fbpx

“เจอกัญทุกที่ แต่ไม่มีใครรับร้องทุกข์?” เมื่ออาหารกัญชาทำให้ผู้บริโภคไม่ปลอดภัย

ครบหนึ่งขวบปีกับอีกเศษเดือนของการปลดล็อกกัญชาวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ภายใต้ภาวะสุญญากาศทางนโยบายอันยาวนาน ไร้วี่แววพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง หรือกฎหมายใดเข้ามากำกับควบคุมโดยเฉพาะ ทำให้สังคมไทยได้ทำความรู้จักพืชชนิดนี้ในหลากหลายรูปแบบ นอกเหนือไปจากการใช้เพื่อทางการแพทย์ตามความตั้งใจเดิมของพรรคการเมืองผู้ริเริ่มเสนอการปลดล็อก เราได้เห็นกัญชาผสมลงในเครื่องดื่ม อาหารคาว ขนมหวาน ซึ่งนับวันจะแนบเนียนและเย้ายวนใจขึ้นเรื่อยๆ

ถึงขนาดที่ผู้ปกครองของเด็กชายวัย 6 ขวบ ผู้อาศัยในกรุงเทพมหานคร ไม่ทันคาดคิดว่าขนมรูปน่องไก่ที่เด็กชายซื้อมารับประทานจะมีส่วนผสมของกัญชา จนได้เห็นว่าอาการสมาธิสั้นที่ลูกของพวกเขาประสบอยู่รุนแรงขึ้น เด็กชายไม่อาจอยู่นิ่ง ไม่ฟังและไม่ตอบคำถามใคร ได้แต่กระโดดโลดเต้นปีนป่ายมากกว่าปกติ ก่อนหลับใหลไปกว่า 11 ชั่วโมง

ขณะที่เด็กหญิงวัย 8 ขวบและครอบครัวในจังหวัดนครพนม เพิ่งเข้าใจความหมายของประโยค ‘high to high BKK’ บนหน้าซองขนมเยลลี่ที่ญาติซื้อมาฝาก หลังเธอเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และหลับปลุกไม่ตื่น ถึงขั้นต้องมาพบแพทย์และเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

ส่วนเด็กชายวัยไล่เลี่ยกันอีกคนในจังหวัดสกลนคร แค่รับขวดน้ำชาแบรนด์ดังจากคนแปลกหน้ามาดื่มด้วยความไร้เดียงสา แต่เผอิญมีสาร THC ของกัญชาเจือปนในนั้น ทำให้เขาเป็นลมหมดสติ หัวใจเต้นเร็ว ตกอยู่ในภาวะวิกฤต ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในโรงพยาบาล 2 วันเต็มๆ กว่าจะรู้สึกตัว

3 กรณีข้างต้น คือส่วนหนึ่งจาก 30 กรณีผู้ป่วยเด็กจากกัญชา ในรายงานของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ข้อมูลตั้งแต่ 21 มิถุนายน 2565 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเหตุการณ์ทำนองนี้มิได้ส่งผลเพียงเยาวชนเท่านั้น แม้แต่คนเป็นผู้ใหญ่ยังเกิดพลาดพลั้งรับประทานกัญชาและประสบอาการแพ้รุนแรงได้ ดังที่ปรากฏในข่าว ‘สาวเตือนภัย! ซื้อต้มจืดมะระไม่รู้แม่ค้าใส่ใบกัญชา สุดท้ายแพ้หนักจนเข้า รพ.’ ‘หนุ่มกินก๋วยจั๊บใส่กัญชา แพ้หนักต้องหามเข้า รพ. จ่อแจ้งความ หากร้านไม่รับผิดชอบ’ และอื่นๆ อีกมากมาย

‘อาหาร’ เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวและเข้าถึงคนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย เมื่ออาหารถูกปรุงด้วยส่วนผสมใหม่ ที่หลายคนยังปราศจากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพืชชนิดนี้ อีกทั้งผู้บริโภคไม่ได้รับคำเตือนที่เหมาะสมแก่การตัดสินใจ จึงกลายเป็นคำถามน่าขบคิดว่าเราจะจัดการกับอาหารผสมกัญชาอย่างไร อยู่ร่วมกับมันอย่างไร มีสิทธิ์เลือกหรือได้รับการคุ้มครองมากน้อยแค่ไหน ในตอนที่ยังไม่มีหน่วยงานใดออกหน้ารับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค


อาหารผสมกัญชา ที่ผ่านมารัฐ ‘เอาอยู่’ ไหม?


