fbpx

ร่าง พ.ร.บ. ภาพยนตร์และเกมฉบับใหม่ ภายใต้กรอบ ‘ศีลธรรมอันดี’ : ชลิดา เอื้อบำรุงจิต

ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประเด็นว่าด้วย ร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์และเกม พ.ศ. …. เป็นหนึ่งในหัวข้อที่คนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และเกมในไทยถกเถียงกันหนาหู ภายหลังการเข้าร่วมการประชุมถึงแนวทางแก้ไข พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 และลงเอยที่การจบการประชุมกันภายในครึ่งวัน จากกำหนดการเดิมที่เป็นการประชุมเต็มวัน

กล่าวโดยย่นย่อ ลำพัง พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ก็มีปัญหาในตัวเองอยู่แล้วในแง่ความล้าสมัย -ยิ่งกับโลกของการสตรีมมิ่งภาพยนตร์และเกม กฎหมายที่ยัง ‘เห็นภาพ’ เป็นวิดีโอเทปยิ่งดูล่าช้า- ยังไม่ต้องพูดถึงท่าทีของการควบคุมทั้งที่ผ่านตัวระบบและทั้งที่มาในกรอบของ ‘ศีลธรรมอันดี’ และเพื่อจะอุดรูรั่วดังกล่าว กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมจึงเสนอร่าง พ.ร.บ. ภาพยนตร์และเกม หากแต่กลับกลายเป็นว่า นี่ดูจะเป็นการแก้อันแสนผิดฝาผิดตัว เมื่อรูรั่วจากกฎหมายฉบับเดิมยังอยู่ ซ้ำให้หนักด้วยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการส่งภาพยนตร์ไปพิจารณาเรตติ้งแพงขึ้นกว่าเดิม คนที่เลี่ยงผลกระทบไม่ได้เลยคือคนทำหนัง -โดยเฉพาะคนทำหนังตัวเล็กตัวน้อยหรือไม่มีทุนรอนมากนัก- ที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้

อย่างนั้นแล้ว กฎหมายที่ว่าด้วยอุตสาหกรรมภาพยนตร์และเกมนั้นควรมีหน้าตาแบบไหน รัฐควรพินิจประเด็นนี้อย่างไรในโลกที่อุตสาหกรรมไหลเลื่อน เปลี่ยนผ่านชนิดปีต่อปี

101 ชวนสนทนากับ ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ในฐานะที่เธอเป็นหนึ่งในคนที่เข้าร่วมการประชุมแก้ไข พ.ร.บ. แทบทุกร่าง และเป็นประจักษ์พยานการเปลี่ยนผ่านกฎหมาย

หลายคนวิจารณ์ว่าหนึ่งในแผลใหญ่ของร่าง พ.ร.บ. ภาพยนตร์และเกมฉบับนี้อยู่ที่การเก็บค่าธรรมเนียมที่แพงขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อคนทำหนัง

มันอาจจะเป็นสิ่งที่เห็นชัดที่สุดของร่างล่าสุดนี้ จริงๆ พ.ร.บ. ปี 2551 ก็ได้รับคำวิจารณ์ตลอด  ตั้งแต่เริ่มประกาศใช้ พูดกันว่าต้องมีการแก้ไขกฎหมาย กระทรวงวัฒนธรรม ก็รู้ว่ามันมีปัญหาในเชิงการปฏิบัติด้วย แล้วคนในกระทรวงฯ หรือกรมส่งเสริมที่ร่วมแก้กฎหมายนี่อบางคนก็เกษียณไปแล้ว เรายังคิดอยู่เลยว่ามันช่างยาวนานเหลือเกิน (หัวเราะ) รัฐมนตรีเองก็ผ่านไปหลายท่าน กระบวนการที่จะพูดว่าจะแก้ไขและถามคิดเห็น จึงดูเหมือนเกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งมีคนให้ความเห็นเยอะมาก แต่พอเอามาแก้กลับแก้กฎหมายได้ยาก 

หลังๆ เราเริ่มมีความเข้าใจเรื่องกฎหมายมากขึ้น จุดใหญ่จะอยู่ที่เจตนารมณ์ของกฎหมายวางมาไว้เช่นไร การจะแก้ อย่างมากก็ไปแก้รายละเอียดปลีกย่อย เช่นเรื่องค่าธรรมเนียมหรืออะไรต่างๆ แต่ไม่ได้ไปแก้หลักใหญ่ใจความที่ตั้งไว้ได้

