fbpx
หลักประกันสุขภาพที่รัก (15) : “Cause Of Death : Unknown” ตอนที่ 2

หลักประกันสุขภาพที่รัก (15) : “Cause Of Death : Unknown” ตอนที่ 2

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

ต่อจากตอนที่แล้ว

เมื่อ ‘โปรแซ็ค’ หลุดพ้นจากสิทธิบัตรยาไปเสียแล้ว กำไรของบริษัทลดฮวบในระดับที่ผู้บริหารบริษัทและผู้ถือหุ้นหวั่นไหว บริษัทวางยาตัวใหม่ที่สร้างความตื่นตะลึงแก่วงการไม่เป็นรองโปรแซ็ค นั่นคือ ‘ไซเปร๊กซ่า’ (Zyprexa) ซึ่งเป็นยาที่ดีมากในการรักษาผู้ป่วยโรคจิตเภท (Schizophrenia)

ปรากฏการณ์ไซเปร๊กซ่านี้ซ้ำรอยโปรแซ็ค แม้จะไม่ฮือฮาเท่าแต่ก็ไม่เบา บริษัทผูกขาดสิทธิบัตรยาอยู่นานหลายปี แต่เนื่องจากราคายาแพงมหาศาลเมื่อเทียบกับโปรแซ็คซึ่งว่าแพงแล้ว บริษัทใช้กลยุทธเดิมคือขยายพรมแดนการใช้ออกไปมากกว่าข้อบ่งชี้แรกคือโรคจิตเภท

ถึงตอนนี้หนังฉายให้เราเห็นโฆษณาที่บริษัทใช้ในการขยายฐานผู้ป่วย กล่าวคือชวนให้จิตแพทย์และแพทย์ทั่วไป เชื่อว่าโรคซึมเศร้าที่ผู้ป่วยเป็นอยู่มิใช่โรคซึมเศร้า แต่เป็นเพียง “ครึ่งเดียวที่เราเห็น” นั่นคือเป็นเพียงระยะซึมเศร้าของโรคที่น่ากลัวมากกว่า คือโรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) ซึ่งทำความเสียหายให้แก่ตัวผู้ป่วยเองและครอบครัวอย่างหนัก

บัดนี้คำตอบของการรักษาที่ง่าย ดี เร็ว ไม่มีฤทธิ์ข้างเคียงได้เกิดขึ้นแล้ว นั่นคือไซเปร๊กซ่า

Cause Of Death : Unknown, ไซเปร๊กซ่า' (Zyprexa)

ต่อไปนี้เป็นผู้เขียนเขียนเพิ่มเติมจากที่เห็นในหนัง

ที่จริงแล้วกระแสนิยมเป็นโรคไบโพลาร์ในบ้านเราทุกวันนี้ มิใช่ฝีมือของบริษัทหรือไซเปร๊กซ่า แต่เป็นฝีมือของหลายๆ องค์กรร่วมกันตั้งแต่กรมสุขภาพจิต โรงพยาบาลเอกชน นิตยสารสุขภาพ และรายการโทรทัศน์ด้านสุขภาพจิต ซึ่งเป็นไปตามขนบปกติของทุนนิยม นั่นคือเมื่อผลิตยามาแล้วจะอย่างไรก็ต้องขายให้ได้ และจะขายให้ได้ก็ต้องเพิ่มฐานลูกค้าให้มากพอ

ยาไซเปร๊กซ่านี้ราคาเม็ดละ 300-400 บาทในปีที่วางตลาดใหม่ๆ คือประมาณ 20 ปีก่อน เป็นยารักษาโรคจิตที่ออกฤทธิ์เร็ว แรง ชะงัด และไม่มีฤทธิ์ข้างเคียงเลยเหมือนโปรแซ็คตอนแรกๆ เทียบกับยารักษาโรคจิตรุ่นเก่าที่เรารู้จักมา 50 ปีตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเช่นกัน

ยารุ่นเก่ามีฤทธิ์ข้างเคียงมากกว่ามาก ที่พบบ่อยคือง่วง ปากแห้ง ท้องผูก แต่ที่เป็นปัญหามากที่สุดคือฤทธิ์ข้างเคียงที่เรียกว่า extrapyramidal symptoms ได้แก่อาการมือสั่น ตัวแข็งทื่อ ตาเหลือกขึ้น คอแหงน น้ำลายไหล และซอยเท้าอยู่กับที่ (akathisia) แม้ว่าฤทธิ์ข้างเคียงนี้จะไม่มีอันตรายอะไรเลย ผู้ป่วยไม่เจ็บปวดแต่อย่างใด และมียาแก้หรือยาป้องกันมิให้เกิด แต่ก็เป็นอุปสรรคต่อการปรับยาขึ้นไปในขนาดสูงถึงขนาดรักษาผู้ป่วยโรคจิตเภท

ทั้งนี้ยังไม่นับว่าญาติผู้ป่วยมักสติแตกไปก่อนผู้ป่วย เมื่อเห็นผู้ป่วย ‘ชัก’ จากยารุ่นเก่า

