fbpx

ตั้วเหี่ย 大兄 กับ อั้งยี่ 洪字 อนุทินลูกเจ๊กหลังเสพ ‘แมนสรวง’

“ทางฝ่ายอั้งยี่นั้นสิ ได้วางอำนาจไว้เปนสง่าผ่าเผยยิ่งนัก กล่าวกันว่าตัวตั้วเฮียจะไปข้างไหนก็ขี่ม้าผูกเครื่องอานหรู บรรดาพวกมวยแดงที่เปนลูกสมุนก็ถือหอกง้าว สามง่ามเปนอาวุธแห่นำ และตามเปนกระบวนอย่างกระบวนเสด็จ เปนการพรักพร้อมอยู่เสมอ ถ้าราษฎรจะฟ้องร้องขึ้นก็เกรงจะเข้าบทที่ว่า กว่าถั่วสุกงาก็ไหม้”[1]

ค่ำคืนหนึ่งปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ.2566 ท่ามกลางวันฝนเทกระหน่ำ ผู้เขียนเห็นควรหมุนหลบความสาหัสของจราจรพระนครเข้าห้าง พลางฆ่าเวลาด้วยการเข้าโรงภาพยนตร์ เห็นใบโฆษณาหนังไทยชื่อ ‘แมนสรวง’ แล้วสะดุดตาดี เลาๆ เดิมยังติดสัญญาหมายรู้ว่าเป็น ‘หนังวาย’ แต่เมื่อลองคีย์บางคำใส่มือถือพบว่าเนื้อหาเป็นการเมืองสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ระยะเปลี่ยนผ่านผลัดแผ่นดินจากรัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2393-2394) สู่รัชกาลที่ 4 ด้วยเหตุนี้ในท้ายสุดจึงตัดสินใจตีตั๋วนั่งชม


โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์แมนสรวง


ส่วนตัวนับว่าบันเทิงกับโปรดักชันและบทภาพยนตร์ ที่สำคัญพอใจกับ ‘มุมจีน’ ที่ถ่ายทอดออกมาได้ชวนนึกถึงบรรพชน โดยเฉพาะฉากสนทนาภาษาจีนแต้จิ๋วเล็กๆ น้อยๆ ในดินแดน ‘แมนสรวง’

เมื่อเดินทางถึงบ้านจึงเปิดชั้นวางหนังสือหมวดภาษาจีนที่สะสมไว้ จำได้ว่าเคยซื้อหนังสืองานศพเล่มหนึ่งชื่อว่า ‘เรื่องตั้วเหี่ย’ จัดพิมพ์ไว้เมื่อภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นานของคนตระกูลบุนนาค นามว่า ‘หลวงเรืองศักดิ์สาครเขตร์’ (จู บุนนาค – พ.ศ.2396-2476) อดีตข้าราชการตำแหน่งปลัดเมืองจังหวัดสมุทรสาคร ครั้นลองสอบข้อมูลกับกูเกิ้ลก็ไม่พบหนังสือฉบับนี้ในที่ใดๆ จึงเห็นว่าควรคัดลอกนิยามของคำว่า ‘ตั้วเหี่ย’ ในเล่มมาเผยแผ่เป็นวิทยาทาน ดังความดังต่อไปนี้


ปกในเรื่องตั้วเหี่ย พ.ศ.2478 และภาพผู้วายชนม์ในเล่ม


คำว่า “ตั้วเหี่ย” เปนศัพท์ที่เรียกเลียนมาจากคำว่า “ตั้วเฮีย” ในภาษาจีนแต้จิ๋ว “ตั้ว” แปลว่าใหญ่ “เฮีย 兄” แปลว่า “พี่” เมื่อรวมกันเข้าแปลตามศัพท์ว่า “พี่ใหญ่” หรือ “พี่คนใหญ่” หรือ “พี่หัวปี” แต่ความหมายของจีนซึ่งเปนเจ้าของภาษาเดิม โดยฉะเพาะอย่างยิ่งพวกจีนในคณะอั้งยี่ หมายถึงหัวหน้า คือผู้เปนใหญ่ในคณะ

ตามระเบียบของคณะอั้งยี่ กล่าวโดยทั่ว ๆ ไป ได้แบ่งแยกการปกครองคณะเปนลำดับชั้น เรียกเปนภาษาจีนดั่งนี้

( 1 ) ตั้วเฮียสี่ “สี่ ” แปลว่า “อำนาจยิ่ง” หมายความถึงหัวหน้า หรือผู้เปนใหญ่คณะ มีอำนาจบังคับบัญชาสูงสุด ได้แก่นายกหรือประธาน

( 2 ) ยี่เฮียจี๊ “ยี่เฮีย” แปลว่า “พี่ที่ 2” “จี๊” แปลว่า “มีเงิน” หมายความถึงตำแหน่งเปนรองหัวหน้า ได้แก่ อุปนายก หรือรองประธานส่วนความรับผิดชอบในหน้าที่โดยตรง ที่เรียกสั้น ๆ ว่า “จี๊” หมายความว่าผู้ที่รับตำแหน่งนี้จักต้องเปนผู้มีเงิน หาเงิน หรือมีกิจเกี่ยวข้องด้วยการเงิน ที่จักได้เจือจานแก่หมู่คณะตลอด จนการจับจ่ายใช้สอยในกิจการของคณะทุกอย่าง ได้แก่เหรัญญิก

( 3 ) ซาเฮียบี๊ “ซาเฮีย” แปลว่า “พี่ที่ 3”  “บี๊” แปลว่า “มีข้าว” หมายถึงตำแหน่งที่ลดหลั่นกันลงไปตามลำดับชั้นเปนหัวหน้าชั้นที่ 3 ส่วนความรับผิดชอบโดยตรงที่เรียกสั้น ๆ ว่า “บี๊” หมายความว่าผู้รับตำแหน่งนี้ จักต้องเปนผู้จัดหาเสบียงอาหารตลอดจนการเลี้ยงดูคนในหมู่คณะมิให้อดอยาก น่าจะได้แก่ปฏิคม

( 4 ) อั้งคุน แปลว่า “มวยแดง” หมายถึงตำแหน่งหัวหน้าควบคุมมีฝีมือไว้สำหรับทำการปราบปราม คือต่อสู้กับปรปักษ์ (นายทหารเอก)

เห็นจะคำว่า “อั้งคุน” “หรือมวยแดง” นี้เอง ที่อังกฤษเอาไป แปลว่า “มวยจีน” ( Chinese Boxer ) และได้มีผู้แปลถ่ายทอดออกมาเปนภาษาไทยว่า “พวกมวย” หรือ “มวย” เฉย ๆ ตัดคำว่า “แดง” ออกเสีย

