fbpx
รับมือ COVID-19 ด้วยกระบวนการคิดเชิงระบบ (systems thinking) กับ นพ.บวรศม ลีระพันธ์

รับมือ COVID-19 ด้วยกระบวนการคิดเชิงระบบ (systems thinking) กับ นพ.บวรศม ลีระพันธ์

ปกป้อง จันวิทย์ สัมภาษณ์

วจนา วรรลยางกูร เรียบเรียง

ชลธร วงศ์รัศมี ภาพ

 

 

101 ชวน ผศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอการใช้กระบวนการคิดเชิงระบบ (systems thinking) มาสู้วิกฤต COVID-19 ในรายการ 101 One-on-One ตอนที่ 110 “รับมือ COVID-19 ด้วยกระบวนการคิดเชิงระบบ (systems thinking)”

systems thinking หรือกระบวนการคิดเชิงระบบ คือ การวิเคราะห์ปัญหาในโลกจริงที่ซับซ้อนอย่างเป็นระบบ มองเห็นภาพรวมและโครงสร้างว่าระบบทำงานอย่างไรและมีพลวัตอย่างไร มองเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงในแต่ละส่วนย่อยของระบบที่ใหญ่กว่า เมื่อจะแก้ปัญหาก็ต้องมองเห็น ‘จุดพลิก’ หรือ ‘จุดคานดีดคานงัด’ (high-leverage point) ที่จะมีพลังสร้างผลกระทบต่อเนื่องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบตามมา

แล้วในวิกฤต COVID-19 จุดคานดีดคานงัดที่ว่านั้นอยู่ที่ตรงไหน เราจะก้าวข้ามปัญหาทรัพยากรเรื่องเตียงไอซียูและเครื่องช่วยหายใจ รวมถึงเรื่องการตรวจหาและจัดการผู้ติดเชื้ออย่างไร

ถ้ามองในเชิงระบบ กลไกและสถาบันต่างๆ ในสังคมจะทำอย่างไรให้ social distancing เกิดขึ้นได้จริง และมีประสิทธิภาพจริง ไม่ใช่แค่การผลักภาระให้เป็นเรื่องส่วนบุคคลเท่านั้น

 

จุดคานดีดคานงัดสู้ COVID-19

 

หากใช้ systems thinking มองวิกฤตโรคระบาดในขณะนี้ จุดคานดีดคานงัดที่จะสู้กับ COVID-19 ขึ้นอยู่กับระยะการระบาด ช่วงแรกที่จะทำได้คือดักจับคนที่ติดเชื้อทั้งหมดและตรวจรักษา ที่สำคัญคือกักแยกผู้ติดเชื้อไม่ให้ไปแพร่เชื้อ (containment) ระยะถัดมาคือการลดความหนาแน่นในชุมชน ปิดห้างร้านสถานประกอบการ เป็นจุดคานดีดคานงัดที่เราต้องกดจำนวนคนไข้ไม่ให้ล้นโรงพยาบาล ส่วนเรื่องการเพิ่มระยะห่างทางกายภาพ (social distancing) ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเสริม

จุดคานดีดคานงัดที่สำคัญคือการแยกผู้ติดเชื้อและต้องกักโรค (quarantine) คนใกล้เคียงผู้ติดเชื้อ ในระยะแรกทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย แยกโรคโดยเอาคนกลุ่มนี้ไว้ในโรงพยาบาล ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อถึงจุดที่โรงพยาบาลไม่เพียงพอจะใช้เป็นที่แยกโรค เช่นที่อิตาลี สเปน และจีนในช่วงเวลาหนึ่ง แต่จีนสามารถสร้างโรงพยาบาลใหม่ในเวลาอันรวดเร็วมาก

