fbpx

สีสันของมนุษย์ขาวดำ ชายชื่ออูเว (A Man Called Ove)

ชายชื่ออูเว

ทิศทางการอ่านของผมในระยะนี้ ขยับย้ายความสนใจจากวรรณกรรมคลาสสิกมายังนิยายประเภทเบสต์เซลเลอร์ชั่วคราว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหน้าที่การงานบังคับ อีกส่วนหนึ่งเป็นความสมัครใจของผมเอง ซึ่งอยากเปลี่ยนบรรยากาศ หลังจากขลุกและคลุกคลีอยู่กับของหนักของยากมาสักพักใหญ่ๆ

ผลก็คือ ผมมีโอกาสได้กลับไปอ่านนิยายเรื่อง ชายชื่ออูเว (A Man Called Ove) ซ้ำอีกครั้ง และพบว่ามีความน่าสนใจควรแก่การนำมาเล่าสู่กันฟัง ด้วยเหตุว่าเป็นนิยายที่เหมาะสำหรับผู้อ่านในวงกว้าง มีคุณสมบัติครบครันที่มหาชนน่าจะตกหลุมรักได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นความสนุกบันเทิงชวนติดตาม, อารมณ์หลากรสทั้งตลกขบขัน รื่นรมย์เบาสมอง น่ารัก ซาบซึ้งประทับใจ โรแมนติก และเจ็บเศร้าสะเทือนใจ, ท่วงทีลีลาการเขียนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและอยู่ในเกณฑ์เกินมาตรฐาน ‘นิยายขายดี’ ทั่วๆ ไป, ประเด็นทางเนื้อหาซึ่งนำเอาแง่มุมลึกๆ ยากๆ มาย่อยให้ง่าย โดยยังคงมีชั้นเชิงความแยบยล

A Man Called Ove เป็นนิยายสวีเดน เขียนโดยเฟรียดริค บัคมัน (เป็นนิยายเรื่องแรกของเขา) พิมพ์เผยแพร่ออกมาเมื่อปี 2012 และประสบความสำเร็จในชั่วข้ามคืน จนถึงปัจจุบันได้รับการแปลมากกว่า 25 ภาษา และดัดแปลงเป็นหนังชื่อเดียวกันในปี 2015 กำกับโดยฮันเตส โฮลม์ (ตัวหนังได้รับคำวิจารณ์ดีมาก เข้าชิงรางวัลออสการ์ 2 สาขา คือหนังต่างประเทศและแต่งหน้าทำผม)

โดยแนวทางแล้ว A Man Called Ove ผสมปนระหว่าง comedy, drama และ romance เนื้อเรื่องเป็น 1 ใน 7 พล็อตพื้นฐาน ที่เรียกกันว่า การเกิดใหม่ (rebirth)

พล็อตแบบ rebirth เป็นเรื่องของตัวละครที่ดูร้ายกาจไม่น่าคบหาในเบื้องต้น จากนั้นก็พานพบประสบเหตุการณ์บางอย่าง นำพาไปสู่ความเปลี่ยนแปลง กระทั่งกลายเป็นคนที่ดีขึ้นในบั้นปลาย

ตัวอย่างของพล็อตทำนองนี้ก็เช่น  A Christmas Carol ของชาร์ลส์ ดิคเคนส์ หรือหนังเรื่อง Groundhog Day (ซึ่งรับอิทธิแรงบันดาลใจมาจากงานเขียนของดิคเคนส์อีกทอดหนึ่ง)

พูดอีกอย่างได้ว่าเนื้อเรื่องนั้นมีความเป็นสูตรสำเร็จ เริ่มต้นอ่านไปสักเล็กน้อยก็พอจะเดาทางในตอนจบได้ไม่ยาก แต่เฟรียดริค บัคมันก็โชว์ฝีมือพลิกแพลง ปรุงแต่ง จนทำให้ A Man Called Ove มีความใหม่ และคาดเดาล่วงหน้าไม่ถูก ต้องติดตามอ่านไปจนจบ

