fbpx
โรคระบาดปั่น ลาตินอเมริกาป่วน กับ เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์

โรคระบาดปั่น ลาตินอเมริกาป่วน กับ เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์

ปกป้อง จันวิทย์ สัมภาษณ์

วจนา วรรลยางกูร เรียบเรียง

 

ข่าวล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดในลาตินอเมริกาล้วนแต่น่าประหลาดใจ ภาพศพติดเชื้อถูกวางทิ้งไว้ข้างถนนในเอกวาดอร์, ประธานาธิบดีบราซิลเรียกร้องทหารให้รัฐประหารตัวเอง, ตำรวจเปรูติดเชื้อจำนวนมากเพราะปัญหาคอร์รัปชัน, นิการากัวไม่ปิดประเทศแต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อยมากเพราะคุมสื่อได้ ฯลฯ

เมื่อเจอ COVID-19 เข้าไป ภูมิภาคสัจนิยมมหัศจรรย์อย่าง ‘ลาตินอเมริกา’ รับมือผลกระทบทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างไร

101 ชวน ดร.เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ นักวิชาการด้านลาตินอเมริกาศึกษา สำรวจสถานการณ์ COVID-19 ในลาตินอเมริกา จากบราซิล เปรู ชิลี เอกวาดอร์ ถึงคิวบา ปานามา นิการากัว เวเนซุเอลา ในรายการ 101 One-On-One Ep.128 : ลาตินอเมริกาในสมรภูมิ COVID-19 (เผยแพร่เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563)

เมื่อ COVID-19 เข้ามาเจอกับเนื้อดินของสังคมลาตินอเมริกันที่เต็มไปด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปัญหาประชาธิปไตย-เผด็จการ โรคทางสุขภาพกลายพันธุ์เป็นโรคเขย่าสังคมต่อไปอย่างไร

 

โรคระบาดในภูมิภาคอันเหลื่อมล้ำ

 

ตอนนี้ลาตินอเมริกาที่อยู่ในขั้วโลกใต้กำลังเข้าสู่ฤดูหนาว ตัวเลขผู้ติดเชื้อกำลังเพิ่มสูงขึ้นและมีการคาดการณ์ว่าในอีกไม่นานศูนย์กลางของโควิด-19 จะย้ายจากยุโรปไปทวีปอเมริกา ตอนนี้สหรัฐอเมริกามีจำนวนผู้ติดเชื้อนำขึ้นมาแล้ว ลาตินอเมริกาก็มีตัวเลขเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะบราซิล

ถ้าย้อนไปดูประวัติลาตินอเมริกา คำว่า ‘โรคระบาด’ เป็นสิ่งที่คุ้นเคยในภูมิภาคนี้ ในอดีตตอนที่คนผิวขาวเข้ามาในศตวรรษที่ 15 ได้นำเชื้อโรคอย่างอหิวาต์จากยุโรปมาสู่ลาตินอเมริกาทำให้คนพื้นเมืองตายเป็นล้านๆ คน

เมื่อดูสิ่งที่เกิดขึ้นจากโควิดแล้วสืบย้อนกลับไป คนที่นำโควิดมาคือคนรวยที่ไปเที่ยวสเปน อิตาลี คนผิวขาวในลาตินอเมริกาส่วนมากเป็นลูกผสมที่ถือสองสัญชาติ คือ สัญชาติยุโรปและลาตินอเมริกา คนกลุ่มนี้เมื่อไปเที่ยวหรือพักผ่อนในยุโรปก็นำโรคกลับมาติดในลาตินอเมริกา มีการวิเคราะห์ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคล้ายสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 500 กว่าปีที่แล้ว ที่คนผิวขาวคนร่ำรวยนำโรคมาติดคนยากจน ท้ายที่สุดคนยากจนจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะคนรวยสามารถเข้าถึงการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้ ลาตินอเมริกาเป็นภูมิภาคที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด คนยากจนมีมากกว่าครึ่ง แล้วคนเหล่านี้จะเข้าถึงการรักษาได้อย่างไร

ตัวเลขโควิดในลาตินอเมริกาที่เพิ่มสูงขึ้นตอนนี้เป็นแค่ส่วนยอดบนของภูเขาน้ำแข็ง แต่ข้างใต้ยังมีอีกมากมายที่ยังไม่ค้นพบ โดยเฉพาะในประเทศเผด็จการที่มีการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร ทำให้ตัวเลขที่เปิดเผยมามีน้อยมาก เช่น นิการากัว

 

บราซิล: โรคระบาดซ้ำการเมืองวุ่น

 

