ในยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร ผู้บริโภคมีความตื่นตัวมากขึ้น จะซื้อสินค้าอะไรก็ต้องเสิร์ชหาข้อมูล อ่านรีวิว อย่างละเอียด ไม่ใช่แค่เปรียบเทียบคุณภาพและราคาเพื่อให้ได้ของที่คุ้มโดนใจที่สุดเท่านั้น เทรนด์ที่กำลังมาในตอนนี้คือการที่ผู้บริโภคต้องการรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับสินค้า!
ดังนั้นธุรกิจที่จะอยู่รอดคือธุรกิจที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคได้ และกลยุทธ์ที่ธุรกิจทั่วโลกต่างกำลังงัดมาใช้ก็คือการขาย “ความโปร่งใส” นั่นเอง
จะรู้ทุกอย่างไปทำไม
ข้อมูลพื้นฐานทั่วไป เช่น สินค้ามีส่วนประกอบอะไร ใช้แล้วให้ผลดีผลร้ายอย่างไรบ้าง มีข้อควรระวังอะไร คือสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสนใจเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่ข้อมูล เช่น สินค้านั้นถูกผลิตที่ไหน ผลิตอย่างไร วัตถุดิบมาจากไหน สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนหรือเปล่า คือข้อมูลที่ผู้บริโภคใช้ประเมินคุณค่าของแบรนด์สินค้า ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างมูลค่าและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจยุคปัจจุบัน
ในปี 2016 ที่ผ่านมา Label Insight บริษัทด้านข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ สำรวจผู้บริโภคกว่า 2,000 คน เกี่ยวกับ “ความโปร่งใส” และ “ความเชื่อมั่น” ต่อแบรนด์สินค้าต่างๆ ในอุตสาหกรรมอาหาร พบว่า 56% ของผู้บริโภคจากการสำรวจบอกว่าข้อมูลที่ได้รับเพิ่มขึ้นทำให้พวกเขามีความเชื่อมั่นต่อแบรนด์นั้นๆ มากขึ้นได้ (ดูรายละเอียดได้ที่นี่)
ผลการสำรวจยังบอกอีกว่า ยิ่งแบรนด์มีความโปร่งใสเท่าไหร่ ผู้บริโภคก็พร้อมจะจ่ายเพิ่มขึ้น และให้การสนับสนุนในระยะยาวมากขึ้นเท่านั้น (ดูรายละเอียดได้ที่นี่) 73% ของผู้บริโภคจากการสำรวจบอกว่าพวกเขายินดีจะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นถ้าบริษัทมีความโปร่งใสเต็มร้อย ในขณะที่ 39% พร้อมจะย้ายค่ายมาซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่มีความโปร่งใสแทนสินค้าที่ใช้อยู่ประจำ และ 94% พร้อมจะจงรักภักดีต่อแบรนด์ที่มีความโปร่งใสโดยสมบูรณ์
ขายความโปร่งใส ทำกันอย่างไร
“ความโปร่งใส” อาจนิยามได้หลายอย่าง แต่สำคัญคือการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าในมิติต่างๆ อย่างตรงไปตรงมากับผู้บริโภค
นี่คือตัวอย่างบางธุรกิจในต่างประเทศที่คิดและนำเอา “ความโปร่งใส” ออกมาขายอย่างน่าสนใจ
1. Whole Foods ขายความโปร่งใสเรื่อง GMO
“ผู้บริโภคต้องการความโปร่งใส” – Walter Robb อดีตซีอีโอร่วม Whole Foods Market
Whole Foods ธุรกิจค้าปลีกอาหารธรรมชาติและอาหารออร์แกนิคเจ้าใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ได้รับบทเรียนครั้งสำคัญในปี 2014 จากการถูกผู้บริโภครวมกลุ่มกันฟ้องร้อง กล่าวหาว่าสาขาหนึ่งของบริษัทติดฉลากผิดพลาด รับรองสินค้าชนิดหนึ่งว่าได้รับการรับรองว่าไม่ใช่สินค้า GMO ทั้งที่สินค้านั้นยังไม่ได้ผ่านการรับรอง (ดูรายละเอียดได้ที่นี่)
บทเรียนครั้งนี้ทำให้บริษัทตื่นตัวเรื่องความโปร่งใสของข้อมูลบนฉลากสินค้าเป็นอย่างมาก
ปัจจุบัน Whole Foods กำลังพยายามที่จะก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทค้าปลีกแห่งแรกของสหรัฐอเมริกาที่แสดงความโปร่งใสเกี่ยวกับการรับรองสินค้าปลอด GMO แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2018 สินค้าทุกชิ้นที่วางขายในร้านและติดป้ายรับรองว่าไม่ใช่สินค้า GMO (Non-GMO) จะต้องผ่านกระบวนการรับรองมาตรฐานอย่างสมบูรณ์แล้วเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนักเพราะต้องทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์จำนวนมากในการตรวจสอบ

2. Patagonia ขายความโปร่งใสเรื่องที่มาที่ไปของสินค้า