เนื้อเรื่องนั้นยังคงเป็นไปตามแบบ ‘รู้ๆ กันอยู่’ นะครับ แต่สิ่งที่คาดเดาไม่ได้คือ รายละเอียดระหว่างทางในแต่ละบทแต่ละตอน ว่าตัวละครต้องเจอะเจออะไรบ้าง และจะมีวิธีคลี่คลายรับมือกับเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างไร

อีกสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดข้อแตกต่างก็คือการสร้างตัวละคร ซึ่งเข้าลักษณะตัวละครที่แข็งแรงและน่าสนใจมาก

อูเวตัวเอกของเรื่อง ไม่ใช่ตัวละครตามครรลอง ‘ต้นร้าย ปลายดี’ มิหนำซ้ำยังเป็นคนดี จิตใจงามมาตั้งแต่ต้น

เพียงแต่เนื้อแท้เบื้องลึกของอูเวนั้น ถูกบดบังด้วยภาพภายนอกในทางตรงกันข้ามที่ทุกคนมองเห็น ฉากเปิดตัวอูเวในบทแรก ทำให้ผู้อ่านตระหนักในฤทธิ์เดช พิษสงของตัวละครนี้ได้แจ่มชัด

เป็นมนุษย์ประเภทว่า หากเจอะเจอที่ไหนในชีวิตจริง เราท่านทำได้ดีที่สุด ทำได้มากสุด ก็คือหลีกเลี่ยงไปไกลๆ ไม่ควรตอแย ต่อปากต่อคำด้วย และภาวนาว่าอย่าได้พบพานกันอีกเลย

อูเวเป็นชายวัย 59 ปี เป็นมนุษย์ลุงขี้หงุดหงิด รำคาญและไม่สบอารมณ์กับทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว มีความไม่เป็นมิตรถึงขั้นสุดกับทุกคนที่พบเจอ ขัดแย้งและพร้อมทะเลาะได้ทุกเมื่อ พูดน้อย เย็นชาจนเหมือนคนไร้หัวใจ จู้จี้จุกจิกและเคร่งครัดกับกฎระเบียบที่ตนเองยึดมั่นจนดูแข็งกร้าวตึงเครียด ไม่รู้จักคำว่าผ่อนปรนหรือประนีประนอม

สำหรับอูเว ทุกสรรพสิ่งในชีวิตขีดแบ่งจำกัดความแยกแยะออกมาได้เพียงแค่ ถูกคือถูก ผิดคือผิด ไม่มีความก้ำกึ่งตรงกลางใดๆ ในระหว่างนั้น

ใจความสำคัญอย่างหนึ่งใน A Man Called Ove คือความเป็นเรื่องรักโรแมนติกที่ซาบซึ้งตรึงใจมากนะครับ และเป็นเรื่องรักของตัวละครอูเว มนุษย์ที่ห่างไกลจากความโรแมนติก ชนิดอยู่กันคนละจักรวาล

ความเก่งกาจประการแรกของนิยายเรื่องนี้คือ เปิดฉากเริ่มต้นให้ตัวละคร ‘ไม่น่ารัก’ อย่างยิ่งยวด จากนั้นก็ยืนพื้นรักษาบุคลิกนิสัยใจคอดังกล่าวอย่างเหนียวแน่นตั้งแต่ต้นจนจบ ทว่าด้วยการแสดงรายละเอียดให้ข้อมูลแก่ผู้อ่านเพิ่มขึ้นทีละน้อย เพียงแค่ไม่กี่หน้ากระดาษถัดจากนั้น ผู้อ่านก็เกิดความผูกพัน รัก และเอาใจช่วยมนุษย์ลุงสารพัดพิษรายนี้ไปเรียบร้อยแล้วโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว เมื่อมองผ่านเข้าไปล่วงรู้เบื้องลึกภายในของเขา

