fbpx
‘รัฐธรรมนูญสนทนา’ จุดเริ่มต้นฉันทมติใหม่ เพื่ออนาคตที่นับรวมทุกคน

‘รัฐธรรมนูญสนทนา’ จุดเริ่มต้นฉันทมติใหม่ เพื่ออนาคตที่นับรวมทุกคน

กองบรรณาธิการ เรื่อง

 

ในห้วงเวลาที่สังคมเต็มไปด้วยเสียงของประชาชนที่เรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ‘รัฐธรรมนูญ’ เป็นหนึ่งข้อเรียกร้องสำคัญที่กลายเป็นความคาดหวังว่าจะเป็นหนทางสู่ทางออกการเมืองไทยและสามารถสร้างสังคมที่ทุกคนฝันร่วมกันได้

ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเว็บไซต์สื่อความรู้สร้างสรรค์ The101.world บริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด จึงเปิดตัวโครงการ Constitution Dialogue: รัฐธรรมนูญสนทนา ที่มุ่งทำงานวิจัยและสื่อสารความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญสู่สาธารณะ เพื่อชวนสังคมร่วมกันคิด-ถกเถียง-สร้างสรรค์รัฐธรรมนูญเพื่ออนาคตที่นับรวมทุกคน

โครงการนี้เป็นการรวมตัวของนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่คิดเห็นร่วมกันว่าอยากศึกษาวิจัยเรื่องรัฐธรรมนูญในประเด็นสำคัญ พร้อมกันนั้นต้องการชวนสังคมร่วมคิด ร่วมแลกเปลี่ยน โดยคณะผู้วิจัยทำการเสนอข้อเสนอสู่สังคม แล้วให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์และสร้างสรรค์เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญร่วมกัน

หัวข้อการศึกษาวิจัยและชวนสังคมสนทนาจะมีทั้งหมด 8 เรื่อง ได้แก่ 1. โครงสร้างการเมืองใหม่: การออกแบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ และประชาชน 2. ระบบเลือกตั้ง: สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และพรรคการเมือง 3. การเมืองภาคประชาชน: สิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชน 4. ศาลรัฐธรรมนูญ 5. องค์กรอิสระ 6. การกระจายอำนาจ 7. การปฏิรูประบบยุติธรรม และ 8. รัฐ นโยบายสาธารณะ ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ

โครงการนี้มีที่ปรึกษาโครงการคือ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะนักวิจัย ได้แก่ สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สฤณี อาชวานันทกุล บริษัท ป่าสาละ จำกัด, ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปกป้อง จันวิทย์ The101.world

คณะผู้วิจัยกล่าวแนะนำว่า โครงการนี้ไม่ได้มุ่งยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับหรือรายมาตรา แต่อยากทำวิจัยเพื่อสร้างบทสนทนาในสังคมบนฐานความรู้

“เราอยากชวนให้สังคมได้สนทนาในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ เปิดประเด็นที่น่าชวนคิด ชวนคุย ตั้งคำถามที่ ‘ใช่’ ในเรื่องสำคัญ และมองหาคำตอบอันหลากหลายที่น่าสนใจ เราหวังว่าโครงการนี้จะทำให้การสนทนาเรื่องรัฐธรรมนูญในสังคมสนุกขึ้น ลึกขึ้น กว้างขึ้น และใกล้ตัวขึ้น เผื่อจะเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่น่าสนใจ และเกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อให้สังคมไทยออกจากหล่มอดีตและรับมือกับโลกอนาคตได้ดีขึ้น

“เราหวังว่าในอนาคตเมื่อมีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นสัญญาประชาคมจริงๆ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจริงๆ และเป็นรัฐธรรมนูญเพื่ออนาคตจริงๆ เราจะได้มีชุดความรู้และข้อเสนอในเรื่องสำคัญไว้เป็น ‘ฐาน’ ให้สังคมใช้ถกเถียงแลกเปลี่ยนกันต่อ เป็นฐานให้สังคมศึกษาวิจัยกันต่อ และเป็นฐานเพื่อใช้ขับเคลื่อนผลักดันรัฐธรรมนูญใหม่ที่สังคมยอมรับกันถ้วนหน้าต่อไป”

 

หมายเหตุ – สรุปความจากงานเปิดตัวโครงการวิจัยและชุดเสวนาสาธารณะ “Constitution Dialogue : รัฐธรรมนูญสนทนา” เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ประจักษ์ ก้องกีรติ, ประภาส ปิ่นตบแต่ง, สิริพรรณ นกสวน สวัสดี, สฤณี อาชวานันทกุล, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง, ณัฐกร วิทิตานนท์,สมชาย ปรีชาศิลปกุล, ปกป้อง จันวิทย์

 

 

รัฐธรรมนูญคือสัมพันธภาพทางอำนาจในสังคม

 

 

สำหรับ ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาชวนให้มองรัฐธรรมนูญในความหมายกว้างกว่าแค่ตัวบทกฎหมายหรือมุมมองทางนิติศาสตร์ ดังที่ อ.เสน่ห์ จามริก ให้นิยามรัฐธรรมนูญไว้ในหนังสือ ‘การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ’ ว่ารัฐธรรมนูญคือตัวบอกสัมพันธภาพทางอำนาจในสังคม เราจึงเห็นชีวประวัติการเมืองไทยผ่านการอ่านประวัติรัฐธรรมนูญไทย

“ตอนนี้ทุกคนน่าจะตระหนักว่ารัฐธรรมนูญที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน หากเปรียบเทียบเป็นประวัติชีวิตคนคือเราร่างรัฐธรรมนูญให้สังคมไทยชราภาพก่อนวัย ไม่แข็งแรง ไม่มีสมรรถภาพในการรับมือความท้าทายในอนาคต เราจึงต้องมาทบทวนรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ใช่ในฐานะบทบัญญัติทางกฎหมายที่เป็นเรื่องทางเทคนิคที่ทำให้สุดท้ายรัฐธรรมนูญอยู่ในมือนักนิติศาสตร์ 10-20 คน แต่ถ้าเรามองว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจ การร่างรัฐธรรมนูญใหม่คือการปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจ ทุกคนจึงต้องมีส่วนร่วม โดยเฉพาะคนที่เสียเปรียบและคนที่ไร้อำนาจต่อรอง”

