fbpx

คิดยังไม่จบ เรื่องคนพม่า

นิติ ภวัครพันธุ์ เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

ผู้อ่านหลายคนอาจแปลกใจหรือเกิดความสงสัยกับชื่อหัวข้อข้างบนของผม ซึ่งดูคลุมเครือหรือทำให้งง แต่ต้องสารภาพว่าผมหมายความตามนั้นจริงๆ คือความคิดของผมในเรื่องคนพม่าที่อยู่ในประเทศไทยยังไม่จบ ยังคิดไม่เสร็จสิ้น คงต้องไตร่ตรอง คิดทบทวนเรื่องนี้ต่อไปอีกอย่างน้อยก็พักใหญ่ เพราะมีประเด็นสำคัญที่ควรเขียนถึงมากมาย

ทว่า เรื่องที่จะกล่าวถึงในที่นี้เป็นเพียงข้อเสนอเชิงแนวคิด 2-3 ประการที่ผมคิดว่าจะช่วยให้หาคำอธิบายเกี่ยวกับคนพม่าได้ เป็นข้อเสนอที่ส่วนหนึ่งพัฒนามาจากการอ่าน ค้นคว้า ทำวิจัยในเรื่องนี้ และอีกส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ของผมเองกับคนพม่า ส่วนในการอภิปราย จะเน้นเรื่องคนพม่าและสถานะของคนเหล่านี้ และฐานะของเมืองมหาชัย

 

คนพม่าที่ผมรู้จัก

 

ผมเริ่มมีประสบการณ์โดยตรงกับคนพม่าราว พ.ศ. 2547-2548 เมื่อได้รับเงินทุนทำวิจัยในจังหวัดระนอง มีเหตุผล 2-3 ประการที่ทำวิจัยเรื่องนี้ ในด้านวิชาการ เพราะผมได้อ่านงานเขียนจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับการประมงไทยและประวัติศาสตร์ของคนจีนในภาคใต้ ในด้านส่วนตัว เพราะมีเพื่อนอาชีพสอนหนังสือเป็นคนระนอง ซึ่งนอกจากจะชักชวนให้ผมไปเที่ยวบ้านเกิดของเธอแล้ว ยังแนะนำให้รู้จักคนท้องถิ่นอีกหลายคน ช่วยให้การทำวิจัยของผมสะดวกและง่ายขึ้น

การประมงไทยในช่วงนั้นใช้แรงงานส่วนใหญ่ที่เป็นคนพม่า ใครก็ตามที่อ่านเรื่องนี้จะตระหนักโดยทันทีว่าการประมงไทยเป็นอุตสาหกรรมที่หนักหนาสาหัสและบ่อยครั้งก็โหดร้ายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประมงในทะเลลึก เป็นธุรกิจหรืออุตสาหกรรมประเภทหนึ่งที่ถูกจัดประเภทว่าเป็น “3D jobs” ซึ่งย่อมาจาก ‘dirty, dangerous and difficult’ (บางครั้งก็ใช้คำว่า ‘demanding’ แทน ‘difficult’) หมายถึงเป็นงานที่สกปรก อันตราย และเป็นงานหนัก มีความยากลำบาก (โดยส่วนตัว ผมอยากเพิ่มเติมอีกว่าเป็นงานที่มีค่าแรงต่ำ) จึงหาคนงานไทยได้ยาก ดังจะเห็นได้จากรายงานข่าวเรื่องความขาดแคลนแรงงานประมงทะเลในจังหวัดสงขลาในปี 2562 ความตอนหนึ่งระบุว่านายจ้างไทยให้ความเห็นว่า

แรงงานไทยสนใจงานประมงทะเลน้อยลง แรงงานรุ่นเก่าเกษียณอายุแต่ไม่มีแรงงานรุ่นใหม่เข้ามาทดแทน ความอดทน/สู้งานของแรงงานรุ่นใหม่ที่ไม่เท่าคนรุ่นเก่า กฎระเบียบ/มาตรการปฏิบัติของภาครัฐทำให้แรงงานบางส่วนต้องออกจากตลาดแรงงานประมงทะเล เช่น คนที่จะทำงานเรือประมงได้ต้องมีอายุขั้นต่ำ 18 ปี เป็นต้น รวมทั้งลักษณะงานที่หนัก ยากลำบาก เสี่ยงอันตราย ไม่มีเวลาพักผ่อนที่แน่นอน ยิ่งทำให้งานประมงทะเลไม่มีใครอยากทำ[1]