“ปัจจุบันอาหารมีสารเคมีและสิ่งปนเปื้อนมากมาย เรายังจัดการไม่ได้ และระบบการดูแลความปลอดภัยของผู้บริโภคยังไม่ทั่วถึง ยิ่งพอมีกัญชาเข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วความปลอดภัยของผู้บริโภคจะเป็นอย่างไร”

นับตั้งแต่แว่วข่าวนโยบายกัญชาเพื่อทางการแพทย์นำโดยพรรคภูมิใจไทย มาถึงกระบวนการปลดล็อกจากรายชื่อยาเสพติดที่ดำเนินการรวดเร็วฉับไว มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการ ผู้ขับเคลื่อนการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคด้านด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ของสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) คือหนึ่งในคนที่ติดตามความเป็นไปและผลกระทบจากสภาพการณ์ ‘กัญชาเสรี’ อย่างใกล้ชิด

หากย้อนมองเส้นทางการปลดล็อกเริ่มแรกจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติยาเสพติด ฉบับที่ 7 ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ มลฤดีเล่าว่า ณ ตอนนั้นยังไม่น่ากังวลมากนัก เพราะเป็นการปลดล็อกเพียงบางส่วน ช่อดอก ใบติดช่อดอก และเมล็ดกัญชายังถูกควบคุมในฐานะยาเสพติด  แต่ต่อมา เมื่อประกาศกระทรวงสาธารณสุขในปี 2563 อนุญาตให้ชุมชนปลูกกัญชาได้บ้านละ 6 ต้น ภายใต้เงื่อนไขต้องขอจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ส่งผลให้ภายหลังเกิดกระบวนการถอดกัญชาออกจากยาเสพติดประเภทที่ 5 ซึ่งมีผลอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน 2565

“ความกังวลของเราเริ่มชัดเจนมากขึ้นว่ากัญชาจะถูกใช้อย่างเสรีเมื่อมีประกาศจะปลดล็อกออกมาทั้งต้น หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศมาแล้ว (วันที่ 8 ก.พ. 2565) ทางสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ทำหนังสือแสดงข้อห่วงใยถึงคุณอนุทินว่าถ้าเกิดปล่อยให้กัญชาเสรีโดยไม่มีการควบคุม ปัญหาที่ตามมาจะกระทบผู้บริโภคในวงกว้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเด็กและเยาวชนหรือกระทั่งคนทั่วไป”

ใจความสำคัญของหนังสือฉบับนั้นระบุความเสี่ยงของการปลดล็อกกัญชาว่าบรรดาผู้ประกอบการอาจนำส่วนต่างๆ ของต้นกัญชากัญชง โดยเฉพาะช่อดอกที่มีสาร THC (Tetrahydrocannabinol) ปริมาณมากผสมลงในอาหารเพื่อจำหน่ายได้อย่างอิสระ ทำให้อาจเกิดอันตรายต่อผู้บริโภค อีกทั้งยังทวงถามถึงมาตรการตรวจสอบสาร THC ในอาหารผสมกัญชาว่าเกินกำหนด 0.2% หรือไม่จากทางกรมอนามัย

