fbpx

เมื่อความบังเอิญสร้างปาฏิหาริย์

บทความมีที่มาจากการเตรียมไปร่วมวงเสวนาเปิดตัวหนังสือจากงานวิจัยของ พีระ เจริญวัฒนนุกูล (2566) เรื่อง ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง : ความบังเอิญของไทยในการเอาตัวรอดจากอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพิ่งจัดพิมพ์ออกมา เนื้อหาว่าด้วยการเจรจาทำความตกลงภายหลังสงครามระหว่างอังกฤษกับไทยเกี่ยวกับสถานะและการรับสภาพประเทศผู้แพ้ โดยไทยจะต้องชดใช้ค่าเสียหาย และแสดงความรับผิดชอบจากการเข้าร่วมกับญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 และประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่ งานวิจัยของอาจารย์พีระฯ น่าติดตามสำหรับผู้สนใจการเจรจาในการเมืองระหว่างประเทศที่มีนัยสำคัญต่อการเมืองภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เดิมพันในเรื่องนี้คือเอกราชและอธิปไตยของประเทศผู้เจรจาที่ตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบอีกฝ่ายในทุกๆ ทาง ทั้งในเรื่องอำนาจต่อรอง หลักการบรรทัดฐานที่อาจอ้างมาใช้สนับสนุนประเด็นเจรจาและขอข้อผ่อนผัน และสถานการณ์แวดล้อมที่แทบไม่มีทางเลือกอื่นใดเหลืออยู่สำหรับประเทศอำนาจน้อยที่แพ้สงครามโลก

นอกจากนั้น ผู้ติดตามการพัฒนากรอบการวิเคราะห์ทางสังคมศาสตร์คงพบความน่าสนใจในงานของอาจารย์อีกส่วนหนึ่ง ที่เสนอความบังเอิญเข้ามาในกรอบการอธิบายผลลัพธ์การเจรจา ทำให้ผู้ตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบในทุกประตูกลับสามารถผ่อนผันเงื่อนไขที่ประเทศผู้ชนะเตรียมกำหนดบังคับให้ประเทศผู้แพ้สงครามต้องยอมรับผลการเจรจาที่กระทบต่อเอกราชอธิปไตยของตน สามารถรอดพ้นจากการต้องตกเป็นประเทศอยู่ภายใต้การยึดครองของประเทศผู้ชนะมาได้ในที่สุดเหมือนกับว่า ‘ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง’ และปาฏิหาริย์นั้นเกิดมาจากความบังเอิญ   

กรอบการอธิบายส่วนนี้เองที่จุดประเด็นน่าสนใจนำไปร่วมวงเสวนา สรุปประเด็นในรูปของคำถามออกมาได้ ดังนี้ :

1. ในทางรัฐศาสตร์ – ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR) มีสิ่งที่จัดเป็น -ปาฏิหาริย์- อยู่บ้างไหม?

2. การให้ความสำคัญแก่ความบังเอิญ และการนำความบังเอิญเข้ามาอยู่ในกรอบการอธิบายสถานการณ์ เหตุการณ์ หรือปรากฏการณ์ทางสังคม ทั้งที่มองว่าเป็นปาฏิหาริย์และไม่ใช่ปาฏิหาริย์ มีที่ทางและมีแนวทางอย่างไรในงานวิชาการสร้างความรู้ด้าน IR ที่นับตัวเองเป็นแขนงหนึ่งของสังคมศาสตร์?

และ

3. เมื่อคำนึงถึงหลักในการศึกษาประวัติศาสตร์ที่เน้นความสำคัญของข้อเท็จจริงและความเป็นจริงที่เกิดขึ้นมากกว่าการคิดถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้จากการคาดคะเน เราจะได้ประโยชน์อะไรจากการประกอบอดีตออกมาพิจารณา โดยใช้วิธีวิทยาที่นำข้อเท็จจริงตามที่เกิดขึ้นจริงมาคิดสอบทวนสวนทางเพื่อพิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ของผลลัพธ์ในแบบอื่นๆ  ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ (counterfactual analysis) และมาชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของความบังเอิญ ที่พาเหตุปัจจัยที่ชุมนุมอยู่ในบริบทนั้นให้ก่อเกิดผลขึ้นมาในทางใดทางหนึ่ง และส่งผลที่เกิดขึ้นไปในทางที่น่าประหลาดใจต่อความยอกย้อนในการทำงานของเหตุปัจจัยเหล่านั้น?

ปาฏิหาริย์กับความบังเอิญในการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ตามที่ข้าพเจ้าเข้าใจ ปาฏิหาริย์เป็นคำอิงนัยทางศาสนา และในทางศาสนา ปาฏิหาริย์มิใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยคนธรรมดาสามัญ แต่เป็นการบันดาลโดยพระผู้เป็นเจ้า หรือถ้าหากมิใช่พระผู้เป็นเจ้า ก็เป็นพระบรมศาสดาที่สามารถกระทำปาฏิหาริย์เพื่อเผยออกถึงความจริงที่อยู่พ้นจากโลกได้ แต่จาก quote ของไอน์สไตน์ ที่อาจารย์พีระฯ ยกมาประกอบการตั้งเรื่องในบทนำพาให้เข้าใจได้ว่า ปาฏิหาริย์ที่ปรากฏในงานวิจัยเป็นปาฏิหาริย์เมื่อพระผู้เป็นเจ้าทรงหลบเข้าไปอยู่ในความเป็นนิรนามเรียบร้อยแล้ว เหลือไว้แต่ความน่าทึ่งจากผลอันเกิดจากการกระทำของมนุษย์ มนุษย์ที่มีความผิดพลาดได้เป็นเจ้าเรือน ดังคำที่ว่า “To err is human, (to forgive Divine.)”

ในองค์ประกอบของปาฏิหาริย์ตามนัยที่อาจารย์พีระฯ เสนอไว้ในงานวิจัย มีทั้งส่วนที่เป็นการแปรเปลี่ยนของสถานการณ์ไปตามเหตุปัจจัย ในที่นี้คือการทำสงครามและการแพ้สงคราม กับส่วนที่เป็นเหตุจรและการณ์จร อันผ่านเข้ามาพอดีบนจุดตัดของเวลาและพื้นที่ ในขณะที่ผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจเลือกว่าจะทำแบบไหนในสภาวะบีบคั้นจนทางเลือกที่น่าพอใจแทบจะไม่มีเหลืออยู่ แต่เหตุจรหรือการณ์จรที่ไหลเข้ามาในจังหวะนั้นพอดี ได้เปิดช่องหรือหน้าต่างแห่งโอกาสที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาความยุ่งยากในสถานการณ์ จนก่อผลในทางดีที่สร้างความประหลาดใจแก่ทุกคน

ปาฏิหาริย์ตามนัยนี้จึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับความบังเอิญ ในความหมายของการประจวบเหมาะ ที่เหตุการณ์ อุบัติการณ์ สถานการณ์ หรือรูปการณ์อื่นๆ ที่มีจุดตั้งต้น มีสาเหตุที่มาแตกต่างกัน ได้จรเข้ามาพบกันในสนามการตัดสินใจของผู้กระทำการ และส่งผลพอเหมาะพอดีต่อเรื่อง ต่อปัญหา ต่อโอกาสแห่งการกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง จนก่อผลที่มิได้มีใครคาดคิดไว้ หรือก่อผลที่คาดไม่ถึงว่าจะเป็นไปได้ให้เกิดขึ้นมาได้ และเป็นผลในทางดีที่น่าพอใจ จนเหมือนว่าเป็นปาฏิหาริย์แก่ผู้กระทำการที่อยู่ในสนามการตัดสินใจดังกล่าว อาจารย์พีระจึงเรียกปัจจัยส่งผลดีที่น่าพอใจ แต่อยู่นอกอำนาจ นอกการควบคุม นอกเหนือความตั้งใจของตัวแสดงที่แทรกแซงเข้ามาช่วยเช่นนี้ว่า ปาฏิหาริย์ และจะเป็นปาฏิหาริย์ได้ ก็จะต้องเป็นเหตุจรการณ์จรจากภายนอกอันเพียงพอ มีน้ำหนักมากพอ หรือจะอธิบายการพลิกผันผลลัพธ์เช่นที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้ ถ้าหากไม่นำปัจจัยที่ว่านี้มาพิจารณาโดยปัจจัยอื่นมีน้ำหนักในการอธิบายเป็นรองๆ ลงไป

อย่างไรก็ดี เมื่อจัดสิ่งที่เกิดขึ้นหรือปรากฏการณ์ที่จะนำเสนอคำอธิบายว่าเป็นปาฏิหาริย์ ควรพิจารณาด้วยว่า เป็นปาฏิหาริย์ในสายตาของใคร คนที่ต้องเผชิญกับการแปรเปลี่ยนของเหตุการณ์ – สถานการณ์ และมีความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจในเรื่องนั้น เมื่อเห็นเหตุจรการณ์จรที่พอดีเลื่อนเข้ามาในจังหวะสุกดิบกำลังเข้าด้ายเข้าเข็มและเป็นช่องทางหรือเป็นโอกาสให้เขาสามารถพลิกออกมาจากมุมอับของสถานการณ์ที่กำลังเข้าตาจน คงเห็นความเป็นปาฏิหาริย์ในเรื่องนี้ได้แน่ แต่สำหรับคนที่มองเขาเป็นศัตรู เป็นฝ่ายตรงข้าม หรือมีศักยภาพที่จะขึ้นมาเป็นคู่แข่งในสนามการเมือง และได้วางหมากกลการเมืองดุจดังท่านอาจารย์ใหญ่ขงเบ้งกระทำต่อฝ่ายตรงข้าม ดังที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (2492) เล่าเป็นอุปมานิทัศน์ไว้ในนวนิยายการเมืองเรื่อง เบ้งเฮ็ก (ที่จะตามมาด้วย โจโฉ นายกฯ ตลอดกาล ในปี 2494) อาจมิได้เห็นความประจวบเหมาะเคราะห์ดีที่พาพวกเขาให้รอดพ้นจากความเสียหายนั้นว่าเป็นปาฏิหาริย์ก็ได้