เมื่อมองประวัติรัฐธรรมนูญไทยที่ผ่านมา เขาเห็นว่ามีฉบับที่พอจะเรียกได้ว่า ‘รัฐธรรมนูญที่ดี’ ซึ่งวางอยู่บนหลักการประชาธิปไตยจำนวนสามฉบับ คือฉบับพ.ศ. 2489 ฉบับพ.ศ. 2517 และฉบับพ.ศ. 2540

“รัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับนี้ไม่ได้เพอร์เฟ็กต์ โจทย์วิจัยจึงไม่ได้ตั้งต้นว่าจะไปลอกฉบับใดมา แต่จะนำแต่ละฉบับมาเป็นบทเรียนเพื่อร่างรัฐธรรมนูญที่ไปไกลกว่าเดิม เช่นที่หลายคนยกย่องว่ารัฐธรรมนูญ 2540 โดดเด่นเรื่องกระบวนการที่มาและเนื้อหาที่ตอบโจทย์การเมืองไทยในยุคสมัยนั้น แต่ตอนนี้โจทย์การเมืองไทยไม่ได้เหมือนโจทย์ตอนร่างรัฐธรรมนูญ 2540 เราจึงไม่ควรยกเป็นโมเดลแล้วลอกเลียน แต่เราควรตั้งต้นว่าต้องร่างให้ได้ดีกว่าปี 2540 เพื่อตอบโจทย์การเมืองไทยตอนนี้”

ประจักษ์ มองว่า ความท้าทายของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือการร่างรัฐธรรมนูญที่คาดหวังให้เป็นประชาธิปไตยในบรรยากาศทางการเมืองแบบไม่เป็นประชาธิปไตย ขณะที่รัฐธรรมนูญที่ดีสามฉบับซึ่งเขายกขึ้นมานั้นล้วนเกิดขึ้นตอนที่สังคมมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยแล้ว โจทย์ตอนนี้จึงยากกว่า

“โจทย์ที่สำคัญจึงกลายเป็นว่า แทนที่จะรอให้มีการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงก่อนแล้วค่อยมีรัฐธรรมนูญ แต่เราจะใช้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่คนทุกกลุ่มมีส่วนร่วม นำพาสังคมไทยไปสู่ประชาธิปไตยได้อย่างไร”

นอกจากนี้ ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญที่ดีจะเกิดขึ้นหลังจากที่มีการนองเลือดแล้วจึงเกิดฉันทมติ แต่เขาต้องการให้การร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นไปเพื่อป้องกันการนองเลือดอีกครั้ง

“ดูจากประวัติศาสตร์โลก การร่างรัฐธรรมนูญที่ดีไม่มีทางเกิดมาจากสภาอย่างเดียวได้ สุดท้ายการขับเคลื่อนนอกสภามีความสำคัญ ทั้งจากการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนและภาควิชาการ การเคลื่อนไหวภาคประชาชนจะผลิตเจตจำนงว่าประชาชนอยากเห็นรัฐธรรมนูญหน้าตาแบบไหน แต่ภาควิชาการเป็นการผลิตฐานทางปัญญาและองค์ความรู้ ซึ่งสังคมไทยมีฐานทางปัญญาและองค์ความรู้มากเกินกว่าจะปล่อยให้การร่างรัฐธรรมนูญตกอยู่ในมือเนติบริกรไม่กี่คน เราต้องยุติวงจรการผลิตรัฐธรรมนูญโดยมือปืนรับจ้างร่างรัฐธรรมนูญ”

ประจักษ์กล่าวว่า คณะนักวิจัยมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรมีหลักคิดอยู่บนสามแกน

1. เป็นรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่ฉันทมติใหม่ที่ทุกคนยอมรับร่วมกัน นำไปสู่การปรับสมดุลอำนาจใหม่ โดยยึดหลักอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนและไม่ควรผลิตอำนาจที่ไม่สามารถตรวจสอบได้

2. รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ซึ่งต้องมาพร้อมหลักคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพ การกระจายอำนาจ สวัสดิการของประชาชน คุณภาพชีวิต และวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตย

3. รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรจะเป็นรัฐธรรมนูญเพื่ออนาคต ไม่ได้ตอบโจทย์อดีต แต่รัฐธรรมนูญที่ดีควรตอบโจทย์อนาคตที่กำลังมาถึงได้ ไม่ใช่เพียงแค่ตอบโจทย์เฉพาะหน้า

 

สังคมที่ประชาธิปไตยลงหลักปักฐานจะไม่มีผู้เชี่ยวชาญการร่างรัฐธรรมนูญ

 

 

ด้าน สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชวนทบทวนภาพการเมืองไทยกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา

“ภาพที่เราเห็นชัด คือ สถาบันทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งถูกลดทอน จำกัด หรือถูกทำลาย ให้มีความสำคัญน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองหรือองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ขณะที่สถาบันการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งขยายจำนวน อำนาจ บทบาท และมีความสำคัญในการชี้ขาดปัญหาการเมืองเพิ่มมากขึ้น เช่นในการทำหน้าที่ของศาลและองค์กรอิสระต่างๆ จนกลายเป็นปมประเด็นปัญหาสำคัญหนึ่งทางการเมือง ทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้การเปลี่ยนผ่านจากรัชกาลที่ 9 มาสู่รัชกาลที่ 10 ส่วนตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็มีความเปลี่ยนแปลงมหาศาล ทั้งในแง่โครงสร้างทางการและในเชิงวัฒนธรรม

“สิ่งหนึ่งที่เราเห็นคือสิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกปรับเปลี่ยนทั้งเชิงลายลักษณ์อักษรและในโลกความเป็นจริง เกิดการคุกคามประชาชนโดยกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นี่คือความเปลี่ยนแปลงในภาพกว้างที่เราเห็นช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา”

ในการชวนสังคมคุยเรื่องรัฐธรรมนูญใหม่ สมชายมองว่ามีอย่างน้อยสี่เรื่องที่ต้องคำนึง

1. รัฐธรรมนูญต้องตั้งอยู่บนหลักว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน คนทุกกลุ่มมีส่วนในการผลักดันประเด็นต่างๆ ของตัวเองให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ

2. ต้องจัดวางความสำพันธ์ของสถาบันทางการเมืองต่างๆ ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ประชาชน สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อบรรลุถึงประโยชน์ส่วนรวม กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ และปัจเจกบุคคล มีการจัดวางถ่วงดุลตรวจสอบอำนาจแต่ละฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

3. ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ต้องวางอยู่บนหลักการ ‘พระมหากษัตริย์ปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง’ อันหมายความว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในสถานะประมุขของรัฐ โดยไม่ได้ทำหน้าที่บริหารบ้านเมืองเฉกเช่นในหลายประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภาและมีพระมหากษัตริย์ดำรงตำแหน่งประมุข นั่นคือหลักการ The King Can Do No Wrong หรือ พระมหากษัตริย์มิอาจกระทำความผิด เพื่อจัดวางให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่พ้นไปจากการเมือง

4. รัฐธรรมนูญต้องเปิดพื้นที่และเปิดโอกาสให้ประชาชนต่อสู้ต่อรองได้อย่างเสมอหน้า เปิดโอกาสให้สถาบันการเมืองต่างๆ ไม่ถูกผูกขาดโดยกลุ่มทุนหรือชนชั้นนำ

สมชายกล่าวทิ้งท้ายว่า “พวกเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญการร่างรัฐธรรมนูญ ในสังคมที่ประชาธิปไตยสามารถลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงจะไม่มีผู้เชี่ยวชาญการร่างรัฐธรรมนูญ เฉพาะแต่ในสังคมที่ประชาธิปไตยอ่อนแอและล้มเหลวอย่างต่อเนื่องมาอย่างยาวนานเท่านั้น ที่จะทำให้เกิดผู้เชี่ยวชาญการร่างรัฐธรรมนูญขึ้น เหมือนที่สังคมไทยมีผู้เชี่ยวชาญการร่างรัฐธรรมนูญ และเราไม่อยากเห็นผู้เชี่ยวชาญการร่างรัฐธรรมนูญในสังคมนี้อีกต่อไป ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม”

 

ระบบเลือกตั้ง : ปฐมบทสัมพันธภาพทางอำนาจ

 

 

“เราหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะนำไปสู่ฉันทมติใหม่ในสังคมได้ เวลาเราพูดถึงสัมพันธภาพอำนาจที่สมดุล จะเกิดขึ้นได้ ปฐมบทส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง ถ้าการเลือกตั้งไม่สามารถนำมาสู่ผู้ใช้อำนาจหลักทางการเมืองอย่างสมดุลได้ สัมพันธภาพทางอำนาจจะไม่เกิด”

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองประเด็นระบบเลือกตั้งว่าจะทำอย่างไรให้ระบบเลือกตั้งไม่ถูกปู้ยี่ปู้ยำ เป็นที่มาเพื่อการรองรับอำนาจของคนกลุ่มหนึ่ง ไม่ถูกใช้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองใดหรือปิดบังอำนาจของบางพรรคการเมืองที่ไม่ต้องการ

“ระบบเลือกตั้งต้องทำให้พรรคการเมืองมีความเป็นสถาบัน ที่ผ่านมาพรรคการเมืองถูกกดทับ บดขยี้ โดยระบบราชการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ระบบเลือกตั้งต้องเป็นเครื่องมือทำให้สถาบันพรรคการเมืองเกิดขึ้นได้ ตั้งง่าย ยุบยาก และเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างรัฐและประชาชนได้ ซึ่งระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้เจตนารมณ์และเจตจำนงของประชาชนถูกบิดเบือน”

หลักที่สิริพรรณอยากชวนมองในการคุยเพื่อมองหาฉันทมติใหม่ในสังคมมีอยู่สามข้อ

1. หน้าตาของรัฐบาล สังคมต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราต้องการเห็นรัฐบาลหน้าตาแบบไหน เช่น ผู้นำรัฐบาลต้องมาจากการเลือกตั้งไหม รัฐบาลจะเป็นแบบพรรคเดี่ยวหรือรัฐบาลผสม และผสมกี่พรรค ปัจจุบันเรามีรัฐบาลผสม 20 พรรค มีพรรคการเมืองในสภา 26 พรรค การกำหนดจำนวนพรรคในสภาสามารถทำได้ผ่านการกำหนดสูตรเลือกตั้ง แต่จำนวนพรรคการเมืองในสภามีความหมายมากกว่านั้น เราต้องคุยกันว่าเราต้องการเห็นความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับพรรคการเมืองในลักษณะไหน เช่น แบบหนึ่งเขตหนึ่งคนเพื่อให้ดูแลกันง่าย หรือระบบบัญชีรายชื่อที่ทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้งนั้นใหญ่ไปไหม จะทำให้ประชาชนเชื่อมโยงกับตัวแทนแค่ไหน

2. การตรวจสอบถ่วงดุล เราต้องการการตรวจสอบในแนวราบลักษณะใด การตรวจสอบระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ สัมพันธ์กับเรื่องที่ว่าเราต้องการสภาเดี่ยวหรือสภาคู่ ตอนนี้กระแสไม่ต้องการ ส.ว. มาค่อนข้างแรง สังคมต้องทบทวนให้รอบคอบว่าระบบรัฐสภาที่ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติมีที่มาเดียวกัน และฝ่ายบริหารครอบงำฝ่ายนิติบัญญัติง่ายอย่างที่เป็นอยู่นั้น การมีสภาเดียวจะตอบโจทย์หรือไม่ และหากถ้ามีวุฒิสภาแล้วจะมีที่มาอย่างไร ใช้อำนาจมากน้อยแค่ไหน เลือกนายกฯ ได้หรือเปล่า

3. มองหานวัตกรรมใหม่ เราอยากเห็นรัฐธรรมนูญในอนาคต เราอยากเห็นการมองไปข้างหน้า การมองหานวัตกรรมทางการเมืองใหม่ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมที่นอกเหนือจากการเลือกตั้ง ทำอย่างไรเราจะทำให้คนที่ถูกละเลยและถูกลิดรอนมีพลังมากขึ้น เช่น ทำไมผู้ใช้แรงงานในสังคมไทยเวลากลับไปเลือกตั้งในภูมิลำเนาจึงไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ที่เขาทำงานและจ่ายภาษีได้ คนจำนวนมากไม่สามารถไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งท้องถิ่นได้เพราะไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า เราต้องการหานวัตกรรมใหม่ เช่น การลงทะเบียนใช้สิทธิ นวัตกรรมเหล่านี้จะช่วยให้เราก้าวไปสู่การมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ทำให้คนเล็กคนน้อยเข้มแข็งและมีพลังต่อรองมากขึ้น

 

องค์กรอิสระ ต้องอิสระแค่ไหน?