“เราคิดว่าพอปลดล็อกกัญชาออกมาแล้ว ประชาชนจะเกิดความอยากลอง เด็กจะเกิดความอยากลอง แต่เราไม่รู้เลยว่าในความอยากลองนั้น ผู้บริโภคจะแพ้สารที่อยู่ในกัญชาหรือเปล่า” มลฤดีอธิบายว่าก่อนหน้านี้กัญชามีสถานะเป็นยาเสพติด ทำให้แทบไม่มีใครนำมาผสมลงในอาหารทั่วไป และแทบไม่มีงานวิจัยยืนยันได้แน่ชัดว่าเมื่อบริโภคเข้าไปแล้วจะเกิดผลอย่างไรตามมาบ้าง “สิ่งนี้เป็นสิ่งใหม่มากสำหรับการนำมาผสมในอาหาร”


มลฤดี โพธิ์อินทร์


สาเหตุที่สภาองค์กรของผู้บริโภคจริงจังกับเรื่องกัญชาในอาหารเป็นพิเศษเพราะ ‘อาหารเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้’ ไม่ว่าจะเป็นเด็กและเยาวชน คนตั้งครรภ์ คนแก่ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว

“การใช้กัญชาเป็นยายังเข้าถึงได้แค่กลุ่มคนที่เข้ารับการรักษาและเลือกใช้ แต่ความเสี่ยงจากกัญชาไปถึงทุกคนได้ผ่านอาหาร เราจึงจริงจังมากว่าใครจะสามารถตรวจสอบได้บ้างอาหารที่เรากิน เครื่องดื่มที่เราดื่มมีสาร THC น้อยกว่า 0.2% หรือไม่ ผลิตภัณฑ์อาหารผสมกัญชาที่ต้องขออนุญาต อย. ก่อนและหลังการได้รับอนุญาตมีการควบคุมสาร THC ให้ไม่เกิน 0.2% ไหม

“จากการทำงานติดตามดูแลเรื่องสารตกค้างหรือสารอันตรายต่อผู้บริโภคในอาหารมา ไม่ว่าจะเป็นสารกันบูด บอแรกซ์ หลายครั้งผลิตภัณฑ์มีปริมาณสารเกินกว่ากำหนดหลังจากขออนุญาต อย. มาแล้ว” มลฤดีแบ่งปันประสบการณ์

หลังจากส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและกรมอนามัย ด้วยความที่ท้ายเอกสารหนังสือแสดงข้อห่วงใยลงชื่อของมลฤดีในฐานะผู้ติดต่อประสานงาน เธอจึงทราบว่าต้องรอนานเกือบสองเดือนกว่ากรมอนามัยจะส่งหนังสือตอบกลับมาในวันที่ 3 สิงหาคม 2565 ใจความว่า กรมอนามัยได้ออกประกาศควบคุมการใช้ใบกัญชามาปรุงอาหารให้ผู้ประกอบกิจการร้านอาหาร รวมถึงให้แสดงคำเตือนสำหรับเด็ก หญิงมีครรภ์ และหญิงให้นมบุตรแล้ว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานเฉพาะทำหน้าที่ตรวจสอบสาร THC ในอาหาร และกรมอนามัยไม่มีอำนาจลงโทษผู้ประกอบการหากเกิดข้อร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ

“เขาบอกว่าประกาศตัวนี้ไม่มีอำนาจทางกฎหมาย ถ้าเกิดคุณไม่ติดประกาศ ไม่ติดฉลาก ไม่แสดงคำเตือน กรมอนามัยก็ไม่มีสิทธิ์ลงโทษอะไรเลย” มลฤดีเล่า “เราจึงผลักดันให้ยกเลิกประกาศของกรมอนามัย แล้วเปลี่ยนเป็นประกาศของกระทรวงสาธารณสุขแทน เพื่อให้มีอำนาจทางกฎหมายควบคุมว่าถ้าร้านอาหารไม่แสดงฉลาก ไม่ติดคำเตือนว่าใช้กัญชาเป็นส่วนผสมเท่าไหร่ ใช้ในอาหารอะไรบ้าง จะมีความผิดทางกฎหมายตามประกาศของพระราชบัญญัติอาหาร”

