fbpx
ฉลาดเกมส์โกง: แกะประเด็นปัญหาการศึกษา

ฉลาดเกมส์โกง: แกะประเด็นปัญหาการศึกษา

ช่วงเวลานี้ หากไม่พูดถึงหนังดังอย่าง ฉลาดเกมส์โกง จากค่าย GDH ก็คงกระไรอยู่ เพราะนอกจากฝีมือการกำกับหนังอันแสนยอดเยี่ยมของ นัฐวุฒิ พูนพิริยะ และการแสดงอย่างถึงพริกถึงขิงของเหล่านักแสดงแล้ว หนังยังสามารถถ่ายทอดประเด็นเรื่องปัญหาการศึกษาได้อย่างแหลมคมและครอบคลุมอีกด้วย

พูดได้ว่า หนังที่มีความยาวเพียง 2 ชั่วโมงเรื่องนี้ สามารถนำเสนอปัญหาการศึกษาไทยออกมาได้อย่างน่าสนใจและอาจจะมี impact มากกว่าที่นักวิจัยและนักการศึกษาได้พยายามพูดเรื่องพวกนี้มาตลอดสิบปีเสียอีก

และนี่คือสิ่งที่เราจะมาแกะประเด็นหนังในวันนี้ – ปัญหาการศึกษาไทยนั่นเอง

 

ต้องขอออกตัวก่อนว่า สิ่งที่จะพูดต่อไปนี้จะมีการเปิดเผยเนื้อหาของหนังบางส่วนด้วยนะครับ และอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผมจะไม่วิจารณ์ตัวหนังในแง่ของศาสตร์ภาพยนตร์อะไรนั่นนะครับ เพราะความรู้ไม่ถึง ถึงแม้ว่าจะรู้ว่ามีประเด็นที่หนังเรื่องนี้ยังมีช่องโหว่ เช่น ความสมเหตุสมผล การวางพลอต หรือการปั่นอารมณ์ของหนัง เป็นต้น  (อันนี้ตามหาอ่านจากคนอื่นที่มีความรู้มากกว่าผมได้ครับ มีเขียนไว้เยอะมาก) ฉะนั้น ที่จะได้อ่านต่อไปจึงเกี่ยวกับประเด็นเรื่องปัญหาการศึกษาไทยจากหนังเรื่องนี้ล้วนๆ นะครับ

 

[button color=”red”] Spoil Alert[/button]เล่าหนังอย่างย่อ (ใครรู้แล้ว ก็ข้ามไปได้นะครับ)

เพื่อให้ผู้อ่านรู้เรื่องคร่าวๆ ก็ต้องเล่าเรื่องย่อๆ เสียหน่อย กล่าวโดยสรุป (อาจจะยาวหน่อย เพราะมีพลอตสำคัญเยอะมาก) ฉลาดเกมส์โกง คือ เรื่องราวของกลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนรัฐบาลชื่อดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ในกลุ่มนักเรียนที่ว่าก็ประกอบไปด้วย ลิน เกรซ พัฒน์ และแบงค์ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ก็มีลักษณะที่มา นิสัย และความฉลาดแตกต่างกันไป เช่น บางคนฉลาดมากสอบได้เกรด 4 ตลอด แต่บ้านจน แบบจนโคตร กับอีกคนหนึ่ง บ้านรวย รวยมากๆ จนขนาดพ่อแม่สามารถซื้อรถให้ขับได้สบายๆ แต่น่าเสียดายที่เป็นเด็กไม่เอาไหน ไม่สนใจเรียน