ดังนั้น ในเหตุการณ์เดียวกัน การเล่าหรือการบันทึก -และความตั้งใจของคน 2 ฝ่ายที่จะเล่าที่จะบันทึก- เกี่ยวกับเรื่องราวในเหตุการณ์นั้นจึงมีจุดเน้นและจุดเว้นที่แต่ละฝ่ายต้องการนำเสนอ -และกลบเกลื่อนไม่นำมากล่าวถึง- แตกต่างกัน การอ่านเอกสารชั้นต้นชั้นรองเพื่อประกอบอดีตออกมาทำความเข้าใจเรื่องราวและความหมายต่อคนแต่ละฝ่ายในจังหวะเวลาที่เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น จึงควรอ่านอย่างระมัดระวัง ดังเช่นที่อาจารย์พีระฯ นำผลการอ่านนั้นมาเสนอในงานวิจัยนี้เพื่อประกอบอดีตออกมาทำความเข้าใจความเกี่ยวพันระหว่างการเมืองภายในและการต่างประเทศไทย  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่ออดีตยุคนั้นมีนัยทางการเมืองสูงต่อการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกลุ่มการเมืองต่างฝ่ายในปัจจุบัน และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทบุคคลในประวัติศาสตร์ไทยถูกแปรมาใช้ในสนามขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยนักการเมืองประวัติศาสตร์ ในทางที่ทำให้ผู้สังเกตการณ์ปฏิบัติการของ war of position ในสนามการเมืองแบบ Gramsci เห็น ironies ทางประวัติศาสตร์ในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยเพิ่มมากขึ้นอย่างชวนให้ยิ้มรับ

ควรถือโอกาสทัดหมายเหตุลงแทนเชิงอรรถตรงนี้ตามความเข้าใจของข้าพเจ้าด้วยว่า วัตถุประสงค์ในงานวิจัยของอาจารย์พีระฯ มิได้มาจากสายประวัติศาสตร์ปฏิบัติการแบบนั้น ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองและผู้อ่านสับสนในถ้อยคำสำคัญ คือคำว่า ประวัติศาสตร์  ในการเรียกการวิเคราะห์อดีตที่อยู่ในงานวิจัยของอาจารย์พีระฯ ข้าพเจ้าจึงเลี่ยงมาเรียกด้วยคำใหม่ว่า การประกอบอดีตในการศึกษาวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือ IR  ส่วนงานประวัติศาสตร์ หรือ ‘ประวัติศาสตร์’ ที่กำลังพัวพันอยู่กับการขับเคลื่อนทางการเมืองในสนามการเมืองวัฒนธรรมภูมิปัญญาของไทยในปัจจุบัน คงต้องแยกการพิเคราะห์ออกมาพิจารณาเป็นต่างหากออกไป ทั้งในเชิงวิชาการและในเชิงปฏิบัติการ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นกลวิธีจัดและเปลี่ยนปรับมุมมองเพื่อขยับตำแหน่งของ counter-hegemonic bloc ในการเมืองวัฒนธรรม โดยพี่ๆ นักการเมืองประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ที่เป็นทายาทรับสืบทางมาจากรุ่นก่อนๆ แม้ว่าในแต่ละรุ่นและต่างรุ่นจะมีความคิดความปรารถนาแตกต่างกันเกี่ยวกับบุคคลที่อยากเชิดชูรักษาไว้ไม่ให้ด่างพร้อย และอุดมการณ์ที่อยากสถาปนาลงในการเมืองวัฒนธรรมไทย ในที่นี้ ข้าพเจ้ากล่าวได้เพียงว่า ขอให้ทุกท่านและวงวิชาการไทยศึกษาประสบโชคดี ไม่ว่าจะโดยปาฏิหาริย์หรือไม่มีปาฏิหาริย์ก็ตาม    

นอกจากปาฏิหาริย์กับความบังเอิญตามนัยความหมายที่เป็นเหตุจรการณ์จรที่เลื่อนเข้ามาในสถานการณ์อย่างได้จังหวะพอดีดังที่กล่าวไปแล้ว การประกอบอดีตขึ้นมาศึกษาในวิชาการ IR บางทีก็พบว่า คนอยู่ในสถานการณ์หรือผ่านเหตุการณ์นั้นมา ไม่ว่าฝ่ายไหน อาจมิได้มีใครทันได้คิดและมองเห็นว่ามีปาฏิหาริย์กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น แต่ปาฏิหาริย์เป็นความประหลาดใจที่เกิดกับคนที่เข้ามาศึกษาเรื่องนั้นในภายหลัง และมองเห็นความน่าแปลกใจในความพลิกผันของเงื่อนไขและเหตุปัจจัยจำนวนมากที่ประกอบกันอยู่ในสถานการณ์ และผลลัพธ์ที่ต้องการคำอธิบาย

ปาฏิหาริย์แบบนี้ต้องการและต้องอธิบายจากการชุมนุมกันทั้งส่วนที่เป็นเงื่อนไขพื้นฐานและจากเหตุปัจจัยที่จำเป็นและเพียงพอจำนวนมากประกอบกัน ความบังเอิญของปาฏิหาริย์แบบนี้จึงต่างจากความบังเอิญแบบแรกที่กล่าวถึงข้างต้นว่าเป็นการณ์จรหรือเหตุจรที่เลื่อนเข้ามาทันในจังหวะประจวบเหมาะพอดี แต่ปาฏิหาริย์ในความหมายแบบหลังพาให้เราที่ศึกษาความสำเร็จหรือความสามารถที่จะเลี่ยงหายนะนั้นในเวลาต่อมา เกิดความพิศวงว่ามันบังเอิญกระไร และ แล้วแต่ว่าในแต่ละขั้นแต่ละตอนในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยลำดับจะต้องถึงพร้อมและด้วยความลงตัวเพียงใด ที่เหตุปัจจัยส่งผลจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งส่วนที่เสริมสนับสนุนกันและขยายผลให้กัน และส่วนที่เข้ามาตัดขัดขวางหรือขัดแย้งกัน เมื่อประกอบการทำงานของเหตุปัจจัยเหล่านี้ทั้งหมดออกมาแล้ว มันผลิตผลลัพธ์ให้เกิดขึ้นมาได้แบบเหนือความคาดหมาย หรือพลิกแรงผลักดันที่น่าจะพาไปลงเอยที่ผลลัพธ์แบบหนึ่ง ให้เปลี่ยนทางมาเป็นผลลัพธ์อีกแบบได้ราวกับมีปาฏิหาริย์ นอกเหนือจากบังเอิญอย่าง ‘ประจวบเหมาะ’ แล้ว คำว่า ‘แล้วแต่ว่า’ หรือ contingency จึงเป็นคำที่นำมาจัดความหมายให้แก่ความบังเอิญโดยนัยที่ต่างออกไปได้อีกคำหนึ่ง

ตัวอย่างของปาฏิหาริย์ในความหมายหลังที่มีผู้สนใจวิเคราะห์เสนอคำอธิบายไว้มากในแวดวงวิชาการ IR เรื่องหนึ่ง คือเรื่องปาฏิหาริย์หรือความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ เช่น ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจหลังความพินาศในสงครามโลกครั้งที่ 2 ของเยอรมนีตะวันตกและของญี่ปุ่น ที่ไม่เพียงฟื้นตัวจากหายนะในสงครามได้อย่างรวดเร็ว แต่ทั้ง 2 ประเทศยังกลายมาเป็นผู้เล่นสำคัญในระบบเศรษฐกิจโลก

เงื่อนไขพื้นฐานของเยอรมนีและญี่ปุ่นที่เหลือรอดจากความพินาศในสงคราม บางอย่างก็มีอยู่เหมือนกันในทั้ง 2 สังคม เช่น สมรรถนะของระบบการศึกษาวิจัยและคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ บางอย่างก็มีต่างกัน เช่น ฐานทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรมค่านิยมในสังคม รูปการณ์อำนาจของรัฐ ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และของภาคส่วนอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจ และเหตุปัจจัยที่ทำงานสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ บางอย่างทั้ง 2 แห่งก็มีและได้รับคล้ายกัน เช่น การเจรจาและได้รับการผ่อนปรนการใช้หนี้ทั้งเรื่องจำนวนและระยะเวลาการชำระหนี้จากประเทศผู้ชนะสงครามที่เป็นเจ้าหนี้ในเงื่อนไขอย่างที่ประเทศกำลังพัฒนาในละตินอเมริกาและในแอฟริกาที่ตกอยู่ในวิกฤตหนี้ในเวลาต่อมาในทศวรรษ 1980s ไม่เคยได้รับแบบนั้นบ้าง แต่เหตุปัจจัยหลายอย่างเยอรมนีและญี่ปุ่นก็มีแตกต่างกัน เช่น ระบบที่จัดดูแลการถูกยึดครองหลังสงคราม รูปการณ์ของการเมืองภายในและการจัดการเชิงนโยบายของรัฐบาล และสภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์กับความสำคัญและความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์เมื่อสงครามเย็นระหว่างมหาอำนาจเริ่มต้นขึ้น นอกจากนั้น แนวทางยุทธศาสตร์และการดำเนินนโยบายฟื้นตัวและพัฒนาเศรษฐกิจ ระบบจัดการการผลิต ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ทุน แรงงานการผลิต ญี่ปุ่นจัดตัวแบบแตกต่างจากเยอรมนี ดังนั้น ความสำเร็จอย่างที่เรียกว่าเป็นปาฏิหาริย์หรือมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจจึงมิได้มีเส้นทางเดียวหรือมีสูตรเดียว ในจุดนี้  ความ แล้วแต่ว่า จึงเข้ามาเกี่ยวข้องอีก นั่นคือ จากเงื่อนไขพื้นฐานที่มีอยู่ต่างๆ กัน จากเหตุปัจจัยในเชิงโครงสร้าง และในเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ที่เลือกมาดำเนินการพัฒนา รัฐบาลและคนที่เป็นผู้รับผิดชอบตัดสินใจ แล้วแต่ว่าใครจะค้นพบและจัดการองค์ประกอบต่าง ๆ กันให้ทำงานก่อเกิดผล ออกมาได้ผลแบบไหน และจะรักษาความสำเร็จจากจุดตั้งต้นให้สร้างความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องได้นานเพียงใด

