้งหมด หากเราทำสำเร็จเหมือนตุรกี นี่ก็อาจเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารขึ้นในอนาคต

ส่วนประเด็นการจำกัดอำนาจของกลุ่มทุนใหญ่ ผมว่าเราไม่มีกฎหมายที่มั่นคงพอ เราอาจมีกฎหมายป้องกันการผูกขาด ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย แต่ไม่ว่าใครเข้ามาเป็นรัฐมนตรีก็ตกอยู่ใต้อำนาจกลุ่มทุนทั้งหมด เพราะฉะนั้นการบังคับใช้กฎหมายจึงไม่มีผลอะไรเลย ไม่เหมือนกฎหมาย anti-trust ของสหรัฐอเมริกาหรือประเทศอื่นๆ ในยุโรปซึ่งมีความสำคัญมาก เขาบังคับใช้ได้ผล

ในฐานะนักนิติศาสตร์ ไม่ว่าจะมีกฎหมายอะไรก็ตาม ความสำคัญอยู่ที่การบังคับใช้ องค์กรที่บังคับใช้กฎหมายจะต้องมีจิตสำนึกประชาธิปไตย เมื่อใดก็ตามที่คนที่หน้าที่บังคับใช้กฎหมายไม่เป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ต้น ต่อให้กฎหมายที่เขียนมาอย่างดีก็จะกลายเป็นเผด็จการทั้งหมด เพราะฝีมือของผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายในการตีความกฎหมาย

สรุปแล้ว ถ้าต้องมีการรื้อสร้าง เราต้องรื้อใหม่ทั้งกระบวนการยุติธรรมแบบถอนรากถอนโคน ทั้งศาล อัยการ ตำรวจ ราชทัณฑ์ ทนายความ รวมไปถึงผู้ประกอบอาชีพด้านกฎหมายทั้งหลาย เพราะนี่คือต้นตอที่ทำให้ประชาชนเกิดความทุกข์ยากสาหัสมาจนถึงปัจจุบัน ถ้าหากเราไม่แก้เรื่องนี้ เราก็จะแก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย

 

 

สุนี ไชยรส : ฉันทมติใหม่ต้องสร้างอำนาจการเมืองภาคประชาชน

 

 

เราบอกว่ารัฐธรรมนูญเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ของผู้คนมากมายในสังคม แต่ก็มีรอยต่อระหว่างปัจจุบันกับสิ่งที่อยากเห็นในอนาคต เช่น เราอยากเห็นบทบาทของนักการเมืองในสภา เพราะใครๆ ก็เห็นว่ามันคือพื้นฐานของประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกันในรอยต่อของสถานการณ์ปัจจุบันในความเป็นจริง อาจต้องจินตนาการว่าจะต้องเป็นยังไงให้ระบบเลือกตั้งนำไปสู่จุดที่ลงตัวมากๆ เราจึงไม่สามารถที่จะยอมรับให้รัฐสภาหรือกระบวนการเลือกตั้งแบบตัวแทนเป็นพระเอกนางเอกอยู่ฝ่ายเดียว แต่ต้องให้การเมืองภาคประชาชนเข้มแข็งด้วย

บทเรียนจากรัฐธรรมนูญปี 2540 คือ เป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพไว้เหมือนจะดี แต่จุดอ่อนคือเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยเฉพาะสิทธิชุมชนที่เขียนไว้ละเอียดมาก แต่สุดท้ายระบุว่า “ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ” ซึ่งพอไม่มีการออกกฎหมายตามมา ก็บังคับสิทธิไม่ได้จริง มาถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ก็นำหลัก “ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ” มาใช้อย่างเต็มที่