ตอนแรกเด็กกลุ่มนี้ก็ไม่ได้รวมตัวกันอะไรหรอกครับ แต่มันมีสาเหตุ เริ่มจากลินซึ่งเป็นเด็กที่เรียนเก่งมากๆ สอบวิชาอะไรก็ได้เกรดสี่ตลอด วันหนึ่งพ่อของลินซึ่งเป็นครูได้ย้ายลินจากโรงเรียนเก่าไปโรงเรียนใหม่ (ซึ่งก็คือโรงเรียนในหนังนี่แหละ) แต่ตอนเข้านี่สิ ถึงแม้ว่าลินจะได้ทุนเรียนฟรี แต่พ่อก็ต้องจ่าย ‘ค่าบำรุงการศึกษา’ ให้โรงเรียนมากกว่า 200,000 บาท (เรื่องนี้ลินมารู้ภายหลัง) เมื่อลินเข้ามาในโรงเรียน ได้รู้จักกับเพื่อนคนหนึ่งชื่อ เกรซ เด็กคนนี้เรียนไม่เอาไหน เรียนเท่าไรก็ไม่จำ ขนาดที่ครูปล่อยข้อสอบก่อนวันสอบจริง เจ๊แกก็ยังทำข้อสอบไม่ได้ คราวนี้ก็ต้องอาศัยเพื่อนอย่างลินให้ช่วยติว แต่อนิจจัง คนโง่ก็คือคนโง่ (แต่ไม่รู้ว่าเกรซโง่จริงหรือเปล่า ต้องไปดูหนังจริงๆ ครับ) พอวันสอบจริง เกรซดันทำไม่ได้ คราวนี้ลินอดสงสารไม่ได้ เลยต้องใช้กลเม็ดอันแพรวพราวบอกข้อสอบเพื่อน ทำให้เกรซสามารถผ่านวิชานั้นมาได้ ต่อจากนั้น เกรซพาลินไปรู้จักกับพัฒน์ ผู้เป็นแฟนหนุ่มของเกรซ พัฒน์ขอให้ลินช่วยติวข้อสอบ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือโกงข้อสอบนั่นแหละ โดยมีค่าตอบแทนเป็นเงินก้อนโต ประกอบกับรู้ความจริงจากปากพัฒน์ว่า พ่อของลินก็จ่ายค่าใต้โต๊ะแก่โรงเรียนเหมือนกัน ทำให้ลินต้องยอมรับภารกิจโกงข้อสอบนี้ เพื่อให้ได้เงินมาจุนเจือครอบครัว และสานความฝันของตัวเองที่อยากไปเรียนต่อต่างประเทศ

ทุกอย่างดูเหมือนจะดำเนินไปตามที่ลิน พัฒน์ และเกรซคาดหวัง แต่มาวันหนึ่ง หลังสอบปลายภาค ม.5 ผู้อำนวยการโรงเรียนจับได้ เพราะมีคนไปฟ้อง ซึ่งนั่นก็คือ แบงค์ แบงค์เป็นนักเรียนที่มีความสามารถเทียบเท่ากับลิน โดยเฉพาะเรื่องความจำ เขาสามารถจำอะไรยากๆ ได้อย่างง่ายดาย หลังจากโดนจับได้ ลินโดนถอดทุนการศึกษา รวมถึงหมดสิทธิการสอบชิงทุนไปต่างประเทศ (โถ…เศร้า)

หลังจากนั้น เกรซกลับมาหาลิน เพื่อให้ลินช่วยโกงข้อสอบ STIC (คือ ข้อสอบ admission เพื่อไปยื่นไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยอเมริกา – ข้อสอบจริงๆ คือ SAT) ตอนแรกลินจะตอบปฏิเสธ แต่ด้วยค่าตอบแทนที่สูง และพอมีวิธีที่จะทำได้ ประกอบกับอยากได้เงินไปเรียนที่ต่างประเทศ ก็เลยตอบรับไป หลังจากนั้นลินก็เอาแบงค์เข้าทีม เพราะแบงค์มีความสามารถในการจำ จากนั้น ลินกับแบงค์ไปสอบ STIC ที่ต่างประเทศ เพื่อจะได้สอบก่อนไทย และส่งคำตอบกลับมาให้เกรซกับพัฒน์ที่อยู่ที่ไทย ถึงแม้ว่าทุกอย่างจะดำเนินไปได้ แต่แบงค์ก็ถูกจับได้ และโดนไล่ออกจากโรงเรียน จากนั้น แบงค์ก็ผันตัวมาทำอาชีพโกงข้อสอบอย่างจริงจัง โดยจะชวนลินมาร่วมทีมด้วย แต่สุดท้ายลินตอบปฏิเสธ แต่แบงค์ต่อรองว่า ถ้าลินไม่ช่วย เขาจะแฉเรื่องการโกงที่ผ่านมา ลินไม่สน ในตอนท้ายเรื่อง ลินได้ไปสารภาพสิ่งที่เธอทำไปแก่คณะกรรมการสอบ STIC จบ …