เจตนารมณ์ที่ว่าคืออะไร

ต้องเท้าความไปถึงเชิงประวัติศาสตร์ไปถึงปี 2473 เลย บางอย่างก็เกิดขึ้นเพราะธรรมชาติของสื่อเวลานั้นด้วย กล่าวคือตอนนั้นเพิ่งมีหนังเข้ามาฉาย ไม่ได้มีสื่อมากมาย  จากที่มีหนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์ว่า ‘ภาพยนตร์เป็นโรงเรียนสอนโจร’ คือเราเห็นวิธีขโมยของอะไรต่อมิอะไรได้จากหนัง แต่ก็มีคนโต้แย้งนะว่า ถ้าภาพยนตร์เป็นโรงเรียนสอนโจร มันก็เป็นโรงเรียนสอนตำรวจจับโจรได้เหมือนกัน (หัวเราะ) ผู้ปกครองบ้านเมืองในเวลานั้นก็อาจคิดว่าในฐานะผู้ปกครอง เขาก็ต้องดูแลประชาชน

ดังนั้น พรบ.ภาพยนตร์ 2473 จึงพูดเรื่องกว้างๆว่า การทำหรือการฉาย ต้องมีการตรวจพิจารณา ถ้าคิดว่าหนังอาจจะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ก็ห้ามฉายไปเลย ถ้าเราไปอ่านพระราชบัญญัติ จะเห็นว่าเขียนค่อนข้างกินความกว้าง ขึ้นอยู่กับวิจารญาณของผู้พิจารณา และไม่ได้ระบุอัตราค่าบริการ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องออกกฎหมายย่อยเพื่อให้เกิดแนวทางการปฏิบัติ

ส่วนตัวเรารู้สึกว่ากฎหมายควรเป็นเรื่องของแนวคิดมากกว่าเรื่องรายละเอียด เพราะเมื่อลงรายละเอียดยิบย่อยมาก เวลาแก้ไขจึงแก้ยาก เพราะต้องผ่านหลายขั้นตอน แล้วทำให้กระบวนการช้ามาก ทั้งที่บางเรื่องควรตัดสินใจให้เร็ว ขณะที่ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นก็ไม่ได้มากมายเสียจนเจ้าหน้าที่ที่อยู่ระดับกลางๆ จะตัดสินใจไม่ได้ นี่จึงเป็นเรื่องเจตนารมณ์ของกฎหมายตั้งแต่ปี 2473 ซึ่งมีมาเพื่อควบคุม และมีคำว่า ‘ศีลธรรมอันดี’  

แล้วต่อมาก็เป็นยุควิดีโอ เกิด พ.ร.บ. ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 เนื่องจากมีเรื่องเกี่ยวกับเรื่องร้านเช่าวิดีโอต่างๆที่นอกเหนือจาก พ.ร.บ.ภาพยนตร์ และกฎหมายนี้เป็นที่มาของค่าธรรมเนียมต่างที่ระบุไว้กฎหมาย ต่อมาเมื่อมีการรณรงค์ให้เกิดการแก้กฎหมาย ผลที่ได้ก็คือ พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นการเอากฎหมายปี 2473 มารวมกับปี 2530 ซึ่งก็มีคนทักท้วงเรื่องคำนิยาม ระหว่างภาพยนตร์และวิดีทัศน์ และในที่สุด วีดิทัศน์ก็จำกัดความว่า เกมส์ และคาราโอเกะ แล้วคิดดูว่าตอนนั้นยังไม่ได้มีสื่อหลากหลายมากมายเท่าทุกวันนี้  มันฝาผิดตัวเลย บางอย่างก็ทับซ้อนกันด้วย สมมติว่าหนังเรื่องหนึ่งที่จะต้องฉายโรงถูกเซ็นเซอร์ตั้งแต่ตอนฉายโรงเป็นฟิล์มไปแล้ว แต่พอจะไปออกวิดีโอหรือแผ่นซีดี ก็ต้องไปเซ็นเซอร์ใหม่อีกรอบ เพราะเป็นคนละสื่อกัน กฎหมายมารวมกันเหมือนเอาเนื้อความมาชนๆ กันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อกฎหมายปี 2551 ออกมาก็มีส่วนที่ระบุเรื่องการถ่ายหนังมาด้วย ซึ่งการถ่ายหนังมันก็มีอีกเป้าหมายหนึ่ง คุมตั้งแต่กระบวนการบท คือไม่อยากให้ขัดศีลธรรมอันดีตั้งแต่บทเลย  แต่พร้อมกันนี้เราว่ามันก็มีลักษณะขัดแย้งในตัวเองนะ เพราะในเวลาเดียวกัน ประเทศไทยก็คาดหวังเงินจากต่างประเทศที่จะเข้ามาถ่ายหนัง ด้วยความเชื่อว่าการที่พวกเขามาถ่ายหนังในบ้านเราจะเป็นการส่งเสริมประเทศ แต่กฎหมายที่ควบคุมกลับดูแน่นหนา แล้วทุกอย่างอยู่ที่ดุลยพินิจเยอะมาก ผู้คนที่มาใช้ดุลยพินิจนั้นก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน หรือบางคนก็ไม่ผลัดเปลี่ยนเลย มันจึงมีทั้งความแย่ที่เกิดจากการที่คนไม่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเลย กับความแย่ที่เกิดจากการต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะคนเหล่านั้นอาจไม่ได้เข้าใจประเด็นเหล่านี้อย่างลึกซึ้ง แต่ใดๆ ก็ตาม สิ่งนี้ทำให้ต้องตั้งคำถามว่ากฎระเบียบมี accountability แค่ไหน เหมือนถ้าเราคิดว่ากฎหมายมีขึ้นเพื่อให้ทุกอย่างอยู่บนบรรทัดฐานเดียวกัน ทุกคนจะถูกปฏิบัติเหมือนกัน แต่บางครั้งเมื่อเห็นผลลัพธ์ เราก็จะสงสัยว่า เหรอ (หัวเราะ) เราอยู่บนบรรทัดฐานเดียวกันหรือเปล่า

