fbpx

‘เลี้ยงเด็กหนึ่งคน ใช้คนทั้งหมู่บ้าน’ เปิดมุมมองว่าที่รัฐบาลใหม่ต่อนโยบายเด็ก เยาวชน และครอบครัว

แม้จะมีคำกล่าวว่า “เด็กคืออนาคตของชาติ” แต่ปัญหาที่เด็กและเยาวชนไทยต้องเผชิญในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการขาดสุขภาวะที่ดี การถูกลิดรอนสิทธิทั้งในครอบครัว โรงเรียน และสังคม หรือแม้แต่การการถูกเพิกเฉย ผลักไสจากสังคม เมื่อเด็กออกมาสะท้อนเสียง-เรียกร้องสิทธิของตัวเอง สะท้อนว่านโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ให้ความสำคัญกับเด็กมากเพียงพอ หากเด็กคืออนาคตของชาติจริงๆ ก็เป็นที่น่าตั้งคำถามว่าตอนนี้ชาติกำลังเดินไปสู่อนาคตแบบไหน

ความหวังในการแก้ไขปัญหาที่ฝังรากลึกเหล่านี้จึงตกอยู่ที่ว่าที่รัฐบาลใหม่ ว่ามีมุมมองอย่างไร และจะมีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไรตั้งแต่ต้นตอ

101 ชวน ณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคและว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และ ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาร่วมเจาะลึกถึงปัญหาที่เด็กและเยาวชนไทยต้องเผชิญ พร้อมมองอนาคตประเทศไทยที่จะต้องรองรับสิทธิของเด็กทุกคนได้อย่างที่ควรจะเป็น ผ่าน 101 Policy Forum: ชวนว่าที่รัฐบาลใหม่ ตอบโจทย์ประเทศไทย

YouTube video

แนวคิดหลักที่ต้องใช้ในการตีโจทย์ปัญหาเด็ก เยาวชน และครอบครัว

นโยบายเด็ก เยาวชน และครอบครัวถือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่เป็นประเด็นที่ยังไม่ถูกพูดถึงในสังคมมากนัก พรรคก้าวไกลตีโจทย์นโยบายนี้อย่างไร

ณัฐวุฒิ: หากมองการดูแลเด็กในเชิงการเมือง เราต้องมีมิติที่ครอบคลุมมากกว่าแบบรายบุคคล ผมขอยกความเชื่อมโยงของนโยบายเด็ก เยาวชน และครอบครัว 3 เรื่อง ที่พรรคก้าวไกลได้ศึกษาและพัฒนามาตลอด 3-4 ปีระหว่างทำงานในสภาผู้แทนราษฎร และจากทีมนโยบาย

ฐานคิดที่ 1 สวัสดิการเด็กที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นลักษณะการดูแลแบบสงเคราะห์ หรือต้องพิสูจน์ความยากจน โดยต้องมีรายได้ครอบครัวต่ำกว่า 100,000 บาท/ปี/ครอบครัว จึงจะสามารถรับเงินอุดหนุนได้ แต่ในความเป็นจริง เด็กทุกคนต้องการการสนับสนุน จึงต้องใช้ ‘สวัสดิการแบบถ้วนหน้า’ สำหรับเด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย โดยจะเป็นสวัสดิการที่ไล่เรียงตามช่วงอายุขึ้นไป

ฐานคิดที่ 2 คือมิติเรื่องการเรียน สิ่งที่กดทับศักยภาพการเรียนรู้อยู่คือจำนวนชั่วโมงของครูที่ต้องไปรับภาระในการทำผลงานต่างๆ มากกว่าเรื่องวิชาการ และปัญหาอำนาจนิยมที่มักมีเด็กถูกใช้ความรุนแรง ดังนั้นเรื่องการศึกษาของเยาวชนจะแบ่งออกเป็น 2 ขา คือ การคุ้มครองเด็ก ลดกฎระเบียบที่เป็นเรื่องอำนาจนิยมผ่านการให้ความรู้ครูหรือผู้ดูแลเด็กและใช้กฎหมายประกอบ เช่น การพักใบอนุญาตต่าง ๆ ส่วนขาที่สองคือการส่งเสริมผ่านคูปองการเรียนรู้