ในเวลานั้น ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมประมงยังเฟื่องฟูและทำกำไร ระนอง แม้เป็นจังหวัดเล็กๆ แต่มีเศรษฐกิจที่พึ่งพิงการประมง จึงรุ่งเรือง มีความมั่งคั่งทีเดียว ผู้คนมีงานทำและเงินจับจ่ายใช้สอย แต่เนื่องจากมีประชากรน้อยจึงต้องการแรงงานจากภายนอก นำไปสู่การอพยพของคนพม่าจำนวนมากเข้าสู่ระนอง ประมาณว่าครึ่งหนึ่งของประชากรในจังหวัดเป็นคนพม่า ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานในภาคการประมง

คนงานเหล่านี้มักเช่าบ้านอยู่ใกล้กับแพปลาหรือโรงงานที่ตนทำงาน แต่ก็มีไม่น้อยที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่อาจเรียกได้ว่าเป็นชุมชนพม่า ผมเข้าไปเดินโต๋เต๋ที่นี่ครั้งสองครั้งด้วยความอยากรู้อยากเห็น ได้ความว่าเป็นที่ดินของเอกชนที่ให้คนพม่าเช่าอยู่ ส่วนใหญ่เป็นห้องแถวไม้สร้างติดกัน สลับกับห้องที่อยู่อาศัยก็เป็นร้านขายอาหารสด ผัก ปลาและอาหารแห้ง หรือขายของชำ มีบ้างที่ขายอาหารตามสั่งหรือขายเครื่องดื่ม และร้านคาราโอเกะ 2-3 แห่ง วันที่ผมเข้าไปเห็นชายพม่า 2-3 คนนั่งดื่มพลางร้องเพลงพม่าตามมิวสิควิดีโอบนจอทีวี มีหญิงสาวคนหนึ่งเดินเสิร์ฟเครื่องดื่ม

คนพม่าที่ผมได้สนทนาด้วยส่วนใหญ่ทำงานที่แพปลาหรือโรงงานแปรรูปอาหารทะเลแช่แข็ง มีบ้างที่ทำงานรับจ้างหรือด้านก่อสร้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อย ทั้งหมดพูดภาษาไทยได้เพราะอาศัยและทำงานในระนองมานานหลายปี จำนวนไม่น้อยอยู่กินด้วยกันและมีลูกที่นี่ เด็กพม่าจึงเติบโตขึ้นมาท่ามกลางคนพม่าและไทย ได้เข้าโรงเรียนและเรียนหนังสือจนจบชั้นประถมศึกษา หนุ่มสาวพม่าที่ผมเจอจึงมักพูดได้ทั้งภาษาไทยกลางและปักษ์ใต้ นอกจากพูดได้อย่างคล่องแคล่วชัดเจนแล้ว ยังรู้จักขนบ ธรรมเนียมปฏิบัติ ความคิด และทัศนคติของคนไทยเป็นอย่างดี

 

ชีวิตไกลบ้าน

 

อย่างที่กล่าวไปข้างบนแล้วว่างานส่วนใหญ่ที่คนพม่าทำในบ้านเรานั้นเป็นงานหนัก อันตรายและสกปรก ค่าแรงก็ต่ำ เป็นงานที่คนไทยไม่ค่อยทำกันแล้ว (เช่น งานประมง) คนพม่าจึงไม่ได้แย่งงานคนไทยทำอย่างที่คนทั่วไปคิดหรือเชื่อกัน ตรงกันข้าม คนงานพม่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย — หรืออาจมีมากกว่านั้น?

มีบทสัมภาษณ์คนพม่าในเมืองทวายทางภาคใต้ของพม่าที่น่าสนใจมาก จะเห็นได้ว่านอกจากคนเมืองทวายที่ให้สัมภาษณ์จะไม่มีประสบการณ์หรือความรู้สึกในแง่ลบต่อคนไทยแล้ว เกือบทั้งหมดพูดว่าอยากกลับมาทำงานในบ้านเราด้วยเหตุที่ว่ารายได้ดี มีงานทำสม่ำเสมอ และเหตุผลอื่น เช่น บางคนบอกว่านายจ้างคนไทยใจดี “เหมือนเป็นพ่อ สอนงานทุกอย่าง กลับมาบ้านเลยทำเป็นทุกอย่าง … เถ้าแก่ใจดี ให้ข้าวฟรี ให้ที่พัก ไม่ต้องจ่ายอะไร เก็บตังค์ได้ ซื้อเสื้อได้”  คนอื่นๆ ก็มีที่พักที่นายจ้างจัดให้ ซึ่ง “ค่าเช่าห้องไม่ต้องเสีย” เสียแต่ค่าน้ำค่าไฟ บางคนก็ว่า “ทำงานหนัก แต่ดีเพราะในโรงงานมีแอร์” โรงงานหลายแห่งมีหน่วยอนามัยคอยให้การรักษาพยาบาล แต่คนงานพม่าบางคนก็ไปใช้บริการที่สถานีอนามัยที่มีเจ้าหน้าที่เป็นคนไทย นอกจากค่าใช้จ่ายไม่แพงแล้ว ยังดูเหมือนว่าจะได้รับบริการที่น่าพอใจ ด้วยเหตุนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับสภาพชีวิตในเมืองทวาย จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวว่า “ความเป็นอยู่ที่ไทยดีกว่า”[2]

ความประทับใจของคนพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพศหญิง ต่อการบริการของสถานีอนามัยและต่อพยาบาลคนไทยดูเป็นเรื่องปรกติ ครั้งหนึ่งผมเจอหญิงพม่าวัยกลางคนที่มาจากบริเวณเมืองทวาย เคยมาทำงานในประเทศไทยแล้วกลับไปอยู่บ้านที่พม่า เธอเล่าถึงประสบการณ์ของตนเองที่ต้องมาคลอดลูกขณะที่ยังทำงานอยู่ในบ้านเรา ว่าพยาบาลไทยใจดี ให้บริการดีมาก นอกจากช่วยให้เธอคลอดอย่างปลอดภัย ลูกเกิดมาแข็งแรงแล้ว หลังการคลอดพยาบาลก็ยังตามมาดูแล ให้คำแนะนำในการเลี้ยงลูกและสิ่งของต่างๆ เธอเปรียบเทียบให้ฟังว่าถ้าต้องคลอดลูกที่บ้านในพม่าเธอคงมีความกังวลมาก ด้วยเกรงว่าจะมีอันตราย ไม่แน่ใจว่าจะปลอดภัยหรือจะคลอดสำเร็จหรือไม่

ความน่าสนใจประการหนึ่งจากการทำวิจัยที่ระนองคือผมพบว่าโทรศัพท์มือถือ ซึ่งในสมัยนั้นยังใช้สัญญาณอนาล็อก ที่คนพม่าใช้นั้นมีประโยชน์มากกว่าเพียงเพื่อการติอต่อสื่อสารเท่านั้น แต่ถูกใช้ด้วยวัตถุประสงค์และเหตุผลอื่นๆ เช่น ใช้สร้างเครือข่ายทางสังคมในหมู่คนพม่า เพื่อค้นหาและแลกเปลี่ยนข้อมูลจากเพื่อนคนพม่าในเครือข่ายเกี่ยวกับงาน (สำหรับคนที่ไม่มีงานทำ หรืองานใหม่ที่มีรายได้ดีกว่า หรืองานที่เบากว่า ชั่วโมงการทำงานน้อยกว่า หรืองานใหม่ที่ต่างจากงานเดิมที่ทำอยู่เพราะเริ่มเบื่อหน่ายงาน เบื่อหน่ายนายจ้าง หรือเพื่อนร่วมงานและอื่นๆ) หาข้อมูล/รายละเอียดเกี่ยวกับนายจ้างคนไทย หรือบ่อยครั้งที่นายจ้างคนไทยต้องการคนงานใหม่ก็อาจขอให้คนงานพม่าของตนติดต่อผ่านเครือข่ายเพื่อหาคนงานที่ไว้ใจได้

ความสำคัญอีกประการหนึ่งคือโทรศัพท์มือถือเกี่ยวข้องกับการส่งเงินกลับบ้าน ซึ่งคนงานพม่าปฏิบัติอยู่เสมอ หนึ่งในวิธีการส่งเงินกลับบ้านคือผ่านนายจ้างที่มีหุ้นส่วนทางธุรกิจอยู่ในพม่า โดยคนงานพม่าจะมอบเงินในจำนวนที่ตนต้องการส่งกลับบ้านให้นายจ้าง ซึ่งจะติดต่อหุ้นส่วนฯ ในพม่าให้จ่ายเงินจำนวนเท่ากันให้แก่ครอบครัวของลูกจ้าง หลังจากนั้น คนงานพม่าก็จะโทรศัพท์ไปถึงคนในครอบครัวเพื่อสอบถามว่าได้รับเงินแล้วหรือยัง วิธีการนี้รวดเร็ว ปลอดภัย และไม่เสียค่าใช้จ่าย สามารถตรวจสอบได้ และผมยังไม่ได้ยินว่ามีนายจ้างไทยโกงลูกจ้างในการส่งเงินกลับบ้าน[3]

