fbpx

“ถ้าทำผิด ก็เข้าคุกสิ?” เมื่อการลงโทษด้วยกฎหมายไม่ใช่ทางออกของปัญหา ‘เด็ก’ ก่อความรุนแรง

บ่อยครั้งที่เราอาจได้เห็นความรุนแรงเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่เป็นเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะการทำร้ายร่างกาย การทำร้ายในเชิงวาจา หรือการกลั่นแกล้งในรูปแบบต่างๆ ซึ่งถือได้ว่ากำลังเป็นปัญหาสังคมในระดับสากล

กระนั้นก็ตาม การที่เด็กคนหนึ่งถูกกระทำรุนแรงมักมีสาเหตุมาจากการขาดการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัว หรือแม้แต่ครอบครัวที่ดูเหมือนจะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นได้ ก็อาจสามารถกระทำสิ่งที่เข้าข่ายจากการขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องความรุนแรงเช่นกัน โดยที่ผู้กระทำมักเป็นบุคคลใกล้ชิดของเด็กและเยาวชนเอง

เมื่อเด็กเติบโตพร้อมกับความรุนแรงไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจนั้น ย่อมมีผลต่อพัฒนาการของเด็กทั้งในเชิงกายภาพและจิตใจ โดยในเชิงกายภาพ เด็กอาจมีความผิดปกติทางด้านร่างกาย เช่น มีพัฒนาการที่ผิดปกติ มีบาดแผล หรือพิการ ส่วนทางด้านจิตใจ เด็กที่ถูกกระทำรุนแรงมักจะมีความวิตกกังวล ความเครียด การจัดการทางอารมณ์ต่ำ รวมไปถึงการขาดความมั่นคงทางจิตใจ และยิ่งไปกว่านั้น เด็กที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้อาจเลือกหันหน้าเข้าหายาเสพติดหรือก่ออาชญากรรม หรือกล่าวอีกแบบหนึ่ง เด็กเหล่านี้ที่เคยถูกกระทำรุนแรง อาจกลายเป็น ‘ผู้กระทำความรุนแรง’ เสียเอง 

ไม่ว่าเด็กจะอยู่ในบทบาทผู้ถูกกระทำหรือผู้กระทำ ‘ความรุนแรงในเด็ก’ ยังคงเป็นโจทย์ที่สังคมไม่ควรมองข้ามและต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน 101 ชวนสำรวจประเด็นนี้เพื่อหาทางออกร่วมกันว่า หากเกิดปัญหาความรุนแรงในเด็กแล้ว ครอบครัว สังคม และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรจัดการและป้องกันอย่างไร ผ่านงานเสวนาวิชาการ ‘เด็ก x ความรุนแรง : ตกผลึกบทบาทของสังคมกับความรุนแรงในเด็ก’ โดย TIJ Common Ground ภายใต้สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)

ภาพงานเสวนา ‘เด็ก x ความรุนแรง : ตกผลึกบทบาทของสังคมกับความรุนแรงในเด็ก’ โดย TIJ Common Ground
ภาพถ่ายโดย TIJ

เด็กเป็นฝ่ายกระทำความรุนแรงมีแนวโน้มลดลง แต่อาจมีความรุนแรงอื่นที่มองไม่เห็น

โชติมา สุรฤทธิธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม เปิดวงสนทนาด้วยสถิติจากการสัมภาษณ์เด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของกรมพินิจฯ ซึ่งพนักงานคุมประพฤติเป็นผู้ดำเนินการสัมภาษณ์ พบว่า ในช่วงปี 2560-2565 เด็กและเยาวชนมีการใช้ความรุนแรงโดยรวมลดลงอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นในช่วงหนึ่งปีให้หลังมานี้ คือปี 2565 ที่พบว่าความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็น 5.2% จากที่ปี 2564 อยู่ที่ 3.5% 

