fbpx
เราพูดอะไรได้บ้างในสังคมนี้? : พื้นที่สื่อสารที่ปลอดภัยกับการทำความเข้าใจและคลี่คลายความขัดแย้ง

เราพูดอะไรได้บ้างในสังคมนี้? : พื้นที่สื่อสารที่ปลอดภัยกับการทำความเข้าใจและคลี่คลายความขัดแย้ง

พรรษาสิริ กุหลาบ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา ศาลอาญาได้พิพากษายกฟ้องคดีที่ พัฒน์นรี ชาญกิจ แม่ของ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว นักกิจกรรมทางการเมือง ถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการพิมพ์ตอบทางเฟซบุ๊กว่า “จ้า” รวมทั้งยกฟ้องคดีที่ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีหลายสมัย ถูกกล่าวหาว่าทำผิดมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวมถึงฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จากการแถลงข่าววิพากษ์การทำรัฐประหารของ คสช. ที่เกิดขึ้น 5 วันก่อนหน้านั้น

คดีทั้งสองเกิดขึ้นขณะที่ คสช. ยึดอำนาจการบริหารประเทศ และเป็นคดีที่ถูกโอนมาจากศาลทหาร โดยคดีของพัฒน์นรีกินเวลากว่า 4 ปี ขณะที่ของจาตุรนต์ยืดเยื้อมากว่า 6 ปี ทั้งยังเป็นกรณีที่แสดงให้เห็นเด่นชัดว่า ขอบเขตของการ “พูด” ที่นำมาซึ่งคดีอาญาร้ายแรงช่างกว้างขวางจนเกินคาดเดา ตั้งแต่การตอบกลับบทสนทนาสั้นๆ ไปจนถึงการชี้แจงปัญหาตามหลักการและในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง

การยกฟ้องคดีทั้งสองอาจเรียกความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมคืนมาได้บ้าง แต่เมื่อกลับมาพิจารณาจำนวนผู้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองในครึ่งหลังของปีนี้ที่ถูกไล่ฟ้องคดี 112 ในช่วงไม่ถึงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาซึ่งมี 36 คน (เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2563) การที่ผู้นำการเคลื่อนไหวอย่าง ทนายอานนท์ นำภา และ เพนกวิ้น-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ถูกฟ้องมาตรานี้ถึง 7 คดี และมีเยาวชนอายุเพียง 16 ปีถูกตั้งข้อหาด้วย แถมยังมีคดีการเมืองอื่นๆ อีกยาวเป็นหางว่าว สภาพการณ์นี้ก็ชวนให้ตั้งคำถามต่อว่า เราจะ “พูด” อะไรได้กันบ้างในสังคมที่ขัดแย้งแบ่งขั้วอย่างยืดเยื้อ โดยเฉพาะถ้อยคำที่ดูเหมือนจะมีลิขสิทธิ์ไปแล้วว่าพูดได้เฉพาะบางคนบางกลุ่มเท่านั้น

 

การ “ห้ามพูด” ไม่นำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้ง

 

หากย้อนไปดูบทเรียนจากการสร้างกระบวนการสันติภาพเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองและความไม่สงบในชายแดนใต้ของไทย ปัจจัยสำคัญที่นักวิชาการและภาคประชาสังคมมักกล่าวถึงคือ “พื้นที่กลาง (Common Space)” ที่จะเชื่อมโยงให้กลุ่มสังคมต่างๆ ได้เข้าถึงข้อมูลและสนทนากัน ทั้งผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในความขัดแย้ง กลุ่มคนที่มีความเห็นแตกต่าง รวมถึงประชาชนทั่วไปที่อาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพื่อให้เห็นว่าเราทุกคนล้วนเป็นหุ้นส่วนในการคลี่คลายความขัดแย้งร่วมกันและมีศักยภาพในการสร้างสันติภาพได้

