fbpx
“กระบวนการพูดคุยสันติภาพในสามจังหวัดภาคใต้” เป็นเรื่องของทุกคนในสังคมไทย

“กระบวนการพูดคุยสันติภาพในสามจังหวัดภาคใต้” เป็นเรื่องของทุกคนในสังคมไทย

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่อง

 

เป็นเวลากว่าเจ็ดปีที่ข้าพเจ้าไม่ได้กลับไปเยือนสามจังหวัดภาคใต้

ข้าพเจ้าเดินไปจังหวัดยะลาเป็นครั้งแรกหลังเกิดเหตุปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 จากนั้นจนถึงปี 2553 ข้าพเจ้าทำกิจกรรมและงานวิจัยในสามจังหวัดภาคใต้หลายเรื่อง งานทั้งหมดมีลักษณะร่วมกันคือเน้นวิเคราะห์รูปแบบเหตุรุนแรงและผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ กระนั้น ประเด็นที่ไม่ปรากฏในการพูดคุยในวงวิชาการหรือวงน้ำชาเลยคือ “สันติภาพ”

ความรู้สึกข้าพเจ้าคงคล้ายกับคนทำงานและชาวบ้านในพื้นที่ช่วงนั้นคือมองไม่เห็นแสงสว่างแห่งสันติภาพ ไม่แน่ใจว่ามันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าเกิดก็ไม่รู้เมื่อไหร่ และใครจะเป็นผู้ให้กำเนิดเจ้าสันติภาพนี้

เหตุที่คิดเช่นนั้นคงเป็นเพราะความเขลาทำให้ข้าพเจ้าเห็นสันติภาพเหมือนก้อนหินที่จู่ๆ ก็ตกลงมาจากฟ้าให้เราชื่นชม มากกว่าจะเห็นสันติภาพเป็นกระบวนการ เฉกเช่นต้นไม้ ซึ่งเกิดและเติบใหญ่ได้เพราะมีคนรดน้ำ ใส่ปุ๋ย พรวนดิน และต่อสู้เพื่อให้มันรอดชีวิตจนแตกหน่อกิ่งใบ

ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ กระบวนการสันติภาพมิใช่เพียงธุระของคนในสามสี่จังหวัดภาคใต้ แต่เป็นภารกิจของคนไทยทั้งสังคม การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดเรื่องความมั่นคงของรัฐ การจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี อำนาจทางการเมืองและการกระจายทรัพยากรในสามจังหวัดอันอาจเป็นผลจากการพูดคุยสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ ย่อมมีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยทั้งองคาพยพด้วย

ความพยายามพูดคุยกับกลุ่มต้านรัฐติดอาวุธมีประวัติศาสตร์หลายสิบปี แต่ประชาชนทั่วไปไม่ค่อยรู้เพราะคุยกันลับๆ ด้วยเหตุนี้กระบวนการพูดคุยที่เริ่มขึ้นในปี 2556 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะเป็นครั้งแรกที่พูดคุยกันอย่างเปิดเผย มีการเสนอข่าวในสื่อมวลชน และที่สำคัญคือรู้ว่ารัฐคุยกับ “ใคร”

กลุ่ม Barison Revolusi Nasional หรือ “บีอาร์เอ็น” เป็นคู่เจรจาคนสำคัญ เพราะกุมกำลังปฏิบัติการในพื้นที่ การพูดคุยดังกล่าวก่อให้เกิดผลสี่ประการ

หนึ่ง เกิดข้อตกลงร่วมกันอย่างเป็นทางการระหว่างรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นว่าจะสานต่อการพูดคุย

สอง เป็นครั้งแรกที่ฝ่ายต้านรัฐติดอาวุธแสดงความต้องการทางการเมืองของตน โดยเปิดเผยข้อเสนอของตนในสื่อสาธารณะ

สาม ทั้งสองฝ่ายตกลงให้รัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุย

สี่ มีความพยายาม “หยุดยิง” ในช่วงเดือนรอมฎอนปี 2556 เพื่อช่วยให้ฝ่ายไทยมั่นใจว่ากำลังคุยกับกลุ่มที่คุมปฏิบัติการในพื้นที่ได้จริง ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสให้คู่เจรจาได้ร่วมมือรักษาความปลอดภัย

 

ประชาชนในพื้นที่ตื่นตัวกับการพูดคุยครั้งนี้อย่างมาก เริ่มมีการจัดประชุมกลุ่มย่อยระดับหมู่บ้านเพื่อให้ความรู้และปรึกษาหารือเรื่องกระบวนการพูดคุย ในช่วงนี้เอง องค์กรภาคประชาสังคมทั้งในและนอกพื้นที่สามจังหวัดรวมตัวกันเป็นเครือข่าย เสนอข้อเรียกร้องหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยในชีวิตประจำ การงดใช้กฎหมายพิเศษ รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม

อย่างไรก็ดี ความไม่พอใจของกองทัพที่ถูกกันออกจากเวทีเจรจาในรอบนี้ รวมถึงความผันผวนทางการเมืองในกรุงเทพฯ อันนำมาสู่การรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 ส่งผลให้การเจรจาครั้งประวัติศาสตร์มีอันต้องล้มพับไป