ขณะที่ ธนะชัย สุนทรเวช ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ก้อนเมฆ และผู้จัดการอาวุโส ด้านการพัฒนาหุ้นส่วนทางสังคมและการมีส่วนร่วม สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มของการเกิดความรุนแรงที่เด็กเป็นผู้กระทำ ในฐานะผู้พิพากษาสมทบศาลเด็กและเยาวชนว่า แท้จริงแล้ว ความรุนแรงอาจเกิดขึ้นมาโดยตลอด เพียงแต่ในอดีตยังไม่มีโซเชียลมีเดียที่แสดงให้เห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างแบบเรียลไทม์ รวมถึงสภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิตของเด็กในทุกวันนี้เปลี่ยนไปจากเดิม ทำให้คนมองว่าในยุคนี้มีความรุนแรงจากเด็กเพิ่มมากขึ้น

แม้ในเชิงสถิติจะชี้ชัดว่าความรุนแรงที่เด็กเป็นผู้กระทำมีแนวโน้มลดลง แต่ก็เป็นไปได้ว่ามีความรุนแรงรูปแบบอื่นที่ถูกมองข้ามไป และไม่ได้ถูกนับรวมในสถิติ จึงเป็นคำถามว่ามีความรุนแรงประเภทไหนที่เรายังมองไม่เห็นอีกบ้าง 

ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีและอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้นิยามคำว่า ‘ความรุนแรง’ ว่านอกเหนือจากความรุนแรงทางกฎหมายแล้ว ยังคงมีความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ เช่น ความรุนแรงทางวาจา การใช้ถ้อยคำหยาบคายในโลกไซเบอร์ รวมถึงความรุนแรงที่เกิดจากการกระทำต่อตัวเอง แม้ความรุนแรงเหล่านี้อาจไม่ได้เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายโดยตรง แต่ณัฐสุดาชี้ว่าจำเป็นจะต้องนิยามคำว่าความรุนแรงให้ครอบคลุมกับสิ่งเหล่านี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากกระทบกับสุขภาพจิตของเด็กโดยตรง

“คำถามที่ว่าความรุนแรงมากขึ้นจริงหรือไม่ ก็คงจะต้องตอบว่าความรุนแรงมากขึ้นจริง ถ้าความหมายของความรุนแรงนั้นครอบคลุมถึงการกระทำที่ทำร้ายต่อตนเอง และการกระทำที่ทำร้ายต่อผู้อื่นที่แม้จะไม่เป็นเหตุให้เกิดความผิดทางกฎหมาย ซึ่งสังคมไทยยังมีการตีตราและไม่ยอมรับนิยามเหล่านี้” ณัฐสุดากล่าวต่อ

“อย่างเหตุกราดยิง ข้อมูลทางสหรัฐอเมริการะบุว่า ส่วนใหญ่ผู้กระทำจะมีประวัติการถูกบุลลี ไม่เพียงแต่เฉพาะบุลลีทางกาย แต่ทางวาจาด้วย หลายๆ ครั้ง การที่เราเพิกเฉยต่อความรุนแรงประเภทนี้ มันกลับทับถมจนในที่สุดทำให้เกิดความรุนแรงในระดับที่มากขึ้น เพราะฉะนั้นเราได้สอนให้คนรู้หรือไม่ว่า อะไรคือความรุนแรง และเราควรจะตอบสนองต่อมันอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดภาพของความรุนแรงในเชิงอาชญากรรมต่อไป” ณัฐสุดาขยายความ

ขณะเดียวกัน ธนะชัย เสริมในเรื่องนิยามความรุนแรงว่ามีอีกหลายอย่างที่ควรครอบคลุม โดยแบ่งปันประสบการณ์จากการเป็นผู้ช่วยบำบัดพฤติกรรมเด็กในโรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่งที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นและถือเป็นปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ได้แก่ การเพิกเฉยต่อเพื่อนร่วมชั้น รวมถึงประทุษวาจา (Hate Speech)

