fbpx
Climate Change กับการคิดใหม่เรื่องผังเมือง และการปรับรูปแบบชีวิตของคนในเมือง : ผศ.ดร. วิจิตรบุษบา มารมย์

Climate Change กับการคิดใหม่เรื่องผังเมือง และการปรับรูปแบบชีวิตของคนในเมือง : ผศ.ดร. วิจิตรบุษบา มารมย์

ปรัชญา กำลังแพทย์ เรื่อง

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย ภาพ

 

มหานครหรือเมืองใหญ่ในหลายประเทศคือพื้นที่ที่มีความหลากหลายในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม และ วัฒนธรรม ทุกสิ่งดำเนินไปโดยเกี่ยวข้องกันทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นพื้นที่ที่ไม่เคยหลับใหล คนจากทั่วสารทิศแลกเปลี่ยนไปมาอยู่ตลอดเวลา บ้างก็เพื่อเข้ามาหาโอกาสเพื่อที่จะก้าวหน้าและพัฒนาชีวิต บ้างก็มาอยู่เพียงไม่นานแล้วก็กลับบ้านเกิด แต่ภาพรวมคือการเข้ามาเพราะแรงดึงดูดทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในเมือง

เมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่จำเป็นในเมืองคือโครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายการพัฒนาเมืองที่จะรองรับทั้งผู้คน และการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

การเปลี่ยนแปลงที่ว่า นอกจากจะประกอบด้วยเรื่องที่พูดกันบ่อยๆ อย่าง จำนวนคนที่มากขึ้น เศรษฐกิจที่มีผลต่อการเคลื่อนย้ายผู้คน ยังหมายรวมไปถึงเรื่องที่หลายคนมองข้ามอย่างการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศด้วย ประเด็นเหล่านี้จะนำมาสู่การเกิดเมืองพลวัต หรือ Resilient City ทำให้เมืองจำเป็นต้องปรับตัวรับกับสถานการณ์ต่างๆ เพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

101 ชวนถกประเด็นกับ ผศ.ดร. วิจิตรบุษบา มารมย์ หัวหน้าหน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Urban Futures and Policy Research Unit) ว่าด้วยเรื่องการปรับตัวของเมืองซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศหรือ climate change ที่มีผลต่อชุมชนและครอบครัว ตลอดจนโครงสร้างครัวเรือนที่จะเปลี่ยนแปลงไป มองย้อนนโยบายและการพัฒนาเมืองที่ผ่านมา ไปจนถึงข้อเสนอแนะเพื่อให้เมืองสามารถตั้งรับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ดีขึ้น

 

ประเด็นเรื่องการปรับตัวของเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (climate change) มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร

การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศมีส่วนสำคัญกับเมือง เพราะเป็นทรัพยากรที่ทำให้เศรษฐกิจเมืองโต ส่งผลต่อการใช้ชีวิต รวมถึงพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของคนด้วย

ประเด็นที่เราสนใจมากคือเรื่องน้ำ มีมากไปก็ไม่ดี เพราะน้ำท่วม มีน้อยไปก็ไม่ดี เพราะเมืองขาดน้ำ บางเมืองเพิ่งขาดน้ำไปเนื่องมาจากความแปรปรวนของฝน ซึ่งเมืองต้องรองรับการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ โดยเรามองทั้งเรื่องสภาพสังคมและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ

ในประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ มีสิ่งที่เราสนใจมากอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือ อุณหภูมิที่สูงขึ้นหรือที่เรียกกันว่าภาวะโลกร้อน และอย่างที่สอง คือปริมาณน้ำฝนที่เปลี่ยนแปลงไป

หากมองที่เมืองอย่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีการคาดการณ์เอาไว้ว่าในอนาคตจะมีปริมาณน้ำฝนรวมสูงขึ้น แต่จำนวนวันที่ฝนตกจะน้อยลง แสดงว่าวันที่เราจะเจอฝนตกหนักมากๆ จะบ่อยและแรงขึ้น นอกจากนั้น กรุงเทพฯ อาจต้องดูเพิ่มอีก 2 น้ำ คือ น้ำหลาก และน้ำทะเลหนุน ซึ่งเมื่อรวมกับน้ำฝนแล้ว กรุงเทพฯ จะเป็นเมือง 3 น้ำ

