fbpx

เมื่อฝายไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน แต่รัฐบาลกำลังปูพรมสร้างฝายทั่วประเทศ

ช่วงที่ผ่านมามีข่าวว่าทางกระทรวงมหาดไทยได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความยากจนด้วยกลยุทธ์ ‘การสร้างฝายชะลอนํ้าแกนดินซีเมนต์ ทั่วประเทศ’

คณะทำงานดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลังที่อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย มอบหมายให้ปลัดกระทรวงฯ พิจารณาความเหมาะสมเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมลํ้า โดยให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นแม่งานรับผิดชอบด้านการจัดทำแบบมาตรฐานและราคากลางฝายชะลอนํ้าแกนดินซีเมนต์ 

ไม่กี่วันต่อมา หน่วยงานรัฐเสนอก่อสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์อย่างรวดเร็ว โดยส่วนใหญ่กำหนดราคากลางระหว่าง 500,000-1,143,600 บาท รัฐบาลชุดนี้จึงคาดหวังว่าจะแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ทั่วประเทศ

อันที่จริงหลายสิบปีที่ผ่านมา น่าจะมีการสร้างฝายกันหลายแสนแห่งทั่วประเทศ  การสร้างฝายดูจะกลายเป็นสิ่งที่ทำกันแทบทุกหมู่บ้าน แทบทุกพื้นที่มาตลอด ทั้งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล หน่วยราชการทุกยุคทุกสมัย รวมไปถึงกิจกรรมด้าน CSR ของบริษัทต่างๆ บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งก็ทำโฆษณาอย่างครึกโครม  ประกาศจะทำการสร้างฝายเพื่อเป็นการคืนกำไรให้สังคม หรือหากคิดกิจกรรม CSR อะไรไม่ออกก็หาพื้นที่สร้างฝายชะลอน้ำ

ในอดีต รัฐบาลชุดหนึ่งเคยมีโครงการสร้างฝายแม้วทั่วประเทศ ใช้งบประมาณหลายพันล้านบาท สุดท้ายกลายเป็นข่าวคดีทุจริตของผู้มีอำนาจสมัยนั้น

ฝายชะลอน้ำ หรือ Check Dam คือสิ่งก่อสร้างที่ทำขึ้นเพื่อขวางหรือกั้นทางน้ำ ลำห้วย ลำธาร ในพื้นที่ต้นน้ำ หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง โดยมีประโยชน์ช่วยลดความรุนแรงและอัตราเร่งของกระแสน้ำในลำธาร ช่วยบรรเทาความรุนแรงอันเกิดจากการกัดเซาะพังทลายของดินบริเวณสองฝั่งลำธารบนพื้นที่ต้นน้ำ เพื่อช่วยกักเก็บตะกอนที่ไหลลงมากับน้ำในลำธารบนพื้นที่ต้นน้ำ ทำให้คุณภาพน้ำดีขึ้น ช่วยให้พื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งมีความชุ่มชื้นเพิ่มมากขึ้น และจะทำให้ความหนาแน่นของชนิดพันธุ์พืชต่างๆ มีมากขึ้นด้วย

ฝายชะลอน้ำสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ หนึ่ง–ฝายชะลอน้ำแบบท้องถิ่น หรือฝายแม้ว ทำจากวัสดุธรรมชาติ สอง–ฝายกึ่งถาวร หรือชะลอน้ำแบบเรียงด้วยหิน สาม–ฝายถาวรแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก

และล่าสุด ฝายแกนดินซีเมนต์เป็นฝายที่มีแกนเป็นร่องลึก สามารถกักเก็บและสะสมน้ำในชั้นใต้ดินเพื่อให้ได้ปริมาณน้ำมากกว่าฝายแบบทั่วไป

เชื่อกันว่าฝายชะลอน้ำจะช่วยทำให้บริเวณดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์ ดินเกิดการอุ้มน้ำ ต้นไม้เจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น พื้นที่มีความชุ่มชื้นอันจะส่งผลดีต่อบริเวณโดยรอบ