“เคยมีโรงเรียนนานาชาติระดับชั้น ป.3 ตอนแรกเขาบอกว่ามีอาจารย์ฝรั่งทนเด็กไม่ได้ เพราะพูดไม่ค่อยฟัง อยากให้เรามาช่วยฝึกเด็กให้มีระเบียบขึ้น แต่อย่างที่สอง เขาบอกว่ามีความรุนแรงในห้อง ตอนแรกเราคาดเดาว่าเป็นกลุ่มเด็กผู้ชายเล่นหยอกล้อรุนแรง แต่กรณีนี้เกิดจากเด็กผู้หญิงที่เพิกเฉยต่อเพื่อนร่วมชั้น คือ ‘เธออย่าไปยุ่งกับคนนี้’ ‘อย่าไปเล่นกับคนนั้น’ หรือในโรงเรียนอินเตอร์ที่มีเด็กลูกครึ่งแต่ว่ามีเด็กไทยเยอะกว่า ก็จะเกิดการล้อเลียนเรื่องรูปลักษณ์กัน เป็นต้น” ธนะชัยเล่า

“ตอนที่ผมจัดการต้องใช้เวลาเกือบสองปี และใช้นิทานในการสื่อสารกับเด็กแทน นิทานในไทยที่เกี่ยวกับการเห็นอกเห็นใจคนอื่นมีค่อนข้างน้อย เราต้องไปเอาหนังสือต่างประเทศแล้วมาแปลให้เด็กฟัง ซึ่งการเล่านิทานอย่างไรเด็กก็ชอบ นิทานเป็นได้ทั้งรางวัลและแอบเป็นบทลงโทษเล็กๆ เช่น ใครอยากฟังนิทานก็ทำ หนึ่ง สอง สาม สี่ แต่ถ้าใครทำตัวไม่ดี คราวหน้าอดฟังนิทาน ปรากฏว่าพฤติกรรมเด็กเปลี่ยนภายในไม่กี่อาทิตย์” ธนะชัยเล่าต่อ

“พอเด็กกลับสู่สภาพปกติ ผมก็ยกเลิกโครงการนี้ไป จึงอยากเสริมว่า ความจริงคำว่า ‘ความรุนแรง’ ไม่ได้มีแค่เรื่องทางกายภาพอย่างการทำร้ายร่างกายอย่างเดียว ยังมีเรื่องของคำพูดกับการเพิกเฉยที่ควรนับเป็นความรุนแรงแบบหนึ่งด้วยเช่นกัน” ธนะชัยกล่าว

ธนะชัย สุนทรเวช
ภาพถ่ายโดย TIJ

ทางด้าน โชติมา ทิ้งท้ายในประเด็นนิยามความรุนแรงว่า ความรุนแรงอาจจะไม่ได้เกิดเพียงเฉพาะกับผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ แต่หมายรวมถึงผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ที่รับรู้ถึงความรุนแรงด้วยเช่นกัน

“ความรุนแรงสามารถส่งผ่านโดยที่ตนเองเป็นพยานรับรู้เหตุการณ์ หมายความว่า ความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวเองโดยตรง แต่อยู่ในเหตุการณ์ที่มีลักษณะความรุนแรงเกิดขึ้น ก็จะถือว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบในวงจรของความรุนแรงด้วย ในบางเหตุการณ์ ผลกระทบต่อตัวพยานอาจจะไม่ได้แตกต่างจากคนที่เป็นเหยื่อเลยด้วยซ้ำไป” โชติมากล่าว

‘สภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก’ คือบ่อเกิดความรุนแรง

เมื่อนิยามความรุนแรงถูกครอบคลุมในหลายด้าน การจะแก้ไขความรุนแรงที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องเข้าไปทำความเข้าใจกับสาเหตุที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมก่อความรุนแรงก่อน ณัฐสุดาชี้จากฝั่งจิตวิทยาว่า 3 สิ่งที่ทำให้เกิดความรุนแรงจากการแสดงออกของมนุษย์ ได้แก่