ต่อมาคือบทบาทชุมชนกับอำนาจท้องถิ่นไม่ได้เขียนเชื่อมกัน อย่างการเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้จะเห็นภาพการไม่ได้เลือกการปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ดี เพราะถูกออกแบบอย่างกึ่งๆ ดังนั้น ความผูกพันกับประชาชนจึงไม่ค่อยมี และไม่สามารถแสดงพลังของส่วนจังหวัด เราจึงเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2540 มีช่องโหว่ที่ไม่เขียนเรื่องนี้ พอมารัฐธรรมนูญ 2550 ก็ไปตัดเรื่องสิทธิเสรีภาพตรงนี้มากหน่อย เราต้องการเห็นประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพของตัวเองต่อรองกับทุกอย่าง สิทธิเสรีภาพตรงนี้จะพบว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหามากที่สุด มีคนที่อยากให้เขียนกฎหมายอย่างละเอียด เพื่อว่าเขาจะสามารถใช้สิทธิของเขาได้ แต่เสียงประชาชนนั้นเขาไม่ได้พูดเป็นภาษากฎหมาย รัฐธรรมนูญจึงไม่ควรออกแบบด้วยนักกฎหมายหรือนักรัฐศาสตร์ แต่ควรเป็นเสียงที่มาจากผู้คนมากมายที่สะท้อนความจริง สะท้อนปัญหาของเขา ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 ถูกออกแบบมาอย่างนั้น กระบวนการที่ทำให้คนได้พูดปัญหาและปัญหาที่เขาพูดนั้นได้รับการรับฟัง มีผลอย่างยิ่งต่อการเขียนสิทธิเสรีภาพ

การเขียนกฎหมายให้กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะปัญหาคือโครงการขนาดใหญ่ของรัฐต่างหาก ถ้าวันนี้องค์กรท้องถิ่นไม่เห็นชอบโครงการใดๆ ของรัฐก็จะเดินหน้าต่อไม่ได้ แต่ถ้าตัวองค์กรยังไม่ตระหนักถึงอำนาจของตัวเองก็จะนำไปสู่ความวุ่นวายหลายๆ เรื่อง

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มีหมวดสิทธิเสรีภาพ 40 กว่ามาตราและเขียนไว้ละเอียดด้วย แต่รัฐธรรมนูญ 2560 มี 20 กว่ามาตรา และย้ายไปอยู่ในแนวนโยบายของรัฐซึ่งไม่มีสาระอะไรเลย แต่เพื่อจะบอกประชาชนว่าเขียนไว้ให้แล้วเท่านั้นเอง หมวดสิทธิเสรีภาพคือพื้นฐานการเมืองภาคประชาชน และเป็นพื้นฐานของการได้นักการเมืองที่ดีและยึดโยงจากทุกฝ่าย อย่างวันนี้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติมีปัญหามากที่สุด คนเดือดร้อนทั้งแผ่นดินจากการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เป็นเพราะสิทธิชุมชนกับการกระจายอำนาจไม่ไปด้วยกัน

รัฐธรรมนูญที่ดีที่พอเป็นไปได้นั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ไม่ว่าจะมีการนองเลือดและไม่นองเลือดก็ตาม แต่มันเป็นจังหวะที่ทำให้มีพลังนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง และมีกระบวนการที่มีการเกาะติดและผลักดันรัฐธรรมนูญที่พูดกัน ปีที่แล้วเราคุยเรื่อง ส.ส.ร. แต่มันเศร้ามากเลย เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ออกแบบมาให้แก้ไม่ได้ จึงไม่มีหวัง ไม่มีโอกาส แต่มีภาคประชาชนจำนวนมากเคลื่อนไหวประเด็นนี้กันมาตลอด วันนี้พรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลก็ยอมรับว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ เราจึงต้องเชื่อมั่นเสียงของประชาชนว่าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเป็นจุดเปลี่ยนที่น่าสนใจว่ามันนำมาสู่การยอมรับคือมี ส.ส.ร. จากการเลือกตั้ง

สำหรับเรื่องการเขียนรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวคิดว่าการเขียนนั้นควรเขียนให้ละเอียด เพราะการเขียนสั้นทำให้เกิดการตีความมาก ถ้ารัฐธรรมนูญเขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพไว้แต่หลักการ แล้วที่เหลือให้เป็นหน้าที่ของกฎหมายลูก จากประสบการณ์ส่วนตัวบอกได้เลยว่าเรากำลังจะเข้าสู่กับดักที่ไม่สามารถคุมสถานการณ์ได้ เพราะกฎหมายลูกอยู่ในจุดที่แก้ไขกันปรวนแปรไปหมด

