fbpx

ถ้าคุณเชียร์ลิเวอร์พูล, สเปอร์ หรือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คุณต้องอ่านนิยายเรื่องนี้ Britt-Marie Was Here

นิยายของเฟรียดริค บัคมัน แปลเป็นไทยแล้ว 4 เรื่องคือ A Man Called Ove (ชายชื่ออูเว), My Grandmother Asked Me to Tell You She’d Sorry (ยายฝากบอกว่าขอโทษ), Britt-Marie was Here (บริทท์มารีอยู่ตรงนี้) และ Anxious People (ยอดมนุษย์วายป่วง)

ผมได้อ่านครบ และชอบทั้งหมด หมายใจว่าจะเขียนถึงทุกเรื่อง

เรื่อง A Man Called Ove และ Anxious People ผมเคยนำมาเล่าสู่กันฟังไปแล้ว ครั้งนี้ถึงคิวของ Britt-Marie Was Here

ฝากขอโทษยายด้วยครับที่ต้องปล่อยให้รอไปก่อน

นิยายของเฟรียดริค บัคมัน มีจุดเด่นที่ความบันเทิง อ่านสนุก เข้าใจง่าย พล็อตเป็นสูตรสำเร็จในแบบที่คนอ่านคุ้นเคยอย่างดี จากนิยายและหนังประเภท feel good จำนวนมาก แต่ความน่าสนใจนั้นอยู่ที่การปรุงแต่งจนเกิดรสบันเทิงเฉพาะตัว

ไม่ว่าจะเป็นตัวเอกที่เปิดฉากเริ่มต้นทำให้ผู้อ่านรู้สึกติดลบ เป็นมนุษย์สาขารับมือด้วยยาก เจ้าระเบียบ จู้จี้จุกจิก มองทุกสิ่งทุกอย่างแบบเหมารวม และไม่อาจผิดเป็นอื่นอย่างเด็ดขาด จากนั้นจึงเผยแสดงให้เห็นอีกด้าน จนทำให้เราท่านต้องหันมาเอาใจช่วย และกลายเป็นตกหลุมรักในเวลาต่อมา, ตัวละครรายล้อมที่มีบุคลิกนิสัยแปลกเพี้ยนเหมือนตัวการ์ตูน, อารมณ์ขันยียวนกวนประสาท คละปนระคนกันระหว่างความรู้สึกน่ารักน่าชังและน่ารำคาญ, การสร้างความขัดแย้งตรงข้าม ระหว่างสถานการณ์อึกทึกครึกโครมโกลาหลกับความอ่อนโยนนุ่มนวล และที่โดดเด่นมากคือจังหวะสร้างความซาบซึ้งตื้นตันใจ

Britt-Marrie Was Here ยังคงไว้ซึ่งจุดเด่นข้างต้นครบครัน

พล็อตคร่าวๆ เล่าถึงบริทท์มารี หญิงวัย 63 ปี ซึ่งผ่านการแต่งงาน มีชีวิตในรวงรังอันปลอดภัยมานานถึง 40 ปี เป็นแม่บ้านประเภท ‘ช้างเท้าหลัง’ พึงพอใจอยู่กับกิจวัตรเดิมๆ อย่างการทำความสะอาด  ทำอาหาร เก็บเนื้อเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม ไม่พบปะผู้คน

บริทท์มารีไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลงใดๆ เธอเชื่อว่าชีวิตที่เป็นปกติคือชีวิตที่ดี

จนวันหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น ทุกสิ่งที่เคยเป็นมาหายวับหมดสิ้นในชั่วพริบตา เคนต์ สามีของเธอเกิดอาการหัวใจวาย ทำให้ความจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งบริทท์มารีอาจเคยรู้มาก่อน แต่เธอเลือกทำเป็นมองไม่เห็นว่าสามีของเธอนอกใจมีหญิงอื่น กลายเป็นสิ่งที่ปรากฏชัด กระทั่งไม่อาจปฏิเสธได้อีกต่อไป และนำไปสู่จุดจบของชีวิตแต่งงาน

ในวัย 63 บริทท์มารีเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการหางานทำ เพราะสองเหตุผล อย่างแรกเธอมีงานทำ (การดูแลบ้าน) มาตลอดสี่สิบปี จึงจำเป็นต้องหาอะไรทำ เพื่อไม่ให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปไกลเกิน ถัดมา บริทท์มารีเคยอ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ ผู้หญิงคนหนึ่งนอนตายในแฟลตตัวเองนานหลายสัปดาห์ โดยไม่มีใครพบเห็นล่วงรู้ จนกระทั่งเพื่อนบ้านได้กลิ่น