 

ในที่สุดก็มีถึงช่วง แกะประเด็นหนังสักที จาการดูหนังมารอบเดียว ผู้เขียนคิดว่าหนังเรื่องนี้สะท้อนประเด็นปัญหาการศึกษาไทยใหญ่ๆ ได้มากถึง 4 ประเด็นเลยทีเดียว ลองไปดูกันครับว่ามีประเด็นอะไรบ้าง

ความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทย

ตั้งแต่ตอนแรกที่พ่อของลินได้ย้ายลินจากโรงเรียนเก่ามาโรงเรียนใหม่ ถึงแม้ตอนแรกลินจะบอกว่าไม่อยากย้ายมาโรงเรียนใหม่ เพราะว่ามันไกล และค่าเทอมก็แพง แต่พ่อก็ยังยืนยันว่า ต้องเอาลินเรียนที่นี่ให้ได้ เพราะโรงเรียนนี้ดี นักเรียนส่วนใหญ่เรียนที่นี้มักได้โอกาสไปเรียนต่างประเทศกันเยอะ ไอ้ตรงคำว่า “โรงเรียนนี้ดี” สะท้อนให้เห็นว่า โรงเรียนรัฐไทยมีคุณภาพไม่เท่ากัน จนทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองมักขวนขวายให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพที่ดีที่สุด ถึงแม้จะแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่มากก็ตาม งานวิจัยหลายชิ้นได้บอกว่า โรงเรียนที่ดีส่วนใหญ่มักจะเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่และอยู่ในเมือง มากกว่าจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กและอยู่ตามต่างจังหวัด (อันนี้ใครๆ ก็น่าจะรู้กันอยู่แล้ว) ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าโรงเรียนใหญ่ๆ ที่อยู่ในเมืองมักจะได้รับการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกมากกว่า อีกทั้งครูที่สอบเข้ามาสอนส่วนมากก็มักจะเลือกมาเป็นครูในโรงเรียนใหญ่ๆ เพราะสะดวก ทำให้ครูเก่งๆ มักอยู่ในโรงเรียนเหล่านี้ ส่วนในโรงเรียนเล็กก็ถูกทอดทิ้งให้ด้อยคุณภาพต่อไป

ความเหลื่อมล้ำในเรื่องคุณภาพการศึกษาของแต่ละโรงเรียน ได้นำมาสู่ความเหลื่อมล้ำในด้านถัดมา นั่นคือ แทนที่พ่อแม่จะมั่นใจได้ว่า ไม่ว่าลูกจะเรียนโรงเรียนรัฐที่ไหนก็จะได้รับการศึกษาในคุณภาพที่คล้ายๆ กัน แต่พวกเขาก็ต้องพยายามวิ่งเต้นให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนดีๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว มีแต่พ่อแม่ฐานะดีๆ เท่านั้นที่จะมีโอกาสสามารถส่งลูกพวกเขาไปเรียนในโรงเรียนเหล่านี้ได้ เพราะอะไรน่ะหรือ อย่างที่รู้กัน โรงเรียนดังๆ เมื่อเป็นที่ต้องการของตลาดหรือผู้ปกครองมากขึ้น ก็มักจะเรียกค่าแรกเข้าที่สูง เหมือนที่ในหนังได้สะท้อนผ่านการที่พ่อของลินจะต้องจ่ายค่าแลกเข้าถึง 200,000 บาท (นี่ยังไม่รวมค่าเทอมที่ต่อเทอมจะต้องจ่ายถึง เทอมละ 60,000 บาทนะครับ)