อย่างไรก็ตาม หลักการการร่างรัฐธรรมนูญ บทเรียนที่ดีของปี 2540 คือเรื่องกระบวนการ ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ฟังประชาชนเลย รัฐธรรมนูญ 2540 จะออกมาหน้าตาอย่างนี้ไม่ได้ถ้าไม่มีภาคประชาชนมาเกาะติดกัน จึงต้องฝากความหวังว่าอย่าให้จบแค่ ส.ส.ร. แต่ประชาชนต้องเกาะติดทั้งเนื้อหา หน้าตา แล้วการเมืองภาคประชาชนจึงจะแสดงพลังได้มากกว่า

 

จีรนุช เปรมชัยพร : ถึงเวลาที่การฉุดรั้งไม่เกิดประโยชน์

 

 

ส่วนตัวไม่ได้มีความหวังอะไรมากนักกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่อาจต้องรอดูไปอีกสักพักหนึ่ง อย่างไรก็ตามเราจะเห็นได้ว่าเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญนี้มาไกลพอสมควร จากปีที่แล้วประเด็นนี้ยังไม่ค่อยมีใครฟังมากนัก แต่สุดท้ายมันก็เดินมาไกลได้ขนาดนี้

เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญของเราในตอนแรกก็คิดว่างานของเราจะเป็นงานยาว กว่าจะล่ารายชื่อแก้รัฐธรรมนูญได้ครบก็คงเป็นปี 2564 แต่อยู่ๆ ไอลอว์ก็มาเริ่มล่ารายชื่อตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และต้องเสร็จสิ้นภายใน 45 วัน ซึ่งเราก็เข้าร่วมด้วย จนในที่สุดได้รายชื่อกว่าแสนรายชื่อ เป็นกระแสสังคมที่บอกว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้น การฉุดรั้งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ทำให้เห็นความหวังเล็กๆ แม้ความหวังกับกระบวนการของสภาตอนนี้อาจจะมีน้อย แต่เราก็มีฉันทมติระดับหนึ่งจากภาคประชาชนว่าเราอยากได้สิ่งเหล่านี้

ประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ เมื่อเราย้อนมามองรัฐธรรมนูญของเรา จะเห็นว่าสิ่งที่ยึดโยงกับประชาชนมีเพียงสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น และก็เป็นสภาผู้แทนราษฎรที่แทบไม่มีอำนาจอะไรเลย การแก้ไขรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องการเลือกตั้ง ซึ่งก็มักจะมาด้วยวิธีคิดที่ไม่ไว้วางใจประชาชนว่าจะมีสติปัญญาพอที่จะเลือกอนาคตของตัวเอง และประชาชนก็มีอำนาจน้อยอยู่แล้ว ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่าประชาธิปไตยไทยยังไม่โต อันที่จริงตอนนี้เป็นศตวรรษที่ 21 แล้ว ประชาธิปไตยตอนนี้มันแก่หง่อม สุกงอมจนต้นขั้วใหม่มันงอกแล้ว ซึ่งเราอาจจะต้องหวังกับต้นขั้วใหม่ที่กำลังจะเติบโต

ถ้าพูดในมุมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โจทย์วันนี้คือเราต้องพูดว่าเราจะมีฉันทมติไหม ตั้งแต่เกิดวิกฤตประชาธิปไตยมา เราได้เห็นความบาดหมางของภาคประชาชนอยู่จำนวนหนึ่ง พอมาถึงประเด็นรัฐธรรมนูญ ก็อาจมีหลายกลุ่มที่ความคิดไม่ตรงกันในหลายเรื่อง แต่เท่าที่เห็น ตอนนี้เราก็เริ่มมีความเห็นพ้องกันบ้างแล้วในระดับหนึ่ง อย่างเช่น ในประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการจัดการทรัพยากร สิทธิเสรีภาพ การอยู่ร่วมกันในสังคมที่แตกต่างหลากหลาย และการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ที่สำคัญการที่จะขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ได้จำเป็นต้องพึ่งการสานเครือข่ายของภาคประชาชนเป็นอย่างมาก เหมือนที่เคยเกิดขึ้นตอนร่างรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้เห็นภาพนั้น เพราะขบวนการยังไม่เป็นเนื้อเดียวกัน ยังมีความไม่ไว้วางใจระหว่างกันอยู่ระดับหนึ่ง แต่เชื่อว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง เราจะค่อยๆ คุยกันได้