แต่ไซเปร๊กซ่าไม่มีฤทธิ์ข้างเคียงอย่างที่ว่าเลย เงียบสนิท ดีมหัศจรรย์ ผลการรักษาก็ดีมาก ยาสามารถให้ในขนาดรักษาได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาปรับขนาด และผู้ป่วยส่วนหนึ่งดีขึ้นใน 14 วัน สมคำโฆษณา

ครั้งที่ผู้เขียนบินไปประชุมจิตแพทย์โลกที่กรุงปราก สาธารณรัฐเชค ด้วยทุนส่วนตัวพร้อมภรรยา ผู้เขียนพบแพทย์จำนวนมากไปประชุมด้วยทุนบริษัท แต่เรื่องนี้มิได้จำเพาะเกิดกับบ้านเรา

ที่บริเวณโถงชั้นล่างของห้องศูนย์ประชุมที่ปราก ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับกำแพงโบราณขนาดยักษ์ของปรากทางทิศใต้ บริษัทปิดห้องเลี้ยงไวน์แก่ผู้เข้าร่วมประชุมทุกๆ คน บริเวณนั้นประดับประดาด้วยคัทเอาต์โทนสีม่วง อันเป็นสีประจำตัวของไซเปร๊กซ่า

จำได้ว่าปีนั้น มีบางบู๊ทของบริษัทยาบางบริษัทได้ขึ้นคำเตือนแล้วว่า ห้ามแพทย์จากประเทศดังมีรายชื่อต่อไปนี้ หรือบางมลรัฐของบางประเทศดังมีรายชื่อต่อไปนี้ รับของกำนัลใดๆ จากบริษัทยา ด้วยกฎหมายจัดความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และบริษัทยาบังคับใช้ในบางมลรัฐหรือบางประเทศแล้ว แม้แต่ปากกาก็รับไม่ได้ นั่นคือช่วงเริ่มต้นของสหัสวรรษ

ไซเปร๊กซ่าเป็นยาที่ดีจริงสำหรับผู้ป่วยโรคจิตเภท แม้วันนี้ก็ยังดีอยู่ และเป็นเช่นเดียวกับยารุ่นใหม่ๆ ทุกตัว กล่าวคือฤทธิ์ข้างเคียงที่โฆษณาว่าไม่มีในตอนแรก จะค่อยๆ เปิดเผยออกมาในภายหลัง ไซเปร๊กซ่าทำให้ผู้ป่วยของเรา ‘บางคน’ อ้วนถึงอ้วนมากในเวลาอันรวดเร็ว แน่นอนว่ามิได้เกิดแก่ผู้ป่วยทุกๆ คน แต่เมื่อเกิดขึ้นที ทั้งผู้ป่วยและผู้เขียนกุมขมับมากยิ่งกว่าการใช้ยารุ่นเก่าที่ทำให้ตัวแข็งทื่อนั้นเสียอีก

เพราะเรื่องตัวแข็งทื่อนั้นช่วยได้ แต่เรื่องอ้วนนี้โลกแทบแตกเอาเลยทีเดียว

ไซเปร๊กซ่าหลุดสิทธิบัตรยาแล้วในปัจจุบัน ทำให้ราคายาอิมพอร์ตที่เม็ดละ 400 กว่าบาท ลดเหลือ 10-20 บาท สำหรับชื่อสามัญคือ Olanzapine ซึ่งผลิตในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ยามิได้มีที่ใช้มากมายเหมือนโปรแซ็คหรือฟลูออกเซทิน ขณะเดียวกันก็มียารักษาโรคจิตตัวใหม่ๆ จากอีกหลายบริษัทที่เข้ามาแชร์ส่วนแบ่งการตลาด ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็สับยับทุกตัวไป

กลับมาที่หนัง บริษัทถูกฟ้องเรื่องการโฆษณาเกินจริง และศาลสูงสหรัฐตัดสินให้บริษัทจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 2 พันล้านดอลลาร์ หนังโฟกัสไปที่ผู้เชี่ยวชาญอีกครั้งหนึ่งว่า เงินสองพันล้านดอลลาร์เทียบกับผลกำไรหลายพันล้านดอลลาร์ที่บริษัทได้ไปแล้ว นับเป็นต้นทุนที่ต้องจ่ายตั้งแต่แรกอยู่แล้ว มิใช่เรื่องใหญ่แต่อย่างใด

ไซเปร๊กซ่าไม่ฮือฮาเท่าโปรแซ็คก็จริง แต่ก็เหมือนโปรแซ็คในแง่ที่ว่า เป็นยารักษาโรคจิตเภทรุ่นใหม่ที่ออกวิ่งไปก่อนและทำกำไรมหาศาลไปก่อน คล้ายๆ ไวอากร้าที่ออกตัวก่อนและชนะถล่มทลาย

หนังเล่าต่อไปถึงยาตัวที่สอง โดยขึ้นต้นด้วยโฆษณาแป้งเด็ก จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ที่คุ้นเคย ยาต้านโรคจิตรุ่นใหม่ตัวที่สองที่ออกมาทำตลาด เป็นของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ชื่อว่า Risperdal  มีชื่อสามัญทางยาว่า Risperidone

(ยังมีต่อ)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save