เหตุที่ตัดคำ “แดง” ออกเสียในครั้งกระนั้น สำหรับคนอังกฤษ ถ้าไม่เปนด้วยเข้าใจภาษาจีนยังไม่พอ ก็น่าจะเปนเพราะอังกฤษยังไม่เกิดความสนใจ หรือพูดรวบยอดก็ว่าโลกยังไม่สนใจในความหมายแห่งคำว่า “แดง” กันขึ้น ต่อเมื่อรัซเซียได้ทำตัวอย่างให้โลกเห็นแล้ว จึงเข้าใจกันซาบซึ้งดี และใช้คำ “แดง” เปนความหมายของความรุนแรงหรือความทารุณกันทั่วไป

เพื่อให้แลเห็นความทารุณอันโหดร้ายของพวกมวยแดง จะขอยกเอาเรื่องสงครามกลางเมืองจีน หรือที่อังกฤษเรียกว่า “สงครามมวย” มากล่าวพอเปนสังเขป คือในครั้งนั้นพวกจีนอั้งยี่คณะหนึ่งเรียกตัวเองว่า “งี่โฮกวน” ในชั้นเดิมได้มีความเห็นร่วมกันเปนเอกฉันท์ คิดจะทำการขับไล่พวกราชวงษ์เม่งจูออกจากดินแดนจีน ด้วยความเคียดแค้นที่พวกเม่งจูมาแย่งเอาบ้านเมืองเข้าปกครองเปนเจ้าเปนนาย กดขี่ข่มเหงชนชาวจีนเจ้าของถิ่นด้วยประการต่าง ๆ กะกันว่า เมื่อทำการสำเร็จแล้ว ก็จะยกเอาราชวงศ์จีนขึ้นสู่ราชบัลลังก์เปนจักรพรรดิของจีนต่อไป

ครั้นมาภายหลัง จะเห็นกันอย่างไรไม่ทราบชัด ได้เปลี่ยนความคิดใหม่ เปนคิดจะขับไล่ชนชาติผิวขาว คือฝรั่งทุกชาติและญี่ปุ่นให้ลงทะเลไปเสียให้หมด ความคิดในครั้งหลังนี้เมื่อได้ลงมือทำขึ้นแล้ว ทั้งที่กรุงปักกิ่งและเทียนสิน ความทรงทราบถึงพระนางฮองไทเฮาซึ่งทรงรังเกียจพวกผิวขาวที่บังคับให้เปิดเมืองท่า และเรียกโน่นเรียกนี่เปนเบี้ยปรับอยู่แล้วก็พอพระทัยได้ทรงสนับสนุนให้ทหารหลวงเข้าช่วยกำลังพวกมวยด้วยทีเดียว แต่แทนที่จะไล่พวกผิวขาวให้ออกจากเมืองจีนไปเฉย ๆ นั้น ได้วางนโยบางใหม่คือ กะแผนการเข้าโจมตีสถานทูตคิดจับตัวอัครรัฐทูตของชนชาติผิดขาวไว้เปนประกัน เพื่อการเจรจาแลกเปลี่ยนสิทธิอำนาจในทางการเมืองด้วยอีกชั้นหนึ่ง”[2]


 ภาพปกหนังสือ ‘เรื่องตั้วเหี่ย’ พ.ศ.2478


อรรถาธิบายอักษรจีนเรื่อง ‘ตั้วเหี่ย’


การผันเสียงทั้งหมดในเรื่องหนังสืองานศพเรื่อง ‘ตั้วเหี่ย’ (พ.ศ.2477) นี้ อ้างอิงด้วยสำเนียงจีนแต้จิ๋ว ผู้เขียนพอมีความรู้ในอักษรจีนและภาษาจีนท้องถิ่นนี้อยู่บ้าง จึงลองแกะมาแบ่งปันความเห็นดังต่อไปนี้

  • ตั่วเฮียสี่

คำว่าพี่ใหญ่คนแต้จิ๋วจะไม่เรียกตามอักษรแบบจีนกลางที่ใช้ 大哥 (อ่านแต้จิ๋ว ‘ไต่กอ’) แต่เลือกจะใช้คำว่า 大兄 ‘ตั่วเฮีย’ และคำว่า ‘สี่’ 勢 ที่แปลว่า ‘อำนาจยิ่ง’

ส่วนคำว่า ‘ยี่’ แปลว่าอันดับสอง สามารถเขียนได้สองแบบคือแบบที่รู้จักกันดี 二 และแบบที่เขียนในธนบัตร 贰 เช่นเดียวกับลำดับที่สาม ‘ซา’ คือ 三 และ 叁  

  • ยี่เฮียจี๊

คำว่า ‘ยี่เฮีย’ ตามด้วยคำที่หมายถึงความมั่งคั่งด้านเงินทอง คือ ‘จี๊’ 錢[3] แปลว่า ‘มีเงิน’

  • ซาเฮียบี๊

คำว่า  ‘ซาเฮีย’ ตามด้วยคำที่หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ด้านกินดี คืออักษร ‘บี๊’ 米 แปลว่า ‘มีข้าว’

  • อั้งคุน

ลำดับที่สี่ ‘อั้งคุน’ ความหมายของต้นฉบับนี้แปล ‘อั้งคุน’ เป็น ‘มวยแดง’ 紅拳 แต่ส่วนตัวผู้เขียนกลับนึกถึงอักษรอีกตัวหนึ่งที่มักจะยังถกเถียงกันในความหมายของ ‘อั้งยี่’ คือว่า ตัวแรก ‘อั้ง’ นี้ ควรเป็น ตัวอักษร 洪 หรือ 紅 กันแน่? ประเด็นนี้อยากขยายความไว้สักเล็กน้อย เนื่องด้วยในสมัย ร.3 (พ.ศ.2367-2394) ยังคงใช้คำว่า ‘ตั้วเหี่ย’ ในนิยามของ ‘สมาคมลับ หรือชุมชนชาวจีนที่มักสร้างความก่อกวนต่ออำนาจรัฐ’ ส่วนคำว่า ‘อั้งยี่’ เพิ่งได้รับการนิยามและใช้บ่อยในสมัย ร.5 (พ.ศ.2411-2453) จนถึงกับต้องตรากฎหมายเพื่อสกัดกั้น และยิ่งแน่ชัดว่า ในข้อสี่ที่แปล ‘อั้งคุน’ ย่อมอาจจะหมายถึงมวยจีนสายสกุลหง 洪拳[4] เสียมากกว่าหรือกระไร?