กรอบคิดหลักที่ผู้ทำงานสันติภาพในชายแดนใต้มักกล่าวถึง ซึ่งพัฒนามาจาก “ปิรามิดในการสร้างสันติภาพ (Peacebuilding Pyramid)” ของ John Paul Lederach นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องการคลี่คลายความขัดแย้ง ย้ำความสำคัญของภาคประชาสังคม (Track 2) และชุมชนรากหญ้า (Track 3) ในการผลักดันและรับประกันให้กระบวนการสันติภาพที่ดำเนินการโดยผู้กำหนดนโยบายและกลุ่มขัดแย้งหลัก (Track 1) ต้องเดินหน้าต่อไป เพื่อให้ภาคประชาสังคมและประชาชนแสดงบทบาทในการสร้างกระบวนการสันติภาพได้เต็มที่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ยังเสนอว่าระบบการสื่อสารควรมีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนสภาพได้ตามความเปลี่ยนแปลง เหมาะกับธรรมชาติของชุมชนที่แตกต่าง และเป็นเครือข่ายที่โยงใยถึงกัน เพื่อเชื่อมต่อภาคส่วนต่างๆ ผ่านช่องทางและรูปแบบการสื่อสารที่หลากหลายได้

หลักฐานเชิงประจักษ์จากการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพโดยภาคประชาสังคมและประชาชนในชายแดนใต้ ผ่านการจัดเวทีสนทนา การประชุมวิชาการ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา คือการที่ผู้คนสามารถอภิปรายถกเถียงกันในพื้นที่สาธารณะในหัวข้อที่เอื้อต่อการทำความเข้าใจและคลี่คลายความขัดแย้ง ได้แก่ การสร้างความยุติธรรม การเจรจาสันติภาพ และที่สำคัญคือการปกครองและการบริหารท้องถิ่นแบบพิเศษ (Autonomy) ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นเรื่องต้องห้าม โดยไม่ต้องหวั่นเกรงผลเชิงลบหรือการคุกคามมากเท่าในอดีต

สาระสำคัญจากการพูดคุยเรื่องกระบวนการสันติภาพในชายแดนใต้ยังสอดคล้องกับข้อเสนอที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ เขียนไว้ว่า “กระบวนการสันติภาพมิใช่เพียงธุระของคนในสามสี่จังหวัดภาคใต้ แต่เป็นภารกิจของคนไทยทั้งสังคม” เพราะประเด็นเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดเรื่องความมั่นคงของรัฐ การจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี อำนาจทางการเมืองและการกระจายทรัพยากร…” เกี่ยวพันกับชีวิตของประชาชนทั้งประเทศ ดังที่เห็นได้จากหัวข้อต่างๆ ที่นักเรียน นักศึกษา ประชาชนนำมาอภิปรายในการชุมนุมทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ

ในเมื่อภาคประชาสังคม นักวิชาการ และประชาชนคุยกันเรื่องนี้อย่างคึกคักกว้างขวาง สื่อมวลชนทั้งในท้องถิ่นและกระแสหลักก็ไม่มีเหตุผลที่จะเลี่ยงการรายงานประเด็นเหล่านี้ และชวนให้เกิดการอภิปรายในแง่มุมอื่นนอกจากด้าน “ความมั่นคง” แบบเดิม เพราะถือเป็นวาระที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญและมีผลกระทบต่อสาธารณะ ไม่ใช่เรื่องที่สื่อสารกันในวงใต้ดินแคบๆ หรือเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

ขณะที่บทเรียนจากกระบวนการสันติภาพไอร์แลนด์เหนือยังชี้ให้เห็นปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการปลดล็อกความขัดแย้ง คือการใช้กระบวนการประชาธิปไตยในการเปิดเผยข้อเท็จจริง เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับรู้มูลเหตุแห่งความคับข้องใจของกันและกัน และหาข้อตกลงที่จะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันต่อไปได้ ดังนั้น กระบวนการสันติภาพจึงไม่ได้หมายความว่าให้ลืมๆ ความเคืองแค้นและอันตรายต่อชีวิตที่เกิดขึ้นในอดีตโดยไม่ชำระสะสางแล้วกัดฟันจับมือกัน แต่หมายถึงทำให้ความจริงปรากฏและยอมรับผิดรับชอบต่อความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นอย่างจริงใจ