อย่างร่างฯ ล่าสุด หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่ามันมีน้ำเสียงควบคุมมากกว่าสนับสนุน หรือมีท่าทีของความไม่เข้าใจอุตสาหกรรมจากภาครัฐไม่น้อยไปกว่า พ.ร.บ. ฉบับเก่า มองเรื่องนี้อย่างไร

คนบ่น พ.ร.บ. ฉบับปี 2551 มากมายและสิ่งที่คนบ่นก็ไม่ได้รับการแก้ไขในร่างฯ ฉบับนี้ 

จริงๆ มันมีร่างฯ หลายฉบับก่อนมาถึงฉบับที่เพิ่งพิจารณากันนี้ ที่มาของ พ.ร.บ. ภาพยนตร์และเกมนี่มันมีวิวัฒนาการ (evolve) มาหลายรอบมาก อย่างเช่น พ.ร.บ. ปี 2551 มันเกิดจากการเอาเทปและวัสดุมารวมกัน และมีการนิยามใหม่ว่าภาพยนตร์หมายถึงภาพยนตร์ หมายถึงหนัง และคำว่าวิดีทัศน์หมายถึงเกม ซึ่งเราเถียงตลอดเวลาว่าไม่ใช่ค่ะ วิดีทัศน์ไม่ได้หมายถึงเกม (หัวเราะ) และเมื่อมาถึงร่าง พ.ร.บ. ภาพยนตร์และเกมฉบับนี้ เลยต้องลากเอาคำว่าวิดีทัศน์มาด้วย และเมื่อทุกคนด่าว่าวิดีทัศน์ไม่ใช่เกม เขาเลยต้องเปลี่ยนมาเป็นคำว่าเกมแทน ซึ่งก็ยุ่งไปใหญ่เพราะเกมมีหลายแบบ แต่ที่เขาเขียนในนี้ยังเป็นเกมตลับอยู่เลย ถามว่าใครยังเล่นเกมตลับอยู่อีก (หัวเราะ) 

เราว่ามันก็น่าอายและเห็นใจคนที่ร่าง พ.ร.บ. คือกรมส่งเสริมวัฒนธรรมเขาก็ต้องเป็นเจ้าภาพ ดูแลเรื่องการเซ็นเซอร์ด้วยเพราะสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ก็อยู่ในกรมส่งเสริมฯ ฉะนั้น เขาจึงต้องรับหน้าไปโดยปริยาย ด้านหนึ่งเราจึงเห็นใจเขาด้วย

ทั้งนี้ เราคิดว่า พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ควรยกเลิกไปหากคิดที่จะส่งเสริมภาพยนตร์อย่างจริงจัง  อันที่จริงภาครัฐก็มีหน่วยงานหนึ่งที่ตั้งขึ้นมาเพื่อพยายามแก้กฎหมายที่ล้าหลัง จึงมีคำขึ้นมาหนึ่งคำคือ กิโยตินกฎหมาย หมายถึงให้ยกเลิกกฎหมายล้าสมัย หรือเป็นภาระกับประชาชน  ประชาชนสามารถไปแสดงความคิดเห็นได้นะว่ากฎหมายไหนที่เราคิดว่าล้าสมัยแล้วภาครัฐจะรับฟัง 

และเราว่า พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์อาจจะเข้าข่ายนี้ เพราะคำนิยามมันเปลี่ยนไปมากจนกลายเป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่ควรจะเป็น เมื่อมันจะใช้ไม่ได้ต่อไป คือถ้าจะมี พ.ร.บ. ก็ต้องทำให้มันปฏิบัติได้จริงด้วยสิ 