ดังนั้น มันทำให้เราเห็นความเหลือมล้ำในแง่ที่ว่า นักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะดีมักจะมีโอกาสมากกว่าพวกที่มาจากครอบครัวฐานะไม่ดีในการในเรียนโรงเรียนดีๆ

อีกความเหลื่อมล้ำ ซึ่งอันนี้ดูจะตลกร้ายหน่อย นั่นคือ หนังเรื่องนี้สะท้อนความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษาระดับระหว่างประเทศด้วยนะครับ กล่าวคือ ตัวละครทั้งเรื่องนี้มีเป้าหมายร่วมกันอย่างหนึ่ง คือได้ไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ สุดท้ายมันทำให้เห็นว่า ระบบการศึกษาไทยของเรานั้นไม่ไปไหน และยังห่างชั้นจากต่างประเทศอย่างมาก จนกระทั่งเด็กก็ต่างพาอยากหนีกันไปเรียนในโรงเรียนต่างประเทศ ซึ่งก็ไปตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในด้านครอบครัวอีกชั้นหนึ่งอีก คือพวกที่สามารถไปเรียนต่างประเทศได้นั้น ครอบครัวต้องมีฐานะทั้งนั้น ถ้าไม่มี ก็ต้องสอบชิงทุนไปเรียนเอง แต่ก็ต้องมั่นใจว่าเก่งจริงๆ ด้วยนะครับ

ใครสร้างเด็กดีเด็กเก่ง

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เรื่องเด็กเก่งเด็กดี เหมือนหนังเรื่องนี้จะตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ในแง่ที่ว่าสุดท้ายการศึกษาไทยต้องสร้างเด็กเก่งหรือเด็กดีกันแน่ หรือแท้จริงแล้วก็ต้องสร้างมันทั้งคู่นั่นแหละ อย่างไรก็ดี ในช่วงจบของหนัง หนังได้ตอกย้ำว่า ระบบการศึกษาและสังคมต้องการเด็กเก่งเด็กดี (แต่ไม่ได้แปลว่า ระบบการศึกษากับสังคมไม่มีปัญหานะครับ)

เราจะเห็นว่าหนังเรื่องนี้ได้ justify สมมติฐานที่ว่าระบบการศึกษาต้องสร้างเด็กเก่งเด็กดี และสังคมต้องการเด็กเก่งเด็กดี โดยใช้หลายเหตุการณ์มานำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นการที่บอกว่าหากตัวละครได้ตัดสินใจที่จะโกง (เข้าสู่ด้านมืด) พวกเขาจะพบเจออะไรบ้าง ซึ่งในท้ายที่สุด ตัวละครที่ชื่อ ลิน ก็ได้ข้อคิดว่า การโกงหรือการเป็นเด็กไม่ดีนี่มันไม่ดีเอาเสียเลย มันแทบไม่คุ้มกับอนาคตและความรู้สึกของคนรอบข้าง (โดยเฉพาะความรู้สึกของพ่อลิน) ที่เสียไปเลย

ฉะนั้น เด็กเก่งอย่างเดียวจึงไม่พอ ต้องดีด้วย

เราจะเห็นสมมติฐานของหนังที่น่าสนใจอีกว่า เด็กที่มาจากครอบครัวยากจนส่วนใหญ่มักเป็นเด็กเก่ง นั่นก็คือแบงค์และลินนั่นเอง อันนี้อาจจะบอกไม่ได้ว่าในความเป็นจริงจะเป็นเช่นนี้ไหม แต่ถ้าดูจากเหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้เด็กจนๆ เก่งกว่าเด็กรวย (ซึ่งอาจสะท้อนภาพความจริงได้บางส่วน) เราอาจตีความได้ว่า เด็กที่มาจากครอบครัวยากจนรู้สึกว่าการที่เขาจะยกระดับชีวิตของตัวเองและครอบครัวให้ได้มีวิธีเดียว คือต้องเรียนให้เก่ง และทำงานในอาชีพดีๆ