ตอนนี้เราอาจยังไม่มีการเถียงแบบแตกหักเรื่องใดเรื่องหนึ่งกันขนาดนั้น แต่มีประเด็นหนึ่งคือเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ว่าเราจะพูดกันอย่างไร พูดได้มากขนาดไหน เราจะสื่อสารเรื่องนี้อย่างไรที่ไม่ไปทำลายความชอบธรรมของข้อเรียกร้องผู้ชุมนุม และไม่ทำให้เกิดความแหลมคมที่จะกลับมาทิ่มแทงตัวเอง นี่ไม่ใช่โจทย์เฉพาะเครือข่ายประชาสังคม แต่เป็นโจทย์ของสังคมไทย และนี่น่าจะเป็นครั้งแรกตั้งแต่ช่วงปี 2475 และ 2489 ที่การร่างรัฐธรรมนูญจะต้องเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์อย่างเลี่ยงไม่ได้

 

 

หนึ่งในข้อเรียกร้องขั้นต่ำที่หลายคนอาจเห็นตรงกันตอนนี้ก็คือเรื่อง ส.ส.ร. ที่ต้องมาจากการเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ เรายังไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมเราจะต้องมี ส.ส.ร. มาจากที่มาอื่น ถึงแม้ตอนนี้แนวโน้มอาจจะไปทางโมเดลของพรรคร่วมรัฐบาลที่ให้ ส.ส.ร. ส่วนหนึ่งมาจากการสรรหา เพราะสัดส่วนของกมธ.และสภาเอียงไปทางฝั่งรัฐบาล แต่เราก็ฝากความหวังไว้ที่ ส.ส. เพราะในเมื่อพวกเขามาจากการเลือกตั้ง แล้วจะมีเหตุผลอะไรที่จะไม่ยอมรับ ส.ส.ร. ที่จะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เมื่อถึงเวลาโหวต ส.ส. ฝ่ายค้านจะต้องกุมเสียงให้มั่น ไม่อ่อนข้อยอมรับให้กับ ส.ส.ร. ที่จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งร้อยเปอร์เซนต์

นอกจากนี้เรายังต้องการรัฐธรรมนูญในภาษาที่ประชาชนเข้าใจง่าย เพราะมันเป็นเรื่องของเรา เราในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ควรอ่านและเข้าใจมันได้ด้วยสามัญสำนึก ดังนั้น ส.ส.ร. อาจไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย แต่เป็นต้องตัวแทนประชาชน

และอีกสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งก็คือ ส.ส.ร.ต้องมีสัดส่วนของหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ เราควรเปิดโอกาสและให้เวลาพวกเขาได้วาดพิมพ์เขียวอนาคตของตัวเอง

ประเด็นที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คือการกระจายอำนาจ รัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้เรื่องนี้ถดถอย การกระจายอำนาจถือเป็นกลไกที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคนในประเทศอย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญ 2540 ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ซึ่งเป็นคุณูปการสำคัญต่อพัฒนาการทางการเมืองและประชาธิปไตยของไทย ทำให้ประชาชนได้สัมผัสประสบการณ์การใช้อำนาจด้วยตัวเองในการตัดสินใจเรื่องท้องถิ่น แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ก็กลับริบเอาเรื่องนี้ไป และคนที่มีเสียงดังในสังคมอย่างคนในเมือง คนกรุงเทพฯ ก็ยังไม่พูดเรื่องนี้มากนัก เพราะยังไม่เห็นความสำคัญ ยังคงดูแคลนการเมืองท้องถิ่น มองว่าเป็นการเมืองเจ้าพ่อ การเมืองไม่ดี หรือการเมืองที่ไม่ควรไว้วางใจ ถ้าจะต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ก็อยากให้เอาประเด็นเหล่านี้กลับมาและทำให้มันดีกว่าเดิม

นอกจากนี้ เราอย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่ยาหรือกระสุนวิเศษที่จะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง บางโจทย์มันออกไปไกลจากรัฐธรรมนูญ อย่างเช่นเรื่องของทุนผูกขาดนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กว้างกว่าอย่างโครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรม และเชื่อมโยงกับอีกหลายเรื่อง รัฐธรรมนูญมีแค่คำหรือประโยคสั้นๆ สำหรับเรื่องบางเรื่องเท่านั้น แต่ก็อาจจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้หลายอย่างต่อไป เช่น ถ้าเราทำให้กระบวนการยุติธรรมที่ถูกเขียนในรัฐธรรมนูญไว้เป็นธรรมจริง บังคับใช้ได้จริง หรือมีกฎหมายอื่นๆ ที่มาประกอบที่ดี ก็จะช่วยได้