ด้วยเหตุนี้ สื่อมวลชนและช่องทางการสื่อสารที่เป็นอิสระและปลอดภัยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการอำนวยความสะดวกให้ทุกฝ่ายได้เข้าถึงข้อเท็จจริง เพื่อทำความเข้าใจรากเหง้าของปัญหา เห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน และสร้างเจตจำนงร่วมกันในการไม่ใช้ความรุนแรงเข้าจัดการกับความขัดแย้ง รวมทั้งทำให้กระบวนการสันติภาพขับเคลื่อนต่อไปได้โดยไม่มีใคร “เท” หรือ “แกง” กันกลางทาง

 

พื้นที่สื่อสารที่ทนฟังกันได้และไม่ใช้ความรุนแรง

 

ในความขัดแย้งทางการเมืองที่ต่างฝ่ายขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน แทนที่รัฐและผู้มีอำนาจจะบอกว่าห้ามพูด ห้ามค้าน ห้ามวิจารณ์ กลับยิ่งเป็นช่วงเวลาที่จะต้องสร้างความเข้าใจและกลไกที่ทำให้เชื่อใจกันได้ รวมถึงทำให้ประชาชนทุกคนเป็นหุ้นส่วนในการคลี่คลายความขัดแย้งและสร้างฉันทามติใหม่ของสังคม ไม่เฉพาะผู้ที่แสดงจุดยืนชัดเจนว่าสนับสนุนหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐเท่านั้น เพราะเราทุกคนที่อยู่ในประเทศนี้และโลกนี้ต่างได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง รวมทั้งโครงสร้างที่บิดเบี้ยวซึ่งเอื้อต่อความเหลื่อมล้ำและอยุติธรรม (ผายมือไปที่การระบาดอีกระลอกของโควิด-19)

หากเกรงว่าการสื่อสารที่ตรงไปตรงมาจะเผยความจริงที่แหลมคมหรือมีท่าทีดุเดือดเกินกว่าจะมองหน้ากันได้ ก็ต้องโต้แย้งกันด้วยความเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อช่วยกันสร้าง “ภาษา” และกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตย เป็นธรรม และทนฟังกันได้ ไม่ใช่ใช้ความรุนแรงระดับต่างๆ เข้าห้ำหั่น อยากจะให้คนรักคนเห็นใจ ก็ควรใช้ความเป็นมิตรและจริงใจ ไม่ใช่บังคับหรือตบกลับ

นอกจากนี้ สิ่งที่สังคมและสื่อมวลชนควรตั้งคำถามและหาคำตอบใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการย้ำว่าเราต้องสื่อสารกันอย่างมีอารยะและเป็นมิตรจนบางครั้งก็เลี่ยงที่จะพูดถึงรากเหง้าของปัญหาตรงๆ คือกรอบเกณฑ์ในการตัดสินความ “หยาบคาย” ของสังคมคืออะไร คุณค่าทางสังคมแบบไหนที่ทำให้เราจึงมองว่าคำพูดหรือการกระทำนั้นไม่สุภาพหรือสร้างความเกลียดชัง และเพราะอะไรผู้ที่เราเห็นว่า “เถื่อน” จึงใช้ความ “ถ่อย” แบบนั้น

ขณะที่บอกให้คนที่ถูกมองว่าเถื่อนและถ่อย “คุยกันดีๆ” “ถอยคนละก้าว” หรือ “ทุกฝ่ายหยุดใช้ความรุนแรง” ก็ควรหันมาพิจารณาด้วยว่าทำไมเรามักจะซัดกลุ่มคนที่ถูกมองว่าทำผิดกฎหมายและมีอำนาจต่อรองต่ำได้อย่างสบายปากสบายใจด้วยวาจาและกิริยาที่ดุเดือด ซ้ำยังเน้นความ “เป็นอื่น” ไม่ว่าจะเป็น “ผู้ประท้วง” “พวกเด็กๆ (ที่ถูกล้างสมอง)” “โจรใต้” “ชาวเขา” หรือ “แรงงานต่างด้าว” รวมถึงสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงกับคนที่ถูกมองว่าน่ารังเกียจเหล่านี้ในระดับต่างๆ ได้