พูดอีกอย่าง การเรียนให้เก่งคือหนทางเดียวในการเลื่อนชั้นทางสังคม (social mobility) นั่นเอง ฉะนั้น พวกเขาจะต้องทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจในการเรียนให้เก่งให้จงได้ ขณะที่เด็กที่มาจากครอบครัวที่รวยอยู่แล้ว พวกเขาแทบไม่ต้องดิ้นรนอะไรต่อแล้ว เพราะเกิดมาก็มีอะไรเพียบพร้อม ฉะนั้น เขาไม่จำเป็นจะต้องไปเรียนให้เก่งอะไรนั่นหรอก เรียนให้ผ่านๆ ก็พอ แต่นี่ไม่ได้แปลว่าเด็กรวยจะโง่นะครับ มันคนละประเด็นกัน จริงๆ แล้ว จากในหนังก็สะท้อนให้เห็นว่า พัฒน์ซึ่งเป็นลูกคนรวยไม่ได้โง่เลย เขาฉลาดมาก แต่ฉลาดแกมโกงนะครับ พัฒน์คนนี้นี่แหละที่เป็นผู้ชักจูงให้ลินมาเป็นผู้ก่อการโกง และร่วมวางแผนจนหาเงินได้มหาศาล ฉะนั้น การเรียนเก่งกับความฉลาดอาจไม่ได้ไปด้วยกันเสมอไป

ในด้านของการเป็นเด็กดี เหมือนในหนังเรื่องนี้ก็ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเลี้ยงดูของครอบครัวต่อมโนสำนึกของนักเรียนเอาไว้ด้วย กล่าวคือ แม้ว่าลินจะพลาดพลั้งไปร่วมก่อการโกง จนดูเหมือนจะถลำลึกจนยากที่จะกลับมาได้ แต่สุดท้ายลินก็สำนึกและตอบปฏิเสธไม่เข้าร่วมกับแบงค์ ส่วนหนึ่งที่ลินตัดสินใจเช่นนี้น่าจะเกิดมาจากการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดของพ่อลินซึ่งเป็นครูในโรงเรียนเก่าของลิน และเป็นผู้ที่อบรมสั่งสอนและถ่ายทอดเรื่องคุณธรรมแก่ลินอยู่เสมอ (ห่วงใยลูกมากๆ) แต่อย่างไรก็ดี กรณีนี้ก็อาจใช้ไม่ได้กับแบงค์ เพราะถึงแม้ว่าแบงค์จะอยู่ในครอบครัวที่ยากจน แต่สุดท้ายแบงค์ก็เลือกจะเดินหนทางมืดต่อไป เป็นเพราะเหตุใด จากที่หนังแสดงให้เห็น บทของแม่แบงค์ในการอบรมสั่งสอนแบงค์นั้นแทบไม่มีเลย ฉะนั้น เป็นไปได้ว่า อิทธิพลของครอบครัวอาจจะไม่มีผลต่อการตัดสินใจของแบงค์ (อันนี้อาจจะถกเถียงกันได้ต่อนะครับ) ในส่วนของครอบครัวคนรวย เราจะเห็นได้ว่า จากภาพที่หนังฉายให้เห็น ในครอบครัวของเด็กรวย โดยเฉพาะพัฒน์นั้น จะมีการเลี้ยงดูที่แบบห่างเหิน ใช้อำนาจและเงินเป็นสื่อกลางในการเลี้ยงดู นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมพัฒน์ถึงเป็นเด็กดีไม่ได้ ขนาดที่เรื่องดำเนินไปถึงตอนท้ายๆ ความเลวของพี่แกก็ทวีขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขนาดส่งคนไปตีแบงค์ เพื่อทำให้แบงค์ไม่ได้สอบทุน และจะได้มาร่วมก่อการโกงกับลิน (โห เลวจริงๆ)

แต่ถามว่าปัจจัยครอบครัวเป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้นักเรียนจะเป็นเด็กเก่งหรือเด็กดีไหม คำตอบก็คือไม่ เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมาก โดยเฉพาะโรงเรียน