 

 

ในประเด็นเรื่ององค์กรอิสระ เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าเป็นส่วนที่เข้าไปควบคุมการเมืองแบบเลือกตั้ง ซึ่งองค์กรอิสระเริ่มมาจากรัฐธรรมนูญ 2540 ผ่านมา 20 ปีเรายังไม่ตกผลึกว่าจะเอาอย่างไรกับองค์กรอิสระต่อ

แนวคิดรัฐธรรมนูญ 2540 คือการเมืองแบบเลือกตั้งเข้มแข็งและระบบตรวจสอบเข้มแข็งกว่า ต่อมารัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 เราไม่พยายามจำกัดองค์กรเหล่านี้ แต่กลับทำให้อิสระมากขึ้น

“พูดอย่างไม่หลอกตัวเององค์กรอิสระเป็นปัญหาหนึ่งของการเมืองไทย 5-6 ปีที่ผ่านมา ไม่มีช่วงไหนที่เราจะไม่ได้ยินชื่อองค์กรเหล่านี้ที่มีส่วนกำหนดเงื่อนไขความขัดแย้งทางการเมือง เรามักพูดกันถึงเรื่องตุลาการภิวัตน์ แต่ไม่พูดถึงองค์กรอิสระว่าเป็นคนชงเรื่องสู่องค์กรตุลาการ

“เราต้องถามว่าความเป็นอิสระนั้นเราจะมีไปเพื่ออะไร เราคาดหวังความเป็นมืออาชีพและความคล่องตัวให้องค์กรอิสระต่างจากระบบราชการธรรมดา เราอาจต้องยอมรับว่าความเป็นอิสระไม่เท่ากับความเป็นมืออาชีพและความเป็นกลางทางการเมือง เวลาออกแบบองค์กรพวกนี้ใหม่ เราต้องคิดว่าเราต้องการคุณสมบัติอะไร โดยไม่สับสนกับเรื่องความเป็นอิสระ

“ก่อนปี 2540 เรามีหลายหน่วยงานที่ได้ชื่อว่าอิสระ เช่น แบงก์ชาติ จุดอ่อนการออกแบบรัฐธรรมนูญ 2540 คือเรารู้อยู่แล้วว่าอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ มาพร้อมกับการตรวจสอบถ่วงดุล แต่พอมีองค์กรที่ไม่อยู่ในสามอำนาจนี้ทำให้ไม่มีวิธีคิดและบรรทัดฐานว่าจะควบคุมกันอย่างไร เราคัดเลือกคนที่มีคุณสมบัติดีหรือคุณสมบัติสูงพร้อมเข้าไป แต่หลังจากนั้นแทบไม่มีกลไกติดตามตรวจสอบการทำงาน แนวคิดการคัดเลือกคนที่มีคุณสมบัติสูงสอดคล้องเรื่องการเมืองคนดี การคัดเลือกคนมีอำนาจที่เราไว้เนื้อเชื่อใจในคุณธรรมส่วนตัวเข้าไปโดยไม่มีกลไกตรวจสอบอำนาจนั้นอย่างเป็นทางการ”

เข็มทองมองโจทย์เรื่ององค์กรอิสระว่า องค์กรอิสระหลายองค์กรยังคงต้องมีอยู่ เพราะโดยหน้าที่ไม่สามารถให้อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ แต่ทำอย่างไรให้องค์กรเหล่านี้เป็นอิสระพอสมควรและยังมีความรับผิดชอบอยู่ ต้องพยายามหาจุดสมดุล นำไปสู่คำถามว่า ขอบเขตอำนาจหน้าที่ต้องปรับปรุงไหมและโครงสร้างที่มาต้องปรับปรุงไหม

 

โจทย์การเมืองภาคประชาชน: ถ่ายโอนอำนาจสู่คนข้างล่าง

 

 

ในประเด็นเรื่องการเมืองภาคประชาชน ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่าการเมืองภาคประชาชนที่ถูกสถาปนาในรัฐธรรมนูญ 2-3 ฉบับที่ผ่านมา หากมองเรื่องคนจน คนด้อยอำนาจ มีปัญหาในประเด็นเรื่องโครงการขนาดใหญ่เข้ามากระทบ เรื่องการตัดสินใจนโยบายสาธารณะที่ไปรุกรานทรัพยากรชุมชน รวมถึงประเด็นการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบ

สี่โจทย์ที่เขาอยากชวนมอง คือ

1. ทำอย่างไรรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะถ่ายโอนอำนาจไปสู่คนข้างล่างได้ รัฐธรรมนูญ 2540 หรือ 2550 มีความพยายามผลักให้เกิดการถ่ายโอนการจัดการชีวิตสาธารณะสู่คนข้างล่าง ในแง่ของการใช้อำนาจทางตรง การตรวจสอบ การมีส่วนร่วมในนโยบายสาธารณะ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้มุ่งถ่ายโอนอำนาจสู่คนข้างล่าง แต่มุ่งเอาอำนาจไปที่คนข้างบน ไปสู่องค์กรอิสระ หรือแม้กระทั่งการถวายคืนพระราชอำนาจ รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีคำว่า “ภาคประชาชน-องค์กรพัฒนาเอกชน-ประชาสังคม” มีแต่คำว่า “ความมั่นคงของรัฐ-ความสงบเรียบร้อย”

2. รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรสร้างการเมืองภาคประชาชนเชิงสถาบันให้ลงหลักปักฐาน ที่ผ่านมาเราจะเห็นถึงความจำกัดของประชาธิปไตยแบบตัวแทน แต่ในประสบการณ์ของภาคประชาชนนั้น ประชาธิปไตยแบบตัวแทนเป็นเงื่อนไขจำเป็น แต่ไม่เพียงพอ

สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรการถ่ายโอนอำนาจจะขยายไปสู่ประชาธิปไตยทางตรงหรือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม อย่างน้อยในรัฐธรรมนูญ 2540 หรือ 2550 เราเห็นกลไกเหล่านี้ขยายไปมาก แต่รัฐธรรมนูญ 2560 เราเห็นความถดถอย ตกต่ำ เบาบาง เช่น เรื่องสิทธิการมีส่วนร่วมทางตรงที่เคยอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2550 ก็หายไป

3. เรื่องหลักประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่จะรองรับการเมืองภาคประชาชน เช่น ประเด็นเรื่องสิทธิชุมชน คนจนคนด้อยอำนาจถูกรุกรานฐานทรัพยากร แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดสิทธิชุมชนว่าเป็นหน้าที่ของรัฐ แต่มีปัญหามากมาย เช่น ไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายลูกรองรับ

4. เรื่องนโยบายสาธารณะ มีเรื่องสำคัญสองมิติ 1) กระบวนการเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ การนำนโยบายไปปฏิบัติและการประเมินนโยบายโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 มีบทบัญญัติเหล่านี้ และมีความพยายามผลักให้เกิดกฎหมายลูก แต่ในรัฐธรรมนูญปัจจุบันสิ่งเหล่านี้หายไปหมด ซึ่งมาตรา 77 ไม่สามารถมาทดแทนได้ 2) ปัญหาใหญ่ของรัฐธรรมนูญ 2560 คือ แนวนโยบายแห่งรัฐเป็นแนวนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์ พิธีกรรม ความเป็นชาติ (symbolic policy) ไม่ได้มุ่งไปสู่การกระจายใหม่ (redistributive policy) เราจึงต้องพูดเรื่องนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการสังคมต่างๆ

“ภาพใหญ่ที่สุดคือต้องถ่ายโอนอำนาจไปสู่ผู้คนข้างล่างในทุกมิติ” ประภาสเน้นย้ำ

 

ประเทศต้องออกจากระบบราชการรวมศูนย์

 

 

สำหรับเรื่องการกระจายอำนาจ ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ตั้งต้นมองจากรัฐธรรมนูญ 2540 ว่าทำให้เกิดประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นตั้งแต่ระดับจังหวัดลงมา ทำให้ประชาชนได้เลือกนายก อบจ. ผลักดันให้เกิดการกระจายอำนาจอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

“โจทย์ครั้งนี้เราอยากสำรวจต่างประเทศมากขึ้น เพราะโจทย์กระจายอำนาจในรัฐธรรมนูญ 2540 แข็งตัวเกินไป ไม่ก่อให้เกิดการปกครองในรูปแบบที่หลากหลาย ปัญหาท้องถิ่นควรแก้ได้ด้วยท้องถิ่นเอง และองคาพยพสังคมไทยไม่ได้ขับเคลื่อนตามรัฐธรรมนูญ 2540 ความเป็นอิสระของท้องถิ่นจึงไม่เกิด เพราะกฎหมายส่วนใหญ่บ้านเราเกิดในยุครัฐรวมศูนย์ อำนาจท้องถิ่นในทางปฏิบัติจึงถูกลิดรอนโดยอำนาจส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค

“โจทย์รอบนี้ผมอยากสำรวจรัฐธรรมนูญต่างประเทศมากขึ้นว่ามีโจทย์เรื่องการปกครองท้องถิ่นอย่างไรบ้าง เช่นเรื่องอำนาจหน้าที่ รายได้ การคลัง มีการกำหนดไว้ไหม เราอยากเห็นตัวอย่างของประเทศที่ออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจได้อย่างแท้จริง เราจะไปเรียนรู้และเป็นโจทย์ในการเสวนากันว่าไทยจะไปถึงขนาดนั้นได้ไหม”

เป้าหมายในการศึกษาของเขาคืออยากให้งานวิจัยนี้พาสังคมไทยออกจากระบบรัฐราชการรวมศูนย์ที่ทำให้ปัญหาท้องถิ่นต้องมาตอบที่กรุงเทพฯ ทำให้คนท้องถิ่นไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง เช่นปัญหาเรื่องทรัพยากร ฝุ่น ระบบขนส่งสาธารณะ ต้องให้ท้องถิ่นกำหนดอนาคตได้ด้วยตัวเอง

“เราพยายามออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อนำพาประเทศออกจากระบบราชการรวมศูนย์ รัฐธรรมนูญ 2540 ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนกำหนดโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นเอง รวมถึงระบบเลือกตั้งที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันหมด เราสามารถเปิดช่องให้ยืดหยุ่นได้ไหม ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาที่เราแก้ไม่ตก เช่น ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้” ณัฐกรกล่าว

 

โจทย์รัฐธรรมนูญเพื่ออนาคต: สร้างหลักประกันในกระบวนการมีส่วนร่วม

 

 

สำหรับการตั้งโจทย์รัฐธรรมนูญเพื่ออนาคต สฤณี อาชวานันทกุล บริษัท ป่าสาละ จำกัด มองว่า โลกปัจจุบันเป็นยุค VUCA คือ ความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความสลับซับซ้อน (Complexity) ความคลุมเครือ (Ambiguity) รัฐธรรมนูญที่ดีจึงยิ่งต้องเปิดพื้นที่ให้การแข่งขันทางนโยบาย

“รัฐธรรมนูญที่แข็งตัวเกินไปหรือเขียนเรื่องหน้าที่ของรัฐหรือแนวนโยบายที่แข็งตัว อาจทำให้เรามองไม่เห็นว่าในอนาคตจะมีโจทย์อะไรบ้าง เช่นเรื่องโควิด เมื่อเกิดขึ้นมาเราต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และไม่ได้ใช้กลไก พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และหลังจากเลือกตั้งก็ยังไม่มีกฎหมายปฏิรูป”

โจทย์สำคัญที่สฤณีอยากชวนมอง คือ ในโลกที่ผันผวนเต็มไปด้วยความเสี่ยงอุบัติใหม่ จะมีอะไรดีไปกว่าการสร้างหลักประกันว่าประชาชนจะมีช่องทางต่างๆ ที่ครบถ้วนในการแสดงออกซึ่งเจตจำนง และสามารถไปใช้สิทธิได้ ไม่ว่าสิทธิในประชาธิปไตยทางตรงหรือสิทธิในการเลือกพรรคการเมือง จึงต้องสร้างระบบนิเวศที่พรรคการเมืองต่างๆ สามารถแข่งขันกันเชิงนโยบาย นำเสนอวิสัยทัศน์และทางเลือกมาแข่งขันกันได้