ครั้นถามว่าอันที่จริงกรมกองใดของรัฐมีหน้าที่กำกับดูแลเรื่องกัญชา มลฤดีให้คำตอบว่าภายใต้ร่มใหญ่ชื่อกระทรวงสาธารณสุข สามารถแบ่งแยกย่อยได้ดังนี้

“ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและยาต้องมีเลขอนุญาต สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะเป็นคนดูแล ซึ่งทาง อย. ก็ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขมาควบคุมหนึ่งฉบับให้ผู้ที่ใช้ส่วนประกอบของกัญชาเป็นส่วนผสมในอาหารของอุตสาหกรรมต้องมาขออนุญาต จดแจ้งเลขทะเบียนกับ อย. ต้องใช้ฉลากแจ้งว่าผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมของกัญชา”

มลฤดีเสริมว่าหากผลิตภัณฑ์ไม่มีการจดแจ้งเลขทะเบียน ตามกฎหมายจะมีความผิดเรื่องการจำหน่ายอาหารที่ไม่ขึ้นทะเบียน อย. มีโทษทั้งจำและปรับ รวมถึงถ้าผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการบริโภคอาหาร เข้าข่ายเป็นอาหารที่ไม่มีความปลอดภัย ควรได้รับโทษตามมาตราในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 อีกเช่นกัน

ด้านร้านอาหาร เครื่องดื่ม และเบเกอรี่ทั่วไป มลฤดีอธิบายว่าอยู่ภายใต้การดูแลของกรมอนามัย ซึ่งร้านเหล่านั้นต้องขอรับใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองการจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารกับสำนักงานเขต รวมถึงต้องใช้กัญชาจากแหล่งผลิตและแหล่งจำหน่ายที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรเท่านั้นจึงจะถูกต้องตามกฎหมาย

แม้จะมีหน่วยงานแยกย่อยร่วมกันกำกับแต่ละส่วนตามแบบฉบับรัฐไทย แต่มลฤดีมองว่าในเมื่อช่องโหว่สำคัญคือการอนุญาตให้ครัวเรือนทั่วไปปลูกกัญชา ทำให้มาตรการควบคุมที่มีอยู่อาจใช้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร และถึงจะกำหนดว่าผู้ปลูกต้องจดแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน ‘ปลูกกัญ’ ทว่าการลงทะเบียนนั้นเป็นเพียงการแจ้งข้อมูล ไม่มีกระบวนการพิจารณาคุณสมบัติผู้ปลูกใดๆ ชวนให้ขบคิดว่าลำพังประกาศจากหน่วยงานรัฐจะสามารถกำกับถึงขั้นการประกอบอาหารในครัวเรือนหรือร้านค้าชุมชนขนาดเล็กได้ดีแค่ไหน

หากอ้างอิงข้อมูลจากรายงานวิจัยความรู้ความเข้าใจและความตระหนักของผู้ประกอบการร้านอาหารและวิสาหกิจชุมชนต่อมาตรการทางกฎหมายและกรรมวิธีการผลิตอาหารที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม โดย ผศ.ดร.ภญ.อุษาวดี สุตะภักดิ์ และ อ.ดร.ภก.ธีรพงศ์ ตั้งใจ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการ 320 คนในจังหวัดเชียงใหม่ จะพบว่ามีผู้ประกอบการกว่า 12.6% เข้าใจว่าสามารถทุกส่วนของกัญชา ไม่ว่ายอดหรือช่อดอก มาใช้ประโยชน์ ผสมลงอาหาร เครื่องดื่ม ขนมได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด ขณะที่ 23.9% คิดว่านำกัญชาจากแหล่งใดก็ได้ เช่น กัญชาที่มาจากการปลูกในครัวเรือน มาประกอบอาหารเพื่อจำหน่าย และผู้ประกอบการเกิน 50% ไม่ทราบว่าการผสมกัญชาลงในอาหารต้องระมัดระวังเรื่องสารปนเปื้อน อย่างสารโลหะหนัก สารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือเชื้อจุลินทรีย์ที่มีโทษ – สิ่งนี้คงสะท้อนภาพใหญ่ในสังคมได้ว่าผู้ประกอบการหลายคนอาจยังไม่เข้าใจวิธีการใช้ ‘ส่วนผสม’ ใหม่ที่ดีพอ และบรรดาประกาศ ข้อแนะนำ หรือการบังคับใช้บทลงโทษของรัฐอาจจะยัง ‘เอาไม่อยู่’ อย่างที่เคยหวังไว้