สำหรับไทยอาจต้องมองเรื่องการสร้างโรงพยาบาลสนามในสนามกีฬา ใช้โรงพยาบาลบางแห่งเป็นที่รองรับ COVID-19 โดยเฉพาะ ซึ่งต้องเคลียร์คนไข้ประเภทอื่นออก หรือสร้างหอผู้ป่วยสำหรับโรคนี้โดยเฉพาะ (cohort ward) ในโรงพยาบาลที่มีอยู่แล้ว ตอนนี้ยังอยู่ในความสุ่มเสี่ยงว่า หากรับมือไม่ดีมีโอกาสที่จำนวนคนไข้จะล้นเกินที่โรงพยาบาลสามารถรองรับได้ จึงต้องเตรียมเผื่อไว้ก่อนจะถึงเวลานั้น

 

ใช้ทรัพยากรให้ ‘ถูกเรื่อง’

 

ตั้งแต่เดือนมกราคม ภาครัฐทำเรื่องการควบคุมโรค ตรวจวินิจฉัยคนที่ติดเชื้อ และกักโรคคนที่เกี่ยวข้อง แต่ภาครัฐมีโอกาสทำได้ดีกว่านี้ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา หากเราเตรียมการลดความหนาแน่นของชุมชน เช่น การชุมนุมที่สนามมวย หากควบคุมได้ตั้งแต่ตอนนั้นตัวเลขคนติดเชื้อคงจะลดลง แน่นอนว่าจะมีคนเสียผลประโยชน์ ทำอย่างไรรัฐจะช่วยสนับสนุนได้ ต้องคุยกันและมีฉันทามติในสังคมว่านี่เป็นสิ่งจำเป็นต้องเสียสละเพื่อลดความเดือดร้อนของทุกคนในประเทศ

อีกส่วนหนึ่งเมื่อไม่ได้มองเฉพาะทรัพยากรภาครัฐ ผมมองเรื่องนี้คล้ายปรากฏการณ์พี่ตูนวิ่งช่วยโรงพยาบาล คือคนไทยจิตใจดี ถึงจุดวิกฤตเราจะช่วยกัน นึกไม่ออกก็บริจาค ช่วยกันเย็บหน้ากาก แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่ช่วยกันทำได้อีก ทรัพยากรทางการแพทย์ที่ไม่พอก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย ในมุมหนึ่งนี่คือโอกาสของประเทศที่จะเพิ่มความสามารถเรื่องการผลิตหน้ากากหรือชุด PPE ถ้าทำได้เองและมีมาตรฐาน อาจเป็นโอกาสทั้งใช้ในประเทศและส่งออกในอนาคต

สำหรับความร่วมมือกับภาคเอกชน อย่างเรื่อง cohort ward หรือห้องแยกผู้ป่วยติดเชื้อ เราสามารถใช้วิชาชีพที่หลากหลายเข้ามาช่วยได้ เช่น สถาปนิกมาช่วยคิดเรื่องนวัตกรรมการควบคุมผู้ติดเชื้อ ถ้าเกินความสามารถการรองรับของโรงพยาบาลจริงๆ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ยังมี capacity เหลือเฟือ คนจะตกงานเพราะไม่มีนักท่องเที่ยว สามารถเอากลุ่มเสี่ยงไปแยกโรคในโรงแรมได้ โดยมีการสนับสนุนจากภาครัฐ เป็นสถานการณ์แบบวิน-วิน โรงแรมได้ผ่อนหนักเป็นเบา ลูกจ้างมีงานทำ เป็นการสร้างนวัตกรรมทางสังคมระหว่างภาคเอกชน

สิ่งที่กำลังเริ่มทำกันอยู่คือ digital solution ที่จะช่วยตามรอยโรคในช่วงเวลา 14 วันว่าคนที่ติดเชื้อไปเจอใครบ้าง โดยใช้ข้อมูลจากมือถือที่ทุกคนพกติดตัวมาวิเคราะห์ การสืบสวนและกักโรคจะเร็วมากขึ้น ควบคุมโรคได้ดีขึ้น

 

วิเคราะห์วิกฤต ต้องคิดครบ-คิดลึก-คิดยาว

 