“หน้าที่ของรัฐ คือ เราคาดหวังให้รัฐคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนในโลกยุคใหม่ที่เป็นโลกเทคโนโลยี เรามีบิ๊กดาต้า มีเรื่องความโปร่งใสที่ต้นทุนต่ำกว่าอดีต เราย่อมคาดหวังได้ว่าอยากเห็นรัฐเพิ่มอำนาจประชาชนในการร่วมตรวจสอบ กระบวนการดำเนินนโยบายควรมีส่วนร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อก่อน ซึ่งควรต้องสร้างหลักประกันเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมไว้มากกว่าเรื่องตัวนโยบายที่อยากปล่อยผู้เล่นทุกฝ่ายมีโอกาสนำเสนอและแข่งขันกัน

“ในเมื่อโลกอนาคตเราไม่มีทางรู้ว่าจะมีความเสี่ยงใหม่อะไร รัฐธรรมนูญไม่ควรมีเนื้อหาเยิ่นเย้อและยาว รัฐธรรมนูญที่ดีไม่ควรเชย ต่อให้คนอีกสองสามรุ่นให้หลังมาอ่านต้องยังรู้สึกได้ถึงความคิดและหลักการพื้นฐานว่าเราต้องการสร้างหลักประกันอะไรบ้าง ต้องไม่เจอคำที่เขาไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยินในยุคของเขา รัฐธรรมนูญจึงต้องมีความกระชับ ชัดเจน และคงเส้นคงวาของเนื้อหา คนอ่านควรเข้าใจตรงกันได้โดยไม่ต้องตีความ มีรัฐธรรมนูญในหลายประเทศที่อยู่มาได้นานโดยไม่ต้องแก้ และพาประเทศไปตอบโจทย์ความท้าทายได้” สฤณีกล่าว

 

รัฐธรรมนูญใหม่ ความหวังจากรุ่นสู่รุ่น

 

 

หลังฟังคณะนักวิจัยนำเสนอโจทย์รัฐธรรมนูญแต่ละด้านแล้ว ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษาโครงการ Constitution Dialogue : รัฐธรรมนูญสนทนา กล่าวว่า การเคลื่อนไหวรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีส่วนร่วม แต่เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่บรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ

“การมีส่วนร่วมของประชาชนเกิดขึ้นจริงหลัง 14 ตุลาฯ 2516 นำไปสู่ร่างรัฐธรรมนูญ 2517 ที่มีอายุสั้น อันเป็นรัฐธรรมนูญที่เริ่มการกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่นไปทุกภาคส่วนเป็นครั้งแรก ซึ่งให้เริ่มดำเนินการทันทีหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แต่บทเฉพาะกาลอนุโลมให้เวลาสองปี หากไม่เกิด 6 ตุลาฯ 2519 การกระจายอำนาจจะเกิดตั้งแต่ตอนนั้น

“ความสูญเสียโอกาสของการพัฒนาประชาธิปไตยในการสร้างระบอบการปกครองที่ตอบสนองผลประโยชน์และการมีส่วนร่วมของประชาชนจริงๆ ถูกทำลายลงไปในทุกช่วงของการขยับสู่พัฒนาการใหม่ การเมืองไทยจะถูกโชคชะตาที่ไม่เป็นใจต่อประชาชนไทยให้เกิดการพลิกฟื้นอำนาจเก่าขึ้นมาทุกครั้ง โดยมีกองทัพเป็นเครื่องมือยุติการพัฒนาประชาธิปไตยให้เต็มรูปแบบ ทำให้ถึงตอนนี้เราอยู่ในบรรยากาศที่การสร้างประชาธิปไตยยังไม่เป็นผลดีนัก

“แต่เมื่อเกิดขบวนการเยาวชนปลดแอกขยายเป็นคณะราษฎร 2563 ก็เป็นไฟลามทุ่งอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นปรากฏการณ์ที่มีที่มาที่ไป ทุกครั้งที่เราเขียนรัฐธรรมนูญ เราฝันถึงอนาคต แต่ลืมคิดว่าทำไม 20 ฉบับที่ผ่านมามันไม่ไปเสียที ตอนนี้เราสั่งสมประสบการณ์มากพอควรที่จะนำมาใช้ขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญใหม่ได้

“เราเริ่มเคลื่อนไหวท่ามกลางบรรยากาศที่ไม่เอื้อต่อการร่างรัฐธรรมนูญ แต่หลายท่านบอกว่ายังไงเราก็ต้องผลักดัน เพราะมีการเริ่มต้นแล้ว ต้องขอบคุณเยาวชนคนหนุ่มสาวที่ออกมาจุดประกาย นักทฤษฎีบอกว่าระบอบประชาธิปไตยต้องเกิดขึ้นผ่านคนกลุ่มหนึ่งเข้าไปเอาชนะเพื่อสร้างเสียงข้างมาก อีกกลุ่มบอกว่าต้องมีศีลธรรมความเชื่อ แต่มีอีกกลุ่มหนึ่งบอกว่าต้องมาด้วยแรงปรารถนา ผมคิดว่าขบวนการที่เกิดขึ้นมาด้วยแรงปรารถนา เรากำลังเข้าสู่ยุคที่แรงขับเคลื่อนเป็นผลพวงของโลกาภิวัตน์ อย่างขบวนการ Black Lives Matter ก็มาจากแรงปรารถนาของคนที่สั่งสมความรู้สึกถูกกดขี่มาหลายรุ่น