บางคนอาจเห็นว่าเรื่องแบบนี้ ไม่ใช่สิ่งที่จะมาเรียกกันว่าเป็นความบังเอิญ แต่เป็นเรื่องการมีฝีมือหรือไม่มีฝีมือ เก่งหรือไม่เก่ง แต่อย่างคำพูดที่พูดกัน เก่งแล้วต้องมีเฮงด้วย ถ้าเก่งแต่ไม่มีโอกาสหรือไม่ได้รับโอกาสที่มาจากปัจจัยอันอยู่นอกเหนือการควบคุมและเกินกว่าฝีมือของคนๆ นั้นจะไปจัดการมาเองได้ ฝีมือและความเก่งก็ไม่มีที่จะให้แสดง  

ดังนั้น นอกจากการผสานเหตุปัจจัยจำนวนมากหลากหลายทางดังที่กล่าวมาแล้วให้ทำงานได้ถึงพร้อมและลงตัวสำหรับขับเคลื่อนการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจภายหลังสงคราม การจะเข้าใจปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจทั้งของญี่ปุ่นและของเยอรมนีตะวันตกที่เป็นไปได้หลังความพินาศในสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องเข้าใจก่อนว่าสมรรถนะการควบคุมเหตุปัจจัยในสภาพแวดล้อมทั้งภายในและระหว่างประเทศได้หลุดลอยจากอำนาจของประเทศผู้แพัสงครามทั้ง 2 ไปมากแล้ว และด้วยเหตุนั้น ประเทศทั้ง 2 จึงไม่อยู่ในฐานะและมิได้มีสมรรถนะอำนาจและอิทธิพลโดยลำพังใดๆ ที่จะไปเปลี่ยนเงื่อนไขและเหตุปัจจัยในสภาพแวดล้อมให้กลับคืนมาเอื้อ และส่งผลสนับสนุนการฟื้นตัวและการพัฒนาประเทศของตนได้เอง ถ้าหากมิได้การตัดสินใจจากประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะจากประเทศมหาอำนาจในเวลานั้น คือ สหรัฐอเมริกา และจากปัจจัยผลักดันที่ทำให้ประเทศที่ผู้ชนะสงครามที่มีอำนาจมากกว่าเหล่านั้นตัดสินใจเลือกและตอบสนองกันและกัน จนส่งผลออกมาในทางที่กลับพลิกสถานการณ์ของประเทศผู้แพ้สงคราม ที่ทำให้ทั้งเยอรมนีตะวันตกและญี่ปุ่นได้รับโอกาสจัดความสัมพันธ์กับเงื่อนไขในสภาพแวดล้อมและจัดการเหตุปัจจัยในการพัฒนาเศรษฐกิจออกมาจนได้ผลลัพธ์ความสำเร็จอย่างที่ไม่มีใครเลยจะสามารถคาดการณ์ได้ว่า จากการทำงานของเหตุปัจจัยที่ชุมนุมกันอยู่ ณ จุดตั้งต้นที่ปี 1939-1941 นั้น ในระยะเวลาอีก 10 ปีต่อมา การเปลี่ยนแปลงไหลเลื่อนของเหตุปัจจัยจากเหตุการณ์ สถานการณ์ และวิกฤตการณ์ จะผลิตผลลัพธ์ ณ ปี 1949-1951 พลิกกลับออกมาในทางที่ทำให้มหาอำนาจที่เคยหวาดหวั่นและหาทางสกัดกั้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอำนาจอิทธิพลของเยอรมันและของญี่ปุ่นเห็นความสำคัญจำเป็นถึงกับที่จะต้องฟื้นพลังความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศทั้ง 2 โดยเร็ว และดึงประเทศทั้ง 2 ให้เข้ามาเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญทางยุทธศาสตร์สำหรับเสถียรภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศในภูมิภาคที่ประเทศทั้ง 2 เคยเป็นผู้มาเขย่าทำลายระเบียบจนนำโลกเข้าสู่สงครามเมื่อ 10 ปีก่อนหน้านั้น

ดังนั้น ถ้าจะว่าถึงความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและของเยอรมนีตะวันตก แน่นอนว่าด้านหนึ่งตกอยู่ใน ‘ความแล้วแต่ว่า’ ของเงื่อนไขพื้นฐานกับเหตุปัจจัยรองรับเกื้อกูลการพัฒนาประเทศ กับ ‘ความแล้วแต่ว่า’ ที่ผู้ตัดสินใจจะประสบความสำเร็จดีเพียงใดในการเลือกแนวทางยุทธศาสตร์มาจัดการกับเงื่อนไขและเหตุปัจจัยหลากหลายเหล่านั้นจนได้รับสัมฤทธิ์ผลอย่างต่อเนื่อง แต่ความน่ามหัศจรรย์อันแท้จริงในกรณีของเยอรมนีและญี่ปุ่นคือ ‘ความแล้วแต่ว่า’ ของเหตุปัจจัยซึ่งทำงานอยู่ในระยะ 1939-1941 ที่ฮิตเลอร์เริ่มต้นสงครามในยุโรป และญี่ปุ่นเริ่มทำสงครามในแปซิฟิก ที่พลิกผันไป และพลิกเหตุการณ์ พลิกสถานการณ์สงครามไปพลิกผลสร้างเหตุและพลิกเหตุสร้างผล ที่แม้หลังสงครามแล้วก็ยังพลิกต่อไปอีก จนกระทั่ง 10 ปีให้หลังจากที่สงครามเริ่มต้น ยุโรปก็มีโอกาสได้เห็นองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือปรากฏขึ้นมา “Keep the Russians out, the Americans in, and the Germans down.” ตามคำกล่าวอันเป็นที่รู้จักกันดีของ Lord Ismay ในขณะที่สหรัฐฯ ตัดสินใจ ‘reverse course’ เปลี่ยนนโยบายการยึดครองญี่ปุ่นหลังสงครามจากการปลดทหารและปฏิรูปโครงสร้างสถาบันทางเศรษฐกิจการเมืองที่สนับสนุนการแผ่อำนาจทางทหาร มาเป็นการสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจเพื่อให้ญี่ปุ่นสามารถฟื้นสมรรถนะมาช่วยสนับสนุนยุทธศาสตร์สงครามเย็นของสหรัฐฯ ได้อย่างเต็มที่

ปราศจากการพลิกผันของเหตุปัจจัยในระหว่างสงครามและภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปราศจากการตัดสินใจของสหรัฐฯ ต่อทางเลือกที่เป็นไปได้ และการเลือกยุทธศาสตร์พร้อมกับการจัดโครสร้างสถาบันพหุภาคีและทวิภาคีสำหรับจัดการปัญหาเศรษฐกิจและระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศและปัญหาความมั่งคงและระเบียบความมั่นคงของยุโรปและเอเชียตะวันออก เยอรมนีและญี่ปุ่น ที่ท้าทายและทำลายระเบียบเก่าด้วยสงคราม คงมีตำแหน่งแห่งที่ในยุโรปและในเอเชียภายหลังสงครามโลกแตกต่างออกไปจากที่เป็นมา แต่เมื่อความแล้วแต่ว่าของเหตุปัจจัยได้ชักนำพากันไปอย่างที่เป็นมา ก็นับได้ว่านโยบายและยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นแผนการมาร์แชล การลดปลดหนี้ให้เยอรมนีและญี่ปุ่น การผนวกประเทศฝ่ายอักษะทั้ง 2 เข้ามาในโครงสร้างการจัดระเบียบความมั่งคงระหว่างประเทศภายใต้อำนาจการนำของสหรัฐฯ ที่รวมถึงการให้ความคุ้มครองความมั่นคงแก่เยอรมนีและแก่ญี่ปุ่น เป็นการตัดสินใจทางนโยบายและการดำเนินยุทธศาสตร์ที่ยังผลลัพธ์ให้เกิดโอกาสดีแก่ทั้งเยอรมนีตะวันตกและญี่ปุ่น ในขณะที่สหรัฐฯ เองก็สามารถขยายอิทธิพลมหาศาลได้ในลักษณะที่ Gier Lundestad (1986) เรียกว่า ‘Empire by invitation’ การประกอบอดีตของไทยตอนสงครามโลกยุติในงานวิจัยของอาจารย์พีระฯ จึงเกิดขึ้นมาในบริบทเดียวกันตามที่กล่าวมานี้ และเป็นไปตามความแล้วแต่ว่าของเหตุปัจจัยที่พากันและกันพลิกผันไป ในขณะที่ไทยเองมีอำนาจควบคุมหรือส่งผลต่อการพลิกผันของเหตุปัจจัยเหล่านั้นไม่มากนัก การทูตและการต่างประเทศรวมทั้งการเมืองภายในของไทยจึงอยู่ในส่วนที่เป็นฝ่ายรับผลจากปาฏิหาริย์ที่เกิดจากความพลิกผันในระยะ 10 ปีจากจุดเริ่มต้นสงครามมหาเอเชียบูรพา 1941 จนถึงการทำความตกลงสันติภาพระหว่างนานาชาติที่นครซานฟรานซิสโกในปี 1951 และสงครามเกาหลีที่เกิดขึ้นในปีก่อนหน้านั้น  