สถานการณ์ในบราซิลที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในภูมิภาคตอนนี้ยิ่งปั่นป่วนเข้าไปใหญ่ เมื่อประธานาธิบดีชาอีร์ โบลโซนาโร นักการเมืองขวาจัดออกมาชุมนุมกับประชาชนเรียกร้องให้ทหารรัฐประหารรัฐบาลตัวเอง เพราะสภาและศาลสูงไม่ยอมให้เลิกล็อกดาวน์เพื่อเปิดเมือง

โบลโซนาโรกำลังเสียเสียงสนับสนุน ฐานเสียงของเขาคือคนร่ำรวยและคนที่เกลียดพรรคแรงงานที่เป็นพรรครัฐบาลเดิม ซึ่งมีผู้นำคือ ลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดาซิลวา แต่ปัจจุบันรัฐบาลของโบลโซนาโรมีการไล่ปลดหรือการลาออกของรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล ซึ่งเป็นผลมาจากการสร้างเฟกนิวส์ขึ้นโดยลูกชายของโบลโซนาโร จนเสียงสนับสนุนโบลโซนาโรค่อยๆ หายไป

โบลโซนาโรเลือกนโยบายให้เศรษฐกิจมาก่อนเรื่องเชื้อโรค ซึ่งเป็นนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ได้ทำให้คนยากจนดีขึ้น ไม่ได้กระจายความช่วยเหลือไปสู่คนยากจน แต่เป็นการพัฒนาในหมู่ชนชั้นสูงที่เป็นฐานเสียงของเขา เช่นเดียวกับที่เขาเคยเลือกการพัฒนาเศรษฐกิจในลุ่มป่าอเมซอนแล้วต้องทำลายป่า เมื่อต้องเรื่องเลือกระหว่างการแก้ปัญหาโควิดกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เขาจึงเลือกเศรษฐกิจมาก่อน

บราซิลมีรัฐบาลท้องถิ่นที่เป็นอิสระสูงและมีนโยบายเรื่องโควิดที่แตกต่างจากโบลโซนาโร ขณะที่รัฐบาลกลางอยากเปิดเมือง แต่ผู้ว่าฯ ในรัฐต่างๆ ไม่เห็นด้วย จึงต้องล้างไพ่กันใหม่ โดยการเรียกร้องให้ทหารออกมาทำรัฐประหาร ซึ่งทหารเป็นฐานเสียงเดียวที่ยังสนับสนุนโบลโซนาโรที่เป็นอดีตทหาร

หากไม่มีรัฐประหารรัฐบาลบราซิลชุดนี้จะอยู่ได้ถึงปี 2022 และทหารยังมีอีกตัวเลือกคือรองประธานาธิบดีที่เอียงขวาและเป็นที่ชื่นชอบของทหารมากกว่า แต่โบลโซนาโรก็เลือกเสี่ยงเพราะกลัวโดนอิมพีชเมนต์ในประเด็นที่ลูกชายมีส่วนในการสร้างเฟกนิวส์และมีปัญหาคอร์รัปชันที่เชื่อมโยงมาถึงตัวเขา

โบลโซนาโรถูกเรียกว่า ‘ทรัมป์แห่งลาตินอเมริกา’ เขามีนโยบายที่ประหลาด โบลโซนาโรเรียกร้องให้เปิดเมืองโดยไม่สนใจโควิด งานคานิวัลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ก็ไม่มีการยกเลิก เขามองว่าโควิดเป็นเชื้อโรคปกติที่คนบราซิลสามารถทนได้ แต่ปัญหาเกิดขึ้นกับคนจน โดยเฉพาะที่อยู่สลัมในเมือง คนจนกลัวโควิดและกลัวไม่มีกิน แต่มีแก๊งสเตอร์ในสลัมที่มาสั่งการว่าพื้นที่นี้มีเคอร์ฟิว ห้ามออกจากบ้านหลังสี่ทุ่ม ถ้าออกมาจะถูกยิง โดยที่รัฐบาลกลางคุมอะไรไม่ได้เลย

ที่สุดแล้วผมคิดว่าคงไม่มีการรัฐประหาร เพราะทหารบราซิลเรียนรู้ความอับอายของตัวเองในการทำรัฐประหาร แต่น่าจะมีอิมพีชเมนต์ เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่เพิ่งลาออกไปนั้น เคยเป็นมือขวาของโบลโซนาโร ที่เคยทำให้อดีตประธานาธิบดีลูลาและดิลมา รุสเซฟฟ์ โดนเด้ง รัฐมนตรีที่ลาออกพุ่งเป้าไปที่โบลโซนาโรว่ากำลังมีปัญหา และศาลกำลังจะสั่งให้มีการตรวจสอบ