หนึ่ง – การแสดงออกถึงความรู้สึกโกรธจากความไม่พอใจภายใน ซึ่งสามารถกระตุ้นให้มนุษย์มีการแสดงความรุนแรงอย่างไม่คาดคิดออกมาได้เสมอ

สอง – ความต้องการในการควบคุมบางสิ่ง หมายถึง ความรู้สึกของการอยากจะเข้าไปควบคุมใครสักคนหรืออะไรสักอย่าง แล้วการกระทำรุนแรงต่อสิ่งนั้น ซึ่งทำให้รู้สึกว่าเราควบคุมได้

สาม – ตัวต้นแบบ ในที่นี้ไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะสื่อที่สังคมมักกล่าวโทษ แต่รวมถึงคนรอบตัวที่บางการกระทำอาจส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิด การแสดงออกของมนุษย์ ได้

ทุกสิ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวพันกับ ‘สภาพแวดล้อม’ ของเด็กทั้งสิ้น จึงนำมาสู่คำถามว่า เราจะต้องดูสิ่งใดเป็นสำคัญหากต้องการจะแก้ไขเรื่องนี้

  • สื่อ

ธนะชัย ให้ความเห็นเกี่ยวกับอิทธิพลของสื่อต่อการสร้างแนวโน้มการกระทำรุนแรงจากเด็กว่า แม้สื่อจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถเป็นตัวอย่างหรือสร้างผลกระทบกับพฤติกรรมของเด็กได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะในการเสพสื่อของเด็กนั้น จำเป็นต้องมีผู้ปกครองอยู่ด้วยเสมอ

“ปัจจัยภายนอกอย่างสื่อถือว่าสำคัญ ตอนนี้ทุกแพลตฟอร์มใกล้ตัวมาก ไม่ว่าจะเป็น หนัง ซีรีส์ หรือสื่อต่างๆ ก็มักมีเรื่องความรุนแรงแทรกไป รวมถึงข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง เด็กที่ยังไม่สามารถใช้วิจารณญาณอย่างครอบคลุมได้ก็จะรู้สึกว่า เขาทำได้ เราก็ทำได้เช่นกัน ส่วนนี้อาจต้องมีการพูดคุยกับเด็กด้วยว่าทางออกที่ถูกต้องควรเป็นแบบไหน ซึ่งเป็นบทบาทของผู้ปกครองที่ต้องช่วยกำกับดูแล” ธนะชัยกล่าว

ในยุคดิจิทัล สื่อออนไลน์ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีผลต่อเด็กได้ไม่น้อย โดยเฉพาะสิ่งที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ โดยโชติมาชี้ว่า “เด็กและเยาวชนสมัยนี้ใช้สื่อโซเชียลเยอะมาก อาจเป็นเพราะสังคมทั่วไปไม่มีพื้นที่เพียงพอที่ทำให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระเสรีหรือพูดคุยกันอย่างปลอดภัยหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่ากังวลเหมือนกัน ในส่วนนี้ผู้ดูแลไม่สามารถเข้าไปให้คำแนะนำหรือไปมอนิเตอร์ได้ทันท่วงที ก็อาจจะเกิดการเรียนรู้หรือค่านิยมบางอย่างที่นำไปสู่ความรุนแรงได้ เราอาจจะต้องเป็นแบบอย่างโดยใช้ภาษาหรือไม่ส่งต่อความคิดที่มีลักษณะเป็นความรุนแรง สิ่งนี้ถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย”

  • พยาธิสภาพแต่กำเนิดของเด็ก

โชติมา กล่าวถึงปัจจัยหนึ่งที่ถึงแม้มีอัตราการเกิดไม่มาก แต่ก็ถือว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมรุนแรง ซึ่งก็คือพื้นฐานนิสัยที่ติดตัวมาแต่กำเนิดของเด็กเอง ที่อาจทำให้ผู้ปกครองในบางครอบครัวยากจะรับมือ