หนังเรื่องนี้กระตุกต่อมให้เกิดคำถามว่า การสร้างเด็กเก่งเด็กดีนั้นควรเป็นเรื่องของใครกันแน่ ระหว่างครอบครัวและโรงเรียน ในฉากที่ลินโดนจับได้ และผู้อำนวยการโรงเรียนกำลังสาธยายในทำนองว่า “เธอจะทำอย่างนี้ไม่ได้ เพราะโรงเรียนเรายึดถือหลักความดี และต้องรักษาศีลธรรม บลาๆๆ” ทันใดนั้น ลินก็ยิ้มขึ้นมา ผู้อำนวยการก็เลยตวาดไปหาลินว่า “ขำอะไร ไร้มารยาท” แล้วก็ต่อว่าพ่อของลินว่าหัดสอนลูกให้ดีๆ ช่วงนี้อาจทำให้คนดูเข้าใจได้ว่า เรื่องที่ลินทำลงไปนั้นเป็นความรับผิดชอบของพ่อลินแต่เพียงผู้เดียว แต่ลินก็ได้สวนกลับไปที่ผู้อำนวยการโรงเรียน โดยยกเรื่องการที่ผู้อำนวยการโรงเรียนเรียกเก็บเงินแป๊ะเจี๊ยะจากพ่อของเธอ

ฉากนี้บอกเป็นนัยๆ ว่าที่ลินช่วยเพื่อนโกงข้อสอบก็เพราะว่าโรงเรียนเริ่มก่อนนั่นเอง เพราะขนาดโรงเรียนยังโกงเลย ยังเป็นแบบอย่างที่ดีไม่ได้ ทำไมเธอจะทำบ้างไม่ได้ ฉากนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า ทั้งโรงเรียนและครอบครัวก็มีส่วนต้องร่วมรับผิดชอบกับการกระทำของเด็กด้วย

ธุรกิจการศึกษา

หนังเรื่องนี้ยังพูดถึงเรื่องธุรกิจกับการศึกษาไว้ด้วยนะครับ

คงเป็นความจริงที่หลีกหนีไม่พ้นว่า การศึกษาทุกวันนี้ได้ถูกทำให้เป็นธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ จากในหนัง เราจะเห็นว่าความสำเร็จทางการศึกษาของนักเรียนไม่ได้เกิดขึ้นด้วยการที่นักเรียนได้ไปเรียนในโรงเรียนเท่านั้น แต่พวกเขาต้องพึ่งตัวช่วยอื่นๆ อีกด้วย เช่น การสอนสอนติวของเพื่อนๆ การสอนติวจากครูประจำวิชา หรือสถาบันติวของครูชื่อดังต่างๆ เป็นต้น ซึ่งไอ้ตัวช่วยเหล่านี้ก็มีทั้งแบบช่วยให้เด็กได้เรียนรู้เนื้อหาวิชาจริงๆ และแบบช่วยโกงข้อสอบ

เพื่อความสำเร็จทางการศึกษา ไม่ว่าอย่างไรก็แล้วแต่ จะใช้เงินมากเท่าไหร่ก็ยอมแลกได้ ดังนั้นคนทำธุรกิจพวกนี้จึงตั้งราคาค่าบริการไว้ในระดับสูง เพื่อหวังสร้างรายได้มหาศาล และแน่นอนว่าพวกเด็กจนๆ คงหมดโอกาสที่จะได้เรียน

ด้วยเหตุที่ว่าการขายความสำเร็จทางการศึกษาสามารถสร้างรายได้มหาศาล คนที่ประกอบธุรกิจจำพวกนี้จึงมีแนวโน้มที่ไม่สนใจความถูกต้องเสียเท่าไหร่