เปลือกนอกของอูเว ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นคนที่ซับซ้อนเข้าใจยาก แต่เมื่อผู้อ่านติดตามเรื่องราวไปเรื่อยๆ จะพบว่า แท้จริงแล้ว เขาเป็นมนุษย์สาขาขวานผ่าซาก เถรตรง เรียบง่าย แข็งทื่อ ตรงไปตรงมา พึงพอใจกับการใช้ชีวิตตามกิจวัตรซ้ำเดิมอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ชอบที่จะพบเจอสิ่งที่คาดเดาได้ จนกระทั่งกลายเป็นตัวประหลาด แลดูแปลกปลอมไม่เข้าพวกกับผู้คนส่วนใหญ่ รวมทั้งมีวิถีชีวิต ทัศนคติ ค่านิยมในชีวิตสวนทางตรงข้ามกับสังคมวงกว้าง

อูเวเป็นคนที่ไม่เข้ากับยุคสมัย และมองทุกสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวว่า ‘นี่คือโลกที่เรากลายเป็นคนตกยุคก่อนที่จะสิ้นสุดอายุขัยของเราจริงๆ’ (หน้า 96)

อีกตอนหนึ่งในนิยาย (หน้า 282) เล่าไว้ว่า “ครั้งหนึ่งซอนยาเคยพูดว่า การจะทำความเข้าใจผู้ชายอย่างอูเวและรูนนั้น เราต้องเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า พวกเขาเป็นคนที่อยู่ผิดยุค”

ตรงนี้เชื่อมโยงกับอีกแง่มุมหนึ่งของนิยาย นั่นคือการเสียดสีวิถีความเป็นอยู่ในสังคมปัจจุบัน ตั้งแต่ไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิต, เป้าหมายความใฝ่ฝัน, ค่านิยมต่อสิ่งต่างๆ, การพึ่งพาเทคโนโลยีทันสมัยในเกือบทุกๆ รายละเอียดชีวิตประจำวัน เรื่อยไปจนถึงเรื่องหยุมหยิมปลีกย่อยอย่างการเลือกยี่ห้อเมื่อซื้อรถยนต์ หรือวิธีการชงกาแฟ

ด้วยบุคลิกต่างๆ ดังที่กล่าวมา จุดใหญ่ใจความอันดับแรกของ A Man Called Ove คือการค่อยๆ แสดงให้เห็นถึงกระบวนการละลายน้ำแข็งในตัวของอูเว เผยแสดงให้เห็นตัวตนอันแท้จริง ความมีน้ำใจ ความเป็นมิตร และด้านงดงามสารพัดสารพันของตัวละคร และแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นย่อมต้องมีซีกด้านโรแมนติกของอูเวรวมอยู่ด้วย

บุคลิกนิสัยของตัวละครอูเว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเส้นเรื่อง ‘การเกิดใหม่’ สักเท่าไรนะครับ ถ้าหากจะมีความเชื่อมโยงอยู่บ้างก็เพียงแค่เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านที่เป็น ‘การแสดงออก’ ซึ่งสะท้อนถึงความอ่อนโยน ด้วยวิธีทื่อมะลื่อ ห้วนเป็นมะนาวไม่มีน้ำ ปากร้ายใจดี ตามแบบฉบับของอูเว

การเกิดใหม่นั้นปรากฏให้เห็นในอีกแง่มุมหนึ่ง เมื่อเรื่องเริ่มต้น ซอนยา ภรรยาของอูเว ซึ่งใช้ชีวิตคู่ร่วมกันมา 40 ปี เสียชีวิต ตัวอูเวเองถูกบีบให้เกษียณจากงานที่ทำมาเนิ่นนาน

หลายเดือนต่อมาถัดจากนั้น เขาดำรงชีวิตซังกะตาย หมดอาลัยตายอยาก เคว้งคว้างไร้จุดหมาย ทุกห้วงขณะเต็มไปด้วยความทรงจำมากมายถึงภรรยาผู้ล่วงลับ และยิ่งนึกถึงเธอมากเพียงไร ก็ยิ่งเจ็บปวดรวดร้าวมากเท่านั้น