 

เป็นมากกว่าคนงานไร้ฝีมือ

 

คนไทยทั่วไปมักคิดว่าคนพม่าเป็นแค่คนงานรับจ้างธรรมดา หรือเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ไม่มีความรู้หรือทักษะพิเศษ ทว่า ความเป็นจริงมิได้เป็นเช่นนั้น จะพบว่าคนพม่าจำนวนมาก หลังจากที่ทำงานในประเทศไทยได้ระยะหนึ่งก็จะเรียนรู้ทักษะ ความชำนาญเฉพาะหรือความรู้บางอย่าง หนึ่งในตัวอย่างของคนพม่าที่เรียนรู้จากประสบการณ์ทำงานในบ้านเราและพัฒนาจนเป็นทักษะพิเศษด้านการก่อสร้างคือ ซม หล่วย ชายพม่าคนเมืองทวาย ผู้ให้สัมภาษณ์ว่านายจ้างคนไทย “สอนงานทุกอย่าง กลับมาบ้านเลยทำเป็นทุกอย่าง นี่ (ชี้ที่กำแพงบ้าน) ก็ทำเองนะ โรงแรมข้างๆ นี่ก็เป็นคนทำ” ส่งผลให้เขา “ตอนกลับบ้านปี 1994 เพราะมีทักษะก่อสร้างหลายอย่าง จึงทำงานก่อสร้างต่อที่ทวายสลับกับไปทำงานที่ระนองบ่อยๆ”[4]

อันที่จริง คนงานพม่าที่มีประสบการณ์และทักษะการทำงานอย่าง ซม หล่วย คงมีเป็นจำนวนมาก และการเดินทางข้ามไปมาระหว่างเกาะสองและระนองเพื่อหางานทำก็คงเป็นเรื่องปกติด้วย ครั้งหนึ่งที่ผมข้ามเรือจากระนองไปเกาะสอง ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของพม่าผมเจอชายพม่า 3-4 คนกำลังซ่อมแซมบันไดของสำนักงานอยู่ จึงชวนคุยด้วย คนหนึ่งในกลุ่มบอกผมว่าเคยทำงานที่ระนองอยู่หลายปีแล้วกลับบ้าน เมื่อเริ่มทำงานใหม่ๆ ก็เป็นเพียงคนงานก่อสร้างธรรมดา แต่หัดทำงานต่างๆ จนกลายเป็นช่างปูน ซึ่งได้ค่าแรงสูงกว่าคนงานธรรมดา

แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาหรือได้ลูกจ้างที่ทำงานเก่ง รู้งาน มีความคล่องตัว ไว้ใจได้ หญิงไทยวัยกลางคนผู้หนึ่งในระนองที่ผมเคยสัมภาษณ์มีกิจการที่ดูวุ่นวายมาก ขณะที่เธอสนทนากับผมก็ต้องทำงานไปด้วย รับโทรศัพท์ ถามลูกค้าที่เดินเข้าร้านว่าต้องการอะไร ตะโกนบอกลูกจ้างให้หาสินค้าหรือทำอย่างอื่น เก็บเงิน-ทอนเงินที่ลูกค้าจ่ายให้ สารพัดเรื่องในเวลาเดียวกัน เธอพูดภาษาพม่าได้ เพราะมีลูกจ้างเป็นคนพม่ามานานแล้ว ลูกค้าจำนวนไม่น้อยก็เป็นคนพม่า ซึ่งรวมถึงแม่ค้าจากเกาะสอง ฝั่งพม่า ที่มาสั่งซื้อสินค้าจากเธอเพื่อนำไปขายที่บ้าน ทำให้เธอต้องหัดพูดภาษาพม่าจนพูดได้อย่างคล่องแคล่ว เธอเล่าว่าลูกจ้างบางคนทำงานกับเธอมานานหลายปีจนเธอไว้ใจ รู้รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับสินค้า ราคาสินค้า ฯลฯ คล่องแคล่วจนเธอไม่ต้องสั่งงานก็ได้ มีความขยัน อดทน และที่สำคัญคือซื่อสัตย์ ไว้วางใจได้ ถึงขนาดให้เก็บเงินเองหรือปิดร้านเวลาเธอยุ่งๆ หรือต้องรีบไปที่อื่น เธอย้ำว่าลูกจ้างที่ไว้ใจได้เช่นนี้หายากมาก จึงต้องพยายามดูแล ให้ความช่วยเหลือต่างๆ เมื่อเห็นว่าลูกจ้างมีปัญหา เป็นการจูงใจให้คนงานพม่าอยู่ทำงานกับเธอ