ส่วนอักษร ‘คุน’ 拳 (ผู้เขียนคุ้นกับคำออกเสียงว่า ‘คุ้ง’) ผู้เขียนยังคิดเตลิดไปอีกด้วยว่า มีคำพ้องเสียงแต้จิ๋วอีกหนึ่งอักษรคือ群 (ออกเสียงแต้จิ๋วว่า ‘คุ้ง’ เหมือนกัน) แปลว่า ‘ฝูงชน’ หรือรวมความไปถึงคำว่า ‘แก๊ง’ อีกด้วย

ต้นฉบับหนังสือตั้วเหี่ยเล่มนี้ยังปรากฏคำศัพท์อีกหนึ่งคำคือ ‘งี่โหกวน’ (ในเล่มทำเชิงอรรถสะกดแต้จิ๋วไว้อีกด้วยว่า ‘งี่ฮั่วท้วน’) ซึ่งตรงนี้ไม่เป็นปัญหาแน่ว่าคือ กบฏยี่เหอถวน 義和團 หรือ ‘กบฏนักมวย’ ที่รู้จักกันดีในชื่อ Chinese Boxer Rebellion เมื่อราว พ.ศ.2443 หรือตรงกับราวสมัยค่อนไปทางปลาย ร.5 ก่อนที่ ดร.ซุนยัดเซ็น จะประสบความสำคัญในอีกสิบปีต่อมาด้วยการปฏิวัติ ‘ซินไฮ่เก๋อมิ่ง’ 辛亥革命 ตรงกับต้นสมัย ร.6 เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2454


ภาพวาดชุมชนชาวจีนฝีมือของ Thomas Allom (พ.ศ.2347-2415)
ภาพวาดชาวจีนสามัญเสพฝิ่นสมัยต้าชิง


อั้งยี่ คือ ‘อั้ง’ ตัวไหน? ระหว่าง 洪 กับ 紅


ผู้เขียนมักพบความลักลั่นเสมอเมื่อศึกษาคำว่า ‘อั้งยี่’ กับอักษรตัวแรกว่าจะเลือกใช้ตัวใด ระหว่าง 洪 ที่เป็นนามสกุลของบูรพกษัตริย์ราชวงศ์หมิง หรือ 紅 ที่แปลว่าสีแดง อักษรทั้งสองคำนี้ล้วนอ่านพ้องเสียงกันทั้งจีนกลางว่า ‘หง’ และจีนแต้จิ๋วว่า ‘อั้ง’ ส่วนอักษรที่สองไม่มีปัญหาว่า คงไม่พ้นคำว่า 字 (แต้จิ้วอ่าน ‘หยี่’) อันแปลว่าตัวอักษร

ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล ได้วินิจฉัยไว้ในวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘สมาคมลับอั้งยี่ในประเทศไทย พ.ศ.2367-2453’ ของเธอเมื่อ พ.ศ.2524 ว่า ‘หง’ สมัยโบราณเป็นคำเรียกสมาคมลับด้วยอุดมการณ์ ‘โค่นชิงกู้หมิง’ 反清复明 ในต้นรัชสมัยราชวงศ์ชิงที่ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นจีนฮั่น จึงพยายามย้อนกลับไปรื้อฟื้นคติของราชวงศ์หมิงที่มีปฐมกษัตริย์คือ ‘จูหยวนจาง’ (朱元璋 พ.ศ.1871-1941) ผู้มีแซ่เดิมว่า ‘หง’ 洪 ซึ่งในรัชสมัยศกแรกของพระองค์ใช้คำว่า 洪武 แต้จิ๋วอ่าน ‘อั่งบู๊’ จีนกลางอ่านว่า ‘หงอู่’ ต่อมาคำนี้หมายถึงกลุ่มก้อนสมาคมอะไรก็ตามที่รวมกลุ่มผิดแบบผิดกฎหมายหลายกลุ่ม บางสมาคมมีสัญลักษณ์เป็นรูปอักษร 洪 ตัวใหญ่

คนทั่วไปเรียกสมาคมที่ติดอักษร 洪 ตัวใหญ่เหล่านี้ว่า 洪字 อั่งยี่ แปลว่า อักษรอั๊ง หรือ อักษรหง คือเข้าในสมาคมเห็นอักษรอั๊ง[5] ซึ่งผู้เขียนเห็นคล้อยตามไปกับการให้เหตุผลของศุภรัตน์ มิใช่แต่เพียงเท่านั้น ยังพลางจะนึกถึงนักปฏิวัติสมัยราชวงศ์ชิงแซ่หงคนสำคัญอีกหนึ่งคน คือ หงซิ่วเฉวียน 洪秀全 (พ.ศ.2357-2407) ผู้นำกบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว 太平天國(พ.ศ.2493-2407) อันเลื่องชื่อ ซึ่งอุบัติขึ้นราวปลายรัชสมัย ร.3 ในเรื่องแมนสรวง


สืบสาว ‘ตั้วเหี่ย’ ในพจนานุกรมไทย


คำว่า ‘ตัวเหี่ย’ ถูกบรรจุในพจนานุกรม ‘สัพะ พะจะนะ พาสา ไท’ สี่ภาษาของปาเลอกัว บาทหลวงชาวฝรั่งเศส[6] จัดพิมพ์เมื่อต้นรัชกาลที่ 4 ในหน้า 156 (จากจำนวน 897 หน้า คำศัพท์ทั้งสิ้น 32,292 คำ) โดยแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘Rebel, secret society of rebels’ (กบฏ, สมาคมลับของกลุ่มกบฏ) ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาในพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3[7] ฉบับของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค พ.ศ.2356-2413)[8] ที่บันทึกการปราบปรามตั้วเหี่ยไว้ถึง 5 เหตุการณ์ คือ พ.ศ.2367 ที่บ้านหนองปรือ พ.ศ.2385 ที่เมืองนครไชยศรีและสาครบุรี พ.ศ.2387 จับจีนลักลอบขายฝิ่นที่บางปะกง  พ.ศ.2388 กวาดล้างจีนโจรสลัดย่านเมืองปราณถึงหลังสวน และ พ.ศ.2391 เหตุการณ์สู้รบกับตั้วเหี่ยตั้งแต่เดือน 4 ย่านเมืองสาครบุรี เมืองราชบุรี ถึงเดือน 5 ที่เมืองฉะเชิงเทรา จนมีผู้ล้มตายมากมาย โดยบันทึกไว้ว่า “พวกจีนตายครั้งนั้นหลายพัน ศพลอยในลำน้ำเมืองฉะเชิงเทราติดเนื่องกันไปทุกคุ้งน้ำ จะนับประมาณมิได้”[9]