ถ้าหากอาจารย์พีระฯ มีโอกาสขยายระยะเวลาการทูตไทยจากปี 1941 มาถึงปี 1951 แล้วดูการพลิกผันไปตามความแล้วแต่ว่าของเหตุปัจจัยในสนามการเมืองระหว่างประเทศ ที่จะทำอันตรกิริยาต่อกันไปในทางไหน และพลิกผันผลลัพธ์ในแต่ละระยะให้เปลี่ยนไปอย่างไร อาจารย์ก็คงจะสังเกตเห็นอะไรที่คล้ายปาฏิหาริย์อีกเช่นกัน แต่ปาฏิหาริย์คราวนี้ไม่ใช่ปาฏิหาริย์สำหรับหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ปรีดี หรือสำหรับผลลัพธ์การเจรจาระหว่างฝรั่งเศสกับไทยในเรื่องดินแดนที่เสียไป-ได้คืนมา ซึ่งไม่มีใครช่วยไทยได้  แต่การพลิกผันไปของเหตุการณ์ และของเหตุปัจจัยที่ทำงานอยู่ในสนามความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งแทบทั้งหมดอยู่นอกอำนาจควบคุมของผู้นำไทย ดูเหมือนได้ก่อปาฏิหาริย์ให้แก่ชีวิตจอมพล ป. พิบูลสงครามในทางการเมือง                 

เมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้ ควรตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า ความแล้วแต่ว่าของเหตุปัจจัยหลังสงครามเย็นยุติจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตได้เปลี่ยนแปลงไปมากจากสมัยที่สงครามเย็นเริ่มต้น การฟื้นตัวและความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนนับแต่หลังสงครามเย็นเป็นต้นมาอาจเรียกว่าเป็นความมหัศจรรย์หรือเป็นปาฏิหาริย์ได้  ในขณะที่สหรัฐฯ ได้พยายามสร้างภาวะการนำสำหรับการจัดระเบียบโลกใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง แต่การตัดสินใจของสหรัฐฯ ในการเลือกดำเนินยุทธศาสตร์ความมั่นคงและการทหารแบบเอกภาคีนิยม ในสภาพเงื่อนไขและเหตุปัจจัยที่ทำงานชุมนุมอยู่ในระบบระหว่างประเทศหลังสงครามเย็นทั้งในยุโรปและในเอเชียตะวันออก ไม่ได้ประกอบผลออกมาสร้างความมหัศจรรย์อันใดได้อีก เสียงสะท้อนที่ได้ยินชัดขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่เสียงสนับสนุน empire by invitation อีกต่อไป แต่เป็นคำถามเกี่ยวกับภาวะเสื่อมถอยของสหรัฐฯ และกระแส anti-Americanism in world politics (Katzenstein and Keohane, 2006) หลากหลายรูปแบบ ในสภาพเช่นนี้ คำถามย้อนกลับมาใหม่ในเงื่อนไขที่ไม่เหมือนเดิมว่า สหรัฐฯ จะมีสูตรและพลังประกอบรวมเหตุปัจจัยอันจำเป็นและเพียงพอสำหรับสร้างปาฏิหาริย์ในการจัดระเบียบความมั่นคงออกมาได้เหมือนในตอนสร้างสันติภาพหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อีกหรือไม่  ในระหว่างที่ทุกฝ่ายรอติดตามคำตอบนี้ ผู้กำหนดนโยบายการต่างประเทศไทยคงไม่มีใครคิดรอปาฏิหาริย์ที่จะมาจากการตัดสินใจของสหรัฐฯ เหมือนตอนหลังสงครามโลกอีกแล้วกระมัง  

Chance กับการอธิบายและการรับรู้เข้าใจความบังเอิญในปรากฏการณ์

ตามที่พิจารณามา ความบังเอิญจึงมีทั้งที่เป็นเหตุจรและการณ์จรที่เลื่อนเข้ามาส่งผลอย่างประจวบเหมาะในสถานการณ์ความขัดแย้งที่ต้องตัดสินใจ และในลักษณะที่ทำงานส่งผลอยู่ในความแล้วแต่ว่า ที่เงื่อนไขและเหตุปัจจัยหลากหลายจำนวนมากจะประกอบกันและกันออกมาอย่างไร ด้วยความขาดไม่พอที่หรือด้วยความถึงพร้อมและลงตัวเพียงใด ที่จะผลิตผลออกมาในทางที่ไม่มีใครสามารถคาดคิดล่วงหน้าได้ จะสร้างปาฏิหาริย์หรือฝันร้ายหายนะ จะสร้างเหตุการณ์สร้างผลลัพธ์ที่มีความสำคัญหรือผลอย่างสามัญธรรมดา ที่มาเปิดเผยให้เห็นความมีหรือความไร้ประสิทธิภาพในการเมืองทั่วไป อย่างเช่น ผลจากเหตุบังเอิญอย่างน้ำท่วมใหญ่ หรือผลจากเหตุเผอิญเป็นอย่างการเกิดโรคระบาดใหญ่ ซึ่งแต่ก่อนนั้น เหตุบังเอิญเหล่านี้เคยถูกจัดไว้ในอำนาจการดลบันดาลของเทพเจ้าให้เป็นไป แต่ในการเมืองโลกร่วมสมัยที่เทพเจ้าและพระผู้เป็นเจ้าได้เร้นเข้าไปอยู่ในความเป็นนิรนามแล้ว การบังเอิญแบบนี้หรือแบบไหนจึงไม่ใช่ และไม่อาจรับกันได้ว่า เป็นการดลบันดาลมาจากเบื้องบนที่ผู้รู้จักโลกจะไม่ดิ้นรนและยอมรับโดยสงบ แต่เป็นเรื่องที่มนุษย์ทั้งหลาย ในฐานะผู้กระทำการที่มีอิสระกำหนดชีวิตของตนในโลกได้ด้วยตนเอง ต้องหาทางเข้าไปจัดการ เข้าไปควบคุม เข้าไปกำหนดผลและหาทางเปลี่ยนแปลงผลที่เป็นไปแล้ว ให้เป็นไปในทางที่ตนเองพอใจ ท่าทีและวิธีจัดการกับมันก็ปรากฏร่องรอยอยู่ในความหมายของคำว่า chance นี่เอง

ความบังเอิญ ในภาษาไทย เมื่อสลับไปเป็นภาษาอังกฤษ ถ้าหากมุ่งที่เรื่องหรือเหตุการณ์ที่มาเกิดประจวบเหมาะกัน ก็อาจเรียกว่า coincidence ถ้าหากมุ่งนัยที่เน้นจังหวะหรือโอกาสจะเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากความแล้วแต่ว่าของเหตุปัจจัยที่มาประกอบกัน ก็อาจพิจารณาว่าเป็น contingency โดยคำทั้ง 2  และความบังเอิญในภาษาไทยมีคำในภาษาอังกฤษที่คลุมความหมายทั้งหมด และยังมีความหมายเกินจากความบังเอิญออกไปอีกมาก นั่น คือคำว่า chance  ซึ่งนัยของ chance มีทั้ง เหตุบังเอิญ ความประจวบเหมาะ ปะเหมาะเคราะห์ดี จังหวะพอดี โอกาส ช่องทาง การเสี่ยงโชค ความน่าจะเป็น ความเป็นไปได้ ความเป็นไปที่เกิดขึ้นนอกเหนือความตั้งใจของใครคนใดคนหนึ่ง เป็นต้น

ข้าพเจ้าขอทัดคำว่า เป็นต้น สกัดลงตรงนี้ เพราะเท่าที่กล่าวมาก็เพียงพอแล้วที่จะแสดงว่า นัยความหมายเหล่านี้ของ chance เกี่ยวพันกับความไม่แน่ในระดับต่าง ๆ กันในสภาวะมนุษย์ และความมุ่งมาดปรารถนาในใจมนุษย์ที่ต้องการหาทางเข้าไปควบคุม chance และสามารถจัดการกับเงื่อนไขความไม่แน่ ที่ส่งผลลัพธ์ดีร้ายต่อพวกเขาให้มีความแน่นอนได้มากขึ้น โดยหาทางพิจารณาถึง

1. ช่องทางและโอกาสความเป็นไปได้ที่น่าเสี่ยง

2. วัดระดับความน่าจะเป็นของทางเลือกและการได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมาย

3. ศึกษาการทำงานของกลไกทางจิตวิทยาในการประเมินสถานการณ์และการรับความเสี่ยง

4. หาวิธีจัดการกับความเสี่ยงที่พอจะยอมรับได้ และถ้าจำเป็นขึ้นมา หรือคิดว่ามีทุนสำรองอยู่มาก ก็พร้อมจะวัดดวง และ

5. เรียนรู้จากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น โดยใช้มันเป็นข้อมูลป้อนกลับเพื่อทำให้การตัดสินใจที่มี chance จ้องหน้าอยู่ทำได้ดีขึ้นในครั้งต่อๆ ไป และสามารถช่วยพวกเขาให้ควบคุมการก่อเกิดผล การส่งผล และการรับมือกับผลที่เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนยิ่งขึ้น

เป็นต้น

ลึกลงไปในความพยายามที่จะเป็นคนกำหนดความเป็นไปของตนด้วยตนเอง มนุษย์รู้ว่า สิ่งที่แน่นอนยิ่งกว่านั้นก็คือ chance มิใช่สิ่งที่จะถูกกำราบให้ราบเชื่องมาอยู่ใต้อาณัติของใครๆ ได้โดยง่าย เพราะสภาวะมนุษย์ในสังคมและสภาวะมนุษย์ในธรรมชาตินั้นเองที่ผลิต chance และความไม่แน่ขึ้นมา