ในตลาดสดเทศบาลที่ระนอง มีแผงขายอาหารตามสั่งหลายเจ้าที่คนขายเป็นหญิงพม่า ลูกจ้างก็เป็นเด็กสาวพม่า ทุกคนพูดภาษาไทยได้ คนขายมีฝีมือ สามารถทำอาหารทุกอย่างเช่นที่มีขายตามร้านอาหารตามสั่งทั่วไป รสชาติก็มิได้ผิดแผกแตกต่างจากร้านอื่นๆ เลย นอกจากนี้ก็มีแผงขายเครื่องดื่มที่คนขายเป็นคนพม่า คนพม่าในระนองจึงไม่ได้หากินด้วยการใช้แรงงานเท่านั้น อาชีพที่ต้องใช้ความสามารถอื่นๆ เช่น ทำอาหาร ก็มีปรากฏทั่วไป

เท่าที่สังเกต คนพม่าที่มีอาชีพค้าขายโดยเป็นเจ้าของกิจการเอง ไม่ใช่เป็นแค่ลูกจ้าง มีให้เห็นตามที่ต่างๆ หรือในตลาดสด แม้แต่ในกรุงเทพฯ เพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งเคยพาผมเดินชมตลาดสดขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้ท่าเรือ ด้วยความที่รู้จักพ่อค้าแม่ค้าหลายคนจึงมีเรื่องเล่ามากมาย เขาบอกผมว่าพ่อค้าแม่ค้าหลายคนเป็นคนพม่าที่เข้ามาเช่าแผงขายสินค้า ส่วนใหญ่เป็นอาหารสด บางคนค้าขายมานานปี รู้จักมักคุ้นกับพ่อค้าแม่ค้าคนไทย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในตลาด หรือแม้แต่หยอกเย้าล้อเล่นกัน

นอกจากเป็นคนงาน ลูกจ้าง พ่อค้าแม่ขาย คนพม่ายังเป็นผู้บริโภคอีกด้วย ซึ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจของระนองเป็นอย่างยิ่ง ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าประชากรราวครึ่งหนึ่งของจังหวัดเป็นคนพม่า เงินที่หมุนเวียนอยู่ในจังหวัดจำนวนมากมาจากการจับจ่ายใช้สอยของคนพม่า ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าบ้าน ค่าอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหลาย รวมถึงค่าบริการต่างๆ เช่น รถรับจ้างสองแถวและมอเตอร์ไซด์รับจ้าง – ในบทสนทนากับคนขี่มอเตอร์ไซด์รับจ้างผู้หนึ่ง ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนพม่า ทั้งนี้เพราะ (ด้วยคำพูดของเขาเอง) “คนระนองส่วนใหญ่เขามีรถ เขาไม่มาใช้บริการของผมหรอก” หรือคนขับรถสองแถวที่คุ้นเคยกับหญิงพม่าที่ทำงานตามแพปลาหรือโรงงานแช่แข็งอาหารทะเล ในระหว่างที่นั่งในรถไปด้วยนั้นผมสังเกตว่าเขารู้ว่าผู้โดยสารคนไหนทำงานที่ใด และพักที่ไหน หญิงพม่าที่เป็นผู้โดยสารเกือบทุกคนไม่ต้องบอกที่หมายกับเขาเลย แน่นอน นี่คงเป็นเพราะคนพม่าคือลูกค้าของเขา ไม่ใช่คนไทยส่วนใหญ่ที่มีรถยนต์หรือมอเตอร์ไซด์เป็นของตนเอง จึงไม่น่าแปลกใจว่าในด้านหนึ่ง สภาพคล่องทางการเงินของระนองเกิดขึ้นจากการบริโภคของคนพม่า และในอีกด้านหนึ่ง ได้ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่น่าสนใจอย่างยิ่งระหว่างผู้ให้บริการชาวไทยและคนพม่าผู้ใช้บริการ