หน้า 148 สรุปความไว้สั้นกระชับ แต่ครอบคลุมใจความกว้างอธิบายสภาพของอูเวไว้ดังนี้ “แต่ถ้าจะมีใครสักคนถาม อูเวก็คงตอบว่า เขาไม่เคยชีวิตจริง ๆ ก่อนที่จะพบเธอ และหลังจากที่เธอจากไปแล้ว”

และ “อูเวไม่ได้ตายไปด้วยตอนที่ซอนยาจากเขาไป เขาก็แค่หยุดมีชีวิตเท่านั้น”

A Man Called Ove ดำเนินเรื่อง ด้วยวิธีตัดสลับเหตุการณ์ระหว่างปัจจุบันกับการรำลึกย้อนอดีต (โดยตั้งชื่อบทเพื่อแยกแยะออกเป็น ‘ชายชื่ออูเว’ เมื่อเล่าเรื่องช่วงปัจจุบัน และ ‘ชายที่อูเวเคยเป็น’ ในส่วนย้อนอดีต)

เรื่องราวในอดีต เล่าถึงชีวิตของอูเวตั้งแต่วัยเด็ก ความผูกพันกับพ่อที่กลายมาเป็นแบบอย่างให้ยึดมั่นในการดำเนินชีวิต และความสัมพันธ์ตั้งแต่แรกพบ จนกระทั่งถึงวาระที่ตัวเขากับซอนยาพรากจากกัน

นิยายเรื่องนี้เปรียบเปรย อูเวกับซอนยาไว้ว่า “เขาคือคนที่ชีวิตมีแต่ดำกับขาว และเธอคือสีสัน เป็นสีสันทั้งหมดของชีวิตที่เขามีอยู่”

ซอนยา ‘เกือบ’ จะเป็นคนเดียวในโลกที่มองเห็น เข้าใจ และรู้จักตัวตนที่แท้จริงของอูเว และเป็นเสมือนคนกลางเชื่อมประสานอูเวกับโลกภายนอก

พูดอีกแบบ เรื่องเล่าเหตุการณ์ในอดีต สะท้อนถึงชีวิตที่อูเวเคยมีเคยเป็น พร้อมกับอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเพราะเหตุใด อูเวจึงทุกข์ระทมสาหัสในเรื่องเล่าภาคปัจจุบัน ถึงขั้นตระเตรียมฆ่าตัวตาย

เหตุการณ์หลักๆ ในภาคปัจจุบัน เล่าถึงความร้ายกาจและไม่น่ารักของอูเว ความมุ่งมั่นตั้งหน้าตั้งตาลงมือฆ่าตัวตายหลายครั้งครา และที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์ระหว่างอูเวกับบรรดาผู้คนรอบๆ ตัวที่มีเหตุให้ต้องมาข้องแวะเกี่ยวโยงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวของเพื่อนบ้านที่เพิ่งย้ายมาใหม่ เป็นหญิงสาวชาวอิหร่านชื่อปาร์วาเนห์ ซึ่งเริ่มต้นด้วยความเป็นอริ เป็นไม้เบื่อไม้เมาต่อกัน และคลี่คลายเป็นมิตรภาพความผูกพันอันน่าประทับใจในเวลาต่อมา รวมถึงการต้องรับมือกับแมวจรจัดตัวหนึ่ง

มีความแตกต่างอยู่บ้างในแง่ของโทนเรื่อง บรรยากาศ และอารมณ์ระหว่างเรื่องเล่าในปัจจุบันกับอดีต ช่วงปัจจุบันมีท่วงทีลีลาอึกทึกครึกโครม โฉ่งฉ่าง ชุลมุนวุ่นวาย และมีความเป็นการ์ตูน ทั้งบุคลิกรูปลักษณ์และการกระทำของตัวละคร (เทียบเคียงง่ายๆ เหมือนหนังที่มีการแสดงแบบโอเวอร์แอคติง) ขณะที่เรื่องเล่าย้อนอดีต แม้จะมีลักษณะเดียวกัน แต่ก็ลดทอนเจือจางลง จนกลายเป็นความอ่อนโยน สงบนิ่ง และนุ่มนวลกว่า