เมื่อเด็กเข้าถึงกัญชาง่าย ทั้งในโลกจริงและออนไลน์


ในสภาพการณ์กัญชาเสรีเช่นที่เป็นอยู่ หลายฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบและน่ากังวลมากที่สุดคงหนีไม่พ้นกลุ่มเด็กและเยาวชนไทย ข้อมูลที่รวบรวมโดยศูนย์ คิด for คิดส์ ระบุว่ามีงานศึกษาหลายชิ้นกล่าวถึงปัญหาด้านพัฒนาการทางสมองของเด็กและเยาวชนที่ได้รับกัญชาปริมาณมากและต่อเนื่อง เช่น ความสามารถในการรู้คิด การจดจำ และตัดสินใจแย่ลง ระดับเชาวน์ปัญญา (ไอคิว) และศักยภาพในการเรียนรู้อาจลดลง รวมถึงเสี่ยงต่อโรคทางจิตเวช อย่างหูแว่ว วิตกกังวล หรือซึมเศร้า

อีกทั้งยังมีข้อค้นพบว่าหากเยาวชนเริ่มใช้กัญชาเร็ว อาจนำไปสู่การทดลองใช้หรือติดสารเสพติดชนิดอื่นๆ ที่รุนแรงมากขึ้น ปัจจุบันจึงมีมาตรการห้ามจำหน่ายกัญชาแก่บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี แต่มลฤดีกลับเล่าว่า “เราเคยทดลองให้เด็กไปซื้อเครื่องดื่มผสมกัญชาในร้านสะดวกซื้อ พนักงานก็ไม่ได้ขอดูบัตรประชาชนเลย” แสดงให้เห็นว่าร้านค้าส่วนหนึ่งไม่รู้ถึงข้อห้าม หรือไม่ทราบว่าผลิตภัณฑ์ใดมีส่วนผสมของกัญชา

ขณะเดียวกัน ดังที่เคยปรากฏในข่าวว่ามีการตั้งร้านขายกัญชาหน้าโรงเรียนชื่อดังย่านสีลม และมีนักเรียนสามารถนำกัญชาเข้าไปจำหน่ายในสถานศึกษาแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปางจนผู้ปกครองต่างร้องเรียนเรื่องบุตรหลานเสพติดกัญชากันจำนวนมาก ก็สะท้อนให้เห็นถึงความหละหลวม ไร้มาตรการกำหนดจุดจำหน่ายและไม่มีการตรวจสอบพื้นที่ของเยาวชนซึ่งควรปลอดกัญชาอย่างเคร่งครัด

ยิ่งไปกว่านั้น มลฤดีชี้ว่า “ที่น่าเป็นห่วงมากคือผลิตภัณฑ์ที่ขายในโลกออนไลน์ เพราะยังไม่มีการควบคุม เราจะเห็นคุกกี้ ขนมเบเกอรี่ใส่กัญชาที่เข้าถึงได้ง่ายมาก แล้วยังมีคนช่วยรีวิวแนะนำอาหารผสมกัญชา”

ใน ‘การประชุมวิชาการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) : เพื่อการพัฒนาศักยภาพการวิจัย และนักวิชาการการเสพติด ครั้งที่ 9’ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ผศ.ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์อิสระ นำเสนอผลการศึกษาส่วนหนึ่งเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กัญชาในโซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มค้าขายสาธารณะว่า เมื่อสำรวจตลาดออนไลน์ของประเทศไทยปี 2564-2565 พบว่ามีผลิตภัณฑ์ผสมกัญชารูปแบบต่างๆ มากมาย พ้นไปจากกัญชาสดหรือผสมลงในบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว ยังมีขนมอบ เยลลี่ ช็อกโกแลต ที่แลดูจะได้รับความนิยมอย่างมาก

ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีกระบวนการทำการตลาดอย่างเป็นระบบ กล่าวคือมีการคิดค้นชื่อแบรนด์ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามน่าดึงดูด สีสันสดใสให้เชื่อว่าเป็นสิ่งปราศจากอันตราย มีการใช้คำโฆษณาเช่น ‘เยลลี่อวกาศ’ ‘ได้กลิ่นก็ลอยแล้ว’ ‘มีความสุขทุกช่วงเวลา’ ‘สายปาร์ตี้ต้องไม่พลาด’ เพื่อสร้างมายาคติเรื่องความมึนเมาให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเป็นความสุขของคนสมัยใหม่ อาการเคลิบเคลิ้มจากการเสพของมึนเมาคือการปลดปล่อย การหลุดพ้น หรือเสรีภาพ ผู้ผลิตหลายเจ้ายังอ้างการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ส่วนใหญ่มักนำผลิตภัณฑ์ไปจดแจ้งเพียงเพื่อเสริมคำโฆษณาว่าปลอดภัย มีมาตรฐานเพียงพอจะจัดจำหน่าย ใช้บริโภคได้

และเช่นเดียวกับสินค้าประเภทอื่นๆ เจ้าของผลิตภัณฑ์กัญชาเองก็จัดโปรโมชันส่งเสริมการขายออนไลน์ เช่น ลดราคา ส่งฟรี รวมถึงใช้อินฟลูเอนเซอร์ คำรีวิวช่วยในการจำหน่าย ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกเผยแพร่ผ่านช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ประเภทต่างๆ โดยไม่มีการปิดกั้น กลั่นกรอง หรือตรวจสอบโดยหน่วยงานใดเลย แม้ว่าผลิตภัณฑ์หลายชิ้นจะเข้าข่ายโฆษณาเกินจริงก็ตาม

อนึ่ง งานศึกษาชิ้นดังกล่าวจัดทำและเผยแพร่ก่อนการประกาศปลดล็อกกัญชาทั้งต้นในเดือนมิถุนายน 2565 ดังนั้นจึงน่ากังวลว่าสถานการณ์ปัจจุบันอาจมีผู้ค้าผลิตภัณฑ์กัญชาจำนวนมากขึ้นกว่าเดิม หลากหลายยิ่งกว่าเดิม ซึ่งจะนำมาสู่การแข่งขันทางการค้าผ่านการลดราคา ออกแบบหีบห่อ และปล่อยโฆษณาบนสื่อออนไลน์ที่เยาวชนเข้าถึงได้ – และถ้าหากมีเยาวชนซื้อขายผลิตภัณฑ์กัญชาจริง ก็อาจไม่สามารถเอาผิดผู้ขาย หรือทวงถามความรับผิดชอบจากใครได้เลย


ผู้บริโภคต้องมีสิทธิได้รับอาหารที่ปลอดภัย


“ตอนนี้เรายังไม่ได้ทำการสำรวจแน่ชัดว่าแต่ละชุมชนมีร้านค้าที่ใช้กัญชาในอาหารมากน้อยแค่ไหน แต่เท่าที่สังเกตจากโซเชียลมีเดียหรือค้นหาบนอินเทอร์เน็ต จะเห็นว่ามีร้านอาหาร เครื่องดื่ม เบเกอรี่เปิดใหม่จำนวนมากที่มีเมนูกัญชา”