Patagonia บริษัทขายเสื้อผ้าและอุปกรณ์สำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง ทำโปรเจคที่ชื่อว่า “Footprint Chronicle” เปิดให้ข้อมูลแก่สาธารณะถึงที่มาที่ไปของสินค้า ว่าไม่ได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ผู้บริโภคสามารถเข้าไปดูวิดีโอเส้นทางการผลิตสินค้าแต่ละชิ้นผ่านทางเว็บไซต์ได้โดยตรง นอกจากนี้บริษัทยังอัพเดทการปรับปรุงกระบวนการต่างๆ ให้ดีขึ้น และเปิดช่องทางให้ผู้บริโภคให้คำแนะนำในการปรับปรุงได้อีกด้วย (ดูรายละเอียดได้ที่นี่)

3. Hershey ขายความโปร่งใสผ่านฉลากอัจฉริยะ
“ผู้บริโภคยกย่องบริษัทที่ปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างตรงไปตรงมาแบบผู้ใหญ่และบอกความจริงกับพวกเขาอย่างไม่บิดพลิ้ว” – Deborah Arcoleo ผู้อำนวยการด้านความโปร่งใสของสินค้า บริษัท Hershey
Hershey ผู้ผลิตช็อกโกแลตชื่อดัง ริเริ่มโครงการฉลากอัจฉริยะ หรือ Smart Label ในปี 2014 ซึ่งจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าอย่างละเอียดผ่านทางมือถือ โดยการสแกน QR code โครงการนี้ริเริ่มโดย JP Bilbrey CEO ของ Hershey ที่สังเกตเห็นว่าผู้บริโภคที่สนใจข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าไม่ได้จำกัดอยู่แค่กลุ่มคน Gen Y หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่ความต้องการข้อมูลและความโปร่งใสเป็นเรื่องที่กำลังกลายเป็นกระแสหลัก (ดูรายละเอียดได้ที่นี่)
ประเภทข้อมูลที่จะได้จากฉลากอัจฉริยะนี้ได้มากจากการสำรวจความต้องการของลูกค้าซึ่งพบว่าส่วนใหญ่มีความใส่ใจต่อสุขภาพ ตัวอย่างข้อมูลที่จะพบมีหลากหลาย เช่น ข้อมูลด้านโภชนาการ ส่วนผสมของผลิตภัณฑ์และเหตุผลที่ต้องใช้ส่วนผสมเหล่านั้น ข้อมูลที่เกี่ยวกับ GMO ข้อมูลการรับรองผลิตภัณฑ์โดยองค์กรต่างๆ ข้อมูลความปลอดภัย เช่น การแพ้อาหาร และข้อมูลการแนะนำในการบริโภค เป็นต้น (ดูรายละเอียดได้ที่นี่)
บริษัทตั้งเป้าว่าจะใช้ฉลากอัจฉริยะนี้กับสินค้าทั้งหมดที่มีราว 2,200 รายการ ภายในปี 2017 ซึ่งในตอนนี้ได้ทำกับสินค้าไปกว่า 800 รายการ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้นของเทรนด์การสร้างความโปร่งใสเท่านั้น ทุกวันนี้ธุรกิจทั้งหลายต่างหันมาสนใจเรื่องความโปร่งใส ในฐานะเครื่องมือใหม่ที่ช่วยให้การทำธุรกิจดีขึ้น
ไม่ใช่เฉพาะแค่ในมุมผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงพนักงาน คู่ค้า ผู้ถือหุ้น และสาธารณะด้วย
- Buffer ธุรกิจด้านโซเชียลมีเดีย สร้างความโปร่งใสต่อพนักงาน โดยการเปิดเผยเงินเดือนภายในบริษัทตั้งแต่ผู้บริหารยันพนักงานทั่วไป และอธิบายสูตรการคำนวณเงินเดือนอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดความรู้สึกเป็นธรรม และให้พนักงานมีเป้าหมายในการพัฒนาตนเอง
- Apptopia ธุรกิจแอปพลิเคชันมือถือ สร้างความโปร่งใสต่อพนักงาน ด้วยการแสดงข้อมูลด้านการเงินและข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าต่างๆ บนจอแสดงผลให้ออฟฟิศ ซึ่งอัพเดททุกเดือนให้พนักงานรับรู้ข้อมูลและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทมากขึ้น
- Zappos ธุรกิจค้าปลีกเสื้อผ้าและรองเท้ากีฬา สร้างความโปร่งใสต่อคู่ค้า โดยการเปิดให้สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ของบริษัทได้ และจัดทัวร์ให้คู่ค้าเข้ามาดูการทำธุรกิจและร่วมการฝึกอบรม เพื่อให้เกิดความเข้าใจและทำงานร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น
ในโลกที่มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นในปัจจุบัน “ความเชื่อมั่น” คือกุญแจสำคัญในการประสบความสำเร็จทางธุรกิจ ถึงแม้จะมีวิธีการในการสร้างความเชื่อมั่นหลากลายวิธี แต่ในยุคแห่งข้อมูลข่าวสารที่ทุกคนกระหายการเข้าถึงข้อมูลเช่นนี้ หากปราศจากความโปร่งใสไปเสียอย่าง
ใครจะไปเชื่อมั่นในตัวคุณได้!
อ่านเพิ่มเติม