การหาทางจัดการกับผลที่มาจากความบังเอิญในโลกธรรมชาติและในโลกทางสังคมจึงเป็นการรุกของมนุษย์ที่จะย้ายอำนาจกำหนดผลเข้ามาไว้ในการควบคุมของตนให้มากที่สุด ซึ่งจะสำเร็จได้ ก็โดยไม่ยอมปล่อยให้มันอยู่ในรูปความบังเอิญอีกต่อไป แต่จะหาทางศึกษาทำความเข้าใจการทำงานก่อเกิดผลของมัน หาทางอธิบายมัน และหาทางเปลี่ยนและผลักดันผลของมัน ซึ่งนำมาสู่ประเด็นในข้อต่อมาของเรา คือ จะศึกษา chance ในความหมายต่างๆ รวมทั้งการทำงานของความบังเอิญอย่างไร ทั้งความบังเอิญที่มาในรูปของการประจวบเหมาะของเหตุจร-การณ์จร หรือในความ ‘แล้วแต่ว่า’ ในการประกอบรวมของเหตุปัจจัยทั้งหลายที่ทำงานอยู่ในโลกทางสังคมและในโลกธรรมชาติ

ในการลดความไม่แน่ที่มาจาก chance สมัยโบราณนานไกล เราเคยใช้การบัตรพลีบูชาบวงสรวงเทพเจ้าหรือพระผู้เป็นเจ้าให้ช่วยดลบันดาลความแน่นอนคาดการณ์ได้และการบังเกิดตามความคาดหวังให้แก่เรา แต่หลังการปฏิวัติภูมิปัญญาและวิทยาศาสตร์ เราก็หันมาจัดการกับ chance ในธรรมชาติและในสังคมมนุษย์ด้วยวิธีการแบบวิทยาศาสตร์ ด้วยการเก็บข้อมูล ตั้งข้อสันนิษฐาน ตรวจสอบสมมุติฐาน และการคำนวณทางสถิติและคณิตศาสตร์ระดับสูง พร้อมกับการเปลี่ยนมาบูชาหรือทึ่งกับรูปเคารพแบบใหม่คือเทคโนโลยีและนวัตกรผู้สร้างสรรค์เทคโนโลยี การศึกษาโลกทางสังคมและการจัดการกับ chance ในสังคมก็เป็นไปในทางเดียวกัน  

วิธีโบราณอีกแบบหนึ่งในการเรียนรู้และจัดการกับ chance ในชีวิตมนุษย์ คือการเล่าถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับความไม่แน่แปรปรวนทั้งหลายผ่านบทเพลง มหากาพย์ ปกรณัม ตำนาน นิทาน เรื่องเล่า เรื่องแต่ง พงศาวดาร ที่ผสมความคิด ความเชื่อ ความทรงจำ แบบแผนวิถีชีวิต ความมุ่งหวัง ความใฝ่ฝันปรารถนา ประสบการณ์ทางอารมณ์และความรู้สึก สถานการณ์ยากลำบากทางกายและทางศีลธรรม การพบเผชิญ การหลบหลีก และการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากลำบาก ประกอบเข้ามาในเรื่องราวที่เล่าโดยแฝงคติ คำสอน บทเรียน ค่านิยม ความบันเทิงชวนหัว ความโศกเศร้าชำระใจ รวมทั้งสัญลักษณ์สื่อความหมายที่ให้แง่คิดอย่างตรงไปตรงมา หรือให้อุปมานิทัศน์เชิญชวนให้คิด ให้ตีความให้เปรียบเทียบจากเรื่องที่เล่าที่ได้ฟังได้อ่าน ไปหาความเข้าใจที่ลึกซึ้งหรือกว้างไกลออกไป และสะสมไว้ในคลังภูมิปัญญารวมของชนหมู่นั้น สำหรับนำมาใช้กำหนดความเข้าใจตนเอง การเป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะ การตั้งเป้าหมายภารกิจ การตระหนักในพันธกิจและความรับผิดชอบในความสัมพันธ์ การกำหนดทัศนะท่าทีสำหรับจัดความหมายให้แก่สถานการณ์ที่เผชิญ การหาแนวทางตอบสนองหรือวางวิธีปลงใจรับกับความไม่แน่แปรเปลี่ยนทั้งหลายที่ธรรมชาติและสภาวะมนุษย์ส่งเข้ามาในหนทางต่างๆ กัน

เรื่องเล่าอาจมีการเปลี่ยนทางจากมหากาพย์ของ Homer มาเป็นงานเขียนประวัติศาสตร์ของ Herodotus (ประมาณ 484 BC-ประมาณ 425 BC) และ Thucydides (ประมาณ 460 BC-ประมาณ 400 BC) หรือการเทียบเคียงระหว่างลักษณะเด่นในประวัติศาสตร์นิพนธ์จากอารยธรรมกรีกโบราณของ Thucydides กับประวัติศาสตร์นิพนธ์จากอารยธรรมจีนโบราณของซือหม่า เชียน (Sima Qian, ประมาณ 145 BC-86 BC) คงพบความแตกต่างกันอยู่มาก และคงแตกต่างอย่างมากจากเรื่องเล่าและงานประวัติศาสตร์ในรุ่นหลังและร่วมสมัยอย่าง E. H. Carr และ A. J. P. Taylor หรือสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และสายชล วรรณรัตน์-สัตยานุรักษ์ แต่ในแง่การก่อเกิดผล การใช้เรื่องเล่าและการเล่าเรื่องให้ส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดของผู้คนเปลี่ยนบทบาทไปน้อยมาก การใช้เรื่องเล่าจากมหากาพย์ จากปกรณัมตำนาน จากเรื่องแต่ง หรือจากงานเขียนประวัติศาสตร์ที่เคร่งครัดกับวิธีวิทยามาจัดความเข้าใจ และใช้ความเข้าใจที่ได้นั้นเทียบเคียงไปหาคำสอน หาบทเรียน หาแนวทางและแนวคิด หาอุดมคติอุดมการณ์ ทั้งหมดนี้คือบทบาทของเรื่องเล่า ที่ให้การชี้แนะทั้งสำหรับตัวบุคคลและหมู่คณะ ในการแสวงหาและการค้นพบความเข้าใจตนเอง คนอื่น ความสัมพันธ์ สถานการณ์ และที่เกิดตามมาจากความเข้าใจนั้นก็คือความเชื่อมโยงระหว่างตัวตน วิธีคิดวินิจฉัย และการกระทำ (Kratochwil 1978, 58-62) ที่มนุษย์จะนำไปใช้รับมือกับความไม่แน่ที่แน่นอนของ chance

ในหนทาง 2 สายใหญ่นี้ สาขาวิชา IR หาทางเสนอความรู้สำหรับการจัดการกับ chance ในโลกอันไม่แน่ของการเมืองระหว่างประเทศก้ำกึ่งกันอยู่ทั้งในแนวทางศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ และแนวทางที่อาศัยเรื่องเล่าที่ประกอบอดีตขึ้นมาพิจารณาและใช้ประโยชน์ในรูปการณ์ต่างๆ กัน ความก้ำกึ่งกันนี้สะท้อนอยู่ชัดเจนในงานวิจัยเรื่องนี้ของอาจารย์พีระเช่นกัน อาจารย์พิจารณางานของ ‘ผู้เล่า’ หลายฝ่ายที่ประกอบอดีตอิงความทรงจำบ้าง อิงเอกสารหลักฐานบ้าง เพื่อนำเสนอความเข้าใจปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นกับการเจรจาหลังสงคราม และผลที่ตามมาจากการเจรจานั้น ขณะเดียวกันอาจารย์ก็ดึงความรู้ข้อค้นพบจากสาขาจิตวิทยาที่ศึกษาการรับรู้ที่บิดเบือนของมนุษย์ด้วยวิธีวิทยาแบบวิทยาศาสตร์ มาเปิดประเด็นกับการเก็บรับบทเรียนจากประวัติศาสตร์หรือการเทียบเคียงบทเรียนนั้นมาใช้ประโยชน์ในบริบทอื่น

พร้อมกันนั้น อาจารย์เสนอแนวทางศึกษาที่จะช่วยแสดงให้เห็นการส่งผลของปัจจัยที่มาจากความบังเอิญ ด้วยวิธีที่การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ก็ใช้กันทั่วไปแบบหนึ่งในการอนุมานหาข้อสรุป ตรวจสอบความเป็นไปได้อื่นๆ และพิจารณาน้ำหนักของข้อสันนิษฐานและปัจจัยตัวแปรที่อยู่ในข้อสันนิษฐานนั้น แต่วิธีการเดียวกันนี้เป็นวิธีที่นักประวัติศาสตร์หลายคนอาจไม่ชอบใจ นั่นคือแนวทาง counterfactual analysis หรือการวิเคราะห์แบบสอบทวนสวนทางข้อเท็จจริง ทางฝ่ายนักประวัติศาสตร์ ผู้ที่ไม่ชอบใจมี E. H. Carr และผู้ที่ได้รับอิทธิพลจากเขาเป็นต้น Carr เห็นว่าการคาดคะเนถึงเรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นแต่ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นกิจกรรมที่ไม่สู้จะมีประโยชน์อันใด ดังที่เขาเสนอไว้ใน What Is History? โดยยกการปฏิวัติบอลเชวิกมาเป็นตั้งประเด็นว่า การคิดแบบสมมุติว่า … ขึ้นมาแทนเรื่องที่เกิดขึ้นจริง เช่น สมมุติว่าถ้าการปฏิวัติรัสเซียจะไม่เกิดขึ้น อะไรจะเป็นไปแบบไหน เป็นการคิดที่ป่วยการเปล่า ยิ่งกว่านั้น Carr ยังสงสัยด้วยว่าพวกที่คิดอย่างนี้

… have suffered directly or vicariously from the results of the Bolshevik victory, or still fear its remote consequences, desire to register their protest against it; and this takes the form, when they read history, of letting their imagination run riot on all the more agreeable things that might have happened, and of being indignant with the historian who goes on quietly with his job of explaining what did happen and why their agreeable wish-dreams remain unfulfilled.” (127 – 128)