 

พริษฐ์ วัชรสินธุ : หลักแนวคิดสู่ รัฐธรรมนูญที่ดี

 

 

ถ้าประชาธิปไตยเราดีเราก็ไม่จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญเลย สะท้อนให้เห็นว่าตอนนี้เราอยู่ในวิกฤตประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

จุดเริ่มต้นที่เข้ามาทำเรื่องรัฐธรรมนูญก้าวหน้าคือ ผมแพ้เลือกตั้งจนลาออกจากพรรคการเมืองพรรคหนึ่งเมื่อพบว่าอุดมการณ์เราต่างกัน เรากังวลว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 นั้นไม่ได้รับการแก้ไข มันจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองในอนาคต ผมเลยตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้ากลางปี 2562 ซึ่งตอนนั้นความตื่นตัวยังไม่มากเท่าไหร่ ผ่านมาปีครึ่ง บทสนทนาวิวัฒนาการมาแล้ว เราค่อนข้างมีฉันทมติร่วมกันว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ แค่ต้องแก้หรือไม่แก้ประเด็นไหนเท่านั้นเอง

ในวันที่ประชาชนตื่นตัวเรื่องรัฐธรรมนูญ ต้องมีพื้นที่ให้คนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องได้เลือกทางที่เคยเกิดในอดีต มันมีทางเลือกอะไรบ้างในต่างประเทศหรือในเชิงทฤษฎีที่ทำได้บ้าง

โจทย์ที่อยากชวนคุยคือ รัฐธรรมนูญที่ดีนั้น ควรเป็นอย่างไร

เสาหลักแรกคือรัฐธรรมนูญต้องมาจากการที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ไม่ได้ซับซ้อนมาก กติกาที่ดีต้องเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายแม้จะไม่ถูกใจทุกอย่าง ซึ่งการยอมรับได้ต้องมีสององค์ประกอบ คือ เป็นกติกาที่เป็นกลางสำหรับทุกฝ่ายและบังคับใช้กับทุกฝ่าย ไม่ใช่เป็นกติกาที่เขียนขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจ หรือเขียนขึ้นมาโดยความหวาดกลัวในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รัฐธรรมนูญ 2560 เขียนขึ้นมาโดย คสช. ที่อ้างว่าจะเป็นกรรมการ แต่สุดท้ายกลายมาเป็นผู้เล่น พอคนร่างไม่ได้มีเจตนาเป็นกรรมการแต่จะเป็นผู้เล่น เลยนำไปสู่การบิดเบือนและความไม่เป็นกลางของรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่การจัดประชามติ ไม่ได้เปิดให้ทั้งสองฝ่ายหาเสียงอย่างเท่าเทียมกัน และคำถามพ่วงในการทำประชามติที่ซับซ้อนมากและขัดกับหลักประชาธิปไตยสากล สิ่งที่เลวร้ายกว่านั้นคือความพยายามชี้นำ อีกส่วนหนึ่งคือรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม หลายคนแม้กระทั่งผ่านกระบวนการประชามติก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือมีส่วนร่วมในการร่างกติกา

เสาหลักที่สอง เราสมควรจะมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย เราต่อสู้มา 80 กว่าปีก็ยังพูดไม่ได้ว่าสำเร็จแล้ว เมื่อเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ เราจะพบว่ามันถดถอยจาก 88 ปีก่อน รัฐธรรมนูญ 2560 คุ้มครองเสรีภาพประชาชนมากแค่ไหน แม้จะมีหมวดสิทธิเสรีภาพอยู่ก็ถดถอยในหลายๆ รูปแบบแม้เทียบกับรัฐธรรมนูญ 2550 เองก็ตาม มีการตัดรายละเอียดบางอย่างออกไป และมีอีกหลายสิทธิเสรีภาพที่เขียนค่อนข้างครอบคลุมแต่ปฏิบัติจริงไม่ได้ เมื่อดูการบังคับใช้กฎหมายอย่างกฎหมายอาญามาตรา 112 เขียนชัดว่าเอาผิดเฉพาะที่อาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ แต่การปฏิบัติจริงไม่ใช่เช่นนั้น และรัฐธรรมนูญ 2560 ไปเติมมาตรา 25 ว่าด้วยเงื่อนไขในการจำกัดสิทธิว่า บุคคลจะถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพถ้าสิ่งที่ทำกระทบความมั่นคงของรัฐ ซึ่งคำว่าความมั่นคงของรัฐนี่เป็นคำที่มีเพียงฝ่ายเดียวนิยามมาโดยตลอด