กระนั้นก็ดี 2-3 เดือนให้หลังจากการรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางไปประเทศมาเลเซียเพื่อพบนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซะห์ และในปลายปี 2557 ได้ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี 230/2557 เพื่อสร้างกลไกพูดคุยสันติภาพในระดับชาติและในพื้นที่

รัฐบาลไทยประกาศให้การพูดคุยกลายเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อประกันความต่อเนื่องของกระบวนการ โดยเชื่อว่าความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธหลายที่ทั่วโลกอย่างไรเสียก็จบลงที่การพูดคุยเจรจา ขณะเดียวกันขบวนการต้านรัฐหลายกลุ่มก็รวมตัวกันในนาม “มาราปาตานี” (ย่อมาจาก Majlis Amanah Rakyat Patani)

แม้ว่าบีอาร์เอ็นมิได้เข้าร่วมมาราปาตานีในฐานะองค์กร แต่แกนนำบางส่วนของบีอาร์เอ็นก็เข้าร่วมในฐานะปัจเจก ดูเหมือนบุคคลที่เคยจับอาวุธสู้รัฐเหล่านี้เชื่อว่าการพูดคุยเป็นเสมือนเวทีต่อสู้ทางการเมือง การพูดคุยกับรัฐจึงมิได้หมายความว่าความขัดแย้งจบลง แต่ดำเนินต่อด้วยหนทางที่ไม่ใช้อาวุธได้

ประเด็นซึ่งทั้งสองฝ่ายถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้คือการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย (safety zone) แม้ว่าทางการไทย (เรียกกันว่า “ปาร์ตี้เอ”) และมาราปาตานี (เรียกกันว่า “ปาร์ตี้บี”) ยังไม่อาจตกลงกันได้ว่าจะกำหนดให้อำเภอใดเป็นพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง แต่ก็ได้ตั้งคณะกรรมการบริหารพื้นที่ปลอดภัย (Joint Action Committee หรือเจเอซี) เพื่อเตรียมทำงานร่วมกัน

กระบวนการพูดคุยในปัจจุบันปรากฏทั้งสัญญาณบวกและลบ โดยสัญญาณลบได้แก่

หนึ่ง ช่องว่างความเข้าใจของฝ่ายรัฐไทยและฝ่ายมาราปาตานี (รวมถึงชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่หลายคน) ว่าด้วย “สันติภาพ” รัฐไทยและโดยเฉพาะกองทัพดูจะเข้าใจสันติภาพในลักษณะแคบ กล่าวคือ ภาวะปราศจากการโจมตีด้วยอาวุธ และความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน

ส่วนฝ่ายมาราปาตานีคิดไปถึงสันติภาพอย่างกว้างด้วย คือสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง (right to self-determination) กระบวนการยุติธรรม การศึกษา ฯลฯ ช่องว่างนี้ปรากฏตั้งแต่การพูดคุยเมื่อปี 2556 แล้ว

สอง สันติภาพสำหรับฝ่ายรัฐ โดยเฉพาะกองทัพ คือการลดการโจมตีของฝ่ายตรงข้ามกับรัฐ ฉะนั้นมีแนวโน้มว่าฝ่ายความมั่นคงเห็นกระบวนการพูดคุยเป็นเพียง “ยุทธวิธี” ในการสู้รบ

จริงอยู่ที่ฝ่ายรัฐเห็นว่าวิธีทางทหารอย่างเดียวแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่ได้ และสนใจกระบวนการพูดคุย แต่ก็อาจเข้าใจว่าเป้าหมายสำคัญในการพูดคุยคือการควบคุมความรุนแรงในพื้นที่ให้อยู่ในระดับที่รัฐไม่เสียหน้า มากกว่าจะเป็นการเจรจาเพื่อนำไปสู่ข้อตกลงสันติภาพ ซึ่งหมายรวมถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐไทยและชาวมลายูมุสลิมในสามสี่จังหวัดภาคใต้

แนวโน้มนี้สะท้อนในลักษณะ “เทคโนแครต” ของกลไกพูดคุยฯ อันเป็นผลจากคำสั่ง 230/2557 ซึ่งทำให้กระบวนการพูดคุยถูกครอบงำด้วยโครงสร้างราชการที่ขยับทำอะไรลำบาก และที่สำคัญคือยังยึดอยู่กับโครงสร้างราชการแบบลดหลั่นทางอำนาจเหมือนเดิม

สาม ภาวะแตกกลุ่ม (fragmentation) ของฝ่ายติดอาวุธซึ่งกุมปฏิบัติการในพื้นที่อย่างบีอาร์เอ็น ขณะนี้แกนนำบีอาร์เอ็นบางส่วนไม่เห็นด้วยที่สหายของตนเข้าร่วมกระบวนการพูดคุย รวมถึงยังไม่เชื่อใจว่ารัฐบาลทหารในปัจจุบันจะยอมเจรจาเป้าหมายทางการเมืองของกลุ่มจริง การโจมตีที่ปรากฏให้เห็นตามข่าวอยู่เนืองๆ สะท้อนพลวัตนี้