ตอนปี 2554 ที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ ฝนแทบไม่ตก แต่น้ำท่วมเพราะน้ำหลากมาจากทางเหนือ โดยภูมิศาสตร์ของกรุงเทพฯ นั้นขวางทางระบายน้ำธรรมชาติ ซึ่งแต่ก่อนถือว่าเป็นเรื่องดีเพราะเราเพาะปลูกเกษตรกรรม ต้องการตะกอน ความสมดุล และความอุมดมสมบูรณ์ที่น้ำจะพัดพาตะกอนมาช่วยปลูกข้าวได้ดี แต่ตอนนี้เมืองไม่ได้ปลูกข้าว เมืองกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ดังนั้นเวลาจะพัฒนาเราต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ ต้องเข้าใจว่าน้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญของการออกแบบด้วย เช่น ฝนตกหนักมาก โครงสร้างพื้นฐานที่เราออกแบบไว้ไม่ได้รองรับฝนที่หนักแบบนั้น ถ้าจะรองรับได้ ราคาก็ไม่ได้ถูก ซึ่งเข้าใจใช่มั้ยว่าใครจ่าย จากที่แพงอยู่แล้ว กรุงเทพฯ จะแพงมากขึ้นไปอีกในอนาคตเพราะทรัพยากร โครงสร้างพื้นฐานแพงขึ้น ซึ่งตรงนี้เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของคน

สิ่งที่น่าสนใจกว่าและเราสามารถจัดการได้คือการพัฒนาเมือง เพราะ climate change เป็นเรื่องนอกตัวที่เราจัดการได้ในระดับหนึ่ง แต่เรื่องใกล้ตัวนี่แหละที่มีพลวัตสูงยิ่งกว่าน้ำอีก

ช่วงก่อนเกิดน้ำท่วมปี 2554 เมืองขยายออกไป 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่ขยายออกไปนั้นเข้าไปในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากและพื้นที่เสี่ยงในอนาคต ดังนั้นเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554 จึงมีผู้เดือดร้อนมากกว่าที่ควรจะเป็น เพราะเราไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งปัญหาตรงนี้เราสามารถจัดการและรับมือได้มากกว่า climate change

 

นอกจากเรื่องน้ำหนุน น้ำหลากแล้ว เรื่องของน้ำแล้งส่งผลต่อการปรับตัวของเมืองอย่างไรบ้าง

น้ำแล้งก็เกี่ยวข้องกับเรื่องอุณหภูมิด้วย พออุณหภูมิสูงขึ้น ฝนจะตกทิ้งช่วง แล้วมากระจุกตกหนักแค่ไม่กี่วัน เพราะฉะนั้นช่วงที่ไม่มีฝนจะยาวขึ้น หน้าร้อนจะร้อนมากขึ้น หน้าแล้งจะยาวขึ้น ภาคอีสานก็ทำการเกษตรไม่ได้ คำถามคือ แล้วเมืองล่ะเอาน้ำมาจากไหน ก็แหล่งเดียวกับภาคเกษตรนี่แหละ คือเอามาจากลุ่มน้ำ

ทุกวันนี้เมืองจะได้ผันน้ำเข้ามาใช้ก่อนเพราะถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ฉะนั้นภาคเกษตรอาจจะต้องหยุดเพาะปลูกไปก่อน ซึ่งอดีตที่ผ่านมาเป็นอย่างนั้น มีนโยบายว่าเดี๋ยวไปชดเชยภาคเกษตรทีหลังได้

วิธีคิดแบบนี้อาจจะพอใช้ได้ ถ้าชดเชยให้แล้วเกษตรกรยอมรับ แต่ในอนาคตถ้าน้ำน้อยลงและทิ้งช่วงมากๆ มันจะนำมาซึ่งข้อขัดแย้งระหว่างเมืองและภาคเกษตรสูงมาก ต้นทุนน้ำก็จะแพงมาก แล้วถ้าการวางแผนเมืองไม่ได้คิดเรื่องนี้ ถ้าอยากเป็นเมืองอุตสาหกรรมแต่ไม่ได้คิดว่าคนเข้ามาอยู่แล้วจะต้องใช้น้ำเท่าไหร่ สถานประกอบการต้องใช้น้ำเท่าไหร่ ไม่ได้คิดถึงว่าน้ำเป็นต้นทุนในการพัฒนาเมือง ก็จะเป็นปัญหามาก

 

ปัญหาเหล่านี้แก้ไขทันไหม?