บริทท์มารีไม่ต้องการจะเป็นเช่นนั้น เธอจึงต้องการงานทำอย่างยิ่งยวด เพื่อว่าใครสักคนจะสังเกตเห็นในวันที่เธอหายไปจากที่ทำงาน

หลังจากบริทท์มารีแวะเวียนไปที่สำนักจัดหางาน แสดงอิทธิฤทธิ์ (หรือพิษสง) ในแบบของเธอ จนเจ้าหน้าที่ปวดเศียรเวียนเกล้า อับจนปัญญาจะบอกกล่าวให้เธอเข้าใจว่า ตอนนี้ยังไม่มีตำแหน่งงานใดว่าง และจะติดต่อกลับในภายหลัง

ด้วยกรรมวิธีหางานอันพิลึกพิลั่น ท้ายที่สุด บริทท์มารีก็ได้งานเป็นคนดูแลศูนย์สันทนาการ ในสถานที่อันมีชื่อเรียกว่า บอร์ก

บอร์ก เป็นแห่งหนไม่แน่ชัดว่าควรจะเรียกเป็นเมืองหรือตำบลหรือหมู่บ้าน แต่ที่แน่ๆ มันเป็นบริเวณที่กำลังจะตายดับ กิจการต่างๆ ทยอยปิดตัวเกือบหมด เนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ เหตุผลที่ศูนย์สันทนาการแห่งนั้นยังคงอยู่ ก็เพียงเพราะว่าก่อนหน้านั้นอะไรอื่นๆ เพิ่งชิงตัดหน้าปิดไป ทำให้ศูนย์ฯ ต้องรอคิวการปิดตัวไปอีกสักพัก

อีกสิ่งหนึ่งซึ่งยังคงเหลืออยู่คือร้านพิซซ่า ซึ่งเป็นทั้งร้านอาหาร ร้านเหล้า ที่ทำการไปรษณีย์ ร้านขายของชำ ฯลฯ

พูดอีกแบบคือสิ่งใดก็ตามที่ชุมชนแห่งหนึ่งจะพึงมี ล้วนกระจุกรวมอยู่ที่ร้านพิซซ่าแห่งนี้ ซึ่งดูแลดำเนินกิจการโดย ‘ใครคนนั้น’ หญิงพิการที่ต้องนั่งรถเข็น

สภาพที่พบเห็นได้ทั่วไปอีกอย่างในบอร์ก คือตามบ้านต่างๆ ล้วนปักป้าย ‘ขาย’ ด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ เพียงน้อยนิดว่า อาจมีใครสักคนเซ่อซ่ามากพอจะมาหลงซื้อ

บอร์ก เป็นถิ่นย่านที่กำลังจะตายดับ สิ้นหวัง ผู้คนที่นั่นส่วนใหญ่ถอดใจยอมแพ้ มีเพียงส่วนน้อยยังแข็งขืนสู้ต่อ คำว่า ‘ความหวัง’ เป็นสิ่งเล็กกระจ้อยจนแทบจะมองไม่เห็น หรือเทียบเคียงเท่ากับคำว่า ‘ปาฏิหาริย์’

และแล้วคนที่มีนิสัยกับพฤติกรรมประหลาดอย่างบริทท์มารี ก็เดินทางมายังดินแดนร่อแร่อาการหนักอย่างบอร์ก เกิดความแปลกหน้าและขัดแย้งตรงข้าม ชนิดไม่น่าจะผูกมิตรกันได้ ค่อยๆ ทำความรู้จักเรียนรู้อีกฝ่าย จนนำไปสู่เปลี่ยนแปลงซึ่งกันและกัน

บริทท์มารีทำให้บอร์กเปลี่ยนไปเป็นอีกแบบ พร้อมๆ กันนั้นสถานที่ (และผู้คนทั้งหลายในถิ่นย่านดังกล่าว รวมถึงหนูตัวหนึ่ง) ก็ทำให้บริทท์มารีไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

มีปัจจัยสำคัญ สิ่งมหัศจรรย์ เวทมนตร์ หรืออำนาจวิเศษที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง ดลบันดาลให้เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นเป็นไปและมีบทสรุป เปรียบเสมือนเทพนิยาย

สิ่งนั้นคือ ฟุตบอล ซึ่งบริทท์มารีเกลียดเข้าไส้ และไม่รู้อะไรเกี่ยวกับกีฬาชนิดนี้เลยสักนิด