แม้ดูเหมือนว่ากระแสของอาหารกัญชายังคงอบอวลอยู่ในสังคมไทยและมีผู้ได้รับผลกระทบจากการบริโภคกัญชาโดยไม่ตั้งใจจำนวนไม่น้อย แต่มลฤดีเผยว่าที่ผ่านมายังไม่มีใครติดต่อสภาองค์กรของผู้บริโภคเพื่อร้องเรียนอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่เพียงโทรเข้ามาสอบถามหรือขอคำปรึกษาเกี่ยวกับอาการที่พบจากการรับประทานอาหารผสมกัญชา ซึ่งเธอมองว่าสาเหตุหนึ่งคือยังไม่มีหน่วยงานรัฐที่ออกตัวรับเรื่องร้องเรียนจากกรณีเหล่านี้ ทำให้ผู้บริโภคไม่มั่นใจว่าสุดท้ายตนมีสิทธิได้รับการคุ้มครองมากน้อยแค่ไหน

“ตอนนี้ไม่มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการบริโภคกัญชา ทำให้ผู้บริโภคไม่กล้าเรียกร้องสิทธิ์ของตัวเองเรื่องนี้ เพราะเขาอาจจะคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่ร้องเรียนได้” มลฤดีอธิบาย พร้อมยืนยันว่าหากอาหารผสมกัญชาที่ไม่มีการให้คำเตือน ฉลากระบุส่วนผสม ล้วนมีความผิดด้านละเมิดสิทธิผู้บริโภคเกี่ยวกับสิทธิการได้รับอาหารที่ปลอดภัย


มลฤดี โพธิ์อินทร์


“เพียงแต่อาจจะมีขั้นตอนยุ่งยากอยู่บ้าง ตรงที่ผู้บริโภคต้องเข้าไปรักษาในโรงพยาบาล และต้องขอใบรับรองแพทย์เพื่อยืนยันให้ชัดเจนว่าผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากสาร THC หรือ CBD จากอาหารที่รับประทานเข้าไป และถ้าร้านอาหารใช้กัญชาจริง เรื่องนี้เจรจาไกล่เกลี่ยกับร้านให้ผู้บริโภคได้รับค่าชดเชยเยียวยาเป็นผลแน่นอน”

เมื่อถามว่าการแพ้อาหารผสมกัญชาจะถูกพิจารณาเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล เช่นเดียวกับผู้บริโภคที่แพ้นม แป้ง ถั่ว และอื่นๆ หรือไม่ มลฤดีชี้แจงว่า “เทียบกันแล้ว อาหารที่มีส่วนผสมเหล่านี้ยังถูก อย. บังคับให้ประกาศบนฉลาก แสดงคำเตือนสำหรับผู้แพ้อาหารชนิดนั้นๆ เพราะเคยมีการศึกษามาแล้วว่าจะมีกลุ่มคนที่แพ้อาหารเหล่านี้

“แต่อาหารผสมกัญชา มีสาร THC ที่ยังไม่เคยมีการวิเคราะหรือมีวิธีตรวจทางการแพทย์เลย แม้แต่เรายังไม่รู้ว่าตัวเองแพ้สารชนิดนี้หรือเปล่า ทานเข้าไปจะเกิดอะไรขึ้น ทุกคนจึงมีสิทธิได้รู้ก่อนบริโภค ไม่ใช่ว่าต้องทดลองกินอาหารผสมกัญชาเท่านั้นถึงรู้ว่าเราแพ้หรือเปล่า”

ถ้าให้ประเมินการทำงานและมาตรการที่ผ่านมาทั้งหมด สำหรับมลฤดีให้ความเห็นว่า “มีช่องว่างมากมายจากความไม่พร้อมของหน่วยงานรัฐที่ต้องรับมือกับกัญชา” ทั้งงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบต่อผู้บริโภคจากสารที่เป็นอันตรายในกัญชายังมีออกมาไม่มาก คนบางส่วนในหน่วยงานที่ทำงานขึ้นทะเบียนแหล่งเพาะปลูกกัญชา ที่มาของกัญชา ตรวจโรงงานผลิตต่างๆ ยังไม่รู้ระบบจัดการอย่างแน่ชัด กระทั่งกรมอนามัยก็แจงว่าภาครัฐไม่มีชุดตรวจสาร THC ในอาหาร หากต้องการทราบต้องเก็บตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันอาหาร หรือมหาวิทยาลัยต่างๆ แทน