ฐานคิดที่ 3 พรรคก้าวไกลเห็นว่าการดูแลเด็กไม่สามารถแยกออกจากมิติพื้นที่และชุมชนได้ จึงมีนโยบายที่เกี่ยวข้องคือ ‘การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น’ ซึ่งเป็นการกระจายทั้งงบประมาณ ทรัพยากรมนุษย์ และวิธีการ โดยอยากให้ลองจินตนาการว่าเด็กอยากอยู่กับพ่อแม่เพื่อสร้างความผูกพัน แต่ในความเป็นจริง พ่อและแม่สามารถลาคลอดได้ไม่นาน หรือในหลายกรณี แรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจทำให้พ่อแม่ต้องทิ้งเด็กให้อยู่กับตายาย เพราะต้องเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ​ การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจึงต้องลงลึกไปถึงการกระจายอำนาจ

ณัฐยา: ทั้ง 3 ฐานคิดสอดคล้องกับการดำเนินงานของ สสส. ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการสร้างเสริมสุขภาพและสุขภาวะที่ดี แต่อยากชวนให้ถอยกลับมามองในภาพใหญ่ของประเทศที่ตอนนี้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยมีประเด็นที่ต้องคำนึงถึงคือ

ประเด็นที่ 1 มีเด็กเกิดน้อยลงมาก และเด็กที่เกิดอยู่ในกลุ่มครอบครัวที่มีภาวะเปราะบางสูง ซึ่งส่งผลต่อสุขภาวะของเด็ก จึงต้องทบทวนว่าวิธีการต่างๆ ให้ความสำคัญและลงทุนกับเด็กมากน้อยแค่ไหน ธนาคารโลกมีคำแนะนำว่ารัฐควรลงทุนในเด็กเล็กไม่น้อยกว่า 1-2% ของ GDP ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยลงทุนไม่ถึง 1%

ประเด็นที่ 2 ระบบนิเวศที่รายล้อมรอบตัวเด็กจะต้องได้รับการดูแล เพื่อที่จะได้สามารถดูแลเด็กได้ดีด้วย ไม่ว่าจะเป็นมิติของครอบครัว หน่วยงานสาธารณสุข หรือที่ทำงานของผู้ปกครอง ซึ่งต้องมาดูกันว่าเอื้อให้พ่อแม่มีเวลาคุณภาพหรือมีสวัสดิการเสริมเข้ามาที่ทำให้ดูแลครอบครัวได้ดีขึ้นหรือเปล่า การออกแบบนโยบายเด็กจึงต้องครอบคลุมไปถึงนโยบายเกี่ยวกับพ่อแม่วัยแรงงานด้วย เพราะ ‘เลี้ยงเด็ก 1 คน ต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน’ จึงต้องนำภาพเล็กนี้ไปทบทวนในภาพใหญ่อีกครั้ง

สิ่งที่ขาดไปในการดูแลเด็ก ไม่ใช่งบประมาณ แต่คือความใส่ใจ

ข้อเสนอเรื่องสวัสดิการถ้วนหน้าเคยถูกพูดถึงแล้วพอสมควร แล้วที่ผ่านมาติดขัดเรื่องอะไร ทำไมจึงยังไม่เกิดขึ้นจริง

ณัฐวุฒิ: การให้สวัสดิการเด็กที่ผ่านมาไม่ใช่แค่ตกหล่น แต่ยังตกเบิกอีกด้วย ประเทศไทยมีเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีประมาณ 5-6 ล้านคน เมื่อพิสูจน์ความจนจะเหลือประมาณ 4 ล้านคน แต่ได้รับเงินอุดหนุนจริงเพียงประมาณ 2 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ยังมีการตกเบิกจากการรอของบกลาง โดยใช้เวลาถึง 2-3 เดือน ในขณะที่ตามหลักการสากลว่าด้วยสิทธิเด็ก จะมีหลักว่า ‘His name is Today’ ซึ่งหมายความว่าเรื่องเด็กเป็นเรื่องที่รอไม่ได้แม้แต่วันเดียว โดยสรุปจึงต้องดูว่าความเข้าใจต่อเรื่องของการคุ้มครองเด็กหรือการพัฒนาเด็กของประเทศไทยอยู่ในทิศทางใด ดังที่คุณณัฐยาพูดว่าประเด็นนี้ถูกสะท้อนผ่านตัวเลขที่อยู่ในงบประมาณ ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดการให้ความสำคัญอันหนึ่งได้