ทว่า สิ่งที่น่าทึ่งที่สุดอาจเป็นเรื่องทักษะทางวัฒนธรรม-สังคมของคนพม่าที่เรียนรู้จากสังคมไทย ผมรู้จักหนุ่มพม่าผู้หนึ่ง ในตอนนั้นอายุราว 20 ปีเศษ เกิดที่ทวาย แต่ย้ายมาระนองกับพ่อแม่ตั้งแต่อายุได้ 4 ปี เข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนไทยจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 พออ่านเขียนภาษาไทยได้และพูดภาษาไทยกลางและปักษ์ใต้ได้อย่างชัดเจน เคยบวชเรียนในวัดที่พม่า 1 ปี จึงอ่านเขียนภาษาพม่าได้ ความที่พูดภาษาไทยได้ดีจึงชอบเดินทาง เขาเล่าว่ารู้จักนายจ้างไทยที่ภูเก็ต จึงมักเดินทางขึ้นล่องด้วยรถโดยสารประจำทางระนอง-ภูเก็ต เพื่อทำงาน ระหว่างทางหากเจอด่านตรวจ เมื่อเจ้าหน้าที่ไทยขึ้นมาบนรถเพื่อตรวจและขอดูบัตรประจำตัวประชาชน เขาก็มักอ้างว่าลืมบัตรไว้ที่บ้าน ไม่ได้พกติดตัวมาบ้าง หรือทำบัตรหายบ้าง ด้วยเหตุที่สนทนาเป็นภาษาไทยปักษ์ใต้ได้ เจ้าหน้าที่ไทยจึงไม่สงสัย ยอมปล่อยให้เขาเดินทางต่อ เขาเดินทางขึ้นล่องบ่อยเพราะนายจ้างที่ภูเก็ตไว้วางใจเขาด้วยเหตุที่ทำงานมานาน บ่อยครั้งที่นายจ้างปล่อยให้เขาดูแลงานในโรงงาน หรือบางครั้งก็ให้ขับรถไปธุระนอกโรงงาน ได้รับค่าจ้างบวกค่าแรงล่วงเวลา รวมแล้วเป็นรายได้ที่ค่อนข้างดี เขาจึงชอบงานที่ภูเก็ตและพยายามหาทางไปเมื่อมีโอกาส แต่เพราะพ่อแม่อาศัยอยู่ในระนอง เพื่อนฝูงก็อยู่ที่นั่น ตัวเองก็คุ้นเคยกับที่นั่น จึงไม่ได้ไปอยู่ที่ภูเก็ตเป็นการถาวร

ที่ระนอง มีวัยรุ่นและหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยแบบเขา ผู้ซึ่งเติบโตในสังคมไทย ร่ำเรียนหนังสือไทยจนอ่านออกเขียนได้ พูดภาษาไทยกลางและปักษ์ใต้ได้คล่องแคล่ว รู้จักขนบ ธรรมเนียมปฏิบัติ ประเพณี มารยาทสังคม ทัศนคติ ความคิด และความเป็นไทยอื่นๆ จนเรียกได้ว่ามีทักษะทางวัฒนธรรมไทยเฉกเช่นคนไทย

 

มหาชัย

 

ผมเคยไปมหาชัยหรือสมุทรสาครหลายครั้ง ส่วนใหญ่ไปเที่ยว ถ้าไม่ไปซื้ออาหารทะเลหรือสินค้าอื่น ก็ไปกินอาหารทะเล มีเพียงครั้งเดียวที่ผมพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่และผู้คนที่นั่น ได้สนทนากับผู้ประกอบการคนไทย 2-3 คนที่มิตรสหายแนะนำให้ไปหา เดินสำรวจตลาดอาหารทะเล แอบฟังพ่อค้าแม่ค้าและลูกจ้างพูดคุยกัน ฯลฯ ผมโต๋เต๋อยู่ที่โน้นจนเย็น ได้เห็นได้ยินเรื่องราวที่น่าสนใจ แต่ก็คิดไม่ออกว่าจะทำวิจัย/ศึกษาเรื่องอะไร

คนทั่วไปอาจไม่ได้สนใจมหาชัยมากนัก นอกจากคิดว่าเป็นแหล่งค้าขายอาหารทะเลขนาดใหญ่ที่มีสินค้าสารพัดประเภทและอยู่ใกล้เมืองหลวง จนกระทั่งเกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 รอบใหม่ขึ้นที่นั่น กลายเป็นข่าวใหญ่ที่ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยโทษว่าเป็นความผิดของคนพม่า แต่ประเด็นที่ผมคิด พยายามหาคำอธิบายเชิงวิชาการ ไม่ใช่เรื่องโควิดหรือคนพม่าที่ถูกกล่าวหาว่านำเชื้อเข้ามาแพร่ ผมสนใจว่าจะทำความเข้าใจมหาชัยอย่างไร และด้วยเหตุใดจึงต้องใส่ใจกับสถานที่แห่งนี้