สี่ คนไทยในภาคส่วนอื่นของสังคมไม่ได้ติดตามกระบวนการพูดคุยมากนัก ข่าวที่เราได้ยินจึงมีแต่ข่าวความรุนแรงในพื้นที่มากกว่าความพยายามสร้างสันติภาพ

“ความไม่รู้” ของคนในสังคมส่งผลกระทบสำคัญต่อกระบวนการสันติภาพ เช่นในฟิลิปปินส์ เหตุปะทะกันในจังหวัดมินดาเนาทางตอนใต้ของประเทศระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและกองกำลัง MILF (Moro Islamic Liberation Front) ช่วงต้นปี 2015 ส่งผลให้คนฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ไม่พอใจ และเพราะทางการไม่ได้สื่อสารเรื่องกระบวนการสันติภาพกับสังคมโดยรวม ผู้คนนอกพื้นที่จึงไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น สุดท้ายก็กดดันให้ผู้แทนในสภาคองเกรสไม่ลงคะแนนเสียงให้กฏหมายซึ่งเชื่อว่าจะสร้างสันติภาพสถาวรในจังหวัดมินดาเนา

บทเรียนนี้สำคัญอย่างยิ่งต่อสังคมไทยท่ามกลางการพูดคุยสันติภาพในสามจังหวัด เพราะท้ายที่สุดแล้ว กระบวนการสันติภาพจะสำเร็จได้ ต้องได้รับความชอบธรรมจากกลุ่มคนหลายฝ่าย โดยเฉพาะสังคมไทยนอกพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้

 

แม้อาจมีอุปสรรคขวากหนามดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น แต่กระบวนการพูดคุยก็เป็นสัญญาณแห่งความหวัง นั่นคือ

หนึ่ง ภาคประชาสังคมเปล่งเสียงดังและสร้างพื้นที่การเมืองได้มากขึ้น ต่างจากเมื่อเจ็ดปีที่แล้ว ภาคประชาสังคมกลายเป็นเวทีต่อรองและช่วงชิงความชอบธรรมที่สำคัญของฝ่ายรัฐและฝ่ายต้านรัฐ เพราะทั้งสองฝ่ายต่างอ้างข้อเสนอของภาคประชาสังคมในการพูดคุย (เช่นข้อเสนอเรื่องพื้นที่ปลอดภัยซึ่งกลุ่มผู้หญิงเสนอเป็นกลุ่มแรกๆ) เพื่อแสดงว่าตนเป็นตัวแทนเสียงของประชาชน ขณะเดียวกันภาคประชาสังคมก็อาศัยโอกาสนี้เสนอวาระของตน ซึ่งต่างไปจากสิ่งที่คู่เจรจาต้องการ

สอง การที่ผู้คนพูดถึงคำต้องห้ามอย่าง “สิทธิในการปกครองตนเอง” ได้มากขึ้น แม้ว่าฝ่ายรัฐยังสะดุ้งอยู่บ้าง และหลายต่อหลายครั้งพยายาม “จัดระเบียบคำ” เพื่อควบคุมทิศทางของการพูดคุย แต่ดังที่คำฝรั่งว่าไว้ หาก “ฝากล่องแพนดอร่า” เปิดออกเมื่อไหร่ ก็ยากจะปิดได้ ฉันใดก็ฉันนั้น หากรัฐต้องการอาศัยประโยชน์ทางการเมืองจากกระบวนการพูดคุย ก็ต้องทนกับการต่อรองทางอำนาจของคนกลุ่มต่างๆ ผ่านการเอื้อนเอ่ยคำ

สาม กองทัพซึ่งอาจเห็นการพูดคุยเป็นพียงยุทธวิธีเอาชนะฝ่ายตรงข้ามในความขัดแย้งนี้ ก็ไม่อาจห้ามมิให้บุคลากรของตนเปลี่ยนความคิดได้ บุคลากรของกองทัพ (แม้จะเป็นจำนวนน้อยก็ตาม) ซึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการพูดคุยได้เรียนรู้ “ภาษา” และ “ปฏิบัติการ” ของสันติภาพ

แม้กองทัพอยากจะควบคุมสิ่งเหล่านี้ให้เป็นไปในทิศทางที่ตนต้องการมากเท่าใดก็ตาม แต่เป็นไปได้ว่ากระบวนการพูดคุยกำลังเปลี่ยนวิธีคิดของบุคลากรในกองทัพจนใกล้เคียงกับพลเรือนซึ่งทำงานเรื่องกระบวนการเจรจาสันติภาพมากขึ้น

องค์ความรู้ด้านการปฏิรูปภาคความมั่นคง เรียกลักษณะเช่นนี้ว่า “civilianisation of the armed forces” หรือการทำให้กองกำลังฝ่ายความมั่นคงกลายเป็นพลเรือน แม้ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้วัดและเห็นได้ยาก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงซึ่งอาจกระทบความเข้าใจของกองทัพต่อบทบาทหน้าที่ตนในสังคมประชาธิปไตย

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save