‘ตัวเหี่ย’ ในพจนานุกรม ‘สัพะ พะจะนะ พาสา ไท’


นับจากนั้นคำว่า ‘ตั้วเหี่ย’ เหมือนจะถูกเลิกใช้ แล้วทดแทนด้วย ‘อั้งยี่’ ในเวลาต่อมา โดยเฉพาะเมื่อ พ.ศ.2440 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยอั้งยี่ รัตนโกสินทร์ศก 116[10] เราจึงไม่สามารถพบคำว่า ‘ตั้วเหี่ย’ ในพจนานุกรมยุคต่อๆ มา[11] จนกลับมาปรากฏอีกครั้งใน ‘พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2493’ ด้วยนิยามว่า “ตำแหน่งหัวหน้าอั้งยี่, อั้งยี่.”[12] ขณะที่ก่อนหน้านั้นคำว่า ‘อั้งยี่’ กลับได้รับบรรจุลงในปทานุกรมของกรมตำรากระทรวงธรรมการ พ.ศ.2470 ด้วยความหมายว่า ‘ซ่องลับ, สมาคมที่ทำการไม่ต้องด้วยกฎหมาย’[13] แต่ไม่พบคำว่า ‘ตั้วเหี่ย’ ในตำราเล่มเดียวกันนี้

พระราชบัญญัติว่าด้วยอั้งยี่ ร.ศ.116 สมัยรัชกาลที่ 5


ครั้นเมื่อลองสอบค้นคำว่า ‘ตั้วเหี่ย’ ในแบบหัดพูดภาษาแต้จิ๋ว ฉบับทางการมีหัวตราครุฑสมัยต้นรัชกาลที่ 6 โดยกรมราชบัณฑิต จัดพิมพ์ครั้งแรก ร.ศ.131[14] หรือ พ.ศ.2456 รวมถึงฉบับพิมพ์ซ้ำต่อๆ มาอีกอย่างน้อยอีก 4 ครั้ง (ครั้งที่ 2 พ.ศ.2468[15] และครั้งที่ 4 พ.ศ.2473[16]) หนังสือเล่มนี้แต่งโดย ขุนอำนวยจีนพากย์ (ไต้เงี้ยบ) ครูสอนภาษาจีนที่โรงเรียนพาณิชการ วัดราชบูรณะ และได้ขุนนิเพทย์นิติสรรค์ (ฮวดหลี) เป็นผู้จดตรงเสียงที่จีนพูด โดยอาศัยต้นฉบับแบบเรียนของตำราภาษาจีนของนายลิ่มฮ่งเสงที่สอนฝรั่ง และมีเจ้ากรมราชบัณฑิต พระจรัสชวนะพันธ์ เป็นบรรณาธิการ ผู้เขียนก็มิได้พบข้อความที่กล่าวถึง ‘ตั้วเหี่ย’ ไว้แต่อย่างใด


 แบบเรียนภาษาแต้จิ๋วของรัฐ ฉบับพิมพ์ พ.ศ.2473


อนึ่ง วิทยานิพนธ์ฉบับที่มักถูกอ้างอิงเสมอในเรื่องคำยืมจีนในภาษาไทยของ ปราณี กายอรุณสุทธิ์ ได้บรรจุศัพท์ ‘ตั้วเหี่ย’ ไว้ในลำดับที่ 325 จากอักขรานุกรมคำยืมจีนทั้งสิ้น 463 คำไว้ ว่า “ตั้วเฮีย/ตั้วเหี่ย เรียกบุคคลผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าอั้งยี่ (ขบวนการลับที่ผิดกฎหมายในสมัยรัชกาลที่ 3-4) เพราะผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าอั้งยี่นั้นเป็นคนที่บรรดาสมาชิกในขบวนการนั้นนับถือว่าเป็น ‘พี่ชายใหญ่’ 大兄”[17]

ส่วนคำว่า ‘อั้งยี่’ ในวิทยานิพนธ์นี้ระบุเจาะจงอักษร 洪 จัดลำดับที่ 455 ด้วยคำนิยามว่า “อั้งยี่ สมาคมลับของชาวจีน 洪字”[18]


‘ตั้วเหี่ย’ ถึง ‘อั้งยี่’ ในประวัติศาสตร์นิพนธ์


ในศตวรรษที่ 18 ชาวจีนฮกเกี้ยนอพยพมาอยู่ประเทศสยามจำนวนมากที่สุด จีนกวางตุ้งรองลงมา ทว่า นับแต่ ค.ศ.1767 จีนแต้จิ๋วกลับเพิ่มจำนวนมากขึ้น พร้อมกับจีนไหหลำและจีนแคะ ขณะที่จีนฮกเกี้ยนและจีนกวางตุ้งลดจำนวนลงไปเป็นอันดับ 4 และ 5 ตามลำดับ (ยกเว้นภาคใต้ของสยามที่ยังคงมีชาวจีนฮกเกี้ยนอาศัยอยู่มากที่สุด)

สาเหตุสำคัญเพราะสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือพระเจ้าตากสินมหาราช มีพระบิดาเป็นจีนแต้จิ๋วและให้การสนับสนุน ในสมัยนี้จีนแต้จิ๋วมีอภิสิทธิ์เป็นจีนหลวง[19] อย่างไรก็ตาม ยังปรากฏว่าจีนฮกเกี้ยนเป็นพวกที่เข้ารับราชการได้ยศตำแหน่งเป็นขุนนางผู้ใหญ่ หรือแม้แต่วรรณกรรมเอกสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ก็ใช้ภาษาจีนฮกเกี้ยนเป็นการผันเสียง


ภาพวาดกุลีลากรถชาวจีนปลายรัชกาลที่ 5 บนถนนราชดำเนินใน จากหนังสือ Peeps At Many Lands SIAM ของ Ernest Young พิมพ์พ.ศ.2451


ปริมาณชาวจีนอพยพเริ่มเพิ่มขึ้นมากตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมาจนถึงรัชกาลที่ 5 เนื่องจากในเมืองจีนเกิดเหตุความไม่สงบทางภาคใต้ เช่น ทุพภิกขภัย สงครามฝิ่น (พ.ศ.2382-2385) กบฏไต้เผ็ง (พ.ศ.2393-2407) และการจลาจลอื่นๆ ประมาณว่าต้นรัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2368) มีชาวจีนอยู่ในประเทศไทยราวๆ 230,000 คน พอถึงกลางสมัยรัชกาลที่ 4 (พ.ศ.2403) เพิ่มขึ้นเป็น 337,000 คนและทวีเพิ่มพูนเป็น 497,000 คนในกลางสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2423) และสูงถึง 792,000 คนในตอนปลายรัชกาล (พ.ศ.2453)[20]


เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค พ.ศ.2356-2413)


ประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่เอ่ยถึง ‘ตั้วเหี่ย’ มากที่สุด น่าจะกล่าวได้ว่าคือหนังสือ ‘พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3’ ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค พ.ศ.2356-2413)[21]แต่เป็นที่น่าเสียดายว่ากว่าพงศาวดารเล่มนี้จะได้รับการพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณชนครั้งแรก ก็ล่วงหลังเหตุการณ์สิ้นรัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ.2494 อีกเกือบหนึ่งศตวรรษ กล่าวคือได้ถูกจัดพิมพ์เป็นหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ มหาอำมาตย์โท พระยาไพบูลย์สมบัติ (เดช บุนนาค) เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2477  

ขุนนางชั้นสูงตระกูล ‘บุนนาค’ ท่านนี้นับว่ามีส่วนรับรู้เรื่องราชสำนักในระดับต้นๆ ของประเทศยุคนั้น ยิ่งหากพูดถึงบริบทการเปลี่ยนรัชกาล[22]เช่นในภาพยนตร์แมนสรวงนี้ อาจารย์เอนก นาวิกมูล ศิลปินแห่งชาติ ถึงกับขนานนามบุคคลท่านนี้ไว้ว่า ‘เสนาบดีนักปราชญ์’ เป็นบุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค พ.ศ.2331-2398 ) และเป็นน้องต่างมารดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค พ.ศ.2351-2426) สองขุนนางนี้ บิดามีอำนาจศักดิ์ใหญ่สูงสุดสมัย ร.3-4 ส่วนบุตรชายได้เป็นถึงผู้สำเร็จราชการต้นสมัยรัชกาลที่ 5

ทั้งนี้ สมใจ ไพโรจน์ธีระรัชต์ เคยให้ความเห็นต่อการบันทึกประวัติศาสตร์ของพระยาทิพากรวงศ์ไว้ในย่อหน้าที่ว่า “ในการเรียบเรียงพระราชพงศาวดารนั้น เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฯ คำนึงถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตมากกว่านโยบายที่เป็นอยู่ในขณะนั้น นั่นคือ ในการเรียบเรียง “อดีต” นั้น เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ก็ได้พยายามแยก “ปัจจุบัน” ออกเช่นกัน”[23] เพื่อเป็นเชิงเทียบเคียงกับนักประวัติศาสตร์ราชนิกุลอีกท่านหนึ่ง คือสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ที่มักจะปรับแก้พงศาวดารไปตามบริบทสังคมที่แปรเปลี่ยนไป


ปกหนังสือ ‘ความทรงจำ’ สร้างโดย เหม เวชกร

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พ.ศ.2405-2486) เคยเขียนไว้ในพระนิพนธ์ที่เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2476 เรื่อง ‘ความทรงจำ’ ในบทที่ว่าด้วย ‘เรื่องพวกจีนตั้วเฮีย (หรือที่เรียกกันในสมัยนี้ว่า “อั้งยี่”)’[24] และต่อมาทรงประพันธ์วรรณกรรมชิ้นสุดท้ายของชีวิตชื่อว่า ‘นิทานโบราณคดี’  ประกอบเรื่องด้วยเรื่องราวปกิณกะจำนวน 20 เรื่อง ซึ่งในนิทานลำดับที่ 15 ได้บรรยายเรื่องอั้งยี่ไว้อย่างพิสดาร[25]

ชุด ‘นิทานโบราณคดี’ นี้ถูกจัดพิมพ์ครั้งแรกโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพของผู้ประพันธ์เมื่อต้นปี 2487 กล่าวได้ว่าเรื่องราวเกี่ยวกับอั้งยี่ในสยามเกือบทั้งหมดต้องอ้างอิงจากนิทานชิ้นนี้ เช่น ‘สมาคม “ตั้วเฮีย”’ ของ ประยุทธ สิทธิพันธ์[26] ฯลฯ

กรมพระยาดำรงฯ เกริ่นนำถึงที่มาของบทประพันธ์เรื่องอั้งยี่ไว้ดังนี้

“เมื่อฉันเป็นนายพล ผู้ช่วยบัญชาการทหารบกอยู่ในกรมยุทธนาธิการ ระหว่าง พ.ศ. 2430 จนถึง พ.ศ. 2432 ได้เคยมีหน้าที่ทำการปราบพวกจีนอั้งยี่ในกรุงเทพฯ ครั้งหนึ่ง ต่อมาถึงสมัยเมื่อฉันเป็นตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2435 จน พ.ศ. 2458 มีหน้าที่ต้องคอยระวังพวกอั้งยี่ตามหัวเมืองอยู่เสมอ บางทีก็ต้องปราบปรามบ้าง แต่ไม่มีเหตุใหญ่โตเหมือนเมื่อครั้งฉันอยู่ในกรมยุทธนาธิการ ถึงกระนั้นก็ได้ความรู้ในเรื่องอั้งยี่มากขึ้น ครั้นเมื่อฉันออกจากกระทรวงมหาดไทยมาจัดการหอพระสมุดสำหรับพระนคร มีกิจตรวจค้นโบราณคดี พบเรื่องอั้งยี่ที่มีมาในเมืองไทยแต่ก่อนๆ ในหนังสือพงศาวดารและจดหมายเหตุเก่าหลายแห่ง เลยอยากรู้เรื่องตำนานของพวกอั้งยี่ จึงได้ไถ่ถามผู้ที่เคยเป็นหัวหน้าอั้งยี่ที่คุ้นเคยกัน คือพระอนุวัติราชนิยม ซึ่งมักเรียกกันว่า “ยี่กอฮง” นั้นเป็นต้น เขาเล่าให้ฟังได้ความรู้เพิ่มเติมขึ้นอีก จึงได้ลองเขียนบันทึกเรื่องอั้งยี่ไว้บ้างหลายปีมาแล้ว”

ภายหลังที่กรมยาพระดำรงฯ ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ในกรณีกบฏบวรเดช ขณะพำนักอาศัยอยู่ในเมืองปีนังก็เริ่มค้นคว้าเรื่องราวของอั้งยี่โดยเขียนถึงที่มาของการประพันธ์นี้ไว้ว่า