“บางครั้ง การจัดการของพ่อแม่ในการที่จะไปควบคุมให้เด็กนิ่ง หยุดร้องไห้ หรือเชื่อฟัง เป็นสิ่งที่อาจจะต้องมีการใช้ความรุนแรง พ่อกับแม่ที่มีสภาวะทางอารมณ์ไม่คงที่ มีความเครียดจากการทำงาน พ่อแม่ลักษณะนี้จะเลี้ยงดูลูกอย่างไม่สมควร ประกอบกับพยาธิสภาพที่สามารถส่งต่อผ่านพันธุกรรมมา เด็กจึงเติบโตในเส้นทางของการถูกปฏิบัติอย่างเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการที่เหมาะสม เด็กก็จะเรียนรู้การปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกโดยใช้ทางเลือกไม่กี่ทางเลือก คือใช้ความรุนแรง” โชติมากล่าว

  • ครอบครัว

ไม่ว่าพฤติกรรมของเด็กจะมีที่มาจากนิสัยแต่กำเนิด สื่อ หรือสังคมรอบข้างก็ตาม ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่ากุญแจหลักที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตมาเป็นอย่างไรนั้นคือ ‘ครอบครัว’ 

โชติมา เล่าว่า กรมพินิจฯ ได้สัมภาษณ์เด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กที่ถูกตัดสินแล้วว่ากระทำผิด โดยพบลักษณะร่วมของเด็กเหล่านี้ คือเป็นเด็กที่ครอบครัวมีความขัดแย้ง มีความเครียดสูง และอาจใช้ความรุนแรงในการจัดการกับความขัดแย้งในครอบครัว เมื่อเด็กเติบโตมาในครอบครัวที่มีความตึงเครียด ก็จะเรียนรู้วิธีการจัดการปัญหาต่างๆ เช่นเดียวกับคนในครอบครัว โดยอาจจะใช้วาจาที่รุนแรงหรือใช้การกระทำที่รุนแรง

อีกประเด็นสำคัญคือเรื่องการควบคุมระเบียบวินัยของครอบครัวที่มีต่อเด็ก พบว่าโดยส่วนใหญ่ การจัดการเรื่องระเบียบวินัยของผู้ปกครองที่มีต่อเด็กมีลักษณะไม่คงเส้นคงวา บางครั้งขึ้นอยู่กับอารมณ์หรือความพร้อมของพ่อแม่ รวมถึงการเพิกเฉยหรือการละเลยที่จะใส่ใจดูแลเด็กและเยาวชนตามพัฒนาการที่ควรจะเป็น ก็เป็นสาเหตุที่เปิดโอกาสให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้นมา เพราะการถูกเพิกเฉยหรือละเลยอาจทำให้เด็กไปใช้เวลาส่วนใหญ่กับเพื่อน ซึ่งมีข้อมูลสนับสนุนชัดเจนว่าทำให้เด็กมีโอกาสเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่เหมาะสมมากขึ้น

โชติมา สุรฤทธิธรรม
ภาพถ่ายโดย TIJ

ฟื้นฟู เยียวยา และให้โอกาส: แนวทางใช้กระบวนการยุติธรรมแก้ปัญหาความรุนแรงในเด็ก

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เด็กกระทำความผิดและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว บทลงโทษทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบที่จะช่วยให้ความรุนแรงในเด็กลดน้อยลง แต่การช่วยเหลือในการบำบัด เยียวยา ช่วงระหว่างที่เด็กอยู่ในสถานพินิจหรือศูนย์ฝึกเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยขจัดปัญหา ลดการกระทำผิดซ้ำซ้อนเมื่อเด็กพ้นโทษไป

ธนะชัยให้ความเห็นว่า “คดีของเด็กและเยาวชน มีมาตราช่วยเหลือคือ มาตรา 90 และ มาตรา 132 ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวที่จะเบี่ยงเบนคดี เช่น ทำแผนฟื้นฟูให้เด็กได้รับการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูแทนที่จะไปอยู่ในศูนย์ฝึก หรือทางด้านกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คือเยียวยาผู้เสียหาย ผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กให้รู้สึกสำนึกผิดแล้วมาพูดคุยกัน ช่วยกันแก้ปัญหา ส่วนนี้จะช่วยลดเรื่องของการกระทำผิดซ้ำของตัวเด็ก เพราะว่าเราเข้าใจเขามากขึ้น”