ข้างต้นทั้งหมดคือเรื่องราวคร่าวๆ ของ Britt-Marie Was Here เป็นพล็อตที่นักอ่านนักดูหนังน่าจะคุ้นเคยกันอย่างดี (ขณะเขียนต้นฉบับชิ้นนี้ ผมลองนึกเร็วๆ ถึงงานสักชิ้นที่มีองค์ประกอบหลักใกล้เคียงกัน คำตอบที่โผล่ปรากฏฉับพลัน คือ อนิเมชันปี 2006 ของ pixar เรื่อง Cars ซึ่งตัวเอกเป็นยอดรถแข่งนิสัยไม่น่ารัก เกิดเหตุ ‘หลงทาง’ และต้องไปใช้ชีวิตติดอยู่ในเมืองเล็กๆ ซบเซาโรยราแห่งหนึ่งอันเคยมีอดีตรุ่งเรือง แล้วก็ได้เรียนรู้ชีวิต ได้รับโอกาสที่สองในการเกิดใหม่เป็นยอดรถแข่งนิสัยดี)

บนพื้นฐานเค้าโครงเรื่องเป็นสูตรสำเร็จ ซึ่งผู้อ่านสามารถคาดเดาทิศทางกว้างๆ ของเรื่องได้ทะลุปรุโปร่งตั้งแต่ต้นจนปลาย ว่าจะคลี่คลายลงเอยเช่นไร Britt-Marie Was Here ก็เป็นนิยายที่มีรายละเอียด การสร้างจังหวะ การผูกสถานการณ์ ในแบบที่ ‘ช่างคิด’ จนทำให้เกิดความชวนติดตามและเดายาก ว่าแต่ละบทแต่ละตอนจะมาไม้ไหน

สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นจุดอ่อนข้อด้อยอย่างเด่นชัด คือ Britt-Marie Was Here เป็นนิยายที่เต็มไปด้วยความจงใจ ทั้งความประจวบเหมาะลงล็อกเป๊ะๆ ของสถานการณ์ต่างๆ, ตัวละครกลุ่มที่เข้าข่ายเกือบจะเป็น ‘ตัวร้าย’ มีลักษณะแบนมิติเดียว ส่อเจตนาชัดว่าผู้เขียนต้องการให้อ่านแล้วรู้สึกเกลียดทันที, ความชัดเจนในการอธิบายเบื้องลึกของตัวละครอย่างถี่ถ้วน รวมถึงการสร้างจุดเปลี่ยนให้กับตัวละครในลักษณะที่พูดแรงๆ ก็คือ เป็นการจับยัด

อย่างไรก็ตาม เฟรียดริค บัคมันเก่งและฉลาดมากในการ ‘กำจัดจุดอ่อน’ ทั้งหลายประดามี และสามารถเปลี่ยนความรู้สึกของผู้อ่านให้กลับมาชื่นชอบข้อควรจะด้อยเหล่านี้

ความประจวบเหมาะหรือเหตุบังเอิญต่างๆ  บอกเล่าด้วยการจัดวางออกแบบชนิดถูกที่ถูกเวลา การอธิบายความคิดและสิ่งที่อยู่ในใจของบริทท์มารีอย่างละเอียดยิบตลอดเวลา อาจเข้าข่ายชัดแจ๋วจนเหมือนย่อยและป้อนใส่ปากผู้อ่าน (ในความเป็นนิยายประเภทขวัญใจมหาชนแล้ว นี่ไม่ใช่ข้อบกพร่องเสียหายนะครับ) แต่ความถี่ถ้วนเหล่านี้ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญในการทำให้ผู้อ่านเห็นอกเห็นใจและรักตัวละครนิสัยประหลาดนี้ รวมทั้งเป็นกลไกสำคัญไปสู่การสะท้อนเนื้อหาสาระของนิยาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาตัวร้าย ล้วนมีจุดพลิกผันหรืออีกด้านที่หลบซ่อน ซึ่งเมื่อถึงตอนเปิดเผย นอกจากจะโกรธเกลียดไม่ลงแล้ว ยังเป็นจังหวะดราม่าดีๆ และที่สำคัญกว่านั้น คือช่วยเน้นย้ำประเด็นสำคัญของเรื่อง

เท่าที่ผมเข้าใจ Britt-Marie Was Here มีสาระสำคัญอยู่ 2-3 ประเด็น ทุกประเด็นนำเสนออกมาชัดหมด