“ครั้นออกมาอยู่เมืองปีนัง ฉันมาได้เห็นตำนานต้นเรื่องอั้งยี่ที่แรกเกิดขึ้นในเมืองจีน มิสเตอร์ ปิคเกอริง Mr. W.A. Pickering แปลจากภาษาจีนในตำราของพวกอั้งยี่ พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษไว้ในหนังสือวารสารของสมาคมรอแยลเอเชียติค Journal of the Royal Asiatic Society เมื่อ ค.ศ. 1878 (พ.ศ. 2421) เขาเล่าถึงเรื่องที่พวกจีนมาตั้งอั้งยี่ในหัวเมืองขึ้นของอังกฤษในแหลมมลายูด้วย เป็นอันได้เรื่องเบื้องต้นต่อกับเรื่องอั้งยี่ที่ฉันเคยรู้มาแต่ก่อนอีกตอนหนึ่ง จึงลองรวมเนื้อความเรื่องอั้งยี่เขียนนิทานเรื่องนี้”[27]

ทั้งนี้ อีกหนึ่งราชนิกุลที่บันทึกเรื่องอั้งยี่ไว้ คือ น.ม.ส. หรือพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ มีพระนามเดิมว่า พระบวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส (พ.ศ.2420 – พ.ศ.2488) ชื่อเรื่องว่า ‘อั้งยี่จีน’ โดยทรงอ้างเรื่อง ‘เขาว่า’ ไปไกลถึงสมัยสามก๊กว่า “เขาว่าสมาคมอั้งยี่แรกในประเทศจีนคือ เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย ครั้งสามก๊ก (ค.ศ. 221 – 264) ในตอนนั้นเกิดจลาจลในบ้านเมือง รัฐบาลของพระมหากษัตริย์ จึงเรียกทหารสมัครให้ช่วยกันปราบปรามเหล่าร้าย เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย จะไปสมัคร จึงสาบานกันว่า จะซื่อสัตย์ต่อกันไป​จนวันตาย.

กวนอูตายแล้วได้ 1300 ปีจึงได้รับตั้งเป็นเซียนแห่งสงคราม เพราะเป็นผู้มีฝีมือ และเป็นผู้มีความสัตย์ต่อพี่น้องน้ำสบถหาผู้เสมอมิได้ อั้งยี่ในเมืองจีนบูชากวนอูว่า เป็นเซียนของอั้งยี่ทั้งหลาย.

เขาว่าตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ต่อมา อั้งยี่ในเมืองจีนได้ร่วมใจกันเป็นอริต่อราชวงศ์เม่งจู ซึ่งเป็นผู้ทำลายราชวงศ์เหมงให้สิ้นไป. ”[28]


ภาพปกหนังสือเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี สร้างโดย เฉลิม วุฒิโฆษิต


ในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังพบอีกหนึ่งขุนนางที่อ้างว่ามีส่วนในการกำราบพวกอั้งยี่ คือจอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต พ.ศ.2394-2474) ภายในหนังสือชีวประวัติเขียนไว้ว่า ขณะดำรงยศเป็นเจ้าหมื่นไวยวรนารถได้เข้าสมัครเป็นอั้งยี่ที่ตลาดพลู อันเป็นกลุ่มใหญ่ที่มีไพร่พลราว 70,000 คน[29] ครั้งนั้นได้เดินทางโดยเรือแจวล่องไปในคลองภาษีเจริญ ร่วมกับสองผู้ติดตามคือ หลวงทวยหาญ (กิ่ม) แลนายจ่ายวด (สุข ชูโต) ทั้งสามได้เข้าร่วมพิธีกระทำสัตย์สาบานกับหัวหน้าใหญ่สมาคมลับนี้ พร้อมรับตราและธงอาญาสิทธิ์ (ดูเหมือนภาพยนตร์แมนสรวงจะมีมุมนี้ในตอนต้น ที่ตัวเอกไพร่สองคนสามารถเข้าไปในดินแดนของเหล่าตั้วเฮียด้วยตราอาญาสิทธิ์)

ในชีวประวัติช่วงนี้ของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี บันทึกไว้ว่า “เมื่อได้กระทำการสำเร็จแล้ว เจ้าหมื่นไวยวรนารถจึงได้นำตราและธงอาญาสิทธิ์กับรายนามพวกอั้งยี่ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่นั้นต่อมาการอั้งยี่ทุกพวกทุกเหล่าก็สงบลงทั่วไป”[30]


ส่งท้าย


เมื่อมองในมุมการเมืองการปกครองจีนสยาม สมัยรัชกาลที่ 3 มีการแต่งตั้ง ‘นายอำเภอจีน’ ซึ่งต่อมาปรับขยายเป็น ‘กรมการจีน’ ในสมัยรัชกาลที่ 4 จนเมื่อถึงสมัยปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาคในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงลดอำนาจของกรมการจีนเหลือเพียง ‘กรมการพิเศษ’ ผนวกด้วยมาตรการเสริมอีกมากมาย จนยกระดับความเข้มข้นถึงขึ้นตรากฎหมายอั้งยี่จำนวน 18 มาตราใน พ.ศ.2440[31]

รัฐสยามดำเนินนโยบายทั้งพระเดชและพระคุณผ่านการอนุเคราะห์ชาวจีน ป้องกันเหตุร้าย และควบคุมการตั้งสมาคมลับอั้งยี่ กระทั่งปัญหาชุมชนชาวจีนใต้ดินเริ่มลดพลังลงไปในปลายรัชกาลที่ 5 แต่ขณะเดียวกัน ระยะปลายรัชกาลนี้ สิ่งที่รัฐสยามต้องคำนึงถึงและจับตามองอย่างใกล้ชิดคือขบวนการลัทธิชาตินิยมของชาวจีนในประเทศสยาม[32] โดยเฉพาะด้วยบริบทครั้งนั้น ดร.ซุนยัดเซ็น ได้เดินทางเข้ามายังประเทศสยามสองวาระ คือในกลางปี 2446 และอีกครั้งเมื่อปลายปี 2451 เพื่อหาแนวร่วมและเงินทุนสนับสนุน จนท้ายที่สุดสามารถปิดฉากระบอบจักรพรรดิที่ยืนยงคู่กับประเทศจีนนับพันปีได้สำเร็จตรงกับต้นรัชกาลที่ 6 และเป็นรัชสมัยนี้เองที่ชุมชนชาวจีนสามารถรวมกลุ่มจัดตั้งองค์กรสมาคมถูกกฎหมายมากมาย เช่น สมาคมตระกูล สมาคมท้องถิ่น สมาคมกลุ่มภาษา สมาคมสงเคราะห์คนยากจน ฯลฯ รวมถึงการก่อกำเนิดสื่อสิ่งพิมพ์ในหมู่คนจีนด้วยกันในรูปแบบต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์หลากหลายหัว 