“ผมเชื่อว่าคนที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กน่าจะใช้วิธีการเดียวกันคือการฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) ซึ่งทางผู้พิพากษาสมทบได้รับการอบรมในส่วนนี้ว่า นอกจากเราจะมีหน้าที่ขึ้นบัลลังก์แล้ว ยังต้องมีหน้าที่ให้คำปรึกษา (consulting) เด็กด้วย พาเด็กมาพูดคุยเพื่อจะได้รับรู้ถึงต้นตอปัญหา เรียกว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย (safe zone) ที่เขาสามารถเปิดใจพูดคุยได้” ธนะชัยกล่าว

ธนะชัยขยายความถึงการฟังอย่างลึกซึ้งว่า “การฟังอย่างลึกซึ้งมากกว่าแค่คำพูดหรือแค่พยักหน้าตอบรับ เราต้องสังเกตอารมณ์ สังเกตความหมายลึกซึ้งที่เขาถ่ายทอดออกมา ผมว่าสำคัญมาก เพราะจะทำให้สามารถเข้าไปดูได้ว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงนั้นมาจากอะไร” 

ขณะที่โชติมามองว่าภายหลังจากการพ้นโทษแล้ว เด็กที่เคยกระทำความผิดก็ควรได้รับการฟื้นฟูเช่นกัน เพื่อที่พวกเขาจะได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติและไม่กลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก ดังนั้นการดูแลในช่วงระหว่างการเปลี่ยนแปลงนี้จึงสำคัญสำหรับตัวเด็กมาก เด็กทุกคนจำเป็นจะต้องได้รับการสำรวจก่อนว่า มีอะไรที่ต้องได้รับการช่วยเหลือหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่แค่กับตัวเด็ก แต่รวมถึงครอบครัวด้วย

“บางครั้ง ถ้าเป็นครอบครัวที่มีความเปราะบาง กรมพินิจฯ จะช่วยสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นด้านการให้คำปรึกษาแก่ครอบครัวเพื่อเรียนรู้และเข้าใจเด็ก มีการสื่อสารกับเด็กที่เหมาะสม ช่วยในเรื่องการประกอบอาชีพ หรือแม้กระทั่งให้ทุนการศึกษาเพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัว” โชติมากล่าว

โชติมากล่าวถึงกรณีกลุ่มเด็กที่ต้องถูกส่งไปอยู่ที่ศูนย์ฝึกหรือสถานพินิจด้วยว่า “บางทีตัวเราไม่เคยอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น อาจจะมองภาพไม่ออกว่าเด็กที่อยู่ในศูนย์ฝึกและอบรมเยาวชนต้องเจอกับความเปลี่ยนผ่านเช่นเดียวกัน เราอาจจะคิดแค่ว่าถึงวันปล่อยตัวก็กลับไปอยู่บ้าน แต่จริงๆ แล้วเด็กต้องใช้ความสามารถในการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงระหว่างที่เขาอยู่สถานควบคุมพอสมควร”

“เด็กที่มีประวัติการกระทำผิด บางทีเป็นอุปสรรคที่ทำให้เขาไม่ได้รับโอกาสในการเรียนต่อหรือการทำงาน ดังนั้นในส่วนประวัติอาชญากรรม เราก็จะทำงานร่วมกับทางตำรวจในการส่งข้อมูลไปเพื่อลบประวัติอาชญากรรมให้เด็ก” โชติมากล่าวเสริม

ในประเด็นนี้ ณัฐสุดาได้ย้ำถึงความสำคัญของการเยียวยาและให้โอกาสเด็กที่กระทำผิดไปแล้วเช่นเดียวกัน สิ่งนี้จะเป็นการนำเยาวชนกลับคืนสู่สังคมและอาจจะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในภายภาคหน้า การให้โอกาสจึงมีความสำคัญต่อจิตใจของเด็กเป็นอย่างมาก