ต้องทัน เราไม่ค่อยห่วงเรื่องกายภาพ ถ้านโยบายชัดเจน มีการชดเชยที่เหมาะสม มีการทำความเข้าใจกันจริง และมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องการสื่อสารกับสังคมให้คนยอมรับ ต้องใช้เวลา ความมั่นใจของคนหรือผู้ประกอบการต่อนโยบายว่าภาครัฐจะดำเนินการจนสุดทาง คนก็จะถามว่านโยบายที่จะป้องกันน้ำท่วม ตกลงทำจริงมั้ย พวกเขาจะได้ลงทุน เขาจะได้ไปคิดมาตรการในเรื่องของบริษัทประกันภัย คือเขาก็ไม่มั่นใจในเชิงนโยบายว่าถ้าเกิดวิกฤตการณ์แล้วจะได้รับการชดเชยที่เหมาะสม นี่คือสิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจ

ตอนนี้พอพูดว่า climate change คนจะบอกว่า เดี๋ยวก่อน หาข้าวกินให้ได้ก่อน climate change จะมาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ซึ่งไม่ใช่นะ มันเรื่องเดียวกัน เป็นเรื่องของการตัดสินใจ เรื่องของทุน เรื่องทรัพยากรน้ำที่จะราคาสูงขึ้น ค่าครองชีพที่จะแพงมากขึ้น นโยบายก็ต้องฉายให้เห็นว่าไม่ใช่แค่เรื่องป้องกันน้ำท่วม แต่เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องของคนที่จะใช้ชีวิตอย่างไรในอนาคต และเรื่องของต้นทุนการอยู่อาศัยด้วย

 

ย้อนกลับไปก่อนว่าการวางแผนเมืองของประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นอย่างไร

การวางแผนเมืองของเราตอนนี้ยังไม่ครบทุกมิติ อาจจะเน้นไปที่เชิงกายภาพมากเกินไป เช่น มองว่าจะมีถนนหนทางตรงไหน จะมีโครงสร้างพื้นฐานตรงไหน แต่ในมิติทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมยังไม่ค่อยปรากฏ จะสังเกตเห็นว่าเมืองที่เป็นฐานเศรษฐกิจสำคัญของประเทศอย่างกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ตามภูมิภาค จะมีนโยบายการพัฒนาเมืองที่คล้ายๆ กัน คือมีศูนย์เมืองตรงกลาง แล้วก็มีถนนหนทางแยกออก เมืองก็โตตามเส้นถนน สุดท้ายแล้วบางทีก็ไปอยู่ในที่ที่เหมาะสมบ้าง ไม่เหมาะสมบ้าง ตอนหลังก็ค่อยมาวางแผนอีกทีหนึ่ง

เพราะฉะนั้นเรื่องนโยบายค่อนข้างแปรตามการพัฒนาเมือง ซึ่งในปัจจุบันเรายังไม่ค่อยเห็นนโยบายที่ชี้นำการพัฒนาเมืองเท่าไหร่ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่

 

ถ้าย่อลงมาพูดถึงเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ซึ่งมีคนจำนวนมากเข้ามาทำงาน มาอยู่อาศัย ก็มีปัญหาหลายอย่างที่ต้องจัดการ อย่างหนึ่งที่เห็นชัดคือเรื่องการเดินทางจากบ้านมาที่ทำงาน รถก็จะติดทุกเช้าในถนนเส้นนอกเมืองเข้ามาในเมือง การวางผังเมืองส่งผลต่อปัญหานี้อย่างไรบ้าง

นี่คือปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย (housing) เมื่อเมืองพัฒนาไปด้านใดด้านหนึ่ง โดยไม่ได้มองบนพื้นฐานว่าการใช้ชีวิตของคนในเมืองจริงๆ เป็นอย่างไร หรือว่าการใช้ทรัพยากรที่ดินที่อยู่อาศัยที่เราสามารถจ่ายได้ มีจริงหรือเปล่า

สมมติว่ากลุ่มคนเรียนจบปริญญาตรีรายได้ 18,000 บาท แต่ค่าที่พักในเมืองสูงมาก เช่นคอนโดฯ แถวพระราม 9 ก็เดือนละ 15,000 บาทแล้ว แบบนี้ก็อยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเขาก็ยอมเสียเวลาในการเดินทางเพื่อลดค่าใช้จ่าย ยอมไปอยู่ชานเมืองหน่อย พอเป็นแบบนี้การใช้ชีวิตของคนกับนโยบายก็ไม่สอดคล้องกัน เพราะนโยบายจะเน้นเชิงพื้นที่ สร้างขอบเขตของแต่ละย่านที่ชัดเจน แต่การใช้ชีวิตของคนจริงๆ คือข้ามย่านกันหมด