ซุนยัดเซ็น ในวัยหนุ่มสมัยต้าชิง (ที่สองจากซ้าย)


จนถึงทุกวันนี้ นิยามของ ‘ตั้วเหี่ย’ และ ‘อั้งยี่’ ในพจนานุกรม พ.ศ.2554 หลงเหลือเพียงว่า “ตั้วเหี่ย (โบ) น. ตำแหน่งหัวหน้าอั้งยี่, อั้งยี่. (จ. ตั่วเฮีย ว่า พี่ชายคนโต, พี่ชายใหญ่).” และ “อั้งยี่ (1) น. สมาคมลับของคนจีน (จ.). (2)  (กฎ) เป็นฐานความผิดอาญา ที่ผู้กระทำเข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย. (จ.).”

ฉะนั้นตำนานองค์กรลับชาวจีนจึงพบเพียงร่องรอยคำพังเพยในอดีตของชาวไทยที่ว่า

“มีคนอังกฤษอยู่ที่ไหนแต่ 2 คนขึ้นไป ก็ต้องคิดตั้งสโมสรกีฬาขึ้นนั้น

มีคนเยอรมันอยู่ที่ไหนแต่ 2 คนขึ้นไป ก็ต้องคิดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่นั้น

และมีจีนอยู่ที่ไหนแต่ 2 คนขึ้นไป ก็ต้องคิดตั้งคณะอั้งยี่ขึ้นที่นั้น” [33]


ป.ล. เกร็ดแถมจากฉากบูชายันต์ไก่

ปุจฉา ทำไมต้องเชือดไก่ด้วย?

วิสัชนานี้ปรากฏในวิทยานิพนธ์หัวข้อ ‘สมาคมลับอั้งยี่ในประเทศไทย พ.ศ.2367-2453’ ของ ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล หน้า 25 ความว่า

“จากนั้นหัวหน้าเครื่องหอมฆ่าไก่ 1 ตัว ไก่ตัวนี้แทนอาชี (ชี แปลว่า เจ็ด) ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า เป็นพระสงฆ์ที่ทรยศบอกทางลับของวัดเส้าหลินให้แก่กองทหารหลวง ทำให้วัดถูกเผาและพระสงฆ์ในวัดถูกฆ่าตายไป 100 กว่ารูป สมาชิกใหม่เอามีดแตะซากไก่ แล้วคลานลอดผ่านใต้แท่นบูชา การทำเช่นนี้มีความหมายว่าทุกคนได้เกิดใหม่ในครอบครัวหง มีฟ้าเป็นบิดา ส่วนมารดานั้นคือดิน แล้วสมาชิกใหม่สาบานเป็นพี่น้องกัน ขอร่วมทุกข์ร่วมสุขไปจนตาย ในขณะที่สาบานกันนั้นจะอัญเชิญพระเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ มาร่วมเป็นสักขีพยานด้วย และกล่าวสาบานว่าจะร่วมมือกันล้มล้างราชวงศ์ชิง ฟื้นฟูราชวงศ์หมิง อีกทั้งจะรักษาความลับของสมาคมไว้อย่างเคร่งครัด”

แลเมื่อพูดถึงสัตว์สองขาสุดอาภัพที่จำถูกนำมาสังเวยอย่างคัลท์ดังว่า ผู้เขียนประหวัดนึกถึงสัตว์สี่เท้าอีกหนึ่งจำพวกที่มักพ่วงติดมาในคำผรุสวาทของชาวไทยเป็นนิตย์ คือ ‘เหี้ย’ จะว่าไปคำนี้มีความละม้ายกับคำจีนแต้จิ๋วอีกคำที่ไม่ใช่ ‘ตั้วเหี่ย’ แต่เป็นอักษร 野[34] (แต้จิ๋วอ่าน ‘เอี้ย’) ซึ่งแปลว่า ป่า, ดิบเถื่อน เช่นกรณี ‘สัตว์ป่า’ จะใช้ว่า ‘เอี๋ยแซ’ 野生 หรืออีกนัยสามารถใช้เรียกต่อว่าบุคคลที่มีความความอำมหิตเลวทราม เช่นว่า 野死 ‘เอี๋ยซี่’

ไม่แน่จะว่าจะมีความเกี่ยวเนื่องกับรากศัพท์ใดๆ หรือไม่อย่างไร เพราะเท่าที่ทราบยังไม่เคยพบการศึกษาเชิงนิรุกติศาสตร์ต่อสองคำนี้ในที่ใดๆ ทั้งสิ้น


“อาเตียว 阿鵰” ขออุทิศบทความนี้แทนคุณ “อาปา 阿爸” ผู้สถิตอยู่ ณ แดนสรวง

และขอขอบคุณ สุกัญญา เจริญวีรกุล (บาลีศึกษา 9 ประโยค) ในการพิสูจน์อักษร




[1] เรื่องตั้วเหี่ย เมืองสาครบุรี และแขวงนครไชยศรี พิมพ์เปนที่รฤกในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงเรืองศักดิ์สาครเขตร์ (จู บุนนาค) วันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2478 ณ วัดใหม่คล้ายนิมิตร์ ตำบลมหาไชย จังหวัดสมุทรสาคร, (โรงพิมพ์อาเจา), น.22.

[2] เรื่องตั้วเหี่ย เมืองสาครบุรี และแขวงนครไชยศรี พิมพ์เปนที่รฤกในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงเรืองศักดิ์สาครเขตร์ (จู บุนนาค) วันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2478 ณ วัดใหม่คล้ายนิมิตร์ ตำบลมหาไชย จังหวัดสมุทรสาคร, (โรงพิมพ์อาเจา), น.11-15.

[3] พระจรัสชวนะพันธ์, แบบเรียนภาษาต่างประเทศ กรมตำรา กระทรวงศึกษาธิการ ภาษาแต้จิ๋ว, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2468, (โรงพิมพ์วูยิง), น.327.

[4] ดู https://en.wikipedia.org/wiki/Hong_Xiguan กับ https://th.wikipedia.org/wiki/หงเฉวียน และ https://zh.wikipedia.org/zh-hans/洪熙官

[5] ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล, สมาคมลับอั้งยี่ในประเทศไทย พ.ศ.2367-2453, วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2524, น.16.

