fbpx
หลักประกันสุขภาพที่รัก (16) : 'Cause Of Death : Unknown' ตอนที่ 3

หลักประกันสุขภาพที่รัก (16) : ‘Cause Of Death : Unknown’ ตอนที่ 3

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

ต่อจากตอนที่แล้ว

หนังเล่าต่อไปถึงยาตัวที่สอง โดยขึ้นต้นด้วยโฆษณาแป้งเด็กจอห์นสันแอนด์จอห์นสันที่คุ้นเคย ยาต้านโรคจิตรุ่นใหม่ตัวที่สองที่ออกมาทำตลาดเป็นของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ชื่อว่า Risperdal มีชื่อสามัญทางยาว่า Risperidone

ยาใหม่นี้มีข้อบ่งชี้ในการรักษาโรคจิตเภทตั้งแต่แรก และมีข้อบ่งชี้ในการรักษาโรคไบโพลาร์ระยะแมเนียตั้งแต่แรกด้วย ราคายาไม่สูงมากนักเพียงเม็ดละไม่กี่สิบบาทในตอนแรก และมีฤทธิ์ข้างเคียงตามสมควรไม่แตกต่างจากยารุ่นเก่าเท่าใดนัก แม้ว่าจะน้อยกว่าบ้าง

อย่างไรก็ตาม จอห์นสันแอนด์จอห์นสันก็ทำการตลาดแบบลิลลี่ กล่าวคือขยายข้อบ่งใช้ออกไปเกินกว่าที่ FDA อนุญาต แล้วก็ถูกปรับไปอีกพันล้านดอลลาร์ในลักษณะเดียวกัน ปัจจุบันนี้ยาตัวนี้หลุดสิทธิบัตรแล้วเช่นเดียวกัน และสามารถใช้ได้ด้วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

หนังฉายให้เห็นการทำตลาดของยามหัศจรรย์ 2 ตัวคือ โปรแซ็ค และ ไซเปร๊กซ่า กับยาดีที่ถ่อมเนื้อถ่อมตัวอีกหนึ่งตัวคือ ริสเพอดาล ที่หนังไม่พูดคือยาสามตัวนี้ดีจริง ช่วยเหลือผู้ป่วยได้มากมายจริง มีผู้ป่วยหลายล้านคนทั่วโลกที่มีอาการทางจิตดีขึ้นจากยาสามตัวนี้ หนังไม่ได้บอกว่าผู้ป่วยรอดพ้นการฆ่าตัวตายไปได้มากมายเพียงใด แม้กระทั่งไซเปร๊กซ่าและริสเพอดาล ก็เป็นยาที่ใช้ขจัดความคิดฆ่าตัวตายออกไปจากหัวได้ถ้าใช้ถูกวิธี มากไปกว่านี้ที่หนังไม่บอกคือ ยาสามตัวนี้ได้ช่วยเหลือครอบครัวของผู้ป่วยไปมากกว่ามากจนประเมินค่ามิได้ โดยเฉพาะครอบครัวของผู้ป่วยโรคจิตเภท

ไซเปร๊กซ่าและริสเพอดาล ช่วยให้ผู้ป่วยโรคจิตเภทอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน การที่ผู้ป่วยอาการดีขึ้นทำให้ครอบครัวของผู้ป่วยเข้าสู่สมดุล ทุกคนมีความสุขมากขึ้น ความรักกลับคืนมา และที่ไม่มีใครอยากพูดถึง คือยาสองตัวนี้ลดความก้าวร้าวของผู้ป่วยลงไปมาก ทำให้สมาชิกครอบครัวรอดพ้นการถูกทำร้ายมากขึ้น

ข้อดีมหาศาลเหล่านี้มิได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดหรือย้ำในหนัง หนังย้ำแต่เรื่องการตายกะทันหัน เพราะแอนนิเกลไปสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติการตาย พบว่าตัวเลขของการรายงานภาวะตายกะทันหันหลังใช้ยารักษาโรคจิตเภทกลุ่มใหม่ๆ นี้ทั่วโลก อยู่ที่ร้อยละ x คน แต่อัตราการรายงานอยู่ที่ร้อยละ y ดังนั้นตัวเลขที่แท้จริงสูงมาก จะเห็นว่าหนังเจตนาวาดภาพให้ผู้ชมเห็นชัดๆ ว่ายาน่ากลัว