อันที่จริง แม้ข้อคิดของ Carr น่ารับฟัง แต่ในข้อโต้แย้งที่เขาเสนอ เขากำลังปะปน 2 เรื่องเข้าด้วยกัน คือการปกป้องงานเขียนประวัติศาสตร์การปฏิวัติรัสเซียของเขาจากคำวิจารณ์ของนักประวัติศาสตร์อีกกลุ่ม แล้วเลยทำให้เขาพลอยโจมตีวิธีการที่ใช้ counterfactual analysis แบบเหมารวมไปหมดว่าไม่เหมาะจะนำมาใช้ในการประกอบอดีตขึ้นมาศึกษาในทางประวัติศาสตร์

ตามแนวทางของ Carr (และผู้ที่ได้รับอิทธิพลจาก Carr) การที่ใครจะมาแย้งการเขียนประวัติศาสตร์สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไปแล้ว ด้วยการยื้อคืนกลับไปตั้งข้อสมมุติ What if …? เข้ามาแทน หรือมาตั้งคำถามความถูกผิดทางศีลธรรมหรือนิติธรรมเอากับผู้นำฝ่ายก้าวหน้าอย่างเลนินหรือสตาลิน ก็อาจจะถูกมองว่านี่เป็นการใช้วิธีคิดของพวกแก่ศีลธรรม โหยหาอดีต หรือหวาดกลัวการเปลี่ยนแปลง ดัง Carr เองก็คิดว่าพวกที่มาแย้งมาวิจารณ์งานประวัติศาสตร์รัสเซียสมัยปฏิวัติของเขาอย่าง Trevor-Roper และ Berlin เป็นพวกที่มองเห็นยุคทองว่าอยู่ในอดีตที่ผ่านเลยไปแล้ว ในขณะที่ Carr เห็นว่ายุคทองหรือความก้าวหน้าที่ดีกว่าปัจจุบันยังต้องมุ่งหวังและมองหาที่อนาคต อนึ่ง งานเขียน Fly and the Fly-Bottle: Encounters with British Intellectuals ของ Ved Metha (1962) เล่าเรื่องข้อถกเถียงอภิปรายในหมู่นักคิดปัญญาชนอังกฤษในระยะที่ Carr ผลิตงาน What Is History? ออกมาได้สนุกมาก

โดยเหตุที่งานวิจัยของอาจารย์พีระฯ ก้ำกึ่งอยู่ระหว่าง 2 แนวทางใหญ่ และหัวข้อการวิจัยการต่างประเทศไทยพาอาจารย์เข้าไปเกี่ยวพันกับปัญหาในประวัติศาสตร์การเมืองภายในไทย ที่การตีความแบบใดแบบหนึ่ง เพื่อรักษาสถานะของบุคคลคนใดคนหนึ่ง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นที่หวงแหนของ ‘นักเล่า’ บางกลุ่มบางคน ในขณะที่การใช้การวิเคราะห์แบบสอบทวนสวนทางข้อเท็จจริงและการให้ความสำคัญแก่ความบังเอิญมาเป็นปัจจัยสำคัญในการอธิบาย ก็อาจสร้างความสะดุดใจหรือข้อทักท้วงจากนักประวัติศาสตร์ ที่ยึดถือมติไม่หมุนทวนประวัติศาสตร์ไปหาการคาดคะเนของ Carr ข้างต้นเป็นสัจพจน์ จึงควรขยายความเรื่องนี้ต่อออกไปเล็กน้อย

ใน What Is History? ข้อโต้แย้งของ Carr ที่เขาค้านการคิดสมมติแบบหมุนทวนสวนทางต่างไปจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในกรณีประวัติศาสตร์การปฏิวัติรัสเซียนั้น ความจริงเป็นการแย้งที่เขาเองมีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ในนั้นอยู่มาก เหตุผลที่เขาเสนอจึงมิได้เป็นการให้หลักโดยทั่วไปในการเขียนประวัติศาสตร์ แต่เป็นการใช้หลักนั้นมาโต้แย้งกับพวกที่วิจารณ์งานเขียนประวัติศาสตร์ของเขาที่อธิบายการปฏิวัติบอลเชวิก และผลลัพธ์ที่ตามมา อันเป็นการเขียนประวัติศาสตร์ของ Carr ตามแนวทางที่ให้ความสำคัญแก่ fait accompli คือเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่อาจเป็นไปได้ ที่น่าจะเป็นหรือที่ไม่น่าจะเป็น ซึ่งเรื่องแบบนี้ Carr ว่าทำได้เพียงแค่การคาดคิดกันไป

เมื่อเขาเห็นว่ามีนักประวัติศาสตร์อีกพวกมาตั้งประเด็นทำนองว่า “Was the Russian Revolution inevitable?” คล้ายกับว่าประวัติศาสตร์นิพนธ์ของ Carr และการอธิบายเรื่องการปฏิวัติรัสเซียของเขาจัดอยู่ในจำพวกยึดถือลัทธิที่เชื่อว่าเส้นทางการเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ถูกกำหนดด้วยเหตุปัจจัยที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ (determinism) Carr เลยเสนอข้อโต้แย้งต่อปัญญาชนและนักประวัติศาสตร์ฝ่ายตรงข้ามเหล่านี้ และโจมตีความไร้ประโยชน์ของวิธีคิดแบบ ‘might-have-been school of thought’ ว่าเป็นสิ่งที่ควรขจัดออกไป “once and for all” พร้อมกับเสนอมติว่า การคิดคาดคะเนแบบตั้งข้อสมมุติเหตุการณ์สวนทางต่างไปจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ก่อประโยชน์อะไร และผลที่ได้ออกมาก็ไม่ได้สาระสำคัญเท่ากับการพิจารณาว่า ทำอย่างไรจึงจะแยกเหตุที่ไม่สำคัญ ที่เป็นเพียงอุบัติเหตุ เรื่องบังเอิญ หรือเหตุอันเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป เช่น ความเจ็บไข้ได้ป่วย การถึงแก่ความตาย การที่ขุนพลทหารเอกพึงพอใจในสตรีโฉมงาม ออกจากสาเหตุที่มีความสำคัญในการอธิบายเหตุการณ์และความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นได้ และสาเหตุที่สำคัญในความคิดของ Carr คือสาเหตุที่ให้ความเข้าใจหรือบทเรียนที่นำไปสู่การวางหลักทั่วไปที่ใช้ประโยชน์ต่อไปได้ เช่น ประโยชน์ในการปรับเปลี่ยนกฎหมายหรือกฎกติกาทางสังคมให้ทำงานรักษาสวัสดิภาพของคนทั่วไปได้ดีขึ้น หรือประโยชน์ที่จะได้ใจ Carr ยิ่งกว่านั้น คือ คำอธิบายและความรู้ที่สร้างสำนึกทางประวัติศาสตร์ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ความก้าวหน้าในสภาพสภาวะทางสังคม

แต่พอเป็นแบบนั้น เลยทำให้ Carr อาจไม่ทันได้พิจารณาว่า ในการจะเลี่ยงไม่เขียนอธิบายประวัติศาสตร์ออกมาในแบบ determinism การใช้ counterfactual analysis หรือการสอบทวนสวนทางกับผลลัพธ์ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพื่อพิจารณาเหตุหรือเหตุการณ์ที่อาจส่งผลต่างออกไปจากที่เกิดขึ้นจริงๆ เป็นวิธีการที่มีประโยชน์อยู่มาก เพราะถ้าจะไม่อธิบายประวัติศาสตร์แบบ determinism ก็ต้องรับว่าเหตุปัจจัยที่ชุมนุมรอส่งผลอยู่ในสนามให้ความเป็นไปได้หลากหลายแบบ ไม่จำเป็นว่าผลจะต้องเป็นไปอย่างที่เกิดขึ้น แต่เมื่อผลเกิดขึ้นอย่างที่เกิดไปแล้ว ในการอธิบาย ถ้าหากจะอธิบายความเป็นไปในประวัติศาสตร์ที่ไม่ยึดแบบ determinism อย่างน้อยที่สุด ผู้ศึกษาและในการศึกษาก็ต้องตั้งคำถามขึ้นมาพิจารณาด้วยว่า สิ่งที่เป็นไปได้ หรือผลอีกทาง หรืออีกหลายทางที่เป็นไปได้ จากเหตุปัจจัยที่ชุมชนส่งผลต่อความเป็นไปได้เหล่านั้นอยู่ ทำไมจึงไม่เกิดขึ้น หรือมีอะไรเข้ามาเป็นเหตุสกัดไว้