 

คอร์รัปชัน-ปิดบังข้อมูล จุดซ้ำเติมปัญหา

 

ช่วงแรกที่โควิดเริ่มเข้าไปที่ลาตินอเมริกา คนจะชมว่าเปรูมีการจัดการที่ดีเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่เพิ่งมีการตรวจเชื้อโควิดในตำรวจเปรู ซึ่งทำหน้าที่คล้ายอสม.ของไทย มีตำรวจได้รับการตรวจ 24,000 คน พบว่าติดเชื้อถึง 1,300 คน ตัวเลขจึงกระโดดขึ้นมา แล้วก็พบว่ามีการคอร์รัปชัน การส่งยา หน้ากากอนามัย สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการป้องกันเชื้อโรคถูกตัดตอน ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อของเปรูกระโดดขึ้นมา

ปัญหาคือครึ่งหนึ่งของคนเปรูเป็นชนพื้นเมือง พวกเขาประกาศล็อกดาวน์ตัวเอง เพราะรู้ว่าไม่มีทางเข้าถึงทรัพยากรที่ส่งมาจากรัฐบาลกลางได้ ขณะที่คนในเมืองลิมาใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ แต่คนพื้นเมืองในเปรูใช้ใบตองมาคาดเป็นหน้ากากและปิดไม่ให้คนภายนอกเข้าพื้นที่ เปรูที่เป็นรัฐบาลค่อนข้างจะเป็นประชาธิปไตยก็ยังมีปัญหา

ส่วนชิลี ตัวเลขการติดเชื้อสูงพอสมควร ชิลีมีคนขาวที่มีสองสัญชาติค่อนข้างมาก จึงมีคนติดเชื้อจากคนที่เดินทางไปยุโรปมาก ปัญหาโควิดในชิลีส่วนมากเกิดขึ้นในหมู่คนขาว ต่างจากเปรูที่ปัญหาจะเกิดกับคนยากจน ทั้งสองประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยเอียงขวาทั้งคู่ ตัวเลขที่เห็นว่าสูงนั้น เนื่องจากรัฐบาลมีธรรมาภิบาล ตัวเลขสถิติจึงชัด แตกต่างจากประเทศที่คนสงสัยว่าน่าจะติดมากกว่านี้แต่ตัวเลขที่เปิดเผยมากลับมีนิดเดียว อย่างกรณีของเวเนซูเอรากับนิการากัว

นิการากัวเปิดประเทศ ไม่สนใจเรื่องปิดประเทศ ผู้นำคือ แดเนียล ออร์เตกา เป็นฝ่ายซ้ายที่อยู่มาสิบกว่าปี เขาเลือกเปิดประเทศเหมือนโบลโซนาโรที่เป็นขวาจัดในบราซิล แต่นิการากัวสามารถคุมสื่อได้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อจากทางการนิการากัวจึงไม่มีใครเชื่อถือ เพราะมีผู้ติดเชื้อน้อยมากทั้งที่เปิดประเทศ

กรณีเวเนซุเอลา เดิมมีประชากร 30 ล้านคน หายไป 3 ล้านคนเพราะหนีออกนอกประเทศ เวเนซุเอลามีระบบสาธารณสุขที่แย่อยู่แล้ว ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่น้อยจึงไม่มีใครเชื่อว่าเป็นตัวเลขจริง เชื่อว่าสองประเทศนี้มีการปิดบังตัวเลขที่แท้จริง

 

คิวบา: ศูนย์กลางการแพทย์ในระบอบคอมมิวนิสต์

 

ในลาตินอเมริกามีประเทศเผด็จการประเทศหนึ่งที่แปลกออกไป คือ คิวบา ซึ่งเป็นเผด็จการคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ปี 1959 จนถึงปัจจุบัน คิวบามีพื้นฐานด้านสาธารณสุขดีที่สุด มีจำนวนหมอต่อประชากรสูงที่สุดในลาตินอเมริกา และมากกว่าสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำไป

นี่เป็น soft diplomacy เป็นนโยบายทางการทูตที่ใช้เชื่อมความสัมพันธ์กับโลกภายนอก คิวบารู้ว่าตัวเองมีดีเรื่องสาธารณสุข จึงส่งทีมหมอไปทั่วโลกเพื่อช่วยวิกฤตต่างๆ ไม่ว่าจะแผ่นดินไหวหรือโรคระบาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำมานานแล้ว