แล้วจริงๆ เราไม่ได้มองแค่เรื่องการจัดการเมืองใหญ่ แต่ต้องมองว่าทำไมคนต้องเข้ามาทำงานในเมือง ประเทศที่เขาสามารถจัดการเมืองได้ดี เขาก็จัดการในชนบทด้วย ทั้งแหล่งงาน ความมั่นคง เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องใหญ่

เรื่องน้ำก็มีส่วนที่ทำให้คนตัดสินใจย้ายเข้ามาในเมือง เช่น เพาะปลูกไม่ได้ ก็ต้องมาหางานในเมือง เพราะฉะนั้นการกระจายเรื่องคุณภาพชีวิตไปที่กึ่งเมือง (suburban) ก็สำคัญ ประเทศที่พัฒนาได้ไกลเขาจะพัฒนา suburban ให้มีศูนย์กลางเมืองเอง และต้องตอบโจทย์ชีวิตคนด้วย ไม่ใช่ suburban แบบของไทยที่มีแหล่งที่อยู่อาศัยและมีห้างสรรพสินค้าใหญ่เท่านั้น

ถ้าทำได้ คนจะใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ แต่ราคาถูกกว่า คนจะมีทางเลือกมากขึ้นว่าจะแลกเงินหรือเวลา แล้วก็เกี่ยวกับอาชีพด้วย เช่น คนที่อยู่ suburban แล้วมีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศที่อยู่ในเมืองใหญ่ทุกวัน เพราะฉะนั้นผู้บริหารเมืองต้องเห็นพลวัตตรงนี้

แต่ตอนนี้เมืองใหญ่ในภูมิภาคก็มีโตเร็วมากขึ้น เช่น ขอนแก่น อุดรธานี ฯลฯ นี่เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วย คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าไม่ต้องยึดติดกับพื้นที่ในการทำงานที่สำนักงานใหญ่เท่านั้น ทำงานทางไกลก็ได้ หรือไปฟอร์มทีมตั้งบริษัทอยู่ในบ้านเกิดของเขาก็ได้ ก็เริ่มมีตัวเลือกที่หลากหลายมากขึ้น คนไปทำงานในที่ที่คิดว่าชีวิตของเขาจะดีกว่า

ตอนนี้เรามีโมเดลการพัฒนาเมืองไม่กี่แบบ เช่น เมืองแบบกรุงเทพฯ หรือเมืองแบบอุตสาหกรรม แน่นอนว่าผู้นำท้องถิ่นในหลายพื้นที่เริ่มไม่อยากเป็นแบบกรุงเทพฯ แต่ถามว่าเรามีนโยบายที่ส่งเสริมให้เขาเป็นเมืองแบบอื่นหรือเปล่า ก็ยังไม่ชัดเจน

 

การเปลี่ยนเจเนอเรชันของคนส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเมืองอย่างไร

แนวโน้มของคนรุ่นเจน Y เจน Z ในตอนนี้คือคนเลือกเมืองก่อนงานแล้ว อย่างคนรุ่นเจน X จะเลือกงานก่อนเมือง แต่คนรุ่นใหม่จะมีพฤติกรรมการบริโภค และพฤติกรรมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป เช่น ไม่ได้ยึดติดกับอาชีพและประเภทงาน เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงสูงมาก คำถามคือ เมืองรองรับหรือเปล่า ได้คิดหรือไม่ว่าคนกลุ่มใหม่ที่จะเข้ามาทำให้เศรษฐกิจของเมืองโตเขามีฐานคิดแบบไหน

คนรุ่นเจน Y เจน Z มองเรื่องต้นทุนเปลี่ยนไป เช่น การตัดสินใจมีลูกก็จะมองต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม เช่น ลูกเขาเกิดมาแล้วต้องจ่ายค่าน้ำแพงมาก ต้องซื้ออากาศหายใจหรือเปล่า หรือบางคนมองไปถึงว่าขนาดตัวเองยังเอาไม่รอด ของแพงขึ้น ทุกอย่างเป็นค่าใช้จ่าย แล้วทำไมเขาต้องมาลงทุนอะไรที่หนาหนัก เช่น สร้างครอบครัว การศึกษาสูงๆ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ แต่เขาเลือกลงทุนกับประสบการณ์ เรื่องทักษะพื้นฐาน เพราะเขามองว่าการมีอสังหาริมทรัพย์ มีปริญญาสูงๆ ไม่ใช่สิ่งการันตีว่าจะมีคุณภาพที่ดีได้ในอนาคต

ในขณะเดียวกันเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว แต่ไม่ได้ออกแบบเมืองให้รองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สอดคล้องกับคนที่อายุเยอะแต่ยังออกมาทำงานหรือเปล่า ได้คิดไหมว่าเขาก้าวออกมาจากบ้านได้ไกลเหมือนสมัยที่เขายังเป็นวัยรุ่นไหม ทนรถติด 2 ชั่วโมงได้ไหม ขนาดวัยรุ่นยังไม่ค่อยจะไหวเลย คือตอนนี้เรามีคนสูงวัยที่ยังทำงานอยู่ หรือที่เรียกว่า ageless lifestyle บางคนยังเป็นหัวหน้าครอบครัวอยู่ เป็นรายได้หลักของครัวเรือน แต่เมืองไม่ได้คิดว่าโครงสร้างประชากรจะเปลี่ยนไป

 

เมื่อราคาที่ต้องจ่ายสูงมากสำหรับการเข้ามาอยู่ในเมือง แต่ก็ยังมีคนที่จำเป็นต้องเข้ามาเพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยังมีปัญหาเรื่อง climate change อีก คนที่จะเข้ามาจะต้องปรับตัวอย่างไร

ถ้าเมืองยังไม่ปรับ เราก็จะไม่เห็นภาพในระดับบุคคล คือเมืองต้องพลิกวิกฤตเป็นโอกาสให้ได้ ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ ที่มีปัญหา แต่ที่นิวยอร์ค ลอนดอน เวนิส ก็เสี่ยง แต่เขาไม่ได้คิดว่าต้องให้คนออกจากเมืองไปเพื่อให้จัดการง่ายขึ้น เขากลับมองเรื่องการลงทุนว่า บริษัทห้างร้านต่างๆ ต้องมีมาตรการเรื่อง climate change จะต้องยืนยันได้ว่าน้ำประปาที่คุณจ่ายให้เมืองมีแหล่งน้ำมาจากไหน จัดการอย่างไร ตัวนโยบายต้องชัดก่อน

หรืออย่างเรื่องน้ำท่วม ทุกวันนี้เราเป็นลักษณะน้ำท่วมรอระบาย พอน้ำแล้งต้องรีบหาน้ำเข้ามา แต่จริงๆ เราบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในที่ดินได้ ไม่ใช่ท่วมแล้วรีบระบาย พอแล้งก็ค่อยไปสูบมาจากที่อื่น แต่เราทำให้เมืองผลิตน้ำเป็นของตัวเองได้นะ ใช้กลไกทางสังคมตกลงกันว่าเราจะมีแหล่งน้ำแบบไหน มองว่าน้ำเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาเมือง แต่ทุกวันนี้เรายังไม่เห็นภาพรวมแบบนี้

 

การแก้ปัญหาในเชิงนโยบายที่มีอยู่สามารถเข้าไปแก้ได้อย่างไรบ้าง

ตอนนี้ในเชิงพื้นที่จะมีหลายหน่วยงานเข้ามาทำ เรามีนโยบายเยอะมาก แต่ต้องดูหลายอย่าง

หนึ่ง แต่ละนโยบายไปในทางเดียวกันหรือเปล่า หรือขัดกันเอง

สอง ทรัพยากรเราพอหรือเปล่าที่จะทำให้เมืองไปสู่ฝัน

สาม นโยบายมีความยืดหยุ่นหรือไม่ เมืองในอนาคตจะเป็นเมืองที่มีพลวัต ดังนั้นเราต้องยืดหยุ่น เราจะบอกว่าทิศทางนี้ใช้ไปได้เลย 20 ปี แบบนี้ไม่พลวัต เราอาจจะต้องคิดทีละ 5 ปี เป็นขั้นเป็นตอนไป หรืออาจจะต้องมีกระบวนการเชิงนโยบายที่รีวิววิธีคิดพัฒนาเมืองของเราเรื่อยๆ ว่าไปถูกทางหรือยัง ซึ่งวิธีแบบนี้สากลทำ เขาจะไม่ได้ทำนโยบายเดียวแบบ Top-Down แต่จะเป็นยุทธศาสตร์กว้างๆ ว่าเมืองจะต้องดูเรื่องที่อยู่อาศัย climate change รถติด ฯลฯ แล้วท้องถิ่นลงไปหามาตรการโดยต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์