หากเราคิดแก้ปัญหาเฉพาะระยะสั้นจะมีปัญหาเสมอ ถ้าเราสนใจเฉพาะว่าวันนี้มีคนไข้ติดเชื้อเท่าไหร่ เตียงมีพอสำหรับคนไข้ในช่วงต้นเดือนเมษายนไหม ก็จะคิดเรื่องการจัดการทรัพยากรแบบหนึ่ง แต่ถ้าเราเข้าใจทั้งระบบการระบาด เข้าใจว่ามีตัวผลักดันอะไรบ้าง ใครมีภูมิบ้าง มีโอกาสติดเชื้อทางไหนบ้าง เราจะสามารถคำนวณด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ว่ามีโอกาสสำหรับฉากทัศน์ที่แย่ที่สุดที่เราต้องเตรียมเผื่อไว้ เราต้องมองระยะยาว

คนกลุ่มหนึ่งเข้าใจผิดว่าเจ็บแล้วจบ สัก 3 อาทิตย์หรือ 3 เดือน จะได้หมดๆ กันเสียที ซึ่งอาจเป็นไปได้ถ้าระบาดไม่กี่ประเทศ แต่ตอนนี้กำลังระบาดทั่วโลก ต่อให้ไทยจัดการได้แล้วเปิดประเทศมีการเดินทางระหว่างกันก็มีโอกาสที่จะเกิดเคสใหม่ๆ ขึ้น หรือกระทั่งในประเทศเมื่อแต่ละเมืองกลับมาเปิดเมืองอีกครั้งก็มีโอกาสระบาดใหม่ได้

ตอนนี้แนวทางที่คนเห็นตรงกันและเป็นทางที่ถูกต้องคือการลดคนไข้จากการควบคุมโรค สิ่งที่เรายังไม่ได้ทำคือ คนยังไม่ค่อยพูดถึงว่าเตียงไอซียูไม่ได้มีแค่เตียงเฉยๆ แต่ต้องมีบุคลากรที่ดูแลคนไข้หนักด้วย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด เวชศาสตร์ที่ดูแลคนไข้ไอซียูมีไม่เยอะ ต้องเริ่มเตรียมแพทย์สาขาอื่นมาช่วยเผื่อกรณีเลวร้าย แล้วเตียงไอซียูที่มีผู้ป่วยโรคอื่นๆ จำนวนมากตอนนี้จะจัดการอย่างไร เราจัดการเตรียมระบบล่วงหน้าได้ถ้ามีเวลาพอ

ผมมีโอกาสคุยกับทีมงานโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในต่างจังหวัด เขาแยกไอซียูให้คนไข้โควิดโดยเฉพาะ เป็นโควตาต่างหากจากโรคอื่นๆ ปัญหาคือถ้าทำอย่างนี้แล้วจะจัดการได้ไม่พอ หากเห็นภาพใหญ่ตรงกันเราจะบริหารทรัพยากรได้ดีขึ้นและคิดเผื่อกรณีระยะยาวได้ ถ้าดีกว่านั้นคือการป้องกันไม่ให้เกิดแต่ต้น

การคิดเชิงระบบ นอกจากต้องคิดให้ครบทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องแล้วต้องคิดให้ลึกว่าสาเหตุคืออะไร กรณีปิดเมืองนั้นน่าสนใจว่าถ้าปิดเมืองในระยะฟักตัวแล้วโรคจะหมด ก็ปิด 2-3 สัปดาห์น่าจะพอ แต่ที่อู่ฮั่นปิดมาสองเดือนกว่าแล้ว มาตรการเข้มข้นมาก เขาปิดหนักกว่าเรา ให้อยู่เฉพาะในบ้าน คนก็ติดเชื้อกันในบ้าน แต่ยังมีเคสใหม่เรื่อยๆ อาจติดจากโรงพยาบาลส่วนหนึ่ง พอเราเข้าใจปัญหามากขึ้นจะหาวิธีแก้ปัญหาได้ดีขึ้น