จากหนัง เราจะเห็นว่าหลายครั้งที่มีการสอบ ครูประจำวิชาจะมีการสอนติวก่อนที่เด็กนักเรียนจะเริ่มสอบจริง ซึ่งการสอนติวนี้ ไม่ใช่การสอนฟรีๆ นะครับ นักเรียนจะต้องจ่ายเงินให้แก่ครูผู้ติวหนังสือให้ด้วย และเป็นที่รับรู้กันในหมู่นักเรียนว่า สิ่งที่ครูเอามาติวนั้นก็คือข้อสอบที่ครูจะเอามาออกสอบนั่นแหละ ฉะนั้น นักเรียนจึงแห่แหนกันไปเรียนมากขึ้น นี่นับเป็นช่องทางทำมาหากินหนึ่งของครูในปัจจุบัน ซึ่งถ้าเราตัดสินใจอย่างเผินๆ ก็อาจจะมองว่าสิ่งที่ครูกระทำคือ สิ่งที่ผิด ยอมรับไม่ได้ และผิดศีลธรรม จนยากที่จะให้อภัย แต่ถ้าเรามองให้ลึกลงไปอีก ก็อาจจะพบปัญหาที่ซ่อนอยู่ ไม่แน่ว่าการที่ครูทำอย่างนี้เพราะเขาจำเป็นต้องหาเงินมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่า ครูในโรงเรียนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมักได้ค่าตอบแทนที่อาจยังไม่สูงมากนัก (แต่ภายหลังค่าตอบแทนครูก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ) ประกอบกับมีภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก บางคนติดหนี้บัตรเครดิตหลายสิบใบ (ครูไทยมักมีค่าใช้จ่ายเยอะ ก็เพราะต้องเอาเงินไปรักษาสถานะทางสังคมของตนนั่นเอง อย่าลืมนะครับว่าครูก็เป็นอาชีพหนึ่งที่ได้รับการนับหน้าถือตาจากคนในสังคม) ทำให้พวกเขาต้องการหาเงินอยู่เสมอ ช่องทางการสอนพิเศษจึงเป็นช่องทางหนึ่ง ซึ่งเมื่อครูเห็นการสอนพิเศษนั้นให้รายได้ดีกว่างานประจำ ก็เลยทำให้ครูแคร์เด็กที่เรียนพิเศษมากกว่าเด็กที่เรียนแบบปกติไปด้วย

เราจะได้เห็นอีกว่าโรงเรียนเองก็ใช้โอกาสนี้ในการหารายได้เข้าโรงเรียนผ่านกลไกการรับเงิน ‘ค่าบำรุงการศึกษา’ หรือ ‘เงินแป๊ะเจี๊ยะ’ ดังที่พูดไปแล้วนั่นเอง

กลายเป็นว่าเมื่อเงินเข้ามาจับกับการศึกษามากเรื่อยๆ การโกงก็เกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว เกิดขึ้นได้ในทุกซอกทุกมุมของระบบการศึกษาไทย ฉะนั้น จึงทำให้เกิดคำถามที่ว่า แล้วเด็กที่สอบเข้ามาได้ ความจริงแล้วเขาสอบเข้ามาได้เองหรือสถาบันติวพวกนี้กันแน่

หนังจึงเป็นเครื่องสะท้อนอย่างหนึ่งว่า เมื่อเราเปลี่ยนการศึกษาเป็นสินค้า ความศรัทธา ความน่าเชื่อถือของมันก็หายไป และเมื่อการศึกษาที่ดีกลายเป็นสินค้าที่ต้องใช้เงินจำนวนมากในการเข้าถึง การศึกษาที่มีคุณภาพจึงไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะสามารถเข้าถึงกันได้อย่างเท่าเทียมตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้

วิธีคิดแบบข้อสอบชอยส์

ในช่วงท้ายของหนัง ลินกลับมาจากการสอบที่ต่างประเทศ เมื่อลงจากเครื่องก็ได้พบกับเกรซและพัฒน์ที่รอรับอยู่ ในระหว่างที่พูดคุย เกรซและพัฒน์ได้ต่างคะยั้นคะยอให้ลินไปเรียนต่อที่อเมริกาด้วย เพื่อที่จะได้ช่วยกันเรียน ลินได้ตอบกลับทั้งสองคนในทำนองว่า “ฉันไม่ไปหรอก … และจำไว้นะว่า ข้อสอบมหาวิทยาลัยมันไม่มีชอยส์แล้วนะ มันมีแต่ข้อสอบเขียน” เรื่องนี้ทำให้นึกถึงการสอบของไทยเราโดยเฉพาะการศึกษาระดับโรงเรียนที่ยังเน้นการใช้ข้อสอบชอยส์มากกว่าข้อสอบเขียน