รัฐธรรมนูญวางโครงสร้างอำนาจองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เช่น วุฒิสภา ที่มีอำนาจมาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ขัดกับหลักหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงและยังไม่สอดคล้องกับอำนาจและที่มา อำนาจที่วุฒิสภามีต้องสอดคล้องกับที่มาที่ยึดโยงกับประชาชน แต่ที่มาของวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งทั้งนั้นเลย นี่คือความด้อยของที่มา ถ้ามององค์ประกอบความหลากหลายทางวิชาชีพ ส.ว. 108 คนจาก 250 คน มาจากทหารและตำรวจ ผมไม่คิดว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของประชาชนบ้านเราประกอบสองอาชีพนี้ และปัญหาขององค์กรอิสระ จากรัฐธรรมนูญ 2540 มาถึงรัฐธรรมนูญ 2560 มีตัวแทนภาควิชาการลดน้อยลง อำนาจเองมีปัญหาหลายส่วน ศาลและองค์กรอิสระมีอำนาจในการกำหนดจริยธรรมองค์กรทางการเมือง ซึ่งอาจกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายที่ไม่เห็นตรงกัน และตามมาด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ไม่มีองค์กรไหนเขาทำกันแล้ว แต่ความเลวร้ายคือการใช้ยุทธศาสตร์ชาติในการไปเล่นงานรัฐบาลที่อาจมาจากคนละขั้ว

รัฐธรรมนูญที่ดีควรทันสมัยและเขียนเนื้อหาเพื่ออนาคต ถ้าเราจะต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คือควรพิจารณาเรื่องสิทธิเสรีภาพ การเข้ามาของโควิด-19 นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคม พลิกคุณภาพชีวิตของประชาชนเร็วมาก ประชาชนเปราะบางกว่าที่คิดเยอะมาก รัฐควรเป็นตาข่ายรองรับให้ประชาชน ไม่มีอะไรดีไปกว่าการนำเรื่องสวัสดิการและสิทธิเสรีภาพไปอยู่ในรัฐธรรมนูญ ประชาชนควรมีตาข่ายรองรับด้านการมีงานทำ เข้าถึงสาธารณสุข การศึกษาที่มีคุณภาพ เรามีสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาอยู่แล้วแต่ถามว่ามันฟรีจริงหรือเปล่า ในอนาคต การศึกษาคงไม่ได้ถูกจำกัดแค่ช่วงประถม-มัธยม อาจจะต้องขยายไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต และอีกเรื่องคือการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อากาศที่สะอาด สุดท้ายคือสิทธิในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต โควิด-19 แสดงให้เห็นว่าคุณภาพคนที่เข้าถึงโลกออนไลน์กับเข้าไม่ถึงมันต่างกันมาก ซึ่งมันไม่เป็นเพียงอภิสิทธิ์แต่ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานด้วย

 

 

ประการสุดท้าย นอกจากการเสริมสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนมีชีวิตขั้นพื้นฐานที่ดีแล้ว การเขียนรัฐธรรมนูญที่สั้นลงอาจเป็นทางออกก็ได้ อาจไม่ได้เน้นเรื่องความยาวว่าใช้คำพูดเท่าไหร่ แต่เน้นที่ว่าหัวข้ออะไรต้องอยู่ในรัฐธรรมนูญ ผมเห็นว่าควรเขียนให้ครอบคลุมเพื่อปิดช่องโหว่เรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่ถ้าเป็นเรื่องนโยบายแห่งรัฐไม่ควรอยู่ในรัฐธรรมนูญ เพราะต้องมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้