Charles F. Keyes นักมานุษยวิทยาอเมริกันผู้ศึกษาสังคมไทยมานานหลายทศวรรษ ได้เข้าไปทำวิจัยในแม่สะเรียง เมืองการค้าทางตอนใต้ของแม่ฮ่องสอนในช่วงปลายทศวรรษ 1960 และให้ความเห็นว่าเมืองนี้เป็น “a middle ground” (ที่อาจแปลว่า “บริเวณกลาง”) ตามคำนิยามที่เขายืมมาจาก C. Pat Giersch ว่าหมายถึงที่ที่ผู้คนจากหลากหลายภูมิหลังต่อรองความสัมพันธ์ทางการค้า การเมืองและสังคม แล้วสร้างแบบแผนปฏิสัมพันธ์ชุดใหม่ขึ้นมา[5]

หากเราเห็นด้วยกับคายส์ มหาชัยคงเป็น “บริเวณกลาง” ในแง่ที่ว่าเป็นสถานที่ที่ผู้คนต่างภาษา ต่างกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นคนไทย พม่า มอญหรือชาติพันธุ์อื่นในพม่า รวมถึงผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวจากที่ต่างๆ ไปพบกัน มีปฏิสัมพันธ์เชิงการค้าต่อกัน เจรจาซื้อขายสินค้ากัน แลกเปลี่ยนข้อมูลทางการค้ากัน (เช่น ที่มาและประเภทของสินค้า ราคาสินค้า ฯลฯ) เป็นแหล่งรวมของงานและรายได้ ไม่เฉพาะสำหรับลูกจ้างและคนงานพม่าเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ที่มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการค้าคนอื่นๆ ด้วย เป็นที่ที่มีการติดต่อสื่อสาร เจรจา ต่อรอง แลกเปลี่ยนทรัพยากรซึ่งกันและกัน ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานและได้พัฒนากลายเป็นแบบแผนปฎิสัมพันธ์ชุดใหม่ที่ไม่เหมือนในที่อื่น และแน่นอน ไม่เหมือนในอดีต

ทว่า ในความเห็นของผม มหาชัยมิได้เป็นสถานที่ที่ผู้คนต่างกลุ่มสร้างความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจ-การค้าเท่านั้น หากยังมีความหมายอื่นด้วย เช่น เป็นที่ที่คนต่างภาษาเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน ทั้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ในหมู่ลูกจ้างต่างภาษา ระหว่างพ่อค้าแม่ค้าและลูกค้า เป็นที่ที่คนพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นเรียนรู้ทักษะทางวัฒนธรรม (คือวัฒนธรรมไทย) ซึ่งช่วยให้พวกเขาปรับตัวและกลมกลืนเข้ากับสังคมใหญ่ แม้ว่าจะเป็นคนต่างภาษาต่างวัฒนธรรมก็ตาม เป็นที่สำหรับการเรียนรู้เรื่องการค้าขาย ซึ่งอาจนำไปสู่การมีกิจการของตนเองหรือเป็นผู้ประกอบการเอง ที่จะเห็นได้ทั่วไปในมหาชัย และอาจมิได้มีเพียงคนไทยเท่านั้น แต่เป็นไปได้ว่าคนพม่าหรือกลุ่มชาติพันธุ์อื่นก็มีกิจการเป็นของตนเอง

 

ส่วนหนึ่งของสังคมไทย

 

เป็นไปได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในบ้านเราคงทุเลา ดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างน้อยก็เริ่มมีข่าวดีแล้วบ้าง ดังรายงานข่าวที่แจ้งในวันที่ 10 ม.ค. พ.ศ. 2564 ว่าคนงานต่างชาติที่ติดเชื้อโควิด ซึ่งถูกกักตัวไว้จนครบระยะเวลาตามที่กำหนด ขณะนี้ “ปลอดเชื้อและปลอดภัยดีแล้ว (มี) จำนวน 292 คน ให้กลับออกมาใช้ชีวิตได้ตามปกติที่ตลาดกลางกุ้ง อ. เมืองสมุทรสาคร” ได้แล้ว[6] และมหาชัยก็คงจะกลับไปคึกคัก เป็นตลาดค้าอาหารทะเลที่มีของสดสารพันชนิดให้เลือกซื้อหาบริโภคอีกครั้ง