การสอบข้อชอยส์ถึงแม้ว่าจะง่ายต่อคนออกข้อสอบและคนตรวจข้อสอบ เพราะสามารถให้คำตอบที่ชัดเจน ไม่สับสน แต่ก็ง่ายสำหรับการโกงด้วย ดังนั้น ในหลายประเทศ จึงเน้นการให้เด็กทำข้อสอบแบบเขียนแสดงทัศนะ มากกว่าข้อสอบชอยส์ที่มักมีคำตอบตายตัว

ผลดีต่อการใช้ข้อสอบแบบเขียนจึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าระบบการศึกษาพยายามส่งเสริมให้นักเรียนได้คิดด้วยตัวเอง การที่ไม่ได้กำหนดคำตอบไว้อย่างตายตัว ยังทำให้เด็กมีโอกาสคิดได้หลากหลายวิธีและสร้างสรรค์ ที่สำคัญคือเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กลอกกันอีกด้วย ถึงแม้ว่าลอกมา ครูก็จับได้ง่ายอยู่ดี

ดังนั้น การที่หนังแสดงให้เห็นว่าโรงเรียนมักใช้ข้อสอบชอยส์ในการจัดสอบ จึงเป็นความพยายามที่จะบอกว่า วิธีการเรียนรู้ของการศึกษาไทยก็เป็นเหมือนการออกข้อสอบชอยส์นั่นแหละ นั่นคือ การศึกษาไทยยังคงยึดติดกับการเรียนรู้แบบเดิมๆ มีวิธีเดียว ต้องเดินตามนี้นะ ถึงจะดี และคำตอบก็มีได้อย่างเดียว และไม่สนว่าคำตอบทีได้นั้นมาจากวิธีคิดแบบไหน แสดงให้เห็นว่าระบบการศึกษาไทย (หรือผู้ใหญ่ที่เป็นผู้สร้างระบบการศึกษาไทย) ไม่สนใจว่าเด็กจะคิดอย่างไรนั่นเอง เด็กก็ได้แต่เดินตามลู่ไปเรื่อยๆ ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้

และเมื่อวันหนึ่งที่เด็กนักเรียนจากวิธีคิดแบบข้อสอบชอยส์ได้เข้ามาสู่ระบบการศึกษาที่อาศัยวิธีคิดแบบอื่น โดยเฉพาะการศึกษาในช่วงชั้นมหาวิทยาลัย (ในอเมริกา) ที่เน้นการวัดผลโดยข้อสอบเขียนเพื่อดูทัศนะของผู้เรียน เด็กพวกนี้จึงไปไม่เป็น ถึงขั้นร้องไห้ เพราะไม่รู้ว่าตัวเองจะรับมือกับสิ่งนี้ได้อย่างไร ฉากตอนที่พัฒน์และเกรซรู้ตัวว่าลินจะไม่เป็นเพื่อนกับพวกเขาอีกต่อไป (ในฉากนี้ เกรซจะร้องไห้ด้วย ผู้เขียนตีความว่า เกรซอาจไม่ได้ร้องเพราะเสียเพื่อน หากร้องไห้เพราะไม่ทราบชะตากรรมตัวเองเมื่อไปเรียนต่อที่อเมริกามากกว่า) จึงตอกย้ำสภาวะนี้ได้เป็นอย่างดี

 

จริงๆ แล้วหนังเรื่องนี้ยังมีประเด็นทางด้านการศึกษาที่ควรเอามาพูดคุยอีกมาก แต่ว่าเนื้อที่ไม่มีแล้ว จึงขอจบไว้แค่นี้ก่อนนะครับ

แต่เอาเป็นว่า อยากให้คนในกระทรวงศึกษาธิการได้ดูหนังเรื่อง ฉลาดเกมส์โกง กันให้มากๆ นะครับ

เพราะนี่คือหนังว่าด้วยการศึกษาอย่างชัดเจน!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save