ผู้เขียนบทความนี้เป็นคนหนึ่งที่รู้ว่ายาเหล่านี้น่ากลัว แต่ว่าไปแล้ว ยารักษาโรคทุกชนิดบนโลกล้วนน่ากลัว แต่เราไม่มีหนทางใดจะช่วยผู้ป่วยได้เลยหากไม่ใช้ยาเหล่านี้ เพราะที่แท้แล้วไม่มีหนทางอื่นเลย

ดังนั้น จิตแพทย์สมัยใหม่ทุกคนจะใช้ยาเหล่านี้ด้วยความระมัดระวัง และผู้เขียนเชื่อว่าจิตแพทย์จำนวนมากรู้อยู่แก่ใจว่าตัวเองกำลังเสี่ยง แม้ต้องเสี่ยงรักษาด้วยยาอันตราย แต่เมื่อประโยชน์ผู้ป่วยมาก่อนประโยชน์ส่วนตน และเป็นการเสี่ยงที่วางบนรากฐานวิชาการที่ดีและเวชปฏิบัติที่ดี เราก็คงต้องยอมเสี่ยงเพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และครอบครัวได้รับประโยชน์จากยานั้น

ไม่ต่างอะไรจากศัลยแพทย์ฝีมือดีที่ยอมเสี่ยงตัวเองผ่าตัดยากๆ เพื่อช่วยชีวิตคน ทั้งที่คุณหมอสามารถปฏิเสธไม่ผ่าก็ได้โดยไม่มีใครล่วงรู้ หรืออายุรแพทย์ที่ยินดีใช้ยาช่วยชีวิตที่มีฤทธิ์ข้างเคียงน่ากลัว ทั้งที่คุณหมอจะหลบไปตอนไหนก็ได้ หรือเพลย์เซฟไว้ก่อนก็ได้ แต่ก็ไม่ทำ เหล่านี้คือจริยธรรมวิชาชีพที่แพทย์ที่ดีและกล้าหาญจะธำรงเอาไว้

จะว่าไปก็เหมือนนายแพทย์แฮริส จากออสเตรเลีย ที่ตัดสินใจใช้ยา ketamine และ alprazolam ทั้งที่ถูกโต้แย้ง แต่คุณหมอก็ใช้ยาทั้งสองตัวด้วยความระมัดระวัง เพราะเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ในการช่วยชีวิตเด็ก 13 คนออกจากถ้ำหลวงก่อนถึงเวลาวิกฤต

ผู้ป่วยที่รักษาง่ายๆ หรือที่เราเรียกว่าเคสง่ายๆ แพทย์ที่ไหนก็ทำได้ แต่เคสยากๆ มีแต่แพทย์ที่กล้าหาญและมีวิชาการจึงทำได้ และถ้าต้องทำโดยไม่ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายก็จะดีมาก เพราะเราเรียนมาเพื่อรักษา มิได้เรียนมาเพื่อคิดค่าใช้จ่าย หลักประกันสุขภาพจะช่วยแบ่งเบาภาระทางใจของแพทย์ไปได้มาก

ผู้ป่วยควรไว้ใจแพทย์ (trust) เราจึงจะทำงานได้ดีที่สุด ในขณะเดียวกันระบบควรจ่ายเงินแทนผู้ป่วย นั่นทำให้เราทำงานง่ายมากขึ้นไปอีก นี่คือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

กลับมาที่หนัง ช่วงต่อไปแอนนิเกลขยับมาหาโรคที่ทำตลาดได้มากอีกโรคหนึ่งคือ PTSD หรือ Post-truamatic Stress Disorder โรคนี้เป็นที่กล่าวขวัญถึงมาก เมื่อทหารผ่านศึกจำนวนมากกลับจากสงครามอ่าวเปอร์เซียและอิรัก หนังพาเราไปรู้จักครอบครัวของทหารหนุ่มหน้าตาดีผู้เสียชีวิตจากยากลุ่มนี้