พอโควิดระบาด คิวบาก็ส่งทีมแพทย์ไปช่วย แม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างอิตาลี ประเทศอื่นๆ ในลาตินอเมริกาล้วนรับทีมแพทย์จากคิวบาเข้าไปทั้งหมด คิวบามีความพร้อมและมีโรงพยาบาลเพียงพอที่จะจัดการปัญหาโควิดดีกว่าประเทศเผด็จการอย่างนิการากัวและเวเนซุเอลา

ตอนปฏิวัติปี 1959 หมอคิวบาครึ่งหนึ่งหนีไปอยู่สหรัฐอเมริกา ฟิเดล คาสโต เลยมองว่าสิ่งที่จะพัฒนาคิวบาได้ คือสิทธิในการมีชีวิตอยู่ นั่นคือเรื่องสุขภาพ นี่เป็นปรัชญาขั้นพื้นฐานที่ ฟิเดล คาสโต มองว่าจะพัฒนาให้คนในประเทศเข้าถึงสิทธิด้านสาธารณสุขได้ดี เขาจึงเพิ่มจำนวนโรงเรียนแพทย์ ตั้งตัวเองเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ในลาตินอเมริกา กระทั่งในปัจจุบันก็มีบริษัทในไทยเข้าไปลงทุนเรื่อง biopharmaceutical ร่วมกับคิวบา

คิวบาประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะถือหลักสิทธิในการมีชีวิตอยู่ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนในสังคมระบอบคอมมิวนิสต์ คิวบาอาจจะไม่ได้ร่ำรวย แต่มีการพูดกันว่าคิวบาปฏิวัติเป็นคอมมิวนิสต์แล้วคนยากจนเหมือนกันหมด แต่เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีมากกว่าการมีเงินทองเสียอีก

 

เอกวาดอร์: ปัญหาหนักจากการพึ่งพาโลกภายนอก

 

เอกวาดอร์ซึ่งปัจจุบันได้ยกเลิกสกุลเงินของตัวเองแล้วใช้เงินดอลลาร์ จึงไม่มีความเป็นอิสระในการใช้นโยบายการเงินของตัวเอง ใช้ได้แค่นโยบายการคลังและนโยบายการค้าระหว่างประเทศเท่านั้น

ลาตินอเมริกาเป็นผู้ส่งออก primary product หรือสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งภูมิภาค เศรษฐกิจอิงอยู่กับสินค้าการเกษตร น้ำมัน แร่ธาตุบางตัวเป็นหลัก เมื่อสินค้าใดราคาตกลง รายได้หลักก็จะหายไป เป็นนโยบายที่เกิดขึ้นหลัง Washington Consensus ปี 1990 ลาตินอเมริกากลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกในฐานะที่เป็นผู้ส่งออก primary product ต่างๆ

รายได้หลักของเอกวาดอร์คือการส่งออกน้ำมันดิบ ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบตกจนเรียกได้ว่าขาดทุน เอกวาดอร์ไม่มีความพร้อม ไม่มีเงินใช้แก้ปัญหาโควิด เพราะไม่สามารถจัดการนโยบายอื่นๆ ได้นอกจากนโยบายการคลัง ซึ่งก็ขายน้ำมันไม่ได้อีก นี่คือผลกระทบของทุนนิยมโลกที่มีต่อลาตินเอมริกา โดยเฉพาะเอกวาดอร์

เมืองท่าใหญ่อันดับหนึ่งของเอกวาดอร์คือกัวยากิล ซึ่งเป็นเมืองที่มีคนต่างชาติเข้ามาติดต่อค้าขายมากที่สุด โดยเฉพาะจากสเปน คนตายจากโควิดมากกว่า 60% ของเอกวาดอร์อยู่ที่เมืองนี้เมืองเดียว แต่เขาจัดการอะไรไมได้ ปล่อยศพไว้ข้างถนน 4-5 วัน หาโลงศพไม่ได้ต้องใช้กล่องกระดาษห่อศพ ระบบเศรษฐกิจของเอกวาดอร์พึ่งพาน้ำมันและการใช้เงินดอลลาร์จึงมีปัญหา ทั้งที่จริงแล้วการใช้เงินดอลลาร์มีทั้งข้อดีข้อเสีย แต่พอเจอปัญหานี้เลยกลายเป็นปัญหาหนักของเอกวาดอร์ ซึ่งคล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นที่ปานามา

ปานามาก็ใช้เงินดอลลาร์และพึ่งพาการท่องเที่ยวโดยรับนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกา เมื่อสหรัฐฯ หนาวคนจะหนีมาปานามาที่อยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร ปานามาจึงมีคนติดเชื้อเยอะคล้ายเอกวาดอร์ โดยเฉพาะตัวเลขคนต่างชาติที่เดินทางเข้ามาแล้วติดเชื้อ