แง่มุมแรกคือ การเปลี่ยนวิถีใช้ชีวิตต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิงของบริทท์มารี จนนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงภายใน สิ่งที่น่าสนใจคือ จากต้นจนจบ บริทท์มารียังคงเป็น ‘มนุษย์ป้ามหาภัย’ อย่างเหนียวแน่น จู้จี้จุกจิก เจ้ากี้เจ้าการ ยึดมั่นตามระเยียบที่เธอเชื่ออย่างเคร่งครัด เนี้ยบไม่มีที่ติ รักความสะอาดแบบอนามัยจัดแล้วจัดอีก แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงคือ การมองเห็นโลกและผู้คนรอบๆ ตัวด้วยความเข้าอกเข้าใจที่ถ่องแท้มากขึ้น และสิ่งสำคัญกว่านั้นคือ การรู้จักรู้ใจตัวเองอย่างแท้จริง ว่าปรารถนา ใฝ่ฝันในสิ่งใด ต้องการใช้ชีวิตแบบไหน

ประเด็นต่อมาอาจเรียกได้ว่าเป็นส่วนขยายความ ตลอดทั่วทั้งเรื่องเต็มไปด้วยการพรรณนาสาธยายถึงการมองเห็น-การถูกมองเห็น

บริทท์มารีเป็นตัวละครที่เหมือน ‘ไม่มีตัวตน’ ในวัยเด็กเธอมีชีวิตอยู่ในเงาของพี่สาว ถูกพ่อแม่มองข้ามละเลย เมื่อแต่งงานเธอกลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งในชีวิตของสามี (ซึ่งปราศจากบทบาทใดๆ และไร้ความสลักสำคัญ) ปราศจากชีวิตของตนเอง จนนานวันเข้าก็เป็นบุคคลที่โลกมองไม่เห็น

ชื่อเรื่อง Britt-Marie Was Here (บริทท์มารีอยู่ตรงนี้) สะท้อนความหมายสำคัญของการเป็นที่พบเห็นและมีตัวตนในสายตาของผู้อื่น

ตัวนิยายเต็มไปด้วยรายละเอียดสารพัดสารพันเกี่ยวกับการมองเห็น-การถูกมองเห็น เช่น บริทท์มารียึดติดกับน้ำยาเช็ดกระจกยี่ห้อแฟ็กซิน หน้า 45 อธิบายแง่มุมนี้ไว้ว่า

“บริทท์มารีไม่เคยใช้น้ำยาเช็ดกระจกยี่ห้ออื่นนอกจากแฟ็กซิน เธอเห็นมันครั้งแรกตอนเด็กๆ ในหน้าโฆษณาของหนังสือพิมพ์กรอบเช้าที่พ่ออ่าน ผู้หญิงคนหนึ่งยืนมองออกมาจากหน้าต่างใสแจ๋ว ข้างใต้มีข้อความเขียนว่า ‘แฟ็กซินจะช่วยให้คุณมองเห็นโลก’ บริทท์มารีชอบรูปภาพรูปนั้น ทันทีที่โตพอที่จะมีกระจกหน้าต่างเป็นของตัวเอง เธอจึงเช็ดมันด้วยแฟ็กซิน เธอยังคงทำอย่างนั่นเรื่อยมาเป็นประจำทุกวัน ด้วยเหตุนี้เธอจึงไม่เคยมีปัญหาในการมองเห็นโลก

โลกต่างหากที่ไม่เคยมองเห็นเธอ”

ตรงนี้ผมควรเสริมไว้ด้วยว่า ในระยะต้น บริทท์มารีซึ่งคิดและเข้าใจว่าตนเองไม่เคยมีปัญหาในการมองเห็นโลก แท้ที่จริงแล้วเป็นคนที่มีปัญหาเรื่องนี้มากกว่าใครอื่นทั้งหมด ดังเช่นที่มีการบอกเล่าในเวลาต่อมา (หน้า 222) ว่า

“เธอเดินไปที่ศูนย์สันทนาการ ทำความสะอาด เช็ดหน้าต่างและมองออกไปนอกบานกระจก ตอนนี้เธอมองเห็นทุกอย่างได้มากกว่าตอนที่มาถึงบอร์กใหม่ๆ แฟ็กซินช่วยเราเรื่องนี้ได้”