ณัฐยา: หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักจะบอกเราว่าไม่มีเงิน ไม่มีงบ ซึ่งนโยบายเงินอุดหนุนเด็กปัจจุบันอยู่ที่ 600 บาทต่อเดือนเท่านั้น โดยได้รับตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี สสส. ยูนิเซฟ และ TDRI ร่วมมือกันประเมินผลนโยบาย ผ่านการเก็บข้อมูลเด็กกว่าหมื่นคน ติดตามว่ากลุ่มที่ได้รับเงินอุดหนุนกับกลุ่มที่ไม่ได้รับมีผลแตกต่างกันอย่างไร ผลการสำรวจพบว่าเด็กไทยมีปัญหาภาวะโภชนาการหนัก แต่เด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนแม้จะแค่ 600 บาทต่อเดือน มีภาวะโภชนาการดีกว่าเด็กที่ไม่ได้รับ นโยบายนี้จึงมีความสำคัญ และมีการศึกษามาว่าค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมกับการดูแลเด็กเล็กอยู่ราว 3,000 บาทต่อเดือน จึงอยากฝากให้รัฐบาลลองดูความเป็นไปได้ที่จะขยับตัวเลขเพิ่มขึ้นอีก

ณัฐวุฒิ: ถ้าทำไปถึงแบบสวัสดิการถ้วนหน้า จะใช้งบประมาณแค่ 30,000 กว่าล้านบาทต่อปี เป็นตัวเลขที่ไม่มากเลย ดังนั้นการขาดงบประมาณจึงไม่ใช่ข้ออ้าง ซึ่งเรายอมรับว่าหากให้เงินอุดหนุน 1,200 บาทอย่างเดียวโดยไม่มีระบบรองรับ จะเป็นตัวเลขที่น้อยเกินไปดังที่คุณณัฐยาบอก แต่เรามีหลายนโยบายที่จะขับเคลื่อนไปพร้อมกัน

อย่างที่หนึ่ง นี่คือการขยับวงเงินขึ้นมาจาก 600 เป็น 1,200 บาท อย่างที่สองก็คือขยับจากการพิสูจน์ความจนมาเป็นแบบถ้วนหน้า อย่างที่สาม คูปองการเรียนรู้และเงินที่เป็นของขวัญก็เป็นการสนับสนุนอีกส่วนหนึ่ง โดยยังมีระบบนิเวศอื่นที่ต้องดูไปพร้อมกัน เช่น นโยบายที่เกี่ยวกับผู้ปกครอง และการกระจายอำนาจที่กล่าวไปก่อนหน้า ดังนั้นหลักการที่สำคัญไม่ได้ดูที่ตัวเลขอย่างเดียว แต่คือการที่เราเข้าใจว่าการดูแลเด็ก 1 คน จะต้องดูทั้งชุมชนและสังคมอย่างไรมากกว่า

ปัญหาสำคัญที่เด็กและเยาวชนไทยเผชิญ กับมุมมองการแก้ไข

จากรายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2023 โดย คิด for คิดส์ พบปัญหาที่เด็กและเยาวชนไทยกำลังเผชิญ 5 ข้อ มีมุมมองอย่างไรต่อปัญหานี้ และจะแก้ไขอย่างไร

1. เยาวชนมีงานที่ดีและสอดคล้องกับความฝันได้ยากขึ้น

ณัฐวุฒิ: เรียนจบอะไรอาจไม่สำคัญ เพราะระบบของการทำงานเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น แต่เด็กและเยาวชนไม่รู้ว่าช่องทางการต่อยอดเป็นอย่างไรบ้าง ฉะนั้นต้องแก้ที่ระบบของการให้คำปรึกษาของชุมชนและระบบแรงงาน โดยลดเงื่อนไขหรือกฎหมายที่อาจจะเป็นปัญหาอุปสรรคในการประกอบอาชีพของคนตัวเล็ก และเพิ่มพื้นที่ของการรับรู้ทางเลือกในการทำอาชีพที่มากยิ่งขึ้น

2. เด็กและเยาวชนไม่ได้รับการฟื้นฟูภาวะการเรียนรู้ถดถอยและพัฒนาทักษะจำเป็นจากระบบการศึกษา