เราควรจะตั้งคำถามมากกว่าว่า หากคนที่ประสบปัญหาเข้าถึงช่องทางปกติไม่ได้ ถูกใช้อำนาจกดทับมาตลอด ความจริงเกี่ยวกับความอยุติธรรมไม่ปรากฏ หรือไม่ได้รับการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส สังคมมีทางเลือกเพื่อไม่ให้เขาต้องใช้ “ความรุนแรง” ในการเรียกร้องให้รัฐหรือคนอื่นๆ หันมาใส่ใจปัญหาหรือไม่ หรือเรามีกระบวนการทางการเมืองและพื้นที่สาธารณะให้สื่อสารกันได้ด้วยศักดิ์ศรีและอำนาจที่เท่าเทียมกันอย่างทั่วถึงหรือเปล่า

 

ทุกคนต้อง “พูดได้” และ “ได้พูด” ผ่านพื้นที่สาธารณะและกระบวนการประชาธิปไตย

 

ตัวอย่างกระบวนการสันติภาพในชายแดนใต้และไอร์แลนด์เหนือที่ยกมาข้างต้นอาจไม่สามารถนำมาอธิบายเงื่อนไขและบริบทที่ซับซ้อนของความขัดแย้งทางการเมืองไทยในปัจจุบันได้ทั้งหมด แต่ผู้เขียนเห็นว่าแนวคิดนี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเคลื่อนไปข้างหน้า ในเมื่อหลายฝ่ายก็ต้องการการแก้ไขโดยไม่ใช้ความรุนแรง

ไม่ได้บอกว่าทุกวันนี้สถาบันทางการเมือง สังคม หรือสื่อมวลชนไม่ทำหน้าที่ แต่สังคมที่ยังเรียกร้องหาความยุติธรรมย่อมต้องการพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยมากกว่าที่มีอยู่ การพูดคุยเรื่องความขัดแย้ง สันติภาพ และประเด็นที่มักถูกตีตราว่า “พูดไม่ได้” ต้องเป็นวิถีปกติในชีวิตประจำวันเหมือนที่เราต้องป้องกันโรคติดต่อร้ายแรง เพื่อให้สังคมจินตนาการถึงทางเลือกที่หลากหลายในการไม่ใช้ความรุนแรง

เช่นเดียวกับประชาธิปไตย สันติภาพเป็นทั้งเป้าหมายและกระบวนการที่เจอกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายอยู่เสมอ หากสถาบันต่างๆ และประชาชนไม่ช่วยกันสร้างและประคับประคองให้กระบวนการเดินหน้า เป้าหมายที่คิดว่าเคยได้มาแล้วก็อาจจะหายไปได้ง่ายๆ

และแม้พื้นที่สาธารณะและสื่อมวลชนจะสำคัญอย่างยิ่งในการเป็น “สนาม” ให้ประชาชนทุกระดับได้เข้าถึงข้อเท็จจริงทุกมิติ มุมมองที่แตกต่างหลากหลาย และทางเลือกในการสร้างความยุติธรรมที่ไม่ใช้ความรุนแรง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเจตจำนงทางการเมืองและวิธีคิดของรัฐ รวมถึงภาวะความเป็นผู้นำของผู้บริหารประเทศ เป็นเงื่อนไขหลักที่จะทำให้เกิดกระบวนการสันติภาพได้ ดังที่ปรากฏในหลายพื้นที่ขัดแย้งทั่วโลก เช่นเดียวกับการพูดคุยเรื่องสันติภาพในชายแดนใต้และการคลี่คลายความขัดแย้งประเด็นอื่นๆ ในไทย

อย่างน้อย ในรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา ยังพอจะเห็นความพยายามในการเจรจาคลี่คลายความขัดแย้งผ่านกระบวนการทางการเมืองและพื้นที่สาธารณะบ้าง แม้ผลที่ตามมาจะไม่นำไปสู่การไม่ใช้ความรุนแรงหรือสันติภาพในระยะยาวเสมอไปก็ตาม