ความโดดเด่นก็คือ อารมณ์ทั้งสองส่วนรับ-ส่งกันได้อย่างเหมาะเจาะกลมกลืน จนทำให้นิยายเรื่องนี้เกิดความบันเทิงในแบบที่อาจจะเรียกได้ว่า มีรสชาติอร่อยเฉพาะตัว

ถัดมาคือ การเล่าสลับดังกล่าว ยังสร้างจังหวะจะโคนในการเดินเรื่องที่ชวนให้ผู้อ่านติดตามด้วยความกระหายใคร่รู้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกครั้งที่อูเวลงมือฆ่าตัวตาย) นี่ยังไม่นับรวมความแม่นยำในการสร้างอารมณ์ขัน ช่วงตอนซาบซึ้ง และดรามาสะเทือนใจ เป็นจังหวะท่วงทีลีลาในการเขียนหนังสือที่เข้าเป้าทุกครั้ง

ในแง่ความบันเทิง A Man Called Ove เป็นงานแบบ feel good ที่รื่นรมย์ ผ่อนคลาย น่ารัก

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีลีลาเบาๆ สบายๆ แต่งานชิ้นนี้ก็ไม่ได้เบาหวิวไร้แก่นสาร ประเด็นทางเนื้อหาอาจจะนำเสนอออกมาง่ายๆ แต่ก็ฝากและแฝงแง่มุมชวนคิดอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับคุณค่าความหมายของการใช้ชีวิต, ความเป็นครอบครัว, ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน, ความเป็นชุมชน, ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย รวมถึงประเด็นสำคัญอย่างความรักและการพลัดพรากสูญเสียคนที่รัก, ความทรงจำและความโศกเศร้า, การกอบกู้ตนเองให้สามารถกลับมายืนหยัดใช้ชีวิตเดินหน้าต่อไปได้อีก

แง่คิดคติธรรมทั้งหลายประดามีบอกเล่าเอาไว้แจ่มชัด ไม่ต้องเสียเวลาขบคิดตีความเพิ่มเติมแต่อย่างไร แต่พร้อมๆ กันนั้น เฟรียดริค บัคมันก็ไม่ได้ละทิ้งกลวิธีทางศิลปะ

กล่าวคือ แม้จะสะท้อนอะไรต่อมิอะไรกระจ่างชัด ตรงไปตรงมา แต่งานชิ้นนี้ยังมีชั้นเชิงอยู่ครบครัน (ในแบบฉบับของงานเขียนประเภทเบสต์เซลเลอร์)

มีรายละเอียดหลายๆ อย่างที่ถูกใช้ในเชิงสัญลักษณ์ เท่าที่ผมจำได้ก็เช่น ชายในเสื้อเชิ้ตขาว, รถยนต์ และแมวจรจัด

A Man Called Ove เป็นนิยาย feel good ตัวละครส่วนใหญ่ในเรื่องไม่มีใครเป็นผู้ร้าย ยกเว้นเด็กสาวเคี้ยวหมากฝรั่ง ซึ่งเป็นคู่อริของอูเว มีพฤติกรรมไม่ค่อยน่ารัก ไม่ถึงกับเข้าข่ายเป็นตัวโกงไปเสียทีเดียว แค่เกือบๆ

ผู้ร้ายตัวจริงคือ ชายที่สวมเสื้อเชิ้ตสีขาว เป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานสังคมสงเคราะห์ ซึ่งขับเคี่ยวสู้รบปรบมือกับอูเวตลอดทั้งเรื่อง ตัวละครนี้นิยายแสดงเจตนาเด่นชัดว่าไม่ต้องการระบุชื่อ และหลีกเลี่ยงการพรรณนาสาธยายรูปร่างหน้าตา มักจะกล่าวถึงรวมๆ เป็นหมู่คณะ เพื่อแสดงให้รู้ว่ามีหลายคน (โดยมีชายเสื้อเชิ้ตขาวที่สูบบุหรี่เป็นประดุจดังตัวแทนของทั้งหมด แสดงบทบาทโลดแล่นมากกว่ารายอื่นๆ)