“เด็กๆ ในคลาสเรียนจิตวิทยาเคยไปสัมภาษณ์กลุ่มเด็กที่ออกมาจากศูนย์ฝึก สิ่งที่พวกเขาอยากสื่อกับสังคมที่สุดคือพวกเขาก็เป็นเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง อยากให้มองพวกเขาว่าเป็นเด็กวัยรุ่นมากกว่าคนที่ทำผิด อย่าเพิ่งตีตรา ถ้าสังคมข้างนอกไม่ให้โอกาส มันจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย ศูนย์ฝึกเตรียมพร้อมให้พวกเขากลับคืนสู่สังคม แต่ออกมาเจอป้าข้างบ้านที่พูดว่า ‘อ้าว เคยติดคุกหรือ’ แต่ไม่รู้ว่าอะไรเกิดอะไรขึ้นกับเด็กบ้าง” ณัฐสุดากล่าว

“สังคมเราต้องการอะไร เราต้องการตีตราคนผิด หรือเราต้องการเด็กหนึ่งคนที่มีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตเป็นเด็กอีกครั้ง” ณัฐสุดากล่าว

ณัฐสุดา เต้พันธ์
ภาพถ่ายโดย TIJ

แก้ปัญหาความรุนแรงตั้งแต่ที่ต้นเหตุ

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาภายใต้กระบวนการยุติธรรมยังคงเป็นเพียงปลายทางเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่เคยกระทำผิดมาแล้วหรือเด็กที่ยังไม่เคยกระทำผิดก็ตาม ความรุนแรงยังคงเป็นปัญหาที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อหากปัจจัยหลักอย่างสภาพแวดล้อมของเด็กไม่ได้รับการแก้ไข สิ่งเหล่านี้ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ครอบครัว สถาบันการศึกษา รวมถึงกลไกต่างๆ ในสังคมที่เกี่ยวข้องก็จำเป็นต้องเห็นคุณค่าและได้รับการผลักดันเพื่อลดปัญหาอย่างเป็นระบบ

ทำให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวเอง: จุดแรกของการลดปัญหาความรุนแรง

ณัฐสุดาย้ำว่า ครอบครัวยังคงเป็นกุญแจสำคัญในเรื่องนี้ โดยชี้ว่าการที่เด็กมีครอบครัวหรือใครสักคนเป็นที่พึ่งพิงทางจิตใจเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

“การที่รับรู้ว่าตนเองมี significant person หรือคนสำคัญในชีวิต และรับรู้ว่าชีวิตเรามีค่าสำหรับใครสักคน จะทำให้ชีวิตเรารู้สึกมีค่ามากขึ้น แต่เด็กๆ เหล่านี้ที่ถูกมองว่าพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น อาจจะยังไม่ได้มองว่าอนาคตตัวเองจะต้องเป็นอย่างไร แต่ถ้าเกิดมีการบอกกับพวกเขาว่า ‘ฉันมีใครหนึ่งคนที่เห็นคุณค่าของฉัน’ ดูแลเอาใจใส่ฉัน นั่นเป็นทางออกสำคัญทางจิตใจสำหรับเด็ก” ณัฐสุดากล่าว

ณัฐสุดาให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า “สิ่งที่น่าสนใจคือ ถ้าพ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วม มีการวางกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในชีวิตของเขา การบอกเกณฑ์ที่ชัดเจนและไม่ได้ใช้อารมณ์ร่วมอย่างวันดีคืนดีดุ วันดีคืนดีไม่ดุ หรือเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย คือสิ่งที่เด็กๆ ของเราต้องการ” 