พ.ร.บ. พวกนี้มันปฏิบัติจริงไม่ได้ เมื่อคุณมีกฎหมายที่ปฏิบัติไม่ได้ก็เป็นภาระทั้งต่อประชาชนที่เกี่ยวข้อง stakeholder (ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย) ที่เกี่ยวข้องและเจ้าหน้าที่รัฐเอง คือถ้าเราเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เราคงกลุ้มใจอยู่นะ เพราะรู้ว่าบางเรื่องก็ไม่ควรทำแบบนี้แล้ว รู้ว่าประชาชนจะด่าเอา เช่น กฎหมายยังเขียนว่าให้ลงลายมือชื่อ (หัวเราะ) คือกฎหมายเขียนถึงรายละเอียดปลีกย่อย ว่าด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งไม่ควรเขียนหรอกเพราะวิธีการมันเปลี่ยนได้ ถ้าเราเขียนว่าต้องมีการยืนยันตัวตนว่าเป็นคนนั้นคนนี้ ก็ต้องเป็นการยืนยันตัวตนด้วยลายมือชื่อ แต่ถ้าอีกหน่อยเรามีเทคโนโลยีอื่นๆ มาล่ะ มันก็ยืนยันตัวตนได้หมดไง แต่เมื่อคุณเขียนในตัวกฎหมายว่าจะต้องมีการลงลายมือชื่อเท่านั้น นี่ก็ยุ่งยากแล้ว

ยกตัวอย่างแบบนี้แล้วกัน เดี๋ยวนี้หน่วยงานบางหน่วยงาน เวลาประชุมออนไลน์ เมื่อประชุมกันเสร็จแล้วแต่ถึงอย่างไรก็ต้องลงลายมือชื่อเราบนใบเซ็นชื่อเพื่อยืนยันว่าเราเข้าประชุม ทางหน่วยงานก็ต้องให้คนขับมอเตอร์ไซค์เอากระดาษแผ่นนั้นมาให้เราเซ็นถึงบ้าน ทั้งที่เราประชุมจบไปแล้ว มีรูปเราประชุมไปแล้ว แต่ทั้งนี้เราก็เข้าใจพวกเขานะเพราะในระเบียบมันเขียนไว้ว่าต้องลงลายมือชื่อ

ฟังดูก็เป็นหนึ่งในปัญหาของระบบราชการด้วย

มันคือปัญหาของระบบราชการเลย คนทั่วเล็กตัวน้อยแก้ไม่ได้หรอก มันต้องแก้จากข้างบน ซึ่งเขาก็พยายามนะด้วยการออก พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ซึ่งอันนี้ก็ใช้อธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้ว่าทำไมเราจึงไม่ต้องลงลายมือชื่อบนหน้ากระดาษ แต่บางที่ คนทำงานเองอาจไม่ได้คิดหลายรอบว่ามีกฎหมายที่ใช้อธิบายเงื่อนไขเหล่านี้ หรือไม่กล้าตัดสินใจเพราะเขารู้สึกตัวเองตัวเล็กตัวน้อย เราเองก็ยังต้องสู้กับระบบมากๆ ว่าสิ่งนี้ทำได้นะ ไม่ผิด ลองสักครั้ง และเมื่อรู้แล้วว่าทำสิ่งนี้ไม่ผิด มันก็จะไม่ผิดตลอดไปนะ แต่ถ้าเราไม่ยอมทำเพราะคิดว่ามันผิดตลอดเวลา สุดท้ายมันก็ไม่ได้อะไรเลย

ร่าง พ.ร.บ. ที่ออกใหม่ ข้อที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักสุดคือเรื่องค่าธรรมเนียมที่แพงขึ้น คำถามคือทำไมเรายังต้องเก็บค่าธรรมเนียมอยู่อีก

เราก็งง (คิดนาน) เราว่านี่เป็นสิ่งที่อาจพูดได้เลยว่าเป็นภาระต่อประชาชน ถ้าจะพูดแบบพยายามทำความเข้าใจคือ เมื่อก่อนกระบวนการต่างๆ มันซับซ้อน หลายขั้นตอน เจ้าหน้าที่ต้องมารอคนทำหนังต่างๆ กรอกเอกสารเยอะแยะไปหมด ต้องจ้างคนมาทำงานนี้หลายคนเพื่อให้เธอมากรอกเอกสารเรื่องการเซ็นเซอร์ ไหนจะกรรมการเซ็นเซอร์อีก ค่าใช้จ่ายก็เยอะ แต่เราก็มองว่าถ้าอยากควบคุมสิ่งต่างๆ มันก็ควรกำหนดเรื่องค่าใช้จ่ายอยู่ในงบประมาณนะ สมมติรัฐมีหน้าที่ต้องตรวจทุกอย่างให้เรียบร้อย ค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนต่างๆ มันก็ควรอยู่ในหน่วยงานเราหรือเปล่า 

อย่างค่าธรรมเนียมนี่มันก็เกิดมาจากเรื่องเทป เมื่อก่อนมันมีค่าธรรมเนียมตั้งแต่เรื่องฟิล์ม คือเวลาเราต้องการเอกสารอะไรสักอย่าง เราก็มักต้องเสียค่าธรรมเนียม แต่เดี๋ยวนี้เมื่อระบบเปลี่ยน ถ้าเราลดกระบวนการ ลดความยุ่งยากซับซ้อนมันก็อาจไม่ต้องจ่ายตรงนี้แล้ว แต่ว่าคนที่ออกกฎหมายเขาไม่รู้ว่ามันจะมีการลดกระบวนการต่างๆ เกิดขึ้น อย่างตอนนี้มันก็ยักแย่ยักยันไปหมด เราก็เคยคุยกับเจ้าหน้าที่ เขาบอกว่าเคยทำแพล็ตฟอร์มให้ประชาชนอัพโหลด แต่สุดท้ายก็ยังต้องมาทำอะไรสักอย่างที่ประชาชนต้องมาปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าหน้าที่อยู่ดี 