พูดง่ายๆ คือ ชายในเสื้อเชิ้ตขาวจำนวนมาก ถูกนำเสนอให้ดูเหมือนกันไปหมด และดูไร้หัวจิตหัวใจ จนเหมือนหุ่นยนต์กลไกหรือเครื่องจักร เหมือนไม่ใช่มนุษย์

ในนิยายกล่าวพาดพิงถึงด้านลบของตัวละครกลุ่มนี้อยู่เนืองๆ จนผู้อ่านเข้าใจได้ไม่ยาก ว่าเป็นการแสดงความเห็นของเฟรียดริค บัคมัน ผ่านมุมมองความคิดของอูเว เพื่อเสียดสีความไม่เข้าท่าของระบบราชการสวีเดน

ถัดมาคือ รถยนต์ ตลอดทั้งเรื่อง อูเวเป็นคนที่ใส่ใจให้ความสำคัญว่าใครใช้รถยี่ห้ออะไร (อูเวใช้รถซาบมาตลอดชีวิต จะเปลี่ยนก็เพียงแค่รุ่น ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ และความจำเป็นในการใช้สอย)

นัยยะความหมายของรถยนต์ในนิยายเรื่องนี้ สะท้อน 2 ประการ อย่างแรกเป็นการบ่งบอกว่า ใครใช้รถแบบใด ก็เป็นคนแบบนั้น ถัดมาคือ รถยนต์เป็นคำอธิบายยืนยันถึงความซื่อสัตย์ภักดีอย่างไม่มีวันแปรเปลี่ยนเป็นอื่น

สัญลักษณ์สุดท้ายคือแมวจรจัด ว่ากันตามเนื้อเรื่อง แมวเป็นอีกตัวละครหนึ่ง ซึ่งปรากฏตัวขึ้นเพื่อช่วยเหลือและนำพาชีวิตเสียสูญของอูเวให้กลับมาเข้าที่เข้าทางดังเดิม

แต่ในเชิงสัญลักษณ์ แมวเป็นอีกภาพสะท้อนถึงอูเว โดดเดี่ยว บาดเจ็บ และเจียนตายในเบื้องต้น จากนั้นก็ได้รับการดูแล ผ่านการเยียวยา กระทั่งสามารถกลับมามีชีวิตอบอุ่นเป็นสุขในท้ายที่สุด

อูเวเป็นคนเกลียดแมว แต่ซอนยารักแมว ครั้งที่ใช้ชีวิตร่วมกัน อูเวจึงจำใจต้องยอมรับนิสัยนี้ของภรรยา (ด้วยความกังขาข้องใจว่าเธอรักสัตว์เลี้ยงนี้ได้อย่างไร)

ตรงนี้นำไปสู่อีกแง่มุมโรแมนติกของเรื่อง ซอนยาเป็นตัวละครที่มีคุณสมบัติตรงข้ามกับอูเวจนสุดขั้ว มองโลกในแง่ดี เป็นมิตรกับผู้คน เปี่ยมด้วยความหวัง เข้าอกเข้าใจผู้อื่น ร่าเริงแจ่มใส และเป็นสาวงาม

การที่ซอนยารักอูเวและตัดสินใจแต่งงานกับเขา ยังผลให้ทุกคนที่รู้จักสงสัยและไม่เข้าใจว่า ทำไมผู้หญิงดีๆ เพียบพร้อมไร้ที่ติอย่างซอนยาจึงตกลงปลงใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกับผู้ชายแบบอูเว (ในนิยายมีคำตอบและคำอธิบายนะครับ)

นี่ก็เป็นอีกความเหมือนระหว่างอูเวกับแมวจรจัดตัวนั้น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save