คิดครบ คิดลึก สุดท้ายคือคิดยาว ถ้าเราไม่คิดเตรียมให้มีทรัพยากรมากพอสำหรับคนไข้ไอซียู เมื่อมีคนไข้ขึ้นถึงจำนวนสูงสุดจะเตรียมทรัพยากรไม่ทัน ถ้าเราคิดยาว ไม่ตัดสินใจนโยบายที่อาจดีระยะสั้นแต่ส่งผลเสียระยะยาว จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ไม่สร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา กรณีปิดเมืองหลายคนเห็นตรงกันว่าจำเป็น แต่ปิดแล้วไม่จบ ต้องมีมาตรการเสริมเพื่อผ่อนคลาย การปิดไปเรื่อยๆ คนอาจไม่ตายด้วยโควิดแต่ตายเพราะไม่มีกินหรือมีโจรขโมยมากขึ้นเมื่อคนไม่มีรายได้

นโยบายที่ต้องมาคู่กับเรื่องปิดเมืองคือเราจะบูรณาการเรื่องเศรษฐกิจสังคมกับระบาดวิทยาได้ไหม คนอาจมองแยกกันว่าเราต้องทำมาตรการเพื่อควบคุมโรคแล้วค่อยไปทำเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจ จริงๆ แล้วมันอาจไม่ได้แยกกัน เช่น คนที่ต้องการปัจจัยจุนเจือระยะสั้นให้กักตัวได้โดยไม่ติดเชื้อคนอื่น หรือคนที่ติดเชื้อช่วงที่โรงพยาบาลไม่มีความสามารถจะรับไหวแล้วจะทำอย่างไร ถ้าเราใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาแตะประเด็นพวกนี้จะได้สองต่อ คือ พอคนกลุ่มนี้ไปใช้จ่าย เศรษฐกิจจะได้หมุนต่อ เขาสามารถอยู่ได้โดยไม่แพร่เชื้อคนอื่น พอผู้ติดเชื้อน้อยลงเศรษฐกิจก็ไม่ถดถอยจากการที่คนเจ็บป่วยและต้องหยุดกิจกรรมอีกมากมาย ยังมีเรื่อง capacity ที่เหลือในบางอุตสาหกรรมที่ต้องมาช่วยกัน จะเห็นว่านี่ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจเพียวๆ แต่ผูกพันกับเรื่องการระบาดด้วย

ในบางประเทศที่สุดโต่งกว่าเรา รัฐบาลเริ่มคิดแล้วว่าจะเอาอุตสาหกรรมไหนมาสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ เรื่องการรักษาคนไข้ การควบคุมโควิด และเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัว จะได้ยิงนกสองตัวด้วยก้อนหินนัดเดียว

 

‘ระบบตรวจผู้ติดเชื้อ’ ปัญหาคอขวดต้องเร่งจัดการ

 

ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อที่กระทรวงสาธารณสุขแถลงเป็นแค่จำนวนคนที่ตรวจเจอ ตัวเลขจริงอาจมากกว่านี้ แล้วถ้าปล่อยไปคนกลุ่มนี้จะแพร่เชื้อไปเรื่อยๆ แม้ว่าเรากักกันโรคคนที่ตรวจเจอหมดแล้ว เพราะถ้ากักกันโรคได้จริง โรคควรหยุดระบาดตั้งแต่ 1-2 สัปดาห์แรกแล้ว ต่อให้มีเข้ามาจากต่างประเทศก็ยังจัดการได้ แต่มีคนส่วนหนึ่งที่ยังไม่อยู่ในระบบการตรวจ นี่เป็นคอขวดที่สำคัญ ซึ่งระดับนโยบายรับรู้แล้วและพยายามหาวิธีจัดการอยู่

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเครื่องมือตรวจ แต่เป็นระบบการจัดการให้มีการตรวจ จะเรียกคนกลุ่มไหนให้มาตรวจ ถ้าคนมีความเสี่ยงไม่ได้ตรวจ แต่ตรวจเฉพาะคนที่สนใจว่าตัวเองเป็นโรคหรือเปล่า เราอาจใช้ทรัพยากรได้ไม่คุ้ม เมื่อเราตรวจได้จำกัด แต่ตอนนี้เราก็ขยายการตรวจได้มากขึ้น เปลี่ยนมาตรฐานแล็บ ทำได้ครบถ้วนมากขึ้น

สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ตรวจเจอ ถ้าเริ่มลดลงก็อย่าเพิ่งดีใจ ส่วนหนึ่งยังมีคนที่ติดเชื้อแล้วยังไม่ได้ตรวจ อีกส่วนหนึ่งคือความล่าช้าของการรายงาน เช่น เคสสนามมวยกว่าจะตามตัวเจอก็ใช้เวลานาน ช่วงที่ตัวเลขเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากอาจเป็นสถานการณ์ของวันก่อนๆ กว่าจะเจอคนไข้กลุ่มเสี่ยงมีระยะเวลาสืบสวนโรคเป็นสัปดาห์ และการที่ตัวเลขลดลงอาจไม่ได้เกิดจากมาตรการอะไร อย่างอิตาลีหรืออเมริกาที่สุดท้ายตัวเลขก็ต้องเริ่มลดลงเพราะไม่มีใครให้ติดเชื้อใหม่แล้ว การติดเชื้อไม่ใช่ความสัมพันธ์เส้นตรงที่จะเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ มีข้อจำกัดของระบบอยู่ เมื่อหมดคนที่มีโอกาสติดเชื้อ กราฟก็ปักหัวลงได้โดยไม่เกี่ยวกับมาตรการใดๆ

มีทฤษฎีที่บอกว่าถ้าเราไม่ทำอะไรรอให้คนมีภูมิก็หายได้ จะปิดเมืองเพื่อให้เศรษฐกิจเสียหายทำไม เป็นแนวทางการควบคุมโรคแบบหนึ่ง คือให้รีบติดเชื้อกันเพื่อจะเปิดเศรษฐกิจกลับมาทำงานกัน แต่ระหว่างนั้นถ้าถ้าเราดึงกลุ่มเสี่ยงคือคนแก่และผู้ป่วยเรื้อรังออกมาไม่ได้ จะมีคนเสียชีวิตมากโดยไม่จำเป็น เรื่องนี้จะเจ็บหนัก และจะเป็นความทุกข์ร่วมกันของสังคม วิธีนี้ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด

วิธีที่ดีอาจเป็นแนวทางไฮบริด ช่วงปิดเมืองต้องมีมาตรการเข้มข้นขึ้น แต่พอเริ่มจัดการได้ คนเริ่มมีภูมิมากขึ้นถึงจุดหนึ่งเราอาจเปิดเมืองเพื่อผ่อนคลายได้ ซึ่งอาจต้องปิดและเปิดเมืองสลับกันนานไม่น้อยกว่าหนึ่งปีแน่ๆ อาจถึงประมาณ 2 ปี ใครคิดว่าเจ็บแล้วจบสามเดือน ไม่มีทาง ไม่ใช่แค่เมืองไทย แต่เป็นเหมือนกันทั่วโลก องค์กรต่างๆ ห้างร้านเอกชนต้องเตรียมอยู่กับสถานการณ์นี้อีกเป็นปี และถ้าเราทำงานได้ดีจริงๆ มันอาจยาวขึ้นด้วยซ้ำ เพราะคนจะค่อยๆ ติดเชื้อ อาจยาวสักสองปี คนอาจเจ็บตายน้อยลงและป้องกันโรคได้เมื่อมีวัคซีนหรือมีภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศไทย

 

social distancing ไม่ใช่เรื่องปัจเจก

 

การให้ความรู้เรื่องสุขอนามัย การปรับพฤติกรรมส่วนตัวให้มีระยะห่างทางกายภาพในสังคม (social distancing) ถ้ามองเชิงสังคมวิทยาจะเห็นว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้ พฤติกรรมบางอย่างขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมของแต่ละคน คนชั้นกลางอาจไม่ยากที่จะ social distancing สามารถ work from home ได้ แต่คนหาเช้ากินค่ำ ถ้าไม่ออกจากบ้านก็ไม่มีกิน จะให้เขาทำยังไง ต้องคิดให้ละเอียดว่านโยบายภาครัฐหรือภาคเอกชนจะมาช่วยอย่างไร