เราคิดว่าเขาคงมีค่าใช้จ่าย ในขณะเดียวกันเขาก็ไม่ได้มองในมุมของ stakeholder ว่าค่าใช้จ่ายนั้นเป็นภาระของผู้ผลิตเท่าไหร่ เขาอาจไม่เคยรู้ว่ามีคนทำหนังอิสระในโลกนี้ด้วย เพราะเมื่อก่อนเขาก็ติดต่อผ่านบริษัท บริษัทก็ไม่เห็นบ่นอะไร บริษัทใหญ่ๆ เขาก็จ่ายได้นี่ ขณะเดียวกันคนทำหนังหน้าใหม่เมื่อก่อนก็เจอปัญหาตลอด เอกสารที่ต้องกรอกก็มากมาย 

และเราเคยให้ความเห็นไปแล้วว่าการที่เรียกเอกสารเยอะเกินไป มีผลกระทบทั้งเรื่อง PDPA (พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) เป็นภาระการจัดเก็บ ถ้าจะขอเอกสาร ก็ควรขอเท่าที่จำเป็น เพราะเมื่อขอมาแล้วมันก็เป็นภาระเราเรื่องการจัดเก็บ การทำลาย บ่อยครั้งที่เห็นเอกสารที่มีข้อมูลส่วนบุคคล แต่รัฐขอไป ผู้ขออนุญาตก็จำต้องให้มา 

ขั้นตอนพวกนี้มันกีดกันคนทำหนังตัวเล็กตัวน้อยไหม

มันเป็นภาระสำหรับทุกคน เราไม่คิดว่าคนที่ทำหนังมานานจะสุขใจกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้หรอก เขาอาจจะทำตัดรำคาญ ถึงที่สุดมันก็ยังเป็นภาระอยู่ดี มันสะท้อนว่ากฎหมายหรือคนร่างกฎหมายยังไม่เข้าใจกระบวนการและการเปลี่ยนแปลง ภูมิทัศน์ของสื่อที่เปลี่ยนไป 

อีกเรื่องคือยังมองไม่เห็น stakeholder ทั้งหมด คือโดยเจตนารมณ์แล้ว พ.ร.บ. ปี 2551 มองผู้ประกอบการว่าเป็นบริษัท ไม่ได้มองว่าคนทั่วๆ ไปก็มีสิทธิทำสิ่งเหล่านี้ มันไม่ได้อยู่ในสมการของเขาตั้งแต่แรก

โลกที่เต็มไปด้วยการสตรีมหนัง หรือใครก็ตามที่ทำหนังได้ กฎหมายจะตามทันอยู่ไหมโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เคลื่อนตัวไปเร็วเช่นนี้

เขาคงไม่สามารถจัดการทุกอย่างได้หรอก อย่างไรก็ตาม มันควรทำให้เกิดการคล่องตัวกว่านี้ ถ้ารัฐจะพูดในนามของความหวังดีต่อเด็กและเยาวชน ก็ควรทำให้กระบวนการในการสแกน ตรวจตรา สอดส่อง ซึ่งมันเป็นอีกแบบ 

ภาครัฐควรมีหน้าที่ดูแลความเป็นปกติให้สังคม แต่บ่อยครั้งมันมักไหลไปในเรื่องของอำนาจในการควบคุมแทน 

ประเด็นที่คิดว่ารัฐควรเร่งรัดแก้ไขคืออะไร

เมื่อก่อนก็คิดว่าควรจะแก้ตรงนั้นตรงนี้ แต่คิดไปคิดมาก็เหมือนจะยกเลิก พ.ร.บ. 2551 ไปได้เลย เราเลยเชียร์ผู้ประกอบการ ในเมื่อคุณไม่ชอบ พ.ร.บ. 2551 แก้ไปก็ปวดหัว และถ้าคิดว่ารัฐควรจะส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้ ก็อยากให้มีร่างฯ ที่พูดถึงการส่งเสริมไปเลย จะเขียนเรื่อง self-regulate ก็เขียนไปเลย ไม่ต้องมาแก้ตามโครงนี้เพราะมันยาก เนื่องจากมันถูกทำให้บิดเบี้ยวไปเยอะมากจนน่าจะลำบากหากแก้ตามโครงนี้