ส่วนด้านข้อกฎหมาย “พอ พ.ร.บ. ยังไม่เกิดขึ้น สิ่งที่รัฐทำคือออกประกาศกระทรวงมารองรับ แต่กว่าประกาศจะออกมาได้ กัญชาก็เข้าไปอยู่ในร้านอาหารมากมายแล้ว ถ้ามองว่าทั้งหมดเป็นมาตรการชั่วคราวระหว่างรอ พ.ร.บ. คำว่า ‘ชั่วคราว’ โดยปกติแล้วควรดูแลอย่างเข้มงวดมาก บทลงโทษต้องรัดกุม และหน่วยงานแต่ละพื้นที่ต้องเข้าใจตรงกัน”

มลฤดีเสริมว่าอันที่จริง บทลงโทษกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคจากอาหารไม่ปลอดภัยที่มีอยู่ถือว่ารุนแรงพอสมควรแล้ว ถ้าทุกหน่วยงานใช้มาตรการที่ประกาศออกมาพร้อมกฎหมายที่มีอยู่ได้จริง เราก็ยังคงรอ พ.ร.บ.กัญชากัญชงได้ – ติดแค่เมื่อไม่เป็นดังที่คาดหวังไว้ อย่างน้อยก็ต้องหาทางให้ผู้บริโภค รวมถึงเด็กและเยาวชนได้รับความปลอดภัยจากภาวะกัญชาเสรีมากที่สุดในระหว่างที่ยังไม่มีอะไรชัดเจน กระทั่งทิศทางลมการเมืองและนโยบายของรัฐบาลใหม่

“ว่ากันตามตรง กัญชาเป็นเรื่องของการเมือง เริ่มมาจากนโยบายของพรรคใดพรรคหนึ่งที่ได้เข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วทำการปลดล็อกออกไป ในตอนแรกปลดมาใช้เพื่อทางการแพทย์ แต่ต่อมากลับเอาออกมาทั้งหมด กลายเป็นว่าตอบสนองคนกลุ่มหนึ่งที่อยากใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ

“พอเกิดการเปลี่ยนถ่ายรัฐบาล ก็เกิดคำถามว่ากัญชาจะอยู่จุดไหน จะกลับไปอยู่ในการควบคุมอย่างไร สิ่งนี้เป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และรัฐบาลใหม่ต้องมาคิดทบทวนว่าจะทำอย่างไรให้กัญชามีประโยชน์ ไม่เป็นโทษต่อผู้บริโภค”

แน่นอนว่าเรื่อง พ.ร.บ.กัญชากัญชงที่เคยถูกปัดตกไปในรัฐสภาคงกลับมาถูกพูดถึงกันอีกครั้ง ซึ่งคราวนี้มลฤดีเรียกร้องให้มีความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาสังคม ประชาชน และบรรดาผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ในการจัดทำ พ.ร.บ. ที่ครบถ้วนรอบด้าน และต้องกลับมาพิจารณาเรื่องการอนุญาตให้ปลูกในครัวเรือน การใช้เพื่อสันทนาการ รวมถึงการควบคุมไม่ให้เข้าถึงเยาวชนโดยง่าย

“จุดยืนของเราคือใช้กัญชาในการรักษาทางการแพทย์ได้ และถ้านำไปผสมในอาหาร ต้องมีข้อกำหนดทางกฎหมายที่ชัดเจน มีการตรวจวิเคราะห์ก่อนและหลังการขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานที่รัดกุมมากกว่านี้ มีนวัตกรรมชุดทดสอบสาร THC หรือ CBD ในผลิตภัณฑ์ตามท้องตลาดหรืออาหารในร้านค้าที่รู้ผลได้รวดเร็ว และเราอยากเห็นการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อไหร่ที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากกัญชา เขาจะได้รับการเยียวยา ดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจริงๆ” มลฤดีทิ้งท้าย


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสภาองค์กรของผู้บริโภค และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save