fbpx
สมรภูมิพุทธในหลักสูตรการศึกษาไทย

สมรภูมิพุทธในหลักสูตรการศึกษาไทย

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

ในบรรดากลุ่มย่อยของม็อบคณะราษฎร 2563 ที่ผมประทับใจที่สุดได้แก่กลุ่มนักเรียนเลว

เยาวชนที่กฎหมายยังไม่กำหนดให้มีสิทธิออกเสียงเลือกชะตาชีวิตตัวเอง แต่มีส่วนได้เสียสูงไม่แพ้ผู้ใหญ่ต้องออกมาเรียกร้องคุณภาพการศึกษาที่ดี ข้อเรียกร้องส่วนใหญ่เรียบง่าย กลั่นกรองออกมาจากความทุกข์ที่พบเจอจากระบบการศึกษา แต่ข้อเรียกร้องเรียบง่ายเหล่านั้นสั่นสะเทือนโครงสร้างอำนาจนิยม

หนึ่งในข้อเรียกร้องที่น่าสนใจ คือ ขอให้เปลี่ยนแปลงการสอนวิชาพุทธศาสนาในโรงเรียน ซึ่งผู้ใหญ่บางคนโกรธเกรี้ยวประหนึ่งโลกจะแตกดับดิ้นไปต่อหน้าต่อตา

ถ้าลองเอาคำด่าของฝ่ายต่อต้านวางไว้ก่อน แล้วนั่งนึกดู ในทางสากลเขามีมาตรฐานในการสอนศาสนาในโรงเรียนกันอย่างไร

ข้อแรกสุด หลักสูตรการศึกษา คือ สมรภูมิ

การออกแบบหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติ คือ สมรภูมิดุเดือดของรัฐ ผู้ปกครอง และตัวเยาวชนผู้เรียนเอง ในด้านหนึ่ง รัฐอ้างได้ว่า การศึกษาที่ดีย่อมสร้างพลเมืองดีและสมาชิกที่ดีของสังคมในอนาคต สมาชิกจึงจำต้องเรียนรู้และสมาทานคุณค่าที่สังคมนั้นยึดถือร่วมกัน ถ้าการศึกษาล้มเหลว รัฐย่อมต้องสิ้นเปลืองงบประมาณอีกมากในอนาคตเพื่อแก้ปัญหาประชากรไร้คุณภาพ แต่ในอีกแง่ เราอาจกล่าวได้ว่า รัฐสนใจการศึกษาเยาวชนก็เพื่อปลูกฝังค่านิยมที่รัฐต้องการปั้นแต่ง จะได้ไม่เป็นอันตรายต่อรัฐบาลนั้นเอง ผู้ปกครองก็มีส่วนได้เสีย เพราะคุณค่าที่ผู้ปกครองยึดถืออาจแตกต่างกับรัฐก็ได้ สิ่งใดที่รัฐว่าดีกับเด็ก ผู้ปกครองอาจเห็นอย่างอื่นดีกว่า และผู้ปกครองก็อยากถ่ายทอดคุณค่านั้นตกทอดสู่ทายาทของตน

เยาวชนเองก็ย่อมมีสิทธิเห็นต่างว่าอะไรดีกับตัวเอง แต่กรณีเยาวชนนั้นออกจะซับซ้อน เพราะนอกเหนือสิ่งที่เยาวชนประสงค์แล้ว เยาวชนควรมีโอกาสทดลองเรียนรู้คุณค่าที่แตกต่างจากคุณค่าของครอบครัวตนเอง เพื่อหัดเรียนรู้ยอมรับความหลากหลายอีกด้วย

การออกแบบหลักสูตรการศึกษา คือ การประสานประโยชน์ของรัฐ ผู้ปกครอง และเยาวชน

ข้อสอง การเรียนศาสนานั้นมีวัตถุประสงค์อะไรได้บ้าง

ศาสนานั้นมีหลายแง่มุม อย่างน้อยที่สุด ศาสนาเป็นระบบศีลธรรม เป็นอุดมการณ์การเมือง เป็นประวัติศาสตร์ เป็นวัฒนธรรมกำกับจังหวะชีวิตประจำวัน