โดยเจตนารมณ์ เรื่องการควบคุมเพื่อป้องกันเด็กและเยาวชน ก็ควรเป็น media rating board เช่น ดูแลทั่วๆ และมีมาตรฐานกับสิ่งนี้ แต่เราจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการสร้างมากเกินไป ถ้าหนังที่เรตสูง ก็อาจจำกัดพื้นที่การฉาย อย่างในเกาหลี ถ้าอ่านละเอียดๆ มันก็มีแนวคิดคล้ายๆ ศีลธรรมอันดีนี่แหละ แต่เราคิดว่ามันไม่ได้ถูกใช้กว้างแบบกฎหมายไทย ต่อให้สุดท้ายแล้วจะแบ่งเรทโดยดูเรื่องเพศ ภาษาและความรุนแรง แต่คำว่าความสงบเรียบร้อย คำว่าศีลธรรมอันดี มันกลับขึ้นมาอยู่เป็นสิ่งแรกๆ ทั้งที่จริงๆ ต้องเป็นสิ่งสุดท้าย มันต้องไม่ไปรบกวนศีลธรรมอันดีของใครได้ง่ายๆ แต่ตอนนี้มันเหมือนไปรบกวนศีลธรรมอันดีของกรรมการท่านหนึ่ง อาจมีผลไปสู่การได้เรตสูงเกินไป หรือการโดนแบน

พูดในเซนส์หนึ่ง เหมือนคำว่าศีลธรรมอันดีมันกลายเป็นร่มใหญ่หรือเปล่า

เรารู้สึกว่าตัวกฎหมายไม่ได้ทำให้ ‘ศีลธรรมอันดี’ กลายเป็นร่มใหญ่ แต่เวลาถูกนำไปปฏิบัติกลับกลายเป็นแบบนั้น เพราะฉะนั้นมันอาจเป็นบรรยากาศของสังคมก็ได้ แต่ที่น่าสงสัยคือ เมื่อมันมีความเบลอ เส้นไม่ค่อยชัด ใช้เรื่องวิจารณญาณเยอะ การที่จะใช้วิจารณญาณซึ่งก็มาจากเจ้าหน้าที่รัฐ เขาก็ต้องมีความรับผิด แต่ตอนนี้ คณะกรรมการเซ็นเซอร์ปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าหน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรม แต่หากมีการฟ้องร้องกันขึ้นมา คนที่รับผิดก็น่าจะเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม โดยที่คณะกรรมการฯ ไม่จำเป็นต้องมารับผิดชอบอะไร เขาจึงไม่จำเป็นต้องมี accountability หรือความรับผิดรับชอบ อย่างสมมติเราตัดสินใจบางอย่างไปในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ เราก็ต้องรับผิดรับชอบ หากว่ามีอะไรเกิดขึ้น ไม่ว่าจะทางแพ่งหรืออาญา เราคิดว่ามันต้องมีวิธีที่ดีกว่านี้ มีมาตรฐานกว่านี้

ฟังดูมันกลับไปปัญหาเดิมมาก คือถึงที่สุด รัฐก็ยังไม่เข้าใจอุตสาหกรรมภาพยนตร์กับคนทำหนังเท่าไหร่

อาจจะเข้าใจกันคนละมุม  ถ้ามองทางเศรษฐกิจ เราก็จะคิดว่าก็ต้องทำของไว้ขายๆ แต่เมื่อมองด้านอนุรักษ์วัฒนธรรม ก็จะคิดว่าต้องยัดวัฒนธรรมใส่เข้าไปด้วย โดยที่ไม่ได้คิดเลยว่าหนังมันเป็นวัฒนธรรมโดยตัวมันเองอยู่แล้ว จะทำอะไรออกมาก็เป็นวัฒนธรรม แต่เราคิดว่าแต่ละคนก็มองภาพยนตร์ในมิติของตัวเองน่ะ ซึ่งเราไม่ได้โทษคนเหล่านั้น และเขาก็พูดถูกเพราะเขาเองก็เป็น stakeholder เขามีสิทธิที่จะมองในมุมนั้น แต่มันเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐในฐานะคนกลาง ที่ต้องมองว่าเมื่อมีความต้องการที่หลากหลาย มีเจ้าเล็ก เจ้าใหญ่ รายเล็กรายน้อย มีคนทำหนังอาร์ต ในระบบนิเวศนี้ รัฐในฐานะคนจัดการควรจัดการอย่างไร ควรออกกฎอย่างไรเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม

คิดว่ารัฐเห็นระบบนิเวศนี้ครบหรือยัง

ก็เห็นมากขึ้นนะ ช่วงที่ผ่านมาภาพยนตร์หรือสื่อต่างๆ ถูกเรียกว่า soft power นี่อาจทำให้รัฐเห็นภาพของระบบนิเวศที่มากขึ้น แต่ก็มีเพี้ยนไปนิดหน่อย เพราะแท้จริงแล้ว soft power เป็น impact ของกระบวนการผ่านสื่อภาพยนตร์ แต่มันไม่ใช่ตัวภาพยนตร์โดดๆ และ impact ที่เกิดขึ้นก็ต้องอาศัยทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก เช่น ภาพยนตร์นั้นมีเนื้อหาในการนำเสนอสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่หรืออาหาร แต่บางที ภาพยนตร์นั้นก็ทำให้เราสนใจวัฒนธรรมบางอย่างมากขึ้น ประเทศนั้นมากขึ้น หรือบางทีก็ทำให้คนไปเรียนภาษามากขึ้น มันจึงมีทั้งทางตรงและทางอ้อม มันไม่ได้เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมาว่า ทำกล้วยแล้วขายกล้วยได้ (หัวเราะ) มันต้องมีการเอาไปย่อย แล้วออกดอกออกผลของมัน