หากรัฐยังคงมุ่งมั่นรักษาสถานะของสถาบันที่มีอำนาจและเครือข่ายผลประโยชน์อย่างเหนียวแน่น ทั้งๆ ที่มีข้อเท็จจริง เสียงวิพากษ์วิจารณ์ และความคับข้องใจของประชาชนมาโต้แย้งอย่างต่อเนื่อง อ้างกฎหมาย “ความเป็นชาติ” และ “ความมั่นคง” เพื่อเดินหน้าใช้ความรุนแรงกับผู้คนโดยไม่เห็นว่าประชาชนคือผู้มีอำนาจอธิปไตยและเป็นเจ้าของประเทศเช่นกัน ขณะที่ผู้นำยังคงดูแคลนประชาชน (ทั้งที่เป็นและไม่เป็น “พลเมือง”) เห็นปัญหาเป็นเรื่องของปัจเจก มองผู้ไม่ทำตามบงการของรัฐเป็นศัตรู ปัดความรับผิดรับชอบ อีกทั้งยังเปิดไฟเขียวให้ประชาชนคุกคามกันเองได้ทั้งทางกายภาพและความคิด โอกาสที่สังคมจะได้เห็นกระบวนการสันติภาพก็เป็นไปได้ยากและช้า ส่วนภาคประชาสังคม นักวิชาการ สื่อมวลชน และประชาชนก็ต้องทำงานหนักและยาวนานเพื่อเรียกร้องจากรัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นตาข่ายนิรภัยเพื่อป้องกันความรุนแรงและมองหาอนาคตกันต่อไป

ท่ามกลางความขัดแย้งที่นับวันยิ่งฝังลึกและยืดเยื้อเรื้อรัง รวมทั้งการเผชิญกับวิกฤตทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ เราจึงไม่ควรต้องคุยกันแบบหลบๆ ซ่อนๆ ด้วยความเกร็งและกลัว ทั้งๆ ที่มีตัวอย่างว่าการเปิดพื้นที่สาธารณะจะนำไปสู่ความยุติธรรมและสันติภาพได้ และบทเรียนหลายต่อหลายครั้งว่าการปิดกั้นพื้นที่เหล่านี้ไม่ช่วยคลี่คลายความขัดแย้งอย่างมีประสิทธิภาพ

เราไม่ควรต้องให้ประวัติศาสตร์ถูกบันทึกอีกครั้งว่าสังคมเราล้มเหลวที่จะคุยกัน.

 

ปล. ขอแก้ข่าวที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งอ้างถึงคำพูดของผู้เขียนในเวทีเสวนา “เราจะสื่อสารกันอย่างไร ในสังคมที่ขัดแย้งแยกขั้ว” เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ระบุว่าขอให้มีการพิจารณายกเลิกมาตรา 110, 112 และ 116 สักเล็กน้อย ทั้งนี้ ผู้เขียนย้ำว่าต้องยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และไม่ให้คดีหมิ่นประมาทเป็นคดีอาญา เพื่อป้องกันการนำกฎหมายมาใช้เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความเห็น สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม และเสรีภาพของสื่อมวลชน

ส่วนมาตรา 110 และ 116 นั้น ผู้เขียนยกตัวอย่างว่าเป็นความรุนแรงโดยรัฐที่คุกคามเสรีภาพการแสดงความเห็นและการชุมนุมซึ่งไม่เอื้อต่อการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินอยู่ และระบุว่ารัฐต้องไม่ใช้กฎหมายเหล่านี้ปราบปรามผู้วิจารณ์รัฐ แต่ยังไม่ได้เสนอให้ยกเลิก 2 มาตรานี้เนื่องจากยังไม่ได้ทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ จึงขออนุญาตใช้พื้นที่นี้ในการชี้แจง เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าเสนอไปไกลกว่าความรู้ที่มี.

 

อ้างอิง

สามารถอ่านการอธิบายอย่างสังเขปเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพในชายแดนใต้และไอร์แลนด์เหนือที่ผู้เขียนอ้างถึงได้ที่

– รอมฎอน ปันจอร์ (บรรณาธิการ). (2556) กระบวนการสันติภาพปาตานีในบริบทของอาเซียน. ปัตตานี: โครงการจัดพิมพ์ดีพบุ๊คส์ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้.

– เมธัส อนุวัตรอุดม. (2555) กระบวนการสันติภาพไอร์แลนด์เหนือ สหราชอาณาจักร. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save