การเรียนศาสนาจึงอาจจะเป็นการเรียนปลูกฝังศีลธรรม ว่าอะไรคือคนดีของสังคมนั้น ชีวิตที่ดีควรหน้าตาแบบไหน หรืออาจจะเป็นการปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองก็ได้ว่าอำนาจคืออะไร เป็นมาอย่างไร และควรจะใช้อย่างไร แต่การเรียนศาสนาก็อาจเป็นช่องทางศึกษาประวัติศาสตร์พัฒนาการของมนุษยชาติ หรือเรียนเกี่ยวกับวัฒนธรรม ให้เข้าใจอิทธิพลเบื้องหลังศิลปะและวรรณกรรมต่างๆ

ถ้าเรียนแบบสองข้อแรก ก็คงเรียนให้แคบ หนักไปข้างการปลูกฝัง (indoctrination) เรียนเพื่อเชื่อ แต่ถ้าเป็นแบบหลัง ก็สามารถเรียนให้กว้างขึ้น เป็นการศึกษา หรือทดลอง (education, exploration) เรียนเพื่อรู้

ข้อสาม หลักการสากลเกี่ยวกับการศึกษาศาสนานั้นเป็นทั้งเสรีภาพทางศาสนา และสิทธิในการได้รับการศึกษาที่ดี

กติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ว่าด้วยเสรีภาพในทางศาสนา ข้อ 18(4) กำหนดไว้เพียงว่า รัฐต้องเคารพเสรีภาพของบิดามารดา หรือผู้ปกครองตามกฎหมายในการให้การศึกษาทางศาสนาและศีลธรรมแก่เด็กตามความเชื่อของตน

ส่วนอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC) ว่าด้วยสิทธิในการศึกษาที่ดี ข้อ 29 การศึกษาของเด็กจะต้องมุ่งไปสู่การพัฒนาความเคารพต่อบิดามารดาของเด็ก เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ภาษา และค่านิยมของเด็กนั้นเอง และต่อค่านิยมของชาติที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ และต่อค่านิยมของชาติ ถิ่นกำเนิดของเขา และต่ออารยธรรมอื่นๆ ที่แตกต่างไปจากของเขาเอง

นอกจากนี้ การศึกษายังต้องเตรียมเด็กให้มีชีวิตที่มีความรับผิดชอบในสังคมที่เสรีด้วยจิตสำนึกแห่งความเข้าใจกัน สันติภาพ ความอดกลั้น ความเสมอภาคทางเพศ และมิตรภาพในหมู่มวลมนุษย์ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนชาติ กลุ่มศาสนา ตลอดจนในหมู่คนพื้นเมืองดั้งเดิม

ส่วนข้อ 30 ชนกลุ่มน้อยทางศาสนาต้องไม่ถูกปฏิเสธสิทธิที่จะปฏิบัติตามวัฒนธรรม ที่จะนับถือศาสนาในชุมชนร่วมกับสมาชิกอื่น

จะเห็นว่าทางสากลนั้น เอกสารทั้งสองฉบับมองว่า การศึกษาเกี่ยวกับศาสนานั้น เป็นทั้งการอบรมศีลธรรม ส่งต่อวัฒนธรรม และปลูกฝังคุณค่าที่ดี สร้างสมาชิกที่พึงปรารถนาของสังคม

ศาสนาเป็นเรื่องของชุมชน

คนเรานับถือศาสนาคนเดียวไม่ได้ ศาสนาต้องมีศาสนิกอื่นรวมกันเข้าเป็นสังคม หรือชุมชน เพื่อที่ศาสนานั้นจะได้เผยแพร่สืบต่อไป ศาสนาใดจะอยู่รอด ต้องมีสมาชิกมากพอปฏิบัติพิธีกรรม และส่งต่อไปให้กับศาสนิกรุ่นต่อไป พ่อแม่ โดยเฉพาะพ่อแม่ชนกลุ่มน้อยทางศาสนา ต้องสามารถสั่งสอนลูกให้เข้าใจศาสนาของพ่อแม่ตน ไม่เช่นนั้น การศึกษากระแสหลักก็อาจจะกลืนอัตลักษณ์ของชนกลุ่มน้อยไปได้