เราจึงคิดว่า รัฐเข้าใจแหละ แต่อาจจะยังไม่ทั้งหมด นอกจากนี้รัฐก็ใจร้อนด้วย ซึ่งเราก็เข้าใจความใจร้อนของเขานะ และคิดว่าการที่เขาหันมามามองภาพยนตร์กันก็เพราะเศรษฐกิจเรากำลังลำบาก ภาครัฐต้องการหาสิ่งใหม่ๆ ที่จะมาทำรายได้ให้ประเทศ แต่บางครั้ง หากจะพูดอย่างใจร้ายคือสิ่งเหล่านั้นมันไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่ายหรือชั่วข้ามคืน เราพูดถึงเกาหลีใต้ก็ได้ นั่นก็กินเวลา 20-30 ปีในการทำสิ่งนี้ และเขาก็ทำถูกบ้างผิดบ้าง เขาไม่ได้ทำถูกทุกอย่างนะ บางทีเราก็มองแต่ด้านดีเกินไป ฉะนั้น เวลาเราถอดบทเรียนจากคนอื่น มันเหมือนเราดูแต่ผลสัมฤทธิ์เท่านั้นไม่ได้ แต่ต้องดูทั้งกระบวนการของเขา ดูว่าเขาทำอะไรบ้าง มีบางอย่างที่เขาทำแล้วผิดพลาด เราก็ต้องคิดว่าเราควรทำไหม แต่ทั้งนี้ ต่อให้เลียนแบบทุกอย่างก็ได้ผลไม่เหมือนกัน เพราะสภาพแวดล้อมในแต่ละช่วงเวลามันไม่เท่ากัน

ที่บอกว่าภาครัฐใจร้อนหมายถึงอะไร

รัฐอยากเห็นผล อยากทำหนังแล้วได้ผลทุกอย่างเลยภายในห้าปีตามยุทธศาสตร์  ซึ่งบางครั้งมันเป็นเรื่องจังหวะเวลาด้วย เราคิดว่าไทยได้เสียโอกาสในจังหวะเวลาที่รถไฟแห่งความสำเร็จผ่านมาแถวหน้าบ้านเราไปหลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่อยากมองโลกในแง่ร้ายจนเกินไป แค่จะบอกว่าถ้าช่วงนี้รถไฟไม่ผ่านหน้าบ้านเราแล้ว มันก็จะลำบากหน่อย แม้เราจะคิดว่าเราพร้อมมาก ก็ต้องเข้าใจเรื่องปัจจัยอื่นด้วย ความพร้อมของเราคนเดียวอาจไม่พอหรอก

เราไม่ได้มีแต่ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เรามีคนทำหนังใหม่ๆ หลายคนก็มีคนมีชื่อเสียงในระดับสากลแล้ว คำถามคือเราจะส่งเสริมคนเหล่านั้นอย่างไร มีคนทำหนังรุ่นใหม่ที่เราเชื่อในศักยภาพเขามาก และรอหนังเรื่องแรกของเขามาหลายปีมากแล้ว ได้แต่สงสัยว่าทำไมมันยาก

เราพลาดรถไฟขบวนก่อนตรงไหน ทำไมเราขึ้นขบวนนั้นไม่ทัน

คิดว่ามันขาดการสนับสนุนจากภาครัฐนั่นแหละ เราว่าอย่างนั้นนะ ตอนนั้นภาครัฐก็ยังมองไม่ออก เมื่อสัก 20ปีที่แล้ว ตอนนั้นที่ไปได้จริงๆ คือภาคเอกชน และมีบุคคลสำคัญอย่างคุณอ้อม (ดวงกมล ลิ่มเจริญ -อดีตผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการสร้างภาพยนตร์ไทยสู่ตลาดต่างประเทศ) ซึ่งร่วมโปรดิวเซอร์หนังต่างๆ แต่พอพี่เขาเสีย หลายอย่างก็สะดุด

รัฐบาลก็มาสนับสนุน แต่รัฐก็มองอีกแบบหนึ่งว่า อยากจะสร้างหนังไทยไปโปรโมตประเทศ ก็จะทุ่มเงินไปทางนั้น แต่ไม่ได้มองในเชิงที่ว่า หนังแบบไหนก็สามารถไปโปรโมตประเทศเราได้ ฉะนั้นสักเมื่อ 20 ปีก่อนนี่เจ้ย-อภิชาติพงศ์เองก็อาจเคยโดนเมินนิดหนึ่ง (ยิ้ม) คือเขาก็ได้รับการสนับสนุนนะ แต่คงไม่คิดว่าวันหนึ่งอภิชาติพงศ์จะเป็นคนที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้