คนพม่า –ไม่ว่าพูดภาษาอะไรหรือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใด– ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนไทยไปแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเขาทำงานที่คนไทยไม่ค่อยอยากทำ เพราะเป็นงานที่เสี่ยงอันตราย ค่าแรงต่ำ หรือด้วยเหตุผลอื่น (งานคนรับใช้ตามบ้านดูเป็นตัวอย่างที่ยืนยันว่า เป็นงานที่คนไทยในปัจจุบันไม่นิยมทำ แต่ไม่แปลกที่จะพบว่าคนพม่าทำงานนี้) ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าคนพม่าช่วยชดเชยการขาดแคลนแรงงานของบ้านเรา

แต่คนเหล่านี้เป็นมากกว่าการเป็นคนงาน ดังที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่าคนพม่าในระนองเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่ทำให้เศรษฐกิจในเมืองนั้นหมุนเวียน เกิดการจับจ่ายใช้สอย เกิดการสร้างงาน ทั้งด้านการผลิตและการบริการ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจต่อทุกฝ่าย รวมถึงคนไทยในท้องถิ่นที่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ผู้ขับขี่รถรับจ้างสาธารณะ

สำหรับนักเรียนมานุษยวิทยาอย่างผม คนพม่ามีความน่าทึ่ง น่าสนเท่ห์ ทำให้อยากรู้ ทำความเข้าใจ อยากเรียนรู้จากพวกเขา เป็นกลุ่มคนที่แสดงถึงความสามารถต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม-สังคม ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการทำงาน ฝึกฝนเรียนรู้จนมีทักษะเฉพาะด้าน หรือการเป็นผู้ประกอบการ หรือความรู้ด้านอื่น ไปจนถึงการเรียนรู้ทักษะทางวัฒนธรรม สามารถเรียนรู้จนพูดคุย ประพฤติปฏิบัติได้เหมือนคนไทย ดังตัวอย่างของหนุ่มพม่าที่เดินทางขึ้นล่องเพื่อทำงานระหว่างระนองและภูเก็ต

โควิดเลิกระบาดเมื่อไร ผมคงต้องกลับไปเยือนมหาชัยอีกครั้ง หรือหลายครั้ง เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับคนพม่า พยายามทำความเข้าใจและค้นหาคำอธิบายเพิ่มเติม

เพราะผมยังคิดไม่จบ ยังไม่เสร็จสมบูรณ์

 

 

อ้างอิง

[1] สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์, “ปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทะเล กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา”, Matichon online, 6 กันยายน 2562

[2] โกวิท โพธิสาร และ ณิชากร ศรีเพชรดี, “ฟังเสียงคนเมียนมาถึงเมืองทวาย ทำไมต้องข้ามพรมแดนมาขายแรงแผ่นดินไทย”, Way Magazine, 1 May 2019

[3] ผมได้เขียนประเด็นเหล่านี้ไว้แล้ว – โปรดดู นิติ ภวัครพันธุ์, “มือถือ: ปัจจัยที่ห้าของแรงงานพม่าในเมืองชายแดน”, ใน สู่พรมแดนแห่งความรู้เรื่องวัฒนธรรมบริโภค (วิภาส ปรัชญาภรณ์ กมลทิพย์ จ่างกมล สุดารัตน์ คุสินธุ์ ทวีศักดิ์ วรฤทธิ์เรืองอุไร สุนีย์ ประสงค์บัณฑิต กองบรรณาธิการ) (รวมบทความจากการประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 5, วัฒนธรรมบริโภค บริโภควัฒนธรรม, เอกสารวิชาการลำดับที่ 63), (กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2550), หน้า 199-262

[4] โกวิท โพธิสาร และ ณิชากร ศรีเพชรดี, “ฟังเสียงคนเมียนมาถึงเมืองทวาย ทำไมต้องข้ามพรมแดนมาขายแรงแผ่นดินไทย”

[5] ดู Charles F. Keyes, Impermanence: An Anthropologist of Thailand and Asia (Bangkok: Silkworm Books, 2019), ในบท “Mae Sariang: Living on a Thai Frontier”, ผมควรระบุด้วยว่า C. Pat Giersch ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ ได้ประยุกต์ข้อเสนอนี้จากความคิดของ Richard White นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างชนพื้นเมืองอเมริกาและชาวยุโรป

[6] ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, “สมุทรสาคร ส่งแรงงานข้ามชาติ 292 คน ปลอดโควิด กลับตลาดกลางกุ้ง”, 10 มกราคม 2564,

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save