[6] รู้จัก “สังฆราชปาลเลอกัวซ์” พระสหายสนิท รัชกาลที่ 4 !! จุดเชื่อมต่อ https://www.matichonacademy.com/tour-story/รู้จัก-สังฆราชปาลเลอกั

[7] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ 3 ฉะบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ พิมพ์เป็นที่ระลึก ในงานพระราชทานเพลิงศพ มหาอำมาตย์โท พระยาไพบูลย์สมบัติ (เดช บุนนาค) วันที่ 25 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2477 ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส, (โรงพิมพ์ศรีหงส์).

[8] เอนก นาวิกมูล, เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เสนาบดีนักปราชญ์, พ.ศ.2550, (แสงดาว).

[9] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ 3 ฉะบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ พิมพ์เป็นที่ระลึก ในงานพระราชทานเพลิงศพ มหาอำมาตย์โท พระยาไพบูลย์สมบัติ (เดช บุนนาค) วันที่ 25 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2477 ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส, (โรงพิมพ์ศรีหงส์), น.315.

[10] พระราชบัญญัติว่าด้วยอั้งยี่ รัตนโกสินทร์ ศก 116, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 14 แผ่นที่ 28 วันที่ 10 ตุลาคม ร.ศ.116 หน้า 379-383.

[11] ศุภกร เลิศอมรมีสุข, พัฒนาการของคำยืมภาษาจีนที่ปรากฏในพจนานุกรมไทย, วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.2556, น.77-79.

[12] พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2493, พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2493, (โรงพิมพ์กรรมกรไทย), น.409.

[13] ปทานุกรม กรมตำรา กระทรวงธรรมการ, พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2470 รวม 26230 คำ, (โรงพิมพ์กรมตำรา), น.860.

[14] แบบเรียนภาษาจีน กรมราชบัณฑิต หัดพูดภาษาเตี้ยจิว (แต้จิ๋ว) ของ นายไต้เงี้ยบ พิมพ์ครั้งแรก 10,000 ฉบับ ร.ศ.130, (โรงพิมพ์อักษรนิติ์).

[15] แบบเรียนภาษาต่างประเทศ กรมตำรา กระทรวงศึกษาธิการ  ภาษาแต้จิ๋ว พิมพ์ครั้งที่สอง จำนวน 1000 ฉบับ พระพุทธศักราช 2468, (โรงพิมพ์วูฮิง).

[16] แบบเรียนภาษาต่างประเทศ ภาษาแต้จิ๋ว ของ กรมวิชชาธิการ กระทรวงธรรมการ พิมพ์ครั้งที่สี่ 2000 ฉบับ พุทธศักราช 2473, (โรงพิมพ์เชียงเฮง).

[17] ปราณี กายอรุณสุทธิ์, คำยืมภาษาจีนในภาษาไทยปัจจุบัน, วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาภาษาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2526, น.57 และ น.174.

[18] ปราณี กายอรุณสุทธิ์, คำยืมภาษาจีนในภาษาไทยปัจจุบัน, วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาภาษาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2526, น.216.

[19] ปราณี กายอรุณสุทธิ์, คำยืมภาษาจีนในภาษาไทยปัจจุบัน, วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาภาษาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2526, น.13-14.

[20] ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล, สมาคมลับอั้งยี่ในประเทศไทย พ.ศ.2367-2453, วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2524, น.32.

[21] เอนก นาวิกมูล, เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เสนาบดีนักปราชญ์, พ.ศ.2550, (แสงดาว).

[22] เทอดพงศ์ คงจันทร์, การเมืองเรื่องสถาปนาพระจอมเกล้าฯ, พ.ศ.2547, (มติชน).

[23] สมใจ ไพโรจน์ธีระรัชต์, พระราชพงศาวดารรัตนกสินทร์รัชกาลที่ 1-4 : เปรียบเทียบฉบับตัวเขียนและฉบับพิมพ์, วารสารอักษรศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร, ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (1985): มกราคม – ธันวาคม 2528, น.80.

[24] สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ความทรงจำ, พ.ศ.2494. (สำนักพิมพ์คลังวิทยา), น.295.

[25] ดำรงราชานุภาพ, นิทานโบรานคดี เล่ม 1, พิมพ์ครั้งแรก พ.ส.2487,( สำนักพิมพ์อุดม), น.327-384.

[26] ประยุทธ สิทธิพันธ์, ศาลไทยในอดีต, พ.ศ.2506, (สาสน์สวรรค์), น.373-388.

[27] พนะท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัถมนตรี โปรดไห้พิมพ์เปนอนุสรไนงานพระราชทานเพลิงพระสพ สมเด็ดพระเจ้าบรมวงส์เทอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นะ เมนุวัดเทพสิรินทราวาส เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2487, (ม.ป.พ), (โรงพิมพ์พระจันทร์).น.228-229.

[28] น.ม.ส. (นามแฝง), ผลมผสาน ชุดที่ 3 บทที่ 30 อั้งยี่จีน จุดเชื่อมต่อ https://vajirayana.org/ผสมผสาน-ชุดที่-3/อั้งยี่จีน

[29] พระยาอณุชิต (นามแฝง), เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต), พ.ศ.2474, (โรงพิมพ์ศิริอักษร),น.97-102.

[30] ยงศิลปะ เรืองศุข และ โขมพัตร (แสง-ชูโต), ประวัติการของ จอมพล และมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต), พ.ศ.2504, (โรงพิมพ์ศรีหงส์), น.115-117.

[31] ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล, สมาคมลับอั้งยี่ในประเทศไทย พ.ศ.2367-2453, วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2524, น.215-232.

[32] เออิจิ มูราชิมา, ต้นกำเนิดลัทธิชาตินิยมจีนในสังคมชาวจีนในประเทศไทย, วารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 (2019): กรกฎาคม-ธันวาคม 2562, น.19-79.

[33] เรื่องตั้วเหี่ย เมืองสาครบุรี และแขวงนครไชยศรี พิมพ์เปนที่รฤกในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงเรืองศักดิ์สาครเขตร์ (จู บุนนาค) วันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2478 ณ วัดใหม่คล้ายนิมิตร์ ตำบลมหาไชย จังหวัดสมุทรสาคร, (โรงพิมพ์อาเจา), น.18-19.

[34] ดู https://www.zdic.net/hans/野

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save