การจัดการศึกษาด้านศาสนา จึงอาจอยู่หรือไม่อยู่ในหลักสูตรก็ได้ พ่อแม่อาจจะจัดสอนลูกของตัวเองเองก็ได้ แต่ในขณะที่พ่อแม่มีสิทธิ รัฐไม่มีสิทธิเช่นนั้น กล่าวคือ ถ้าดูจาก ICCPR ถ้าพ่อแม่จะสอนลูกเกี่ยวกับศาสนาของตนแล้วถูกขัดขวาง รัฐต้องช่วยคุ้มครอง หรือถ้ารัฐเป็นผู้ขัดขวางเอง ในกรณีนี้ รัฐกำลังทำผิดละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ถ้ารัฐจะจัดการศึกษาเกี่ยวกับศึกษาแล้ว ใน CRC บอกว่าการศึกษาที่ดี แม้จะเคารพอัตลักษณ์เด็ก ก็ต้องมีลักษณะสอนให้เด็กเข้าใจอุดมการณ์เปิดกว้าง ยอมรับความแตกต่างด้วย

แต่นอกจากสิทธิของพ่อแม่ในการจัดการศึกษาให้เด็กแล้ว อย่าลืมว่า เยาวชนผู้เรียนก็เป็นผู้ทรงสิทธิคนหนึ่ง มีเสรีภาพทางศาสนาที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ จะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างไรก็ได้ โดยอาจจะเหมือนหรือต่างจากความเชื่อหรือศาสนาของพ่อแม่

สรุปแล้ว การจัดการศึกษาศาสนาในโรงเรียนนั้น มีทั้งเรื่องเสรีภาพทางศาสนาของเด็กและบิดามารดา กับสิทธิในการได้รับการศึกษาที่ดี แล้วทางปฏิบัติจะประสานทั้งสองข้อนี้อย่างไร

โรงเรียนอาจจะจัดหรือไม่จัดวิชาศาสนาไว้เลยก็ได้ แต่ถ้าจัดไว้ในโรงเรียน อาจจะสอนศาสนาเปรียบเทียบ หรือสอนศาสนาเดียวแต่สอนแบบเป็นกลาง อาจไม่ได้สอนในฐานะความจริงแท้ที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ แต่สอนในฐานะศาสนาที่คนส่วนใหญ่ในรัฐนั้นนับถือ หรืออาจจะสอนโดยแบ่งกลุ่มให้ศึกษาตามศาสนาของนักเรียนเอง อาจสอนศาสนาโดยให้เป็นวิชาเลือก หรือชมรม แยกจากเนื้อหาหลักที่ทุกคนต้องเรียนภาคบังคับ หากจัดเรียนเพียงศาสนาเดียว อาจเปิดช่องให้นักเรียนที่ไม่สะดวกใจถอนตัวได้

จะเห็นว่ามีความเป็นไปได้มากมายเต็มไปหมดที่จะจัดการศึกษาศาสนาในโรงเรียนไทยเสียใหม่ อาจจะไม่ต้องถอดวิชาศาสนาพุทธออกก็ได้ อาจจะสอนวิชาศาสนาเปรียบเทียบ ดังที่นักเรียนเลวหลายคนเสนอ แม้แต่จะสอนศาสนาพุทธต่อก็ได้ แต่สอนอย่างเป็นกลางและสร้างความคิดเชิงวิพากษ์ มันเป็นไปได้ที่จะรักษาอัตลักษณ์ความเป็นไทยไว้ภายใต้ความเป็นสากล เราไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

ข้อเสนอของนักเรียนเลวนั้นไม่ได้เลวเหมือนที่ใครหลายคนก่นด่า สุดท้ายอยากจะบอกว่า อย่ากังวลกันนักเลย ที่พุทธศาสนาอยู่ยืนยงในไทยมากว่า 700 ปีนั้นไม่ใช่เพราะหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับแน่ๆ เช่นเดียวกัน ที่เห็นว่าศาสนาเสื่อมลงนั้นก็เสื่อมลงก่อนจะถอดวิชาพุทธศาสนาออกจากหลักสูตรเสียอีก การรุ่งเรืองและเสื่อมโทรมของพุทธศาสนานั้นไม่เกี่ยวอะไรกับหลักสูตรการศึกษาเลย

ส่วนจะเกี่ยวข้องกับอะไรนั้น คงต้องไปนึกทบทวนดูกันอีกที

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save