ขณะที่โชติมาก็เห็นสอดคล้องกันว่า “โดยทั่วไปแล้ว พฤติกรรมเสียหายของเด็กที่เกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นจะค่อยๆ ลดลงเองตามธรรมชาติของการพัฒนาการทางด้านสมองและประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเด็กจะมีพันธะผูกพันกับเป้าหมายในอนาคตที่ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน การทำงาน หรือแม้กระทั่งการที่จะวางแผนต่างๆ การมีครอบครัว โดยเส้นทางชีวิตแบบนี้จะทำให้เด็กส่วนใหญ่ เมื่อออกจากการเป็นวัยรุ่นเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ตอนต้น พฤติกรรมเสียหายต่างๆ จะลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นในช่วงที่เด็กหรือวัยรุ่นกำลังพัฒนากระบวนการคิดต่างๆ ถ้ามีผู้ใหญ่คอยให้คำแนะนำ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงตรงนี้ได้”

สถานศึกษาคือบ้านหลังที่สอง

ธนะชัยกล่าวว่า สถานศึกษาเป็นแหล่งที่สองที่ช่วยในการขัดเกลาเด็กไม่ให้ก่อความรุนแรง เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งสังคมที่เด็กจะต้องเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นนอกจากคนในครอบครัว

“สมมติเด็กมีพี่น้อง พ่อแม่อาจจะต้องตักเตือนว่าอันไหนคือเล่นสนุกและอันไหนคือความรุนแรงได้ แต่ถ้าสมมติเป็นลูกคนเดียวหรือเข้าไปอยู่ในโรงเรียน ตรงนี้จะเป็นอีกสังคมแล้ว ต้องเล่นกับคนไม่รู้จัก เพราะฉะนั้นคุณครูสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ บอกขอบเขตได้เลยว่าตรงไหนรุนแรงเกินไป ต้องมีวิธีการสอนให้รับมือว่าถ้าเด็กโกรธขึ้นมาต้องทำอย่างไร มีวิธีกำจัดอย่างไร นอกจากครอบครัวแล้วสถานศึกษาต้องช่วยขัดเกลาตรงนี้เช่นกัน” ธนะชัยแนะ

ขณะที่ณัฐสุดาก็เสริมว่า “สถานศึกษาจะมีส่วนช่วยลดอัตราความรุนแรงได้ต้องอาศัยการปรับความเข้าใจว่า ตัวอาจารย์ไม่ใช่เพียงแค่ผู้สอนและให้เกรดเด็ก แต่เราต้องดูแลพวกเขาทั้งร่างกายและจิตใจ”

 

มองต้นตอปัญหาความรุนแรงอย่างเป็นระบบ

โชติมาให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การจะแก้ปัญหาความรุนแรงในเด็ก ต้องทำความเข้าใจถึงตัวเด็กอย่างรอบด้าน โดยเล่าจากมุมการทำงานของกรมพินิจฯ ว่า ทางกรมมีการประเมินและรวบรวมข้อมูลในประวัติ ซึ่งพบว่าเด็กที่เข้ามามักจะมีการถูกทารุณกรรมมาก่อน จึงจำเป็นต้องให้นักวิชาชีพในสาขาต่างๆ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการรักษาและเยียวยาบาดแผลให้แก่เด็ก ยึดโยงกับความต้องการการช่วยเหลือของเด็กเป็นหลัก เช่น หากเด็กต้องได้รับการฟื้นฟูทางด้านสภาพจิตใจ ก็ต้องเป็นนักจิตวิทยาเข้ามาทำหน้าที่ 

โชติมาเสริมต่อว่า การให้เด็กค้นหาความถนัดหรือความสนใจเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตและสังคม เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เด็กมีศักยภาพในการจัดการกับสภาพแวดล้อม จัดการกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่พึงประสงค์ สามารถสื่อสารความต้องการหรืออารมณ์ของตัวเองในวิธีการที่เหมาะสม รวมไปถึงการจัดการกับความขัดแย้งโดยไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง โดยทักษะเหล่านี้ต้องใช้การเสริมสร้างผ่านครอบครัว สถานศึกษา หรือผู้เชี่ยวชาญ แล้วแต่กรณี


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save