สมาคมผู้กำกับฯ ย้ำข้อเสนอเรื่องให้ภาครัฐเปลี่ยนจากการควบคุมเป็นสนับสนุนแทน คิดว่าน้ำเสียงควบคุมของภาครัฐใน พ.ร.บ. ทั้งของปี 2551 และของร่างฯ นี้ แตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน

เราคิดว่าร่างฯ นี้ควบคุมคนถ่ายหนังต่างประเทศมากขึ้น เขาอาจจะมองเรื่องตอนนี้มีสตรีมมิ่งที่มาผลิตในไทย ส่วนเรื่องการส่งเสริม พอมาคิดดูอีกที จริงๆ แล้วการส่งเสริมจำเป็นต้องใช้กฎหมายหรือเปล่า บางอย่างก็จำเป็น ที่ผ่านมาต่อให้กฎหมายเขียนว่ามีตั้งกองทุน แต่ก็ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม  ปัญหาของเรื่องกองทุนต่างๆที่มีอยู่ก็คือรูปแบบการใช้เงบของราชการ เราจะใช้เงินหลวงได้อยู่ไม่กี่แบบเท่านั้น กองทุนที่เป็นกฎหมายอาจจะปลดพันธนการในเรื่องนี้

สมมติเราเป็นคนให้ทุน เราคงบอกว่าเอาไปเถอะ แต่ถ้าทำแล้วไม่สำเร็จ ก็ไม่เดือดร้อนด้วยกันทั้งคู่ แต่โดยทั่วไปแล้ว หน่วยงานภาครัฐไม่สามารถให้เงินในลักษณะแบบนี้ได้ ทั้งยังถูกผูกมัดด้วยตัวชี้วัดมากมาย สมมติเราเป็นคนจากหน่วยงานส่งเสริมภาพยนตร์ และเราอยากส่งเสริมคนทำหนังให้ได้ไปเทศกาลสำคัญ เราก็ตัองตั้งตัวชี้วัดกว่าจะทำให้ได้กี่คน ซึ่งมันกำหนดยากมากในเวลาที่จำกัด สุดท้ายทุกคนก็เอาตัวชี้วัดที่มีความแน่นอนไว้ก่อน เช่นก็จัดกิจกรรมแล้ววัดว่ามีคนมาเข้าร่วมกี่คน

นี่คือจะไปเรื่องการปฏิรูประบบราชการแล้วนะ (หัวเราะ)

สิทธิเสรีภาพในการทำหนังซึ่งมีปัญหามาตั้งแต่ พ.ร.บ. ปี 2551 ดูจะน่ากังวลแค่ไหนในร่างฯ นี้

คิดว่าเป็นปัญหาตลอดมาแหละ แม้ในรัฐธรรมนูญมีเรื่องหลักสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และเราก็ใช้หลักนี้ในการถกเถียง โต้แย้งตอนจะมีการออก พ.ร.บ. ปี 2551 แต่ในกฎหมายระบุไว้เลยว่าพรบ.นี้ขอจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามกฎหมายเพราะมันเป็นเรื่องการประกอบกิจการเกี่ยวกับภาพยนตร์ แต่ถ้าเราตีความว่าเราไม่ได้ประกอบกิจการล่ะ เรารอดเลยไหม นี่จึงเป็นเรื่องการขอความชัดเจน อย่างน้อยคือคต้องทำให้ชัดว่าการประกอบกิจการคืออะไร ถ้าคิดว่าคุณต้องประกอบกิจการที่หมายถึงโรงงาน ที่ต้องมีกฎหมายมาควบคุม ก็ขอให้มันชัดเจนเท่านั้นเอง แต่อย่ามาหว่านว่าทุกอย่างที่เป็นภาพยนตร์จะต้องถูกเหมารวมอยู่ภายใต้เงื่อนไขนี้ ซึ่งจริงๆ เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. 2551 เป็นอย่างนั้น

มันคงไม่น่ากังวลไปกว่านี้หรอก (หัวเราะ) เราหวังว่ามันจะปรับ สอดรับกับสังคมในปัจจุบันที่มีความหลากหลายด้านความคิด และเราต้องอยู่ด้วยกันให้ได้ ฉะนั้น กฎหมายไม่ควรมาสร้างให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น ทำอย่างไรกฎหมายจึงจะสอดคล้องกับความคิดเห็นคนที่มันไม่เหมือนกัน หรือการที่คณะกรรมการฯ เจ็ดคนจะมาคิดแทนคนอีกหลายสิบล้านคน ก็อาจเป็นเรื่องที่ไม่ใช่อีกต่อไป หรือถ้ากังวล อยากมีเครื่องมือในการควบคุม ก็ต้องมีเรื่องมือบางอย่างที่เป็นที่ยอมรับได้ทั่วกัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save