“คนรุ่นใหม่ของเราก็สะท้อนความอัปยศอดสูของคนหลายรุ่นไว้จนเป็นขบวนการปลดปล่อยของพวกเขา สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดมาก่อน และมันต้องไปต่อไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น หากมองจากประวัติศาสตร์ชนชั้นนำไทยไม่ยอมเจรจาต่อรอง ปัญหาภาคใต้ที่เกิดขึ้น ถ้าชนชั้นนำยอมประนีประนอมก็จบไปนานแล้ว แต่ก็เหมือนทุกเรื่องในไทยว่าต่อให้มีคนไม่ยอม เขาก็ปกครองต่อได้ เพราะมีคนส่วนหนึ่งที่ยอม ผมหวังว่าการเริ่มต้นครั้งนี้จะเดินต่อไปอย่างเป็นรูปธรรมและสร้างสรรค์” ธเนศกล่าวทิ้งท้าย

 

 


โครงการวิจัยและชุดเสวนาสาธารณะ

Constitution Dialogue : รัฐธรรมนูญสนทนา”

ร่วมคิด ร่วมถก ร่วมสร้างสรรค์ รัฐธรรมนูญเพื่ออนาคต

 

1. โครงการ Constitution Dialogue: รัฐธรรมนูญสนทนา

Constitution Dialogue: รัฐธรรมนูญสนทนา เป็นโครงการวิจัยและชุดเสวนาสาธารณะ ที่มุ่งทำงานวิจัยและสื่อสารความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญสู่สาธารณะ เพื่อชวนสังคมร่วมกันคิด-ถกเถียง-สร้างสรรค์รัฐธรรมนูญเพื่ออนาคตที่นับรวมทุกคน

หัวข้อหลักที่ Constitution Dialogue: รัฐธรรมนูญสนทนา จะเปิดประเด็นชวนสังคมสนทนาเรื่องรัฐธรรมนูญ ได้แก่ (1) โครงสร้างการเมืองใหม่: การออกแบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ และประชาชน (2) ระบบเลือกตั้ง: สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และพรรคการเมือง (3) การเมืองภาคประชาชน: สิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชน (4) ศาลรัฐธรรมนูญ (5) องค์กรอิสระ (6) การกระจายอำนาจ (7) การปฏิรูประบบยุติธรรม และ (8) รัฐ นโยบายสาธารณะ ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ

คณะนักวิจัยจะศึกษาวิจัยในหัวข้อหลักทั้ง 8 เรื่อง โดยวิเคราะห์เนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540, 2550 และ 2560 ร่วมกับกรอบแนวคิดและองค์ความรู้ใหม่ รวมถึงกรณีศึกษาต่างประเทศที่เป็นประโยชน์ แล้วนำเสนอข้อเสนอสำหรับรัฐธรรมนูญเพื่ออนาคตฉบับใหม่สู่สาธารณะ (บางประเด็นอาจเป็นข้อเสนอที่อยู่ในระดับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติ) เพื่อเป็น ‘ฐาน’ สำหรับการแลกเปลี่ยนถกเถียง การศึกษาวิจัยต่อ หรือการขับเคลื่อนผลักดันรัฐธรรมนูญใหม่ของสังคมต่อไป

โครงการนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับหรือรายมาตรา แต่มีเป้าหมายเพื่อสร้างฐานความรู้ หรือจัดกรอบคิด (framing) สำหรับชวนสังคมร่วมคิด ร่วมถกเถียง และร่วมจัดทำข้อเสนอในประเด็นสำคัญทางรัฐธรรมนูญในอนาคต

 

2. กิจกรรมความรู้ของโครงการ

– ชุดเสวนาสาธารณะ เพื่อนำเสนอข้อเสนอจากผลการวิจัยเบื้องต้นในแต่ละหัวข้อหลักต่อสาธารณะ และชวนสังคมร่วมสนทนาความคิด จำนวนอย่างน้อย 9 ครั้ง ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ถึงเดือนกรกฎาคม 2564

– รายงานวิจัยสาธารณะ จำนวน 9 เรื่อง (8 ประเด็นหลัก และบทสังเคราะห์)

 

3. หลักคิดพื้นฐาน: ออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ สร้างฉันทมติใหม่ เพื่ออนาคตสังคมไทย

โครงการ Constitution Dialogue: รัฐธรรมนูญสนทนา ตั้งใจชวนสังคมร่วมกันออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ สร้างฉันทมติใหม่ เพื่ออนาคตสังคมไทย โดยคณะนักวิจัยมีหลักคิดพื้นฐานเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญใหม่ของสังคมไทย ดังนี้

(1) รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเป็นสัญญาประชาคมใหม่ ที่สะท้อนความสมดุลเชิงอำนาจ ภายใต้หลัก “อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน”

– รัฐธรรมนูญต้องเป็นสัญญาประชาคมใหม่ภายใต้หลัก “อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน” ประชาชนทุกกลุ่มมีส่วนร่วมในการออกแบบอย่างแท้จริง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน

– รัฐธรรมนูญต้องเป็นการออกแบบโครงสร้างการเมืองใหม่ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ บนหลักการ ‘พระมหากษัตริย์ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง’ (The King Reigns but Does not Rule) และ ‘พระมหากษัตริย์มิอาจกระทำความผิด’ (The King Can Do No Wrong) เนื่องจากสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่พ้นไปจากการเมือง

– รัฐธรรมนูญต้องเป็นกฎหมายสูงสุดที่วางโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจของสังคมการเมืองไทย ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ และประชาชน โดยมีเป้าหมายสุดท้ายเพื่อบรรลุศักยภาพสูงสุดในระดับสังคมส่วนรวม กลุ่ม และปัจเจกบุคคล, รักษาผลประโยชน์สาธารณะที่นับรวมทุกคน และจัดวางอำนาจต่อรองระหว่างแต่ละสถาบันอย่างเหมาะสม (เสริม-คาน-ดุลอำนาจกันอย่างลงตัว)

– รัฐธรรมนูญต้องยึดมั่นในหลักนิติธรรม (rule of law) หรือการปกครองของกฎหมายที่ยุติธรรม มีมาตรฐานเดียว ทุกคนเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมาย ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมดำเนินไปอย่างอิสระ เป็นกลาง และเที่ยงธรรม อำนาจรัฐถูกจำกัดด้วยกฎหมาย และถูกกำกับด้วยรัฐสภา รัฐธรรมนูญ และศาลที่เป็นอิสระ