ณัฐวุฒิ: การขาดเรียนไม่ใช่การขาดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเท่านั้น แต่คือการขาดเชิงสังคมด้วย เราจึงต้องมองทั้ง 2 ส่วน

ส่วนแรกคือทบทวนสิ่งที่ผ่านมา เราพบว่าจากที่เด็กควรอ่านออกเขียนได้ในวัยหนึ่ง เมื่อขาดช่วงไป 2 ปีทำให้พัฒนาทักษะได้ช้าลงและปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนถดถอยลง กระทรวงศึกษาธิการจึงต้องพัฒนาบุคลากรให้รับมือสถานการณ์นี้ได้

ส่วนที่สองคือในอนาคตอาจจะเกิดปรากฏการณ์แบบนี้อีก ระบบออนไลน์จึงพร้อมเข้ามาตอบสนองต่อการเรียน ประกบด้วยระบบครูเยี่ยมบ้าน ซึ่งเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะเข้าไปคัดกรองว่ามีเด็กคนไหนที่มีความต้องการพิเศษหรือไม่

3. เด็กและเยาวชนเผชิญปัญหาเครียดและซึมเศร้า แต่เข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้ไม่ทั่วถึง

ณัฐวุฒิ: เราอยากให้มีนักสังคมสงเคราะห์ในทุกชุมชน และในโรงเรียนควรมีครูที่เข้าใจประเด็นเรื่องของจิตวิทยา แม้อาจไม่สามารถสร้างนักจิตวิทยาในทุกโรงเรียนได้ แต่เราสามารถสร้างระบบการคัดกรองสุขภาพจิตเบื้องต้นจากบุคลากรในโรงเรียน และต้องมีระบบที่เชื่อมโยงไปถึงโรงพยาบาลหรือระบบทางการแพทย์ ซึ่งเรามองอยู่ 2 ระบบด้วยกัน คือระบบออนไลน์ที่มีแอปพลิเคชันครอบคลุมการบริการทุกด้าน อีกระบบคือบริการพบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ซึ่งเด็กสามารถขอรับคำปรึกษาได้

ณัฐยา: สสส. ร่วมมือกับกรมสุขภาพจิตทำระบบคัดกรองที่โรงเรียน เป็นระบบชื่อว่า HERO (Health And Educational Reintegrating Operation) โดยมีการนำร่องในบางโรงเรียนแล้ว และยังมีนวัตกรรมรองรับในปัญหาอื่นๆ อีกด้วย ทางลัดในการแก้ปัญหาจึงเป็นการระดมสิ่งที่มีอยู่แล้วมาพัฒนา เพราะทุกวันที่รัฐบาลเริ่มต้นทำงาน เข็มนาฬิกาเริ่มนับถอยหลังแล้ว จึงจำเป็นต้องเลือกให้ถูกว่าจะใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบใด

4. เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในรูปแบบซ่อนเร้นมากยิ่งขึ้น

ณัฐวุฒิ: เราจะลดอำนาจนิยมในโรงเรียนผ่านกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อจัดการคนที่ใช้ความรุนแรงกับเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคนนั้นเป็นครูหรือบุคลากรทางการศึกษา มากไปกว่านั้นคือการให้ความรู้ ประเด็นสำคัญคือการให้ความรู้เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยจะต้องมีหลักสูตรที่สนับสนุนเรื่องการลดอำนาจนิยมและเสริมความเข้าใจเรื่องความเสมอภาค

5. เด็กและเยาวชนฝันถึงสังคมใหม่อย่างหลากหลายแต่ระบบการเมืองไม่เปิดกว้างและรับฟัง

ณัฐวุฒิ: ความฝันไม่สามารถปิดกั้นได้ ผู้ใหญ่จึงควรเปิดพื้นที่ให้เด็กฝันและแสดงออก พรรคก้าวไกลมีนโยบายเรื่องสภาเยาวชน ปัจจุบันกระทรวงการพัฒนาสังคม ตามกฎหมายการพัฒนาเด็กและเยาวชนมีสภาเด็กและเยาวชนอยู่แล้ว และจัดทำรายงานทุกปี แต่รายงานนั้นมักไม่ค่อยได้รับการตอบสนอง พรรคก้าวไกลจึงต้องการสภาเยาวชนที่เชื่อมกับสภาผู้แทนราษฎร เรื่องอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเด็ก จะต้องมีเด็กเข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจ เช่นการผลักดันประเด็นต่างๆ ที่เด็กต้องการให้เป็นกฎหมาย