ตอนกรุงเทพฯ ประกาศปิดเมืองและนายจ้างต้องหยุดกิจการชั่วคราว คนงานที่อยู่ได้ด้วยการทำงานในกรุงเทพฯ และบ้านอยู่ต่างจังหวัด จะให้เขาอยู่เฉยๆ ในเมืองก็ไม่ไหว กลับบ้านดีกว่า แต่เราไม่ได้วางแผนเรื่องการเดินทางด้วยขนส่งมวลชนอย่างเป็นระบบ จึงมีโอกาสติดเชื้อระหว่างการเดินทางกลับบ้านได้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย

จะเห็นว่าไม่ใช่ความผิดของคนใดคนหนึ่งที่เขาไม่สามารถทำ social distancing ได้ แต่นโยบายภาครัฐหรือนายจ้างอาจสามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจชั่วคราว เช่น ร้านอาหารเปลี่ยนเป็นเดลิเวอรีให้ลูกจ้างกลุ่มนี้ไม่ต้องเดินทางได้ ซึ่งยังไม่เห็นนโยบายพวกนี้ชัดเจน

เราต้องทำทั้งเรื่องการเปลี่ยนพฤติกรรมส่วนบุคคล ปลูกฝังทัศนคติต่างๆ แต่ต้องไม่ทิ้งเรื่องการปรับสิ่งแวดล้อมด้วยนโยบายระดับชุมชน องค์กร และระดับชาติ ให้คนทุกกลุ่มสามารถทำได้ ไม่ใช่ว่ากลุ่มที่ทำได้อยู่แล้วไปใช้มาตรวัดทางศีลธรรมว่ากลุ่มที่ทำไม่ได้นั้นไม่รับผิดชอบต่อสังคม เราไม่ได้ละเลยเรื่องส่วนบุคคล แต่เป็นโอกาสที่ต้องพัฒนานโยบายภาครัฐด้วยเหมือนกัน คนที่จะเติมช่องว่างได้คือชุมชนและองค์กร นายจ้างเป็นผู้บริหารนโยบายระดับกลางที่หากจัดสรรได้ดีจะผ่อนภาระทั้งภาครัฐและปัจเจกในองค์กรเดียวกันได้อีกมาก

 

ตีโจทย์ปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข ผ่าน COVID-19

 

เราพยายามทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชนิดดิสรัปต์มานานแล้วแต่ยังไม่สำเร็จเสียที ทั้งเรื่อง digital transformation ในระบบสาธารณสุข เรื่องการแพทย์ทางไกล (telemedicine) คนที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอาจจะเป็น COVID-19 ก็ได้ อะไรที่ไม่คิดว่าจะเกิดก็เกิด

กลุ่มเสี่ยง COVID-19 คือผู้ป่วยโรคเรื้อรังกับคนแก่ คนสองกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องใช้โรงพยาบาลเป็นหลัก แต่ต้องใช้สถานพยาบาลแบบอื่น ในต่างประเทศสถานพยาบาลผู้สูงอายุจะดูแลโดย primary care doctor หรือ primary care clinic ที่อยู่ใกล้ ถ้าทำไม่ได้จะติดเชื้อแบบอิตาลี ถ้าทำได้ดีจะคุมได้เลย แต่บ้านเราคนแก่อยู่ที่บ้านและชุมชน มีความยากว่าเราจะป้องกันคนกลุ่มนี้ยังไงเมื่อเกิดวิกฤตโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ

ในอีกทางหนึ่ง นี่อาจเป็นโอกาสพัฒนาระบบประกันสุขภาพบ้านเราได้ ตอนนี้ทุกคนเริ่มเห็นแล้วว่ามีคนไข้ที่ไม่จำเป็นมาโรงพยาบาลเต็มไปหมด คนไข้ล้นโรงพยาบาลเพราะมาด้วยไข้หวัดหรือมาขอใบรับรองแพทย์ว่าเป็น COVID-19 หรือเปล่า ในสถานการณ์ปกติโรงพยาบาลรัฐก็แน่นตลอด คนในต่างประเทศไม่ได้ป่วยน้อยกว่าเรา แต่โรงพยาบาลเขาโล่งกว่าเยอะ แสดงว่าเขามีการจัดระบบที่ดี ในการรับมือวิกฤตชั่วคราวเราต้องเอาคนไข้ส่วนหนึ่งไปดูแลแบบ telemedicine ใช้เทคโนโลยีคุยกัน ปรึกษาคำถามธรรมดาไม่ต้องรอคิว คุยกับหมอทางโทรศัพท์แค่ไม่กี่นาทีดีกว่า แต่เราจะทำไม่ได้ถ้าไม่มีระบบ primary care ที่เข้มแข็ง หมอกับคนไข้รู้จักกันเป็นอย่างดี มีระบบการรับยาที่ดี หลังจาก COVID-19 เราจะเริ่มคิดว่าเป็นหวัดแล้วจะไปโรงพยาบาลทำไม เพราะเป็น COVID-19 ยังปรึกษากันทางโทรศัพท์ได้เลย

คนไข้โรคเรื้อรัง จะเป็นตัวชี้ว่าเราต้องทำงานให้ดีขึ้นสำหรับการพัฒนาระบบบริการระยะยาว ต้องพัฒนาระบบให้มี resiliency ไม่ใช่แค่การปรับตัว แต่เมื่อมีเรื่องร้ายเข้ามาก็ปรับตัวให้เข้ากับสภาพเดิมหรือดีกว่าเดิมได้อีก นี่เป็นความสามารถของการจัดการระบบ

ระบบสาธารณสุขไทยหลังจากนี้น่าจะปรับตัว ผมเคยทำวิจัยกับนักศึกษาเรื่องโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่ไม่มีห้องแยกดีๆ ก็ไม่มีใครสนใจเลย แต่ตอนนี้เดือดร้อนกันทุกคน คราวนี้เจ็บแล้วคงต้องจำ ต้องมีการเตรียมการอย่างดี ไม่ใช่แค่เฉพาะ COVID-19 แต่วัณโรคที่ต้องมีห้องแยกเราก็ยังทำได้ไม่ดี เรื่องนี้จะถูกเห็นความสำคัญมากขึ้น เข้าสู่มาตรฐานมากขึ้น

เรื่องนี้เป็นวิกฤตที่เข้ามาแล้วถ้าเราไม่ปรับตัวจะไม่ไหว มันสะท้อนให้เห็นปัญหาในสังคมไทย เรื่องการบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐด้วยกันเอง การประสานงานภาคเอกชนและประชาชน เมื่อทำแบบเดิมมันไม่ดีที่สุด เราเห็นประเด็นที่ต้องพัฒนา และจะเริ่มปรับตัวเป็นบรรทัดฐานใหม่ (new normal) ส่วนที่ไม่สำคัญสำหรับชีวิตก็ต้องเตะทิ้งออกไป COVID-19 ทำให้เราคิดใหม่ว่าอะไรคือเรื่องสำคัญในชีวิตเรา ทั้งในฐานะปัจเจก ชุมชน องค์กร อะไรเป็นแก่นหรือกระพี้ ทุกเรื่องที่เราตัดออกไปเมื่อเกิด COVID-19 ล้วนแต่เป็นกระพี้ ส่วนที่เป็นแก่นจริงๆ เช่น การอยู่ดูแลครอบครัว จะเป็นคำถามของการสร้าง new normal ในฐานะปัจเจก ไม่ต่างจากองค์กร ไม่ต่างจากระดับชาติ

เมื่อมีวิกฤตก็หวังว่าจะมีบทเรียนแง่บวกบ้าง ไม่ใช่มีแต่แง่ลบอย่างเดียว แต่แน่นอนว่าต้องทำให้ดีที่สุดช่วงที่เรารับมือจัดการกับวิกฤตอยู่ด้วย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save