ฝายยังมีประโยชน์มหาศาล ราวกับยาแก้ไข้สารพัดโรค จนมีคำพูดว่า ‘ฝายมีชีวิต’

แต่ทุกอย่างล้วนมีสองด้านเสมอ

ฝายอาจจะเหมาะสมหากสร้างในพื้นที่แห้งแล้ง เพื่อช่วยก็บน้ำและสร้างความชุ่มชื้นในดิน แต่อีกด้านหนึ่งฝายไม่เหมาะกับพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว ฝายจึงอาจสร้างปัญหามากมาย หากไม่ได้สร้างในพื้นที่ที่เหมาะสม

ผู้เขียนเชื่อว่า ก่อนการสร้างฝายจำนวนมาก คนส่วนใหญ่คงไม่ได้มีการศึกษาลักษณะพื้นที่นั้นๆ ว่ามีความเหมาะสมจะสร้างฝายหรือไม่ หรือมีการศึกษาว่าการเอาสิ่งแปลกปลอมเข้าไปกั้นลำน้ำในระบบนิเวศบริเวณนั้นจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง อาทิเช่น หลังสร้างฝายกั้นลำธารเสร็จในป่า ระดับน้ำอาจจะสูงขึ้นในฤดูฝนจนเกิดน้ำท่วมพืชและสัตว์บริเวณนั้น โดยเฉพาะต้นไม้ที่มีอายุยืนนานมาหลายสิบปี ซึ่งธรรมชาติไม่ได้ออกแบบให้อยู่รอดได้ในน้ำท่วมนานๆ ส่วนใหญ่ยืนตายจากน้ำท่วม พอช่วงฤดูแล้ง น้ำในฝายอาจจะเริ่มหยุดไหล เกิดสภาพน้ำนิ่งก่อให้เกิดปัญหาน้ำเน่า ขาดออกซิเจน และทำให้สิ่งมีชีวิตในน้ำค่อยๆ หายไป

ต่อมาคือ ปัญหาปลาในลำธารไม่สามารถว่ายทวนน้ำขึ้นมาวางไข่ เพาะพันธุ์ได้ หลายปีก่อนจะมีการสร้างฝายคอนกรีตในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ได้มีการค้นพบปลาค้างคาวดอยอินทนนท์ (Siamese bat catfish) อาศัยอยู่เฉพาะที่ลำธารน้ำไหลแรงบนอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ซึ่งพบได้เพียงแห่งเดียวในโลกเท่านั้นจึงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย

แต่หลังจากมีการสร้างฝายบนน้ำห้วยทรายเหลืองในอุทยานฯ แล้ว แทบจะไม่พบปลาค้างคาวชนิดนี้อีกเลย

ประเทศไทยถือว่ามีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ปลาน้ำจืดที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ถ้าหากเทียบกับพื้นที่อื่นๆ เช่น ในทวีปอเมริกาเหนือพบพันธุ์ปลา 760 ชนิด ในยุโรปพบพันธุ์ปลา 546 ชนิด แต่เฉพาะเมืองไทยพบพันธุ์ปลาสูงถึง 600 ชนิด แต่กลับใกล้สูญพันธุ์ถึง 94 ชนิด

ทุกวันนี้ยังไม่มีการวิจัยว่าปลากี่สายพันธุ์และสิ่งมีชีวิตตามลำน้ำกี่ชนิดที่ค่อยๆ หายไป ภายหลังจากการสร้างฝายตามลำน้ำเกือบทุกแห่งในประเทศ

อีกปัญหาคือหลังฤดูฝนผ่านไป ขยะจำนวนมหาศาลที่กองไว้ทำให้ฝายส่วนใหญ่จะพัง ขยะจากกระสอบทราย เศษปูน จะกระจัดกระจายไปทั่ว จนทำให้น้ำเน่า