ณัฐยา: สภาเยาวชนเป็นสิ่งที่ควรทำก่อน เพราะทุกเรื่องที่คุยกัน เจ้าตัวไม่ได้มานั่งคุยกับเราเลย ถ้าหากเราทำสภาเยาวชนแล้วอาจให้เขาได้เป็นคนตรวจสอบทุกนโยบายเลยก็ได้ อย่างในระดับนานาชาติ UN ก็กำลังจะคุยถึงประเด็น Future Generation หรือคนรุ่นที่ยังไม่เกิด ว่าเราจะต้องเตรียมโลกแบบไหนไว้ให้พวกเขา จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำตั้งแต่ตอนนี้ ในอีกมุมหนึ่ง คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันจะเป็นวัยแรงงานและอาจเป็นพ่อแม่ในอนาคต หากมีส่วนร่วมตั้งแต่ตอนนี้ก็จะเป็นการวางรากฐานที่ดี

‘ความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน’ ปัญหาแผลทางใจที่ต้องเร่งแก้ไขใน 100 วันแรก

ปัญหาเด็กและเยาวชนใดเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดที่รัฐบาลจะแก้เป็นอันดับแรก

ณัฐวุฒิ: พรรคก้าวไกลมีนโยบายทั้ง 100 วันแรก, 1 ปีแรก และภายใน 4 ปี กรณีเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า พรรคก้าวไกลขอเวลา 1 ปี เพราะเกี่ยวข้องกับปีงบประมาณที่จำเป็นต้องเตรียมการ

ส่วนสิ่งที่อยากทำที่สุดใน 100 วันแรก คือการลดการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก ไม่ใช่แค่ในโรงเรียน แต่รวมถึงในครอบครัวและในสังคม โดยมีสิ่งที่พรรคก้าวไกลไม่ได้เขียนลงในกฎหมาย 45 ฉบับ แต่ผมจะยื่นเข้าสภาฯ ต่อไป คือการขอแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1567(2) “ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน” :ซึ่งอะไรคือตามสมควร? ผมจึงจะยื่นแก้กฎหมายฉบับนี้เข้าไปอีกรอบ หลังจากสมัยที่แล้วผมยื่นไปว่าการลงโทษนั้นจะต้องไม่เป็นการทารุณกรรม ไม่เป็นการด้อยค่า เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเด็กทุกวันนั้นรุนแรงและฝังรากลึก โดยจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการในระยะยาว

ณัฐยา: เห็นด้วยในการเร่งแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก เพราะหากวัยเด็กมีประสบการณ์เลวร้าย จะกลายเป็นบาดแผลทางใจจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งจะแก้ไขได้ยาก จึงเป็นปัญหาที่ควรป้องกัน

ฝากอะไรถึงว่าที่รัฐบาลใหม่

ณัฐยา: ต้องมองระบบนิเวศของการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้รอบด้าน และมองเป็นวงจรตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนเด็กเติบโตเป็นวัยรุ่น รวมถึงการมีส่วนร่วมของเยาวชน มีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในระดับนโยบาย ไม่ใช่แค่ทำแบบสำรวจความคิดเห็น แต่ต้องเข้ามานั่งอยู่ในโต๊ะที่เรานั่งคุยกันเรื่องนโยบายระดับต่างๆ ด้วย โดยสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่วันแรกที่เป็นรัฐบาล หรือก่อนหน้านั้นก็ได้

ณัฐวุฒิ: เรื่องเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องของทุกคน สิ่งที่เราอยากเห็นคือการเติบโตของพวกเขา ดังนั้นนักการเมืองต้องเรียนรู้และเข้าใจสิ่งเหล่านี้เช่นเดียวกัน เราอยากเห็นอนาคตของประเทศไทยเป็นอย่างไร เริ่มได้จากการดูแลเด็กในครอบครัว ในชุมชน ในโรงเรียน ในบ้าน และในสังคมของพวกเรา

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save