ผมคิดว่ามีอีกสองโจทย์คือ แม้การวางรากฐาน การทำงานเชิงความคิดเรื่องเนื้อหาอาจสำคัญในปีหน้า แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้าไปมีบทบาทสำคัญๆ ในรัฐสภามันสำคัญ หลังมีการพิจารณาเจ็ดร่างเมื่อเดือนที่แล้ว ผมว่ามีปัญหา ไม่มีหลักความคิดอะไรที่แสดงว่า สสร. ไม่ควรมาจากการเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ การต่อสู้เพื่อ ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์จะช่วยปลดล็อกเรื่องการพิจารณาแก้หมวด 1 หมวด 2 และไพ่ใบสุดท้ายคือ ถ้าดูไปแล้ว ส.ส. ฝ่ายค้านไม่อาจผลักดันให้สภาโหวตรับ ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งได้ ผมว่าสภาก็ถามประชาชนไปเลย ในเมื่อต้องมีการจัดประชามติอยู่แล้ว ก็ถามไปเลยว่าจะให้ ส.ส.ร. มีสิทธิในการเสนอแก้หมวด 1 หมวด 2 ได้ไหม

อีกประการคือ โจทย์เรื่องประชาธิปไตยในภาพรวม รัฐธรรมนูญที่ดีเป็นสิ่งจำเป็น แต่โดยตัวมันเองไม่ได้นำมาสู่ประชาธิปไตยที่ดีโดยอัตโนมัติ นอกจากระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว วัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตยก็จำเป็น การจะป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารโดยการเขียนกฎหมายไม่ให้มีการรัฐประหารนั้นยากมาก เพราะจะเขียนให้คนไม่เคารพกฎหมายมาเคารพกฎหมายมันยาก แต่เราสร้างความเข้าใจให้ประชาชนได้ ที่ผ่านมาที่การรัฐประหารสำเร็จเพราะประชาชนจำนวนไม่น้อยเห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร มองหาทางออกผ่านการยึดอำนาจ ต้องทำให้ประชาชนยอมรับเรื่องนี้อีกไม่ได้โดยเด็ดขาด

ส่วนเรื่องการปฏิรูปสถาบัน มีบางส่วนที่ทำได้ผ่านรัฐธรรมนูญ ผ่านกฎหมาย แต่บางส่วนไม่เกี่ยวเลย ในส่วนรัฐธรรมนูญมีการแก้หลายมาตราที่สุ่มเสี่ยงจะเบนออกจากการเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีการให้พระราชอำนาจ ปรับกฎหมายบางอย่างที่ทำให้กษัตริย์มีข้าราชการและมีกองทัพส่วนพระองค์ได้ และทรัพย์สินก็อยู่ในการกำกับดูแลน้อยลง การพิจารณาเรื่องพวกนี้ ควรเป็นสิ่งที่คุยได้ เช่น ข้อเสนอให้กลับไปเหมือนสมัยรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งคงไม่มีใครกล้ากล่าวหาว่าเป็นการล้มล้าง เพราะเป็นการเรียกร้องให้กลับไปอยู่ในจุดที่เคยเป็นมา

ในส่วนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกฎหมายที่มีปัญหาหลายระดับ ทั้งระดับความหนักของโทษจากการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย ถ้าเราจะปรับให้ตรงหลักสากลก็ต้องลดโทษลงมามากๆ แต่ยิ่งกว่านั้น มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ด้วย พอเป็นกฎหมายอาญาทำให้เกิดการยอมความไม่ได้ เลยทำให้มีความสุ่มเสี่ยง ที่ผ่านมามาตรา 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการทำลายอีกฝ่ายที่เห็นไม่ตรงกัน พอเป็นประเด็นละเอียดอ่อน ก็อาจต้องอาศัยความกล้าหาญมากกว่ากฎหมายปกติจากเจ้าหน้าที่กระทรวงการยุติธรรม จากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะไม่สั่งฟ้อง จากอัยการ หรือจากศาลในการที่จะตัดสินว่าไม่มีความผิด หลายคนถูกดำเนินคดี 112 จากการแชร์บทความข่าวซึ่งผมว่าไม่ได้เข้าข่ายดูหมิ่นเลย แต่ทำให้คนคนนั้นรับโทษในเรือนจำ แล้วจริงๆ แล้วปัญหามาตรา 112 แก้ได้โดยไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญ รวบรวมรายชื่อจากประชาชนหนึ่งหมื่นรายชื่อก็แก้ได้แล้ว

 

พร้อมพร พันธุ์โชติ : พื้นที่ปลอดภัยเพื่อการส่งเสียงของคนทุกกลุ่ม

 