ข้อความข้างต้นนั้น พูดถึงการมองเห็นทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมนะครับ อย่างแรกคือ กระจกหน้าต่างในวันที่บริทท์มารีมาเยือนบอร์ก มันถูกปล่อยปละละเลย คราบสกปรกเกาะแน่นจนแทบมองอะไรไม่เห็น  จากนั้นก็ได้รับการทำความสะอาดทุกวี่วันจนใสกระจ่าง อย่างต่อมาคือ การเรียนรู้ เปลี่ยนแปลง ภายในของบริทท์มารี จนเห็นและเข้าใจโลกดีกว่าเดิม

อีกรายละเอียดเกี่ยวกับการมองเห็น เสนอผ่านตัวละครชื่อแบงก์ หญิงสาวผู้มีอาการทางด้านสายตาจนใกล้จะบอด ตัวละครนี้มีเส้นทางชีวิตชัดเจนว่าต้องการอะไร จะมุ่งไปทางใด แต่ประสบปัญหาอีกแบบ (ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ผมจะพูดถึงต่อไป)

พ้นจากนี้แล้ว แง่มุมการมองเห็น ยังเล่าสะท้อนผ่านชีวิตของตัวละครแทบทั้งหมด ซึ่งเริ่มต้นด้วยการเล่าให้ผู้อ่านรู้จักเฉพาะบางส่วน หรือเปลือกผิวภายนอก แล้วจึงค่อยเผยให้เห็นอีกซีกด้านที่แตกต่าง

ตรงนี้อาจสรุปง่ายๆ ว่า นิยายเรื่องนี้บอกเล่าถึงการที่บริทท์มารีเห็นตัวละครอื่นๆ ทุกคน (และเป็นส่วนที่เล่าออกมาได้ซาบซึ้งน่าประทับใจมาก)

ประเด็นสุดท้ายคือ การพูดถึงความหวังและการไม่ยอมจำนน ซึ่งสะท้อนผ่านความรักต่อเกมกีฬาฟุตบอล

มีข้อความดีๆ และคมคายในการพูดถึงความรักต่อฟุตบอลอยู่มากมาย (หรือจะกล่าวว่าทุกครั้งที่นิยายเรื่องนี้พูดถึงฟุตบอล ล้วนทำให้ผู้อ่านจับอกจับใจได้ตลอด)

อาจพูดได้อีกอย่างว่า ในความเป็นอะไรต่อมิอะไรหลายๆ อย่าง สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือ นิยายเรื่องนี้เป็นจดหมายรักที่มีต่อกีฬาฟุตบอล

ถ้า Britt-Marie Was Here ไม่ใช่นิยายสวีเดน แต่เป็นนิยายไทย ผมก็อยากจะตั้งชื่อเสียใหม่ให้ได้บรรยากาศชนบทว่า ‘มนต์รักลูกหนัง’ เลียนเสียงให้ฟังคล้าย ‘มนต์รักลูกทุ่ง’ นะครับ

เพื่อไม่ให้เป็นการคลายรสประทับใจต่อฟุตบอลจนเกินไป ผมขออนุญาตหยิบยกข้อความที่พูดถึงกีฬาฟาดแข้งเพียงแค่หนึ่งเดียว (ผมพยายามเลือกอันที่ซึ้งน้อยสุดแล้วนะครับ) เขาว่าเอาไว้อย่างนี้

หน้า 304 “ฟุตบอลบังคับให้ชีวิตต้องเดินหน้าต่อ มีการแข่งขันนัดต่อไปรออยู่ข้างหน้าเสมอ ฤดูกาลใหม่แข่งขันใหม่ ความฝันว่าทุกอย่างจะต้องดีขึ้น สิ่งเหล่านี้ไม่เคยหนีไปไหน”

คำโปรยข้อเขียนชิ้นนี้ของผมปรากฏอยู่ในเนื้อเรื่อง พูดถึงตัวละคร 3 คน ซึ่งเป็นกองเชียร์ทีมลิเวอร์พูล ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

กล่าวแบบรวบรัดตัดความ หากคุณเป็นกองเชียร์ทีมใด จะสรุปนิยามกระชับสั้นได้ว่าคุณเป็นคนแบบไหน

คำเฉลยเกี่ยวกับกองเชียร์ทั้ง 3 ทีมนี้ ผูกโยงข้องเกี่ยวกับแก่นสารสำคัญของเรื่อง และอธิบายถึงตัวละครได้ยอดเยี่ยมมาก ทั้งคมคาย ชวนซึ้ง และที่สำคัญคือ ตลกอย่างร้ายกาจ

ตอนอ่านเจอ ผมถึงกับขำพรวด พร้อมทั้งรำพึงรำพันออกมาเบาๆ ว่า จริงด้วยว่ะ!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save