ลาตินอเมริกาเมื่อเข้าสู่ระบบทุนนิยมโลกก็มีปัญหาเรื่องการพึ่งพาโลกภายนอก ในอดีตช่วง 1930-1970 ลาตินอเมริกาเคยมีนโยบายพึ่งพาตัวเอง แต่ก็ล่ม ลาตินอเมริกาเป็นภูมิภาคที่ทดลองมาหลายทฤษฎี แต่ละทฤษฎีก็จะเจอสิ่งที่ทำให้สะดุดแล้วพังทลายทุกครั้ง พอลองทฤษฎีการพึ่งพาก็พัง พอ Washington Consensus ก็เจอวิกฤตต้มยำกุ้ง ตอนต้นศตวรรษที่ 21 เขาเคยเอียงซ้ายแล้วมีปัญหากับสหรัฐอเมริกา มีปัญหาเรื่องคอร์รัปชัน เรื่องผู้นำแบบประชานิยมที่ตอนหลังกลายเป็นเผด็จการ พอกลับมาเอียงขวาก็เจอเรื่องการพึ่งพาเศรษฐกิจแบบเพียงอย่างเดียว

การเมืองลาตินอเมริกาน่าสนใจ เหวี่ยงไปมา เจอทุกสภาพเหตุการณ์ ลองทุกอย่างแล้วก็ยังเจอปัญหา เผด็จการทหารก็เจอมาเกือบทุกอย่าง ยกเลิกระบบทหารเพราะเบื่อทหารก็เคยเกิดขึ้น เช่นในคอสตาริกา ลาตินอเมริกาเป็นห้องทดลองประชาธิปไตยและห้องทดลองระบบเศรษฐกิจที่น่าสนใจ

 

บทบาทจีนช่วงวิกฤต จุดพลิกความรู้สึกผู้คน

 

ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในลาตินอเมริกาคือต่างคนต่างดำเนินนโยบายของตัวเอง ขาดการประสานความร่วมมือระหว่างภูมิภาค เหมือนประเทศไทยที่บอกว่าอาเซียนจะมีความร่วมมือกัน แต่ต่างคนต่างก็ดำเนินนโยบาย ขาดความร่วมมือในภูมิภาคที่จะจัดการปัญหา ตอนนี้กลับกลายเป็นว่าประเทศนอกภูมิภาคอย่างจีน ยื่นมือเข้ามาช่วยลาตินอเมริกา แต่ประเทศที่ควรทำหน้าที่ดูแลภูมิภาคนี้อย่างสหรัฐอเมริกากลับไม่ช่วยอะไรเลย

จีนส่งทีมแพทย์ ชุดอุปกรณ์และยา เข้าไปในบราซิล ขนาดโบลโซนาโรที่เป็นหัวเดียวกับทรัมป์ คอยตามหลังอเมริกา ก็ยังรับความช่วยเหลือจากจีน ตอนนี้บทบาทของจีนในการเข้ามาช่วยปัญหาโควิดในลาตินอเมริกาเด่นชัดอย่างมาก เทียบไม่ได้เลยกับบทบาทของสหรัฐอเมริกาที่ใช้นโยบาย America First

ในช่วงสิบปีที่แล้วคนลาตินอเมริกากลัวจีน เพราะจีนเข้ามาลงทุนทางเศรษฐกิจในช่วง commodity boom จนกระทั่งลาตินอเมริกากลัว เช่น จีนจะเข้ามาลงทุนสร้างทางรถไฟในเม็กซิโก ประธานาธิบดีเม็กซิโกขณะนั้นก็ยกเลิกไปเลยเพราะกลัวจีน แต่ตอนนี้ด้วยสถานการณ์โควิดที่จีนทำตัวเป็นพ่อพระ นำประสบการณ์ของตัวเองมาช่วยคนในลาตินอเมริกา สร้างความรู้สึกที่ดีให้เกิดขึ้นกับคนในลาตินอเมริกากลับขึ้นมาอีกครั้งแซงหน้าบทบาทของอเมริกาในช่วงนี้ซึ่งแย่มากในการช่วยลาตินอเมริกา

ในระยะยาว บทบาทของจีนในการทำตัวเป็นฮีโร่ เป็นผู้ช่วยเหลือ จะทำให้ความเกลียดชังของคนลาตินอเมริกาเมื่อสิบปีที่แล้วลดลงไป และจีนจะกลับมามีที่ยืนที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งในลาตินอเมริกา

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save