 

การที่รัฐธรรมนูญถูกฉีกทิ้งและร่างใหม่เรื่อยๆ ส่วนตัวมองว่านี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง อยู่ที่ว่ารัฐธรรมนูญได้ถูกออกแบบเพื่อใครหรือกลุ่มไหน เพราะรัฐธรรมนูญเป็นตัวกำหนดทิศทางการเมืองหรือการบริหารประเทศว่าใครจะเป็นผู้มีอำนาจ คุณสมบัติของ ส.ส. จะเป็นอย่างไร เราต้องดูว่ากลไกเหล่านี้สอดคล้องกับความต้องการหรือปากท้องของประชาชนจริงๆ หรือไม่

ในการเลือกตั้ง เมื่อประชาชนเลือกพรรคที่ต้องการแล้ว พรรคการเมืองนั้นก็ได้เข้าไปในสภาเพื่อเป็นตัวแทนของประชาชน แต่ปัญหาคือว่าเสียงตรงนั้นกลับไม่ถูก represent ออกไป เนื่องจากอาจจะเป็นเรื่องของกลไกการสืบทอดอำนาจ หรือการที่รัฐธรรมนูญถูกสงวนให้กับใครหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทำให้รัฐธรรมนูญไม่ตอบโจทย์แท้จริง นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงออกมาขับเคลื่อนผ่านการชุมนุม เพราะพวกเขามองว่าเสียงของเขาไม่ถูก represent ปัญหาของพวกเขาไม่ถูกแก้ไขอย่างแท้จริง อย่างเรื่องสวัสดิการขั้นพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องของสุขภาพ การรักษาพยาบาล หรือเรื่องต่างๆ ตอนนี้กลายเป็นว่าแม้แต่เด็กนักเรียนก็ออกมาตั้งคำถามถึงสิ่งที่พวกเขาไม่เคยตั้งคำถามหรือไม่เคยรู้สึกว่าสิ่งที่ทำต่อๆ กันมามันดีไม่ดีอย่างไร แต่เมื่อพวกเขาตั้งคำถามไปแล้ว กลับกลายเป็นว่าผู้ใหญ่ไม่ให้คำตอบ นี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปัญหาเรื้อรังรุนแรงถึงปัจจุบัน

ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ต้องการแค่จะปรับเปลี่ยนเพื่อคนรุ่นใหม่ แต่รวมถึงกลุ่มคนหลายเจเนอเรชัน การที่เราจะได้เห็นรัฐธรรมนูญที่ดีในอนาคต สิ่งที่ออกมานั้นจะต้องฟังก์ชันกับทุกสถาบัน ทุกกลุ่มคนในสังคม แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก ถ้าการเมืองดีจริง เราก็จะต้องได้อะไรคืนมาบ้าง อย่างเช่นเรื่องของสวัสดิการพื้นฐาน แต่ในปัจจุบันที่เราเห็นคือรัฐบาลมีที่มาจากทหาร ซึ่งให้ความสำคัญกับการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ เราต้องมาคิดกันใหม่ว่าอะไรที่จำเป็นในตอนนี้ ถ้าลดงบการป้องกันประเทศ การทหารไป เราอาจมีงบเรื่องการศึกษา สวัสดิการ อนามัย และคมนาคมที่มากขึ้นได้ ซึ่งสุดท้ายมันย้อนกลับไปสู่คำถามที่ว่าประชาชนทุกคนจะมีความรู้ความเข้าใจเพียงพอไหมต่อสวัสดิการที่พวกเขาควรจะได้รับ รวมทั้งต่อรัฐธรรมนูญที่เป็นกลไกออกแบบทิศทางการบริหารประเทศ

นอกจากนี้ทุกคนควรจะมีสิทธิมีเสียงที่จะพูดได้ในหลักการและเหตุผล เราควรมีพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพแสดงออกความคิดเห็นได้ เพราะเราไม่ควรละเลยเสียงตรงส่วนไหนไปเลย ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนนักศึกษา พวกเขาควรถูกรับฟัง เราจะต้องคุยกันอย่างมีหลักการ มีเหตุผล ตัดเรื่องอารมณ์ และความหยาบคายออกไป ก็จะส่งผลดีกว่าสำหรับรัฐธรรมนูญที่จะออกมาในอนาคต

 

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save