นอกจากนั้น John Lewis Gaddis (2004) นักประวัติศาสตร์สงครามเย็นยังเสนอในThe Landscape of History: How Historians Map the Past ว่า การสอบทวนสวนทางข้อเท็จจริงในเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเครื่องมือหนึ่งที่นักประวัติศาสตร์ใช้กันเสมอในการวินิจฉัยแยกเหตุปัจจัยที่สำคัญออกจากเหตุปัจจัยที่ไม่สำคัญ ถ้าหากสิ่งที่ Carr ต้องการสำหรับการเขียนประวัติศาสตร์คือการค้นพบ ‘a coherent sequence of cause and effect’ ที่สำคัญ และถ้าหาก Carr ไม่ได้ยึดถือ historical determinism ตามที่บอกใครๆ จริง Gaddis ว่าเขาก็ไม่เห็นว่าจะเป็น ‘wishful thinking’ อย่างที่ Carr ว่าตรงไหนเลยในการนำวิธีวิเคราะห์แบบ counterfactual มาใช้ช่วยเปรียบเทียบเส้นทางที่เลือกกับเส้นทางที่ไม่ได้เลือก เทียบการตัดสินใจทำอย่างหนึ่งตามที่เกิดขึ้นกับการพิจารณาว่าถ้าตัดสินใจไปอีกแบบหนึ่ง ผลที่เกิดขึ้นจะต่างไปอย่างไร หรือในการประเมินความสำคัญของบริบท ที่แม้ว่าบริบทจะมิใช่สาเหตุที่ก่อให้เกิดการกระทำหรือการตัดสินใจในเหตุการณ์นั้นโดยตรง แต่บริบทมีผลต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นได้มาก การตัดสินใจหรือการกระทำแบบเดียวกันไม่ว่าจะมาจากสาเหตุหลักผลักดันอย่างไรก็ตามแต่ แต่ถ้าการกระทำนั้นเกิดขึ้นในบริบทที่ต่างกัน ผลที่เกิดก็มีทางที่จะแตกต่างกันไปได้มาก การใช้ counterfactual analysis มาช่วยจะให้ข้อเปรียบเทียบที่แสดงให้เห็นการทำงานของเงื่อนไขจำเป็นที่ต้องปรากฎ กับเงื่อนไขหรือเหตุอันเพียงพอที่จะทำให้เกิดผลดังว่าขึ้นมาได้ ว่าบริบทไหนมีหรือไม่มีปัจจัยทั้ง 2 ทำงานอยู่ด้วยกัน และก่อผลแตกต่างกันเพียงใด

เมื่อคำนึงว่า Gaddis เป็นนักประวัติศาสตร์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับวงวิชาการ IR ในสหรัฐฯ มาต่อเนื่องและเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญยุทธศาสตร์สงครามเย็น การอ้าง authority ของ Gaddis มาเทียบกับ Carr ก็น่าพอจะช่วยโน้มใจใครแถวๆ นี้ ให้ลดข้อขัดข้องลงไปได้บ้างกระมัง เมื่อเห็นมีคนนำ counterfactual analysis มาใช้เป็นเครื่องมือตั้งประเด็นวิเคราะห์ วางแนวทางการอธิบาย และเปิดอภิปรายเกี่ยวกับ causation ในงานวิชาการ ควรกล่าวด้วยว่า อาจารย์พีระได้เขียนตีกรอบอย่างเคร่งครัดในการใช้การสอบทวนสวนทางข้อเท็จจริงมาเป็นวิธีวิเคราะห์ และสอดคล้องกับหลักที่ Gaddis วางไว้เหมือนกันว่าในการใช้การสอบทวนสวนทางข้อเท็จจริงพึงคำนึงถึงอะไร เพื่อป้องกันมิให้วิธีนี้กลายเป็น wishful thinking  

นอกจากเรื่องแนวทางและวิธีการใช้การสืบทวนสวนทางข้อเท็จจริงเพื่อพิเคราะห์ความเป็นไปได้ของผลลัพธ์ในแบบอื่นๆ เทียบเคียงกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงแล้ว ข้อเสนอเปรียบเทียบของ Gaddis จากงาน The Landscape of History เล่มเดียวกันยังอาจช่วยเราไขปัญหาวิธีศึกษาความบังเอิญที่สร้างปาฏิหาริย์ได้อีกเช่นกัน Gaddis เปรียบเทียบว่า การประกอบอดีตขึ้นมาศึกษาในงานทางรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กับที่พบในงานประวัติศาสตร์ เสนอทางอธิบายกลับทางกัน ฝ่ายรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประกอบอดีตขึ้นมาเพื่อศึกษา เหตุ หรือปัจจัยที่เรียกว่าตัวแปรต้น โดยมองเป็นตัวแปรอิสระ และดูว่าปัจจัยดังกล่าว จะใช้อธิบายอะไรได้บ้าง แล้วหาทางทำให้ตัวแปรอิสระในทฤษฎีที่ตนยึดถืออยู่อธิบายได้ดี ถ้าหากคาดการณ์ได้แม่นตรงด้วย ก็ยิ่งดี แต่ฝ่ายประวัติศาสตร์ ประกอบอดีตขึ้นมาเพื่อมุ่งเสนอคำอธิบายไปที่ ผล และไม่เชื่อว่าจะมีตัวแปรใดเป็นตัวแปร ‘อิสระ’ การทำงานส่งผลของเหตุต่างๆ ต่างขึ้นต่อกัน แล้วแต่ว่าเหตุปัจจัยที่มาประชุมครบองค์กันในจังหวะนั้นทำงานแบบไหน และผู้กระทำการจะเข้าไปกระทำการแบบไหนกับการประชุมของเหตุปัจจัยในเงื่อนไขแบบนั้น

ตามแนวทางข้างต้น การศึกษาในแนวทางที่เน้น ความบังเอิญ เป็นเหตุ ทำให้ต้องถามต่อไปว่าคือ เหตุบังเอิญไหนที่สำคัญ และถ้าจัดแยกออกมาพิจารณาได้ เราเห็นแบบแผนความสัมพันธ์เชิงเหตุ ➔ ผล ที่สามารถอธิบายเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นได้หรือไม่ ที่ทำให้ผลลัพธ์การเจรจาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นไปตามแบบแผนที่จัดคำอธิบายให้ได้ คาดการณ์ได้ และมีแบบแผนความสัมพันธ์ที่นำไปศึกษาต่อไปได้  

ในการค้นหาคัดแยกความบังเอิญที่ความสำคัญในการส่งผลต่อผลลัพธ์การเจรจา การใช้วิธีคิดแบบสอบทวนสวนทางข้อเท็จจริงเป็นประโยชน์ตรงนี้ เพราะโดยวิธีการนี้ ทำให้เราย้อนพิจารณาและดึงปัจจัยที่วางเงื่อนไขในสถานการณ์และเปิดทางเลือกและความเป็นไปได้สำหรับผู้เจรจาแต่ละฝ่ายในเวลานั้นขึ้นมาทดสอบความบังเอิญในแต่ละจุด ว่าในระหว่างที่การเจรจาดำเนินไป ความบังเอิญตรงจุดไหนแน่ ที่เป็นเหตุสำคัญก่อผลพลิกความคาดหมายดังมีปาฏิหาริย์เช่นที่เกิดขึ้น  

ถ้ามีแต่การบังเอิญที่ผู้ตัดสินใจฝ่ายไทยมีความขัดแย้งขึ้นมา และส่งผลให้เกิดการถ่วงเวลาไม่ยอมลงนามในข้อตกลงตามเงื่อนไขที่อังกฤษเสนอ และการบังเอิญที่ตัวแทนเจรจาฝ่ายอังกฤษเลื่อนการประชุมออกไปเพราะมีธุระอื่นให้ต้องจัดการ ทำให้วันกำหนดที่ไทยจะต้องลงนามรับสภาพถูกเลื่อนออกไป ลำพังแต่ความบังเอิญ 2 ข้อนี้ คงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงอะไรหลังจากที่ผู้เจรจาฝ่ายอังกฤษกลับมา การลงนามรับสภาพตามเงื่อนไขทุกประการที่อังกฤษเสนอก็คงจะเป็นไปเช่นนั้น เพราะปัจจัยที่วางเงื่อนไขสถานการณ์และทางเลือกที่เปิดให้ในเวลานั้นมิได้มีอะไรที่จะขวางการจัดการของอังกฤษได้ และการบังเอิญ 2 ข้อข้างต้น ก็ไม่อาจจัดว่าเป็น ‘การบังเอิญ’ ได้อีกต่อไป กลายเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ ที่ทำให้การลงนามเลื่อนเวลาออกไปอีกนิดหน่อยเท่านั้น แต่สิ่งที่ทำให้เรื่องเล็กๆ เกี่ยวกับเวลาที่เนิ่นช้าไปนี้กลับมามีความหมายกลายเป็นบังเอิญขึ้นมาได้ ก็เพราะการแทรกแซงที่มาจากสหรัฐฯ จรเข้ามาในจังหวะสุกดิบเข้าด้ายเข้าเข็มตรงนั้นพอดี ที่ทำให้การถ่วงเวลาไม่ลงนาม การเลื่อนนัดหมายออกไปอีกวันสองวัน มีความหมายขึ้นมาอย่างมาก

เมื่อพิจารณาย้อนทวนสวนทางตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ที่เป็นไปได้ ที่น่าจะเป็นออกมาอย่างนี้แล้ว เราก็จะพบว่าการบังเอิญที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้การดำเนินการฝ่ายไทย-ฝ่ายอังกฤษที่ได้ทำไปแล้วในระหว่างการเจรจามีความหมายในทางบังเอิญขึ้นมา ก็คือการบังเอิญที่ท่ามกลางเรื่องราวร้อยแปดหลังสงครามโลกที่วิ่งเข้ามาให้สหรัฐฯ พิจารณาและชิงความสนใจ สหรัฐฯ เกิดสนใจ ใส่ใจและตัดสินใจเข้ามาแทรกแซงการเจรจาระหว่างอังกฤษกับไทย เมื่อได้ปัจจัยนี้มาเป็นเหตุ การอธิบายการทำงานของ เหตุกับผลลัพธ์ ก็สามารถจัดเหตุผลออกมาอธิบายได้ และทำให้เรายังพบแบบแผนความสัมพันธ์ ที่จะนำไปติดตามศึกษาความแน่ชัดต่อไป กล่าวคือ ในส่วนที่เป็นเหตุ ได้แก่ การออกแรงผลักดันของจอมพลังอย่างสหรัฐฯ ต่อประเทศพันธมิตรอย่างอังกฤษ ในส่วนที่เป็นผลลัพธ์ ได้แก่ การที่อังกฤษยอมปรับเงื่อนไขในข้อตกลงสถานะหลังสงครามกับไทยใหม่ให้เบาขึ้น ไม่ถึงกับจะวางข้อกำหนดที่สร้างผลกระทบกระเทือนต่อเอกราชอธิปไตยของไทยจนหมดทุกส่วน 