ดังนั้นต้องมีกระบวนการในการพูดคุยกับชุมชน พูดคุยกับภาคธุรกิจใหญ่ๆ ในพื้นที่ แต่ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคหรือระดับประเทศให้ได้ อย่างนี้จะพลวัตกว่า แล้วท้องถิ่นก็จะรู้ว่าคนในพื้นที่เขาต้องการอะไร นี่คือสิ่งที่จะต้องผลักดัน

 

ทิศทางของกรุงเทพฯ จะเป็นอย่างไรในอนาคต

เมืองขยายขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราดูจากสายบีทีเอส นโยบายที่สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาศูนย์กลางพาณิชยกรรมที่อยู่รอบสถานีรถไฟฟ้า หรือ TOD (Transit Oriented Development) กระจายออกไปนอกเมืองเยอะมาก เพราะฉะนั้นกรุงเทพฯ จะมีขนาดใหญ่มาก เราพูดถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไม่ได้พูดถึงแค่กรุงเทพฯ แล้ว แต่ว่าโครงสร้างประชากรอาจจะไม่เป็นอย่างที่วางไว้ คนที่จะมาใช้โครงสร้างพื้นฐานเป็นอย่างที่เราได้วางแผนวางผังไว้จริงหรือเปล่า เช่น คนจะเดินทางจากสมุทรปราการมาศูนย์กลางเมืองหมดเหรอ คือเขาเดินทางมาเพราะงานกับที่อยู่อาศัยไม่ได้อยู่ในที่เดียวกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีเท่าไหร่เลย มันอยู่ยากและแพงขึ้นแน่นอน ประชากรที่เข้ามาอยู่ในตอนกลางวันเยอะมาก เพราะฉะนั้นคนพวกนี้ก็จะเข้ามาใช้โครงสร้างพื้นฐานด้วยเหมือนกัน

 

ดังนั้นถ้าพูดไปถึงการวางแผนเมืองที่ดีและรองรับคนในแบบที่เมืองควรจะเป็น ควรจะเป็นแบบไหน

ความน่าสนใจของการวางแผนเมืองคือไม่ได้มีแพทเทิร์นว่าเอาโมเดลมาวางที่กรุงเทพฯ ได้เลย หรือวางที่เมืองอื่นในประเทศไทยได้เลยแล้วผลจะออกมาดี การพัฒนาเมืองของเราไม่ได้มองเห็นความหลากหลายของคน เราไม่ได้เอาคนเป็นตัวตั้ง คุณภาพชีวิตก็ควรถูกตีความมากกว่าเชิงกายภาพ เช่น รายจ่าย ต้นทุน ซึ่งในสากลเขาจะมีดัชนีชี้วัดอยู่เยอะเลยว่าเวลาเขาแข่งเมืองที่น่าอยู่ จะไม่ใช่แค่ว่าเมืองที่มีสวนสาธารณะแล้วจะน่าอยู่ แต่เมืองจะน่าอยู่ต้องทั้งหมดตลอดการใช้ชีวิตของเราตั้งแต่ในออฟฟิศจนกลับมาถึงบ้าน

กรุงเทพฯ น่าอยู่สำหรับใคร ปัจจุบันชุมชนเก่าๆ ก็จะอยู่ไม่ได้แล้ว คนพวกนี้ถูกผลักออกไปจากการเอากระแสพัฒนาเป็นตัวตั้ง พอย่านเมืองเก่าหายจะกลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ คำถามคือย่านเป็นของใครล่ะ ไม่แน่ใจว่าของเราๆ ที่ใช้ชีวิตทั่วไปหรือเปล่าด้วยนะ

 

เราสามารถถอดบทเรียนอะไรได้บ้างในประเด็นนี้ตั้งแต่การปรับตัวของเมืองต่อ climate change การพัฒนาเมือง และเทรนด์ในอนาคตของเมือง

เราไม่เคยมองเรื่องประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นต้นทุนสำคัญในการพัฒนาเมือง ที่ผ่านมาเรามองว่าเรามีทรัพยากรเหลือเฟือ จะทำอะไรก็ได้ แต่เมืองในอนาคตเราต้องมองให้ออกว่า ยังมีต้นทุนเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการใช้ชีวิตในเมือง เราต้องมองให้เห็นภาพรวมของการพัฒนาเมืองให้ได้

ขณะเดียวกัน เราก็ต้องออกแบบมาตรการที่จะจูงใจให้คนแต่ละภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางเศรษฐกิจ มาตรการทางภาษี ที่จะเป็นเครื่องมือในการผลักดันให้คนสนใจเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองมากขึ้น

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save