และยังเกิดปัญหาไม่มีตะกอนไปสะสมปลายน้ำ เพราะถูกฝายดักตะกอน  

โดยธรรมชาติของสายน้ำจะนำพาตะกอนและแร่ธาตุอันอุดมสมบูรณ์จากต้นน้ำไปปลายน้ำ ทำให้พื้นที่เพาะปลูกสองฟากฝั่งแม่น้ำมีปุ๋ยธรรมชาติ และตะกอนยังช่วยป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจากการไปสะสมดินบริเวณชายฝั่งอีกด้วย

ในอดีตจะมีตะกอนจากแม่น้ำหลายสายออกสู่อ่าวไทย 18.7 ล้านตัน/เดือน แต่ปัจจุบันได้ลดลงถึง 75% เมื่อเทียบกับเมื่อ 35 ปีก่อน

ดังนั้น ฝายอาจจะมีประโยชน์หากสร้างในพื้นที่แห้งแล้ง หรือขาดแคลนน้ำ แต่ไม่ใช่ในผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ตามเขตอุทยานแห่งชาติอันอุดมสมบูรณ์ มีลำธารน้ำใสตลอดปี

ครั้งหนึ่งมีภาพนักศึกษากำลังช่วยกันสร้างฝายชะลอน้ำในอุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่ง  และนพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ นักอนุรักษ์ชื่อดังได้แสดงความเห็นในเฟสบุ๊กส่วนตัวว่า

“เห็นรอยยิ้ม อาสาสมัครทั้งหลายแล้ว เห็นใจน้องๆ มาด้วยความตั้งใจดี เปี่ยมล้นไปด้วยความกระตือรือร้นอยากทำความดีน่าเสียดายที่การลงแรงมุ่งหวังทำดี อยากอนุรักษ์ธรรมชาตินั้นกลับกลายเป็นสร้างผลกระทบเสียหายร้ายแรงต่อระบบนิเวศด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะถูกชักนำโดยอวิชชา

ลำธารที่โดนสร้างฝายนี้ เป็นลำธารสภาพดีมากในป่าสมบูรณ์  ไม่มีเหตุผลอันใดที่เหมาะสมในการเอากระสอบพลาสติกบรรจุทรายไปขวางกั้นให้น้ำเน่าเสีย ลำธารตื้นเขิน บ้านสัตว์น้ำถูกทำลาย อยากให้การจัดการต่างๆ ของอุทยานอยู่บนแนวทางวิทยาศาสตร์ 

มิเช่นนั้นแม้เรามีเจตนาดี แต่ขาดความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งก็เหมือนหมอเถื่อนที่ลงมือรักษาคนไข้โดยขาดความรู้จริง ความตั้งใจดีนั้นก็เลยก่อผลเสียมากกว่าผลดี”

ฝายชะลอน้ำ จึงไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้านที่ใช้ได้กับทุกพื้นที่แล้วจะแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำได้ หากทำไม่เหมาะสมกับพื้นที่ ยิ่งก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมมาก

ฝายแกนดินซิเมนต์ยิ่งก่อปัญหากับสภาพแวดล้อมเยอะมาก เพราะเป็นฝายกึ่งถาวร

ที่ผ่านมา เราสร้างฝายกันมาหลายแสนแห่งแล้ว แต่ไม่เคยมีการศึกษาว่า สร้างฝายแล้วคุ้มไหม ส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว

ยังไม่ทันศึกษาบทเรียนในอดีต รัฐบาลมีโครงการจะสร้างฝายกันแบบปูพรมทั่วประเทศ โดยไม่ต้องศึกษาความเหมาะสมกับพื้นที่

ใครรับเหมาก่อสร้างฝายชะลอน้ำครั้งนี้ น่าจะถูกหวยมากกว่าชาวบ้านในพื้นที่แน่นอน

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save