PTSD, Post-truamatic Stress Disorder, อิรัก, เปอร์เซีย

PTSD หรือ Post-traumatic Stress Disorder เคยเป็นที่รู้จักในชื่อว่า Shell-Shock Syndrome คือภาวะที่ทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่ 1 มีอาการแฟลชแบ็คเหมือนกลับสู่สนามรบอีกครั้ง อาการนี้เป็นได้ในตอนกลางวันแสกๆ ตามด้วยฝันร้ายเมื่อนอนหลับ หลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง โรคนี้เคลื่อนตัวมาครอบคลุมประชาชนทั่วไปที่ผ่านภยันตรายร้ายแรง ทั้งที่เป็นหายนะภัยขนาดใหญ่ หรือวินาศภัยขนาดเล็ก ไปจนถึงเรื่องร้ายแรงส่วนบุคคล เช่น การถูกข่มขืน หรือรอดจากอุบัติเหตุรถยนต์ร้ายแรง

เช่นเดียวกับโรคซึมเศร้าและโรคจิต โรค PTSD ถูกอธิบายว่าเกิดจากสารเคมีในสมองที่เสียสมดุล และยาต้านอารมณ์เศร้า เช่น โปรแซ็ค รวมถึงยาต้านโรคจิต เช่น ไซเปร๊กซ่า และ ริสเพอดาล ช่วยได้ รวมถึงยารุ่นใหม่ตัวอื่นๆ อีกหลายตัว นั่นทำให้การตลาดของยากลุ่มนี้ขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น

แอนนิเกลได้ไปพบครอบครัวของทหารผ่านศึกคนหนึ่งที่นอนหลับตาย เป็นเด็กหนุ่มร่างกายแข็งแรง เขาได้ยารักษา คือ Seroquel ในขนาด 1,600 mg/D นั่นคือขนาดสองเท่าของการรักษา ชวนให้นึกถึงครั้งที่ผู้เขียนเป็นแพทย์ประจำบ้าน วันหนึ่งแพทย์โรงพยาบาลศรีธัญญาเวลานั้นได้เสนอผลงานวิชาการสาธิตให้เห็นผู้ป่วย Schizophrenia ที่กินยา Chlorpromazine ในขนาด 1,500 mg/D สร้างความตื่นตกใจให้แก่อาจารย์แพทย์จากโรงเรียนแพทย์ทั้งห้องประชุม ด้วยพวกอาจารย์ไม่เคยมีประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน ในขณะที่แพทย์ในโรงพยาบาลจิตเวชทั่วไปจ่ายยาต้านโรคจิตในขนาดสูงกันเป็นธรรมดา ด้วยเหตุผลที่ว่าผู้ป่วยจำนวนหนึ่งมีพฤติกรรมก้าวร้าวและเป็นอันตรายต่อผู้อื่นอย่างน่ากลัว แน่นอนเราไม่มีทางพิสูจน์ได้ว่ามีผู้ป่วยนอนหลับตายปีละกี่คนในยุคสมัยนั้น

โรค PTSD

หนังพาเรากลับไปพบเรเนต พี่สาวของแอนนิเกล อีกครั้งหนึ่ง หนังเล่าว่าเธอเริ่มไม่สบายตอนอายุ 20 ปี แอนนิเกลคือน้องสาวคนเล็กอายุ 10 ปี เรเนตเริ่มมีอาการด้วยการใช้ผ้าพันศีรษะเอาไว้ตลอดเวลา เมื่อถามว่าพันทำไม เธอตอบว่าพระเจ้าสั่ง และถ้าใครไม่ทำตามที่พระเจ้าสั่งจะต้องถูกลงโทษ

แอนนิเกลเล่าต่อไปว่าเรเนตใช้เวลา 14 ปีหลังจากนั้น เข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง และบางครั้งด้วยความไม่สมัครใจ เธอมีความรัก แต่งงานเมื่ออายุ 25 ปี และมีบุตร 1 คน หนังย้ำเตือนเราเป็นระยะๆ ว่าเธอมีชีวิต จับภาพที่แหวนของเธอเป็นระยะๆ เช่นเดียวกับตอนแรก

จากนั้นแอนนิเกลก็เล่าวิธีที่บริษัทยาเข้าควบคุมธุรกิจครบวงจร โดยชี้ให้เห็นและสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องในแต่ละขั้นตอน นั่นคือ ควบคุมงานวิจัย ควบคุมคู่มือวินิจฉัยโรค และควบคุมรัฐสภาแห่งยุโรป

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save