– รัฐธรรมนูญต้องเปิดโอกาสและเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถเข้าไปต่อรอง แบ่งสรร และปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองและกลุ่มผลประโยชน์ที่ตนสังกัดในสถาบันการเมืองอย่างเท่าเทียม ไม่ถูกผูกขาดโดยกลุ่มการเมืองใหญ่ และกลุ่มทุนใหญ่

– รัฐธรรมนูญต้องสร้างองค์กรตรวจสอบอำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพ เป็นอิสระจากฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ แต่มีกลไกการควบคุมการใช้อำนาจที่ทำให้ต้องรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจของตัวเอง มีที่มาที่เชื่อมโยงกับประชาชนและถูกกำกับตรวจสอบได้โดยประชาชน ที่สำคัญ ทำงานอย่างเป็นมืออาชีพ

(2) รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

– รัฐธรรมนูญต้องเชื่อมั่นในการเมืองภาคประชาชน ยืนยันในหลักสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ถูกล่วงละเมิดมิได้ เช่น สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่ม สิทธิชุมชน สิทธิในการใช้ชีวิตที่มีคุณค่าและอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี และมีการกำหนดหน้าที่พื้นฐานของรัฐควบคู่กัน เช่น การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของรัฐต่อสาธารณะ การกำกับดูแลเพื่อป้องกันการผูกขาด เป็นต้น

– รัฐธรรมนูญต้องให้การรับรองสวัสดิการพื้นฐานแก่สมาชิกในสังคม เช่น การศึกษา การสาธารณสุข ที่มีคุณภาพดีถ้วนหน้า เพื่อให้ประชาชนสามารถทำหน้าที่พลเมืองได้อย่างเต็มศักยภาพ

– รัฐธรรมนูญต้องเปิดพื้นที่ให้กับการเมืองภาคประชาชนอย่างเต็มที่ โดยออกแบบกลไกให้ประชาธิปไตยตัวแทนและประชาธิปไตยทางตรง (ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม) สามารถทำงานร่วมกัน (ไม่ใช่แทนกัน) ได้อย่างเหมาะสมลงตัว ทั้งในกลไกการเมืองระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และระดับปัจเจก

– รัฐธรรมนูญต้องคำนึงถึงพหุวัฒนธรรมและความหลากหลายในสังคม ทั้งเรื่องเพศสภาพ ชาติพันธุ์ ศาสนา วิถีชีวิต และความเชื่อ

– รัฐธรรมนูญต้องเชื่อมั่นในหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ประชาชนและท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการชีวิตสาธารณะของตัวเอง ผ่านการให้หลักประกันว่าด้วยสิทธิในการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่นของประชาชน โดยกลไกการปกครองส่วนท้องถิ่นมีรูปแบบที่หลากหลายสอดคล้องกับความต้องการและการตอบสนองต่อปัญหาในแต่ละท้องถิ่น

– รัฐธรรมนูญต้องออกแบบกระบวนการด้านนโยบายสาธารณะให้มีธรรมาภิบาล ตั้งแต่กระบวนการกำหนดนโยบาย ดำเนินนโยบาย และประเมินผลนโยบาย โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม เปิดเผยข้อมูลสาธารณะอย่างโปร่งใส มีกลไกความรับผิดชอบ และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนร่วมตรวจสอบตลอดทั้งกระบวนการ

– รัฐธรรมนูญต้องถูกออกแบบในทางส่งเสริมวัฒนธรรมประชาธิปไตย สร้างความเข้มแข็งด้านประชาธิปไตยในระดับวิถีชีวิตรอบตัวของผู้คนและสังคม โดยเปิดพื้นที่ให้เกิดการทำงานการเมืองเชิงวัฒนธรรมด้วย

(3) รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเป็นรัฐธรรมนูญเพื่ออนาคต

รัฐธรรมนูญต้องมีความพร้อมในการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทัน มีศักยภาพรับมือกับปัญหาในอนาคตที่ยังคาดไม่ถึงและมองไม่เห็นในปัจจุบัน โดยเชื่อมั่นและเปิดพื้นที่ให้ชุมชนการเมืองในอนาคตแก้ปัญหาของตนในอนาคตได้ สร้างนวัตกรรมได้ โดยไม่ถูกผูกมัดด้วยจินตนาการของผู้ร่างในยุคสมัยปัจจุบัน

– รัฐธรรมนูญต้องบัญญัติแก่นเนื้อหาหลักเท่าที่จำเป็น สั้น กระชับ เข้าใจได้ในหมู่ประชาชน และมีสภาพบังคับใช้ได้จริง ไม่ได้เป็นเพียงแค่ตัวหนังสือสวยหรู ส่วนเนื้อหาในรายละเอียดหรือสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญให้บัญญัติไว้ในกฎหมายลูก

– รัฐธรรมนูญต้องไม่ลดทอนเจตจำนงของประชาชน โดยไม่มีการบัญญัติเนื้อหาสาระเชิงนโยบายและอุดมการณ์ (เช่น แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ แผนยุทธศาสตร์ชาติ ฯลฯ) ไม่มีการกำหนดไว้ก่อนแล้วว่ารัฐต้องเดินไปทางไหน ภายใต้อุดมการณ์อะไร แต่ให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดชีวิตส่วนตัวและสังคมที่ดีขึ้นด้วยมือของเขาเอง ผ่านช่องทางและกลไกทางการเมืองต่างๆ เช่น ในสนามเลือกตั้ง ซึ่งควรเป็นสนามแข่งขันเชิงนโยบายและอุดมการณ์อย่างสมบูรณ์ มีการแข่งขันระหว่างแต่ละกลุ่มอย่างเต็มที่ เสรี และเป็นธรรม

 

4. คณะทำงาน

ที่ปรึกษา : ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คณะนักวิจัย :

สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

– ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

– สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

– ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

– สฤณี อาชวานันทกุล บริษัท ป่าสาละ จำกัด

– ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

– เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

– ปกป้อง จันวิทย์ เว็บไซต์สื่อความรู้สร้างสรรค์ world

องค์กรเครือข่าย :

ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

– ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

– ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

– เว็บไซต์สื่อความรู้สร้างสรรค์ world บริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด

 

ติดต่อและส่งข้อมูลข่าวสาร: ส่งมาได้ทางอีเมลของโครงการ [email protected] หรือให้คณะนักวิจัยแต่ละคนโดยตรง

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save