คำอธิบายให้เหตุผลแก่เหตุการณ์เรื่องนี้ทำให้เห็นได้ว่า ผลลัพธ์นั้นความจริงมิใช่เรื่องบังเอิญหรือเป็นปาฏิหาริย์อะไรสำหรับประเทศผู้เกี่ยวข้องในการตัดสินใจ 2 ฝ่าย คือฝ่ายสหรัฐฯ ที่เป็นเหตุ กับฝ่ายอังกฤษ ที่เป็นผล

เพราะ :

การออกแรงผลักดันของสหรัฐฯ ต่ออังกฤษ (1) ในเรื่องที่มิใช่เป็นผลประโยชน์สำคัญโดยตรงต่อสถานะ (ของเจ้าจักรวรรดิ) และผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของอังกฤษในเวลานั้น (2)  และการผลักดันนี้เกิดขึ้นในระยะเวลาหลังสงครามโลกที่อังกฤษรู้อย่างแน่ชัดโดยไม่มีอะไรให้ต้องมองหาความบังเอิญ ว่าฐานะอำนาจของอังกฤษหลังสงครามจำเป็นต้องพึ่งพาและได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในทุกทาง (3)

ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 3 ประการนี้ การที่อังกฤษยอมโอนอ่อนผ่อนปรนตามข้อเสนอของสหรัฐฯ ในการทำความตกลงหลังสงครามกับไทย จึงเป็นเรื่องที่อธิบายอย่างสมเหตุสมผลได้ นอกจากนั้น ผลลัพธ์ตามที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ ยังนำไปพิจารณาเป็นส่วนย่อยส่วนหนึ่งในการศึกษาแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอังกฤษที่อยู่ในรูปของ special relationship ในการจัดระเบียบความมั่นคงและการดำเนินยุทธศาสตร์โลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเมื่อเกิดสงครามเย็นขึ้นในเวลาต่อมาได้อีก กรณีศึกษาในงานวิจัยของอาจารย์พีระฯ เท่ากับได้เสนอข้อสังเกตให้ติดตามแบบแผนความสัมพันธ์ของ special relationship ต่อไปว่า การโอนอ่อนผ่อนปรนของอังกฤษตามความต้องการของสหรัฐฯ ในการจัดระเบียบระหว่างประเทศ น่าจะเป็นหนึ่งในลักษณะสำคัญของความสัมพันธ์ดังกล่าว

เมื่อกล่าวถึงแนวทางการศึกษาในฝั่งของเหตุไปแล้ว ยังเหลือทางพิเคราะห์ของ Gaddis อีกฝั่งหนึ่ง นั่นคือการศึกษาจากผล  ซึ่งในการศึกษาความบังเอิญที่สร้างปาฏิหาริย์ในฝั่งที่เป็นผล สำหรับเรื่องนี้คือ ศึกษาโดยพิจารณาการรับรู้เข้าใจของไทยเป็นตัวตั้ง เพราะปัญหาและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นปาฏิหาริย์สำหรับฝ่ายไทย ไม่ใช่ใครอื่น

งานเขียนประกอบอดีตขึ้นมาร้อยเรียงเพื่อเล่าเรื่องปาฏิหาริย์ ความสำเร็จอันไม่คาดคิด การหลุดพ้นจากความรับผิดชอบต่อการประกาศสงครามที่รัฐบาลก่อนได้ทำไป การประกาศสันติภาพ บทบาทของเสรีไทย การเจรจาหลังสงคราม ฯลฯ เรื่องราวทั้งหมดเหล่านี้ถูกจัดออกมาเล่าโดยผู้เล่าต่างฝ่าย คัดเลือกเหตุปัจจัยในสถานการณ์มานำเสนอเพื่อแสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ในฝั่งไทยและในฝ่ายไทย ใครดำเนินการอะไรอย่างไร ใครสร้างปัญหา ใครคือตัวปัญหา ใครพยายามแก้ปัญหา และแก้ได้สำเร็จตรงไหน เพราะตัดสินใจทำอะไร ดำเนินการแบบไหน เรื่องเล่าทั้งหมดผูกโยงกับบทบาทตัวแสดงฝ่ายไทย ตั้งแต่ระดับบนสุดที่ทำหน้าที่ผู้แทนพระองค์ลงมาจนถึงระดับผู้

ปฏิบัติการตามนโยบาย ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในท้องที่ท้องถิ่น และประชาชนคนไทยทั้งหมด

เรื่องเล่าเกี่ยวกับเรื่องราวในยามที่ประเทศชาติบ้านเมืองตกอยู่ในคราวคับขันแบบนี้ ในที่สุดแล้วก็เข้าทำหน้าที่อันเก่าแก่ของมัน นั่นคือ การสร้างความเข้าใจตัวตน การให้วิธีคิดวินิจฉัยให้มุมมองต่อโลก และให้ความหมายแก่การกระทำ ทั้งสิ่งที่ทำ สิ่งที่ไม่ได้ทำ และสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ

แต่คุณภาพของเรื่องเล่า และความสามารถที่จะเก็บรับความเข้าใจตัวตน วิธีคิดวินิจฉัย และการกระทำอันเหมาะสมจากเรื่องเล่า มีอยู่ไม่เท่ากัน และไม่มีเรื่องเล่าใดดำรงพลังอยู่สถาวร เรื่องเล่าที่เคยดาลใจชวนให้คิดถึงดินแดนที่เสียไป ให้ภาคภูมิใจในความกล้าหาญและเสียสละของทหารหาญ ณ ชัยสมรภูมิ แต่พอตกมาถึงมือนักประกอบอดีตในรุ่นต่อมา ความหมายของการเสียดินแดนและการได้ดินแดนในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็แปรเปลี่ยนไป การเจรจาหลังสงครามโลกระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเกี่ยวกับดินแดนริมฝั่งแม่น้ำโขงที่เคยเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายทุกค่ายการเมืองในเวลานั้นหาทางทุ่มเทช่วยกัน ก็เป็นอันต้องเก็บพับม้วนขึ้นไปอยู่บนหิ้งในหอจดหมายเหตุ เพราะมันไม่เข้ากับเรื่องที่อยากจะเล่าเพื่อสร้างพลังหนุนการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ที่ต้องด้อยค่าฝ่ายหนึ่งลง โยนความผิดชวนหัวไปให้อีกฝ่าย กลับความหมายที่สมัยคณะราษฎรเคยสร้างความภูมิใจให้ชาติ ลดมาเป็นชาตินิยมราคาถูก การประกอบอดีตออกมาเล่า ออกมารื้อ-สร้างตัวตน ออกมาประจุวิธีคิดเปลี่ยนทางวินิจฉัยให้มุมมอง จึงมีซากที่ถูกฉีกรื้อจากรุ่นก่อนๆ วางเรียงให้พิจารณาเต็มไปหมดสำหรับเก็บรับ ‘บทเรียน’ จาก ‘ประวัติศาสตร์’ ที่อาจได้แก่ การปลงในความไม่แน่-แล้วแต่ว่า    

ในบริบทนี้ มีความเห็น 2 ทางที่แสดงความมุ่งหมายของงานวิจัยของอาจารย์พีระฯ เหมาะจะนำมาปิดท้ายบทความ ทางหนึ่งได้แก่ความเห็นของ Daniel Kahneman ที่อาจารย์พีระฯ (2566, 7) อ้างไว้ไว้ในบทต้นของหนังสือ ขอคัดมาลงให้พิจารณาดังนี้

จิตใจของมนุษย์จัดการกับเหตุการณ์ที่ไม่ได้ถูกเล่าออกมาไม่ค่อยดีนัก ข้อเท็จจริงที่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการเลือกต่าง ๆ เย้ายวนให้พวกท่านอวดโอ่บทบาทของทักษะ และดูเบาส่วนที่ว่า โชคมีส่วนสำคัญต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เมื่อการตัดสินใจทุกข้อมีผลลัพธ์ออกมาดี บันทึกของเรื่องราวนั้นก็เลยแสดงให้เห็นถึงความหยั่งรู้อย่างไร้ที่ติ แต่ทว่า ความโชคร้ายก็อาจเปลี่ยนแปลงขั้นตอนของความสำเร็จนั้นได้

ในบทสรุปลงท้ายของงานวิจัย อาจารย์พีระฯ (2566, 239 – 241) ได้วางคำเตือนในเรื่องนี้ว่า

แม้ว่าการเรียนรู้จาก [การประกอบอดีต] จะเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุนก็ตามที แต่การหยิบบทเรียนประวัติศาสตร์มาใช้ในฐานะอุปลักษณ์หรืออุปมาทางประวัติศาสตร์นั้นมักเป็นการหยิบยกอย่างฉาบฉวย มากกว่าการทำความเข้าใจเงื่อนไขและบริบททางประวัติศาสตร์ กล่าวถึงที่สุดก็คือ อุปลักษณ์ที่ถูกยกขึ้นมานั้นมักเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ถูกลดทอนความซับซ้อนลงแล้ว ซึ่งสร้างความเข้าใจที่ง่ายต่อผู้ใช้ประวัติศาสตร์ แต่ความเข้าใจง่ายเกี่ยวกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ อาจมีความคลาดเคลื่อน ซึ่งความคลาดเคลื่อนที่ว่านั้นอาจส่งผลเสียได้ หากถูกนำมาประกอบการตัดสินใจ … นอกจากนั้น เราเองก็ไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่าผลลัพธ์จากการตัดสินใจของเรานั้นจะเป็นไปในรูปแบบใด

 ใครที่คิดว่ารู้ ขอให้ท่านโชคดีมีพลังหนุนของกงล้อประวัติศาสตร์ เพราะเมื่อได้ประวัติศาสตร์มาเป็นพลังหนุนแล้ว ปาฏิหาริย์ก็คงไม่จำเป็นอีกต่อไป

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save